วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ทำความรู้จัก Equipment schedule (๓) Heat exchanger MO Memoir : Tuesday 19 June 2561

ฉบับนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ Equipment schedule ของ Heat exchanger หรือเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน นิยามของเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนตรงนี้จะเป็นกรณีที่มี fluid สองชนิดมาแลกเปลี่ยนความร้อนกัน (คือไม่เอาพวก fire process heater หรือหม้อน้ำ (boiler) มารวม)
 
ตารางที่ ๔ (นับต่อจากตอนที่ ๑) เป็นตัวอย่างรายละเอียด Equipment schedule สำหรับ heat exchanger และเช่นเคย เราลองมาไล่ดูทีละหัวข้อไปเรื่อย ๆ ก็แล้วกัน
 
"Item no." คือรหัสชื่อ heat exchanger ถ้าตกลงว่าจะเรียกว่า E (คือย่อมาจาก exchanger) ก็อาจใช้ตัวย่อว่า E เช่น E-202 แต่ถ้าตกลงว่าจะเรียกว่า HE (คือย่อมาจาก heat exchanger) ก็อาจใช้ตัวย่อว่า HE เช่น HE-202 ซึ่งตรงนี้ก็ไปตกลงกันเอาเองในหน่วยงาน
 
"Service name" คือให้ระบุว่า heat exchanger ดังกล่าวทำหน้าที่อะไร เช่นเป็น steam condenser, overhead condenser, off-gas cooler, economizer, air coolerเป็นต้น
 
"No. required" ให้ระบุจำนวนที่มี
 
"Type & Installation" ตัว Type ให้ระบุว่าเป็น heat exchanger แบบไหน เช่น shell & tube, double pipe, plate, fin tube (ที่ใช้กับ air cooler) เป็นต้น ส่วน Installation ให้ระบุรูปแบบการวาง ว่าเป็นในแนวตั้ง (vertical) หรือแนวนอนhorizontal)
 
"Duty/Heat transfer area" คือให้ระบุปริมาณความร้อนที่ต้องการแลกเปลี่ยนหรือพื้นที่ผิวของการแลกเปลี่ยนความร้อน
 
ช่อง "Dimension" ให้ระบุมิติคือขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอกของส่วน Shell/Channel (ส่วน tube ไม่ต้องระบุเพราะมันถูกส่วน shell หุ้มเอาไว้) และความยาวรวม (Total length)
 
ช่อง "Fluid" คือให้ระบุของไหลที่ไหลผ่าน SS คือ Shell side ส่วน TS คือ Tube side
 
"Operating condition" คือสภาวะการทำงานตามปรกติ ให้ระบุแยกเป็นความดันในส่วนของ shell และ tube ส่วนอุณหภูมิให้ระบุทั้งอุณหภูมิด้านขาเข้าและขาออกของทั้งส่วน shell และส่วน tube
 
"Design" คือให้ระบุค่าที่ใช้ในการออกแบบไม่ว่าจะเป็นของส่วน shell และส่วน tube
 
"Emergency vacuum" คือให้ระบุว่าจำเป็นต้องมีระบบฉุกเฉินป้องกันการเกิดสุญญากาศภายในหรือไม่ เช่นในกรณีที่มีไอน้ำเป็นของไหลแลกเปลี่ยนความร้อน เมื่อไม่มีการไหลของไอน้ำหรือไอน้ำในระบบควบแน่น จะทำให้เกิดสุญญากาศขึ้นภายใน จนอาจทำให้ตัวอุปกรณ์เกิดความเสียหายได้จากแรงดันภายนอกที่กระทำ
 
ถัดไปคือการระบุวัสดุที่ใช้ทำ ตัว "Tube sheet" คือแผ่นที่ใช้สำหรับสอด tube ผ่านเพื่อรองรับน้ำหนักตัว tube และให้ตัว tube (ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก) เรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบ (คือรักษาระยะห่างระหว่าง tube เอาไว้ตลอดทั้งช่วงความยาวของ tube)
 
"Corrosion allowance" คือระดับการกัดกร่อนที่ยอมรับได้ โดยแยกเป็นส่วน shell (หรือช่องทางการไหลด้านนอก) ส่วน tube และส่วน tube sheet
 
"Insulation" คือจำเป็นต้องหุ้มฉนวนหรือไม่ ส่วนจะเป็นฉนวนร้อนหรือเย็นก็ไม่จำเป็นต้องระบุ เพราะมันดูได้จากช่อง operating condition อยู่แล้ว
 
ตารางที่ ๔ ตัวอย่าง Equipment schedule สำหรับ heat exchanger


"Approx weight" คือน้ำหนักโดยประมาณ ในที่นี้แยกเป็นหนักหนักเปล่ารวมมัดท่อ (ช่อง "Empty incl bundle") หรือเรียกว่าเป็นน้ำหนักประกอบรวมทั้งชุดเมื่อไม่มีของเหลวบรรจุก็ได้ น้ำหนักของมัดท่อ (ช่อง "Bundel") ที่ใช้สำหรับกรณีของเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนชนิด shell & tube ที่สามารถถอดส่วน tube ทั้งชุดออกมาจากตัว shell ได้ (เอาไว้เผื่อตอนซ่อมบำรุง) และน้ำหนักเมื่อมีน้ำบรรจุเต็ม (ช่อง "Full of water") เพื่อเอาไว้สำหรับการออกแบบฐานรองรับ
 
"Supplier" คือผู้ผลิตถังนั้น 
  
"Remarks" คือหมายเหตุ คือมีอะไรเป็นพิเศษที่ไม่ตรงกับช่องที่มีอยู่ ก็ให้มาเขียนไว้ที่นี่ เช่นอาจเป็นเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนที่จำเป็นต้องติดตั้งในระดับที่อยู่เหนือหรือต่ำกว่าระดับของบาง vessel

เสร็จจาก Memoir ฉบับนี้ก็จะหายหน้าหายตาไปพักนึง ด้วยว่าต้องไปสัมมนาต่างจังหวัดกับภาควิชา จะกลับมาเขียนอะไรอีกทีก็คงเป็นสัปดาห์หน้า (เว้นแต่ว่าระหว่างสัมมนาจะมีเรื่องอะไรน่าสนใจ หรืองานสัมมนามันน่าเบื่อ ก็อาจมีบทความเพิ่มเติมในระหว่างนั้นก็ได้) และปิดท้ายที่ว่างของหน้าด้วยภาพบรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยที่เพิ่งจะถ่ายเมื่อตอนเดินกลับจากทานข้าวเที่ยงวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น: