วันจันทร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2567

ถังใส่กรดกำมะถัน (H2SO4) ก็ระเบิดได้ (๔) MO Memoir : Monday 15 January 2567

เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้นำมาจากบทความเรื่อง "Learning lessons from eight gas explosions" เขียนโดย EGAN Simon Mark, Corporate Process Safety Expert, Solvay, France เผยแพร่ในเอกสาร Symposium Series no. 160 จัดโดย IChemE ในปีค.ศ. ๒๐๑๕ (พ.ศ. ๒๕๕๘) โดยเรื่องที่นำมาเล่าเป็นเรื่องที่ ๓ ในหัวข้อเรื่อง "1989 gas phase explosion in a sulphuric acid tank"

รูปที่ ๑ โครงสร้างถังเก็บกรดกำมะถันที่เกิดเหตุ

เหตุการณ์เกิดขึ้นในปีค.ศ. ๑๙๘๙ (พ.ศ. ๒๕๓๒) กับถังบรรจุกรดกำมะถันเข้มข้น 96% ความจุ 50 m3 สร้างขึ้นจากเหล็กกล้าคาร์บอน (mild steel) ถังดังกล่าวตั้งอยู่ในบ่อที่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าพื้นดิน (รูปที่ ๑) (คือให้บ่อดังกล่าวทำหน้าที่กักเก็บกรดกำมะถันในกรณีที่ถังเกิดความเสียหายจนมีกรดกำมะถันรั่วไหลออกมา ถ้าตั้งถังไว้ที่ระดับพื้นดินก็ต้องมีการสร้างกำแพงล้อมรอบ)

เนื่องจากมีความจำเป็นต้องซ่อมท่อที่ต่อออกมาจากด้านบนของตัวถังบรรจุ จึงได้ทำการถ่ายกรดกำมะถันในถังดังกล่าวไปไว้ยังถังบรรจุอื่น หลังจากที่ถ่ายกรดกำมะถันออกไปแล้วก็พบว่าที่ก้นถังมีชั้นตะกอนตกค้างอยู่ (ตะกอนมาได้อย่างไรไม่มีข้อมูลบอก แต่สาเหตุหนึ่งที่อาจเป็นไปได้คือเป็นเกิดจากด่างที่เทลงไปสะเทินกรดที่ค้างในถังในงานซ่อมก่อนหน้า และแน่นอนว่าต้องมีกรดกำมะถันที่ปั๊มไม่สามารถสูบออกไปได้ค้างอยู่ที่ก้นถังด้วย) จึงได้ทำการเทโซเดียมคาร์บอเนตผง (Sodium carbonate Na2CO3) จำนวน ๘ ถุงลงไปทาง manhole ทางด้านบน (พอหรือเปล่าก็ไม่รู้) จากนั้นทำการเติมน้ำเข้าไปในถังจนอยู่ที่ระดับ 15 cm ก่อนถึง "ระดับบนสุด" (คำว่าระดับบนสุดในที่นี้น่าจะอิงจากส่วนที่เป็นลำตัวทรงกระบอก ไม่รวมส่วนฝาถังรูปกรวย) และด้วยเหตุผลหลายประการงานซ่อมท่อจึงยังไม่ได้ดำเนินการทันที โดยมาเริ่มในอีก ๖ วันให้หลัง

ในช่วงเวลาดังกล่าวและ "ทันทีก่อนที่จะเริ่มงานซ่อม" ได้มีการตรวจวัดแก๊สไฮโดรเจนใน บ่อ, ระดับพื้นดิน และ "ภายในถังบรรจุ" ซึ่งการทดสอบทั้งหมดให้ผลออกมาเป็น "ลบ" (ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีเลย แต่อาจมีอยู่ในระดับความเข้มข้นที่ต่ำกว่า Lower Explosive Limit มากก็ได้) จึงได้อนุญาตให้เริ่มงานเจียรบนเส้นท่อที่ต้องการซ่อม (คงเริ่มด้วยการตัดท่อด้วยหินเจียร) และเมื่อเริ่มงานเจียรก็เกิดการระเบิดขึ้นภายในถัง การระเบิดไม่ได้ทำให้ถังพังแต่คงต้องทำให้เกิดการสั่นอย่างรุนแรงเนื่องจากพบว่าส่วนที่ตรึงถังไว้กับพื้นนั้นหลุดออก และทำให้คนงาน ๓ คนที่ทำงานอยู่ข้างบนนั้นกระเด็นขึ้นไปในอากาศ ทำให้เสียชีวิต ๑ รายและบาดเจ็บสาหัสอีก ๒ ราย

โปรตอน (H+) ที่แตกตัวออกมาจากกรดสามารถทำปฏิกิริยากับเหล็กทำให้เหล็กกลายเป็น FeSO4 (Ferrous sulphate หรือ Iron (ii) sulphate) ส่วนตัวโปรตอนนั้นจะกลายเป็นแก๊สไฮโดรเจนลอยออกไป FeSO4 เป็นสารประกอบที่ละลายน้ำได้ ดังนั้นถ้าเป็นกรณีของกรดเจือจาง (คือมีน้ำผสมอยู่) FeSO4 ที่เกิดขึ้นจะละลายน้ำออกมาทำให้โปรตอนสามารถเข้าทำปฏิกิริยากับผิวเหล็กที่อยู่ลึกลงไปได้เรื่อย ๆ จนกว่ากรดหรือเนื้อโลหะตัวใดตัวหนึ่งจะหมด แต่ถ้าเป็นกรดเข้มข้น (คือมีน้ำอยู่น้อย) FeSO4 ที่เกิดขึ้นจะก่อตัวเป็นชั้นฟิล์มป้องกันอยู่บนผิวเหล็ก ทำให้ไม่เกิดการกัดกร่อนลึกลงไป

ในเหตุการณ์นี้แก๊สที่เป็นสาเหตุของการระเบิดคือไฮโดรเจน (ข้อสรุปนี้น่าจะมาจากเมื่อพิจารณาปัจจัยรอบด้านแล้วไม่น่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะมีสารเชื้อเพลิงอื่นหลุดปนเปื้อนเข้ามาในถังในช่วงเวลารอคอย ๖ วัน) ซึ่งเกิดจากการสะเทินสารที่ค้างอยู่ในถังไม่สมบูรณ์ กล่าวคือไม่มีการวัดค่า pH ของน้ำ (ซึ่งจะเป็นตัวบอกว่าใส่ด่างลงไปเพียงพอหรือเปล่า) และไม่มีความพยามที่จะทำการผสมน้ำที่อยู่ในถังไม่ว่าจะด้วยวิธีใด (เพื่อให้การสะเทินเป็นไปอย่างทั่วถึงทุกจุดในถัง) นอกจากนี้ ณ ตำแหน่งสูงสุดของถังยังไม่มีช่องสำหรับระบายแก๊ส จึงทำให้แก๊สไฮโดรเจนที่เกิดขึ้นสะสมอยู่ใต้ฝาถัง

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจแต่บทความไม่ได้กล่าวถึงคือ มีการตรวจวัดแก๊สไฮโดรเจน "ทันทีก่อนที่จะเริ่มงานซ่อม" และได้ผลออกมาเป็น "ลบ" ไม่ว่าจะเป็นการตรวจในบ่อ ระดับพื้นดิน และที่สำคัญคือ "ภายในถัง" (รูปที่ ๒) การตรวจไม่พบไฮโดรเจนในบ่อหรือระดับพื้นดินไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะไฮโดรเจนเป็นแก๊สเบากว่าอากาศมาก ฟุ้งกระจายไปได้ง่ายอยู่แล้วแม้ว่าจะไม่มีลดพัดแรง แต่ข้อสงสัยที่สำคัญคือทำไมจึงตรวจไม่พบแก๊สไฮโดรเจนในถัง

ปรกติเครื่องตรวจวัดแก๊สชนิดพกพาได้จะมีสายยางหรือท่อสำหรับยื่นเข้าไปดูดแก๊สในบริเวณที่ต้องการทดสอบ ดูจากรูปแล้วการตรวจวัดนี้คงใช้ช่องเปิดใด ๆ ที่อยู่ด้านบนของฝาถัง (ซึ่งไม่มีช่องเปิดที่ระดับบนสุด) และในเหตุการณ์นี้คาดว่าการตรวจคงเป็นการตรวจที่ระดับที่ต่ำกว่าช่องเปิดดังกล่าว ซึ่งเป็นระดับที่แก๊สไฮโดรเจนที่เกิดขึ้นไม่สามารถสะสมเพราะจะระบายออกทางช่องเปิดดังกล่าว (คำถามก็คือช่องเปิดที่ใช้สอดท่อเข้าไปดูดแก๊สเพื่อตรวจสอบนั้น สามารถสอดท่อให้แยงขึ้นไปเหนือระดับช่องเปิดได้หรือไม่)

ในเหตุการณ์นี้ท่อที่ต้องการซ่อมน่าจะเป็นท่อที่เชื่อมต่อด้วยการเชื่อม ไม่มีจุดที่เป็นหน้าแปลนที่สามารถถอดหรือง้างออกได้ (ที่สามารถใช้เป็นจุดระบายแก๊สไฮโดรเจนออกหรือตรวจสอบองค์ประกอบของแก๊สในท่อก่อนเริ่ม hot work ได้) จึงจำเป็นต้องใช้การตัดด้วยหินเจียร ดังนั้นจุดนี้จึงเป็นจุดที่แก๊สไฮโดรเจนที่เกิดขึ้นสามารถสะสมอยู่และเกิดการระเบิดจากความร้อนและ/หรือประกายไฟที่เกิดขึ้น ซึ่งนำไปสู่การระเบิดภายในถังต่อ

 

รูปที่ ๒ คำบรรยายเหตุการณ์ที่เกิด

 

ไม่มีความคิดเห็น: