วันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2560

วาล์วลดความดันหัวถังแก๊สหุงต้ม (LPG Regurator) MO Memoir : Sunday 9 April 2560

ไหน ๆ มันก็เสียแล้ว ก็เลยถือโอกาสเอามารื้อเล่นดูข้างในเลยว่ามันมีอะไรอยู่บ้าง
 
วาล์วลดความดันหัวถังแก๊สหุงต้ม (LPG Regulator) เห็นมีขายอยู่สองแบบ แบบแรกเป็นชนิดที่ใช้กันทั่วไปในบ้านเรือน เป็นชนิดความดันต่ำ (หมายถึงความดันด้านขาออก) เหมาะสำหรับการใช้กับเตาแก๊สหุงต้ม ชนิดนี้หาซื้อได้ตามร้านขายแก๊ส อีกชนิดหนึ่งเป็นชนิดความดันสูง ที่สามารถปรับความดันด้านขาออกได้ว่าจะให้เป็นเท่าใด (แต่ต้องต่ำกว่าความดันในถัง) เหมาะสำหรับการใช้กับพวกหัวเชื่อมแก๊สหรือหัวตัดแก๊ส ชนิดนี้หาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์ช่าง
 
ปลายเดือนที่แล้วพบว่ามีแก๊สรั่วออกมาทีละน้อยในครัว ตอนแรกก็นึกว่าเป็นที่วาล์วหัวเตาแก๊ส (เพราะเห็นมันเริ่มผุแล้ว จากการเจอน้ำท่วมปี ๒๕๕๔) แต่ขนาดเปลี่ยนเตาแก๊สแล้วก็ยังมีกลิ่นรั่วอยู่ เลยต้องต้องทำการตรวจสอบใหม่ละเอียดอีกครั้ง คราวนี้พบว่าปัญหาอยู่ที่ตัว regulator เอง ไม่ได้อยู่ตรงจุดเชื่อมต่อใด ๆ เป็นที่ตัวปุ่มกดเปิด (เลข (2) ในรูปที่ ๑ ข้างล่าง) คือตอนเปิดใช้แก๊สมันไม่มีปัญหา เพราะแก๊สจะไหลออกไปทางหัวเตาแก๊ส แต่พอปิดหัวเตาแก๊ส จะทำให้มีความดันสะสมในตัว regulator และท่อสายยางทื่เชื่อมต่อกับเตาแก๊ส ทำให้มีแก๊สรั่วผ่านออกมาทีละน้อย ๆ แต่มากพอได้กลิ่นถ้าทิ้งไว้สักพัก พอเปลี่ยนตัวใหม่ปัญหาก็หมดไป ก็เลยเอาตัวเก่ามารื้อเล่นดู วันนี้ถือว่าเล่าเรื่องด้วยรูปก็แล้วกัน


รูปที่ ๑ วาล์วลดความดันหัวถังแก๊สหุงต้ม หรือ LPG Regulator (1) คือด้านต่อเข้ากับหัวถังแก๊ส (2) ตรงนี้เป็นปุ่มสำหรับกดเปิดวาล์วให้แก๊สไหลผ่าน เป็นจุดที่พบปัญหาการรั่วไหล (3) คือด้านขาออก (4) ฝาปิดช่องสำหรับปรับตั้งความดันขาออก วาล์วตัวนี้เป็นชนิดที่มีระบบป้องกันเวลาแก๊สพุ่งออกจากหัวถังกระทันหัน (เช่นตอนเปิดถังแก๊ส หรือสายยางหลุด) คือถ้าเกิดเหตุการณ์ดังกล่าววาล์วจะปิด ต้องกดปุ่ม (2) เพื่อให้วาล์วมันเปิด ตรงนี้คนขายเล่าให้ฟังว่าบางคนไม่รู้ว่ามันต้องทำอย่างนี้ เช่นตอนให้แก๊สมาส่งก็ให้คนส่งแก๊สเปลี่ยนถังแก๊สให้ด้วยเลย พอถึงเวลาต้องมาเปลี่ยนถังแก๊สเอง พอเปลี่ยนเรียบร้อยแล้วเปิดแก๊สพบว่าไม่มีแก๊สไหลผ่าน ก็โทษว่าตัว regulator เสีย
  
รูปที่ ๒ เกลียวด้านที่ต่อเข้ากับหัวถังแก๊สเป็นเกลียว "เวียนซ้าย" นะ เหมือนกันทุกยี่ห้อ (แบบเดียวกับนอตที่ยึดใบพัดพัดลมเข้ากับแกนมอเตอร์) อันที่จริงเพียงแค่ขันตึงด้วยมือก็ไม่มีการรั่วซึมแล้ว ไม่ต้องถึงขั้นเอาประแจขันอัด (จะว่าไปมันก็ไม่มีที่ให้ประแจจับซะด้วย)


รูปที่ ๓ ถอดฝาครอบด้านบน (เป็นฝาเกลียว) ออกมา ก็พบร่องสำหรับขันปรับแรงกดสปริง จะว่าไปส่วนนี้เป็นส่วนที่ผู้ใช้ไม่ต้องไปยุ่งอะไร ผู้ผลิตเขาปรับตั้งความด้านด้านขาออกมาให้เรียบร้อยแล้ว เราทำเพียงแค่ต่อมันเข้ากับถังแก๊สเท่านั้น


รูปที่ ๔ ถอดฝาครอบเปิดมาจะเห็นแผ่นยางไดอะแฟรมที่มีแผ่นโลหะบาง ๆ วางอยู่ข้างบน แผ่นโลหะนี้ทำหน้าที่รองรับแรงกดของสปริงและทำให้แผ่นยางรองรับความดันแก๊สที่กระทำอีกทางด้านหนึ่งได้ โดยที่ตัวแผ่นยางไม่เสียรูปทรง


รูปที่ ๕ ด้านใต้แผ่นยางจะมีเดือยที่มีรูตรงกลางยื่นลงไป เดือยนี้จะมีคานกระดกสอดอยู่ อีกด้านหนึ่ง (ตรงลูกศรยาวสีเหลืองชี้) อีกด้านจะมีจุกยางกดปิดรูแก๊สไหลมาจากหัวถังแก๊ส


รูปที่ ๖ ถอดนอตสองตัวที่ยึดเดือยบานพับของคานกระดกออก ก็จะเห็นรูแก๊สเข้าอยู่ข้างใต้


รูปที่ ๗ ที่นี้มาถอดตัวปุ่มกดดูบ้าง ทำเพียงแค่ขันมันออกมา (ควรต้องเปิดฝาครอบตัวแผ่นไดอะแฟรมออกก่อน ไม่เช่นนั้นมันไม่มีที่ว่างให้ประแจจับ พบว่าข้างในมันไม่มีอะไร มีแต่ลูกบอลกลม ๆ การทำงานคงอาศัยหลักการที่ว่าแก๊สที่พุ่งมากระทันหันจะไปดันให้ลูกบอลไปอัดปิดรูด้านตรงข้าม ทำให้แก๊สไหลออกไม่ได้ ต้องกดปุ่มให้ลูกบอบขยับตัว แก๊สจึงไหลออกได้

รูปที่ ๘ ชิ้นส่วนทั้งหมดที่รื้อออกมา มีโอริงสีดำเล็ก ๆ หลุดออกมาด้วยตัวนึง ไม่ทันสังเกตว่าหลุดออกมาจากไหน คิดว่าน่าจะมาจากในหัวต่อทองเหลือง โดยทำหน้าที่กันการรั่วเวลาที่ลูกบอลถูกแรงดันแก๊สกดอัด อันที่จริงหัวต่อทองเหลืองยังถอดแยกชิ้นส่วนได้อีก แต่ไม่รู้ว่าจะถอดยังไง เห็นข้างในมีตะแกรงกรองแก๊สอยู่ด้วย

รูปสุดท้ายไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องที่เล่ามา เพียงแต่ว่าเห็นหน้ากระดาษมันว่าง ก็เลยเอาภาพแม่น้ำเจ้าพระยากที่ถ่ายจากห้องประชุมกรมการค้าต่างประเทศ สนามบินน้ำ เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เอามาลงไว้เป็นที่ระลึกซะหน่อย

ไม่มีความคิดเห็น: