ตอนที่อ่านมาถึงบทเรื่อง
"เก้งที่ห้วยกระพร้อย"
ก็รู้สึกคุ้นชื่อสถานที่ขึ้นมา
ก็เลยตรวจสอบดูหน่อยว่าใช่ที่เดียวกับอ่างเก็บน้ำห้วยกระพร้อยที่ได้ไปมาเมื่อวันสิ้นปี
๒๕๖๐ ที่ผ่านมาหรือเปล่า
และเมื่อตรวจสอบสถานที่ต่าง
ๆ ที่มีการกล่าวถึงในหนังสือกับแผนที่ปัจจุบัน
ก็เชื่อได้ว่าเป็นสถานที่เดียวกัน
หนังสือ
"ป่าสมิง"
ที่เขียนโดยนักเขียน
ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์
เล่มนี้ซื้อมาจากงานสัปดาห์หนังสือเมื่อเดือนมีนาคม
๒๕๕๘ นักเขียนท่านนี้ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่
ก็จะมีอายุครบรอบ ๑๐๐
ปีในเดือนหน้า
วันนี้ก็เลยลองขอแกะรอยสถานที่ต่าง
ๆ ที่มีการกล่าวไว้ในหนังสือเล่มนั้น
เทียบกับแผนที่ปัจจุบันจาก
google
map
ผมไป
อ.
บ่อพลอย
จ.
กาญจนบุรี
ครั้งแรกก็น่าจะเมื่อกว่า
๒๐ ปีที่แล้ว ตอนนั้นไปธุระกับญาติที่ห้วยกระเจา
เห็นว่ายังพอมีเวลาอยู่ก็เลยขับรถต่อไปยังถ้ำธารลอด
จำได้แต่เพียงว่าถ้ำธารลอดตอนนั้นยังไม่มีทางเดินแบบในปัจจุบันที่เดินได้อย่างสบาย
ต้องเดินลุยน้ำเข้าไป
แผนที่การเดินทางครั้งนั้นก็มีแค่แผนที่ทางหลวงประเทศไทยของ
Esso
ฉบับเดียว
ไปถ้ำธารลอดอีกทีก็เมื่อวันสิ้นปีที่ผ่านมา
ครั้งนี้แตกต่างไปจากครั้งที่แล้วมาก
เพราะมี GPS
คอยบอกตำแหน่งว่าขับมาถึงไหนแล้ว
แถมยังสามารถดูแผนที่ได้จากโทรศัพท์มือถืออีกว่ามีเส้นทางไหนเป็นเส้นทางลัดบ้าง
แต่ถึงกระนั้นก็ยังพบว่า
google
map ก็ไม่ได้ถูกต้องเสมอไป
เพราะตรงห้วยกระพร้อยนั้นตอนนี้มันเป็นอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำเต็มอ่าง
แต่ในแผนที่ยังคงเป็นไร่
โดยอ่างเก็บน้ำเพิ่งจะเริ่มก่อสร้าง
มาวันนี้จะลองใช้หนังสือเล่านี้เป็นหลัก
เทียบกับแผนที่ google
map ในปัจจุบัน
เพื่อที่จะตามรอยผู้เขียน
(ในที่นี้หมายถึงคุณ
ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์)
ว่าเดินทางผ่านถิ่นใดบ้าง
และสภาพภูมิประเทศของเส้นทางในยุคสมัยนั้นเป็นอย่างไร
ข้อความสีน้ำเงินคือข้อความที่คัดมาจากหนังสือ
"ข้าพเจ้า"
ในข้อความดังกล่าวก็คือตัวผู้เขียน
...
ป่าสูงที่เราจะมุ่งหน้าเข้าไปนี้
ไม่มีคณะนิยมไพรคณะใดเข้าไปกันเลย
...
ในบท
"เตรียมผจญภัย"
ผู้เขียนเล่าถึงจุดหมายปลายทางที่จะเดินทางไป
ตามเนื้อเรื่องนั้นการเตินทางเกิดขึ้นในช่วงปลายฤดูหนาว
คือปลายเดือนกุมภาพันธ์ต่อต้นเดือนมีนาคม
เสียดายที่ไม่มีรายละเอียดว่าเป็นช่วงปี
พ.ศ.
ใด
รู้แต่ว่าออกจากกรุงเทพตอนตี
๕ วิ่งไปตามถนนเพชรเกษม
ผ่านสะพานโพธิ์แก้ว
(คิดว่าคงเป็นสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีนที่
อ.
สามพราน)
ก็สามารถไปถึง
อ.
ท่าม่วง
จ.
กาญจนบุรีได้ตอน
๗ โมงเช้า
เป็นเวลาที่ตลาดท่าม่วงเต็มไปด้วยผู้คนที่มีจับจ่ายซื้อสิ่งของ
...
สภาพของพื้นดินที่เราผ่านเข้าไปนั้นบอกให้รู้ว่า
มันเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยความกันดารอย่างยิ่งยวด
และร้องแรงแห้งเกรอะมาเป็นเวลานานทีเดียว
เราเห็นต้นหญ้าที่ถูกห่อหุ้มด้วยฝุ่นสีแดงจับเขรอะอยู่ทั่วไป
ใบของมันก็แสดงความอับเฉาและกร้านเกรียน
สีเขียวที่ยังเห็นอยู่นั้นอาศัยจากหยาดน้ำค้างประพรมในตอนกลางคืนซึ่งคงจะลงหนัก
เป็นการช่วยประคองชีวิตของมันให้ยืนยงคงทนอยู่ได้
...
จากท่าม่วง
ผู้เขียนไม่ได้เล่าอะไรมากนัก
บอกแต่เพียงว่า
"จี๊ปกลางก็ตะบึงลงจากถนนใหญ่วกเข้าไปสู่ถนนดินลูกรังที่จะมุ่งไปสู่ทุ่งนางหลอก
และลำตะเพินนั้นคลุ้งไปด้วยฝุ่นแดง"
และเรื่องก็ดำเนินเข้าสู่ตอน
"ทุ่งนางหลอก"
และ
"บ่อพลอยเมืองกาญจน์"
"ทุ่งนางหลอก"
ที่กล่าวถึงในหนังสือน่าจะเป็น
"ทุ่งนานางหรอก"
ในปัจจุบัน
เพราะมีการกล่าวถึงการเดินทางข้ามลำน้ำลำตะเพิน
ก่อนจะมุ่งหน้าสู่ "มะสัง"
และ
"หนองกระทุ่ม"
และ
"หนองยั้งช้าง"
และเข้าสู่
อ.
บ่อพลอย
เส้นทางระหว่างหนองกระทุ่มและหนองยั้งช้างนี้ผู้เขียนบรรยายไว้ว่าเป็นที่ราบกว้างและลุ่ม
สามารถปลูกข้าวได้ อนึ่ง
"หนองยั้งช้าง"
ในปัจจุบันดูเหมือนจะเป็น
"หนองย่างช้าง"
ไปแล้ว
เรียกว่าความหมายเป็นคนละเรื่องเลย
จาก "ยั้ง"
ที่หมายความว่าหยุด
กลายมาเป็น "ย่าง"
ที่เป็นการทำให้สุกด้วยการนำเอามาวางไว้เหนือไฟ
...
ข้าพเจ้าได้ชี้แจงความประสงค์ที่ผ่านเข้ามารบกวนโดยจำเป็นจะต้องอาศัยครัวของแกเป็นการชั่วคราวสักมื้อหนึ่ง
หญิงผู้นั้นตอบรับด้วยความเต็มอกเต็มใจและเชื้อเชิญพวกเราให้ขึ้นไปบนบ้านกัน
น้ำใจไมตรีของชาวบ้านในป่าในดงนั้นโอบอ้อมต่ออาคันตุกะของเขายิ่งนัก
ซึ่งในเมืองนั้นมักจะไม่ค่อยพบกับการต้อนรับคนแปลกหน้าในทำนองนี้
...
การเดินทางออกจาก
อ.
บ่อพลอย
ตอน ๗ โมงเช้า อาศัยการขับรถมาตามทางเกวียน
มุ่งหน้าขึ้นเหนือตัดผ่านป่ารวกและป่าไผ่
(บท
"พรานวา-พรานนำ")
มาถึงบ้านลำเหยในตอนบ่าย
เส้นทางบ่อพลอย-บ้านลำเหยนี้ถ้าดูตามถนนปัจจุบันก็น่าจะราว
ๆ ๑๕ -
๒๐
กิโลเมตร เรียกว่าขับรถไปถึงกันได้ในเวลาไม่ถึง
๒๐ นาที แต่ในยุคที่เป็นทางเกวียน
(แถมยังมีการยิงสัตว์เล็กเก็บไว้เป็นเสบียงด้วย)
ก็หมดไปครึ่งวัน
สภาพของหมู่บ้านลำเหยและนิสัยใจคอของชาวบ้านแห่งนั้น
ผู้เขียนได้บรรยายไว้ในตอน
"พรานเยี่ยมแห่งโป่งรี"
ที่ได้คัดส่วนหนึ่งมาแสดงไว้ข้างบน
...
ห่างออกไปเล็กน้อยลำห้วยกว้างพอสมควรมีน้ำใสไหลรินอยู่ตลอดเวลา
ระดับน้ำสูงพอที่จะตักตวงมาใช้ได้อย่างสะดวกสบายไม่ขาดแคนล
เต็นท์ของเราหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
ทางด้านหลังออกไปเป็นเขาลูกเล็ก
ๆ ซึ่งพรานเยี่ยมบอกว่าชื่อ
"เขาจ้าว"
ห้วยที่เราเห็นเคียงข้างเต็นท์นี้มีชื่อว่าห้วยอีซู
...
จากบ้านหนองรี
ในที่สุดคณะผู้เขียนก็เดินทางมาถึงจุดตั้งค่ายบริเวณลำอีซู
(ตอน
"ลำอีซู")
ที่เป็นลำน้ำไหลมาจากทางเขากำแพงที่อยู่ทางทิศตะวันตก
...
เราบุกมาถึงห้วยกระพร้อย
ผ่านไปตามแนวป่าโปร่งชายทุ่ง
พรานวาฉายไปจับตาสัตว์ที่เห็นในระยะไม่ถึง
50
เมตร
"เก้งใหญ่
นาย"
พรานวาบอกพวกเรา
อาจิตเบาเครื่องแล้วคลานเข้าไปจนใกล้
...
ห้วยกระพร้อยตอนนั้นคือบริเวณใดในปัจจุบันคงยากที่จะบอก
เพราะปัจจุบันมีการสร้างเขื่อนขวางกั้นลำน้ำห้วยกระพร้อมกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ
(รูปข้างล่าง
หรือดูได้จากบทความวันอังคารที่
๒ มกราคม ๒๕๖๑ เรื่อง
"อ่างเก็บน้ำห้วยกระพร้อย หนองปรือ กาญจนบุรี")
ป่าโปร่งชายทุ่งในยุคนั้นก็คงเป็นที่ใดที่หนึ่งสักแห่งภายใต้ผืนน้ำในปัจจุบัน
ในหนังสือนี้ผู้เขียนยังได้เล่าถึงการเดินทางไปพบโขลงช้างป่าที่บริเวณหุบเขากำแพง
...
"ใครนะช่างดันออกมาสุ่มปลากลางดึงกลางดื่นอย่างนี้"
ข้าพเจ้าคิดในใจ
"ดีไม่ดีได้โดนเสือเอาไปกิน"
ความคิดของข้าพเจ้ายังไม่ทันจะดำเนินไปกี่มากน้อย
จรวยซึ่งเดินเคียงข้างกับข้าพเจ้าก็ยกปืนขึ้นประทับ
"อย่ายิง
อย่าคุณจรวย"
ดูเหมือนหูของจรวจจะอื้อไม่ได้ยินเสียงปรามของข้าพเจ้า
และสิ่งที่เขาเห็นนั้นย่อมชัดโทนอยู่แล้วว่าเป็นคน
แต่เหตุไฉนเขาจึงประทับปืนไปยังเป้าตรงนั้นอย่างเคร่งเครียด
"นั่นคน-คนสุ่มปลานะ
คุณจรวย"
ข้าพเจ้าแทบหอบด้วยความตระหนกพร้อมกับยึดต้นแขนเขาไว้
ขาดเสียงห้ามของข้าพเจ้า
จรวยก็เหนี่ยวไกปืน
แสงไต้ในมือชายคนนั้นดับวูบลงทันที
...
จากลายพาดกลอนที่หนองว้า
จนมาพบกับ "เสือสมิง"
ที่หนองบัว
ผู้เขียนได้บันทึกตำนานเรื่องเล่าของพรานพื้นเมือง
เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นประมาณสองสามปี
เกี่ยวกับชายรับจ้างตัดไม้ที่ไม่รู้ที่มาที่ไป
ที่วันหนึ่งมาพร้อมกับคณะตัดไม้รวกไม้ไผ่
ที่เพื่อนร่วมคณะรู้แต่ว่าชอบออกไปจับปลาตามหนอง
แล้ววันหนึ่งก็หายไป
เพื่อนร่วมคณะที่ติดตามไปจนถึงบริเวณหนองบัว
พบแต่เพียงแค่สุ่มจับปลาทิ้งกลิ้งอยู่ริมหนอง
และรอยตีนเสือใหม่ ๆ
แต่ปราศจากรอยเลือดหรือรอยลากครูดถ้าหากเสือลากศพไปกิน
...
"อย่ากระนั้นเลย"
อาจิตพูดอย่างเอาการเอางาน
ก่อนจะเดินทางกลับ ยังมีเวลาเหลือ
ขอผมออกไปหนองบัวอีกครั้งจะดีไหม"
ทุกคนมองตากัน
ไม่คิดว่าอาจิตจะมุถึงเพียงนั้น
แต่ความสงสัยที่ติดใจของใครก็ตาม
เมื่อเกิดขึ้นแล้วเขาก็ย่อมจักต้องแก้สงสัยให้ได้
อาจิตก็ปราถนาที่จะกลับไปยังหนองบัวอีกครั้งแม้ว่าจะดึกดื่นค่อนคืน
...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น