วันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2560

บันทึกเรื่องที่ต้องสอนซ้ำ บันทึกความทรงจำที่ได้พบเจอ (๑) MO Memoir : Sunday 17 December 2560

"ตอนนี้ทางทีมของพวกผมขาดบุคลากรในด้านนี้มากครับ คือด้านเกี่ยวกับการทำ Know how การถ่ายทอด รุ่นสู่รุ่น และการจดบันทึก เหมือนที่อาจารย์แนะนำ
 
จนเป็นเวลาผ่านมาหลายปี ยังไม่ประสบผลสำเร็จเลยครับ ผมอยากทำเรื่องนี้เลยค่อย ๆ อ่านศึกษาเรื่อย ๆ ตัวเองทำงานมาประมาณ10ปี ก็พอมีพื้นฐานบ้างครับ พยายามถ่ายทอดออกมา และจดบันทึกได้บ้าง
  
จะพยายามทำให้ได้ครับ ถ้าอาจารย์ มีอะไรแนะนำ ก็เชิญได้นะครับ ยินดีรับคำติชมครับ"

อย่างแรกเลยผมคงต้องขอขอบคุณเป็นอย่างมากครับที่ส่งอีเมล์มาให้กำลังใจในการเขียนเรื่องราวต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ แต่ขอบอกตามตรงเลยนะครับว่า ถ้าเป็นเรื่องราววิชาการความรู้ คนใกล้ตัวผม (คือนิสิตที่กำลังเรียนอยู่) มักจะไม่อ่านหรอกครับ เว้นแต่ว่าจะบอกว่ามีข้อสอบอยู่ในนั้น หรือบางเรื่องมันมีเนื้อหาตรงกับรายงานที่เขาได้รับมอบหมายให้ทำ และบนหน้า blog ผมมันเป็นเนื้อหาภาษาไทย (เพราะพวกเขาจะได้ไม่ต้องแปลแบบถูก ๆ ผิด ๆ) แต่ถ้าเป็นพวกเรื่องราวไร้สาระเนี่ย ยอด กดไลค์มักจะต่ำ แต่ยอดเข้าชมมักจะสูงครับ (คือพอผมโพสเรื่องใหม่ขึ้น blog ผมจะนำไปเผยแพร่ใน facebook ของนิสิตก่อนครับ) ส่วนพวกความรู้พื้นฐานต่าง ๆ (เช่น pipe กับ tube ต่างกันอย่างไร) มักจะมีคนเข้ามาอ่านกันมากตอนช่วงฝึกงานครับ
 
โดยความเห็นส่วนตัวนะครับ หลากหลายเรื่องราวมันไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวที่ใช้ได้ทุกสถานการณ์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคืออาหารการกิน ในอดีตกาลผู้คนที่อาศัยอยู่ในแต่ละท้องถิ่นนั้นรู้ว่าในภูมิประเทศที่เขาอาศัยอยู่นั้นมันมีอะไรที่เขากินเป็นอาหารเพื่อดำรงชีวิตได้ เขาก็กินสิ่งที่เขาหาได้ในท้องถิ่นนั้น ตัวอย่างเช่นพวกเอสกิโมที่อยู่ในภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยน้ำแข็ง ปลูกผักอะไรไม่ได้ เขาก็บริโภคเนื้อเป็นหลัก อยู่ดี ๆ จะไปบอกเขาว่าหันมากินผักแทนเถอะ เพราะมันไม่บาป ผมว่ามันก็ไม่ถูก ผมเห็นว่าการเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ก็เช่นเดียวกันครับ


รูปที่ ๑ หน้าปกหนังสือของ "เหม เวชกร" รุ่นที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า เป็นหนังสือชุดที่ผมชอบอ่านมากชุดหนึ่ง แต่ทำไมถึงมาโผล่อยู่ในบทความนี้ได้ ก็ลองอ่านเนื้อหาบทความไปเรื่อย ๆ ก็แล้วกันครับ
 
ผู้เล่าเรื่องราวอาจเปรียบได้เหมือนพ่อครัวผู้ทำอาหาร (อันนี้ของรวมถึงแม่ครัวด้วยนะครับ ไม่ได้ลำเอียงใด ๆ) พ่อครัวนั้นมีวัตถุดิบคือ พืช ผัก เนื้อ และเครื่องปรุงต่าง ๆ ส่วนวัตถุดิบของผู้เล่าเรื่องราวก็คือสิ่งที่เขาได้ไปพบ ไปเห็น ได้รับฟังมา การได้วัตถุดิบของพ่อครัวอาจได้มาจากตลาดใกล้บ้าน หรือการท่องเที่ยวเดินทางไปยังท้องถิ่นอื่นเพื่อสรรหาวัตถุดิบใหม่ ผู้เล่าเรื่องราวก็เช่นกันครับ เรื่องที่นำมาเล่านั้นอาจเป็นเรื่องใกล้ตัว เช่นงานที่ทำอยู่หรือประสบการณ์ในการทำงาน หรือจากคนอื่นเล่าให้ฟัง แต่บางครั้งเราก็ต้องเดินทางไปยังที่อื่นบ้างเพื่อเปิดโอกาสได้เจอกับสิ่งใหม่ ๆ บ้าง
 
มันไม่มีอาหารชนิดใดหรอกครับที่คนทุกคนบนโลกจะชื่นชอบ ทำนองเดียวกันครับ มันไม่มีรูปแบบการเขียนที่ถือว่าเป็นสุดยอดที่ทุกคนต้องเอาเยี่ยงอย่าง พ่อครัวแต่ละคนต่างก็มีความถนัดในด้านการทำงานแต่ละด้าน จะมาบอกว่าคนที่เป็นพ่อครัวอาหารฝรั่งเศสนั้นเหนือกว่าอาหารจีนก็ไม่ถูก คนเล่าเรื่องราวก็เช่นเดียวกัน บางคนเล่าเรื่องสยองขวัญเก่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาต้องเล่าเรื่องชีวิตรักได้หวานซึ้งหรือเรื่องตลกได้ขำกลิ้ง
 
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพอเราถนัดในเรื่องใดแล้วเราก็ควรต้องยึดติดในเรื่องนั้นนะครับ ผมเชื่อว่าแต่ละคนก็มีบ้างเหมือนกันในบางครั้งที่อยากลองทำอะไรที่เราไม่เคยลองทำหรือคิดว่าไม่มีความถนัด แต่ที่เราไม่ทำก็เพราะกลัวว่าจะออกมาไม่ดี ผมเองก็เคยลองทำเหมือนกัน และบังเอิญออกมาประสบความสำเร็จดีซะด้วย (แต่ยังทำซ้ำไม่ได้นะครับ) คือดีซะจนคนในที่ทำงานเดียวกับผม (ซึ่งปรกติเขาก็ไม่ค่อยมาอ่านบทความที่ผมเขียนลง blog อยู่แล้ว) เวลาเจอหน้าผมเขาถึงกับมองหน้าผมด้วยความสงสัยว่า มันเป็นเรื่องจริงหรือนิยาย (ทีเรื่องแบบนี้ละก็ อ่านแล้วอ่านอีก อ่านละเอียดเสียด้วย) ถ้ายังไงก็อยากขออนุญาตแนะนำให้ลองอ่านเรื่อง "อาจารย์ครับ ผมไม่เรียนต่อแล้วนะครับ" เล่น ๆ ก่อนก็ได้ครับ (สำหรับผู้อ่านบนหน้าเว็บ สามารถกดลิงค์ที่ชื่อบทความเพื่อเข้าไปยังเรื่องดังกล่าวได้เลยนะครับ)

ดังนั้นเรื่องที่จะเล่าต่อไปจากนี้ ถือเสียว่าเป็นการเล่าประสบการณ์ส่วนตัวก็แล้วกันนะครับ อย่ายึดถือว่าเป็นตัวอย่างที่ควรเลียนแบบ เป็นคำติหรือคำชม หรือคำแนะนำใด ๆ นะครับ :) :) :)

MO Memoir เริ่มจากการเขียนบันทึกเป็นไฟล์ pdf แจกจ่ายให้กับนิสิตปริญญาโทที่ผมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ครับ เรื่องทั้งเรื่องมันเริ่มจากการที่รู้สึกว่าต้องมาฝึกสอนเรื่องเดิม ๆ (โดยเฉพาะเทคนิคปฏิบัติงาน และการปรับความเข้าใจในความรู้พื้นฐานให้ถูกต้อง) ให้กับนิสิตรุ่นใหม่ทุกปี และบางปีก็ลืมสอนในบางเรื่องด้วย ก็เลยคือทำเป็นบันทึกแจกจ่ายทางอีเมล์ให้กับเฉพาะนิสิตปริญญาโทที่ผมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์เท่านั้น (ซึ่งตอนนี้ก็ยังทำอยู่ โดยจะส่งให้ทางอีเมล์ตั้งแต่วันแรกที่เขาเข้ามาเรียน จนกระทั่งถึงวันที่พวกเขาเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร) แต่พอเขียนไปได้หลายเรื่องก็เริ่มมีปัญหาแล้วว่าเคยเขียนเรื่องอะไรไว้บ้างและเขียนไว้เมื่อไร ก็เลยคิดนำเอาเรื่องต่าง ๆ นั้นขึ้น blog เพราะมันทำให้ค้นหาเรื่องย้อนหลังได้ง่ายขึ้น (ตรงที่ผมทำช่อง "ค้นหาบทความ MO Memoir" นั่นแหละครับ) ทีนี้พอโพสเรื่องต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เลยทำให้มีผู้อ่านหลากหลายมากขึ้นครับ
 
รูปแบบการเขียนนั้น ผมมักจะอิงแนวทางเหมือนกับว่าผมกำลังเล่าเรื่องให้ผู้อื่นฟังอยู่ ถ้าเป็นเรื่องงานวิจัยก็จะวางแนวทางการเล่าเสมือนกับเล่าให้นิสิตปริญญาโทในที่ปรึกษาฟัง ถ้าเป็นเรื่องพื้นฐานทั่วไปก็จะวางแนวทางการเล่าเสมือนกับเล่าให้นิสิตที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือผู้ที่เรียนต่างสาขาฟัง ทีนี้พอวางภาพว่าคนฟังเป็นผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ ดังนั้นคำบางคำที่คนที่กำลังทำงานอยู่นั้นอ่านแล้วเข้าใจเลย แต่สำหรับผู้ที่กำลังศึกษาอยู่นั้นจะพบว่าเป็นคำศัพท์ใหม่ ทำให้จำเป็นต้องมีการขยายความเป็นระยะ
 
"แค่เห็นรูปก็กลัวแล้ว แค่ได้ยินคำบรรยายก็สามารถรับรู้ได้ถึงรสชาติอาหาร" เป็นคำอธิบายงานเขียนของศิลปินแห่งชาติ "เหม เวชกร" ที่ผมต้องยอมรับว่ามีอิทธิพลต่อรูปแบบการเขียนของผมมาก ไม่ว่าจะเป็นทั้งด้านการใช้ภาษาที่เรียบง่ายและความสมจริงอย่างน่าประทับใจของตัวละครที่เป็นผู้เล่าเรื่อง ด้วยเหตุนี้ผมจึงได้นำเอารูปหนังสือที่เขียนโดย เหม เวชกร ที่ผมมีเก็บไว้บางเล่มนำมาประกอบเรื่องเล่าวันนี้ครับ
 
ผมเองจะไม่พยายามเขียนเรื่องยาว ๆ ให้จบในตอนเดียว ในกรณีที่คิดว่าเรื่องมันค่อนข้างจะยาว ก็จะพยายามตัดตอนเป็นช่วง ๆ วิธีการนี้มันก็มีข้อดีตรงที่ผู้อ่านไม่ต้องเสียเวลาในการอ่านมาก และยังทำให้ตัว blog นั้นมีเรื่องราวใหม่ ๆ ปรากฏขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนกับว่ามันยังมีชีวิตอยู่ ยิ่งในปัจจุบันที่คนหันไปอ่านจากหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือกันมากขึ้น จึงทำให้ยากที่จะมีคนอ่านบทความยาว ๆ จากหน้าจอรวดเดียวจนจบ นอกจากนี้ก็จะพยายามให้แต่ละย่อหน้ามันไม่ยาวเกินไป เพื่อให้ผู้อ่านรู้สึกเหมือนได้พักสายตาเมื่ออ่านจบแต่ละย่อหน้า และบางครั้งก็จะใช้การเว้นบรรทัดช่วยแยกย่อหน้าให้ห่างจากกัน ซึ่งการเว้นบรรทัดนี้มันมีประโยขน์ทั้งการจัดหน้ากระดาษและการเน้นข้อความ ยังช่วยบอกให้ผู้อ่านทราบเป็นนัยว่ากำลังจะเริ่มเนิ้อหาใหม่
 
ในขณะเดียวกันก็จะพยายามหารูปแทรกประกอบเนื้อหาที่เขียน เพราะมันไม่แต่จะช่วยให้ผู้อ่านเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น มันยังช่วยให้ผู้อ่านรู้สึกว่าเนื้อหาที่อ่านนั้นมันไม่หนาแน่นมากเกินไป (บางทีบทความขนาด ๑๐ หน้ากระดาษ A4 มีส่วนที่เป็นข้อความอยู่ไม่ถึงครึ่งก็มี) แต่ก็มีบ่อยครั้งเหมือนกันครับที่พอเขียนจบเรื่องแล้วพบว่าหน้ากระดาษมันว่างอยู่ ก็เลยต้องไปหารูปอะไรต่อมิอะไรมาลงเพื่อให้หน้ากระดาษมันเต็มเท่านั้นเอง (ทั้งหมดจะเป็นรูปที่ผมถ่ายเอง) รูปเหล่านี้จะว่าไปบ่อยครั้งที่มันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเนื้อหาในบทความเลยครับ เป็นเพียงแค่การฝากสิ่งที่ผมได้พบเห็นไว้ในบทความนั้นเท่านั้นเอง แต่ก็ไม่แน่นะครับ ในอนาคตมันอาจมีคุณค่าขึ้นมาก็ได้ ตัวอย่างเช่นตอนนี้ถ้าใครสักคนไปถ่ายรูปรถติดบนถนนที่สี่แยกแห่งหนึ่งแล้วนำมาโพส คนเห็นก็คงไม่รู้สึกแปลกอะไร แต่ถ้าผ่านไปสัก ๓๐ ปีแล้วนำมาโพสใหม่ เชื่อว่าคนที่เห็นภาพเดิมนี้ในตอนนั้นจะมีความรู้สึกที่แตกต่างไป แบบที่เราเห็นภาพสถานที่ต่าง ๆ เมื่อหลายสิบปีที่แล้วนั่นแหละครับ "น้ำปลาที่ดีต้องใช้เวลาบ่มนานฉันใด ความทรงจำก็เช่นกัน" (อันที่จริงผมเคยใช้คำว่า "สุรา" มาก่อนครับ แต่ดูปฏิทินแล้วเห็นว่าวันนี้เป็นวันพระ ก็เลยขอเปลี่ยนเป็น "น้ำปลา" แทน) รูปแบบการจัดหน้าของผมตรงนี้ลองดูได้จาก MO Memoir ฉบับรวมบทความที่สามารถดาวน์โหลดไฟล์ pdf จากหน้า blog ได้ครับ
 
ตอนแรกนี้คงทำได้แค่การเล่าให้ฟังว่าผมเริ่มเขียนได้อย่างไร ได้แนวทางการเขียนมาจากไหน วางรูปแบบการเขียนอย่างไร ส่วนเรื่องที่ว่าเรื่องที่เขียนเอามาจากไหนนั้น ขอยกเป็นตอนต่อไปก็แล้วกันนะครับ เพราะยังจัดลำดับการวางเรื่องไม่ลงตัว วันนี้ขอสวัสดีแค่นี้ก่อนครับ :) :) :)


รูปที่ ๒ ตัวอย่าง MO Memoir ฉบับรวมบทความที่สามารถดาวน์โหลดไฟล์ pdf ได้ฟรีครับ

ไม่มีความคิดเห็น: