วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ชมเมืองพัทลุง ตอน แหงนมองเขาพนมวังก์ รำลึกความทรงจำวัดทุ่งขึงหนัง MO Memoir : Saturday 29 June 2562

ผู้ใหญ่เขาเล่าว่าบริเวณนี้เป็นที่ราบเหมาะแก่การทำนา (ซึ่งก็น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะมีน้ำหลากท่วมประจำ) และชาวบ้านเคยเอาหนัง (น่าจะเป็นหนังวัว) มาตากแห้ง หมู่บ้านนี้ก็เลยมีชื่อว่า "บ้านทุ่งขึงหนัง" ซึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางเส้นทางระหว่างตัวอำเภอเมืองกับอำเภอควนขนุน ตอนเด็ก ๆ (ก็เมื่อกว่า ๔๐ ปีที่แล้ว) ตอนไปเยี่ยมคุณตาคุณยาย ยังจำได้ว่าพอตกค่ำที่นั่นก็จะเงียบมาก นาน ๆ ทีจะมีรถวิ่งผ่านไปบนถนนสักคัน ท้องฟ้ามืดมากขนาดมองเห็นทางช้างเผือกได้ชัดเจน
 
แต่ในความมืดและเงียบสงบนั้นก็มีความน่ากลัวอยู่ เพราะช่วงนั้นบริเวณดังกล่าวแม้ว่าจะห่างจากตัวจังหวัดเพียงแค่ ๑๐ กิโลเมตร ก็จัดว่าเป็นเขตแทรกซึมของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์หรือ ผกค. (น่าจะเป็นพื้นที่สีชมพู) แถวนี้ก็เคยมีโรงพักตั้งอยู่ แต่โดนผกค.ยกพวกมาปิดล้อมและเผาทิ้ง นับแต่นั้นก็ไม่เคยมีสถานีตำรวจอีกเลย
 
พอตกค่ำก็จะอยู่กันแต่ในบ้าน (เพราะไม่รู้จะไปไหน) โทรทัศน์ก็มีดูเพียงช่องเดียวคือช่อง ๑๐ หาดใหญ่ (ที่สถานีอยู่ห่างออกไป ๑๐๐ กิโลเมตร) แต่ละบ้านจึงต้องมีเสาอากาศสูง และยังต้องมีบูสเตอร์ช่วยขยายสัญญาณอีก ไม่งั้นก็ดูไม่ได้ ตัวโคมหลอดฟลูออเรสเซนต์ก็ไม่เหมือนกับที่เห็นที่กรุงเทพ เพราะมันมีกระบอกอะไรไม่รู้ติดตั้งเพิ่มเข้ามา เพิ่งจะมารู้ตอนโตว่านั่นคือตัวเก็บประจุที่ใช้ปรับค่าตัวประกอบกำลัง (power factor) เพื่อลดการใช้กระแส นั่นคงเป็นเพราะสมัยนั้นระบบไฟฟ้าในต่างจังหวัดของเรายังไปไม่ทั่วถึง การลดการสูญเสียการส่งกำลังแม้จะดูว่าเป็นเพียงเล็กน้อยก็ถือว่าสำคัญ

รูปที่ ๑ วัดทุ่งขึงหนังและโรงเรียนวัดทุ่งขึงหนังอยู่ที่มุมล่างของแผนที่ แนวเขาด้านขวาคือเขาพนมวังก์ 
  
เขาพนมวังก์ที่เห็นตอนเด็ก ๆ นั้นยังมีการทำเหมืองหินอยู่ ครอบครัวคุณน้าครอบครัวหนึ่งทำกิจการระเบิดหินและโม่หินขาย บางปีที่ไปก็มีโอกาสได้เห็นเขาระเบิดภูเขาจากหลังบ้านที่ไปพัก เสียงระเบิดดังดี แต่กิจการนี้ก็เลิกทำไปนานแล้ว และดูเหมือนว่าตัวเขาพนมวังก์เองก็ถูกจัดให้เป็นวนอุทยานแห่งชาติไปแล้ว จำได้ว่าปีหนึ่งมีไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่ตลาดในตัวเมือง มีการมาเอาระเบิดที่บ้านคุณน้า เขาบอกว่าจะเอาไปทำลายบ้านบางหลังทิ้งเพื่อกันไม่ให้ไฟลุกลาม จริงเท็จอย่างไรก็ไม่รู้ แต่นั่นคือเรื่องที่ได้เห็นมาตอนที่ยังเป็นเด็กอยู่ ตรงบริเวณที่เป็นโรงโม่หินตรงนี้คุณแม่เคยเล่าให้ฟังว่าแถวนี้แต่ก่อนเคยมีที่เผาศพ เรียกว่า "ที่เปลว" ตอนคุณแม่ยังเด็กนั้นเวลาที่มีการเผาศพทีก็จะช่วยกันหยิบไม้ฟืนไปช่วยงาน ถือว่าเป็นการทำบุญ ที่มาเผาตรงนี้อาจเป็นเพราะว่าสมัยนั้นวัดยังไม่มีเมรุ และบริเวณนี้ก็เป็นที่ห่างไกลชุมชน 
  
วันก่อนเดินทางกลับนั้นคุณน้าที่พาเที่ยวอ่างเก็บน้ำก็พานั่งรถเล่นวนรอบเขาลูกนี้ พร้อมกับเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ฟัง ทำให้รู้ว่าแต่ก่อนนั้นเคยมีการปีนขึ้นไปเก็บขี้ค้างคาวลงมาขาย และมีการขุดยิปซัมไปขายด้วย นอกจากนี้ใต้เขาลูกนี้ยังมีทางน้ำไหลลอดใต้ผ่าน ทางออกนั้นอยู่ฝั่งฟากตะวันตก แต่ยังไม่มีใครสำรวจ แม้ว่าจะขึ้นไปสำรวจว่าบนเขาลูกนี้มีถ้ำหรืออะไรอย่างอื่นซ่อนอยู่บ้างนั้นก็ยังไม่มีคนทำ อาจเป็นเพราะว่างูชุม แถมเป็นงูเห่าด้วย
 
ถนนจากควนขนุนไปยังตัวจังหวัดนั้นเส้นเดิมเขาว่าเป็นที่ที่ได้จากการบริจาคของชาวบ้าน แบบว่าใครอยากมีที่ดินติดถนนก็บริจาคที่ส่วนหนึ่งให้รัฐทำถนน ถนนมันก็เลยคดไปคดมา พอโครงการถนนสายเอเชียเข้ามา ก็เลยมีการปรับแนวถนนบางช่วง ช่วงไหนที่มันเลี้ยวเข้าชุมชนก็ตัดเส้นใหม่เป็นทางตรงเลี่ยงออกมา การเดินทางก็เลยสะดวกขึ้น แต่สำหรับบ้านเรือนที่สร้างอยู่บนแนวถนนเส้นเดิมนั้นดูเหมือนว่ากาลเวลาจะหยุดนิ่งไป บรรยากาศสองข้างทางที่มีไม้ใหญ่ร่มรื่นก็ยังคงเป็นแบบนั้น เว้นแต่บางช่วงที่ใกล้ชุมชนได้มีการขยายถนนจาก ๒ ขึ้นเป็น ๔ ช่องทางจราจร
 
ไม่รู้ว่าเป็นเพราะมีวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยทักษิณมาตั้งที่อำเภอควนขนุนหรือเปล่า จึงทำให้ตัวเมืองพัทลุงค่อนข้างจะมีการขยายตัวขึ้นเหนือมาตามแนวถนนเส้นนี้ แทนที่จะไปทางตะวันตกเส้นที่มุ่งไปตรัง หรือลงใต้เส้นที่มุ่งไปหาดใหญ่ มีร้านอาหารโผล่ขึ้นหลายร้าน แถวนี้จะมีร้านสเต็กอยู่ร้านหนึ่ง ท่าทางจะขึ้นชื่อมาก ขนาดมีคนขับรถมาจากหาดใหญ่หรือนครศรีธรรมราชเพื่อมากินอาหารที่ร้านนี้ ผมเองก็เพิ่งจะมีโอกาสได้ไปกินเป็นครั้งแรกก็คราวนี้เอง แต่ไม่ขอให้ความเห็นใด ๆ
 
ถนนเส้นนี้ยังทำหน้าที่เป็นคันกั้นน้ำด้วย เวลาที่ฝนตกหนัก น้ำจะไหลหลากมาจากเขาบรรทัดที่อยู่ทางตะวันตก ดังนั้นชุมชนที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของถนนก็จะโดนน้ำท่วมก่อน ก่อนที่จะไหลหลากข้ามมาท่วมทางฝั่งตะวันออก จะว่าไปชุมชนทั้งสองฝั่งถนนแถวนี้ สามารถนับลำดับญาติกันได้ทั้งนั้น ลำดับที่อยู่ใกล้กับผมหน่อยจะอยู่ทางฝั่งตะวันออก ทางฝั่งตะวันตกก็จะเป็นอีกสายหนึ่งที่อยู่ห่างหน่อย เรียกว่าต้องย้อนขึ้นไปถึงรุ่นทวดก่อนแล้วค่อยนับลงมาอีกทางหนึ่ง
 
ที่บ้านทุ่งขึงหนังนี้จะมีวัดทุ่งขึงหนังเป็นวัดประจำหมู่บ้าน ญาติฝ่ายคุณแม่ของผมเวลามีงานอะไรก็จะไปจัดกันที่วัดนี้เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นงานทำบุญหรืองานศพ ก็เรียกได้ว่าได้แวะเวียนไปเป็นประจำตั้งแต่เด็กเวลาที่ได้ไปเที่ยวที่นั่น หลายสิ่งในวัดก็เปลี่ยนไป ที่เห็นเหมือนเดิมอยู่ก็มีแต่หอระฆัง ตอนเด็ก ๆ นั้นเห็นเขาไปโปรยทานจากหอระฆังก็ยังรู้สึกว่ามันเป็นหอสูง แต่ทำไมตอนนี้จึงรู้สึกว่ามันเตี้ยจังก็ไม่รู้ หรือเป็นเพราะว่าในบริเวณตัววัดมีการถมที่ให้สูงขึ้น เพื่อที่เวลาน้ำท่วมจะได้ไม่รู้สึกว่าน้ำมันท่วมสูงมาก (คือมันก็ยังท่วมอยู่ดี)
 
ด้านหลังวัดที่ติดกับเมรุจะเป็นสวนยาง ไม่รู้ว่าเป็นธรรมเนียมของคนทางด้านนี้หรือเปล่า ที่ว่าเวลามีงานศพหรืองานวัดใด ๆ มักจะมีการไปตั้งบ่อนในสวนยางหลังวัดกันเป็นประจำ มีอยู่ปีหนึ่งไปเที่ยวงานสงกรานต์ที่วัดแห่งหนึ่ง บนศาลานั้นพระท่านก็กำลังสวดให้ศีลให้พรระหว่างการเลี้ยงพระเพล ด้านหลังศาลานั้นก็มีการเตรียมตัวกันหลายวง ทั้งไฮโลและน้ำเต้าปูปลาและอื่น ๆ อีก ตอนงานศพคุณยายของผมเมื่อกว่า ๑๐ ปีที่แล้วที่วัดนี้ ก็ดูเหมือนจะมีการตั้งวงอยู่ในสวนยางหลังวัดเหมือนกัน ไม่รู้ว่าใครจากไหนเป็นเจ้ามือเพราะไม่ได้เข้าไปดู แต่ถึงเข้าไปดูก็คงไม่รู้จักว่าใครเป็นใคร

พอผมโตขึ้นก็ไม่ค่อยได้มีโอกาสลงไปที่นี่เท่าไรนัก ก็เลยต้องขอบันทึกเรื่องเหล่านี้เอาไว้กันลืม ว่าตอนเด็ก ๆ นั้นเคยได้ยินหรือได้เห็นอะไรมาบ้าง สิ่งใดบ้างที่เคยมี และชีวิตชุมชนคนที่นี่เป็นอย่างไร

รูปที่ ๒ เขาพนมวังก์ ถ่ายเมื่อตอนเช้า มองจากสวนหลังบ้านของคุณน้าที่ไปพักอยู่ รูปนี้ถ่ายเอาไว้เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๐ พฤษภาคมที่ผ่านมา ส่วนรูปอื่น ๆ ที่เหลือถ่ายเอาไว้เมื่อวันพุธที่ ๒๒ พฤษภาคม

รูปที่ ๓ โรงเรียนวัดทุ่งขึงหนัง ตั้งอยู่คนละฟากถนนของวัดทุ่งขึงหนัง ปัจจุบันมีนักเรียนลดลงไปมาก สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะการเดินทางที่สะดวกขึ้น ทำให้การเดินทางไปเรียนยังโรงเรียนใหญ่ที่อยู่ไกลออกไปนั้นทำได้ง่ายขึ้น

รูปที่ ๔ ป้ายชื่อโรงเรียน ถ่ายป้ายชื่อเก่าเอาไว้เป็นที่ระลึกหน่อย

รูปที่ ๕ เดินผ่านหน้าโรงเรียน ต้องข้ามถนนไปยังอีกฝั่งหนึ่งจึงจะถึงวัดทุ่งขึงหนัง 

รูปที่ ๖ แผนผังสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ในบริเวณวัด 

รูปที่ ๗ หอระฆัง ที่ถ้านับอายุถึงวันนี้ก็ ๕๕ ปีแล้ว

รูปที่ ๘ โบสถ์ประจำวัด

รูปที่ ๙ ศาลาสำหรับนั่งพัก อยู่ใกล้ ๆ กับหอระฆัง

รูปที่ ๑๐ เมรุเผาศพที่อยู่ทางด้านหลังติดสวนยาง เมรุนี้มีมาทีหลัง ตอนผมยังเด็กที่วัดยังไม่มีเมรุ ตอนงานเผาศพคุณตามีคุณลุงคนหนึ่งไปจ้างเมรุชั่วคราวมาใช้

รูปที่ ๑๑ สวนยางหลังวัด

รูปที่ ๑๒ ซุ้มประตูทางเข้า แต่ในรูปนี้เป็นการมองออกไป

รูปที่ ๑๓ เขาพนมวังก์เมื่อมองจากทางเข้าวัดไปทางตะวันออก

ไม่มีความคิดเห็น: