วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บัตรประจำตัวนักศึกษาวิชาทหาร กรมการรักษาดินแดน (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๙๓) MO Memoir : Thursday 4 June 2558

สมัยที่ผมเรียนรด. นั้น ก็เรียนตอนชั้นมัธยมปลายกัน ๒ ปี แล้วค่อยมาเรียนต่ออีก ๑ ปีเมื่อเข้าศึกษาปี ๑ ในมหาวิทยาลัย ทรงผมที่ตัดกันตอนนั้นก็เรียกว่า "ขาวสามด้าน" คือด้านข้างทั้งสองด้านและด้านหลังก็ไถซะเกลี้ยง เหลือไว้เพียงแค่ด้านบนที่ยาวเพียงแค่รองหวี (คือช่างตัดผมจะเอาหวีมารองไว้ก่อน แล้วไถตัดส่วนที่โผล่พ้นหวีออกมา อันที่จริงทรงผมแบบนี้ก็เป็นเรื่องปรกติสำหรับนักเรียนชายในโรงเรียนรัฐหรือสังกัดกทม. แต่สำหรับผู้ที่เรียนโรงเรียนราษฏร์ซึ่งปรกติก็ให้ไว้ทรงรองทรงได้ พอมาเจอการตัดสั้นเกรียนแบบนี้ก็เรียกว่าจำนวนไม่น้อยทำใจกันไม่ค่อยได้
  
เอกสารเก่าที่นำมาให้ชมกันในวันนี้ก็คือบัตรประจำตัวนักศึกษาวิชาทหาร กรมการรักษาดินแดน ที่ออกให้เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๙๖ หรือเมื่อ ๖๒ ปีที่แล้ว ตอนนั้นคุณพ่อของผมท่านเข้ามาเรียนต่อระดับชั้นมัธยมในพระนครแล้ว นับอายุแล้วก็น่าจะเป็นช่วงตอนที่ท่านเรียนชั้นมัธยม ๗ หรือมัธยม ๘

(ตรงนี้ขอขยายความนิดนึง การศึกษาบ้านเราแต่ก่อนชั้นประถมมีแค่ ป.๔ แล้วก็ขึ้นเป็นชั้นมัธยม ม.๑ ถึง ม.๘ ต่อมาเปลี่ยนเป็นชั้นประถมต้น ป.๑ ถึง ป.๔ และชั้นประถมปลาย ป๕ ถึง ป.๗ และชั้นมัธยมก็แบ่งเป็นมัธยมศึกษาตอนต้น ม..๑ ถึง ม..๓ และมัธยมศึกษาตอนปลาย ม..๔ ถึงม.. (มีคำว่า "ศึกษา" เพิ่มเข้ามา) จากนั้นก็ปรับเปลี่ยนใหม่อีกครั้งในปีการศึกษา ๒๕๒๑ (ที่จำได้เพราะเป็นรุ่นแรก) โดยปรับเป็นชั้นประถมศึกษา ป.๑ ถึง ป.๖ และชั้นมัธยมต้น ม.๑ ถึง ม.๓ และมัธยมปลาย ม.๔ ถึง ม.๖ ซึ่งใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน)
  
รูปที่ ๑ ด้านนอกของบัตรประจำตัวนักศึกษาวิชาทหาร กรมการรักษาดินแดน เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๙๖
  
บัตรประจำตัวนักศึกษาวิชาทหารฉบับนี้ก็มีขนาดเท่ากับใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานสองล้อตลอดชีพที่นำมาให้ชมกันใน Memoir ฉบับที่แล้ว คือยาวประมาณ ๖ นิ้ว สูง ๔ นิ้ว แล้วพับครึ่งตรงกลาง พึงสังเกตว่ายศของเจ้ากรมการรักษาดินแดนในขณะนั้นคือ "พลจัตวา หรือ Brigadier General" ซึ่งตำแหน่งนี้ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีแล้ว แต่หลายประเทศก็ยังมีการใช้กันอยู่ (กล่าวคือเดิมนั้นจากยศพันเอก ก็จะเลื่อนเป็นพลจัตวา แล้วก็ค่อยเป็นพลตรี แต่ตอนหลังเราปรับเปลี่ยนเป็นจากพันเอก มาเป็นพันเอก (พิเศษ) และค่อยเป็นพลตรี)
  
อีกจุดหนึ่งที่อยากให้คนรุ่นหลังได้ทราบคือแต่ก่อนนั้นฝั่งธนบุรีเป็นจังหวัดหนึ่ง ฝั่งพระนครก็เป็นอีกจังหวัดหนึ่ง ไม่ได้รวมเรียกว่ากรุงเทพมหานครเหมือนในปัจจุบัน แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสองจังหวัดนี้มันใกล้กันมาก เหมือนกับกรุงเทพมหานครกับนนทบุรีในปัจจุบัน ดังนั้นในเอกสารดังกล่าวจึงมีการระบุว่าเป็น "พระนคร-ธนบุรี"
 
Memoir ฉบับนี้ก็คงจะขอจบลงตรงนี้
  
รูปที่ ๒ ด้านในของบัตรประจำตัวนักศึกษาวิชาทหาร กรมการรักษาดินแดน เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๙๖

ไม่มีความคิดเห็น: