วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สะพานลอยถนนพญาไท (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๙๔) MO Memoir : Thursday 16 July 2558

กลับมาทำงานใหม่ ๆ เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้วก็ยังมีโอกาสได้ไปเยี่ยมอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาเคมี ที่ทำงานที่อาคารนั้นอยู่ จากนั้นก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้เดินเข้าไปข้างในอาคารนั้นอีกเลยแม้ว่าทางมหาวิทยาลัยจะปรับเปลี่ยนอาคารดังกล่าวให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมได้มาระยะหนึ่งแล้ว เพิ่งจะมีโอกาสเมื่อวานที่ได้เข้าไปเยี่ยมชมอาคารที่เคยเรียนแลปเคมีปี ๑ (อาคารเคมี ๑ เดิม ปัจจุบันกลายเป็นอาคารศิลปวัฒนธรรม) และอาคารพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยหลังนี้ (อาคารเคมี ๓ เดิม รูปที่ ๑) และดูเหมือนว่าช่วงเช้าที่ผมไปเดินนั้นจะมีผมเพียงคนเดียวที่เป็นผู้เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการในอาคารดังกล่าว
  
จำได้ว่าตอนที่มาเป็นนิสิตใหม่ที่นี้ในปีการศึกษา ๒๕๒๗ ยังไม่มีสะพานลอยข้ามถนน ถ้าจะข้ามถนนก็ต้องไปใช้อุโมงค์ตรงประตูคณะวิทยาศาสตร์หรือไม่ก็ต้องไปกดสัญญาณไฟให้รถหยุดตรงทางข้ามถนนหน้าประตูใหญ่ มาบุญครองก็ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง มหาวิทยาลัยเองก็ปิดประตูทุกด้านตอน ๓ ทุ่ม
พอขึ้นปีที่ ๒ ก็มีโอกาสได้ใช้สะพานลอยข้ามถนนที่สร้างขึ้นมาใหม่ ตอนนั้นสะพานลอยมีหน้าตาเป็นยังไงก็จำไม่ได้แล้ว บังเอิญเมื่อวานได้ไปเห็นรูปถ่ายในงานแสดงประวัติของมหาวิทยาลัย มีภาพถ่ายภาพหนึ่งระบุว่าเป็นสะพานลอยข้ามถนนพญาไท (รูปที่ ๒)
  
รูปที่ ๑ จากตึกที่เคยเป็นห้องปฏิบัติการเคมี ๓ กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน รูปนี้ถ่ายจากด้านทิศตะวันตกมองไปทางทิศตะวันออก
  
รูปที่ ๒ รูปที่ถ่ายมาจากส่วนแสดงในพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย แต่ผมคิดว่าภาพถนนเส้นนี้ผมเห็นว่าไม่ใช่ถนนพญาไท

ตอนแรกผมก็คิดว่าเป็นรูปของสะพานลอยหน้ามหาวิทยาลัย แต่พอสังเกตดูใหม่อีกทีสงสัยว่าไม่น่าจะใช่ด้วยเหตุผลบางประการคือ
  
๑. ป้ายโฆษณาบนสะพานลอยที่เขียนว่า "ดัสสันพิชิตซาฟารี" แต่รถยี่ห้อ "ดัสสัน - DATSAN" เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "นิสสัน - NISSAN) ไปก่อนหน้านั้นเป็นปีแล้ว (ที่ค้นจากอินเทอร์เน็ตดู ดูเหมือนว่าจะเป็นช่วงพ.ศ. ๒๕๒๖ หรือก่อนหน้านั้น) ดังนั้นรูปนี้ต้องถ่ายก่อนที่จะมีการสร้างสะพานลอยที่ถนนพญาไท
  
๒. ความกว้างของถนนที่ดูแคบ ที่กว้างเพียงแค่สองช่องจราจร (ลูกศรสีเหลืองที่แสดงไว้ท้ายรถเมล์) ที่จำได้ก็คือตอนที่มาเรียนที่นี่ถนนพญาไทก็มีเกาะกลางถนนอยู่แล้ว (แบบปัจจุบัน) คือแบ่งครึ่งถนนให้รถวิ่งสวนทางกัน แต่ในภาพที่แสดงนั้นเกาะกลางที่เห็นมันไม่ใช่เกาะกลางถนนที่แบ่งครึ่งถนน มันเป็นเกาะกลางแบบที่แบ่งถนนเป็นฝั่งนอกฝั่งใน ในสมัยนั้นเท่าที่จำได้ถนนที่มีลักษณะแบบนี้ได้แก่ถนนศรีอยุธยา (ช่วงจากทางรถไฟไปจนถึงถนนราชปรารถ) หรือถนนพระราม ๖ แถวหน้าโรงพยาบาลรามาธิบดี (ก่อนที่จะมีการสร้างทางด่วน) ซึ่งรูปแบบถนนดังกล่าวตอนนี้เห็นจะเหลือเพียงแค่ถนนศรีอยุธยาช่วงระหว่างโรงพยาบาลสงฆ์กับแยกพญาไทเท่านั้นเอง

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นว่าน่าจะมีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลคือเรื่อง "พิธีพระราชทานปริญญาบัตรที่คณะวิศวกรรมศาสตร์" เรื่องนี้ผมเคยเขียนไว้ใน Memoir ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๘๙ วันอาทิตย์ที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๕๙ เรื่อง "ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำตอนที่ ๕ พิธีพระราชทานปริญญาบัตรที่คณะวิศวกรรมศาสตร์" เพราะข้อมูลที่มีเผยแพร่ทั่วไปทางอินเทอร์เน็ต (รูปที่ ๓ นำมาจาก https://th.wikipedia.org/wiki/คณะวิศวกรรมศาสตร์_จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) นั้นไม่ตรงกับที่ทางมหาวิทยาลัยแสดง (รูปที่ ๔ ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์)
  
รูปที่ ๓ https://th.wikipedia.org/wiki/คณะวิศวกรรมศาสตร์_จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ข้อมูล ณ วันพุธที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๘) กล่าวถึงงานพระราชทานปริญญาบัตรที่ตึกวิศวกรรมศาตร์ ๑ ในปีพ.ศ. ๒๔๗๘
  
รูปที่ ๔ พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยแสดงข้อมูลกล่าวถึงการก่อสร้างอาคารวิศวกรรมศาตร์ ๑ ว่าก่อสร้างในปีพ.ศ. ๒๔๘๔ และเป็นอาคาร ๓ ชั้น (ที่ถูกต้องคือเดิมเป็นอาคาร ๒ ชั้นจริง ผมเองก็เคยเห็นรูปถ่ายเก่าสมัยที่ยังเป็นอาคารสองนั้นอยู่)

ในปัจจุบันคงจะแย้งไม่ได้ว่าสิ่งที่คนทั่วไปสืบค้นได้ง่ายที่สุดคือทางอินเทอร์เน็ต ความแตกต่างของข้อมูลที่ปรากฏที่ผมเห็นคือในเว็บนั้นกล่าวว่ามีการพระราชทานปริญญาบัตรที่อาคารวิศวกรรมศาสตร์ ๑ ในปีพ.ศ. ๒๔๗๘ แต่ในส่วนจัดแสดงของทางมหาวิทยาลัยนั้นกล่าวว่าอาคารวิศวกรรมศาสตร์ ๑ นั้นสร้างในปีพ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งเป็นช่วงของรัชกาลที่ ๘ แล้ว
  
และอันที่จริงอาคารวิศวกรรมศาตร์ ๑ นั้นเดิมมีเพียง ๒ ชั้น แต่ต่อมามีการต่อเติมเป็น ๓ ชั้นในภายหลัง

ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะแจ้งข้อสงสัยนี้ให้กับใครเพื่อให้เขาทำการตรวจสอบ ก็เลยเอามาเล่าบนนี้เผื่อว่าจะมีคนมาอ่านพบเจอ ส่วนอาคารเคมี ๓ ที่ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยไปแล้วนั้น บรรยากาศข้างในเป็นยังไงบ้างเอาไว้ว่าง ๆ จะเอารูปมาลงให้ดู เผื่อมีท่านผู้อ่านท่านใดเคยได้เรียนหนังสือที่ตึกนี้จะได้ทราบว่าห้องเรียนในอดีตของท่านนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

ไม่มีความคิดเห็น: