วันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

การวางเชื้อประทุสำหรับจุดระเบิด (detonator) บนรางรถไฟ MO Memoir : Sunday 23 July 2560

เราอาจจำแนกประเภทวัตถุระเบิดแบบคร่าว ๆ ได้เป็นสองประเภท ประเภทแรกเป็นประเภทที่มีความว่องไวสูงต่อการกระตุ้น (จะด้วยแรงกระแทกหรือความร้อนก็ตามแต่) และประเภทที่สองคือประเภทที่ไม่ว่องไวต่อการกระตุ้น (คือแม้ว่าจะโดนกระสุนปืนยิงใส่หรือจุดไฟเผา ก็ยังไม่ระเบิด)
 
ถ้าเทียบกันโดยหน่วยน้ำหนักแล้ว วัตถุระเบิดจะมีพลังงานสะสมในตัวต่ำกว่าเชื้อเพลิง แต่การที่วัตถุระเบิดให้อำนาจทำลายล้างสูงกว่าก็เพราะมันมี "อัตราการปลดปล่อยพลังงาน" ที่สูงกว่าเชื้อเพลิงมาก ทำให้เกิดเป็น shock wave หรือคลื่นกระแทก และการใช้ประโยชน์หนึ่งของคลื่นกระแทกนี้ก็คือการใช้คลื่นกระแทกที่เกิดจากวัตถุระเบิดความว่องไวสูงในการจุดระเบิดวัตถุระเบิดความว่องไวต่ำ
 
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ง่ายคือกระสุนปืน ตัวดินปืนที่เป็นแหล่งพลังงานหลักที่บรรจุอยู่ในปลอกกระสุนนั้นจะไม่ว่องไวต่อการระเบิด (คือถ้าเอามาเผาไฟ หรือโดนกระสุนปืนยิงใส่ ต้องไม่ระเบิด) ในขณะที่ตัวแก๊ป (ภาษาอังกฤษเรียก primer) ที่อยู่ที่ท้ายปลอกกระสุนนั้นจะเป็นสารเคมีที่ว่องไวต่อการแรงกระแทก เมื่อเข็มแทงชนวนกระแทกลงไปบนตัวแก๊ป (มันบรรจุอยู่ในภาชนะโลหะที่มีความอ่อนและบาง) ตัวแก๊ปก็จะระเบิด ส่งแก๊สร้อนพุ่งเข้าไปในปลอกกระสุนเข้าไปจุดดินปืนที่บรรจุอยู่ในปลอกกระสุนให้ระเบิด แรงขับเคลื่อนของหัวกระสุนทั้งหมดจะมาจากดินปืน แต่ใช่ว่าตัวแก๊ปเองก็ไม่มีแรงขับเคลื่อน ในงานออกร้านบางงานที่มีร้านยิงปืนนั้น ก็มีการใช้ลูกกระสุนที่มีแต่แก๊ป ส่วนในปลอกกระสุนก็ใช้ไขเทียนหยอดเอาไว้แทน ใช้ยิงเพื่อเอาเสียง (เช่นการปล่อยตัวนักกีฬา) หรือยิงเป้ากระดาษในระยะใกล้ ๆ ได้
  
รูปที่ ๑ ปกหน้าหนังสือเรื่อง "Railway disasters : cause and effect" เขียนโดย Stanley Hall 
  
การหาทางป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุรถไฟที่วิ่งอยู่บนรางเดียวกัน (จะวิ่งตามกันหรือสวนทางกันก็ตามแต่) วิ่งชนกันนั้นมีมานานแล้ว มีการคิดค้นระบบอาณัติสัญญาณและอุปกรณ์ป้องกันอัตโนมัติต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อให้ผู้ควบคุมขบวนรถรับรู้ "ด้วยการมองเห็นสัญญาณ" ว่าเส้นทางข้างหน้ามีความปลอดภัยหรือไม่ แต่ในกรณีที่สภาพอากาศไม่เป็นใจ เช่นมีหมอกหนาหรือหิมะตกหนัก ที่ทำให้ทัศนวิสัยไม่ดี จึงได้มีการคิดค้นการใช้สัญญาณเสียงเพื่อเตือนผู้ควบคุมขบวนรถว่าเส้นทางข้างหน้ามีปัญหา ให้ใช้ความระมัดระวัง และวิธีการที่ใช้คือการนำ "Detonator" ไปวางบนรางเพื่อให้รถไฟ "วิ่งทับ"


รูปที่ ๒ เนื้อหาหน้า ๒๘ และ ๒๙ จากหนังสือดังกล่าวที่มีการกล่าวถึงการวาง detonator บนราง

Detonator เป็นวัตถุระเบิดขนาดเล็กที่จะเกิดการระเบิดและให้เสียงดังออกมาเพื่อเตือนผู้ควบคุมขบวนรถ เสียงดังกล่าวต้องดังกว่าเสียงเครื่องยนต์และต้องดังพอที่ทำให้ให้ผู้ควบคุมขบวนรถไม่ว่าจะอยู่ทางหน้าสุดของหัวรถจักร (เช่นในกรณีของหัวรถจักรดีเซลหรือไฟฟ้า) หรืออยู่ทางด้านหลังของหัวรถจักร (เช่นในกรณีของหัวรถจักรไอน้ำ) ได้ยินเสียงดังกล่าว การใช้ detonator นี้ในหลายประเทศก็มีการยกเลิกการใช้งานอันเป็นผลจากพัฒนาการทางด้านการติดต่อสื่อสารทางวิทยุ หรือด้วยการออกแบบโครงสร้างที่ปกป้องผู้ควบคุมขบวนรถจากเสียงการทำงานของเครื่องยนต์ แต่สำหรับบางงานก็ยังอาจจำเป็นอยู่ เช่นวางไว้สำหรับเตือนคนงานที่ทำงานอยู่บริเวณเส้นทางรถไฟเพื่อให้รู้ว่ากำลังมีขบวนรถไฟวิ่งเข้ามายังบริเวณสถานที่ทำงาน รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Detonator_(railway) หรือจะลองดูวิดิโอใน YouTube ดูก็ได้ ด้วยการพิมพ์คำว่า Railway detonators หรือ Train detonators ลงไป
 
รูปที่นำมาประกอบในวันนี้นำมาจากหนังสือที่พิมพ์ครั้งแรกในปีค.ศ. ๑๙๘๗ หรือเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว (ฉบับที่ผมมีเป็นฉบับที่พิมพ์ซ้ำในปีค.ศ. ๑๙๙๒) ที่มีตัวอย่างแนวปฏิบัติในการใช้ detonator ของระบบรถไฟอังกฤษ รถไฟในยุคแรก ๆ จะมีพนักงานประจำทั้งที่หัวขบวนและท้ายขบวน

รูปที่ ๓ เนื้อหาตอนท้ายของหน้า ๒๘ ที่กล่าวถึงการป้องกันรถไฟที่หยุดนิ่งบนรางจากรถไฟขบวนอื่นที่อาจวิ่งตามมาในรางเดียวกัน


รูปที่ ๔ ข้อความในหน้า ๒๙ ต่อเนื่องจากรูปที่ ๓ กล่าวถึงตำแหน่งการวาง detonator ในกรณีของประเทศอังกฤษนี้ เป็นระบบรถไฟรางคู่ที่วิ่งไปกลับคนละรางกัน จึงทำการป้องกันเฉพาะรถไฟที่อาจวิ่งตามหลังมาในรางเดียวกันโดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีรถไฟวิ่งสวนทางมาในรางเดียวกัน

รูปที่ ๕ ในกรอบสี่เหลี่ยมสีเหลืองคือ detonator ที่จะระเบิดและให้เสียงดังเมื่อรถไฟวิ่งทับ

จริงอยู่ที่ว่ารถไฟนั้นออกแบบมาเพื่อให้ล้อเหล็กวิ่งบนรางเหล็กที่เรียบ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าถ้ามีอะไรแม้แต่เพียงชิ้นเล็กชิ้นน้อยวางอยู่บนราง จะทำให้รถไฟตกรางได้ทันที โดยความเห็นส่วนตัวแล้ว อย่างน้อย ๆ สองสิ่งที่รถไฟต้องวิ่งผ่านไปได้ (อย่างต่ำก็ด้วยความเร็วใช้งาน) โดยไม่เกิดปัญหาใด ๆ เห็นจะได้แก่ ก้อนหินที่ใช้รองรางรถไฟที่เป็นสิ่งที่อยู่ที่ทางรถไฟอยู่แล้วและมีทั้งความแข็งที่มากกว่าและขนาดที่ใหญ่กว่าเหรียญกษาปณ์ และใครก็ตามที่เข้าไปถึงตัวรางได้สามารถหยิบเอามาวางบนรางได้ (หินรองรางรถไฟนี้ภาษาอังกฤษเรียก ballast หรือ track ballast ) อีกสิ่งหนึ่งคือกิ่งไม้ที่อาจฉีกขาดจากต้นไม้ข้างทางและปลิวตามแรงลมมาตกบนราง (เราอาจป้องกันต้นไม้ไม่ให้โค่นขวางรางได้ด้วยการทำให้พื้นที่ด้านข้างของรางปราศจากไม้ยืนต้นเป็นระยะทางที่มากพอ แต่การป้องกันไม่ให้กิ่งไม้ที่ฉีกขาดและปลิวตามลมพายุมาตกบนรางนั้นจะทำได้ยากกว่า เพราะมันคาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดตรงไหม เมื่อใด) เพราะถ้าสองสิ่งง่าย ๆ แค่นี้รถไฟยังไม่สามารถผ่านได้ รถไฟดังกล่าวก็คงไม่มีความปลอดภัยที่จะนำมาใช้ขนส่งผู้โดยสารหรือสินค้าบนเส้นทางที่อยู่ระดับพื้นดิน เว้นแต่จะทำเป็นรถไฟใต้ดินหรือรถไฟลอยฟ้าตลอดทั้งเส้นทางที่ไม่เปิดช่องให้ใครเข้าถึงระบบรางได้ และต้องวางรางแบบที่ไม่ต้องใช้ก้อนหินรองด้วย คือยึดเข้ากับพื้นคอนกรีตไปเลย

ไม่มีความคิดเห็น: