วันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2557

เก็บตกงานก่อสร้างถังเก็บน้ำสำรอง MO Memoir : Friday 12 December 2557

บางที่วิธีการที่จะทำให้รู้ว่าสิ่งที่ออกแบบมานั้นใช้งานได้จริงหรือไม่ก็คือ "การทดลองลงมือใช้งาน" ภายใต้สถานการณ์สมมุติที่แตกต่างกัน โดยอาจเริ่มตั้งแต่ การเริ่มเดินเครื่องเป็นครั้งแรก การปฏิบัติงานในระหว่างการเดินเครื่องตามปรกติ การแก้ปัญหาถ้าหากเกิดปัญหาในระหว่างการเดินเครื่อง การหยุดเดินเครื่อง และการซ่อมบำรุง
  
มีอยู่ไม่น้อยที่พบว่าในระหว่างการก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์นั้น ไม่มีปัญหาใด ๆ ในการติดตั้งอุปกรณ์ชิ้นนั้น เพราะมีทั้งรถเครน (สำหรับการยกของขึ้นที่สูงหรือยกของหนัก) และนั่งร้าน (สำหรับการปฏิบัติงานในที่สูง) แต่พอเสร็จสิ้นงานก่อสร้าง นั่งร้านก็จะถูกรื้อทิ้ง รถเครนถูกนำออกไปจากพื้นที่ฝ่ายผลิต และเมื่อถึงเวลาที่ต้องเริ่มเดินเครื่องจริง (หรือเมื่อถึงคราวต้องหยุดเดินเครื่องเพื่อทำการซ่อมบำรุง) ปัญหาจะปรากฏให้เห็น อย่างเช่นกรณีของถังเก็บน้ำสำรองที่ยกมาเป็นตัวอย่างให้ดูในวันนี้
  
รูปที่ ๑ วาล์วควบคุมการไหลของน้ำประปาเข้าถังเก็บติดตั้งอยู่ทางด้านบนของถัง (ในกรอบสีเหลือง)
  
ถังเก็บน้ำในรูปสูงเกือบ ๑๐ เมตรจากพื้น ท่อน้ำเข้าถังต่อตรงจากท่อน้ำประปาโดยจ่ายเข้าทางด้านบนของถัง (แบบเดียวกับถังเก็บน้ำที่ใช้กันตามบ้านทั่วไป) ตรงจุดท่อน้ำเข้าถังจะมีวาล์วปีกผีเสื้อติดตั้งอยู่ (ที่อยู่ในกรอบสีเหลืองในรูปที่ ๑) จากนั้นปั๊มน้ำจะทำการสูบน้ำจากในถังเพื่อจ่ายไปยังส่วนต่าง ๆ ของโรงงานอีกที ถึงจุดนี้พอจะสังเกตเห็นอะไรบ้างไหมครับ
  
สิ่งที่เห็นได้ในรูปที่ ๑ และ ๒ ตำแหน่งที่ติดตั้งวาล์วเปิด-ปิดน้ำเข้าถังนั้น ไม่มีพื้นที่ให้ผู้ปฏิบัติงานยืนทำงานเพื่อทำการเปิด-ปิดวาล์ว และเป็นตำแหน่งที่อยู่สูงจากพื้นมาก รูปที่ถ่ายมานี้อยู่ในช่วงระหว่างการทดสอบระบบ ดังนั้นจึงมีการติดตั้งนั่งร้านชั่วคราวเพื่อทำการเปิด-ปิดวาล์ว แต่ท้ายสุดแล้วนั่งร้านชั่วคราวดังกล่าวจะถูกรื้อออกและวาล์วทุกตัวจะเปิดทิ้งไว้ (เข้าใจว่าระดับน้ำในถังจะคุมด้วยลูกลอย เหมือนกับถังเก็บน้ำประปาที่ใช้กันตามบ้านทั่วไป)
  
ถ้าเป็นวาล์วที่นาน ๆ ทีใช้งานครั้งนึง หรือเป็นวาล์วที่ไม่อยากให้ใครเข้าไปยุ่งอะไรกับมันโดยไม่จำเป็น การติดตั้งแบบนี้บ่อยครั้งก็ถือว่าเป็นที่ยอมรับ การตั้งนั่งร้านชั่วคราวเพื่อการใช้งานนาน ๆ ครั้งอาจจะดีกว่าการมีโครงสร้างถาวรที่นาน ๆ ครั้งจะมีการใช้งานสักที และการที่ปิดช่องทางให้คนเข้าไปยุ่งอะไรกับมันได้ง่าย ๆ (ด้วยการให้มันอยู่สูงเกินเอื้อม) ก็อาจถือได้ว่าเป็นความปลอดภัยอย่างหนึ่งสำหรับวาล์วที่ต้องการให้มันคงอยู่ ณ ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง (คือเปิดค้างหรือปิดค้าง) โดยไม่ต้องการให้ใครเข้าไปยุ่งอะไรกับมันเว้นแต่จะมีการกำหนดการทำงานที่ชัดเจนว่าให้ไปยุ่งอะไรกับมันเท่านั้น ซึ่งตรงนี้ก็ต้องไปดูกันที่คู่มือการปฏิบัติงาน (operating manual) ของโรงงานว่าวาล์วดังกล่าวมีความถี่ในการใช้งานมากน้อยเท่าใด
  
รูปที่ ๒ ภาพขยายกรอบสีเหลืองในรูปที่ ๑

ถังน้ำที่ใช้เก็บน้ำประปากันตามบ้านเรือนต่าง ๆ เราจะเปิดวาล์วที่ให้น้ำประปาไหลเข้าถังทิ้งไว้ตลอด แต่ใช้ลูกลอยคุมระดับน้ำไม่ให้ล้นถังเก็บอีกทีเวลาที่น้ำเต็มถัง โดยลูกลอยดังกล่าวติดตั้งอยู่ในตัวถังน้ำ ซึ่งในกรณีของถังเก็บที่นำมาแสดงนี้ก็เดาว่าเป็นแบบเดียวกัน แต่ในที่นี้มันมีเรื่องหนึ่งงที่ควรต้องนำมาพิจารณาประกอบคือ ความถี่ของการที่ลูกลอยมีโอกาสที่จะเสียและความถี่ในการตรวจสอบการทำงานและการถอดซ่อมบำรุงลูกลอยเข้ามาพิจารณาด้วย เพราะลูกลอยมีโอกาสที่จะ “ค้าง” ได้โดยที่เราไม่ต้องการ (คือไม่ลอยขึ้นเพื่อปิดการไหลของน้ำ หรือไม่ตกลงเพื่อเปิดให้น้ำไหล)
  
ตรงนี้เป็นประเด็นที่ควรต้องหารือกันระหว่าง ผู้ออกแบบ ผู้จ่ายเงิน และผู้ปฏิบัติงาน สิ่งที่ผู้ออกแบบคาดหวังก็คือสิ่งที่ออกแบบไว้นั้นสามารถปฏิบัติงานได้จริง ในขณะที่ผู้จ่ายเงินนั้นต้องการค่าใช้จ่ายที่ต่ำที่สุด ส่วนผู้ปฏิบัติงานนั้นต้องการการทำงานที่สะดวกสบายที่สุด ซึ่งความต้องการของคนสามกลุ่มนี้อาจจะไม่เหมือนกันพร้อม ๆ กัน
  
ตัวอย่างเช่นในกรณีนี้ผู้ออกแบบอาจจะออกแบบให้มี platform ถาวรติดตั้งอยู่บนยอดถัง เพื่อให้ความสะดวกแก่ผู้ปฏิบัติงานในการทำงาน ซึ่งผู้ปฏิบัติงานก็เห็นชอบด้วย แต่ผู้จ่ายเงิน (ซึ่งไม่ใช่คนที่ต้องลงมาทำงานดังกล่าวในการใช้งานจริง) อาจพิจารณาว่าการติดตั้ง platform ดังกล่าวจะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น และวาล์ว/ลูกลอยดังกล่าวก็ไม่ได้มีการใช้งานบ่อยครั้ง ดังนั้นการติดตั้งนั่งร้านชั่วคราวเมื่อต้องการขึ้นไปปฏิบัติงานยังตำแหน่งดังกล่าวจึงอาจเป็นการเหมาะสมกว่า (ในแง่ของค่าใช้จ่ายที่ไม่ต้องจ่ายให้กับโครงสร้างที่นาน ๆ ครั้งจะมีการใช้งาน)

อีกเรื่องหนึ่งที่ควรต้องนำมาพิจารณาคือตำแหน่งทางเข้าของน้ำว่าในกรณีนี้ทำไมจึงให้เข้าทาง “ด้านบน
  
ความดันของของเหลวนั้นขึ้นอยู่กับ “ความสูง” เท่านั้นเท่านั้น ไม่ขึ้นกับพื้นที่หน้าตัดของภาชนะเก็บของเหลว เรื่องนี้เคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งแล้วใน Memoir ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๘๙ วันศุกร์ที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๖ เรื่อง “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับปั๊มตอนที่ ๑
  
ในโรงงานทั่วเช่นโรงกลั่นน้ำมัน การสูบน้ำมันเข้าแทงค์นั้นจะสูบเข้าทาง “ก้นแทงค์” เพราะจะทำให้ปั๊มกินพลังงานเฉลี่ยน้อยที่สุด เพราะแรงต้านด้านขาออก (เนื่องจากความสูงของของเหลว) จะค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้นตามระดับความสูงของของเหลวในแทงค์ แต่ถ้าสูบเข้าทางด้านบน ปั๊มจะต้องทำงานหนักตลอดเวลา เพราะแรงต้านด้านขาออกจะสูงคงที่ตลอด เวลา (เท่ากับระดับความสูงของท่อด้านขาออกที่จ่ายเข้าทางด้านบนของแทงค์ แต่ทั้งนี้ก็ต้องพิจารณาด้วยนะว่าปลายท่อด้านที่อยู่ในถังนั้นมันอยู่ที่ระดับไหน ถ้าปลายท่อด้านที่อยู่ในถังมันต่ำกว่าระดับสูงสุดของท่อด้านขาออก ปั๊มก็ยังต้องสามารถส่งของเหลวขึ้นไปได้สูงที่ระดับความสูงนั้นก่อน พอของเหลวเริ่มไหลตกลงมาทางท่อด้านขาออก พลังงานที่ปั๊มต้องใช้ก็จะลดลงเอง (นึกภาพกาลักน้ำดูนะ) เรื่องนี้เคยเล่าเอาไว้แล้วใน Memoir ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๕๖ วันจันทร์ที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เรื่อง “เก็บตกฝึกงานฤดูร้อน ๒๕๕๕
  
แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีการสูบเข้าทางด้านบนนะ มันก็มีเหมือนกันในกรณีของการที่ต้องการผสมของเหลวในแทงค์ โดยสูบออกทางด้านล่างและป้อนกลับเข้ามาใหม่ทางด้านบน

รูปที่ ๓ การสูบของเหลวเข้าถังเก็บโดย (ก) เข้าทางด้านก้นถัง (ข) เข้าทางด้านบน (ค) เข้าทางด้านบนแต่ท่อด้านในวกลงล่าง

รูปที่ ๓ ข้างบนเป็นตัวอย่างการต่อท่อจากปั๊มเข้าถังเก็บรูปแบบต่าง ๆ การต่อท่อเข้าที่ก้นถังตามรูปแบบ (ก) นั้น แรงด้านด้านขาออกของปั๊มจะค่อย ๆ เพิ่มตามระดับความสูงของของเหลวในถัง (h1) ดังนั้นถ้าเป็นช่วงที่ระดับของเหลวต่ำ ปั๊มจะมีแรงต้านด้านขาออกน้อยและจะกินพลังงานน้อย เมื่อระดับของเหลวในถังเพิ่มสูง แรงต้านด้านขาออกก็จะเพิ่มขึ้น ดังนั้นปั๊มก็จะกินพลังงานเพิ่มมากขึ้นตามระดับความสูงของของเหลวในถัง (h1)
  
รูปแบบ (ข) เป็นกรณีของการต่อท่อเข้าด้านบนของถัง ในกรณีนี้แรงต้านด้านขาออกจะเท่ากับระดับความสูงของท่อด้านขาออกคือ h2 ตลอดเวลาโดยไม่ขึ้นกับระดับความสูงของของเหลวในถัง (h1) ดังนั้นปั๊มจะกินพลังงานเต็มที่ตลอดเวลาไม่ว่าของเหลวในถังจะมีปริมาณเท่าใด
  
ส่วนรูปแบบ (ค) นั้นปั๊มจำเป็นต้องมีพลังงานมากพอที่จะดันของเหลวให้สูงขึ้นไปจนถึงระดับ h2 (ตำแหน่งสูงสุดของท่อให้ได้ก่อน) จากนั้นเมื่อของเหลวเริ่มไหลตกลงมาทางปลายท่อ (ของเหลวต้องไหลเต็มท่อนะ) แรงต้านด้านขาออกจะลดลงโดยเหลือเพียงแค่ระดับความสูง h3 เท่านั้น ดังนั้นตราบเท่าที่ระดับของเหลวในถังอยู่ต่ำกว่าระดับปลายท่อด้านขาอก (h3) แรงต้านด้านขาออกก็จะคงที่เท่ากับระดับความสูง h3 ตลอดเวลา และเมื่อปลายท่อด้านขาออกเริ่มจมลงในผิวของเหลว แรงต้านด้านขาออกก็จะเพิ่มตามระดับความสูงของของเหลวในถัง (h1) ในกรณีนี้ระดับความสูง h2 จะเป็นตัวกำหนดความดันด้านขาออกที่ต่ำที่สุดที่ปั๊มจำเป็นต้องมี ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถเริ่มการสูบของเหลวเข้าถังได้

กรณีของรูปที่ ๑ นั้นแตกต่างไปจากกรณีของรูปที่ ๓ ตรงที่กรณีของรูปที่ ๑ นั้นเป็นการต่อ “น้ำประปา” จากมิเตอร์เข้าสู่ถังเก็บโดยตรงโดยไม่มีปั๊มส่งเข้า (อาศัยแรงดันน้ำประปาที่การประปาจ่ายให้มาเพียงอย่างเดียว) ซึ่งก็เป็นรูปแบบที่ใช้กันตามบ้านทั่วไปที่จะต่อท่อน้ำประปาเข้าทางด้านบนของถังเก็บ ก่อนที่จะใช้ปั๊มสูบน้ำในถังจ่ายเข้าไปในอาคาร แต่ถังน้ำในบ้านมันมีความสูงไม่มาก (อย่างมากก็ประมาณ ๒ เมตร) ความดันในท่อประปาก็เพียงพอที่จะทำให้น้ำไหลเข้าทางด้านบนของถังได้ไม่ว่าจะเป็นเวลาไหนของวันอยู่แล้ว การต่อท่อน้ำประปาเข้าทางด้านบนของถังก็มีข้อดีตรงที่ไม่ต้องกังวลเรื่องการไหลย้อนกลับเวลาที่ความดันในท่อประปาลดต่ำลง ทำให้ไม่ต้องมีการติดตั้งวาล์วกันการไหลย้อนกลับ (non-return valve หรือcheck valve) เอาไว้เหมือนในกรณีที่ต่อท่อเข้าทางด้านก้นถัง
  
แต่ปัญหาก็คือถังในรูปที่ ๑ มันมีความสูงมาก (ประมาณ ๑๐ เมตรหรือบ้าน ๓ ชั้น) ดังนั้นจึงเกิดปัญหาว่าเวลาที่มีผู้ใช้น้ำประปามาก (เช่นในช่วงเวลากลางวัน เช้าหรือเย็น) ความดันในระบบท่อประปาจะลดต่ำลง ทำให้น้ำไม่สามารถไหลเข้าไปในถังได้ แนวทางการแก้ปัญหาที่อาจกระทำได้ก็คือทำการย้ายท่อน้ำเข้าให้มาอยู่ทางด้านก้นถังแทน (แต่ต้องมีการติดตั้งวาล์วกันการไหลย้อนกลับด้วย) หรือไม่ก็ติดตั้งถังเก็บน้ำใบเล็กกับปั๊มน้ำเพิ่มเติม โดยให้น้ำประปาไหลเข้าถังเก็บน้ำใบเล็ก (ที่มีความสูงต่ำกว่า) ก่อน จากนั้นจึงค่อยใช้ปั๊มสูบน้ำจากถังใบเล็กเข้าไปในถังใบใหญ่อีกทีหนึ่ง (รูปที่ ๔)
 
รูปที่ ๔ แนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหา
 
ส่วนที่ว่าทำไปถึงมีปัญหานี้เกิดขึ้นมันมีเรื่องอะไรต่อมิอะไรซ้อนกันอยู่หลายอย่าง ประเด็นหนึ่งที่พอจะเอ่ยได้ก็คือคนออกแบบนั้นเป็นวิศวกรจากต่างประเทศ ไม่มีความเข้าใจในเรื่องระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของไทยที่แตกต่างไปจากประเทศที่เขาอาศัยอยู่ ทำให้การออกแบบที่อิงบนการใช้งาน ณ ประเทศหนึ่งไม่สามารถนำมาใช้งานได้อย่างเหมาะสมในอีกประเทศหนึ่งได้

ไม่มีความคิดเห็น: