วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

สถานีรถไฟราชบุรี MO Memoir : Saturday 31 July 2564

ก๋วยเตี๋ยวกล่องเส้นเล็กแห้ง กล่องละ ๑๐ บาท ที่สถานีนี้ก็อร่อยดี ไม่เสียทีที่แวะเข้าไปถ่ายรูปและซื้อติดมือออกมา

ราชบุรีก็เป็นจังหวัดใหญ่ที่มีพรมแดนด้านตะวันตกติดประเทศพม่า แต่คนส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ทางด้านตะวันออกเสียมากกว่า ความเจริญในอดีตก็มีให้เห็นที่เมืองโบราณบ้านคูบัว

สะพานจุฬาลงกรณ์ที่เป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลองก็เคยเป็นเป้าหมายการทิ้งระเบิดในช่วงท้ายสงครามโลกครั้งที่ ๒ และผลกระทบหนึ่งที่ยังอยู่ ณ ปัจจุบันคือมีลูกระเบิดที่ด้านจมอยู่ในแม่น้ำบริเวณใต้สะพาน มันก็อยู่ตรงนั้นมานานแล้วแต่เพิ่งจะมีปัญหาก็เพราะการขยายทางรถไฟเป็นทางคู่ที่ต้องมีการสร้างสะพานเพิ่มเติม และดันไปพบระเบิดลูกนี้เข้า ในขณะที่ทางทหารกำลังหาทางกู้ระเบิดลูกนี้ซึ่งไม่รู้ว่าจะทำได้เมื่อใด ทางการรถไฟก็วางแผนเปลี่ยนรูปแบบสะพานโดยเลี่ยงการมีตอม่อกลางแม่น้ำแทน แต่ก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่าแม้ว่าการสร้างสะพานจะหลีกเลี่ยงการไปกระทบกระเทือนลูกระเบิดที่จมน้ำอยู่ แต่ถ้าการกู้ระเบิดเกิดมีความผิดพลาดขึ้นมา แรงระเบิดที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อสะพานที่สร้างใหม่หรือไม่ (ของเดิมน่าจะโดนอยู่แล้วเพราะเป็นเป้าหมายการทิ้งระเบิดเดิม)

ถึงแม้ว่ารูปแบบการเดินทางด้วยรถไฟจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลง แต่ตามสถานีใหญ่ ๆ ในต่างจังหวัดบางสถานีก็ยังเหลือร่องรอยของความรุ่งเรืองของการเดินทางด้วยรถไฟในอดีต อย่างเช่นที่ราชบุรีนี้ ก็ยังคงมีร่องรอยสำหรับรถจักรไอน้ำหยุดเติมน้ำอยู่ให้เห็น บันทึกฉบับนี้ถือว่าเป็นการบันทึกภาพสถานที่ธรรมดาแห่งหนึ่งเอาไว้ก่อนจะเปลี่ยนแปลงไปก็แล้วกัน

รูปที่ ๑ แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ธันวาคม ๒๔๗๘ สถานีรถไฟราชบุรีอยู่ตรงกลางด้านล่างสุดของภาพ

รูปที่ ๒ ป้ายบอกสถานีที่อยู่เคียงข้าง มุ่งหน้าลงใต้ก็ไปยังสถานีบ้านคูบัว มุ่งหน้าไปบ้านโป่งก็ไปสถานีบ้านกล้วย

รูปที่ ๓ ป้ายชื่อสถานีมองย้อนขึ้นไปทางทิศเหนือ จะเห็นถังเก็บน้ำและจุดเติมน้ำให้กับหัวรถจักร

รูปที่ ๔ บริเวณที่นั่งพักรอรถไฟ

รูปที่ ๕ ป้ายชื่อสถานีที่ตัวอาคาร

รูปที่ ๖ บรรยากาศเก่า ๆ ของประตูไม้เก่า ๆ

รูปที่ ๗ ถังเก็บน้ำสำหรับหัวรถจักรไอน้ำ ริมทางรถไฟจะเห็นเส้นลวดของระบบอาณัติสัญญาณแบบเก่าอยู่

รูปที่ ๘ อีกมุมหนึ่งของถังเก็บน้ำ

รูปที่ ๙ เสาสำหรับเติมน้ำให้กับหัวรถจักร มีวาล์วอยู่ข้างล่าง

รูปที่ ๑๐ อีกมุมหนึ่งของเสาสำหรับเติมน้ำให้กับหัวรถจักร

รูปที่ ๑๑ ตุ้มถ่วงสำหรับดึงลวดให้ตึงสำหรับระบบประแจกลสายลวด

รูปที่ ๑๒ เสาสำหรับรับ-ส่งคืนห่วงทางสะดวก

วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๘ Drawing อุปกรณ์ MO Memoir : Monday 26 July 2564

ตัวอย่างนี้น่าจะเป็นข้อถกเถียงได้ว่า ควรจะตีความตามตัวอักษร หรือควรจะตีความตามบริบท

ในความเป็นจริงเราคงต้องยอมรับว่า เราคงไม่สามารถเขียนกฎเกณฑ์ที่สามารถครอบคลุมข้อห้ามหรือข้อยกเว้นได้ทุกกรณี ดังนั้นในกรณีที่เกิดปัญหาว่ามันไม่ตรงกับกฎเกณฑ์ที่เขียนไว้ แล้วเราจะทำอย่างไร ใครจะเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจ

กรณีของตัวอย่างที่ ๘ นี้เป็นกรณีของ Drawing (แบบพิมพ์เขียว) สำหรับผลิตตัวเก็บประจุ (ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า condenser (และญี่ปุ่นก็เรียกแบบนี้) หรือ capacitor) ที่ไม่ได้เป็นสินค้าควบคุม (รูปที่ ๑ ข้างล่าง)

รูปที่ ๑ รายละเอียด Drawing สำหรับผลิตตัวเก็บประจุ (ที่เป็นสินค้าไม่เข้าข่าย) และข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทผู้ผลิตตัวเก็บประจุนี้ บริษัทนี้ผลิตตัวเก็บประจุทั้งที่เป็นสินค้าเข้าข่ายและไม่เข้าข่าย

ตัวอย่างนี้จะเรียกว่าเป็นส่วนขยายของกรณีตัวอย่างที่ ๑ ตัวเก็บประจุก็ได้ กล่าวคือบริษัทแห่งหนึ่งผลิตตัวเก็บประจุทั้งชนิดที่เป็นสินค้าเข้าข่ายและไม่เข้าข่าย การส่งออกตัวเก็บประจุที่เป็นสินค้าไม่เข่ายไปยังต่างประเทศไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ถ้าต้องการไปตั้งโรงงานผลิตสินค้าที่ "ไม่เข้าข่าย" ในต่างประเทศ ซึ่งก็แน่นอนว่าต้องมีการส่งออก Drawing หรือแบบพิมพ์เขียวให้กับโรงงานที่จะสร้างขึ้นในต่างประเทศ ตรงนี้ถ้ามองกันตามตัวอักษรก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะสิ่งที่จะส่งออกไปนั้นไม่ได้ใช้สำหรับผลิตสินค้าที่เข้าข่าย

แต่สิ่งที่วิทยากรชี้ให้เห็นก็คือ เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตสินค้าไม่เข้าข่ายกับสินค้าเข้าข่ายนั้น เป็นเทคโนโลยีเดียวกันหรือไม่ ถ้าเป็นต่างเทคโนโลยีกัน (คือไม่สามารถใช้เทคโนโลยีของพิมพ์เขียวนั้นในการผลิตสินค้าเข้าข่ายได้) ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเป็นเทคโนโลยีแบบเดียวกัน ทำเพียงแค่การเปลี่ยนหรือดัดแปลงชิ้นส่วนบางชิ้นเท่านั้น (เช่นในตัวอ่างนี้คืออาจทำการเปลี่ยนสายไฟให้สั้นลงหรือเปลี่ยนชนิดสายไฟ) ก็ควรจัดว่าการส่งออกเทคโนโลยีนี้จำเป็นต้องได้รับการควบคุม (รูปที่ ๒)

รูปที่ ๒ ผลการวินิจฉัยของบริษัท Mitsubishi Electric ที่มองว่าแม้ว่าแบบพิมพ์เขียวสำหรับผลิตตัวเก็บประจุที่ไม่ได้เป็นสินค้าเข้าข่าย จัดว่าเป็นการส่งออกเทคโนโลยีที่ต้องได้รับการควบคุม เนื่องจากสามารถนำไปดัดแปลงเพียงเล็กน้อยก็สามารถผลิตสินค้าที่เข้าข่ายควบคุมได้

ในตัวอย่างนี้ การตัดสินว่าเทคโนโลยีที่จะส่งออกนั้นเป็นเทคโนโลยีที่ "เข้าข่าย" หรือ "ไม่เข้าข่าย" ขึ้นอยู่ที่ตัวบริษัทที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี เพราะเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดในฐานะผู้เชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว ว่าสิ่งที่ดูตามตัวอักษรแล้วมันไม่เข้าข่าย แต่ในความเป็นจริงนั้นสามารถใช้ผลิตสินค้าที่เข้าข่ายได้ด้วยการดัดแปลงบางสิ่งที่ปรากฏในแบบพิมพ์เขียวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ตรงนี้การตรวจสอบของภาครัฐคงทำไม่ได้หรือยากที่จะทำ เพราะภาครัฐเองก็ไม่ได้มีคนที่จะรู้เรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีทุกเรื่องและทางบริษัทเองก็ยังสามารถอ้างได้ว่าแบบพิมพ์เขียวดังกล่าวเป็นความลับทางการค้าที่ไม่สามารถเปิดเผยได้

ด้วยเหตุนี้ตอนที่ไปฝึกอบรม จึงได้รับคำถามจากทางญี่ปุ่นกลับมา ว่าประเทศไทยจะทำอย่างไร เพื่อให้เอกชนนั้นตระหนักถึงความสำคัญในการควบคุมสินค้าที่ใช้ได้สองทาง และเพื่อให้แต่ละหน่วยงานนั้นสามารถวินิจฉัยได้ว่าสิ่งที่ตัวเองมีอยู่นั้นสามารถนำไปดัดแปลงเพื่อใช้ผลิตสินค้าที่เข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทางหรือไม่

วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๗ รายงานผลการทดสอบอุปกรณ์ MO Memoir : Saturday 17 July 2564

"เทคโนโลยี" บางชนิดก็จัดเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง แต่การควบคุมการส่งออกจะทำได้ยากเพราะมีช่องทางการส่งออกที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นในรูปของการศึกษา การประชุมวิชาการ การส่งผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น อย่างเช่นในกรณีของตัวอย่างที่ ๗ นี้ที่เป็น "รายงานผลการทดสอบ"

ในเรื่องของสารกึ่งตัวนำและฉนวนไฟฟ้า แถบพลังงานของชั้น Valance band (ชั้นวงโคจรนอกสุดที่มีอิเล็กตรอน) กับแถบพลังงานของชัน Conduction band (แถบพลังงานถัดไปที่มีที่ว่างอยู่) จะไม่ซ้อนทับกัน โดยระดับพลังงานต่ำสุดของแถบพลังงาน Conduction band นั้นจะสูงกว่าระดับพลังงานสูงสุดของแถบพลังงาน Valance band ผลต่างของระดับพลังงานสองระดับนี้เรียกว่า "Band gap" (ผลต่างระดับพลังงานตรงนี้นิยมใช้หน่วยอิเล็กตรอนโวลต์ eV)

การนำไฟฟ้าจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่ออิเล็กตรอนใน Valance band ได้รับพลังงานมากพอที่จะกระโดดเข้าไปอยู่ในแถบพลังงาน Conduction band ได้ วัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้าจะมีค่า Band gap นี้กว้าง (4 eV ขึ้นไป) ในขณะที่วัสดุที่เป็นสารกึ่งตัวนำเช่น Si จะมีค่า Band gap นี้อยู่ที่ประมาณ 1.14 eV และเราสามารถทำให้ Si นำไฟฟ้าได้ดีขึ้นด้วยการโดปธาตุบางธาตุที่ทำให้เกิด acceptor level หรือ donor level

รูปที่ ๑ รายงานผลการทดสอบสารกึ่งตัวนำที่ต้องมาตีความว่าเข้าข่ายสินค้าควบคุมหรือไม่

ที่อุณหภูมิสูงขึ้น อิเล็กตรอนในแถบพลังงาน Valance band จะมีพลังงานมากขึ้น ทำให้สามารถกระโดยเข้าไปวิ่งในแถบพลังงาน Conduction band ได้ง่ายขึ้น ดังนั้นสารกึ่งตัวจึงนำไฟฟ้าได้ดีขึ้นที่อุณหภูมิสูงขึ้น แต่สิ่งนี้ก็ก่อให้เกิดปัญหาในการนำสารกึ่งตัวนำไปใช้ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง เพราะมันจะรวนได้เนื่องจากแทนที่กระแสไฟฟ้าจะวิ่งตามเส้นทางที่ได้โดปธาตุต่าง ๆ เอาไว้ กลับกลายเป็นว่ามันวิ่งผ่านตัว Si ได้เลย

รูปที่ ๒ คุณสมบัติอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นสินค้าควบคุมในหัวข้อ 3A001.b.3.b

GaN หรือ Gallium Nitride เป็นสารกึ่งตัวนำที่มีค่า band gap ที่กว้าง คือมีค่า 3.4 eV จึงมีการนำมาใช้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายชนิดที่ต้องสามารถทนอุณหภูมิที่สูงได้ และในวงการหนึ่งที่ใช้กันมากคือทางทหาร แต่ใช่ว่า GaN ทุกตัวจะเป็นสินค้าควบคุม คือในข้อกำหนดนั้นไม่ได้กำหนดว่าอุปกรณ์ที่เป็นสินค้าควบคุมนั้นทำจากวัสดุอะไร แต่กำหนดความสามารถในการทำงาน ดังนั้นไม่ว่าวัสดุนั้นจะเป็นวัสดุอะไร แต่ถ้ามันมีความสามารถตามข้อกำหนด วัสดุนั้นก็จะกลายเป็นสินค้าควบคุม

แต่เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้ไม่ใช่เรื่องของการส่งออกวัสดุ แต่เป็นการส่งออก "รายงานการผลการทดสอบ"

กรณีของรายงานการทดสอบ GaN เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ได้ไปเรียนมา กล่าวคือมีการสั่งซื้ออุปกรณ์ผลิตคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่สูง (รูปที่ ๑) และอุปกรณ์ดังกล่าวก็เข้าข่ายสินค้าควบคุมในหัวข้อ 3A001.b.3.b (รูปที่ ๒) และก่อนที่จะส่งสินค้าไปให้ผู้ค้า ทางผู้ผลิตก็ได้ทำการทดสอบอุปกรณ์ด้วยวิธีการทดสอบที่เป็นมาตรฐานของบริษัทเอง (วิธีการทดสอบไม่เป็นที่เปิดเผย และรายงานการทดสอบก็ไม่ได้เปิดเผยออกสู่สาธารณะ) และสินค้าตัวอื่นที่มี GaN เป็นองค์ประกอบแต่ไม่เข้าข่ายสินค้าควบคุม ก็ได้รับการทดสอบด้วยวิธีการทดสอบแบบเดียวกัน

ตรงจุดนี้มันก็มีคำถามเกิดขึ้นว่า ถ้าสินค้าที่มี GaN เป็นองค์ประกอบที่ได้ตัดสินใจขายให้ผู้ซื้อนั้นเป็นสินค้าควบคุม แล้วทำไมต้องมาห่วงเรื่องรายงานการทดสอบอุปกรณ์ ก็ในเมื่อยอมขายอุปกรณ์ให้ผู้ซื้อไปแล้ว เพราะถ้าไม่ไว้ใจผู้ซื้อก็ไม่ควรที่จะขายอุปกรณ์ดังกล่าวแต่ต้น จะได้ไม่ต้องมาเถียงกันว่ารายงานการทดสอบเข้าข่ายสินค้าควบคุมด้วยหรือไม่

ประเด็นมันอยู่ตรงที่ ตัวสินค้านั้นอาจมีวัตถุประสงค์ที่ผู้ซื้อแจ้งว่าจะนำไปใช้ในกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทหาร แต่เนื่องจากเป็นสินค้าควบคุม ข้อมูลการทดสอบจึงต้องผ่านการตรวจสอบว่าเป็นการส่งออกเทคโนโลยีด้วยหรือไม่ตามเกณฑ์ในหัวข้อ 3E001 (รูปที่ ๓)

ในเอกสารที่ทางผู้อบรมนำมาสอนนั้นกล่าวว่า ในส่วนของ General Technology Note (GTN) (รูปที่ ๔) กล่าวว่าถ้าการทดสอบนั้นเป็นการทดสอบที่กระทำแบบเดียวกันกับสินค้าที่ไม่เข้าข่าย ดังนั้นรายงานการทดสอบสินค้าเข้าข่ายที่ใช้วิธีการทดสอบแบบเดียวกันกับสินค้าที่ไม่เข้าข่ายก็จัดว่าไม่เข้าข่ายถูกควบคุมการส่งออกเทคโนโลยี

รูปที่ ๓ แม้ว่าจะยังไม่ได้ส่งออกอุปกรณ์ แต่อุปกรณ์เป็นสินค้าที่เป็นสินค้าควบคุม การส่งออกข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับอุปกรณ์ดังกล่าวจึงต้องพิจารณาว่าเข้าข่ายการส่งออกเทคโนโลยีในหัวข้อ 3E001 ด้วยหรือไม่

รูปที่ ๔ รายละ General Technology Note (GTN) ที่ต้องนำไปพิจารณาร่วมกับ section E ของหมวด 1 ถึง 9

ถ้าพิจารณาแต่ชื่อสิ่งที่ต้องพิจารณา มันก็คงจะจบเพียงแค่นี้ แต่ทางผู้อบรมก็ให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่า ในทางปฏิบัตินั้นควรต้องพิจารณาเนื้อหาของรายงานด้วย ว่ามีอะไรซุกซ่อนอยู่ไหม เช่นเป็นสินค้าต้นแบบที่สามารถนำข้อมูลการทดสอบนั้นไปพัฒนาต่อไป และมีการทดสอบที่เฉพาะเจาะจงกับสินค้าที่เข้าข่ายหรือไม่ (คือมีการทดสอบนอกที่ถ้าเป็นสินค้าที่ไม่เข้าข่ายแล้วก็ไม่ต้องทดสอบ) (รูปที่ ๕)

รูปที่ ๕ คำอธิบายเพิ่มเติมที่ทางผู้อบรมได้ให้ไว้

ความยากของการตรวจสอบตรงนี้คงอยู่ที่ ผู้ที่ทำรายงานนั้นตระหนักหรือไม่ว่าเนื้อหาในรายงานนั้นอาจเข้าข่ายการส่งออกเทคโนโลยีที่เป็นเทคโนโลยีควบคุมได้ ยิ่งในปัจจุบันที่สามารถส่งออกข้อมูลได้ง่ายผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตโดยไม่ผ่านการตรวจจับ

อีกประเด็นที่ต้องคำนึงคือ คำว่า "ส่งออกเทคโนโลยีทางอิเล็กทรอนิกส์" นั้นไม่ได้จำกัดเพียงแค่การส่งผ่านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในมือไปให้กับบุคคลภายนอก แต่ยังครอบคลุมถึงการอนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าใช้ซอร์ฟแวร์หรือข้อมูลที่ติดตั้งอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานด้วย กล่าวคือลูกค้าไม่ได้ซื้อซอร์ฟแวร์หรือข้อมูลที่เป็นเทคโนโลยีควบคุม แต่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงซอร์ฟแวร์หรือข้อมูลที่เป็นเทคโนโลยีควบคุม

วันพุธที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

การระเบิดในโกดังเก็บเม็ดพลาสติก Expandable Polystyrene จาก Blowing Agent ที่ระเหยออกมา MO Memoir : Wednesday 14 July 2564

สไตรีน (Styrene H2C=CH(C6H5)) เป็นสารที่เกิดปฏิกิริยาการพอลิเมอร์ไรซ์กลายเป็นพอลิเมอร์ได้ไม่ยาก ไม่ต้องใช้สภาวะการทำปฏิกิริยาที่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา ใช้เพียงแค่ตัวกระตุ้น (Initiator) ก็สามารถสังเคราะห์ได้แล้ว

รูปที่ ๑ ข้างล่างเป็นแผนผังกระบวนการผลิต expandable polystyrene แบบ suspension ในกระบวนการนี้ใช้น้ำเป็นตัวกลางในการปฏิกิริยาและระบายความร้อนที่เกิดจากปฏิกิริยา หลังจากที่ปฏิกิริยาดำเนินไปได้ขนาดหนึ่งก็จะทำการเติม blowing agent (จะเป็นสารที่มีจุดเดือดต่ำและเฉื่อย เช่นไฮโดรคาร์บอนอิ่มตัวช่วง C3-C5) เข้าไป เพื่อให้อนุภาคพอลิเมอร์ที่ก่อตัวเป็นก้อนใหญ่ขึ้นนั้นดูดซับเอาไว้ หลังเสร็จสิ้นการทำปฏิกิริยาก็จะระบายของเหลวในถังปฏิกรณ์ (reactor) เข้าสู่ slurry tank ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการแยกเอาอนุภาคพอลิเมอร์ออกมาและทำการคัดขนาด

รูปที่ ๑ กระบวนการผลิต expandable polystyrene ของ BP/Lummus
(จาก https://www.engstack.com/kb/manufacturing-processes-expandable-polystyrene/)

เมื่อนำเอาเม็ดพลาสติกพอลิสไตรีนที่ดูดซับ blowing agent เอาไว้นี้ไปให้ความร้อน (เช่นด้วยไอน้ำหรืออากาศร้อน) blowing agent ที่มีจุดเดือดต่ำก็จะกลายเป็นไอดันให้อนุภาคพอลิสไตรีนขยายตัว ความหนาแน่นของอนุภาคจะลดลงกลายเป็นวัสดุที่มีรูพรุนที่มีอากาศแทรกอยู่ภายในและมีน้ำหนักเบา จึงมีการใช้ทำเป็นฉนวนความร้อนหรือบรรจุภัณฑ์ไม่ว่าจะเพื่อกันกระแทกหรือป้องกันความร้อน (เช่น ถ้วย ชาม กล่องโฟมต่าง ๆ)

แต่ในระหว่างช่วงเวลาที่ผลิตเสร็จ เข้าสู่การเก็บเพื่อรอการนำไปใช้งานงาน สาร blowing agentที่เป็นไฮโดรคาร์บอนเบาที่อยู่ในเม็ดพลาสติกพอลิสไตรีนก็สามารถระเหยออกมาได้ และถ้าไฮโดรคาร์บอนเหล่านี้ไม่ถูกระบายออกไป เกิดการสะสมจนมีความเข้มข้นสูงมากพอ เพื่อพบก็แหล่งพลังงานที่สามารถจุดระเบิดได้ (เช่นประกายไฟจากการเปิดปิดสวิตช์ไฟฟ้า) ก็จะเกิดการระเบิดขึ้น และนี่คือที่มาของเหตุการณ์การระเบิดของโกดังที่เก็บเม็ดพลาสติก expandable polystyrene ที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๘๒ (พ.ศ. ๒๕๒๕)

เหตุการณ์นี้นำมาจากบทความเรื่อง "Explosion of Warehouse during Storage of Expanded Polystyrene Beads [Aubust 23rd, 1982 Yokkaichi, Mie, Japan]" รูปที่ ๒ ข้างล่างเป็นแผนผังกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกที่เกิดเหตุ คือมีการผสม blowing agent ที่เป็นไฮโดรคาร์บอนตั้งแต่ C3-C5 เข้าไป แต่ปัจจัยที่ทำให้แก๊สที่เม็ดพลาสติกคายออกมาและเกิดการสะสมนั้นในรายงานกล่าวว่าน่าจะเป็นขั้นตอนการบรรจุ (filling) ที่มีการเปลี่ยนการบรรจุจากเดิมที่เป็น steel drum ขนาด 100 kg ไปเป็น flexible container ขนาด 500 kg และขั้นตอน ripening ที่ทางผู้ผลิตจะเก็บเม็ดพลาสติกที่ผลิตได้นั้นในบริเวณที่เหมาะสมที่อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ในสถานที่เก็บนั้นจะเป็นแบบ explosion proof ขั้นตอนนี้ก็เพื่อให้ไฮโดรคาร์บอนเบาบางส่วนนั้นระเหยออกมาก่อนที่จะส่งให้กับลูกค้าต่อไป

รูปที่ ๒ แผนผังกระบวนการผลิตและกระบวนการจัดเก็บเม็ดพลาสติก expandable polystyrene ที่เป็นต้อตอของการระเบิด (จาก http://www.shippai.org/fkd/en/cfen/CC1200111.html)

steel drum สามารถกักเก็บไฮโดรคาร์บอนเบาที่ระเหยออกมาได้ ในขณะที่ flexible container นั้นจะยอมให้ไฮโดรคาร์บอนเบาผ่านออกมาได้ นอกจากนี้จากเดิมที่ผู้ผลิตจะเก็บเม็ดพลาสติกที่ได้เอาไว้ชั่วเวลาหนึ่งเพื่อลดปริมาการระเหยของไฮโดรคาร์บอนเบาออกจากเม็ดพลาสติกก่อนส่งต่อให้ลูกค้านำไปเก็บไว้ได้ในโกดังปรกติที่อุณหภูมิห้อง (ขั้นตอน ripening) แต่เนื่องจากมีรายงานหนึ่งกล่าวว่าเม็ดพลาสติกนั้นจะไม่คายไฮโดรคาร์บอนที่ดูดซับเอาไว้ออกมาถ้าอุณหภูมิในการเก็บนั้นไม่เกิน 5ºC จึงมีแนวความคิดที่ว่าจะสามารถข้ามขั้นตอน ripening ได้ด้วยการส่งไปเก็บในโกดังที่คุมอุณหภูมิไว้ไม่เกิน 5ºC

โกดังที่ส่งเม็ดพลาสติกไปเก็บนี้เดิมเป็นโกดังที่ใช้เก็บสินค้าทั่วไป ต่อมาได้รับการดัดแปลงให้เห็นโกดังห้องเย็นที่สามารถคุมอุณหภูมิไว้ที่ 5ºC ได้ แต่เนื่องการดัดแปลงนั้นไม่ได้เผื่อไว้สำหรับการเก็บสินค้าที่คายไอระเหยของเชื้อเพลิงได้ อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่ใช้จึงเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าแบบธรรมดาทั่วไป ไม่ใช่ชนิด explosion proof ในคืนที่เกิดเหตุนั้นมีเม็ดพลาสติก expandable polystyrene เก็บอยู่ในรูปของ steel drum (100 kg/drum) อยู่ 30 ตัน และในรูปของ flexible container (500 kg/container) อีก 120 ตัน

ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงฤดูร้อน flexible container ที่นำมาจากข้างนอกโกดังจะมีอุณหภูมิเท่ากับอากาศข้างนอก และเมื่อถูกนำมาวางเรียงซ้อนกัน ทำให้ถุงที่อยู่ข้างใต้นั้นไม่ได้เย็นเร็วเหมือนถุงที่อยู่ด้านนอก

รูปที่ ๓ ความเข้มข้นแก๊สที่เม็ดพลาสติก expandable polystyrene คายออกมาที่อุณหภูมิต่าง ๆ และชนิดแก๊สที่ใช้เป็นตัว blowing agent

การระเบิดเกิดเมื่อเวลาประมาณ ๓.๑๐ น ทำให้มีผู้บาดเจ็บ ๒๔ ราย สาเหตุของการระเบิดเชื่อว่าเป็นเพราะ blowing agent ที่ระเหยออกมาจากเม็ดพลาสติกที่ยังมีอุณหภูมิสูงอยู่ (พวกที่อยู่ใน flexible container ที่กองอยู่ข้างใต้) และในห้องเก็บนั้นไม่มีการระบายอากาศที่เพียงพอ ทำให้เชื้อเพลิงเกิดการสะสมจนมีความเข้นข้นสูงพอที่จะเกิดการระเบิดได้ รูปที่ ๓ เป็นผลการทดลองวัดปริมาณ blowing agent ชนิดต่าง ๆ ที่ระเหยออกมาจากเม็ดพลาสติกที่อุณหูมิต่าง ๆ ส่วนการจุดระเบิดนั้นเกิดขึ้นที่แผงควบคุมระบบปรับอากาศที่เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดธรรมดา

ในรายงานกล่าวถึงการระบายอากาศที่ไม่เพียงพอ แต่กรณีนี้เป็นกรณีของห้องเย็น ที่การระบายอากาศจะส่งผลต่อภาระงานของระบบทำความเย็นที่เพิ่มมากขึ้น มันจะเหมือนกับอยู่ในห้องเปิดแอร์แต่เปิดพัดลมดูดอากาศเพื่อระบายอากาศในห้องออกไป

เหตุการณ์นี้น่าสนใจตรงที่ ถ้าหากเกิดเพลิงไหม้โกดังเก็บเม็ดพลาสติก expandable polystyrene ความร้อนที่เกิดจากเปลวไฟก็สามารถทำให้เม็ดพลาสติกร้อนขึ้น และแม้ว่าจะสามารถดับเพลิงให้สงบด้วยน้ำได้ แต่เม็ดพลาสติกที่ยังร้อนอยู่ก็น่าจะยังคงคาย blowing agent ที่มันดูดซับเอาไว้ออกมาได้อีก จึงควรเป็นข้อควรระวังในการดับเพลิง

วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

อะไรคือความเสี่ยง อะไรคือความเสี่ยงที่ยอมรับได้ MO Memoir : Monday 12 July 2564

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีศิษย์เก่าภาควิชาคนหนึ่งติดต่อผมมาตอนเที่ยงวันอังคาร ขอให้ไปร่วมเสวนาเรื่องโรงงานระเบิดหน่อย ผมก็ตอบไปว่ามันไม่มีข้อมูลอะไรที่ชัดเจนเลย จะให้พูดอะไรได้ เขาก็บอกมาว่างั้นขอให้อาจารย์พูดเรื่องความเสี่ยงและการจัดการความเสี่ยงสำหรับโรงงานหน่อยก็แล้วกัน เนื่องจากในงานเสวนานี้มีคนพูดหลายคน (วิทยากร ๘ + พิธีกร ๑ ในเวลา ๖๐ นาที) ก็ถือว่าช่วย ๆ เขาไป

เรื่องพูดศัพท์เทคนิคที่ดูดีแต่เผลอ ๆ ทั้งคนพูดคนฟังต่างไม่รู้ว่าพูดอะไรออกมาเนี่ยเจอมาเยอะครับ ยิ่งวันนั้นมีคนฟังหลากหลาย ให้เวลาพูดแค่ ๔ นาทีก็เลยจัดตัวอย่างง่าย ๆ ให้ คือรูปที่ ๑ (ซ้าย) ข้างล่าง สมมุติว่าเดิมถนนจากเมือง A ไปเมื่อง B ระยะแค่ ๕ กิโลเมตรแต่มีทางโค้งอันตรายหลายโค้ง (ลูกศรสีดำ อันอาจเป็นผลจากลักษณะภูมิประเทศ) และก็มีรถแหกโค้งประจำ ก็เลยมีเสนอใหม่ให้ตัดถนนเป็นแนวตรงเลย (ลูกศรสีชมพู) ปัญหารถแหกโค้งก็หมดไป ดังนั้นเราจะสรุปได้ไหมครับว่าทางตรงปลอดภัยกว่าทางโค้ง

รูปที่ ๑ (ซ้าย) ระยะทางจาก A ไป B เดิมเป็นทางโค้ง มีรถแหกโค้งเป็นประจำ เลยตัดใหม่เป็นทางตรงยาว ๕ กิโลเมตร ซึ่งทางตรงลดความเสี่ยงจากการที่รถจะแหกโค้งได้ คำถามก็คือระยะทางจาก C ไป D ถ้าตัดถนนเป็นทางตรงยาว ๒๕ กิโลเมตร จะยังคงมีความปลอดภัยในระดับเดียวกันกับทางตรงจาก A ไป B ไหม (ขวา) ทางสามแยกรูปตัว T เดิมมีพุ่มไม้บังมุมมอง ทำให้คนขับที่ขับในแนวตรงมองไม่เห็นรถที่มาจากถนนที่เข้ามาบรรจบ ถ้าตัดพุ่มไม้ออกไปเพื่อให้คนขับรถทั้งจากแนวตรงและแนวบรรจบต่างมองเห็นอีกฝ่ายได้ จะทำให้แยกนี้มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้นไหม


ถนนที่ตรงนั้นจัดการความเสี่ยงเนื่องจากรถจะแหกโค้งได้ เพราะมันไม่มีโค้งให้แหก แต่ถนนที่ตรงยาวนั้นมันมีความเสี่ยงอันใหม่เพิ่มเข้ามาเมื่อเทียบกับถนนที่โค้งไปมาเป็นระยะทางยาวคือ มัน "หลับใน" ง่ายกว่า เราหนีความเสี่ยงหนึ่งเพื่อไปสร้างอันใหม่อีกอันหนึ่งขึ้นมา การมองเห็นความเสี่ยงตรงนี้มันมีเรื่อง "ประสบการณ์ของผู้ใช้งานจริง" เข้ามาเกี่ยวข้อง"

อีกตัวอย่างหนึ่งเห็นในรายการโทรทัศน์ของอังกฤษตอนเรียนอยู่ที่โน่น (รูปที่ ๑ (ขวา) ซึ่งก็กว่า ๓๐ ปีแล้ว เรื่องนี้ไม่ได้กล่าวในงานเสวนา คือมีการศึกษาว่าเมื่อเราทำในสิ่งที่คิดว่าเป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ขับรถ ความเสียหายจากอุบัติเหตุจะลดลงหรือไม่ คือเรื่องมุมมองที่สามแยกที่มีต้นไม้บัง เขาคิดว่าทัศนวิสัยไม่ดี คนขับรถมองไม่เห็นรถที่วิ่งในเส้นทางตั้งฉากกับรถของตัวเอง ทำให้เกิดอุบัติเหตุรถชนกันที่สามแยก ก็เลยตัดต้นไม้ออกเพื่อให้คนขับรถเห็นรถที่มาจากถนนด้านที่ตั้งฉากกับรถของตัวเองได้แต่ไกล (แทนที่จะมาเห็นตอนเข้าสามแยกแล้ว) แต่ปรากฏว่าอุบัติเหตุยังเกิดเหมือนเดิมและรุนแรงกว่าเดิม เพราะพอคนขับเห็นว่ามองเห็นได้ไกลขึ้นก็เลยไม่ลดความเร็วเมื่อรถเข้าสู่สามแยก

อีกกรณีหนึ่งที่กล่าวถึงในรายการโทรทัศน์เดียวกันคือ การพบว่าสำหรับรถเก๋ง การบังคับให้คนนั่งหน้ารัดเข็มขัดกลับไม่ได้ช่วยลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุอย่างที่ควรเป็น พอทำการศึกษาก็พบว่าพอให้คนขับรัดเข็มขัดนิรถัย คนขับเลยรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นก็เลยขับรถเร็วขึ้น (เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ) ส่วนคนนั่งเบาะหลังกฎหมายไม่บังคับ เวลาเกิดอุบัติเหตุรถชน คนนั่งหลังก็เลยปลิวอัดเบาะคนนั่งหน้าพับเข้าหาคอนโซล (ไม่ก็พุ่งทะลุกระจกหน้าออกไป) คนขับก็กระแทกพวงมาลัยตายอยู่ดีแม้รัดเข็มขัด ตอนหลังอังกฤษก็เลยต้องแก้กฎหมายด้วยการบังคับให้รัดเข็มขัดทั้งคนนั่งหน้านั่งหลัง

ถุงลมนิรภัยติดรถยนต์ก็เป็นอุปกรณ์ตัวหนึ่งที่กล่าวอ้างว่าช่วยลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุได้ ซึ่งการทดลองเพื่อการออกแบบก็ใช้ผู้ชายฝรั่งโตเต็มวัยเป็นแบบ แต่เอาเข้าจริงผู้หญิงขับรถก็มีไม่น้อย และผู้หญิงมักตัวเล็กกว่าผู้ชาย เวลาขับรถจึงมักนั่งใกล้พวงมาลัยมากกว่าผู้ชาย สิ่งที่เกิดคือพอถุงลมนิรภัยพองออก ผู้หญิงได้รับแรงกระแทกสูงกว่าผู้ชาย จนมีบางรายเสียชีวิต ก็เลยต้องมีการปรับขนาดกันใหม่ ด้วยเหตุนี้รถที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยไว้ให้กับคนนั่งหน้า จึงห้ามเด็กนั่งหน้า

หรือกรณีของระบบเบรค ABS ที่บอกว่าช่วยลดความเสี่ยงจากการชนท้ายเวลารถคันหน้าหยุดกระทันหัน ด้วยการทำให้ล้อไม่ล็อกตายและหักหลบได้ แต่อาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า เพื่อนคนหนึ่งของอาจารย์ได้รับบาดเจ็บหนักเพราะรถมีระบบ ABS กล่าวคือรถคันหน้าเกิดอุบัติเหตุหยุดกระทันหัน ก็เลยหักขวาหลบ รถที่วิ่งตามมาข้างหลังด้านขวาก็เลยชนเข้าเต็ม ๆ ตรงประตูคนขับ ถ้าชนท้ายตรง ๆ เต็มหน้า หน้ารถจะรับแรงกระแทกและมีการยุบตัวเพื่อดูดซับแรง และเข็มขัดนิรภัยที่ออกแบบมาโดยตรงเพื่อไม่ให้คนขับปลิวไปข้างหน้า แต่พอมาโดนชนด้านข้างที่มีเพียงแค่ประตูบานเดียวคั่นระหว่างคนขับกับรถที่มาชน ก็เลยเจ็บหนัก

รูปที่ ๒ ถ้าเกิดอุบัติเหตุมีรถยนต์ปีนขึ้นทางเท้าชนคนรอรถเมล์ที่ป้าย เราควรสร้างกำแพงป้องกันไว้ที่ขอบทางเท้าหรือไม่

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นกระแสในสัปดาห์ที่แล้วและมีบางคนบอกผมว่าช่วยหน่อย คือช่วยให้ย้ายโรงงานออกไปจากแหล่งชุมชน แต่โรงงานตั้งอยู่ตรงนั้นมาก่อนสมัยที่ตรงนั้นยังเป็นที่รกร้าง เป็นที่เขาจัดให้เป็นนิคมอุตสาหกรรม พวกบ้านที่พักอาศัยเพิ่งจะมาอยู่ภายหลัง สิ่งที่อยากนำมาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นตรงนี้คือ การที่เป็นแบบนี้มาตั้งนานแล้วไม่เห็นมีอะไรเลย พอเกิดเรื่องทีเนี่ยจะเปลี่ยนแปลงกันล้างบางเลยหรือ เราเอาอะไรมาเป็นตัวพิจารณา

ป้ายรถเมล์ในรูปที่ ๒ นี้คนเรียนจุฬาคงรู้จัก เพราะเป็นป้ายรถเมล์ที่หน้าประตูใหญ่ แต่ก่อนทางเท้าตรงนี้เป็นอย่างไร ปัจจุบันก็เป็นอย่างนั้น เป็นมีมานานแล้ว แต่ที่ป้ายนี้เคยเกิดอุบัติเหตุรถเก๋งปีนขึ้นทางเท้า ชนนิสิตที่รอรถเมล์อยู่ได้รับบาดเจ็บสาหัสและพิการ แต่ก็ไม่มีใครคิดว่าทางเท้านี้ไม่ปลอดภัย ที่ควรต้องมีการสร้างรั้วคอนกรีตกั้นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์รถปีนทางเท้าชนคนได้อีก ก็ปล่อยมันไว้เหมือนเดิม เหมือนกับป้ายรถเมล์ต่าง ๆ ที่มีอยู่

ประเด็นที่น่านำมาพิจารณาคือ เรามีเกณฑ์อะไรในการกำหนดว่า สิ่งที่อยู่มานานโดยไม่เคยเกิดเรื่องอะไร พอเกิดเรื่องทีก็ต้องทำการเปลี่ยนแปลงกันแบบล้างบาง ในขณะที่บางสิ่งนั้นเรากลับรู้สึกเฉย ๆ โดยมองว่าเป็นเรื่องโชคร้ายครั้งคราว แล้วก็อยู่กันแบบเดิม ๆ

อย่างเช่นในกรณีที่โรงงานและชุมชนอยู่ใกล้กัน แล้วโรงงานเกิดอุบัติเหตุที่เกิดผลกระทบกับชุมชน เราจะป้องกันไม่ให้เกิด "เหตุการณ์ทำนองนี้" ได้อย่างไรบ้าง โดยมุมมองส่วนตัว เรามีแนวทางให้เลือกอยู่ ๓ แนวทางด้วยกันคือ

(ก) ย้ายโรงงานออกไปให้ห่างจากชุมชน

(ข) ย้ายชุมชนออกไปให้ห่างจากโรงงาน และ

(ค) โรงงานและชุมชนยังคงอยู่ร่วมกัน แต่หาทางป้องกันไม่ให้โรงงานเกิดเหตุการณ์แบบเดิมซ้ำอีก

การไม่ต้องการให้มีโรงงานอยู่ใกล้กับชุมชนที่พักนั้นเป็นการไม่ยอมรับความเสี่ยงใด ๆ ก็มองได้ว่าเป็นความต้องการที่สุดขั้วฟากหนึ่ง ตัวอย่างป้ายรถเมล์ที่รถปีนขึ้นทางเช้าชนคนรอป้ายรถเมล์อยู่ก็คงเป็นการยอมรับความเสี่ยงสุดขั้วอีกฟากหนึ่ง คือการยอมรับที่จะอยู่แบบเดิมโดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไร

ยังมีคำตามต่าง ๆ ตามมาอีกไม่ว่าจะเลือกแนวทางไหน เช่นถ้าเลือก (ก) หรือ (ข) การปฏิบัตินั้นจะเกิดขึ้นเฉพาะกับพื้นที่ที่เกิดเรื่อง หรือครอบคลุมไปยังพื้นที่แบบเดียวกันที่ยังไม่เกิดเรื่องบ้าง

แต่ไม่ว่าจะเลือกแนวทางไหน สิ่งสำคัญที่ควรนำมาพิจารณาคือ การให้ "ผู้มีส่วนได้/ส่วนเสีย" กับการมี/ไม่มีสิ่งนั้นอยู่ ให้เป็นผู้ร่วมพิจารณา

คำถามก็คือใครคือ "ผู้มีส่วนได้/ส่วนเสีย"

ในกรณีของโรงงาน กลุ่มคนที่เป็นผู้มีส่วนได้/ส่วนเสีย (เท่าที่คิดออกขณะนี้) น่าจะมีอยู่สองกลุ่มคือ

กลุ่มแรกคือผู้ที่มีที่พักอาศัยใกล้กับโรงงานแต่ไม่ได้มีส่วนได้ใด ๆ โดยตรงกับโรงงานนั้น กลุ่มคนเหล่านี้มีโอกาสได้รับความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุที่เกิดในโรงงาน

กลุ่มที่สองคือผู้ที่เกี่ยวข้องกันการที่โรงงานมีการทำงาน เป็นกลุ่มที่มีส่วนได้โดยตรงกับการมีโรงงานนั้นอยู่ ตัวอย่างคนกลุ่มนี้เช่น ผู้ที่ประกอบอาชีพที่โรงงานนั้น ร้านค้า หอพัก รถรับส่ง ฯลฯ ที่ให้บริการคนทำงานที่โรงงานนั้น ซึ่งการที่โรงงานหายไปก็แน่นอนว่าส่งผลถึงการประกอบอาชีพของคนเหล่านี้ และถ้าผู้ประกอบอาชีพเหล่านี้เช่น ร้านค้า รถรับส่งหายไป ก็อาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อคนกลุ่มแรก

ในกรณีของการควรมีหรือไม่มีรั้วกั้นทางเท้านั้น ผู้มีส่วนได้/ส่วนเสียคงได้แก่ทุกคนที่ใช้รถประจำทาง รถยนต์นั่ง รวมไปทั้งร้านค้าที่ตั้งอยู่บริเวณป้ายรถเมล์ ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่ป้ายรถเมล์ที่เกิดเรื่อง แต่จะครอบคลุมไปยังป้ายรถเมล์ใด ๆ ด้วยที่ตั้งอยู่ริมถนนหลักเหมือนกัน ซึ่งการพิจารณาว่าควรมีหรือไม่มีกำแพงกั้น ก็อาจมีการพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความสะดวกในการขึ้นลงรถตรงตำแหน่งใดก็ได้ของถนน ความสะดวกในการจอดรถข้างทางที่ไหนก็ได้ ความไม่สะดวกในการเอารถมาจอดบนทางเท้า ความรู้สึกว่าไม่ได้ถูกกักขังด้วยรั้ว (ลองนึกภาพสมมุติว่าบ้านคุณอยู่ในซอยหรือถนนเล็ก ๆ แล้วฝั่งตรงข้ามเป็นรั้วโปร่งกับรั้วสูงทึบ) ฯลฯ

เราอาจมองว่า การมีบ้านอยู่ใกล้โรงงานมันก็ต้องเสี่ยงทุกวัน แต่การมายืนรอรถเมล์ที่ป้ายเพื่อไปทำงานก็มองได้ว่าต้องเสี่ยงทุกวันเหมือนกัน การหาจุดสมดุลของแต่ละเหตุการณ์จึงควรต้องมีการพิจารณาให้รอบด้านและให้เหตุผลได้ ว่าทำไมจึงตัดสินใจเลือกแนวทางแบบนี้ ไม่เช่นนั้นจะเจอปัญหาว่าทำไมกรณีนั้นทำแบบหนึ่ง แต่กรณีนี้กลับทำอีกแบบหนึ่ง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกัน

วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

สถานีรถไฟบ้านคูบัว MO Memoir : Sunday 4 July 2564

ช่วงเทศกาลสงกรานต์มีโอกาสผ่านไปแถวทางราชบุรี เลยถือโอกาสแวะเข้าเยี่ยมชมโบราณสถานคูบัวที่เคยไปเยี่ยมครั้งแรกเมื่อน่าจะราว ๆ ๒๐ ปีที่แล้ว เห็นมีสถานีรถไฟบ้านคูบัวอยู่ใกล้ ๆ ก็เลยแวะเข้าไปเยี่ยมชมหน่อย

ตอนเด็ก ๆ ที่นั่งรถไฟลงใต้ รถเร็วสายธนบุรี-สุไหงโกลกออกจากสถานีธนบุรีตอนทุ่มเศษ เช้ามืดก็ไปอยู่แถว ๆ ชุมพร ที่พอจำได้สถานีที่รถไฟจอดตอนกลางคืนก็มีราชบุรีและเพชรบุรี พ้นจากนี้ไปก็หลับแล้ว ถ้าเป็นรถด่วนหาดใหญ่หรือบัตเตอร์เวิร์ธ (ที่เดี๋ยวนี้ดูเหมือนจะวิ่งแค่ปาดังเบซาร์) มาถึงแถวราชบุรีก็ประมาณหัวค่ำ ยังพอหาซื้ออะไรกินจากพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของที่สถานีได้

นั่งรถไฟข้ามคืน ช่วงที่รถวิ่งก็จะมีเสียงดังตลอดเวลา พอรถจอดที่สถานี ถ้าเป็นสถานีที่มีผู้โดยสารขึ้นลงก็จะได้ยินเสียงประกาศว่าเป็นสถานีไหน แต่ถ้าเป็นการหยุดเพื่อรอหลีก มันก็เงียบจริง ๆ ที่จะได้ยินก็มีเพียงแค่เสียงพัดลม ยิ่งเป็นสถานีเล็ก ๆ มองออกไปก็ไม่เห็นอะไร อาจเห็นเพียงแค่บ้านบางหลังที่เปิดไฟหน้าบ้านไว้เท่านั้นเอง

ก่อนจะมีการพัฒนาถนนเชื่อมต่อระหว่างจังหวัด รถไฟคือเส้นทางโดยสารหลัก เส้นทางรถไฟจึงมักผ่านชุมชนต่าง ๆ แต่เมื่อถนนได้รับการพัฒนา ถนนเส้นใหม่ก็มักจะเลี่ยงตัวชุมชมเดิมที่มีคนอยู่หนาแน่นจนไม่มีที่สำหรับสร้างทาง ทำให้ตัวชุมชนที่เกิดที่หลังมีการย้ายไปอยู่บริเวณเส้นทางถนนแทน ชุมชนรอบสถานีรถไฟเดิมก็ดูเหมือนจะซบเซาไป จนทำให้หลายสถานีต้องปิดตัวเอง การเข้าไปบริเวณสถานีรถไฟเล็ก ๆ บางทีก็ทำให้ได้เห็นอะไรบางอย่างในอดีตเหมือนกัน

รูปที่ ๑ สถานีรถไฟบ้านคูบัว ปัจจุบันจะอยู่ทางด้านฝั่งตะวันตกของทางรถไฟ (ทางด้านซ้ายของรูป) ในกรอบสีเหลี่ยมสีเหลืองคือโบราณสถานหมายเลข ๑ 

รูปที่ ๒ ทางเข้าสถานีรถไฟ ดูแล้วน่าจะเป็นสถานีชั่วคราว ที่ย้ายมาอยู่ทางด้านฝั่งตะวันตกที่เป็นรางรอหลีก 

รูปที่ ๓ ถ่ายรูปป้ายชื่อสถานีไว้เป็นที่ระลึก

รูปที่ ๔ มีขบวนรถไฟจากธนบุรีปลายทางประจวบคีรีขันธ์จอดรออยู่ แต่จอดนานอยู่เหมือนกัน ไม่รู้ว่ารออะไร แต่ละตู้แทบจะไม่มีผู้โดยสาร รูปนี้มองไปทางทิศทางล่องใต้

รูปที่ ๕ สถานีนี้อยู่ระหว่างสถานีราชบุรีและบ่อตะคร้อ

รูปที่ ๖ มองย้อนไปทางเส้นทางที่มีจากราชบุรี สถานีชั่วคราวเป็นตู้คอนเทนเนอร์แล้วสร้างหลังคาคลุมเอาไว้

รูปที่ ๗ ถ่ายจากตัวสถานีด้านทิศเหนือ มองไปยังเส้นทางที่มาจากราชบุรี ทางฝั่งตะวันออกมีการก่อสร้างทางคู่ขนานอยู่

รูปที่ ๘ อาคารที่ดูแล้วน่าจะเป็นตัวสถานีหลังใหม่ที่สร้างแทนที่สถานีเดิม รางที่อยู่หลังสุดคือรางใหม่ที่วาง

รูปที่ ๙ ภาพจาก google map วันนี้ บอกว่าถ่ายไว้เมื่อเดือนมีนาคม ๒๐๑๙ หรือเมื่อสองปีที่แล้ว


รูปที่ ๑๐ อีกมุมของภาพจาก google map แสดงอาคารตัวสถานีเก่าและบ้านพักเจ้าพนักงาน