วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ไทยเราก็มี ... อาวุธนิวเคลียร์ MO Memoir : Sunday 10 February 2556

ราว ๆ ๑๕ ปีที่แล้วต้องไปรับหน้าที่เป็นกรรมการตรวจนับพัสดุของหน่วยงาน ซึ่งเป็นเหมือนกับงานเล่นซ่อนหา โดยเราเป็นฝ่ายหาของ และหน่วยงานต่าง ๆ เป็นคนซ่อนของ แต่เกมส์นี้ดีอย่างตรงที่ถ้าคนหาหาของได้ไม่ครบ คนที่ซ่อนของเอาไว้จะเป็นผู้เดือดร้อน ต้องชี้แจงให้ได้ว่าของนั้นหายไปได้อย่างไร

พัสดุของหน่วยงานราชการนั้นอาจแบ่งออกได้เป็นพวกที่ใช้แล้วหมดไปซึ่งจะเรียกว่าเป็น "วัสดุสิ้นเปลือง" (เช่น กระดาษ หมึกพิมพ์ เครื่องเขียน หลอดไฟ ฯลฯ) และพวกที่อยู่ทนถาวรที่เรียกว่า "ครุภัณฑ์" (เช่น โต๊ะ ตู้ เครื่องพิมพ์ดีด คอมพิวเตอร์ ฯลฯ) พวกที่เป็นวัสดุสิ้นเปลืองนั้นแต่ละปีก็ต้องมานับว่ามีคงเหลืออยู่เท่าใด ส่วนพวกที่เป็นครุภัณฑ์นั้นก็ต้องไปตรวจว่ายังคงอยู่หรือไม่ ถ้ายังคงอยู่ยังอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้หรือไม่ได้ รอซ่อม หรือรอจำหน่าย (จำหน่ายก็คือโยนทิ้งนั่นแหละ เพียงแต่ว่าจะมีคนมาซื้อซากเอาไป)
 
การตรวจครุภัณฑ์นั้นจะต้องตรวจตามเลขหมายกำกับ คือครุภัณฑ์แต่ละชิ้นจะมีการลงเลขหมายเอาไว้ เช่นโรงเรียนหนึ่งซื้อเก้าอี้มาใหม่ ๑๐๐๐ ตัว เก้าอี้แต่ละตัวจะมีหมายเลขที่เรียกว่า "เลขครุภัณฑ์" ที่ไม่ซ้ำกันเลยอยู่บนตัวมัน ส่วนจะใช้วิธีการเขียนด้วยสีที่ติดถาวร พ่นสี หรือทำรอยบนพื้นผิวนั้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละหน่วยงานจะเลือกวิธีการของตัวเอง 
 
แต่เดิมการให้เลขครุภัณฑ์นั้นก็ไม่ค่อยมีระบบเท่าใดนัก หลัก ๆ ก็มีเพียงระบุปีพ.ศ.ที่ได้รับมากับชื่อหน่วยงานที่เป็นเจ้าของ ดังนั้นในหน่วยงานใหญ่หน่วยงานหนึ่ง ระบบเลขครุภัณฑ์ในหน่วยงานย่อยในระดับเดียวกันก็อาจไม่เหมือนกัน (เช่นในระดับคณะ ระบบการให้เลขครุภัณฑ์ของแต่ละภาคอาจแตกต่างกันไปโดยสิ้นเชิง)
  
ภายหลังรู้สึกว่าจะเริ่มมีการปรับปรุง คือมีการกำหนดเลขหมายให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ว่า แต่ละหน่วยงานมีเลขหมายอะไร ดังนั้นหมายเลขพัสดุจึงประกอบด้วยรหัสที่บ่งบอกหน่วยงาน ปีพ.ศ. ที่ได้รับพัสดุนั้น และประเภทของพัสดุ
  
หมายเลขของประเภทพัสดุแต่ละประเภทนั้นทางหน่วยงานผมเคยได้รับจากต้นสังกัดส่งมาในแผ่นดิสก์ ผมเคยเอาแผ่นดิสก์นั้นมาเปิดดูก็ไม่คิดว่าสำนักนายกฯจะมีหมายเลขพัสดุของสิ่งของเช่นนี้ด้วย แถมเป็นหมายเลขอยู่ในกลุ่มต้น ๆ ด้วย พัสดุนั้นคือ "อาวุธนิวเคลียร์"
  
นอกจากอาวุธนิวเคลียร์แล้ว สำนักนายกฯยังเตรียมหมายเลขพัสดุให้กับอาวุธเคมีและชีวภาพด้วย ในส่วนอาวุธเคมีนั้นผมเคยได้ยินจากนายทหารจากหน่วยงานหนึ่งพูดในที่ประชุมที่จัดโดยกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อเกือบ ๒๐ ปีที่แล้วว่าประเทศไทยเราก็เคยมีอาวุธเคมี แต่นำไปทิ้งทะเลตั้งนานแล้ว ตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม แต่จะว่าไปถ้าไทยจะมีอาวุธเคมีก็ไม่น่าแปลก เพราะแก๊สคลอรีนที่ใช้ฆ่าเชื้อโรคในน้ำประปาก็จัดเป็นอาวุธเคมีเหมือนกัน
 
แผ่นดิสก์ที่ผมเคยเอามาเปิดดูนั้นหายไปไหนแล้วก็ไม่รู้ แต่ที่เอามาให้ดูในที่นี้เอามาจากเว็บระบบบัญชีสามมิติของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดังนี้
https://acc3d.ku.ac.th/web_procurement/fsn_edit/pm_fsn_t.php?g=11
https://acc3d.ku.ac.th/web_procurement/fsn_edit/pm_fsn_t.php?g=13

การที่มีหมายเลขพัสดุนั้นไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องมีพัสดุชิ้นนั้น แต่ที่สงสัยก็คือถ้าเราไม่คิดจะมีพัสดุชิ้นนั้นเอาไว้ในครอบครอง แล้วเราจะมีหมายเลขดังกล่าวไปทำไม