วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การเปิดวาล์วหัวถังแก๊สที่ปิดแน่น (วิธีที่ ๒) (การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๔๔) MO Memoir : Monday 11 February 2556

งานบางอย่างนั้นสามารถกระทำได้หลายวิธี บางวิธีการนั้นถือได้ว่าเป็นวิธีปฏิบัติมาตรฐานที่ควรนำมาใช้ปฏิบัติในสภาพการทำงานตามปรกติ แต่บางวิธีการนั้นก็จัดว่าเป็นวิธีการเฉพาะ หรือเป็นเทคนิคการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่แนะนำให้ใช้เฉพาะในกรณีจำเป็น เร่งด่วน หรือสภาพแวดล้อมบังคับ เท่านั้น และไม่แนะนำให้กระทำเป็นประจำ

แก๊สที่เราซื้อมานั้น (ที่ส่งมาเป็นท่อแก๊สหรือถังแก๊ส) จะปิดวาล์วหัวถังมาค่อนข้างจะแน่น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเขาต้องการความมั่นใจว่าจะไม่เกิดการรั่วไหล หรือป้องกันการหมุนเล่นโดยบังเอิญ วาล์วหัวถังแก๊สที่มาแบบนี้บางทีใช้มือเปล่าหมุนก็หมุนไม่ได้ ต้องใช้อุปกรณ์พวก wheel key ช่วย (ดู Memoir ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๓๒๑ วันพุธที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๔ เรื่อง "การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๒๓ การเปิดวาล์วหัวถังแก๊สที่ปิดแน่น")
รูปที่ ๑ การเคาะวาล์ว ผมใช้นอตตัวใหญ่วางเข้าไปที่มุมที่เหมาะสม และเคาะด้านหัวนอต (ลูกศรเขียว) เบา ๆ ด้วยประแจ ในรูปเป็นถังเปล่าที่เปลี่ยนออกมา เอามาใช้สำหรับถ่ายรูปประกอบ

เช้าวันวานแก๊สหุงต้มที่บ้านหมดระหว่างแม่บ้านทำกับข้าว ผมก็เลขต้องไปเอาถังใหม่ที่มีสำรองเอาไว้มาเปลี่ยน การเปลี่ยนถังมันก็ไม่ยากอะไร แต่พบว่าที่ยากที่สุดคือตอนเปิดหัวถังแก๊ส พบว่าวาล์วมันปิดแน่นมากจนไม่สามารถใช้มือเปล่าหมุนได้ ลองไปค้นประแจกับคีมล็อคที่มีอยู่ประจำบ้าน ก็พบว่ามีแต่ขนาดเล็ก ไม่สามารถจับล้อหมุนของตัววาล์วได้ แถมที่บ้านก็ไม่มีประแจคอม้าด้วย ระหว่างที่ยังคิดไม่ออกว่าจะทำยังไงดี คุณพ่อของผมท่านก็แนะนำว่าสงสัยต้องลอง "เคาะ" เอา
  
ผมก็เลยไปหานอตตัวผู้ตัวใหญ่มาได้ตัวหนึ่ง จัดวางมุมให้ดี กะว่าพอตอกไปที่นอต ตัวนอตก็จะดันให้ล้อหมุนของวาล์วหมุนในทิศทางที่ทำให้วาล์วเปิด (ดูรูปที่ ๑) จากนั้นก็ใช้ประแจตอกไปที่หัวนอต (ตามทิศทางลูกศรสีเขียวในรูป แต่อย่าตอกแรงเกินไปนะ) ทำให้ล้อหมุนนั้นขยับตัวเล็กน้อย เมื่อลองหมุนวาล์วดูก็พบว่าสามารถหมุนเปิด-ปิดได้โดยไม่ติดขัด
  
พูดถึงเรื่อง wheel key แล้วทำให้นึกถึงเดือนมกราคม ๒๕๕๕ ที่ต้องไปทำหน้าที่ตรวจรับครุภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยที่ศูนย์ จ. สระบุรี ครุภัณฑ์ที่ไปตรวจรับนั้นเป็นหม้อความดันสำหรับอบไอน้ำชิ้นงานขนาดใหญ่ (ตัวที่เอารูปมาลงใน Memoir ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๔๘๖ วันพุธที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ เรื่อง "การเผื่อการขยายตัวของ vessel ในแนวนอนการเผื่อการขยายตัวของ vessel วางตัวในแนวนอน" ซึ่งตอนนั้นเอารูปด้านข้างมาให้ดู) เวลาจะบรรจุของนั้นก็จะเปิดฝาหม้อทั้งฝาออกมา และเมื่อบรรจุเสร็จแล้วก็จะทำการปิดฝาหม้อและหมุนล้อเพื่อปิดฝาให้แน่น

รูปที่ ๒ (บน) ส่วนหัวของ wheel key ที่ใช้หมุนล้อวาล์ว (ล่าง) เจ้าหน้าที่ใช้ wheel key ช่วยในการขันล้อให้แน่นขึ้นไปอีก

เวลาจะขันปิดฝาให้แน่นเจ้าหน้าที่จะใช้ wheel key ช่วย ตัวที่เขาใช้นั้นยาวประมาณ 1.7 เมตร (เวลาเอามันตั้งขึ้นมันสูงกว่าผมเล็กน้อย) การใช้ wheel key ขันร่วมนั้นนอกจากจะทำให้ปิดได้แน่นแล้วยังป้องกันไม่ให้ใครก็ตามที่เดินผ่านมาสามารถเปิดฝาหม้ออบความดันใบนั้นด้วยมือเปล่าได้ (เว้นแต่ว่าจะเป็นพวกมีแรงมากเป็นพิเศษ) 
   
ฝาหม้อใบนี้เป็นระบบล็อคสองชั้น โดยชั้นแรกจะเป็นเพียงแค่ให้ฝาหม้อเผยอได้เล็กน้อยเท่านั้น ต้องปลดตัวล็อกชั้นที่สองก่อนจึงจะเปิดฝาออกกว้างได้ ที่เขาออกแบบไว้เช่นนี้ก็เพราะถ้าหากมีการเผลอเปิดฝาหม้อในขณะที่มีความดันอยู่ ฝาหม้อจะไม่เหวี่ยงหมุนออกทันที ซึ่งสามารถทำให้ผู้ที่ยืนอยู่ในรัศมีการหมุนดังกล่าวบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ แต่จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานรู้ว่าได้เปิดฝาหม้อที่มีความดันค้างอยู่ข้างใน
  
การเคาะเพื่อคลายเกลียวที่ติดแน่นนี้เคยเห็นช่างบางรายใช้ในการถอดนอตตัวเมียที่ติดแน่นเหมือนกัน โดยจะเลือกใช้ "สกรูไร" (หรือ "สกรูไล") ชนิดปลายแบนและตัวเป็นแกนเหล็กยาวไปจนโผล่อีกทางด้านหนึ่งของด้ามจับ วางปลาย "สกรูไร" ที่หัวนอตตัวเมีย กะแนววางสกรูไรให้แรงกระแทกจากการตอกสกรูไรอยู่ในแนวเส้นสัมผัสทิศทางการหมุนคลายหัวนอตตัวเมีย จากนั้นจึงตอกที่ปลายอีกข้างหนึ่งของสกรูไร

เขียนมาถึงตรงนี้ไม่รู้ว่าคนอ่านรู้จักหรือเปล่าว่าสกรูไรคืออะไร ศัพท์คำนี้เป็นภาษาช่างที่บางคนใช้เรียนก "ไขควง" นั่นเอง