วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

เพราะสภาพภูมิศาสตร์เป็นตัวกำหนดรูปแบบการดำรงชีวิตของมนุษย์ MO Memoir : Thursday 5 November 2563

"ประวัติศาสตร์ไม่ใช่วิชาท่องจำ แต่เป็นวิชาที่ต้องใช้ความคิดวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจ"

ครูผู้สอนวิชาสังคมศึกษา (ที่รวมเอาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน) สมัยผมเรียนมัธยมปลาย กล่าวประโยคเอาไว้ทำนองนี้เมื่อกว่าสามสิบปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นผมเองก็ไม่เข้าใจ จนได้ไปเรียนต่อปริญญาเอกที่เมืองนอกนั่นแหละครับ ถึงได้มองเห็นความสำคัญของวิชาเหล่านี้ เพราะมันทำให้ผมเข้าใจการพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

รูปที่ ๑ รูปนี้นำมาจากหน้า Facebook ของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่เผยแพรไว้เมื่อวันศุกร์ที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๓

เคมีอินทรีย์เป็นศาสตร์ที่มีการศึกษากันมากในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ โดยเฉพาะในทวีปยุโรป และการค้นพบจำนวนมากในช่วงเวลาเหล่านั้นก็กลายเป็น "กฎ" ที่ผู้เรียนเคมีอินทรีย์ต้องมาเรียนแบบ "ท่องจำ" กันในปัจจุบัน (จนคนจำนวนไม่น้อยฝังจำว่าเคมีอินทรีย์เป็นวิชาที่เน้นการท่องจำเป็นหลัก) สิ่งที่น่าสนใจก็คือในยุคสมัยนั้นเขาทำการค้นคว้าเหล่านั้นไปทำไม ซึ่งตรงนี้ก็ต้องกลับไปดูประวัติศาสตร์ของยุโรปในช่วงเวลานั้นและก่อนหน้านั้นว่า เขามีการแข่งขันด้านไหนกันอยู่ (เช่นด้านเศรษฐกิจและการทหาร) และต้องกลับไปดูภูมิศาสตร์ของยุโรปว่า ในดินแดนของเขานั้นมีอะไรบ้างที่สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบได้ (ทั้งสิ่งที่มีอยู่ในดินแดนของตัวเอง การนำเข้าจากท้องถิ่นอื่น และเส้นทางการลำเลียงวัตถุดิบนั้นมีความมั่นคงปลอดภัยแค่ไหน) และด้วยสิ่งที่มีอยู่ในมือนั้น (โดยเฉพาะวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นตัวเอง) จะทำอย่างไรเพื่อที่จะเอาชนะคู่แข่งให้ได้

แล้วทำไมเราจึงต้องจำการทำปฏิกิริยาต่าง ๆ ในรูปแบบที่เป็น "กฎ" ที่ตามชื่อคนนั้นคนนี้ นั่นก็เป็นเพราะรูปแบบโครงสร้างอะตอมในยุคสมัยนั้น (คือช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙) ยังไม่มีความชัดเจน รูปแบบที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ (ที่มีนิวเคลียสอยู่กลางและมีอิเล็กตรอนเคลื่อนที่อยู่รอบ ๆ เป็นชั้น ๆ) มันถูกพัฒนาขึ้นในช่วงเริ่มต้นศตวรรษที่ ๒๐ และค่อย ๆ ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ จนเกือบจะเข้าที่ก็ล่วงเข้าช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐ แล้ว เรียกว่าตามหลัง "กฎ" หลายกฎที่ถูกตั้งขึ้นให้เราท่องจำนั้น ร่วมครึ่งศตวรรษเลยก็ได้

การเรียนวิธีแก้ปัญหาสมการอนุพันธ์สมัยเรียนปริญญาตรีก็จะใช้เทคนิคพวก analytical เป็นหลัก คือการประมาณคำตอบด้วยอนุกรมอนันต์ (Infinite series) ที่มีพฤติกรรมที่เหมาะสมกับรูปแบบคำตอบ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องไปดูว่ารูปแบบสมการแบบนี้ควรต้องใช้อนุกรมอนันต์ตัวไหน ในขณะที่ได้เรียนเทคนิคพวก numerical เพียงเล็กน้อย แต่พอเข้าเรียนระดับโท-เอกซึ่งต้องเขียนโปรแกรมแก้ปัญหาระบบสมการต่าง ๆ ด้วยตนเอง (ตอนนั้นก็ใฃ้ NAG Library เป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นการแก้ปัญหาระบบสมการพีชคณิต) ต้องหาเทคนิคที่เหมาะสมในการแปลงระบบสมการอนุพันธ์ให้กลายเป็นระบบสมการพีชคณิต ซึ่งตอนแรกก็มองไม่เห็นภาพข้อเด่นข้อด้อยของแต่ละเทคนิคเท่าใดนั้น แต่พอได้เปรียบเทียบช่วงเวลาที่แต่ละเทคนิคนั้นกำเนิดขึ้น กับความสามารถของคอมพิวเตอร์ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น (โดยเฉพาะหน่วยความจำที่มีให้ใช้จำกัดมาก) ก็เลยมองเห็นภาพว่าทำไมโจทย์ข้อเดียวกันจึงมีการคิดค้นเทคนิคการแก้ปัญหาที่หลากหลาย เพราะมันมีเรื่องของข้อจำกัดทางด้านฮาร์ดแวร์ที่แต่ละคนมีนั้นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย


ภูมิศาสตร์เป็นตัวกำหนดว่าถ้าคนเราต้องการดำรงชีวิตอยู่ในสถานที่เหล่านั้น คนเหล่านั้นต้องมีการปรับตัวในการดำรงชีวิตอย่างไร จึงจะมีอาหารบริโภคตลอดทั้งปี และทนอยู่ในสภาพอากาศที่นั่นได้ ดังนั้นเขาจะไม่สามารถยอมรับกฎเกณฑ์ใด ๆ ที่ทำให้เขาไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสถานที่เหล่านั้นได้

ศาสนาพุทธสอนไม่ให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต มันก็เลยเกิดคำถามตามมาว่าแล้วจะให้กินอะไร ตรงนี้ถ้าเรามองแบบปัจจุบันก็คงจะตอบว่าก็หันไปกินผักกินเจก็ได้ แต่ถ้าลองมองย้อนไปในอดีตเมื่อกว่าสองพันปีที่แล้ว คำตอบที่ว่าหันไปกินผักกินเจแทนมันใช้ได้กับบางท้องถิ่นแค่นั้นเอง เพราะในหลายภูมิภาคของโลกนั้น มันไม่ได้มีพืชผักที่คนกินได้และขึ้นได้ตลอดทั้งปี (เช่นพอถึงฤดูหนาวที่หิมะตก เขาก็ปลูกอะไรไม่ได้แล้ว) แต่มันมีพืชที่สัตว์กินได้นั้นที่มันอยู่รอดได้ในสภาพอากาศเหล่านั้นได้ตลอดทั้งปี ดังนั้นการดำรงชีวิตของพวกเขาก็คือการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มันดำรงชีวิตอยู่ได้เพราะมันมีสิ่งที่มันมีกินได้ตลอดทั้งปี ลองนึกภาพว่าถ้าไปบอกให้ชาวเอสกิโมที่อยู่ใกล้ขั้วโลกเหนือที่ดินแดนเต็มไปด้วยน้ำแข็งให้เลิกล่าสัตว์และหันมากินพืชผักแทน เขาจะเอาพืชผักที่ไหนมากิน

สภาพภูมิศาสตร์ของอินเดียนั้นเป็นดินแดนที่ปลูกพืชผักกินได้ทั้งปี ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ว่าจะเกิดแนวความคิดในการดำรงชีวิตที่จะไม่ไปเบียดเบียนฆ่าสัตว์ แต่ในดินแดนที่มีระยะเวลาจำกัดในการปลูกพืชผักกินในแต่ละปี (เช่นทะเลทรายหรือภูมิภาคที่ฤดูหนาวมีอากาศหนาวเย็นจนหิมะตก) กฎเกณฑ์ที่ไปห้ามไม่ให้เขาฆ่าสัตว์ (แม้ว่าต้องการนำเอาเนื้อมาบริโภคเพื่อการดำรงชีวิตก็ตาม) เขาจึงไม่สามารถยอมรับได้ กฎเกณฑ์ (หรือศาสนา) ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในดินแดนเหล่านั้น จึงไม่ได้ห้ามการฆ่าสัตว์เพื่อนำเอาเนื้อมาบริโภคโดยสิ้นเชิง ถ้าพิจารณาประเด็นตรงนี้ก็คงจะทำให้มองภาพได้ว่าทำไมศาสนาพุทธจึงไม่สามารถแพร่ขยายไปทางด้านตะวันออกกลางหรือยุโรปได้

แต่พอมาตั้งประเด็นเรื่องสภาพอากาศในการอธิบาย มันก็มีคำถามตามมาอีกว่าแล้วทำไมในประเทศจีน (รวมเกาหลีและญี่ปุ่นเข้าไปด้วย) ที่ช่วงฤดูหนาวก็มีอากาศหนาวจัดจนหิมะตกและไม่สามารถทำการเกษตรได้ จึงสามารถรับเอาศาสนาพุทธไปปฏิบัติได้ และยังมีธรรมเนียมการไม่บริโภคเนื้อสัตว์อีก ตรงนี้น่าจะเป็นเพราะดินแดนเหล่านี้รู้จักวิธีการถนอมและแปรรูปอาหาร (ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์หรือพืชผักผลไม้) ให้สามารถเก็บไว้ได้นาน ทำให้มีบริโภคได้ตลอดทั้งปี และยังลำเลียงส่งไปยังดินแดนอื่นได้แม้ว่าต้องใช้เวลาเดินทางนาน ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเทคโนโลยีการถนอมอาหารนี้ ไม่ได้เป็นที่รู้จักกันในภูมิภาคอีกส่วนหนึ่ง

เคยอ่านบันทึกของบาทหลวงจากยุโรปท่านหนึ่งที่เดินทางเข้ามาเมืองไทยและได้มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวในไทย (จำไม่ได้ว่าเป็นช่วงอยุธยาตอนปลายหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น) ที่มีผู้แปลไว้ บาทหลวงท่านนั้นท่านบันทึกเอาไว้ว่าชาวสยามเป็นคนเกียจคร้าน ไม่ค่อยทำงานทำการ แต่ท่านก็ได้ตั้งคำถามเอาไว้ว่า แล้วจะให้พวกเขาขยันไปทำไม ในเมื่อพื้นที่รอบบ้านเขานั้นต่างเต็มไปด้วยของกิน สามารถหาผักหาปลากินได้รอบบ้าน

และไม่รู้ว่าด้วยสภาพแวดล้อมเช่นนี้หรือเปล่า จึงทำให้เกิดคำทักทายกันทำนองว่า "ไปไหนมา มี "ข้าว" กินแล้วหรือยัง" คือถามว่ามี "ข้าว" กินแล้วหรือยัง เพราะว่าไม่ว่าจะเดินทางไปไหนมันสามารถหากับข้าวกินได้ตลอดทาง ที่ต้องหาตุนเอาติดตัวไว้เพื่อการบริโภคระหว่างการเดินทางก็คือ "ข้าว" ต่างหาก ไม่ใช่กับข้าว

ไม้ยืนต้นหรือพวกพืชสวนนั้นไม่สามารถทนน้ำท่วมขังได้นาน ในขณะที่การปลูกข้าวนั้นต้องการพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง พื้นที่ฝั่งธนบุรีและนนทบุรีที่แต่ก่อนเต็มไปด้วยเรือกสวน ก็บ่งบอกว่าพื้นที่แถวนี้ไม่ได้มีน้ำท่วมขังนาน ในขณะที่พื้นที่ฝั่งกรุงเทพนั้นมีการทำนามาก่อน มันก็บ่งบอกว่าการมีน้ำท่วมขังในพื้นที่แถวนี้มันก็เป็นเรื่องปรกติ ดังนั้นเวลาที่มีฝนตกหนักในกรุงเทพทีใด เราจะเห็นภาพข่าวกรุงเทพฝั่งตะวันออกมีน้ำท่วมขังถนน (ที่ต้องรอการระบาย) เป็นประจำ ในขณะที่ฝั่งธนบุรีกลับไม่มีปัญหานี้ (ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องท่อระบายน้ำตันเข้ามาเกี่ยวข้องนะ)

การทำสวนแบบดั้งเดิมของพื้นที่ฝั่งธนบุรีและนนทบุรีนั้น จะมีการขุดดินเป็นร่องสวน การทำเช่นนี้ก็เป็นการยกระดับพื้นที่ที่จะปลูกไม้ยืนต้นให้สูงขึ้นมาอีก ส่วนร่องสวนที่ได้นั้นก็ใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำและทางระบายน้ำไปในตัว และยังช่วงน้ำซึมลงใต้ดินได้ง่ายขึ้น ทำให้ไม้ยืนต้นมีน้ำกินตลอดทั้งปี แม้ว่าบนผิวดินจะดูแห้งแล้งไม่มีน้ำก็ตาม ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังสูง จึงเรียนรู้ที่จะปลูกเรือนที่มีการยกพื้นสูง จะให้คนที่อยู่ในพื้นที่แบบนี้มาสร้าง "บ้านดิน" อยู่อาศัยก็คงไม่ได้ คนที่อยู่อาศัยในเขตอากาศร้อนก็เรียนรู้ที่จะสร้างที่พักให้มีหลังคาทรงสูงโปร่ง เพื่อไม่ให้อากาศในตัวเรือนมันร้อน แต่สำหรับคนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีหิมะตก จะสร้างหลังคาให้มีลักษณะลาดชัน เพื่อไม่ให้หิมะตกสะสมบนหลัง เพราะน้ำหนักของหิมะที่ตกสะสมนั้นอาจทำให้โครงสร้างรับน้ำหนักไม่ไหวได้

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ประสบกับภัยพิบัติกินบริเวณกว้างเป็นประจำ และบทเรียนที่เขาได้รับก็คืออย่าไปคาดหวังว่าจะมีความช่วยเหลือจากภายนอกหรือความช่วยเหลือนั้นจะมาถึงอย่างรวดเร็ว เพราะเส้นทางคมนาคมถูกตัดขาดหรือไม่ก็บริเวณรอบข้างก็ได้รับความเสียหายไปด้วย ดังนั้นแต่ละชุมชนจึงต้องมีการวางแผนและออกแบบให้ผู้ที่อพยพหรือรอดชีวิตนั้นต้องสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างน้อยในช่วงเวลาหนึ่ง ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นพื้นที่สาธารณะบางแห่งเต็มไปด้วยฝาท่อระบายน้ำ ที่สามารถนำมาใช้เป็นส้วมสาธารณะในยามฉุกเฉินได้ หรือม้านั่งในสวนสาธารณะ ที่สามารถดัดแปลงเป็นเตาหุงหาอาหารยามฉุกเฉินได้

ภูมิศาสตร์ของท้องถิ่นนั้นเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ที่ดำรงชีวิตอยู่ในท้องถิ่นนั้น และพฤติกรรมของมนุษย์ก็เป็นตัวกำหนดประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นนั้น การที่สังคมหนึ่งจะดำรงอยู่ได้ในท้องถิ่นหนึ่งนั้น คนในสังคมนั้นต้องรู้จักพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการหาอาหารบริโภค การป้องกันการรุกรานจากคนท้องถิ่นอื่นที่จะมาแย่งชิงทรัพยาการ หรือเพื่อไปรุกรานคนในท้องถิ่นอื่นเพื่อแย่งชิงทรัพยากร และความจำเป็นต่าง ๆ เหล่านี้จึงเป็นสิ่งผลักดันให้แต่ละท้องถิ่นเหล่านั้นต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยี (อย่างน้อย) เพื่อความอยู่รอดของท้องถิ่นนั้นเอง การมีความรู้ความเข้าใจเรื่องภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นที่ตัวเองอยู่ จะทำให้ทราบได้ว่าเพื่อให้ท้องถิ่นที่ตัวเองอยู่อาศัยนั้นอยู่รอดได้นั้น ควรต้องทำอะไร

ไม่มีความคิดเห็น: