วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555

บางเหี้ย MO Memoir : Wednesday 15 August 2555

เป็นเรื่องปรกติที่เราจะพบว่าการตั้งชื่อชุมชนในบ้านเรานั้นจะอาศัยสภาพที่ตั้งของชุมชม สิ่งแวดล้อมของชุมชน และกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนนั้นเป็นหลัก 
 
ตัวอย่างการตั้งชื่อโดยสภาพที่ตั้งของชุมชนได้แก่ชุมชนที่ขึ้นต้นชื่อด้วย ทุ่ง บึง หนอง ดอน ปากคลอง อ่าว แหลม ทำนองนี้ ตัวอย่างการตั้งชื่อโดยอาศัยสิ่งแวดล้อมเช่น หนองแขม (เป็นที่หนองมีต้นแขมขึ้นเยอะ) บางลำพู (มีต้นลำพูขึ้นอยู่) ส่วนตัวอย่างการตั้งชื่อชุมชนโดยดูจากกลุ่มชนที่อาศัยก็อาจดูจากอาชีพหรือเชื้อชาติของกลุ่มชนในชุมชนนั้น เช่น บ้านญวน บ้านแขก บางพลัด บ้านบาตร บ้านช่างหล่อ

ชื่อเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าสภาพสิ่งแวดล้อมเดิมจะเปลี่ยนไป หรือกลุ่มชนเดิมในชุมชนจะถูกเจือจางด้วยกลุ่มชนใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม แต่ชื่อดังกล่าวก็ยังคงเก็บรักษาเอาไว้อยู่เพื่อบอกให้รู้ถึงประวัติศาสตร์ดั้งเดิมของชุมชนเหล่านั้น

มีบ้างเหมือนกันที่ความพยายามเปลี่ยนเกิดจากฝ่ายปกครอง แต่ทางชาวบ้านไม่ยอม ก็เลยเปลี่ยนไม่ได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเคยมีความพยายามที่จะเปลี่ยนชื่อ "บางพลัด" ให้กลายเป็น "บางภัทร" ซึ่งผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคนอยากเปลี่ยนเขาคิดอย่างไร ถ้าเช่นนั้นทำไมไม่คิดเปลี่ยนชื่อ "บางจาก" ให้กลายเป็นอย่างอื่นบ้าง (อันที่จริงคำว่า "จาก" ในท้องที่นี้หมายถึงต้นจาก ไม่ได้หมายถึงการแยกจากกัน")

มีบ่อยครั้งเหมือนกันที่สถานที่ราชการเดิม (เช่นที่ว่าการอำเภอ) ตั้งอยู่ในท้องที่หนึ่งซึ่งมีชื่อเรียกอย่างหนึ่ง ต่อมาได้มีการย้ายสถานที่ตั้ง (ซึ่งอาจเป็นเพราะการเดินทางสะดวกกว่าสำหรับประชาชนส่วนใหญ่) ไปตั้งอยู่ในสถานที่แห่งใหม่ที่มีชื่อเรียกต่างไปจากเดิม ทำให้เกิดปัญหาการเรียกชื่อของทางการซึ่งไม่สอดคล้องกับการเรียกชื่อของชาวบ้านส่วนใหญ่ จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงชื่อเพื่อให้ทางการกับชาวบ้านเข้าใจตรงกัน

อีกสาเหตุหนึ่งที่เห็นว่าแปลกก็คือชื่อที่สมัยหนึ่งมันไม่มีปัญหา แต่พอมายุคหลังกลับมองว่าชื่อไม่ไพเราะ ไม่เป็นมงคล หรือไม่สุภาพ ก็เลยต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะกับแต่ละสมัย ซึ่งผมเข้าใจว่าการเปลี่ยนชื่อด้วยสาเหตุนี้คงมีไม่มากนัก ตัวอย่างหนึ่ง (และเป็นตัวอย่างเดียว) ที่ผมมีอยู่ก็คือการเปลี่ยนชื่อ "อำเภอบางเหี้ย"

เรื่องเล่าว่าพื้นที่แห่งนี้อยู่ใกล้ทะเล น้ำท่วมถึง มีสัตว์จำพวกเหี้ยอยู่เยอะ ชาวบ้านจึงเรียกพื้นที่แห่งนี้ว่า "บางเหี้ย"

เดิมอำเภอนี้ตั้งอยู่ที่ปากคลอง (หรือแม่น้ำในแผนที่ในรูปที่ ๑) ใกล้ทะเล ต่อมาถูกย้ายเข้ามาห่างจากทะเลมากขึ้นในบริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่าบางบ่อ อำเภอบางเหี้ยก็เลยถูกเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบางบ่อ (ดูราชกิจจานุเบกษาฉบับวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๔๗๓ ในรูปที่ ๒) อำเภอบางเหี้ยเดิมที่อยู่ที่ปากคลองก็กลายเป็นตำบลบางเหี้ยไป

ต่อมาภายหลังจึงได้มีการเปลี่ยนชื่อตำบลนี้กลายเป็นตำบลคลองด่าน (ดูราชกิจจานุเบกษาฉบับวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๔๘๓ ในรูปที่ ๒)

เรื่องราวประวัติของชุมชนนี้มีผู้เขียนเอาไว้หลายท่าน ถ้าสนใจอยากจะรู้มากกว่านี้ก็ลองใช้คำว่า "บางเหี้ย" ค้นหาใน google ดูก็จะพบ Memoir นี้ก็เลยไม่ขอนำมากล่าวซ้ำ เพียงแต่อยากนำภาพแผนที่เก่าที่ปรากฏชื่อเก่าและราชกิจจานุเบกษาที่กล่าวถึงมาแสดงให้ดูกันเท่านั้นเอง

รูปที่ ๑ (บน) แผนที่จังหวัดสมุทรปราการจากหนังสือ "แผนที่ ๗๑ จังหวัดของประเทศไทย"
เรียบเรียงโดย เจษฎา โลหะอุ่นจิต พิมพ์ที่ เอเซียการพิมพ์ ๕๓๗-๗ ถนนสันติภาพ วงเวียน ๒๒ กรกฎา พระนคร โทร ๒๓๐๑๙
นายบุญศักดิ์ ปิยะธนาพงษ์ ผู้พิมพ์โฆษณา พ.ศ. ๒๕๐๘
(ล่าง) ภาพขยายของบริเวณในกรอบสี่เหลี่ยมของรูปบน

รูปที่ ๒ (ซ้าย) ราชกิจจานุเบกษาฉบับวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๔๗๓ ประกาศเปลี่ยนชื่ออำเภอบางเหี้ยเป็นอำเภอบางบ่อ (ชื่อปีพ.ศ. ที่ด้านบนของราชกิจจานุเบกษาหน้านี้พิมพ์ปีพ.ศ. ผิด คือพิมพ์เป็น พ.ศ. ๒๔๗๒ แต่ที่ถูกคือ พ.ศ. ๒๔๗๓) (ขวา) ราชกิจจานุเบกษาฉบับวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๔๘๓ ประกาศเปลี่ยนชื่อตำบลบางเหี้ย (ที่ยังปรากฏในแผนที่ในรูปที่ ๑) เป็นตำบลคลองด่าน ใครอยากค้นหาข้อมูลเก่า ๆ ของราชกิจจานุเบกษาก็ไปค้นได้ที่
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/RKJ/index/index.htm