วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2552

การทำน้ำให้บริสุทธิ์สำหรับห้องปฏิบัติการ MO Memoir : วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๑

เอกสาร "A guide to laboratory water purification" จัดทำโดย Labconco Corporation ในไฟล์ที่แนบมาได้ให้แนวทางสำหรับเลือกวิธีการปรับสภาพน้ำให้เหมาะสมกับการใช้งานในห้องปฏิบัติการ รายละเอียดต่าง ๆ กรุณาอ่านเอาเองจากไฟล์ฉบับภาษาอังกฤษที่แนบมาให้ แต่ขอสรุปไว้คร่าว ๆ เพื่อช่วยในการอ่านดังนี้

1. คุณภาพของน้ำดิบที่นำมาทำเป็นน้ำบริสุทธิ์


คุณภาพของน้ำดิบเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการเลือกวิธีการ ตัวอย่างเช่นน้ำดิบที่ใช้คือน้ำประปา การทำให้น้ำประปาบริสุทธิ์ก็จะเลือกได้หลายวิธีการ แต่ถ้าเป็นจากแหล่งธรรมชาติ อาจจำเป็นต้องมีบางกระบวนการเพิ่มเติมเข้ามาหรือบางกระบวนการไม่สามารถใช้ได้โดยตรง (คุณอาจใช้วิธีการกลั่นเพื่อให้น้ำที่ได้จากแหล่งธรรมชาติกลายเป็นน้ำบริสุทธิ์ได้ แต่ถ้าใช้การแลกเปลี่ยนไอออนจะไม่สามารถใช้ได้เพราะสิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่มากับน้ำจะเข้าไปอุดตันเรซิน)

อีกประการหนึ่งที่ควรคำนึงคือน้ำประปาในแต่ละท้องที่อาจมีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน เนื่องจากน้ำดิบที่นำมาผลิตน้ำประปามีคุณสมบัติแตกต่างกัน ใครที่มีบ้านอยู่ต่างจังหวัดคงจะทราบดี ดังนั้นวิธีการที่ใช้ได้ดีกับน้ำประปาในจังหวัดหนึ่งอาจจะไม่ค่อยเหมาะสมกับน้ำประปาในอีกจังหวัดหนึ่งก็ได้

2. ชนิดและระดับความเข้มข้นของสิ่งที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำ

ถ้าคุณเอาน้ำไปใช้ในการเตรียมสารละลายกรด-ด่างประเภท HCl NaOH H2SO4 หรืออะไรทำนองนี้ คุณคงไม่ต้องกังวลว่าน้ำนั้นจะมีเชื้อแบคทีเรียปนอยู่หรือไม่ แต่ถ้าคุณต้องการนำน้ำนั้นไปเลี้ยงเชื้อ ก็ต้องระวังการปนเปื้อนจากเชื้อที่ไม่ต้องการที่มากับน้ำ ในกรณีที่คุณเตรียมสารเพื่อทำการไทเทรต (โดยทั่วไปการไทเทรตจะใช้ได้ดีกับสารที่มีความเข้มข้นอยู่ในระดับ 0.01 M หรือสูงกว่า) ไอออนต่าง ๆ ที่ปนเปื้อนอยู่ในระดับ ppm ก็อาจถือได้ว่าไม่ส่งผลรบกวนใด ๆ ต่อการวัด แต่ถ้าคุณเตรียมสารละลายเพื่อวัดปริมาณด้วยเทคนิค atomic absorption หรือทำการวิเคราะห์ trace analysis ซึ่งอาจวิเคราะห์หาสารปริมาณระดับ ppm หรือ ppb การปนเปื้อนในระดับ ppm ถือว่ายอมรับไม่ได้

3. ค่าใช้จ่ายในการเดินเครื่อง การดูแลรักษา และการซ่อมบำรุง

บางเทคนิคอาจมีค่าใช้จ่ายในการเดินเครื่องสูง เช่นการกลั่น เพราะต้องใช้ไฟฟ้าในการต้มน้ำและมีการปล่อยน้ำทิ้งไปส่วนหนึ่ง แต่ตัวอุปกรณ์ไม่ต้องการการดูแลรักษาและซ่อมบำรุงมากมาย แค่ล้างตะกรันเป็นระยะ ผลิตน้ำกลั่นได้ในปริมาณมากอย่างต่อเนื่องก่อนที่จะถึงวงรอบการบำรุงรักษา (ปรกติก็คือการล้างตะกรัน แต่ถ้าน้ำดิบที่นำมาผลิตมี อุปกรณ์พวกการกรองหรือใช้เรซินแลกเปลี่ยนไอออนอาจมีค่าใช้จ่ายในการเดินเครื่องต่ำ แต่ต้องทำการซ่อมบำรุงและเปลี่ยนชิ้นส่วน/อุปกรณ์เป็นระยะ (ถ้าเป็นหน่วยราชการแล้วไม่ได้ตั้งงบพวกนี้เอาไว้ด้วยรับรองว่าวุ่นวายเลย เพราะปรกติหน่วยราชการจะมีงบให้ซื้อของแต่ไม่มีงบสำหรับการเดินเครื่อง บำรุงรักษาเป็นระยะ หรือซื้อวัสดุสิ้นเปลืองในการใช้งาน) เคยมีเหตุการณ์ที่หน่วยงานหนึ่งต้องการน้ำบริสุทธิ์ใช้งานทีละมาก ๆ เสมอแต่ดันไปซื้อเครื่องทำน้ำดีมิน (ซึ่งน่าจะมีขนาดเล็กเกินไปกับงานที่ทำอยู่) มาใช้ ปรากฏว่าตัวเครื่องถึงกำหนดที่ต้องทำการบำรุงรักษาก่อนที่จะผลิตน้ำได้ในปริมาณที่ต้องการ ก็เลยต้องวิ่งไปหาน้ำจากหน่วยงานอื่นมาใช้ การเลือกใช้อุปกรณ์แบบไหนก็ต้องดูว่าตัวเองมีทรัพยากรแบบใดพร้อม

ไม่มีความคิดเห็น: