วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๒ รถไฟเล็กลากไม้สายตะวันออก (ศรีราชา)MO Memoir : Friday 1 July 2554

ผมเคยถามภรรยาว่าตอนเด็ก ๆ สมัยที่ครอบครัวยังทำไร่อยู่แถวป่ายุบ (เขต อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี) เคยเห็นรถไฟบ้างไหม ภรรยาก็ตอบกลับมาว่า เวลาไปไหว้หลุมศพแม่ พอมีคนบอกว่ามีรถรางวิ่งมา พวกเด็ก ๆ ก็จะวิ่งไปดูกัน รถรางที่เห็นนั้นขบวนจะเล็กกว่ารถไฟที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

เหตุผลที่ผมถามก็เพราะมีอยู่ปีหนึ่งตอนที่จะพาครอบครัวไปไหว้หลุมศพคุณแม่ของภรรยานั้น ผมลองค้นดูแผนที่ถนนแถวบริเวณนั้น เพื่อหาเส้นทางลัดหลีกเลี่ยงรถติด ก็เลยไปเห็นชื่อถนนเส้นหนึ่งที่ชื่อว่าถนน "รถไฟสายเก่า" ก็เลยรู้สึกแปลกใจว่าแถวนั้นเคยมีรถไฟด้วยเหรอ


รูปที่ ๑ แผนที่บริเวณแยกตัดระหว่างทางหลวงแผ่นดินสาย 331 กับสาย 344 จะเห็นว่ามีถนนชื่อ "รถไฟเก่าอยู่" ถนนสาย 331 นั้นถ้าขับรถอยู่ทางถนนสุขุมวิทแถวนาจอมเทียน มีอยู่แยกหนึ่งมีป้ายบอกทางเชื่อมต่อไปยังถนนสายนี้ โดยเรียกถนนสายนี้ว่า "ถนนสายยุทธศาสตร์" (คิดว่าอยู่แถว ๆ ฝั่งตรงข้ามถนนนาจอมเทียน 6) ผมเคยคุยกับคุณลุงคนหนึ่งที่แกมาเป็นยามเฝ้าคอนโดที่ผมพักอาศัยอยู่ (ตอนนี้แกเสียชีวิตไปแล้ว) แกเคยเล่าให้ฟังว่าสมัยแกยังหนุ่ม ๆ นั้นซึ่งเป็นช่วงของสงครามเวียดนามกำลังรุนแรง สหรัฐอเมริกามาตั้งฐานทัพที่อู่ตะเภาและท่าเรือสัตหีบ แกทำหน้าที่รับจ้างขับรถบรรทุกจากท่าเรือสัตหีบเพื่อนำสิ่งของไปส่งยังฐานทัพสหรัฐฯ ทางภาคอีสาน เช่นที่โคราช และอุดรธานี โดยใช้เส้นทางนี้เป็นหลัก ตัดเข้าภาคอีสานได้เลย คิดว่าด้วยเหตุนี้มั้งชาวบ้านรุ่นเก่า ๆ จึงตั้งชื่อถนนนี้ว่า "ถนนสายยุทธศาสตร์" เสียดายที่ตอนนั้นผมไม่รู้ว่าแถวศรีราชาเคยมีรถไฟ ไม่เช่นนั้นจะได้สอบถามแกเกี่ยวกับเรื่องนี้ก่อนที่แกจะเสียชีวิต


ตอนที่ผมไปทำงานที่ระยองช่วงปี ๒๕๓๑ นั้น เป็นช่วงที่ทางการกำลังก่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออก แยกจากสายเดิมที่ไปยังอรัญประเทศ โดยแยกลงมายังจ.ชลบุรี ผ่านต.บางพระ อ.ศรีราชา ซึ่งจะเป็นชุมทางแยกไปยังท่าเรือแหลมฉบัง และไปยังท่าเรือน้ำลึกสัตหีบ ซึ่งจะมีชุมทางแถวต.พลูตาหลวง เพื่อแยกไปยังนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยเส้นทางรถไฟสายนี้จะเน้นการขนส่งสินค้าเป็นหลัก และในขณะนี้ก็กำลังดำเนินการวางรางคู่ไปจนถึงท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังอยู่ ตอนนั้นผมยังคิดว่าเส้นทางรถไฟสายนี้เป็นสายแรกของภาคตะวันออก


รูปที่ ๒ ภาพถ่ายดาวเทียมบริเวณเดียวกันกับรูปที่ ๑ ข้างขวาของเส้นประสีเหลืองคือถนนรถไฟเก่า


คำตอบเกี่ยวกับที่มาของถนน "รถไฟเก่านั้น" ผมไปเจอในหนังสือนวนิยายเรื่อง "รางเหล็ก ในป่าลึก" ที่เขียนโดยวัธนา บุญยัง ที่ใช้ฉากการสร้างเส้นทางรถไฟบรรทุกไม้จากป่าตะวันออกมายังท่าเรือศรีราชาเป็นฉากดำเนินเรื่อง ผมเห็นหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่ตอนที่พิมพ์ครั้งแรก แต่กว่าจะซื้อมาเป็นสมบัติส่วนตัวก็ได้ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง จากหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมทราบว่าในอดีตนั้น เคยมีการวางรางรถไฟเพื่อขนไม้ที่ตัดในป่าจากศรีราชาไปจนจรดระยองและจันทบุรี เพื่อนำมายังโรงเลื่อยที่อ.ศรีราชา และนำไปลงเรือที่ท่าเรือเกาะลอย โดยผู้บุกเบิกการทำไม้ในบริเวณนั้นคือเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี

ในส่วน "ที่มาของเรื่อง" ของหนังสือดังกล่าว ผู้เขียนได้เล่าถึงประวัติความเป็นมาของตัวอำเภอศรีราชา และการทำสัมปทานป่าไม้ในเขตนี้ของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี และมีการกล่าวถึงสถานนีรถไฟที่เหลือหลังการปรับปรุง เสียดายที่ไม่ได้บอกว่ามีการสร้างทางรถไฟตั้งแต่เมื่อใด และเริ่มแรกนั้นมีการเดินรถไปยังบริเวณใดบ้าง บอกแต่เส้นทางที่เหลือหลังการปรับปรุงในปีพ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งมีสถานีสำหรับให้รถไฟสับหลีกกันเหลือเพียง ๗ สถานีเรียงตามลำดับจากตัวอำเภอศรีราชาออกไปดังนี้ (หน้า ๑๔ ของหนังสือ)

๑. สถานีศรีราชา (ต้นทาง)

๒. สถานีเจิม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าสถานีหนองยายบู่

๓. สถานีจอมพล หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าสถานีทับกระบุด (ได้มาจากชื่อฝูงลิงกังก้นแดงที่ชาวบ้านเรียกว่า "ลิงกระบุด" ซึ่งมีมากในบริเวณนี้ในเวลานั้น)

๔. สถานีทัพพระยา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าสถานี ก.ม. ๓๑ (แต่ในหนังสือหน้า ๓๑๐ บอกว่าชื่อ "เจ้าพระยา")

๕. สถานีสุรศักดิ์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าสถานีเจ็กงัก

๖. สถานีมนตรี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าสถานีระเวิง และ

๗. สถานีเฉลิมลาภ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าสถานีชุมนุมกลาง ซึ่งเป็นสถานีสุดท้าย


สาเหตุที่คิดจะวางทางรถไฟนั้น ในหน้า ๑๗๔ ของหนังสือเล่าว่า เพราะต้องการนำไม้ออกจากป่าได้ตลอดทั้งปี เดิมนั้นใช้รถลากเอาซุงออกมา แต่จะประสบปัญหาเส้นทางในหน้าฝน จึงได้ตัดสินใจที่จะวางรางรถไฟเล็กเข้าไปในป่า ซึ่งโครงการดังกล่าวก็ได้กลายเป็นโครงการรถไฟเล็กลากไม้สายตะวันออก ซึ่งเป็นสายแรกของประเทศไทย ที่เรียกว่ารถไฟเล็กก็เพราะใช้รางกว้างเพียง 0.8 เมตร (รางมาตรฐานบ้านเราในปัจจุบันอยู่ที่ 1.0 เมตร)

หนังสือยังเล่าด้วยว่า การวางรางนั้นเริ่มที่สถานีศรีราชา ข้างโรงเลื่อยในตลาด (ปัจจุบันไม่มีโรงเลื่อยเหลือแล้ว เหลือแต่ตลาด และมีห้างสรรพสินค้าขึ้นแทน) ข้ามถนนสุขุมวิทไปทางตะวันออก เลียบรั้วโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา (น่าจะเป็นฝั่งด้านทิศใต้) ผ่านบ้านมาบปู บ้านไร่กล้วย บ้านหนองคันนา บ้านหนองยายบู่ บ้านหนองค้อ (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง) บ้านเจ็กงัก บ้านหุบบอน (ถ้าขับรถมาแถวชลบุรีและเห็นร้านอาหารโฆษณาว่าขายไก่หุบบอน ก็ของที่นี้แหละ) และอ้อมเขาคันทรงขึ้นไปทางเหนือ

ณ ตรงเขาคันทรงนี้ (ซึ่งหนังสือกล่าวว่ามีความสูงน้อยกว่าเขาเขียวไม่เท่าไร) มีการสร้างสถานีชุมทาง (เนื่องจากพื้นที่สัมปทานป่าไม้ครอบคลุมไปทาง อ. พนัสนิคม ด้วย) ซึ่งปัจจุบันได้แก่บ้านหัวกุญแจ ณ ชุมทางหัวกุญแจนี้ ทางรถไฟสายหนึ่งแยกลงใต้ไปทาง ผ่านบ้านหนองปลาไหล บ้านระเวิง ไปสุดทางที่บึงตาต้าในเขต อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ในปัจจุบัน

อีกสายหนึ่งแยกออกจากบ้านหัวกุญแจขึ้นไปทางเหนือ ไปเกาะจันทร์ (น่าจะเป็นเขตกิ่ง อ.เกาะจันทร์ ในปัจจุบัน) อ.บ่อทอง และเขาชะอางโอน (ติดกับป่าเขาใหญ่และเขาอ่างฤาไน ของ จ.ฉะเชิงเทรา) ซึ่งเส้นทางแยกด้านทิศเหนือนี้ถูกตัดออกไปหลังการปรับปรุงกิจการ ทำให้เหลือเฉพาะเส้นทางไปยังบึงตาต้าเพียงสายเดียว


รูปที่ ๓ หนังสือเรื่อง "รางเหล็กในป่าลึก" เขียนโดย วัธนา บุญยัง หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกเดือนสิงหาคม ๒๕๕๒ แต่ที่ผมซื้อมานั้นเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่สองเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๔


ผมเชื่อว่าทางรถไฟที่แยกจากบ้านหัวกุญแจลงใต้ไปยังบ้านหนองปลาไหลนั้น คือทางรถไฟที่ภรรยาผมเคยเห็นตอนยังเป็นเด็ก เพราะช่วงเวลานั้นทางรถไฟที่แยกขึ้นเหนือถูกยกเลิกไปนานแล้วก่อนภรรยาผมเกิด ดังนั้นทางรถไฟที่ภรรยาผมเห็นนั้นจึงควรอยู่ที่แนวถนนรถไฟเก่าในปัจจุบัน

บริเวณที่หนังสือกล่าวถึงนั้น ก่อนหน้านี้ผมเคยขับรถไปเที่ยวเล่นมาแล้ว แต่ไม่เคยนึกมาก่อนเลยว่าแต่ก่อนเคยมีทางรถไฟไปถึง

นอกจากนี้ยังมีการขยายทางจากตัวโรงเลื่อยออกไปยังเกาะลอย เพื่อใช้รถไฟขนไม้ไปลงเรือที่จอดรออยู่ที่เกาะลอย ปัจจุบันเกาะลอยก็เป็นสถานที่เที่ยวแห่งหนึ่งของ อ.ศรีราชา มีการถมดินบริเวณรอบเกาะเพื่อให้รถวิ่งวนได้รอบเกาะ และจะได้ก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ได้รอบเกาะ (ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไปต้องทำไปที่นั่นด้วย ปล่อยให้มันอยู่ตามธรรมชาติแบบเดิมไม่ได้หรือไง ต้องหาเรื่องถมทะเลทำการก่อสร้างอยู่เรื่อยเลย)


รูปที่ ๔ เอาแผนที่ตัวอำเภอศรีราชาในปัจจุบันมาลงให้ดูกัน จะได้เห็นภาพว่าสถานที่ต่าง ๆ อยู่ที่ไหน (ภาพจาก thailand-map-guide.com)

(๑) โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา

(๒) ที่ทำการเทศบาลที่มีหัวรถจักรตั้งแสดงอยู่

(๓) ท้ายสวนสาธารณะเกาะลอยเยื้องกับสถานีสูบน้ำของเทศบาลก็เห็นมีหัวรถจักรตั้งอยู่เหมือนกัน แต่สถาพโทรมกว่าที่ตั้งแสดงอยู่หน้าที่ทำการเทศบาล ตอนแรกที่ผมเห็นผมยังนึกว่าร้านอาหารเอาหัวรถจักรมาจอดหน้าร้านเพื่อเรียกลูกค้า แต่พอลงไปดูใกล้ ๆ ก็พบว่าเป็นหัวรถจักรของจริง

(๔) เกาะลอย ซึ่งปัจจุบันเป็นท่าเรือข้ามไปยังเกาะสีชัง

(๕) สะพานข้ามไปเกาะลอย สะพานนี้พึ่งสร้างใหม่ได้ไม่นาน ก่อนหน้านี้เป็นการถมดิน (ทำให้น้ำในทะเลสองฝั่งสะพานไม่มีการไหลหมุนเวียนที่ดี ก็เลยโดนรื้อออกและสร้างใหม่) และก่อนหน้านั้นไปอีกน่าจะเป็นสะพานไม้สำหรับให้รถไฟวิ่งไปส่งไม้ลงเรือที่จอดรออยู่ที่เกาะลอย (ดูรูปที่ ๕ ถัดไป)

(๖) ห้างโรบินสันศรีราชา (เอามาแสดงเพื่อให้เป็นจุดสังเกตในปัจจุบัน เพราะอยู่ริม ถ.สุขุมวิท)

(๗) โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา


รูปที่ ๕ รูปนี้ผมเห็นใส่กรอบแขวนไว้ในร้านอาหารร้านหนึ่งแถวตลาดหนองมน จ.ชลบุรี (จำไม่ได้ว่าเป็นร้านไหน) บอกว่าเป็นสะพานไม้เดิมข้ามไปเกาะลอยก่อนโดยพายุพัดพัง (ดูเหมือนจะถ่ายเอาไว้ก่อนพ.ศ. ๒๕๐๐) รูปที่เอามาลงผมค้นจาก google บอกว่าเป็นของ blog ชื่อ blog.homdee.com แต่ไม่สามารถคลิกเข้าไปที่ blog ดังกล่าวได้ ในหน้า ๓๐๙ ของหนังสือของวัธนา บุญยัง พูดถึงการสร้างทางรถไฟ ข้ามสะพานไม้ไปยังเกาะลอย ในรูปดังกล่าวจะเห็นแนวทางที่น่าจะเป็นรางรถไฟ สำหรับรถไฟนำไม้ไปลงเรือที่เกาะลอย ซึ่งตรงกับข้อเขียนในหนังสือ (หมายเหตุ วันศุกร์ที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๔ : เมื่อวานภรรยาผมเอาปฏิทินจัดทำโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรีปีพ.ศ. ๒๕๕๔ จัดทำในเรื่อง "ภาพเก่า เล่าเรื่อง เมืองชล" มาให้ โดยในปฏิทินหน้าเดือนสิงหาคมระบุว่า ภาพนี้ถ่ายประมาณปีพ.ศ. ๒๔๙๐ ระบุด้วยว่า "สะพานนี้เป็นสะพานรถไฟขนส่งไม้แปรรูปของบริษัทศรีมหาราชา โดยบรรทุกไม้ทางรถไฟขนมาลงเรือที่สะพานเกาะลอยนี้ (ข้อมูลจากหนังสือ ๑๐๐ ปี ศรีราชา)" )




หัวรถจักรที่นำมาใช้ชักลากไม้เป็นหัวรถจักรยี่ห้อฮันเชล (Henschel) ผลิตในประเทศเยอรมัน ในส่วน "ที่มาของเรื่อง" กล่าวว่าปัจจุบันยังเหลืออยู่หัวหนึ่งตั้งไว้ที่หน้าที่ทำการเทศบาล ผมก็เลยถือโอกาสไปถ่ายรูปมา


รูปที่ ๘ หัวรถจักรยี่ห้อฮันเชลที่ตั้งอยู่หน้าเทศบาลศรีราชา


รูปที่ ๙ ภาพอีกมุมหนึ่งของหัวรถจักรที่ตั้งอยู่หน้าเทศบาลศรีราชา


รูปที่ ๑๐ Name plate ที่ระบุหมายเลขหัวรถจักรและปีค.ศ.ที่ผลิต (ค.ศ. 1952) ติดอยู่ทางด้านซ้ายของหัวรถจักร


รูปที่ ๑๑ ภาพด้านหน้าของหัวรถจักร


รูปที่ ๑๒ หัวรถจักรของเยอรมัน DRG Class 99.21 สร้างโดย Henschel ซึ่งผมดูแล้วเห็นว่ามีรูปร่างใกล้เคียงกับหัวรถจักรที่ตั้งอยู่หน้าเทศบาลศรีราชามากที่สุด (ภาพจาก http://en.wikipedia.org/wiki/DRG_Class_99.21) ซึ่งในเว็บบอกว่าสร้างขึ้นเพียงหัวเดียว ต่างกันที่ตรงขนาดราง ที่ในเว็บบอกว่าใช้รางขนาดกว้าง 1000 mm แต่ที่ตั้งอยู่หน้าเทศบาลนั้นขนาดรางน่าจะเพียงประมาณ 750-800 mm เท่านั้น


อันที่จริงยังมีหัวรถจักรอีกหัวหนึ่งที่จอดทิ้งไว้ท้ายสวนสาธารณะริมทะเลของอ.ศรีราชา อยู่เยื้องโรงสูบน้ำของเทศบาล ด้านหนึ่งของหัวรถจักรนี้มีป้ายร้านอาหารตั้งบังอยู่ ผมเห็นหัวรถจักรนี้มาตั้งนานแล้ว แต่เดิมคิดว่าทางร้านอาหารเอามาจอดเพื่อเรียกลูกค้า แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมปล่อยทิ้งให้มันโทรมจัง ยังเคยคุยกับภรรยาว่าหัวรถจักรมันเกี่ยวอะไรกับอ.ศรีราชา ทำไมเอามาตั้งทิ้งไว้ริมทะเล แต่พอได้อ่านหนังสือของ วัธนา บุญยัง แล้วทำให้อดไม่ได้ที่ต้องลงไปดูใกล้ ๆ และในที่สุดก็พบว่ามันเป็นหัวรถจักรของจริง และน่าจะเป็นหัวรถจักรรุ่นเดียวกับที่จอดไว้ที่หน้าเทศบาลด้วย



รูปที่ ๑๓ หัวรถจักรอีกหัวหนึ่งที่จอดทิ้งไว้ท้ายสวนสาธารณะเกาะลอย เยื้องสถานีสูบน้ำของเทศบาล เข้าใจว่าเป็นรุ่นเดียวกันกับที่จอดไว้หน้าเทศบาล


รูปที่ ๑๔ ภาพด้านหม้อไอน้ำของหัวรถจักรที่ตั้งทิ้งไว้เยื้องสถานีสูบน้ำของเทศบาล


ผมตั้งใจให้ Memoir ฉบับนี้ออกในวันที่ ๑ กรกฎาคม ก็เพราะเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิด อ.ศรีราชา และเป็นผู้บุกเบิกการทำไม้ในเขตนี้ ถึงแก่อนิจกรรม ในวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ นับถึงวันนี้ก็เป็นเวลา ๘๐ ปีพอดี


บ่อยครั้งที่เวลาอ่านนวนิยาย ผมพบว่าสิ่งที่ผู้เขียนใส่ลงไปในนวนิยายนั้นไม่ได้มีเพียงแค่จินตนาการของ ผู้เขียน แต่ยังมีบันทึกประวัติศาสตร์ของสถานที่ บุคคล และเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอดีตที่ผ่านมาที่ผู้เขียนเคยประสบ มีนิยายหลายเรื่องที่ใช้ฉากอิงสถานที่จริง ซึ่งทำให้เมื่อผมอ่านแล้วอยากไปเยี่ยมชมสถานที่เหล่านั้น

ผมพบว่าบางครั้งการอ่านหนังสือให้สนุก ไม่ใช่การนั่งอ่านหรือนอนอ่านในห้องที่แสนจะสบาย แต่ควรต้องเป็นการอ่านในสถานที่ที่หนังสือกล่าวถึง ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่าได้อยู่ร่วมกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่หนังสือได้กล่าวเอาไว้ หรืออย่างน้อยมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมสถานที่ที่หนังสือนั้นกล่าวถึงสักครั้งก็ ดี

ไม่มีความคิดเห็น: