วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2561

รถไฟเล็กลากไม้สายตะวันออก (ศรีราชา) ภาค ๑๒ (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๔๒) MO Memoir : Thursday 20 December 2561

การศึกษาประวัติศาสตร์นั้นจะยากอยู่กว่าการแปลผลทางวิทยาศาสตร์ตรงที่ สิ่งที่มีเขียนบันทึกเอาไว้นั้นอาจไม่ได้บันทึกเรื่องราวที่ถูกต้องทั้งหมดเอาไว้ หรือไม่ได้บันทึกเรื่องราวที่ถูกต้องเอาไว้เลยก็ได้ ดังนั้นการแปลข้อมูลที่ได้รับมาจึงต้องพิจารณาสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในช่วงเวลาที่ข้อมูลนั้นปรากฏ ว่ามันมีผลต่อผู้บันทึกข้อมูลนั้นหรือไม่ อย่างไร เรียกว่าก่อนจะนำข้อมูลมาใช้ ก็ควรต้องเรียนรู้จักตัวตนของผู้บันทึกข้อมูลก่อน ว่าในขณะนั้นเขาอยู่ในสภาพเช่นใด 
  
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นไปได้ที่สิ่งที่บันทึกนั้นผู้บันทึกจงใจที่จะเขียนในสิ่งที่ตรงข้ามกับความจริง หรือบิดเบือนให้ผิดเพี้ยนไป หรือจงใจแปลความเหตุการณ์เพื่อให้ได้ข้อสรุปตามที่ต้องการ ในขณะที่ข้อมูลประเภทนี้ถ้าเป็นทางวิทยาศาสตร์ก็มักจะถูกโยนทิ้งไป แต่สำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์แล้วถ้าได้มีการเทียบเคียงข้อมูลเหล่านั้นกับหลักฐานอื่น ก็อาจมองเห็นข้อเท็จจริงที่ถูกซ่อนเอาไว้ในบันทึกดังกล่าวได้ จะเรียกว่าการ "อ่านระหว่างบรรทัด" หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า "read between the lines" นั้นเป็นสิ่งจำเป็นก็ได้
 
งานเสวนา "ย้อนประวัติบริษัทศรีมหาราชา" ณ ร้านอาหารเรือนน้ำซีฟู้ด ข้างสวนสาธารณะเกาะลอย เมื่อบ่ายวันอาทิตย์ที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ที่ทาง "ชมรมคนรักศรีราชา" (http://www.konruksriracha.in.th) เป็นแม่งานในการจัดนั้นจะเรียกว่าเป็นการเปิดตัวผู้เกี่ยวข้องกับรถไฟสายนี้ในขณะที่รถไฟสายนี้ยังมีการใช้งานอยู่ก็ได้ งานต่อไปที่ทางชมรมคนรักศรีราชาคงต้องรีบดำเนินการต่อไปคือการเก็บรวบรวมความทรงจำของท่านเหล่านี้เอาไว้ก่อนที่จะสูญหายไป ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นงานใหญ่ไม่ใช่เล่น ยังไงก็ขอเป็นกำลังใจช่วยนะครับ
 
ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อสหรัฐอเมริกาเริ่มเข้ามามีบทบาทในการรบที่เวียดนาม ความจำเป็นที่ต้องมีแผนที่ของภูมิภาคนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ เท่าที่ทราบคือแผนที่ชุดหนึ่งคือแผนที่ทหารรหัส L509 ดูเหมือนว่าแผนที่ชุดนี้ทางกองทัพสหรัฐจัดทำขึ้นมาก่อน จากนั้นทางกรมแผนที่ทหารของไทยจึงมีการทำเป็นฉบับที่มีภาษาไทยกำกับควบคู่ตามมา โดยการจัดทำครั้งที่ ๒ นั้นมีข้อมูลบางจุดที่แตกต่างไปจากฉบับที่เผยแพร่ครั้งแรก

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้มาจากอาจารย์บางท่านในการศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ก็คือ เราต้องแยกออกมาก่อนว่าข้อมูลดิบนั้นมันมาอย่างไร ในการส่งต่อข้อมูลดิบนั้นมันมาอย่างไรก็ต้องส่งต่อไปอย่างนั้น ยกตัวอย่างเช่นถ้าข้อมูลดิบนั้นมันเป็นข้อความที่บันทึกไว้ ต้นฉบับมีการสะกดมีการเขียนอย่างไร การบันทึกข้อมูลเพื่อการส่งต่อก็ต้องเขียนไปตามนั้นก่อน คืออย่าไปแก้ไขในสิ่งที่เราคิดว่ามันผิด เพราะอาจเป็นเราเองเข้าใจผิดก็ได้ โดยตรงจุดนี้เราสามารถที่จะทำเครื่องหมายแสดงความเห็นแยกต่างหากแนบเอาไว้ได้

Memoir ฉบับนี้ก็ถือเสียว่าเป็นการเล่าเรื่องด้วยแผนที่ก็แล้วกันนะครับ เป็นเพียงแค่การบันทึกว่าเคยได้เห็นข้อมูลอะไรมาจากที่ไหน และมันมีความแตกต่างอะไรกันอยู่ ส่วนที่ว่าอันไหนจะน่าเชื่อถือมากกว่ากันนั้น ก็คงต้องขอให้ผู้อ่านแต่ละท่านพิจารณาเอาเอง

รูปที่ ๑ แผนที่ทหารรหัส L509 จัดทำโดยกองทัพสหรัฐมีการระบุเอาไว้ว่ามีการใช้ข้อมูลการสำรวจในปีค.ศ. ๑๙๕๑ (พ.ศ. ๒๔๙๔) และค.ศ. ๑๙๘๓ (พ.ศ. ๒๔๙๖) และนำมาประมวลผลในปีค.ศ. ๑๙๕๕ (พ.ศ. ๒๔๙๘) ฉบับนี้เข้าใจว่าเป็นฉบับที่จัดพิมพ์ครั้งแรก (เพราะเห็นมีคำว่า Edition 1-AMS อยู่)

รูปที่ ๒ แผนที่ทหารรหัส L509 เช่นกัน แต่เป็นฉบับที่จัดทำโดยกรมแผนที่ทหารของไทย (จะเรียกว่าเป็นฉบับแปลเป็นไปก็น่าจะได้อยู่) เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ เท่าที่ดูเข้าใจว่าข้อมูลที่ใช้ก็อิงมาจากฉบับพิมพ์ครั้งแรก แต่มีการปรับแก้ความถูกต้องในบางจุด ดังตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นในรูปที่ ๓ และ ๔ ที่เป็นส่วนของเส้นทางรถไฟบรรทุกไม้ของบริษัทศรีมหาราชา

รูปที่ ๓ แผนที่เส้นทางรถไฟลากไม้ของบริษัทศรีมหาราชาที่ปรากฏในแผนที่ชุด L509 พิมพ์ครั้งที่ ๑ โดยกองทัพสหรัฐ (ในกรอบสี่เหลี่ยมประสีแดง) ปลายทางของเส้นแยกไปทางด้านทิศเหนือไปสิ้นสุดที่บริเวณบ้านบึงไม้แก่น ส่วนสายที่แยกลงมาทางด้านใต้นั้นไปสิ้นสุดแถวบ้านพันเสด็จใน

รูปที่ ๔ แผนที่เส้นทางรถไฟลากไม้ของบริษัทศรีมหาราชาที่ปรากฏในแผนที่ชุด L509 พิมพ์ครั้งที่ ๒ โดยกรมแผนที่ทหารของไทยบอกแนวปลายทางที่ไปไกลกว่า คือสายแยกทางด้านบนนั้นมีการต่อไปจนถึงบ้านหนองปรือและหนองตาสน ในขณะที่สายแยกลงล่างนั้นมีทางแยกจากบ้านพันเสด็จในผ่านไปยังบ้านระเวิงและบ้านเก่า

รูปที่ ๕ แผนที่ในรูปที่ ๕ ถึง ๗ นำมาจาก https://911gfx.nexus.net/thailand.html เข้าใจว่าเป็นฉบับที่จัดทำในปีค.ศ. ๑๙๖๗ หรือพ.ศ. ๒๕๑๐ หรือประมาณ ๑๐ หลังแผนทีชุด L509 ที่เอามุมนี้ของแผนที่มาแสดงก็เพื่อเป็นการบันทึกข้อมูลว่าแผนที่ฉบับนี้ใครเป็นผู้จัดทำ จัดทำเมื่อใด และใช้ข้อมูลจากไหน (รูปที่ ๑ และ ๒ ที่นำมาแสดงก็ด้วยเหตุผลเดียวกัน)

รูปที่ ๖ แผนที่บริเวณอำเภอศรีราชา ยังแสดงเส้นทางรถไฟลากไม้ (ตามแนวเส้นประสีแดง) ที่เหมือนกับแผนที่ชุด L509 ที่จัดทำโดยกรมแผนที่ทหาร (รูปที่ ๔)


รูปที่ ๗ แผนที่ส่วนต่อด้านทิศตะวันออกของรูปที่ ๖ แนวเส้นทางรถไฟลากไม้คือแนวเส้นประสีแดงสองแนวที่อยู่ทางด้านซ้ายของรูป

รูปที่ ๘ แผนที่นี้นำมาจาก http://legacy.lib.utexas.edu/maps/tpc/txu-pclmaps-oclc-22834566_k-9b.jpg ในหัวข้อที่ว่า "Tactical Pilotage Chart Series - World 1:500,000 Scale" คือเข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับการเดินอากาศของทางกองทัพ ตัวแผนที่มีการระบุว่าใช้ข้อมูลปีค.ศ. ๑๙๖๘ (พ.ศ. ๒๕๑๑) แต่มีการปรับปรุงแก้ไขในเดือนกุมภาพันธ์ปีค.ศ. ๑๙๘๔ (พ.ศ. ๒๕๒๗) แต่เน้นความถูกต้องเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเดินอากาศ (คือสถานีควบคุมและขอบเขต) ไม่ได้เน้นปรับปรุงความถูกต้องของรายละเอียดต่าง ๆ ที่อยู่บนพื้นดิน

รูปที่ ๙ แผนที่เส้นทางรถไฟที่ปรากฏในแผนที่รูปที่ ๘ ตอนนี้ถูกแยกออกเป็น ๒ ส่วน คือเส้นด้านล่างจากศรีราชาจุด (1) ไปยังจุด (2) และเส้นบนจากแถวบ้านโค้งดาราที่จุด (3) ไปแถวบ้านหัวกุญแจที่จุด (4) และ (5) เข้าใจว่าน่าจะเป็นโรงงานน้ำตาล


รูปที่ ๑๐ แผนที่นี้นำมาจาก http://legacy.lib.utexas.edu/maps/onc/txu-pclmaps-oclc-8322829_k_9.jpg ในหัวข้อเดียวกับรูปที่ ๘ ฉบับนี้บอกว่าใช้ข้อมูลปีค.ศ. ๑๙๖๗ (พ.ศ. ๒๕๑๐) แต่เป็นฉบับปรับปรุงเดือนมิถุนายนปีค.ศ. ๑๙๘๔ (พ.ศ. ๒๕๒๗) คือดูเมื่อเทียบกับรูปที่ ๘ และ ๙ แล้ว ดูเหมือนว่าฉบับนี้จะใช้แผนที่เก่ากว่า แต่ข้อมูลสำหรับการเดินอากาศจะทันสมัยกว่า

รูปที่ ๑๑ ภาพขยายบริเวณทางรถไฟลากไม้ ภาพนี้ยังเป็นเส้นทางต่อเนื่องกันเริ่มจาก (1) ศรีราชา ไปแยกที่ (2) ลงใต้เส้นหนึ่งไปยัง (3) และอีกเส้นหนึ่งขึ้นเหนือไปที่ (4) และ (5)

ไม่มีความคิดเห็น: