วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2556

ระบบเผาแก๊สทิ้ง (Flare system) ตอนที่ ๓ Seal drum และ Quench drum MO Memoir : Friday 8 March 2556

เนื้อหาในบันทึกฉบับนี้ยังคงอิงจาก "Guide for Pressure-Relieving and Depressuring Systems" API RP 521 4th edition, March 1997 พึงระลึกว่า API RP นี้เป็น "Recommended Practice" ถ้าจะแปลออกมาก็คือ "แนวปฏิบัติที่แนะนำ" นั่นแสดงว่าไม่ได้หมายความว่า "ต้อง" ทำตามที่เขียนไว้ใน API RP เสมอไป มันไม่เหมือน "Standard - มาตรฐาน" หรือ "Regulation - กฎข้อบังคับ" ที่ต้องปฏิบัติตามทุกตัวอักษร

Memoir ๒ ฉบับที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือ
ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๖๑ วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๖ เรื่อง "Liquid seal และ Water seal ตอนที่ ๑ การป้องกันแก๊สไหลสวนทาง" และ
ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๖๒ วันเสาร์ที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๖ เรื่อง "Liquid seal และ Water seal ตอนที่ ๒ การรักษาระดับของเหลวและความดันLiquid seal และ Water seal ตอนที่ ๒ การรักษาระดับของเหลวและรักษาความดัน"

"Seal drum" ในที่นี้ไม่ได้แปลว่ากลองแมวน้ำ แต่หมายถึงถังที่ใช้ป้องกันการไหลย้อนกลับของแก๊ส ในกรณีที่ใช้กับระบบ flare ก็จะทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้อากาศและเปลวไฟไม่ให้เข้าไปในระบบท่อ flare
ที่ปากปล่อง flare หรือ flare tip นั้นจะมีการจุดไฟที่เรียกว่า pilot (โดยใช้ LPG เป็นเชื้อเพลิง) รอเอาไว้ตลอดเวลา pilot นี้จะวางอยู่รอบ ๆ flare tip (จะเล่าในเรื่องถัดไป) และได้รับการออกแบบมาให้ลุกติดตลอดเวลาไม่ว่าจะมีฝนตกหนักหรือลมแรงเท่าใด ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่มีแก๊สที่เผาไหม้ได้ไหลผ่านมาถึง flare tip แก๊สนั้นก็จะลุกติดไฟโดยอาศัยเปลวไฟจาก pilot นี้ทันที

รูปที่ ๑ Seal drum จะติดตั้งก่อนที่แก๊สจะไหลเข้า flare stack

โดยปรกติแล้วระบบ flare ควรมีแก๊สไหลออกตลอดเวลา (จะเป็นแก๊สเชื้อเพลิงหรือแก๊สเฉื่อยก็ได้) แต่ก็อาจมีบางขณะที่ไม่มีแก๊สไหลออก ในช่วงเวลาที่ไม่มีแก๊สไหลออกนี้จะเป็นโอกาสที่จะทำให้อากาศแพร่ไหลย้อนเข้าไปใน flare stack ได้ (ดูรูปที่ ๑) และเมื่อมีแก๊สที่ลุกติดไฟได้ไหลออกมา แก๊สนั้นมีโอกาสที่จะผสมกับอากาศเป็นส่วนผสมที่ลุกติดไฟได้ และเมื่อไหลไปถึง flare tip ก็จะถูกจุดให้เผาไหม้ และจะเกิดเปลวไฟวิ่งย้อนลงมาตามปล่อง flare ได้
  
เพื่อป้องกันไม่ให้อากาศมีโอกาสไหลย้อนเข้าไปในระบบลึกเกินไปเวลาที่ไม่มีแก๊สไหลออกระบบ flare และป้องกันไม่ให้เปลวไฟที่เกิดจากการเผาไหม้วิ่งย้อนกลับเข้าไปในระบบ จึงต้องมีการติดตั้ง seal drum เอาไว้ระหว่างปล่อง flare กับ knockout drum ใน seal drum นั้นจะบรรจุน้ำเอาไว้ แก๊สที่ไหลเข้ามาจะออกทางท่อที่จุ่มอยู่ใต้ผิวน้ำ (รูปที่ ๒) ในกรณีที่ไม่มีแก๊สไหลออก น้ำก็จะเป็นตัวปิดกั้นการไหลของอากาศและเปลวไฟ ถ้ามีอากาศแพร่ย้อนเข้ามาก็จะไม่สามารถแพร่เข้าไปในท่อแก๊สไหลเข้าได้ และถ้ามีเปลวไฟวิ่งสวนทางย้อนลงมา ก็จะมาสิ้นสุดที่ seal drum ดังนั้น seal drum จึงควรได้รับการออกแบบให้รับแรงระเบิดจากเปลวไฟที่วิ่งย้อนเข้ามาด้วย
  
เนื่องจากท่อแก๊สที่ไหลเข้า seal drum นั้นจุ่มอยู่ใต้ผิวน้ำประมาณ 4 นิ้วหรือ 10 เซนติเมตร ดังนั้นแก๊สที่จะไหลผ่าน seal drum ไปได้นั้นต้องมีความดันอย่างน้อย 4 นิ้วน้ำ ค่าความดันค่านี้เป็นการ back pressure ที่น้อยที่สุดในการออกแบบวาล์วระบายความดัน (relieving valve) ที่ระบายแก๊สเข้าระบบท่อ flare (ความดันต้านการไหลด้านขาออกของ relieving valve) ที่บอกว่าเป็นค่าความดันที่น้อยที่สุดก็คือกรณีที่ระบบนั้นมีวาล์วระบายความดันเปิดเพียงตัวเดียว แต่ถ้าวาล์วระบายความดันมีการเปิดหลายตัวพร้อมกัน ค่าความดัน back pressure ก็จะสูงกว่านี้
  
เพื่อรักษาระดับน้ำใน seal drum ให้คงที่ตลอดเวลา จึงใช้การเปิดน้ำเข้า seal drum ตลอดเวลา และควบคุมระดับด้วยการใช้ U-loop (ในรูปที่ ๒ เรียกว่า sewer seal) การทำงานของ U-loop ตัวนี้เล่าเอาไว้แล้วในบันทึกฉบับที่ ๕๖๑ และ ๕๖๒ ที่เกริ่นเอาไว้ตอนเริ่มต้นบันทึกฉบับนี้

ยังมีอุปกรณ์อีกตัวหนึ่งที่มีการทำหน้าที่คล้ายทั้ง seal drum คือ quench drum (รูปที่ ๓) quench drum นี้จะมีน้ำ (หรือของเหลวชนิดอื่น ขึ้นอยู่กับแก๊สที่ต้องการชะล้าง) ฉีดเข้าทางด้านบนของถัง แก๊สที่ไหลเข้ามาจะออกยังปลายท่อที่จุ่มอยู่ใต้ผิวของเหลวในถัง เมื่อแก๊สร้อนที่มีส่วนที่ควบแน่นได้ (หรือละลายได้ในของเหลวที่ฉีดลงมา) สัมผัสกับของเหลวที่ฉีดลงมา องค์ประกอบที่ควบแน่นได้ (หรือละลายได้) ก็จะถูกชะลงเบื้องล่างมาพร้อมกับของเหลว ส่วนแก๊สก็จะถูกส่งต่อไปยังระระบบระบายต่อไป (เช่นออกปล่อยออกสู่บรรยากาศโดยตรง หรือส่งเข้าระบบ flare) quench drum ในที่นี้แตกต่างจาก scrubber ตรงที่ตัว scrubber นั้นไม่มีระบบ liquid seal ใน API RP 521 กล่าวถึงการใช้ quench drum ในการดักจับไอแก๊สร้อนที่มีไฮโดรคาร์บอนที่ควบแน่นได้ผสมอยู่ โดยของเหลวที่ฉีดพ่นลงมานั้นอาจเป็นน้ำหรือพวกน้ำมันหนัก (จุดเดือดสูง) ก็ได้

ตอนต่อไปจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ flare tip (ปากปล่อง flare ที่เป็นที่เกิดการเผาไหม้) และตำแหน่งติดตั้งของมัน ซึ่งทำให้เกิดการแยกออกเป็น ground flare (ระบบเผาทิ้งที่อยู่ระดับพื้น) และ elevated flare (ระบบเผาทิ้งที่เราเห็นเป็นปล่องสูง ๆ มีไฟลุกติดอยู่ข้างบน)

รูปที่ ๒ ตัวอย่าง Water seal drum (จาก API RP 521) ภาพบนเป็นภาพระบบรวมทั่วไป ส่วนภาพล่างเป็นส่วนขยายของส่วนท่อที่จุ่มอยู่ในน้ำ (1) U-loop เพื่อรักษาระดับน้ำใน seal drum ให้คงที่ (2) Vent ที่ส่วนบนสุดของ U-loop เพื่อป้องกันการเกิดกาลักน้ำ (3) ปลายท่อระบายน้ำออกอยู่สูงจากระดับก้นถัง เพื่อป้องกันไม่ให้ของแข็ง (ที่อาจมี) ไหลเข้าไปอุดตันท่อ U-loop (4) ระดับความลึกที่น้อยที่สุดที่แก๊สต้องมีแรงดันเพื่อจะไหลผ่านพ้นชั้นน้ำออกไปได้ ในรูปคือ 4 นิ้วน้ำ (หรือ 10 เซนติเมตรน้ำ) ดังนั้นค่า ๆ นี้จะเป็นค่า minimum back pressure ของระบบท่อ flare กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือแก๊สจะไหลผ่าน Water seal drum ออกไปที่ flare stack ได้จะต้องมีความดันไม่น้อยกว่า 4 นิ้วน้ำ (5) ที่อัตราการไหลแก๊สต่ำ แก๊สจะไหลออกทางช่องรูปสี่เหลี่ยมที่อยู่ด้านบนช่องรูปสามเหลี่ยม แต่เมื่อแก๊สไหลเร็วขึ้น (ความดันก็เพิ่มขึ้นตาม) จำเป็นต้องมีช่องทางการไหลที่กว้างขึ้น ช่องสำหรับให้แก๊สไหลออกก็เลยค่อย ๆ โตขึ้นเป็นรูปสามเหลี่ยม และยังมีการเจาะช่องรูปสามเหลี่ยมเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยในการระบายแก๊สเมื่อมีอัตราการระบายสูง

รูปที่ ๓ Quench drum ใช้สำหรับดักไอที่มีของเหลวที่ควบแน่นได้ เช่นในรูปเป็นไอไฮโดรคาร์บอนที่ไหลเข้าท่อทางด้านซ้าย โดยปลายท่อแก๊สไหลเข้านั้นจะจุ่มอยู่ในน้ำที่อยู่ทางซีกซ้ายของ drum ไอไฮโดรคาร์บอนบางส่วนจะควบแน่นในขณะที่ไหลผ่านน้ำ และส่วนที่เหลือจะควบแน่นเมื่อแก๊สที่ไหลออกนั้นสัมผัสกับน้ำที่ฉีดลงมาจากทางด้านบน ไฮโดรคาร์บอนที่เป็นของเหลวที่ลอยอยู่บนผิวหน้าน้ำทางซีกซ้ายจะไหลล้นข้ามแผ่น baffle (1) มาสะสมอยู่ทางฝั่งซีกขวาของก้นถัง ดังนั้นเราจะสามารถจะระบายไฮโดรคาร์บอนที่ควบแน่นออกได้โดยการเปิดวาล์ว (2) ด้านล่างของถังเพื่อระบายน้ำทางซีกขวาออก โดยที่ระดับน้ำทางซีกซ้ายนั้นยังคงเดิม ทำให้ระบบยังรักษาความสามารถในการป้องกันการไหลย้อนกลับได้อยู่