วันเสาร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2557

ปลุกผี MO Memoir : Saturday 4 January 2557

รูปข้างล่างเป็นรูปที่ผมถ่ายมาจากต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ริมร่องสวนข้างบ้าง สังเกตเห็นอะไรบ้างไหมครับ


รูปที่ ๑ ถ่ายมาจากร่องสวนที่อยู่ข้างบ้านเมื่อคืนวันที่ ๑ มกราคมที่ผ่านมา

ช่วงวันหยุดปีใหม่พอจะมีเวลาเก็บของที่บ้าน ก็เลยจัดการขนย้ายหนังสือจากชั้นวางในห้องนั่งเล่นไปเก็บยังชั้นวางที่ต่อขึ้นมาใหม่ เพื่อยกชั้นวางในห้องนั่งเล่นให้เป็นที่เก็บหนังสือของลูก (ส่วนใหญ่ก็เป็นการ์ตูน) ส่วนหนังสือของพ่อก็เอาไปเก็บไว้ในห้องว่างของ "บ้านเก่า"
 
"บ้านเก่า" ในที่นี้คือบ้านที่ซื้อมาจากเจ้าของเดิม คือบ้านที่ผมอยู่เดิมนั้นเป็นบ้านจัดสรรชั้นเดียวอยู่สุดซอย รอบด้านเป็นสวน "บ้านเก่า" นั้นเป็นบ้านอยู่สุดซอยเช่นเดียวกันแต่อยู่ฝั่งตรงข้ามกัน เจ้าของเดิมเขาย้ายออกไปหลังอยู่มากว่า ๒๐ ปี ทางคุณพ่อคุณแม่ก็เลยขอซื้อต่อช่วงที่ผมไปเรียนต่างประเทศ พอกลับมาทางบ้านก็เลยให้มาอยู่บ้านหลังนี้ และก็อยู่บ้านหลังนี้มาตลอดจนกระทั่งปลูก "บ้านใหม่"
 
ตอนมานอนอยู่ "บ้านเก่า" ช่วงแรก ๆ ก็มีแค่ผมกับน้องชาย ทั้ง ๆ ที่อยู่ห้องนอนติดกันแต่ก็แทบจะไม่ได้เจอกัน คือผมออกไปทำงานแต่เช้า เข้านอนก็ไม่ดึกมาก ส่วนน้องชายผมนั้นตื่นออกไปทำงานเกือบเที่ยง กลับมาก็มักจะไม่ก่อนเที่ยงคืน มานอนอยู่บ้านนี้ได้ไม่นานคุณแม่ก็มาถามว่า "เป็นยังไงบ้าง จะให้แม่มานอนเป็นเพื่อนไหม" ผมก็บอกว่าไม่เป็นไร ก็เพราะไม่เห็นมันมีอะไร แต่ฟังจากน้ำเสียงของคุณแม่ที่ถามด้วยความเป็นห่วงแล้ว ทำให้สงสัยว่าคนที่มานอนบ้านนี้อยู่ก่อนผมคงจะเจออะไรมาบ้าง เพราะเห็นเลือกเอาพระพุทธรูปมาวางไว้ใกล้เตียงนอน แทนที่จะเป็นอาวุธสำหรับป้องกันขโมย แต่สำหรับผมเองนอนบ้านนั้นมา ๑๗ ปี นอนอยู่คนเดียวก็บ่อยครั้ง จนย้ายออกมาอยู่บ้านปลูกใหม่ที่สร้างอยู่ข้าง ๆ ก็ไม่เคยเจออะไร
 
จะว่าไปแล้วเรื่องนอนต่างถิ่นนี่คนไทยจำนวนไม่น้อยก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องบอกกล่าวเจ้าที่เข้าทางที่เรามาอาศัยเขาหลับนอน เหตุการณ์ทำนองนี้เคยเล่าเอาไว้ครั้งหนึ่งแล้วใน Memoir ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๒๓ วันอาทิตย์ที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๓ เรื่อง "ฝึกงานภาคฤดูร้อน ๒๕๕๓ ตอนที่ ๗ ที่พักฝึกงาน" ใครยังไม่เคยอ่านก็ลองย้อนกลับไปอ่านได้

ระหว่างรื้อหนังสือที่ซุกเอาไว้ไปเก็บ ก็ไปพบเอาหนังสือ "สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตสถาน" ที่ซื้อมาจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติตั้งแต่เดือนมีนาคมพ.ศ. ๒๕๕๑ ตอนนั้นที่ซื้อมาก็เพราะเขาขายเลหลังในราคาถูก ก็เลยซื้อมาสะสมไว้เท่าที่เขามีเหลือขาย คือมีไม่ครบชุด ลองเอาหนังสือที่มีอยู่มาเปิดพลิกดู ก็พบว่าเล่มหนึ่งมีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ คือเรื่องวิธีการ "ปลุกผี" ที่ให้รายละเอียดเอาไว้เกือบ ๘ หน้ากระดาษ
 
รายละเอียดวิธีการ "ปลุกผี" นั้นเขาว่าเอาไว้อย่างไรก็ลองอ่านเองเองดูก่อนนะ ผมลอกมาตามที่เขาเว้นวรรคและย่อหน้า

"ปลุกผี การปลุกผีกล่าวกันว่าเป็นการปลุกคนตายให้ลุกขึ้นหรือปรากฏกายขึ้นมา เพื่อลนที่ใต้คาง เอาน้ำมันไปทำเสน่ห์ยาแฝดต่าง ๆ และคนตายที่เรียกว่า "ผี" นั้นต้องเป็นผู้หญิงที่ตายทั้งกลม คือตายพร้อมกับลูกในท้องและเป็นการตายผิดธรรมดาเช่นถูกฆ่าตาย ตกน้ำตายเป็นต้น ที่เรียกว่า "ตายโหง" ความประสงค์ที่ปลุกให้ลุกหรือให้ปรากฏกายขึ้นมา ก็เพื่อจะขอเอาลูกในท้องที่ตายพร้อมกับแม่ไปลนที่ใต้คางเอาน้ำมันมาทำเสน่ห์ยาแฝดต่าง ๆ อย่างเช่นขุนแผนฆ่านางบัวคลี่ตายทั้งกลม แล้วควักเอาลูกในท้องไปทำพิธีปลุก เพื่อเอามาเลี้ยงเป็นกุมารทองดังจะได้กล่าวต่อไป
 
วิธีปลุก กล่าวกันว่าจะต้องนั่งสมาธิบริกรรมคาถา คาถานั้นท่านเรียกว่า คาถาหัวใจพญาผี คาถามีว่า "สุ สิ สุ สัง" จะย่อมาจากความเต็มว่าอย่างไร ยังไม่พบหลักฐาน คาถาหัวใจพญาผีนี้ ท่านว่าใช้บริกรรมภาวนาเป็นพรายกระซิบ และมีคาถาอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น "สุ สิ สุ สัง อรหัง สุคโต อรหัง พุทธสังมิ" บางทีก็เรียกกันว่า "เมฆกระซิบ" เมื่อบริกรรมภาวนาทีแรก ๆ จะได้ยินเสียงแว่วมาแต่ไกล และเมื่อบริกรรมภาวนาไป จะค่อยได้ยินชัดเข้ามาทุกที จนกระทั่งได้ยินชัดเจน จะถามอะไรก็ได้ จะบอกเหตุดีเหตุร้ายให้รู้ก็ได้ บางตำรับว่า ใช้เสกน้ำมันหอมยอนหูเป็นพรายกระซิบเมือนกัน
 
เชื่อกันว่า เมื่อบริกรรมคาถาผีจะลุกขึ้นมาหรือไม่ลุกขึ้นมาขึ้นอยู่กับสมาธิ ถ้าผู้ปลุกมีสมาธิมั่นและมีความจริงใจไม่หวาดไม่กลัว ไม่ว่าผีนั้นจะลุกขึ้นมาในสภาพไหนก็ทำเฉย ๆ เสีย โดยมั่นแน่วแน่ในสมาธิที่ตนนั่งบริกรรมอยู่นั้น ผีจะลุกขึ้นมาปรากฏกายให้เห็น และทำอาการน่ากลัวเป็นอย่างต่าง ๆ เพราะขึ้นชื่อว่าผีหมายถึงสิ่งที่มีสภาพเกินคนหรือเหนือคนลุกขึ้นมาหรือปรากฏกายขึ้นมา อาจให้ดี ให้ร้าย ให้คุณ ให้โทษแก่คนได้ จึงทำให้คนกลัว ดังเรื่องที่เคยเล่ากันมาแต่ก่อนว่า กระทาชายนายหนึ่งลอบไปสุ่มปลาที่หน้าวัดเวลาดึก เมื่อสุ่มไป ๆ ได้สักครู่ใหญ่ ก็สุ่มได้ปลาขนาดใหญ่มาตัวหนึ่ง ดิ้นขลุกขลักอยู่ในนั้น กระทาชายคนนั้นเอามือล้วงลงไปควานจับเท่าไรก็จับไม่ได้ ทันใดนั้นปลาก็หายไปกลายเป็นผีมานั่งอยู่บนหลังสุ่มแลบลิ้นปลิ้นตาหลอก กระทาชายคนนั้นก็ผงะหงายตกใจเป็นกำลัง ผละจากสุ่มรีบวิ่งตะเกียกตะกายขึ้นจากน้ำแล้ววิ่งหนีสุดแรงเกิด พอมาถึงตีนกระไดก็ล้มลงขาดใจตาย นี่เป็นผีธรรมดาที่ถูกรบกวนแล้วแสดงตนให้ปรากฏ คนยังกลัวกันถึงขนาดนี้ ส่วนผีตายทั้งกลม ว่าเป็นผีอาถรรพณ์ เวลาปลุกให้ลุกขึ้นมาก่อนปรากฏกายมักจะแสดงอิทธิฤทธิ์ในสภาพต่าง ๆ มาก่อน เช่น ให้เกิดลมพายุพัดกระหน่ำมา ให้เกิดฝนตก ฟ้าร้องอย่างหนัก ฟ้าผ่าเปรี้ยง ๆ ไม่ขาดระยะ ครั้นปรากฏกาย ก็ปรากฏเป็นรูปร่างต่าง ๆ เช่น ตัวใหญ่สูงขึ้น ๆ เท่ายักษ์ เท่ามาร มาแลบลิ้นปลิ้นตาหลอกล่อ ถ้าผู้ปลุกไม่กลัวและมั่นอยู่ในสมาธิแล้ว ขอลนเอาน้ำมัน ผีก็อนุญาตและลดตัวลงให้ลนเอาได้และได้ผลตามปราถนา แต่ถ้าสมาธิไม่มั่นเกิดหวาดกลัวขึ้นมาวิ่งหนี ผีจะไล่ตามทำโทษให้ถึงตายได้ ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงว่าก่อนปลุกต้องทำให้ถูกวิธี คือต้องไปทำในป่าช้าหรือที่ลับหูลับตา ในเวลากลางคืนดึกสงัดแล้ว ต้องบริกรรมคาถาในมั่นและแม่นยำ และต้องมีคาถาสำหรับกันไม่ให้ผีหลอก หรือ ทำอันตรายได้ด้วย ที่ว่าต้องทำให้ถูกวิธีนั้นท่านว่า เมื่อจะมาทำการปลุกผี ต้องเอาไม้ชัยพฤกษ์มาเป็นที่รองรับผี เอาไม้รักมาปักเป็นเสาขึ้น ๔ ทิศ เอาไม้มะริดไม้กันเกรามาปักเป็นเครื่องป้องกันภัย เอายันต์นารายณ์ปิดศีรษะ ลงยันต์ราชะปะพื้นล่าง แล้วเอายันต์นารายณ์ปิดหน้าอก ทำยันต์ปิดปักธงวงสายสิญจน์รอบ เอายันต์สังวาลย์พระอินทร์กั้นเป็นเพดาน เรียกว่า กันบน กันล่าง กันข้างหน้า กันข้างหลัง กับข้างซ้าย กันข้างขวาไว้หมด และนั่งบริกรรมคาถาในแวดวงพิธีนั้น และต้องบริกรรมให้มั่นและแม่นยำ ในขณะเดียวกัน ต้องมีคาถาสำหรับกันไม่ให้ผีหลอกหรือทำอันตรายได้ด้วย นอกจากนี้ ต้องตั้งพิธีบวงสรวงเจ้าแม่ผู้รักษาป่าช้าหรือเจ้าที่ที่จะไปทำพิธปลุก ณ ที่นั้น ๆ โดยนำเครื่องเซ่นเป็นกุ้งพร่าปลายำไปเซ่นเจ้าแม่ป่าช้าและผีที่จะปลุกด้วย"

ถัดจากนั้นสารานุกรมก็ได้ยกตัวอย่างการทำพิธีปลุกผีโดยหยิบยกมาจากเสภาเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน ตอนที่ ๑๖ เรื่องกำเนิดกุมารทอง ถ้าอยากรู้ว่ารายละเอียดเป็นอย่างไรนั้นก็ลองไปอ่านในรูปที่ ๒ ที่แนบมาเอาเองก็แล้วกัน


รูปที่ ๒ เสภาเรื่องขุนช้าง-ขุนแผนตอนกำเนิดกุมารทอง จากหนังสือสารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑๘

อันที่จริงตัวอย่างเรื่องคนสุ่มปลาที่เขายกมาโดยกล่าวว่าเป็นเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมานั้นนั้นถ้าอ่านดี ๆ ก็จะเห็นจุดที่ไม่สมเหตุสมผลอยู่ ก็คือการที่คนสุ่มปลานั้นพอวิ่งหนีมาถึงตีนกระไดก็ "ล้มลงขาดใจตาย" ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้จริงสิ่งที่คนอื่นเห็นและรับรู้ควรจะเป็นเพียงแค่มีคน ๆ หนึ่งวิ่งมาถึงตีนกระไดแล้ว "ล้มลงขาดใจตาย" ส่วนเรื่องที่ว่าคน ๆ นี้ไปไหนมา ไปทำอะไร และไปเจออะไรเข้าบ้าง จนต้องวิ่งหนีจนขาดใจตายนั้น คนเล่าเขารู้รายละเอียดได้อย่างไร
 
รายละเอียดเรื่อง "ปลุกผี" ทั้งหมดอ่านได้ใน สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑๘ ประถมจินดา-ปิง หน้า ๑๑๔๕๑-๑๑๔๕๘ พิมพ์ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๒๔-๒๕๒๖ พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยโรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐ ท้ายเรื่องดังกล่าวมีอักษรพิมพ์ตัวเอียง .ศร. ซึ่งเป็นชื่อย่อของผู้เขียนเรื่องดังกล่าว โดยท้ายเล่มระบุว่าคือ นายสังคม ศรีราช ป.ธ. ๙, นักวรรณศิลป์ กองศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน

เรื่องเอาไฟลนคางผีเพื่อไปทำน้ำมันพรายนี้ เหม เวชกร เล่าไว้อีกแนวหนึ่งในนิยายของเขาเอง ไว้วันหลังจะเอามาเล่าให้ฟัง แต่ขอแนะนำให้ไปหาหนังสือนิยายผีที่เขียนโดย เหม เวชกร มาเก็บสะสมไว้ เพราะบรรยายสภาพเมืองไทยช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจนมาถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเอาไว้ชัดเจนมาก

รูปต้นไม้ที่ผมถ่ายมานั้นถ่ายด้วยกล้องโทรศัพท์มือถือ แม้เปิดแฟลชมันก็ไม่ได้ช่วยให้เห็นภาพชัดขึ้น ก็เลยเอามาปรับแต่งความสว่างด้วยโปรแกรม PhotoScape v3.6.5 ก็ได้ภาพมีแสงสีอย่างที่เห็น มันก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าต้นลำพูขึ้นอยู่ข้างร่องสวน จุดสว่างสีขาวที่เห็นทางด้านขวาของต้นลำพูก็เป็นไฟจากหน้าต่างบ้านที่อยู่อีกฟากหนึ่งของสวนที่ส่องลอดพุ่มใบออกมา ทั้งภาพที่ผมเห็นมันก็มีแค่นี้เอง

ไม่มีความคิดเห็น: