วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๕๓ MO Memoir : Wednesday 6 November 2556

เห็นช่วงนี้มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีความเห็นว่าคำสั่งหรือประกาศใด ๆ ของรัฐบาลที่ได้อำนาจมาโดยการยึดอำนาจจากผู้ปกครองเดิมนั้น เป็นคำสั่งหรือประกาศที่ไม่ชอบธรรม 
   
ก็ทำให้นึกสงสัยว่าเขาเหล่านั้นคงเห็นว่า "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕" และ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕" ก็เป็นกฎหมายที่ไม่ชอบธรรมด้วย เพราะว่าเป็นกฎหมายที่คณะผู้ที่ทำการปฏิวัติยึดอำนาจจากผู้ปกครองเดิมนั้นเป็นผู้เขียนขึ้น

ผมเองก็ไม่ได้ร่ำเรียนมาทางกฎหมายหรือรัฐศาสตร์โดยตรง แต่จากที่ผ่านมานั้นก็เห็นว่าโดยปรกติแล้วเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองประเทศ อาจจะด้วยการใช้กำลังยึดอำนาจก็ตาม ถ้าผู้ที่เข้ายึดอำนาจนั้นสามารถตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและทำการปกครองประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวได้ กฎหมายต่าง ๆ ที่ออกโดยรัฐบาลชุดใหม่นั้นก็ถือว่าชอบตามกฎหมายและยังมีผลบังคับใช้ จนกว่าจะมีการประกาศยกเลิก

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดในบ้านเราในปัจจุบันคือ "ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๕๓" ลงวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ หน้า ๑๐ เล่มที่ ๘๙ ตอนที่ ๑๗๔ วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ ซึ่งต่อไปจะขอเรียกสั้น ๆ ว่า "ประกาศฉบับที่ ๒๕๓"

ในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๔ จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งดำรงตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" ในขณะนั้น ได้ทำการ "ปฏิวัติ" ยึดอำนาจรัฐบาลของตนเอง และตั้ง "คณะปฏิวัติ" ขึ้นมาปกครองประเทศ
  
คณะปฏิวัติดังกล่าวได้ออกประกาศมาหลายฉบับ ฉบับหนึ่งยังคงมีผลบังคับใช้ในปัจจุบันคือฉบับที่ ๒๕๓ (มีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ) ที่กำหนดเวลาจำหน่ายสุราไว้ระหว่างระหว่างสองช่วงเวลาคือ ๑๑.๐๐ น. - ๑๔.๐๐ น. และ ๑๗.๐๐ น. - ๒๔.๐๐ น.
  
ผมไม่รู้ว่าการเข้มงวดกวดขันเวลาจำหน่ายสุรานั้นมีต่อเนื่องยาวนานเท่าใด แต่ที่เห็นมาแต่เด็กก็คือการซื้อขายสุราก็ทำได้ตลอดเวลา เรียกว่าอยากจะซื้อเมื่อใดก็ทำได้

จนกระทั่งวันอังคารที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ณ ห้องประชุมสุพรรณิการ์ อาคารหลักศิลา มหาวิทยาลัยรามคํแหง วิทยาเขตตรัง "พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี หนึ่งในมติคณะรัฐมนตรีได้แก่ การเห็นชอบกํหนดมาตรการควบคุมการบริโภคสุราและยาสูบตามที่กระทรวงการคลังเสนอดังนี้

๑. ห้ามจำหน่ายสุราและยาสูบให้แก่เด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปีบริบูรณ์
๒. ระยะเวลาในการจำหน่ายสุราควรกำหนดให้สอดคล้องกับนโยบายการแก้ปัญหาสังคมตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๕๓ ลงวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ โดยกำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตขายสุราประเภทขายปลีก (ประเภทที่ ๓ และประเภทที่ ๔) ขายสุราเฉพาะตั้งแต่เวลา ๑๑.๐๐ น. ถึง ๑๔.๐๐ น. และตั้งแต่เวลา ๑๗.๐๐ น. ถึงเวลา ๒๔.๐๐ น.
๓. ไม่อนุญาตให้จําหน่ายสุราในบริเวณสถานศึกษาและศาสนสถาน

ทั้งนี้ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๗ เป็นต้นไป

ตรงนี้ขอตั้งประเด็นไว้ให้เป็นที่สังเกต ๒ ข้อคือ
 
(ก) มติออกมาวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๗ แต่ให้มีผลบังคับใช้ "ย้อนหลัง" ไปตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๗ ตรงนี้ผมก็ไม่เข้าใจว่าในทางกฎหมายทำไมต้องบอกว่า "ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ..." ในเมื่อประกาศฉบับที่ ๒๕๓ ยังมีผลบังคับใช้อยู่ 
  
(ข) มตินี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลในยุคนั้นก็ยอมรับว่า "ประกาศคณะปฏิวัติ" นั้นเป็นกฎหมาย และเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติตาม เพราะว่ายังไม่มีการยกเลิก แม้ว่ารัฐบาลที่เป็นผู้ออกประกาศดังกล่าวจะมาจากการ "ปฏิวัติ" ก็ตาม

ต่อมาเมี่อไม่นานนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ เริ่มเวลา ๙.๐๐ น ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ชั้น ๒ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล "นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี หนึ่งในมติการประชุมนั้นคือการให้ความเห็นชอบ "ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น พ.ศ. ...." ที่มีสาระสำคัญคือให้ยกเลิกกฎหมายที่ไม่มีความจำเป็นจะต้องบังคับใช้อีกต่อไปจำนวน ๙ ฉบับ
  
๑ ในกฎหมาย ๙ ฉบับที่จะถูกยกเลิกคือ "ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๕๓" ทั้งนี้เนื่องจากพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ และพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มีเนื้อหาครอบคลุมเอาไว้หมดแล้ว
  
"ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น พ.ศ. ...." นี้ผมเข้าใจว่าในขณะนี้ยังไม่เข้าสู่การประชุมของรัฐสภา ดังนั้นจึงยังไม่น่าจะมีผลบังคับใช้ และประกาศฉบับที่ ๒๕๓ น่าจะยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ ข้อมูลล่าสุดที่ผมค้นได้ปรากฎในเว็บของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (http://www.lrct.go.th/?p=6886) กล่าวแต่เพียงว่าในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา คณะทำงานได้มีการเชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ความเห็นร่างกฎหมายดังกล่าวแค่นั้นเองเพื่อรวบรวมความเห็นนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายต่อไป

แต่มติคณะรัฐมนตรีทั้งสองมติก็เป็นตัวอย่างหลักฐานยืนยันได้ว่า รัฐบาลทั้งสองชุดนั้นยอมรับว่าคำสั่งหรือประกาศใด ๆ ที่ออกมาโดยผู้ที่มีอำนาจในการปกครองในขณะนั้น แม้จะได้อำนาจมาโดยการปฏิวัติก็ตาม ถือได้ว่าชอบด้วยกฎหมายและต้องพึงปฏิบัติตาม จะมาอ้างว่าการปฏิบัติตามคำสั่งหรือประกาศเหล่านั้นเป็นการกระทำที่มิชอบไม่ได้ และประกาศหรือคำสั่งเหล่านั้นยังคงมีผลบังคับใช้อยู่จนกว่าจะมีการออกกฎหมายอื่น (และต้องมีสถานะที่ไม่ต่ำกว่า) มายกเลิก เพราะรัฐบาลทั้งสองชุดนั้นก็นำประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๕๓ มาบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน


ไม่มีความคิดเห็น: