วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2561

น้ำดื่ม (คิดสักนิดก่อนกดแชร์ เรื่องที่ ๑๑) MO Memoir : Saturday 3 March 2561

ด้วยว่าที่มีคำถามเป็นข้อความเข้ามาถามความเห็นทางโทรศัพท์เมื่อเย็นวานนี้ ผมก็ตอบกลับไปว่ายังไม่ขอให้ความเห็นด้วยการพิมพ์ข้อความผ่านโทรศัพท์ เพราะเรื่องมันยาว และอันที่จริงก็ได้ให้ความเห็นกลับไปแล้วทางหน้า facebook เมื่อคืนที่ผ่านมา แต่คิดว่าความเห็นดังกล่าวน่าจะพอมีประโยชน์อยู่บ้าง ก็เลยต้องขอนำมาบันทึกไว้ในที่นี้

แต่ก่อนอื่นขอแนะนำให้ใช้ "สติ" ในการอ่านข้อความที่ผมเขียนต่อไปนี้ เพราะแต่ละท่าน (โดยเฉพาะท่านที่เรียนมาทางสายวิทยาศาสตร์และยังพอมีพื้นฐานวิชาเคมีหลงเหลืออยู่บ้าง) ต่างมี "ปัญญา" ที่จะพิจารณาเหตุผลอยู่แล้วว่ามันสมเหตุสมผลหรือไม่ครับ เพราะจะว่าไปเรื่องราวมันก็ไม่ได้ใช้ความรู้เกินเคมีพื้นฐาน หรืออย่างมากก็เคมีวิเคราะห์เลย


รูปที่ ๑ ส่วนหนึ่งของข้อความจากหน้า Preface ของคู่มือขององค์การอนามัยโลก บอกให้รู้ว่าคู่มือฉบับนี้เป็นฉบับที่รวมเอาข้อมูลที่จัดทำขึ้นในปีค.ศ. ๒๐๑๑ (พ.ศ. ๒๕๕๔) และส่วนเพิ่มเติมที่จัดทำขึ้นในปีค.ศ. ๒๐๑๖ (พ.ศ. ๒๕๕๙) เข้าด้วยกัน

. เรื่องแรกคือ "น้ำดื่ม" นั้น "ต้องประกอบ" ด้วยอะไรบ้าง ตรงนี้มันไม่มีข้อกำหนดครับ มันมีแต่เกณฑ์ "ต้องไม่มี (เชื้อโรค สารเคมี หรือแร่ธาตุที่เป็นอันตราย)" ในปริมาณเกินมาตรฐานที่กำหนด แต่อย่างแรก เอาเป็นว่ามี สี กลิ่น รส ไม่เป็นที่รังเกียจ
 
ถ้าไปกำหนดว่าน้ำดื่มที่ "ดี" นั้นต้องไม่มีมี ไม่มีกลิ่น และไม่มีรส ดังนั้นพวกน้ำ ชา เก็กฮวย อัญชัญ ตะไคร้ กระเจี๊ยบ ฯลฯ ก็ต้องถือว่าเป็นน้ำดื่มที่ "ไม่ดี" ไปด้วย  เพราะมันต่างมีสี มีกลิ่น และมีรส
รายละเอียดเรื่องเกี่ยวกับคุณภาพน้ำดื่มนี้ ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดทำเอกสารเผยแพร่ที่สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีครับ เป็นเอกสารชื่อ "Guidelines for drinking-water quality, 4th edition, incorporating the 1st addendum"

ใน Chapter ที่ 12 เรื่อง Chemical hazards in drinking-water ของเอกสารดังกล่าวยังมีรายการสารแต่ละตัวที่ได้มีการพิจารณาถึงความเป็นอันตรายว่ามีมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าขี้เกียจไปอ่านจากเอกสารฉบับเต็ม ก็สามารถไปค้นดูจากรายการเรียงตามลำดับอักษรได้ครับได้ที่

. ไอออนหลักที่ทำให้น้ำในธรรมชาติมีความกระด้าง (hardness) คือไอออน Ca2+ และ Mg2+ ซึ่งถ้ามี "มากเกินไป" มันส่งผลต่อรสชาติของน้ำได้ และส่งผลต่อการซักล้างด้วยการใช้สบู่ 
  
ที่ต้องเน้นย้ำคำว่า "มากเกินไป" ก็เพราะว่าต้องการให้เข้าใจว่าน้ำดื่มนั้นมันสามารถมีไอออนเหล่านี้ได้ ไม่ใช่ต้องไม่มี (อย่างที่มีคนบางกลุ่มพยายามสร้างภาพนั้นขึ้น) ดังนั้นการลดความกระด้างจึงต้องมุ่งเน้นไปที่การลดปริมาณไอออนสองตัวนี้ในน้ำ (อันที่จริงพวกที่มีประจุบวกตั้งแต่ 2+ ขึ้นไปเช่น Fe2+ ก็ก็ปัญหาเรื่องความกระด้างเช่นกัน เพียงแต่ถ้าเป็นไอออนของโลหะทรานซิชันมันมักจะมีสี ทำให้เราสังเกตเห็นด้วยตาเปล่าได้ก่อน ส่วนไอออนของโลหะอัลคาไลน์ (เช่น Na+ และ K+) และอัลคาไลน์เอิร์ทเช่น Ca2+ และ Mg2+ นั้นมันไม่มีสี)
 
ความเข้มข้นของไอออนCa2+ และ Mg2+ ในแหล่งน้ำนั้นขึ้นอยู่กับว่าน้ำนั้นไหลผ่านบริเวณใดมาบ้าง แหล่งน้ำจืดที่ไหลผ่านพื้นที่ที่มีหินปูน (เช่นน้ำในแม่น้ำที่ไหลจากภาคเหนือลงมายังภาคกลางของประเทศไทย) มันจะละลายหินปูน (คือ CaCO3) ออกมาด้วย

. ไอออนคาร์บอเนต (carbonate หรือ CO32-) ของ Ca2+ และ Mg2+ เป็นเกลือที่ละลายได้น้อยในน้ำร้อน ดังนั้นเมื่อนำน้ำที่มีเกลือคาร์บอเนตของ Ca2+ และ Mg2+ ไปต้ม เกลือเหล่านี้จะตกตะกอนออกมาเป็นตะกรันให้เราเห็น ดังนั้นน้ำที่เหลือจากการต้มจะมีปริมาณแร่ธาตุพวกนี้ "ลดลง" ความกระด้างของน้ำจะ "ลดลง" ความกระด้างของน้ำที่เกิดจากไอออนคาร์บอเนตนี้เรียกว่าความกระด้างชั่วคราว (temporary hardness) ไอออนคาร์บอนเนตนี้มีฤทธิ์เป็นด่าง มันยังมีประโยชน์ตรงที่ช่วยสะเทินกรดที่มากับน้ำฝนด้วยครับ ช่วยป้องกันแหล่งน้ำไม่ให้มีค่า pH ที่ต่ำเกินไปด้วย
 
แต่ถ้าเป็นเกลือคลอไรด์ (chloride หรือ Cl-) หรือซัลเฟต (sulphate หรือ sulfate หรือ SO42-) ของ Ca2+ และ Mg2+ เกลือพวกนี้จะไม่ตกตะกอนออกมาเมื่อนำไปต้ม ดังนั้นน้ำที่ต้มแล้วไม่เห็นการเกิดตะกอนก็ไม่ได้แปลว่ามันไม่มีความกระด้างหรือไม่มีแร่ธาตุละลายอยู่ แต่อาจเป็นเพราะแร่ธาตุที่ละลายอยู่นั้นมัน "ละลายได้ดีในน้ำร้อน" ความกระด้างแบบนี้เรียกว่าความกระด้างถาวร (permanent hardness)
 
น้ำประปาที่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำบางแหล่งที่ได้น้ำที่ไม่ได้ไหลผ่านบริเวณที่มีหินปูน (เช่นอ่างเก็บน้ำทางภาคตะวันออกบางแหล่งที่รับน้ำฝนที่ซึมซับผ่านชั้นทรายหรือเส้นทางการไหลของน้ำนั้นไม่ได้ผ่านชั้นหินปูน น้ำพวกนี้ถ้าเอามาต้มแล้วไม่ค่อยเห็นการเกิดตะกรันก็ไม่แปลกครับ แต่ไม่ได้หมายความว่าน้ำนั้นมันไม่มีไอออนหรือความกระด้างเลย
 
แต่การต้มน้ำจนทำให้ความเข้มข้นไอออนที่หลงเหลือในน้ำนี่สูงขึ้นได้ต้องเป็นการระเหยน้ำออกไปในปริมาณมากเลยครับหรือไม่ก็ต้องเป็นน้ำที่ต้มแล้วไม่มีเกลือแร่ตกตะกอนเป็นตะกรันออกมา คือมีแต่น้ำระเหยออกไป แต่สำหรับการต้มในกระติกน้ำร้อนไฟฟ้าที่มีฝาปิดนั้น เราจะเห็นนะครับว่าน้ำจะเดือดก่อนโดยที่ปริมาณน้ำที่ระเหยไปนั้นน้อยมาก แบบถ้าไม่สังเกตดี ๆ ก็คงมองไม่เห็น
 
อุตสาหกรรมที่ใช้น้ำในปริมาณมากและคุณภาพน้ำส่งผลต่อการทำงานของกระบวนการผลิตหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้ การลดความกระด้างของน้ำก่อนนำไปใช้จึงเป็นสิ่งสำคัญ (แม้ว่าปริมาณความกระด้างนั้นไม่มีปัญหาสำหรับการเป็นน้ำดื่มก็ตาม) วิธีการที่ง่ายที่สุดที่สามารถลดความกระด้างแบบชั่วคราวลงได้ก็คือ "การต้มน้ำ" (มันช่วยลดทั้งความกระด้างแบบชั่วคราวและไล่ออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำออกไปด้วย)

. น้ำก็เป็นแหล่งที่ให้แร่ธาตุแก่ร่างกายแหล่งหนึ่งนะครับ แม้ว่าจะในปริมาณที่ไม่มากเท่าอาหารก็ตาม เวลาเราเล่นกีฬาเสียเหงื่อมากเรายังต้องกินน้ำผสมแร่ธาตุเลย (ความเข้มข้นแร่ธาตุอาจเยอะหน่อย) ก็ไม่เห็นมีใครกลัวอะไร เพียงแต่ถ้าเรากำหนดเป็น "น้ำดื่ม" ธรรมดา มันจะมีเรื่อง กลิ่น สี และรส เข้ามายุ่ง แร่ธาตุบางตัวที่มีปริมาณมากบางครั้งมันก็ทำให้น้ำมีรสชาติ แต่ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน บางคนก็ไม่ชอบ บางคนก็เฉย ๆ บางคนก็ชอบ
 
ตอนที่ผมสอนแลปเคมีวิเคราะห์นิสิตป.ตรี ก็ให้นิสิตเอาน้ำดื่มบรรจุขวดขายหลากหลายยี่ห้อมาวัด ความเป็นด่าง (alkalinity ที่เป็นตัวบ่งบอกถึงปริมาณคาร์บอเนต (CO32-) และไบคาร์บอเนต (HCO3-)) ความกระด้าง (hardness ที่เป็นตัวบ่งบอกถึงปริมาณไอออนบวกของโลหะตั้งแต่ 2+ ขึ้นไป) และค่าการนำไฟฟ้า (conductivity ที่เป็นตัวบ่งบอกถึงปริมาณแร่ธาตุทั้งหมดที่ละลายอยู่ในน้ำ) อยู่เป็นประจำ เทียบกับน้ำประปาและน้ำดื่มจากตู้กดน้ำเย็น จะเห็นเลยครับว่ามันมีความแตกต่างกันอยู่มาก ตรงนี้ขึ้นอยู่กับว่าน้ำนั้นผลิตด้วยกระบวนการอะไร
 
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือน้ำดื่มบรรจุขวดบางยี่ห้อที่บางคนไม่ชอบเพราะว่ามันมี "รส" อันนี้เป็นผลมาจากเกลือแร่ที่ละลายอยู่ครับ น้ำดื่มยี่ห้อนี้มีนิสิตเอามาเป็นตัวอย่างวิเคราะห์ในการเรียนเป็นประจำ มันมีค่าการนำไฟฟ้า (conductivity) สูงครับ แต่ค่าความกระด้าง (hardness) เป็นศูนย์ และก็มีคาร์บอเนตปนอยู่เล็กน้อย เพราะหยดฟีนอฟทาลีนลงไปก็ม้กจะเห็นสีชมพูจาง ๆ อยู่เป็นประจำ
 
แต่ถ้าเป็นน้ำแร่ (ที่มาจากพื้นที่ที่มีน้ำพุร้อนนะครับ ไม่ใช่จากที่ราบภาคกลางที่มาจากโรงงานเดียวกันกับที่ทำน้ำดื่มธรรมดาบรรจุขวด) พวกนี้มักจะเห็นทั้งความกระด้างและความเป็นเบส (alkalinity) สูงกว่าน้ำประปาเพียบ
 
ถ้ากลัวว่าน้ำที่ดื่มนั้นจะมีแร่ธาตุละลายปนอยู่ (โดยเฉพาะ Ca ที่กลัวเป็นนิ่ว) ต่อไปคงต้องเลิกกินน้ำแกงจืด น้ำซุบต้มกระดูก น้ำปลา ฯลฯ ครับ 
  
น้ำกลั่นเติมแบตเตอรี่รถยนต์ที่ก็มีความบริสุทธิ์สูงนะครับ สูงกว่าน้ำดื่มบรรจุขวดอีก เคยเอามาวัดค่าการนำไฟฟ้า ปรากฏว่าอยู่ที่ระดับเดียวกันกับน้ำกลั่นที่ใช้อยู่ในห้องทดลองของผมเลย ดังนั้นถ้าอยากกินน้ำที่มีความบริสุทธิ์สูงมากและไม่อยากกลั่นน้ำกินเองก็คงต้องไปหาน้ำกลั่นเติมแบตเตอรี่รถยนต์ (แบบไม่ใส่สีนะครับ แต่เดี๋ยวนี้เห็นน้อยลง) มาดื่มแทน
 
คนต้องการแคลเซียมเพิ่ม เช่นหญิงตั้งครรภ์เนี่ย บางทีหมอยังจ่าย CaCO3 (แคลเซี่ยมคาร์บอเนต ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าหินปูนสำหรับบริโภคได้ไหม) เม็ดละ 1000 mg ให้กินเลยนะครับ กลืนยาพร้อมน้ำตามลงไป พอไปถึงกระเพาะอาหารเดี๋ยวก็มีกรดเกลือ (Hydrochloric acid หรือ HCl ที่มีการนำมาใช้ทำน้ำยาล้างห้องน้ำสูตรละลายคราบหินปูน) ที่กระเพาะอาหารหลั่งออกมา ทำการละลายมันให้กลายเป็น Ca2+ ให้เอง และที่สำคัญคือไม่เห็นใครมีออกมาบ่นว่ากลัวเป็นนิ่วด้วย

. ในบ้านเรานั้นมีแหล่งเกลือแกง (Sodium chloride หรือ NaCl) ทั้งทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายแหล่งครับ (รวมทั้งโป่งเกลือที่อยู่ในป่าให้สัตว์กินด้วย) ที่เราเรียกว่าเกลือสินเธาว์ (ภาษาอังกฤษเรียก Rock salt) เกลือสินเธาว์มันมีข้อดีตรงที่มันมีสิ่งปนเปื้อนต่ำ ทำให้มันไม่ค่อยจับความชื้น เอามาใส่ขวดที่มีฝาเป็นรูแล้วสามารถเทให้มันไหลออกทางรูได้ง่าย ต่างจากเกลือที่มาจากน้ำทะเลที่มันจะเกาะติดกัน ต้องใช้วิธีตักเอา
 
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่น้ำดิบที่นำมาทำน้ำประปาในพื้นที่ที่ห่างจากทะเลจะมีคลอไรด์ไอออน (หรือ Cl-) ปนอยู่เล็กน้อย ยิ่งแถวกรุงเทพเนี่ยปีไหนแล้งมาก ตอนหน้าแล้งจะมีน้ำเค็มหนุนเข้ามาลึก (โดยเฉพาะในช่วงเวลาน้ำขึ้น) เข้าไปถึงนนทบุรี เรียกว่าอาจทำให้น้ำประปามีรสกร่อยได้เล็กน้อย
แถมการผลิตน้ำประปาในบ้านเรายังใช้คลอรีน (หรือเกลือไฮโปคลอไรต์) ฆ่าเชื้อโรคอีก ดังนั้นมันไม่แปลกหรอกครับที่น้ำประปาบ้านเราที่ไหลมาถึงแต่ละบ้าน จะมีคลอไรด์ไอออนปนอยู่เล็กน้อย

. การทดสอบคลอไรด์ไอออนในน้ำทำได้ไม่ยากครับ แค่หยดสารละลายซิลเวอร์ไนเทรต (AgNO3) ลงไป ถ้าเห็นตะกอนขุ่นขาวเกิดขึ้นก็แสดงว่ามีคลอไรด์ปนอยู่ (คือเกิดเกลือซิลเวอร์คลอไรด์ AgCl ขึ้น)
 
วิธีการทดสอบนี้เป็นวิธีการทดสอบที่ไววิธีการหนึ่ง เครื่องแก้วในห้องแลปเคมีที่ล้างด้วยน้ำประปาแล้วปล่อยให้แห้งจะมีเกลือแร่ที่อยู่ละลายในน้ำประปาตกค้างบนผิวเครื่องแก้ว พอเอาน้ำกลั่นใส่ลงไป น้ำกลั่นนั้นก็จะไปละลายเอาเกลือแร่เหล่านี้ออกมา พอหยดสารละลายซิลเวอร์ไนเทรตลงไปก็จะได้ตะกอนขาว ดังนั้นก่อนใช้เครื่องแก้ว ถ้ากลัวปนเปื้อนพวกนี้ก็ต้องเอาน้ำกลั่นชะล้างผิวให้สะอาดก่อนครับ
 
ซิลเวอร์คลอไรด์ (Silver chloride AgCl) เป็นเกลือที่ละลายในน้ำได้น้อยมาก ยิ่งในน้ำมีคลอไรด์ไอออนมาก ปริมาณไอออนของโลหะเงิน (หรือเรียกให้โก้ ๆ หน่อยก็ซิลเวอร์) ที่จะละลายอยู่ในน้ำก็จะต่ำมากตามไปด้วย
  
เคยยืนดูนิสิตที่มีอาชีพพิเศษเป็นตัวแทนขายเครื่องกรองน้ำยี่ห้อหนึ่ง เขาเอาน้ำประปาในห้องแลปมาสาธิตให้เพื่อนดูด้วยการหยดสารละลายซิลเวอร์ไนเทรต (Silver nitrate AgNO3) ลงไปแล้วมันเกิดตะกอนขุ่นขาวขึ้น แล้วเขาก็บอกว่าเห็นไหมว่าน้ำประปามันมีสิ่งเจือปนอยู่ แต่ถ้าผ่านเครื่องกรองน้ำที่เขาขายแล้วจะไม่เห็นตะกอนขุ่นขาว (การทดลองนี้บริษัทผู้ขายเป็นคนออกแบบวิธีการทดลองให้แต่ละคนที่นำเครื่องไปขายไปสาธิตให้กลุ่มเป้าหมายดู) 
 
ผมก็บอกกับนิสิตคนอื่นต่อหน้าเขาไปว่า ถ้าทำการทดลองแล้วเห็นตะกอนขุ่นขาวก็น่าจะแสดงว่าน้ำนั้นผ่านการฆ่าเชื้อโรคแล้ว เพราะบ้านเราใช้คลอรีนในการฆ่าเชื้อ ถ้าหยดซิลเวอร์ไนเทรตแล้วไม่เห็นตะกอนขุ่นขาวนั่นจะน่าวิตกกว่า เพราะไม่รู้ว่าน้ำนั้นผ่านการฆ่าเชื้อแล้วหรือไม่


รูปที่ ๒ บทความกล่าวถึงความสามารถในการฆ่าเชื้อโรคของโลหะเงิน ตีพิมพ์ในวารสาร Metal-Based Drugs 1994; 1(5-6): 467–482 ดาวน์โหลดได้ที่ https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2364932/ ท่อนบนมาจากหน้าแรกของบทความ ส่วนท่อนล่างมาจากหน้าที่สอง
  
. เกลือไนเทรต (nitrate NO3-) ของโลหะต่าง ๆ เป็นเกลือที่ละลายน้ำได้ดี แต่ตัวไอออนไนเทรตเองเป็นไอออนลบที่ถ้าหากมีปริมาณมากไปในก็ส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ ในบางประเทศที่ใช้แอมโมเนียมไนเทรต (ammonium nitrate NH4NO3) เป็นปุ๋ยไนโตรเจนให้กับพืชที่ปลูก ก็จะมีไนเทรตส่วนเกินนั้นหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้ แต่ที่บ้านเราเนี่ยตัวแอมโมเนียมไนเทรตถูกจัดให้เป็นวัตถุระเบิด ก็เลยต้องหันไปใช้ปุ๋ยยูเรียเป็นตัวให้ไนโตรเจนแทน (ก็แอมโมเนียมไนเทรตมันเป็นวัตถุระเบิดจริง แต่จัดเป็นประเภทแรงดันต่ำทางทหาร งานที่ไม่ต้องการความดันสูงมาก เช่นการระเบิดหินเพื่อนำหินมาใช้งานงานก่อสร้าง หรือการทำเหมือง ที่เพียงแค่ต้องการให้หินกระเทาะแยกตัวออกจากกัน ไม่ต้องการให้เศษหินปลิวกระเด็นไปไกล ก็ใช้แอมโมเนียมไนเทรตนี้เป็นวัตถุระเบิดกัน)

. ความสามารถของโลหะเงินในการฆ่าเชื้อโรคนั้นเป็นที่ทราบกันมานานแล้วครับ และก็มีใช้กันมานานแล้วด้วย อย่างน้อยก็ตั้งแต่ยุคสมัยกรีก (ลองไปหาบทความที่นำตัวอย่างมาแสดงในรูปที่ ๒ อ่านดูได้ครับ) แต่ประวัติศาสตร์ก็ไม่ยักมีการบันทึกผลกระทบจากโลหะเงินที่ปนเปื้อนในน้ำเหมือนดังเช่นกรณีของตะกั่วที่มาจากท่อส่งน้ำ ในบ้านเราที่เห็นมีแต่เครื่องซักผ้าและผงซักฟอก ที่โฆษณาว่าใช้โลหะเงิน (ซิลเวอร์นาโน) ในการฆ่าเชื้อโรค ทำให้ผ้าที่ซักไม่มีกลิ่น


รูปที่ ๓ จากหน้า ๔๑๕ ของเอกสาร "Guidelines for Drinking-water Quality" Fourth Edition, Incorporating The First Addendum เนื้อหาเขาว่าไว้อย่างไรบ้างก็ลองอ่านเอาเองก็แล้วกันนะครับ โดยเฉพาะย่อหน้าท้าย ๆ
 
. เราอาจแยกกลุ่มสารปนเปื้อนในน้ำที่ต้องทำการควบคุมออกได้เป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกคือไอออนต่าง ๆ ที่ะลายอยู่ โดยเฉพาะไอออนโลหะหนักที่มีความเป็นพิษสูง กลุ่มที่สองคือพวกสารเคมีต่าง ๆ โดยเฉพาะสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร และกลุ่มที่สามคือพวกเชื้อจุลชีพ สิ่งปนเปื้อนเหล่านี้มีวิธีการควบคุมที่แตกต่างกัน บางเทคนิคนั้นสามารถจัดการได้มากกว่าหนึ่งกลุ่ม (เช่นการกลั่นที่แยกเอาไอออนออกจากน้ำและฆ่าเชื้อโรคได้ แต่ไม่สามารถจัดการกับสารเคมีที่ระเหยตามไอน้ำนั้นได้) การแลกเปลี่ยนไอออนก็สามารถทำได้แค่การกำจัดไอออนบางตัวได้ การให้โอโซนหรือแสงยูวีก็ทำได้เพียงแค่การฆ่าเชื้อโรคเท่านั้น
 
การฆ่าเชื้อโรคหมายถึงการทำให้เชื้อโรคตายนะครับ คือเป็นซากศพล่องลอยอยู่ในน้ำ ดังนั้นน้ำที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคแล้วจึงแปลได้ว่าเป็นน้ำที่ไม่มีเชื้อโรคที่มีชีวิตปนอยู่ แต่อาจเป็นน้ำที่เต็มไปด้วยซากศพของเชื้อโรคลอยล่องอยู่ก็ได้ครับ เว้นแต่ว่าน้ำนั้นจะกำจัดเชื้อด้วยการกรองเอาเชื้อโรคออก (เช่นใช้เทคนิคไมโครฟิลเตรชัน (microfiltration) หรือเทคนิคการกรองที่กรองได้ละเอียดกว่าเทคนิคนี้)
 
เทคนิคการฆ่าเชื้อโรคในน้ำมีด้วยกันหลากหลายเทคนิค และก็มีต้นทุนที่แตกต่างกันไปด้วย จะว่าไปแล้วสำหรับการผลิตน้ำประปาในบ้านเราหรือน้ำดื่มบรรจุขวดที่ขายกันอยู่ ผมเองก็ยังไม่เคยได้ยินว่ามีการใช้โลหะเงินในการฆ่าเชื้อโรคเลย (หรือผมตกข่าวก็ไม่รู้) พอมีคนถามมาเรื่องการปนเปื้อนของไอออนของโลหะเงินหรือ Ag+ ในน้ำดื่มก็เลยเกิดอาการงง ว่ามันจะคงอยู่ในน้ำดื่มได้อย่างไร (เว้นแต่จะไปซื้อซิลเวอร์ไนเทรตมาละลายน้ำดื่มเอง)
 
จะว่าไปปัญหาในบ้านเราขณะนี้ ผมว่าการปนเปื้อนสารเคมีที่ใช้ในการเกษตรที่ถูกชะลงแหล่งน้ำนั้นเป็นเรื่องที่ควรน่าวิตกกังวลมากกว่าครับ

ปัจจุบันเห็นหน้าเว็บหลายแห่งที่ดูชื่อหน่วยงานแล้วน่าเชื่อถือ แต่นำเสนอข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือครับ ประเภทเอา forward mail ที่ส่งต่อ ๆ กันมาโดยไม่รู้แหล่งที่มาและตัวผู้เขียนมาโพสไว้หน้าเว็บก็มี และที่สำคัญคือไม่มีการตรวจสอบข้อมูลนั้นว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน ส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลที่ไม่มีการเปิดเผย ทำเหมือนกับว่าขอให้เหมือนว่ามีการทำงาน ด้วยการมีข้อมูลอะไรจากไหนก็ได้มาแปะไว้ที่หน้าเว็บก็พอ
 
และอีกประการหนึ่งที่สำคัญที่ควรต้องพิจารณาประกอบก็คือ ผู้เขียนบทความมีส่วนได้ส่วนเสียหรือผลประโยขน์อะไรที่จะได้รับจากบทความนั้นหรือไม่ด้วยครับ เพราะเคยเห็นมาเหมือนกันที่ชื่อผู้เขียนบทความนั้น (ซึ่งเขาเป็นคนเขียนเองจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้) ที่ให้ข้อมูลเพื่อทำให้คนหวาดกลัวผลิตภัณฑ์ตัวหนึ่ง และดึงเข้าหาผลิตภัณฑ์ที่บริษัทที่เขาผลิตขึ้นแทน

ความน่าเชื่อถือของคนจะดูแต่เพียงแค่ว่าเขาจบการศึกษาสาขาไหนหรือสูงแค่ไหนไม่สำคัญหรอกครับ ดูการกระทำเป็นหลักดีกว่าครับ

ไม่มีความคิดเห็น: