วันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

บางสิ่งที่เคยมี เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๖๙) MO Memoir : Saturday 31 May 2557

วันอังคารที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นวันปฐมนิเทศนิสิตใหม่ เลขประจำตัว 37XXXXX ของมหาวิทยาลัย
  
และในแต่ละปี ทางมหาวิทยาลัยจะแจกหนังสือ "พระเกี้ยว" ให้กับนิสิตที่เข้าใหม่ทุกคน เพื่อแนะนำให้รู้ว่าในมหาวิทยาลัยมีสถานที่อะไร อยู่ที่ไหนกันบ้าง
  
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ก็ครบรอบ ๒๐ ปีพอดี มีสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นใหม่ในมหาวิทยาลัย และในขณะเดียวกันก็มีหลายสิ่งหลายอย่างได้หายไป Memoir ฉบับนี้ก็เลยขอนำเอาสถานที่ ๓ แห่งที่มีปรากฏในหนังสือ "พระเกี้ยว" ฉบับพ.ศ. ๒๕๓๗ มาให้ดูกัน เพราะปัจจุบันสถานที่ทั้งสามก็ไม่เหลือแล้ว
  
เริ่มจาก "หน่วยอนามัย" (รูปที่ ๒ ในหน้าถัดไป) เดิมเป็นอาคารสองชั้นตั้งอยู่ริมถนนพญาไทฝั่งตะวันตก ใกล้กับประตูครุศาสตร์ ปัจจุบันกลายเป็นอาคารจามจุรี ๕ ไปแล้ว ช่วงตอนที่อาคารนี้ถูกทุบทิ้ง ก็ย้ายไปอยู่ในห้องใต้สนามกีฬาด้านทิศเหนือ (ฝั่งตรงข้ามสนามกีฬาในร่มเก่า) ก่อนจะมีที่ใหม่ที่ชั้น ๒ อาคารจามจุรี ๙ ในปัจจุบัน


รูปที่ ๑ หนังสือพระเกี้ยว ๒๕๓๗ ที่แจกให้นิสิตใหม่ที่เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยในปีพ.ศ. ๒๕๓๗


รูปที่ ๒ (บน) รูปอาคารหน่วยอนามัย ปัจจุบัน (ล่าง) กลายเป็นอาคารจามจุรี ๕ ที่เป็นที่ตั้งของสำนักทะเบียนและประมวลผล กองคลัง ฯลฯ
  
ก่อนออกประตูรั้วฝั่งตะวันตกตรงที่เป็นตลาดสามย่านในปัจจุบัน (ตอนนั้นตลาดสามย่านอยู่ใกล้แยกสามย่าน ฝั่งตรงข้ามกับคณะนิติศาสตร์ และก่อนหน้านั้นอีกก็อยู่ตรงที่เป็นจามจุรีสแควร์ในปัจจุบัน) เป็นที่ตั้งของปั๊มน้ำมัน (รูปที่ ๓) ในแต่ละวันมักจะมีรถมาเติมน้ำมันกันเป็นแถวยาว เพราะจำหน่ายราคาถูกกว่าข้างนอก จนบางวันน้ำมันหมดก่อนถึงตอนเย็น (เห็นราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว รู้สึกอย่างไรบ้าง) ตอนนี้บริเวณดังกล่าวก็กลายเป็นลานจอดรถสำหรับชาร์ตแบตเตอรี่ของรถรับส่งภายในมหาวิทยาลัยไปแล้ว
  
ที่ตั้งของอาคารจามจุรี ๙ ในปัจจุบันเดิมเป็นลานดินว่าง ๆ ให้เป็นที่จอดรถ และมีสนามเทนนิสด้วย ทั้งปั๊มน้ำมัน ลานจอดรถ และสนามเทนนิส หายไปเมื่อมีการก่อสร้างอาคารจามจุรี ๙


รูปที่ ๓ (บน) สถานีบริการน้ำมันของมหาวิทยาลัย จำหน่ายน้ำมันราคาถูกกว่าข้างนอกลิตรละ ๑๐ สตางค์ ปัจจุบัน (ล่าง) กลายเป็นลานจอดรถสำหรับชาร์ตแบตเตอรี่ของรถรับส่งภายในมหาวิทยาลัย
ฝั่งตรงข้ามกับปั๊มน้ำมัน ตรงหัวมุมสนามกีฬาด้านทิศใต้ที่หันออกประตูตลาดสามย่าน ตรงนั้นเคยมีร้านค้าสวัสดิการ (ไม่ใช่ร้านค้าสหกรณ์นะ) จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป (รูปที่ ๔) เยื้อง ๆ จากหน้าร้านจะเป็นที่จอดรถได้ ๒-๓ คัน เป็นจุดสำหรับจอดรถเพื่อเติมลมยาง ร้านนี้เลิกไปพร้อมกับการเลิกปั๊มน้ำมัน

รูปที่ ๔ หน้าร้านสวัสดิการ


รูปที่ ๕ จากสระน้ำ กลายเป็นที่ทิ้งขยะ สนามหญ้า และสนามบาสเกตบอลในปัจจุบัน

ปิดท้ายด้วยบริเวณที่เป็นสนามกีฬาด้านบริเวณระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์และรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน สมัยผมเรียนหนังสือตรงนี้ยังเป็นสระน้ำที่พายเรือเล่นได้ มีต้นไทรต้นใหญ่ขึ้นอยู่ริมน้ำ ตอนปี ๓๗ นั้นกลายเป็นที่ทิ้งขยะไป (ทั้งขยะทั่วไปและขยะพิษ) ตอนสร้างอาคาร ๕ เขาก็เลยตัดสินใจถมสระ ฝังขยะทั้งหมดไว้ใต้พื้นสนามหญ้าสีเขียว แต่อยู่ได้ไม่นานก็มีการขุดหลุมเพื่อการก่อสร้างบางอย่าง ขยะที่ถูกฝังกลบก็เลยผุดขึ้นมา สุดท้ายก็เลยต้องเทคอนกรีตทับ จะได้ไม่มีใครไปขุดอีก

วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

หามาตรฐานไม่ได้จริง ๆ MO Memoir : Tuesday 27 May 2557

ถ้าการทำงานนั้นใช้มาตรฐานกลางที่คนทั่วไปในวงการเขาใช้กัน เมื่อเวลาผ่านไปหรือคนผ่านไป คนที่มารับช่วงต่อทีหลังก็จะสามารถดำเนินงานต่อไปได้ แต่ถ้าทำงานกับแบบตามความพอใจของฉัน ตามมาตรฐานที่ฉันตั้งขึ้นมาเอง ให้งานมันเสร็จ ๆ ไปก็พอ หรือคิดว่าคงไม่มีใครมาตรวจสอบหรอก (แต่ไม่คำนึงถึงเมื่อมีการซ่อมแซม) ปัญหาในอนาคตก็คงจะยากที่จะหลีกเลี่ยง
  
เช้าวันนี้ระหว่างเดินมาทำงาน บังเอิญสายตา (ที่ทั้งสั้นทั้งยาว) บังเอิญมองไปเห็นสิ่งที่ไม่ได้คาดว่าจะเห็น ก็เลยถ่ายรูปมาแบ่งปันให้ดูกัน ซึ่งมันอาจดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาและคงไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งมันก็คงจะไม่มีปัญหาอะไรหรอก ตราบเท่าที่ยังไม่มีการซ่อมแซม สิ่งนั้นก็คือ "ท่อพลาสติกสองท่อที่ต่อกันอยู่"
  
ท่อที่ใช้กับระบบสาธารณูปโภคทั่วไปในอาคารหรือบริเวณรอบ ๆ อาคารก็มักจะเป็นท่อเหล็กอาบสังกะสีหรือไม่ก็ท่อพลาสติก ท่อเหล็กอาบสังกะสีที่นำมาใช้เป็นท่อน้ำประปาหรือท่อร้อยสายไฟนั้นจะขึ้นรูปด้วยการนำเหล็กแผ่นยาวมาม้วนพับให้เป็นวงกลม แล้วเชื่อมตามแนวประกบ จากนั้นจึงขัดผิวนอกตรงรอยเชื่อมให้เรียบเสมอกับผิวท่อ รูปท่อเหล็กที่ขึ้นรูปด้วยการพับแผ่นเหล็กแล้วเชื่อมนี้เพิ่งจะเอามาให้ดูเมื่อต้นเดือนนี้เอง (ดูรูปที่ ๖ ใน Memoir ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๗๙๗ วันพฤหัสบดีที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ เรื่อง "เก็บตกงานก่อสร้างอาคาร(ตอนที่๒)")
  
รุ่นพี่ท่านหนึ่งที่เป็นวิศวกรไฟฟ้าเคยสอนผมไว้ว่าท่อเหล็กชุบสังกะสีที่ใช้ทำท่อน้ำประปามันไม่เหมือนกับท่อร้อยสายไฟ คือผิวด้านในของท่อร้อยสายไฟจะเรียบกว่า กล่าวคือไม่มีคมนั่นแหละ เพราะถ้ามีส่วนที่มีคมอยู่ เวลาที่ลากสายไฟร้อยผ่านท่อเหล่านั้น ส่วนที่มีคมจะกรีดฉนวนสายไฟให้ขาดได้ ดังนั้นมันจึงไม่ควรนำมาใช้สลับกัน
รูปที่ ๑ ท่อในกรอบสีเหลืองมันเดินผ่านใต้พื้นคอนกรีตทางเท้าและมาโผล่ออกตรงสนามหญ้า ก่อนที่จะฝังดินลงไปใหม่
  
แต่ในกรณีของท่อพลาสติกไม่ว่าจะเป็นพวกพีวีซี (PVC) หรือพอลิโอเลฟินส์ (เช่น HDPE) นั้น มันขึ้นรูปด้วยวิธี Extrusion ผิวข้างในมันเรียบอยู่แล้ว การกำหนดการใช้งานท่อสำหรับแต่ละงานนั้นจะใช้วิธีการผสมสีเข้าไปตอนขึ้นรูปท่อ ทำให้ท่อมีสีที่แตกต่างกัน (เช่นท่อ PVC) หรือมีลายสีบนท่อที่แตกต่างกัน (เช่นท่อ HDPE)
  
ในกรณีของท่อ PVC นั้น ท่อ "สีฟ้า" ให้ใช้เป็นท่อน้ำ ท่อ "สีเหลือง" ให้ใช้เป็นท่อร้อยสายไฟ
ในกรณีของท่อพอลิโอเลฟินส์นั้น ท่อคาด "สีฟ้า" ให้ใช้เป็นท่อน้ำ ท่อคาด "สีแดง" ให้ใช้เป็นท่อร้อยสายไฟ
  
แต่ตรงจุดต่อท่อที่ผมบังเอิญไปเห็นมาเมื่อเช้ามันเป็นดังรูปที่ ๒ ก็ดูกันเอาเองก็แล้วกัน


รูปที่ ๒ ส่วนที่อยู่ใต้พื้นคอนกรีตของทางเดินเป็นท่อคาดสีน้ำเงิน แต่ดันมาต่อกับท่อคาดสีแดงก่อนจะฝังลงดิน ดูลักษณะการต่อแล้วไม่คิดว่าเป็นการต่อท่อน้ำ เพราะเป็นเพียงแค่การขยายปลายท่อของท่อคาดแดง แล้วสอดท่อคาดฟ้าเข้าไป

อันที่จริงเรื่องท่อคาดสีก็เคยกล่าวเอาไว้ใน Memoir ก่อนหน้านี้แล้ว ๒ ฉบับคือ
ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๕๙ วันจันทร์ที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๕ เรื่อง "ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำตอนที่๑๙ ท่อร้อยสายโทรศัพท์" และ
ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๐๗ วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๕ เรื่อง "ท่อคาดสี"

สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ถ้าในอนาคตมีการขุดซ่อมทางเท้า แล้วคนงานเกิดขุดไปเจอท่อคาดสีฟ้าที่ฝังอยู่ข้างใต้ ซึ่งก็คงจะหลีกไม่ได้ที่เขาจะต้องคิดว่ามันเป็นท่อน้ำประปา (ตามมาตรฐานที่คนทั่วไปเขาใช้กัน) แล้วถ้าหากเขาตัดท่อนั้นเพื่อที่จะทำท่อน้ำประปาแยกออกมา (ตามความเข้าใจของเขาจากสีคาดท่อที่เห็น) สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปจะเป็นอย่างไร เหตุการณ์ทำนองนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในภาควิชาของเรา คือสิ่งที่ได้เล่าเอาไว้ใน Memoir ฉบับที่ ๔๕๙ ข้างบน

วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

การทิ้งระเบิดโจมตีการส่งเสบียงกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทย (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๖๘) MO Memoir : Wednesday 21 May 2557

บันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่เขียนโดยคนไทยนั้น มักจะเป็นบันทึกของบุคคลทั่วไปที่ใช้ชีวิตอยู่ในช่วงนั้น ซึ่งอาจเป็นบุคคลทั่วไปหรือผู้ที่เข้าร่วมกับกลุ่มเสรีไทย ผมไม่รู้เหมือนกันว่าผู้ที่ทำหน้าที่ปฏิบัติการทางทหารของไทยในขณะนั้น มีการเขียนบันทึกและพิมพ์เผยแพร่เอาไว้บ้างหรือไม่ ที่เห็นล่าสุดก็มีการเขียนหนังสือ "ทางรถไฟสายใต้ในเงาอาทิตย์อุทัย" ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับรถไฟของไทยกับกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดย ดร.พวงทิพย์ เกียรติสหกุล ซึ่งผมเห็นว่าเป็นหนังสือที่ดีมากเล่มหนึ่ง มีการนำเรื่องราวของบันทึกเอกสารราชการของฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่นที่ถูกเก็บเอาไว้ (โดยคนทั่วไปในยุคปัจจุบันอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเคยมีอยู่) เอามาเปิดเผยให้เห็นกัน
  

Memoir ฉบับนี้เป็นการนำเอาเอกสารและรูปภาพที่ค้นเจอทางอินเทอร์เน็ต โดยคัดมาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการโจมตีประเทศไทยโดยกองทัพอากาศอังกฤษเมื่อ ๖๙ ปีที่แล้วมาเล่าสู่กันฟัง
  

รูปที่ ๑ และ ๒ ในหน้าถัดไปนำมาจากเอกสาร "Supplement to The London Gazette of Friday 13th April 1951" ฉบับที่ ๓๙๒๐๒ เผยแพร่ในวันที่ ๑๙ เมษายน ปีค.ศ. ๑๙๕๑ (พ.ศ. ๒๔๙๔) ในหัวเรื่อง "Air Operation in South East Asia 3rd May, 1945 to 12th September, 1945" ในตอนต้นของบทความกล่าวว่าเขียนโดย Air Chief Marshal Sir Keith Park, Allied Air Commander-in-Chief, South East Asia และส่งให้ Secretary of State for Air ในเดือนสิงหาคม ปีค.ศ. ๑๙๔๖ (พ.ศ. ๒๔๘๙) บทความชิ้นนี้กล่าวถึงปฏิบัติการทางอากาศในช่วงท้ายจนของสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนถึงสงครามสิ้นสุด ในย่านพม่าและไทย ในหน้าที่ ๒๑๔๐ และ ๒๑๔๑ ตั้งแต่ย่อหน้าที่ ๑๖๖ ถึง ๑๘๖ นั้นกล่าวถึงปฏิบัติการทางอากาศในการโจมตีเส้นทางลำเลียงทางรถไฟ ท่าเรือและเรือสินค้า
  

โดยเฉพาะย่อหน้าที่ ๑๗๒-๑๘๒ ในหน้า ๒๑๔๐ นั้นบรรยายถึงการโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันขนาด ๑๐,๐๐๐ ตันของญี่ปุ่น โดยฝูงบินที่ ๒๓๑ ในวันที่ ๑๕ มิถุนายน บริเวณที่ทำการโจมตีไม่ได้ระบุตำแหน่งแน่นอน แต่ในย่อหน้าที่ ๑๗๖ บอกว่าเรือนั้นเดินทางผ่านเกาะสมุย (เรือเดินทางจากใต้ขึ้นเหนือ) ก่อนจะถูกจม ในย่อหน้าที่ ๑๘๒ ยังได้กล่าวถึงการจมเรือชื่อ "อ่างทอง" ขนาดความยาว ๓๓๕ ฟุตที่เป็นเรื่องส่งเสบียงให้กับเรือดำน้ำ ณ ฐานทัพเรือสัตหีบ โดยเครื่องบินของฝูงบินที่ ๒๓๑ เช่นเดียวกัน
  

รูปที่ ๓ เป็นภาพเรือขนาด ๒๕๐ ฟุตที่กำลังลุกไหม้และกำลังจม ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ ในรูประบุว่าถูกโจมตีโดยเครื่องบินหมายเลขจากฝูงบินที่ ๓๕๖ แต่เมื่อเทียบกับข้อความในย่อหน้าที่ ๑๗๕ (รูปที่ ๑) แล้ว คิดว่าเลข ๒๕๖ น่าจะเป็นหมายเลขของเครื่องบินของฝูงบินที่ ๒๓๑ มากกว่า เพราะฝูงบินที่ ๒๓๑ นี้รับหน้าที่ปฏิบัติการในภูมิภาคนี้ ส่วนรูปที่ ๔ เป็นภาพบริเวณท่าเรือสงขลา (อังกฤษเรียกว่า Singora) แต่เสียดายที่ไม่ได้ระบุวันที่ เพียงแต่บอกว่าเป็นผลการปฏิบัติการของฝูงบินที่ ๒๓๑ เช่นกัน
 

คำว่า "Liberator" ที่ปรากฏนั้นเป็นชื่อรุ่นเครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 Liberator สร้างโดยสหรัฐอเมริกา ฐานทัพของกองทัพอากาศอังกฤษนั้นตั้งอยู่ในประเทศอินเดียและศรีลังกา การบินมาทิ้งระเบิดที่ประเทศไทยเครื่องบินจำเป็นต้องเดินทางเป็นระยะทางไปกลับกว่า ๒,๐๐๐ ไมล์ (มากกว่าระยะบินจากลอนดอนไปทิ้งระเบิดเบอร์ลินที่มีระยะทางไปกลับเพียงแค่ ๑,๒๐๐ ไมล์ - ดูย่อหน้า ๑๖๘ หน้า ๒๑๔๐) ระยะทางนี้ก็เรียกได้ว่าใกล้จะสิ้นสุดระยะทำการของเครื่อง Liberator แล้ว ซึ่งได้ทำการบินโจมตียัง อ่าวบ้านดอนที่คอคอดกระ ชุมทางรถไฟที่ชุมพร และกรุงเทพ (ย่อหน้าที่ ๑๖๖ และ ๑๖๘) และในวันที่ ๕ มิถุนายน ก็ได้บินโจมตีไกลถึงสถานรถไฟที่สุราษฎร์ธานี (ย่อหน้าที่ ๑๗๑)
 
 รูปที่ ๑

รูปที่ ๒





รูปที่ ๓ การทิ้งระเบิดเรือสินค้าความยาว 250 ft ที่อ่าวสัตหีบ คำบรรยายรูปมีดังนี้ "A 250-foot merchant vessel on fire and sinking after a direct hit by Consolidated Liberators of No. 356 Squadron RAF, during a daylight raid on Japanese shipping in the naval anchorage at Satahib Bay, Thailand.



รูปที่ ๔ การทิ้งระเบิดท่าเรือที่สงขลา แต่ก่อนนี้เรามีทางรถไฟจากหาดใหญ่แยกไปสงขลา ดังนั้นของที่ขึ้นจากเรือที่สงขลาจึงสามารถลำเลียงสู่พม่าตามเส้นทางรถไฟได้ คำบรรยายรูปมีดังนี้ "Low-level oblique photograph showing godowns on fire by the harbour side at Singora, Thailand, during a raid by Consolidated Liberators of No. 231 Group.

วันอาทิตย์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ณ ที่แห่งนี้ เคยมีโรงพัก (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๖๗) MO Memoir : Sunday 18 May 2557

ช่วงที่หายหน้าไปก็มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมเยียนบ้านเกิดของคุณแม่ที่จังหวัดพัทลุง ในช่วงที่ขับรถกลับก็มีโอกาสคุยกันถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบ ๔๐ ปีที่แล้ว (จำไม่ได้แน่ชัดว่าเกิดเมื่อใด แต่ถ้านับจากปัจจุบันก็เกินกว่า ๓๐ แต่ไม่ถึง ๔๐ ปีแน่)
  
แนวถนนสาย ๔๑ เดิมนั้นไม่ได้ตัดตรงเหมือนปัจจุบัน แต่จะเลี้ยวเข้าแวะตามอำเภอต่าง ๆ ระหว่างทาง เรียกว่าถนนไปถึง ชุมชนก็เจริญ ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังกว่าชุมชนไหนอยากให้ถนนผ่านใกล้บ้านตัวเอง เพื่อที่จะได้เดินทางได้สะดวก ก็จะบริจาคที่ดินให้ตัดถนนผ่าน รัฐก็ประหยัดค่าเวนคืนที่ดิน แต่คนเดินทางไกลต้องเดินทางคดเคี้ยวไม่น้อย แต่ในยุคสมัยนั้น ถ้าจะเดินทางไกลกันจริง ๆ แล้ว ในพื้นที่ที่มีรถไฟผ่านก็มักจะใช้รถไฟมากกว่า ภาคใต้ฝั่งตะวันออกก็เช่นเดียวกัน มีการวางรถไฟวิ่งผ่าน พอจะตัดถนนลงใต้ ก็เลยตัดจากชุมพรไปทางระนอง 
 
รูปที่ ๑ ทางหลวงสาย ๔๑ จากทุ่งสงก่อนเข้าพัทลุง เส้น ๔๐๔๘ คือแนวเส้นถนนเดิมที่มุ่งเข้าตัวจังหวัด ส่วนแนวเส้นปัจจุบันเป็นแนวเส้นตัดใหม่ โดยเยื้องออกมาทางด้านตะวันตกของเส้นเดิม ตำแหน่งที่เป็นดาวแดงคือตำแหน่งที่เคยมีโรงพัก
  
แนวถนนเพชรเกษมจากชุมพรก็จะเลียบฝั่งตะวันตกไปจนถึงตรัง ก่อนวกกลับมายังฝั่งตะวันออกที่พัทลุง เส้นทางสาย ๔๐ ที่เชื่อมชุมพรกับพัทลุงนั้นสร้างกันภายหลัง แต่ก่อนใครจะใช้รถเดินทางไปยังสุราษฎร์ธานี ก็ต้องขับรถไปที่ตะกั่วป่าก่อน จากนั้นจึงค่อยตัดกลับมายังสุราษฎร์ธานี ถ้าจะไปนครศรีธรรมราช ก็ต้องเดินทางไปยังตรังก่อน จากนั้นจึงค่อยวกย้อนขึ้นมายังทุ่งสง แล้วค่อยตรงไปยังนครศรีธรรมราช ถ้าใครอยากเดินทางแบบสบาย ๆ ไปยังภูเก็ต ก็ต้องนั่งรถไฟสายใต้ไปบัตเตอร์เวิอร์ธก่อน จากนั้นจะลงเรือไปปีนังหรือย้อนกลับมายังภูเก็ตก็ตามแต่
  
ที่นี้พอคนเริ่มใช้รถเดินทางมากขึ้น จากชุมชนที่เคยดีใจว่ามีถนนเข้าถึง กลายเป็นการจราจรที่หนาแน่นจนถนนชุมชมเดิมรองรับไม่ไหว ก็เริ่มมีการพิจารณาปรับแนวถนนเดิมให้ตรงขึ้นและหลีกเลี่ยงเข้าชุมชน ตัวอย่างเช่นเส้นทางจากพัทลุงไปยังหาดใหญ่ (ที่ยกตัวอย่างเส้นนี้เพราะเคยใช้เดินทางตั้งแต่เป็นเด็ก) แต่เดิมนั้นจะต้องผ่าน อ.รัตภูมิ ก่อนเข้าหาดใหญ่ แต่พอตัดใหม่ทำให้ไม่ต้องผ่าน อ.รัตภูมิ โดยตรงไปหาดใหญ่ได้เลย 
   
ผลที่ตามมาก็คือปัจจุบันแนวถนนตัดใหม่ก็มีการขยายช่องทางเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่แนวถนนเดิมก็ยังคงอยู่ในสภาพเดิม คือยังเป็นถนนสองช่องทางจราจรรถวิ่งสวนกัน ถูกลดฐานะเป็นถนนเลข ๔ หลัก เลี้ยวคดผ่านไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ที่ชาวบ้านเขาบริจาคที่ดินให้ตัดถนน ทุกครั้งที่มีโอกาสเดินทางผ่านถนนเหล่านี้ที่เคยนั่งรถผ่านเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีที่แล้ว ก็ยังได้บรรยากาศการเดินทางเหมือนเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีก่อนนั้น
ในสมัยที่ยังมีการสู้รับกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยนั้น เส้นทางสายใต้ตั้งแต่ชุมพรลงไปเรียกได้ว่าเป็นเส้นที่อันตราย เพราะทั้งสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง ต่างเป็นพื้นที่สีแดง พูดให้ง่าย ๆ ให้เห็นภาพก็คือรัฐมีอำนาจในตอนกลางวัน ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์มีอำนาจในตอนกลางคืน ถ้าอยู่นอกตัวเมือง พอตกค่ำทีก็ปิดบ้านและเก็บตัวอยู่ในบ้านกันหมด
รูปที่ ๒ ถ้าขับรถตามสาย ๔๑ มุ่งหน้าไปทุ่งสงออกมาจากแยกบรรจบถนนเพชรเกษม พอเลยจุดบรรจบสาย ๔๐๔๘ (ที่อยู่ทางด้านขวา) มาเล็กน้อย ก่อนจะถึงปั๊มน้ำมันและวัดทุ่งขึงหนัง จะมีที่ว่างอยู่พื้นที่หนึ่ง เป็นที่ราชพัสดุ ตำแหน่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของสถานีตำรวจ ก่อนที่จะถูกโจมตีและเผาทำลายด้วยผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) เมื่อเกือบ ๔๐ ปีที่แล้ว และหลังจากนั้นก็ไม่เคยมีการสร้างโรงพักขึ้นทดแทนอีกเลย
  
บ้านเก่าของคุณแม่ผมที่ทุ่งขึงหนังก็อยู่ในเขตพื้นที่สีแดงเช่นเดียวกัน ตอนเด็ก ๆ ไปอยู่ที่นั่นก็ไม่ค่อยรู้เรื่องราวอะไร รู้แต่ว่าหัวค่ำเคยช่วยคุณยายเรียงมะม่วงใส่ถังก่อนที่จะบ่ม และนำไปขายในตลาดตอนเช้า เคยช่วยคุณตาอาบน้ำให้หมูในคอกพร้อมกับการล้างคอกด้วยการใช้สายยางฉีด (สนุกกันแบบเด็ก ๆ) หรือไม่ก็ไปคุ้ยฟางในเล้าเพื่อเก็บไข่ไก่และไข่เป็ด หัดปั่นจักรยานสองล้อเป็นก็ที่นั่น โทรทัศน์ตอนนั้นมีให้ดูได้เพียงแค่ช่องเดียวคือช่อง ๑๐ หาดใหญ่ (เสาส่งอยู่ห่างไปกว่า ๑๐๐ กิโลเมตร) บ้านที่อยู่ในจังหวัดรอบ ๆ จึงต้องมีเสาโทรทัศน์ที่สูงและมี Booster ช่วยขยายสัญญาณ จึงจะพอดูโทรทัศน์ได้

แต่มีสิ่งหนึ่งที่ได้มีโอกาสได้เห็นและยังคงความประทับใจมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือ ท้องฟ้าที่มืดมิดที่มองเห็นทางช้างเผือกได้ชัดเจน
รูปที่ ๓ ภาพอีกมุมหนึ่งของพื้นที่ดังกล่าว

ระหว่างจังหวัดตรังกับพัทลุงจะมีแนวภูเขาที่ทอดต่อยาวในทิศทางเหนือใต้ แนวภูเขานี้เป็นแนวเดียวที่ทอดยาวจากมาเลเซียต่อไปยังแม่ฮ่องสอนและเลยเข้าไปในพม่า แต่บริเวณที่คั่นระหว่างตรังกับพัทลุงนั้นชาวบ้านเรียกว่าเทือกเขาบรรทัด ถนนเพชรเกษมช่วงที่เชื่อมระหว่างตรังกับพัทลุงที่ต้องข้ามเขานั้นคดไปคดมามากจนขนานนามกันว่า "เขาพับผ้า" คือเขาเปรียบเสมือนผ้าที่พับทบซ้อนกันไว้หลาย ๆ ชั้น ปัจจุบันเส้น "เขาพับผ้า" นี้ก็กลายเป็นอดีตไปแล้ว แต่ถ้าเหลือบมองข้างทาง ก็ยังอาจเห็นซากถนนแนวเก่าอยู่เป็นบางช่วง บริเวณแนวเทือกเขาบรรทัดนี้เคยเป็นฐานที่มั่นสำคัญของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่ปฏิบัติการในเขตจังหวัดพัทลุง
  
"คอมมิวนิสต์ไม่มีหรอก" คุณน้าคนหนึ่งของผมเคยเล่าให้ผมฟัง ในระหว่างเขาขับรถพาผมชมภูมิประเทศด้านทิศตะวันตกของจังหวัดพัทลุง ชาวบ้านในพัทลุงยุคนั้นอยู่กันอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิลำเนาค่อนไปทางเทือกเขาบรรทัด ถูกเพ่งเล็งทั้งจากทางฝ่าย ผกค. ว่าเป็นพวกเจ้าหน้าที่ และถูกเพ่งเล็งจากทางเจ้าหน้าที่ว่าเป็นผู้ให้การสนับสนุน ผกค. ที่แย่ก็คือปฏิบัติการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐในการจัดการกับชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยต้องหนีไปพึ่งพรรคคอมมิวนิสต์ ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้มีแนวคิดทางการเมืองเช่นนั้น เพียงแต่ต้องการความปลอดภัยและแก้แค้นเจ้าหน้าที่รัฐ
 
ความโหดร้ายทารุณของเจ้าหน้าที่รัฐในจังหวัดพัทลุงในยุคนั้นมีมากแค่ไหน ลองใช้คำว่า "ถังแดง" หาใน google ดู ก็จะทราบได้เอง

บนถนนฝั่งตรงข้ามเยื้องกับบ้านของคุณตาคุณยายของผมไปไม่มาก เคยเป็นที่ตั้งของสถานีตำรวจ ไปใต้ครั้งนี้ก็ได้แวะไปหยุดยืนที่บริเวณนั้นอีกครั้ง เลยได้ถามญาติ ๆ ที่อยู่แถวนั้นเกี่ยวกับเหตุการณ์เผาโรงพัก ตอนขับรถกลับคุณแม่เล่าให้ฟังว่า (ช่วงเกิดเหตุนั้นครอบครัวผมอยู่กรุงเทพ) คืนนั้นมีกลุ่มผู้ก่อการร้ายบุกไปที่บ้านน้องชายของคุณยายก่อน มีการเจรจาอะไรกันบ้างก็ไม่รู้ชัด ดูเหมือนจะเป็นทำนองว่าจะมายิงน้องชายของคุณยาย เพราะเขาเป็นตำรวจ แต่พอไม่เจอตัวก็เลยเปลี่ยนเป็นบุกโจมตีโรงพักแทน เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำโรงพักสู้ไม่ได้ ต้องยอมวางอาวุธ ฝ่ายผู้ก่อการร้ายก็ลำเลียงเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บมาวางไว้นอกโรงพัก ก่อนเผาโรงพักทิ้งและจากไป ญาติของคุณแม่ผมท่านหนึ่งมีศักดิ์เป็นน้าของผมก็เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ผู้บาดเจ็บในเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย

และนับตั้งแต่คืนนั้นเป็นต้นมา สถานที่แห่งนั้นก็ไม่เคยมีการสร้างสิ่งก่อสร้างใดอีกเลย

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๕ (ตอนที่ ๓๖) MO Memoir : Sunday 19 May 2557

เอกสารฉบับนี้แจกจ่ายเป็นการภายใน ไม่นำเนื้อหาลง blog

วันพุธที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เพื่อความไม่ปลอดภัยของผู้ใช้ทางเท้า MO Memoir : Wednesday 14 May 2557

อาคารที่เขากำลังปรับปรุงมันก็ไม่ได้อยู่ติดทางเท้า แต่ทางผู้รับเหมาเขาต้องการพื้นที่เพื่อการทำงาน เขาก็เลยมีการกั้นรั้ว ด้านหนึ่งเขากั้นรั้วออกมาจนสุดขอบสนามหญ้าถึงขอบทางเท้า แต่อีกด้านหนึ่งนั้นเขากั้นออกมาจนถึงขอบถนน
  
ทีนี้ถนนตรงนี้มันก็เล็ก แค่พอรถวิ่งสวนทางกันได้ และทางเท้าฝั่งนี้ก็เป็นเส้นทางหลักเส้นทางหนึ่งที่คนจำนวนไม่น้อยใช้เป็นเส้นทางเดินจากประตูทางเข้ามหาวิทยาลัย พอเดินมาจนถึงตรงหัวมุมนี้ ก็ต้องเดินข้ามถนนไปยังอีกฝั่งหนึ่ง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ มันมองไม่เห็นรถที่วิ่งมาจากทางขวามือ


อันที่จริงผมว่าการกั้นรั้วมุมนี้เขาไม่จำเป็นต้องกั้นออกมาจนถึงขอบหัวมุมถนนดังรูป น่าจะมีการปาดหลบมุมหน่อย เพื่อให้คนเดินเท้าสามารถมองเห็นว่ามีรถวิ่งมาทางด้านขวามือหรือไม่ และยังทำให้ผู้ขับรถสามารถมองเห็นด้วยว่าจะมีคนโผล่ออกมาจากทางด้านซ้ายมือหรือไม่ หรือไม่ก็ลดความสูงของรั้วให้เตี้ยลงให้คนเดินเท้าสามารถมองข้ามไปได้

เห็นช่วงนี้เขากำลังมีการก่อสร้างซ่อมแซมอะไรต่อมิอะไรหลายอย่าง ล่าสุดดูเหมือนจะเป็นพื้นถนนและท่อระบายน้ำของถนนรอบ ๆ ด้านหน้ามหาวิทยาลัย เช้านี้เดินผ่านเห็นเขาเริ่มเอารถมาทุบพื้นถนนออกแล้ว ก็เลยหยุดถ่ายรูปเก็บเอาไว้เป็นที่ระลึกสักหน่อย (รูปในหน้าถัดไป) ว่าในยุคสมัยหนึ่งถนนหนทางในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร ส่วนเมื่อทำการปรับปรุงเสร็จแล้วจะมีหน้าตาออกมาเป็นอย่างไรนั้นก็ไม่รู้เหมือนกัน คงต้องคอยดูกันต่อไป




หายหน้าไปหลายวันก็ได้ไปเห็นการเปลี่ยนแปลงและประสบการณ์อะไรต่อมิอะไรหลายอย่าง เอาไว้จะค่อย ๆ นำมาเขียนเล่าสู่กันฟัง วันนี้เริ่มด้วยเรื่องเบา ๆ ก่อน เพื่อให้รู้ว่ากลับมาแล้ว

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เก็บตกจากงานก่อสร้างอาคาร (ตอนที่ ๒) MO Memoir : Thursday 8 May 2557

วันก่อนได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมงานก่อสร้างอาคารแห่งหนึ่ง ก็เลยถือโอกาสถ่ายรูปมาให้ดูกัน เพื่อจะได้รู้จักว่าในงานก่อสร้างนั้นมีอะไรบ้าง แม้ว่าในสาขาวิชาชีพของเรานั้น เรื่องเหล่านี้มันไม่อยู่ในหลักสูตร แต่บ่อยครั้งที่เราต้องไปเจอกับมันในชีวิตจริง

. Cat walk

Cat walk ในที่นี้ไม่ใช่ทางเดินสำหรับแมว แต่เป็นสำหรับคน และไม่ใช่สำหรับให้นางแบบนายแบบเดิน แต่สำหรับให้ช่างซ่อมบำรุงเป็นคนเดิน
  
ในอาคารหรือห้องปฏิบัติการหลายแห่งนั้น ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ จะเดินอยู่สูงจากพื้น โดยอยู่ใต้เพดาน และอาจมีฝ้าเพดานปิดเอาไว้เพื่อความสวยงาม หรือไม่มีก็ได้ ขึ้นอยู่กับการออกแบบ ระบบสาธารณูปโภคเหล่านี้อาจเป็น ท่อแอร์ ท่อน้ำ ท่อไอน้ำ ท่อร้อยสายไฟ ระบบไฟแสงสว่าง ท่อไอน้ำ รางวางสายไฟ สายโทรศัพท์ ฯลฯ
  
ระบบสาธารณูปโภคเหล่านี้ต้องการการบำรุงรักษาเป็นระยะ การที่จะรื้อฝ้าเพดานหรือออกแบบให้ฝ้าเพดานรับน้ำหนักคนเดินได้นั้นเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมในทางปฏิบัติ เพราะจะไปรบกวนการทำงานของห้องที่อยู่ใต้ฝ้านั้นและทำให้ฝ้ากลายเป็นพื้นอาคารไปอีกชั้น วิธีการที่เหมาะสมกว่าในทางปฏิบัติคือการทำทางเดินเล็ก ๆ อยู่เหนือฝ้าเพดานนั้น ทางเดินนี้เรียกว่า "Cat walk"

รูปที่ ๑ ที่เห็นเป็นรางในภาพที่มีลูกศรสีเหลืองกำกับคือโครงสร้างที่ช่างกำลังขึ้นรูปเพื่อใช้เป็น Cat walk เหนือฝ้าเพดาน เพื่อไว้สำหรับช่างซ่อมบำรุงใช้เป็นทางเดินในการตรวจซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภค
  
. Pipe support

Pipe support เป็นโครงสร้างรองรับท่อ ทำหน้าที่ยกท่อให้สูงขึ้นจากพื้น pipe rack เพื่อให้สามารถหุ้มฉนวนรอบตัวท่อได้ ท่อนั้นอาจเพียงแค่วางอยู่บน ถูกตรึง (ไม่ให้มีการขยับในแนวแกนและทางด้านข้าง) หรือเพียงแค่ป้องกันไม่ให้มีการเคลื่อนตัวทางด้านข้าง (แต่ให้ขยับได้ตามแนวความยาว) แต่ที่เห็นกันประจำคือสำหรับท่อที่มีการยืดหดตัวค่อนข้างมากเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ท่อเหล่านี้มักจะไม่ยึดตรึงแน่นกับ pipe rack ไว้ทุกตำแหน่ง อาจทำแค่บางตำแหน่งเท่านั้น แต่จะปล่อยให้ท่อยืด-หดได้ในแนวความยาวตามการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ

รูปที่ ๒ ตัวอย่างการวางท่อบน pipe rack สำหรับท่อที่ไม่ต้องมีการหุ้มฉนวนนั้นอาจวางแบบวางลงบน pipe rack โดยตรง โดยอาจมีการยึดตรึงเข้ากับ pipe rack ในบางตำแหน่งด้วย U-Bolt (2) แต่สำหรับท่อที่มีการหุ้มฉนวนนั้นจะไม่วางลงบน pipe rack โดยตรง แต่จะมีการใช้เหล็กตัว T เชื่อมติดกับท่อ (3) เพื่อให้ท่อยกตัวสูงขึ้นตามความหนาของฉนวนที่จะทำการหุ้ม โดยในกรณีของท่อประเภทนี้มักจะมีการยืด-หดตามการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ดังนั้นจะไม่มีการยึดท่อให้ติดแน่นกับ pipe rack แต่จะมีการสร้างขอบประคองเอาไว้ไม่ให้ท่อเคลื่อนตัวได้ทางด้านข้าง ด้วยการเชื่อมเหล็กประกบกับฐานของ pipe suppport อีกที โดยไม่ได้เป็นการประกบติดแน่น (4)
  
รูปที่ ๓ ตัวอย่างการวางท่อบน pipe rack

รูปที่ ๔ ในกรอบสีเขียวคือรอยเชื่อมเหล็กที่ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ฐานของ pipe support มีการเคลื่อนตัวทางด้านข้าง การทำเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องทำทุกตำแหน่งที่ pipe support วางบน pipe rack ทำเพียงแค่บางตำแหน่งก็พอ พึงสังเกตรอยเชื่อมเหล็กตัว T เข้ากับท่อ (ลูกศรสีเหลือง) เขาจะไม่เชื่อมเป็นแนวยาวแนวเดียวตลอดทั้งแนว แต่จะเชื่อมแล้วเว้นห่างเป็นช่วง ๆ

รูปที่ ๕ ที่ pipe rack ตัวนี้ pipe support จะวางอยู่บน pipe rack โดยไม่มีการเชื่อมเหล็กป้องกันไม่ใช้ pipe support เคลื่อนที่ในแนวข้าง พึงสังเกตว่าความยาวของเหล็กตัว T ที่เป็น pipe support นั้นจะยาวกว่าความกว้างของเหล็กที่ใช้ทำ pipe support อยู่มาก เพราะเมื่อท่อมีการขยายตัว pipe support จะมีเคลื่อนที่ตามการขยายตัวของท่อไปด้วย จึงต้องเผื่อความยาวเอาไว้เพื่อไม่ให้ตกจาก pipe rack

. ท่อมีตะเข็บ

ท่อเหล็กส่วนใหญ่ที่ใช้กันทั่วไปนั้นมักขึ้นรูปด้วยการนำเหล็กแผ่นมาม้วนเป็นรูปท่อ แล้วทำการเชื่อมตรงจุดบรรจบ ท่อแบบนี้เรียกว่าท่อแบบ "มีตะเข็บ (weld seam pipe)" แต่สำหรับท่อที่ใช้งานเพื่อรับความดันสูงนั้นจะขึ้นรูปจากแท่งเหล็กที่ร้อน นำมาทะลวงและรีดให้เป็นท่อที่มีขนาดตามต้องการ ท่อแบบนี้เรียกว่า "ท่อไม่มีตะเข็บ (seamless pipe)"
  
ท่อแบบมีตะเข็บนั้นจะถูกขัดรอยเชื่อมด้านนอกให้เรียบ บางครั้งมีการทาสีหรือชุบสังกะสีเอาไว้อีก ทำให้สังเกตเห็นรอยเชื่อมได้ยากหรือมองไม่เห็น แต่รอยเชื่อมดังกล่าวยังปรากฏชัดอยู่ทางด้านในท่อ
  
รูปที่ ๖ แนวเส้นสีเหลืองคือแนวรอยเชื่อมเหล็กแผ่นที่นำมาม้วนเป็นท่อ

. ฐานแผ่ (Spread footing)

ใน Memoir ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๗๗๓ วันพุธที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๗ เรื่อง "เก็บตกจากงานตอกเสาเข็ม" นั้น ผมได้เกริ่นถึงฐานรากอาคารชนิดฐานแผ่ไปแล้ว วันก่อนมีโอกาสเดินผ่านอาคารที่สร้างอยู่บนฐานแผ่ก็เลยถือโอกาสถ่ายรูปมาให้ดูกัน
  
ฐานแผ่นของอาคารนี้สร้างโดยขุดดินลงไปจนถึงชั้นที่ดินไม่ทรุดตัว จากนั้นจึงหล่อฐานแผ่และเสาขึ้นจากระดับชั้นดินนั้น แต่เมื่อทำฐานเสร็จแล้วเขาไม่ได้ฝังกลบฐานแผ่นั้น เพราะต้องการให้มีที่ว่างข้างใต้พื้นอาคารชั้นล่าง เพื่อเอาไว้สำหรับการซ่อมแซมและบำรุงรักษาระบบท่อน้ำทิ้งต่าง ๆ
  
รูปที่ ๗ แนวเส้นสีเหลืองคือ "ฐานแผ่" เสาอาคารตั้งอยู่บนฐานแผ่นี้ ใต้ฐานแผ่นี้ไม่มีเสาเข็มรองอยู่ข้างใต้
  
หลังจาก Memoir ฉบับนี้ผมจะหายหน้าไปสักพัก ขอเวลาไปพักผ่อนหลบร้อนกับเขาบ้าง :)

วันอังคารที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ตำลึง ไม้เลื้อย ตำแยแมว MO Memoir 2557 May 6 Tue

ธรรมชาตินั้นมีการพึ่งพากัน ไม้เลื้อยจะอาศัยไม้ยืนต้นในการไต่ตัวเองขึ้นไปรับแสงแดด แต่ในขณะเดียวกันไม้เลื้อยก็ช่วยพันกิ่งต่าง ๆ ของไม้ยืนต้น ทำให้กิ่งของไม้ยืนต้นไม่หักโค่นง่าย ๆ เวลาที่มีลมพัดแรง แต่ถ้าไม้เลื้อยมันงอกงามดีเกินไป ไม้ยืนต้นก็แย่เหมือนกัน เพราะใบของไม้เลื้อยจะไปบังแดดหมด ทำให้ใบของไม้ยืนต้นไม่ได้รับแสงแดด บางนี้น้ำหนักของไม้เลื้อยยังไปกดกิ่งอ่อนของไม้ยืนต้น ทำให้กิ่งของไม้ยืนต้นโน้มลงล่างแทนที่จะชูขึ้นบน

รูปที่ ๑ เถาต้นตำลึงตัวผู้ (ลูกศรสีเหลืองขี้) เลื้อยขึ้นไปพันต้นทับทิมจนบังแดดต้นทับทิมไว้หมด เลยต้องรื้อลงมาบ้าง
   
รอบ ๆ บ้านมีไม้เลื้อยขึ้นอยู่หลายพันธุ์ มีทั้งตั้งใจปลูก (เช่นพืชผักสวนครัว) และที่มันขึ้นมาของมันเอง (ไม่รู้เหมือนกันว่ามาได้อย่างไร) บางพันธุ์ก็มีชีวิตอยู่แค่ชั่วคราว พอออกผลได้ไม่นานก็ตายไป แต่บางพันธุ์ก็งอกงามโตขึ้นเรื่อย ๆ ที่บ้านไม้เลื้อยที่เก็บมากินเป็นประจำเห็นจะได้แก่ตำลึง
  
ตำลึงนั้นเราเอายอดอ่อนและใบอ่อนมากินกัน (ที่เห็นทำกันมากที่สุดคือแกงจืดหมูสับตำลึง) จนอาจทำให้บางคนคิดว่าต้นตำลึงเป็นแค่เถาเล็ก ๆ แบบที่เราเอามากิน ต้นตำลึงนั้นถ้าปล่อยไว้ให้มันโตไปเรื่อย ๆ ต้นมันก็โตไปได้เรื่อย ๆ เช่นกัน อย่างเช่นต้นที่บ้านของผม ปล่อยให้มันโตไปเรื่อย ๆ อยู่ราว ๆ ประมาณ ๒ ปี ก็ได้ต้นขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ เซนติเมตร (รูปที่ ๑) จากลำต้นใหญ่นี้มันก็มีการแตกยอดอ่อนเลื้อยออกไปทางด้านข้างอีก
  
ตำลึงเองนั้นเขายังแบ่งออกเป็นอีก ๒ พวกคือ "ตำลึงตัวผู้" กับ "ตำลึงตัวเมีย" สองพันธุ์นี้มีลักษณะใบที่แตกต่างกัน ส่วนที่ว่ามันแตกต่างกันอย่างไรนั้นก็ลองดูในรูปที่ ๒ เอาเองก็แล้วกัน ใบของตำลึงตัวเมียนั้นเรานำมาใช้เป็นอาหาร ส่วนใบของตำลึงตัวผู้นั้นก็กินได้เช่นเดียวกัน แต่เขาว่ามันมีฤทธิ์เป็นยาระบาย ดังนั้นถ้ากินไปมาก ๆ ก็เตรียมถ่ายท้องได้


รูปที่ ๒ ใบต้นตำลึงตัวผู้และต้นตำลึงตัวเมีย ที่เลื้อยไปตามพื้นดินรอบ ๆ บ้าน ใบของตำลึงตัวผู้จะมีลักษณะเป็นแฉกที่มากกว่าใบของตำลึงตัวเมีย

ลำต้นของไม้เลื้อยนั้นแม้ว่าดูเหมือนว่ามันจะบอบบาง แต่มันก็เหนียวเหมือนกัน เวลาที่มันพันรอบไม้ยืนต้นแล้วพอกิ่งหรือลำต้นของไม้ยืนต้นมันโตขึ้น (ในขณะเดียวกันเถาของไม้เลื้อยมันก็โตตามไปไปด้วย) ลำต้นของไม้ยืนต้นเองจะไม่ขยายตัวจนดันให้เถาของไม้เลื้อยขาด แต่จะเติบโตหลบตำแหน่งที่ไม้เลื้อยนั้นพันอยู่ ทำให้เกิดเหมือนเป็นรอยรัดบนลำต้นของไม้ยืนต้น รูปที่ ๓ ที่เอามาให้ดูนั้นเป็นรอยรัดของต้นอัญชัญที่รัดไปรอบ ๆ ต้นกระถิน กระถินเป็นไม้เนื้ออ่อนและโตเร็ว อัญชัญเป็นไม้เลื้อยที่ปลูกเอาไว้เพื่อให้มันออกดอกล่อแมลงและเป็นไม้ประดับ ในขณะเดียวกันมันก็ยังเป็นพืชสมุนไพรดอกอัญชัญเองก็สามารถนำมาทำเป็นน้ำอัญชัญได้
  

รูปที่ ๓ ต้นอัญชัญเลื้อยไปพันต้นกระถิน เถาอัญชัญรัดซะต้นกระถินเป็นร่องบนลำต้นเลย

พืชอีกพันธุ์หนึ่งที่มันงอกโผล่มาเองรอบ ๆ บ้านโดยที่ไม่รู้ว่ามันมาได้อย่างไรคือต้น "ตำแยแมว" (รูปที่ ๔) ต้นตำแยแมวนี้เขาว่าเป็นวัชพืชอย่างหนึ่ง แต่มันก็มีฤทธิ์ทางเป็นสมุนไพรเหมือนกัน ส่วนมันจะมีฤทธิ์อย่างไรบ้างสำหรับคนนั้นก็ลองค้นจาก google เอาเองก็แล้วกัน แต่ที่ยกมาเล่าในวันนี้เพราะเช้าวันนี้หลังจากตัดกิ่งไม้และวัชพืชที่ขึ้นอยู่ตามพื้นมากองเอาไว้ที่ลานหน้าบ้าน ก็มีแมวโผล่มาด้อม ๆ มอง ๆ เหมือนจะหาอะไรกิน
  
ตอนนี้ที่บ้านผมไม่ได้เลี้ยงสัตว์อะไรอย่างเป็นทางการ มีแต่แมวจรจัดจากไหนก็ไม่รู้ มาขอข้าวกินทุกเช้า และมานอนเล่นหน้าบ้านในตอนกลางวัน จนดูเหมือนว่าจะกลายเป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้านไปแล้ว แต่ก็ไม่ยอมให้ใครแตะต้องตัวมัน แรก ๆ ที่มันโผล่มาก็บาดเจ็บมาทุกครั้ง ครั้งหลังสุดหนักสุดเพราะได้แผลลึกที่ขาหน้า มันหายหน้าไปหลายวัน โผล่กลับมาใหม่ก็ซมซานเดินสามขากลับมา เลยต้องพาไปหาหมอ หมอบอกว่าแผลนั้นมันโดนเส้นเลือดพอดี ก็เลยเจ็บหนักหน่อย นี่ก็ผ่านมาหลายเดือนแล้ว ก็ยังเห็นมันยังเดินแบบไม่ค่อยจะลงน้ำหนักไปที่ขาข้างนั้น
  
แมวตัวนี้ลูกสาวคนโตตั้งชื่อมันว่า "หอยหลอด" ตอนแรกคิดว่ามันจะมาชั่วคราวแล้วก็จากไป แต่ตอนนี้ดูเหมือนจะมาขอข้าวเช้า-เย็นกินอย่างเป็นการถาวรแล้ว เช้าวันนี้วัชพืชที่ถอนมานั้นก็มีตำแยแมวติดมาด้วย ลูกสาวคนเล็กก็เลยเอาไปให้เจ้าหอยหลอดมันกิน ตำแยแมวนี้เป็นพืชสมุนไพรสำหรับแมวด้วย โดยแมวจะกินตรงส่วนราก ว่ากันว่าถ้ามีตำแยแมวให้กิน แมวจะกินอย่างเคลิบเคลิ้ม ท่าทางของเจ้าหอยหลอดที่นอนกินรากต้นตำแยแมวเมื่อเช้าก็เป็นเช่นนั้น ก็เลยถ่ายรูปมาให้ดูเล่น

โดยส่วนตัวแล้วผมไม่ค่อยชอบพฤติกรรมแมว แต่เมื่อมีคนในบ้านเขาอยากเลี้ยง ก็เลยต้องปล่อยเลยตามเลย
  
รูปที่ ๔ ต้นตำแยแมวที่ขึ้นกระจายอยู่รอบบ้าน


รูปที่ ๕ เจ้าหอยหลอดกำลังมีความสุขกับการนอนกินรากต้นตำแยแมว

รูปที่ ๖ อีกมุมหนึ่งของความสุขของเจ้าหอยหลอดในการนอนกินรากต้นตำแยแมวที่มีคนถอนมาให้กิน