วันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2566

แล้วก็ถึงเวลา ที่ผมควรต้องวางประแจ MO Memoir : Friday 6 October 2566

ตอนที่ไปเรียนที่อังกฤษนั้น Mascot ของโรงเรียนวิศวกรรมที่ผมไปเรียนคือ Spanner หรือประแจปากตาย และจะว่าไปแล้ว ตลอดช่วงเวลาการทำงานที่ผ่านมา อุปกรณ์เครื่องมือช่างที่ผมใช้งานมากที่สุดก็คือประแจ ไม่ว่าจะเป็นงานซ่อมแซมเครื่องใช้ต่าง ๆ ภายในบ้าน หรืองานประกอบและซ่อมแซมชุดทดลอง รองลงไปก็เห็นจะไปไขควง ที่จะใช้กับพวกอุปกรณ์ไฟฟ้าเสียมากกว่า เรียกว่าไม่ว่าจะเป็นที่ทำงานหรือที่บ้าน หรือแม้แต่กล่องเครื่องมือประจำรถ ก็ต้องมีอย่างน้อยประแจปากตายและประแจเลื่อนติดอยู่

และจะว่าไปนั้น เวลาที่นิสิตบอกว่าระบบชุดทดลองมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นระบบท่อหรือแก๊สโครมาโทกราฟ พอตรวจพบว่าปัญหานั้นเกิดจากอะไร ก็มักจะพบว่าอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการแก้ปัญหามักต้องมีประแจด้วยเสมอ และมันก็เป็นอุปกรณ์ที่อยู่คู่มือเวลาที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เสมอ


สัปดาห์ที่แล้วได้สนทนากับอาจารย์รุ่นใหม่ท่านหนึ่งที่กำลังจะสร้างอุปกรณ์ทดลอง ก็เลยได้เล่าประสบการณ์บางเรื่องที่เคยประสบมาให้ฟัง และส่งลิงก์สำหรับดาวน์โหลด Memoir ฉบับรวมบทความไปให้

มาเมื่อวานก็ได้พบกับศิษย์เก่าของภาควิชา รายหนึ่งกำลังศึกษาระดับปริญญาโท มีปัญหาเรื่องการแปลผลการทดลอง มาขอคำปรึกษา ก็เลยอธิบายให้ฟังถึงการทำงานของอุปกรณ์และการอ่านผลสัญญาณ อีกรายหนึ่งมาร่วมงานรับปริญญาของรุ่นน้อง เขาเล่าให้ฟังว่า team leader ของเขาเป็นศิษย์เก่าของภาควิชา (และเรียนปริญญาโทกับผมด้วย แต่นั่นก็นานแล้ว) เชาเล่าให้ฟังเรื่องการเริ่มต้นเดินเครื่องปั๊มหอยโข่ง ที่เขาต้องกลับไปทบทวนเรื่อง NPSH (Net Positive Suction Head) และระบบ piping รอบปั๊มหอยโข่ง โดยอาศัยบทความที่ผมเคยเขียนไว้ใน blog

หลายเดือนก่อนหน้านี้อาจารย์ท่านหนึ่งที่เคยร่วมทำงานวิจัยด้าน SCR (Selective Catalytic Reduction) ด้วยกันในช่วงแรก ๆ ของโครงการ โทรมาขออนุญาตรื้ออุปกรณ์ SCR เดิมที่ไม่ได้ใช้งานมาหลายปีเนื่องจากสถานการณ์โควิด และตัวผมเองก็บังเอิญมีงานวิจัยด้านอื่นให้ทำ ผมเองก็ไม่ว่าอะไร เพราะอุปกรณ์ชุดนี้คิดว่าคงจะไม่ใช้อะไรแล้ว และมันก็ไม่ได้เป็นของผม มันเป็นสิ่งที่จัดซื้อมาด้วยเงินทุนวิจัยที่ทำร่วมกัน เที่ยงวันนี้แวะไปดูก็พบว่าเขารื้อถอนอุปกรณ์เดิมออกไปหมดแล้ว เหลือเอาไว้แต่โครง แล้ววางระบบใหม่เพื่อใช้กับปฏิกิริยา แก๊ส + ของเหลว ที่ความดันสูง (รูปแรก)

ช่วงปีที่ผ่านมามีหลายรายมาถามผมว่าจะรับนิสิตป.โทอีกไหม ผมก็บอกเขาไปว่าถ้าจะให้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลักก็คงจะไม่รับแล้ว แต่ถ้ามีใครจะเชิญไปเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมและเห็นว่าพอจะช่วยได้ก็ยังยินดีอยู่ เริ่มรับนิสิตป.โทมาตั้งแต่เข้าทำงานคือปีการศึกษา ๒๕๓๗ จนถึงรุ่นสุดท้ายคือรุ่นปีการศึกษา ๒๕๖๔ (ที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในวันนี้) ยังไม่ได้นับว่าได้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์มาแล้วกี่คน แต่จำได้ดีว่า เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลักของนิสิตปริญญาเอกเพียงคนเดียว ที่ตอนนี้เขาก็ทำงานเป็นอาจารย์อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ส่วนตัวผมเองก็คิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะวาง "ประแจ" (ที่เป็นเสมือนสัญญลักษณ์การทำงานภาคปฏิบัติ) สักที เพื่อเป็นการหลีกทางออกไป แล้วให้คนใหม่เข้ามามีบทบาทแทน

รูปสุดท้ายเป็นรูปที่เจ้าหน้าที่ของภาควิชาถ่ายไว้ให้เมื่อวาน ปรกติก็แทบไม่ได้ลงรูปตัวเองใน memoir อยู่แล้ว ฉบับนี้ก็ขอเอามาลงเต็มหน้าบ้าง และก็เช่นกัน สำหรับนิสิตที่รับพระราชทานปริญญาบัตรในวันนี้ MO Memoir ฉบับนี้ก็จะเป็นฉบับสุดท้ายที่จะส่งตรงให้พวกคุณทางอีเมล์ และเนื่องจากผมก็ไม่ได้มีนิสิตบัณฑิตศึกษาเหลืออยู่แล้ว ดังนั้นการส่ง MO Memoir ให้กับนิสิตทางอีเมล์ก็จะสิ้นสุดไปพร้อมกับการส่งอีเมล์ฉบับนี้ด้วย และขอให้ทุกคนที่เป็นนิสิตบัณฑิตศึกษารุ่นสุดท้ายของผม ประสบแต่ความสุขความสำเร็จในหน้าที่การงานและชีวิตครอบครับทุกคน

ในที่สุดก็ถึงวลาที่ "สามแยก SCR" ต้องปิดฉากลง สิ่งที่เหลืออยู่ก็คงมีเพียงแค่สิ่งที่อยู่ในความทรงจำของผู้คนที่มีโอกาสได้มานั่งพักยามเหน็ดเหนื่อยจากการทำการทดลอง นั่งพักรับประทานอาหารและของว่าง หรือหาเพื่อนเพื่อร่วมวงสนทนา สังสรรค์ เฮฮา ระบายความรู้สึก รอรับพัสดุ

หรือเพียงแค่รอใครบางคน

ขอขอบคุณทุกคน ไม่ว่าจะทำวิทยานิพนธ์กับอาจารย์ท่านใด ที่ได้แวะมาเยี่ยมเยียนพวกเราที่สามแยก SCR นี้ เพราะพวกคุณต่างได้สร้างความทรงจำต่าง ๆ ทิ้งไว้ให้กับพวกเรา


 

ไม่มีความคิดเห็น: