วันเสาร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2558

รถไฟสายบางบัวทองในหนังสือประวัติเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๘๕) MO Memoir : Saturday 31 January 2558

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาผมได้กล่าวถึงหนังสือ "ประวัติเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ พระยาภิรมย์ภักดี และประวัติโรงเบียร์ โชคชาตาในชีวิตที่พอใจ" ที่จัดพิมพ์ในปีพ.ศ. ๒๕๐๖ โดยในหนังสือเล่มนี้ ม.ล. ยิ่งศักดิ์ อิศรเสนา ซึ่งเป็นบุตรชายของเจ้าพระยาวงพงษ์พิพัฒน์ เป็นผู้เขียนประวัติของเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ และได้มีการบันทึกเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างทางรถไฟจากบริเวณวัดบวรมงคล ผ่าน อ.บางกรวย ไปท่าน้ำเมืองนนท์ ตรงไป อ.บางบัวทอง และเลยออกไปยังเขตจังหวัดปทุมธานี ที่เป็นที่รู้จักกันในปัจจุบันว่า "รถไฟสายบางบัวทอง"
  
เนื้อหาในหนังสือนี้ (ฉบับพิมพ์ปีพ.ศ. ๒๕๐๖) มีปรากฏอีกครั้งในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงเยี่ยม จรัญสนิทวงศ์ (ม.ล. เยี่ยม สนิทวงศ์) ที่จัดพิมพ์ในปีพ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งเมื่อตรวจสอบดูแล้วพบว่ามีเนื้อหาเดียวกัน เว้นแต่การสะกดชื่อตรงคำว่า "พงษ์" (ดู Memoir ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๙๓๒ วันอังคารที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๘ เรื่อง "รถไฟสายบางบัวทองกับถนนจรัญสนิทวงศ์(ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำตอนที่ ๘๔)") โดยในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงเยี่ยม จรัญสนิทวงศ์ (ม.ล. เยี่ยม สนิทวงศ์) นั้นระบุว่าประวัติของเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ที่นำมาตีพิมพ์ใหม่นี้นำมาจากหนังสือที่พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว. เย็น อิศรเสนา) ณ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔
  
ประวัติรถไฟสายบางบัวทองที่เห็นมีปรากฏในอินเทอร์เน็ตนั้นมักจะเป็นในรูปแบบประวัติที่เป็นทางการ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเขียนตามหลักฐานราชการที่มี หรือไม่ก็ไม่สามารถสืบต่อไปได้ว่าต้นเรื่องที่นำมาเล่านั้นมาจากไหน (มีแต่เรื่องเล่า แต่ไม่มีการอ้างอิงที่มาข้อมูล) แต่สิ่งที่ปรากฏในหนังสือที่ ม.ล. ยิ่งศักดิ์ เป็นผู้เขียนนั้นผมเห็นว่าน่าสนใจ และก็อ่านสนุกด้วย เพราะเป็นการเขียนแบบเล่าบรรยายให้บรรยากาศรู้สึกเหมือนกับได้นั่งฟังผู้เขียนเล่าให้ฟัง
  
เรื่องราวของรถไฟสายบางบัวทองที่เขียนโดยผู้เขียนที่เป็นผู้ที่ได้สัมผัสโดยตรงกับทั้งเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์และทางรถไฟสายบางบัวทองนั้นเป็นอย่างไร ก็ขอเชิญอ่านได้จากรูปต่าง ๆ ที่สแกนมาให้ดูกัน (คัดมาเฉพาะหน้าที่เกี่ยวข้องกับรถไฟสายบางบัวทอง)
  
หนังสือนี้ยังบันทึกไว้ว่าเจ้าพระยาวรพงษ์ก็เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟสายสั้น ๆ ที่เริ่มจากสถานีเพชรบุรีไปยังหาดเจ้าสำราญในสมัยรัชกาลที่ ๖ ด้วย (หน้า ๘๙)
  
ท้ายสุดคงต้องขอบันทึกไว้ว่า ในหนังสือประวัติของเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์นั้นระบุไว้ว่า ท่านถึงแก่กรรมในวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เวลา ๒๑.๕๓ น. ตรง (หน้า ๑๒๐ ในหนังสือ) ซึ่งตรงนี้ไม่ตรงกับที่มักมีการอ้างอิงกันในอินเทอร์เน็ตว่าเป็นวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เช่นที่ http://th.wikipedia.org/wiki/เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์_(หม่อมราชวงศ์เย็น_อิศรเสนา))













วันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

ทำความรู้จัก Process Design Questionnaire ตอนที่ ๕ MO Memoir : Wednesday 28 January 2558

โดยปรกติแล้วในการซื้อเทคโนโลยีการผลิตอะไรสักอย่างมานั้น เจ้าของเทคโนโลยีจะให้ข้อมูลเพียงแค่สภาวะต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการทำปฏิกิริยาหรือการจัดการกับสาร เช่นกำหนด อุณหภูมิ ความดัน ฯลฯ ที่ต้องใช้ ส่วนจะทำอย่างไรเพื่อให้ระบบมี อุณหภูมิ ความดัน ฯลฯ ตามที่กำหนดนั้น ขึ้นอยู่กับการออกแบบว่าจะเลือกใช้อุปกรณ์หรือวิธีการใดเพื่อให้ระบบมี อุณหภูมิ ความดัน ฯลฯ ตามข้อกำหนด
   
เช่นการให้ความร้อนอาจให้โดยการใช้ ไอน้ำ น้ำร้อน ของเหลวตัวกลางอื่นที่ไม่ใช่น้ำ ไฟฟ้า การแลกเปลี่ยนความร้อนกับสายร้อนอื่นที่ต้องการทำให้เย็นตัวลง การลดความร้อนอาจกระทำโดยใช้ น้ำหล่อเย็น อากาศ ระบบหล่อเย็นที่ไม่ใช่น้ำในกรณีที่ต้องการลดอุณหภูมิให้ต่ำกว่าอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น หรือใช้การแลกเปลี่ยนความร้อนกับสายเย็นอื่นในกระบวนการผลิต ที่ต้องการทำให้ร้อนขึ้น การเพิ่มความดันให้กับของเหลวหรือการส่งของเหลวไปตามท่อ ที่ใช้ปั๊มเป็นตัวผลักดันนั้น อาจขับเคลื่อนปั๊มโดยใช้ มอเตอร์ไฟฟ้า กังหันไอน้ำ อากาศอัดความดัน หรือเครื่องยนต์ ก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการออกแบบ และสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการออกแบบระบบสาธารณูปโภค

7.0 Utility Conditions

มาต่อกันที่หน้า Page 15 of 28 ที่เป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณูปโภค (Utilities)
  
 
คำถามในหมวดหมู่นี้เริ่มจากไอน้ำ (steam) ที่มีการจัดกลุ่มออกเป็นไอน้ำความดันสูง (High pressure steam) ไอน้ำความดันปานกลาง (Medium pressure steam) และไอน้ำความดันต่ำ (Low pressure steam)
 
ไอน้ำที่ใช้ในโรงงานมีอยู่ด้วยกันสองประเภทคือ ไออิ่มตัว (Saturated steam) และไอร้อนยิ่งยวดหรือไอดง (Superheated steam) ไออิ่มตัวนั้นเหมาะสำหรับการให้ความร้อน เพราะค่าสัมประสิทธิ์การถ่ายเทความร้อนที่เกิดจากการควบแน่นนั้นมีค่าสูง และปริมาณความร้อนที่คายออกมาเมื่อไอน้ำควบแน่นเมื่อคิดต่อหน่วยน้ำหนักของไอน้ำที่ใช้ก็มีค่าสูงด้วย ส่วนไอร้อนยิ่งยวดนั้นเหมาะสำหรับการนำไปใช้ขับเคลื่อนกังหันไอน้ำ หรือส่งไปตามระบบท่อก่อนที่จะนำไปเปลี่ยนเป็นไออิ่มตัว (ด้วยการฉีดน้ำผสมเข้าไป) เพราะไอร้อนยิ่งยวดเมื่อเย็นตัวลงจะไม่เกิดการควบแน่นเป็นของเหลวทันที ทำให้ลดการสูญเสียไอน้ำในระบบท่อ (ไอน้ำที่ควบแน่นเป็นของเหลวในท่อต้องถูกระบายออกจากท่อเป็นระยะ)
 
ที่ความดันสูงขึ้น ไอน้ำก็จะมีอุณหภูมิสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ถ้าใช้ไอน้ำความดันสูงเกินควรในการให้ความร้อน จะทำให้อุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนนั้นต้องสามารถทนต่ออุณหภูมิและความดันที่สูงโดยไม่จำเป็นไปด้วย สำหรับไอน้ำแต่ละประเภท ค่าอุณหภูมิต่ำสุดจะเป็นตัวกำหนดขนาดพื้นที่แลกเปลี่ยนความร้อนที่เล็กที่สุดที่ยังสามารถส่งผ่านความร้อนได้ตามกำหนด ส่วนค่าอุณหภูมิสูงสุดจะเป็นตัวกำหนดความแข็งแรงขั้นต่ำของอุปกรณ์ที่ต้องทนต่ออุณหภูมิและความดันที่ค่าสูงสุดนั้นได้
 
ต่อไปเป็นหน้า Page 16 of 28

คำถามถัดมาเกี่ยวข้องกับระบบน้ำหล่อเย็น (cooling water) เริ่มจากคุณสมบัติน้ำหล่อเย็นที่จะทำการจ่ายเข้าระบบ ซึ่งได้แก่อุณหภูมิและความดัน และค่า Fouling factor (แปลตรงตัวก็คือค่าปัจจัยคราบสกปรก เป็นตัวบอกว่าน้ำนั้นจะก่อให้เกิดคราบสกปรกในระบบมากน้อยเท่าใด ถ้าค่านี้สูงก็แสดงว่าน้ำสกปรกมาก) และคุณสมบัติของน้ำหล่อเย็นที่ไหลวนกลับมายังหอทำน้ำหล่อเย็น ซึ่งได้แก่ค่าความดันและอุณหภูมิสูงสุด

คำถามถ้ดไปเป็นเรื่องเกี่ยวกับน้ำดิบ (Raw water) ที่จะนำมาใช้ผลิตเป็นน้ำหล่อเย็น โดยเริ่มจากแหล่งที่มาของน้ำ (มีบ่อน้ำเองหรือซื้อน้ำประปามาใช้) ถ้าซื้อน้ำมาจากผู้ขายที่ส่งมาตามระบบท่อ (เช่นน้ำประปา) ก็จำเป็นที่ต้องให้ข้อมูลความดันของน้ำในท่อที่ส่งเข้ามาและอัตราการไหลสูงสุดที่ผู้ขายส่งให้ได้
  
คำถามถัดไปในส่วนของน้ำดิบคือคุณภาพของน้ำดิบ ซึ่งเป็นคำถามเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่เจือปนอยู่ในน้ำ โดยเฉพาะแร่ธาตุต่าง ๆ ตรงนี้มีการถามทั้งส่วนที่เป็นไอออนบวกและไอออนลบ รายการที่เขียนนั้นเป็นไอออนที่มักพบเป็นประจำในน้ำที่มาจากแหล่งธรรมชาติ ข้อมูลเหล่านี้จำเป็นสำหรับการออกแบบระบบปรับสภาพน้ำ บ่งบอกให้เห็นว่าน้ำนั้นมีฤทธิ์กัดกร่อนหรือทำให้เกิดตะกรันได้มากน้อยเท่าใด จะป้องกันไม่ให้เกิดตะกรัน (ถ้าคิดว่ากำจัดตะกันออกจากระบบได้ยาก) หรือยอมให้เกิดตะกรันในระบบได้แล้วค่อยกำจัดทีหลัง (ตรงนี้ก็เกี่ยวข้องไปถึงค่า fouling factor ซึ่งปรกติก็ทำกับตะกรันที่ล้างออกง่าย ประเภทหยุดเดินเครื่องครั้งใหญ่เมื่อใดก็ค่อยเปิดอุปกรณ์ทำความสะอาดที)
 
calcium carbonate นั้นละลายได้น้อยในน้ำร้อน ถ้านำน้ำนั้นไปต้มก็จะกลายเป็นตะกรัน แต่น้ำที่ได้จะมีความกระด้างลดลง (เพราะไอออน 2+ ลดลง) พวกนี้จัดเป็นความกระด้างชั่วคราว สามารถล้างออกได้ด้วยการใช้กรดอ่อนเข้าไปละลายออกมา แต่ calcium sulpate นั้นละลายได้ดีกว่าในน้ำร้อน แม้ว่าจะเอาไปต้มก็จะไม่ตกตะกรัน พวกนี้จัดเป็นความกระด้างถาวร ต้องกำจัดด้วยการแลกเปลี่ยนไอออน คลอไรด์ และไฮดรอกไซด์ ก่อให้เกิดปัญหาการกัดกร่อนได้ ไบคาร์บอนเนตเมื่อนำไปต้มจะสลายตัวให้แก๊ส CO2 ออกมาแล้วกลายเป็นไอออน OH- แทน ซึ่งทำให้ค่า pH ของน้ำเพิ่มสูงขึ้นได้ (เป็นเรื่องปรกติที่ต้องมีการเติมกรดกำมะถันเข้าไปลดค่า pH ของน้ำหล่อเย็นที่หอทำน้ำหล่อเย็น) ส่วนซิลิกานั้นทำให้เกิดตะกรันที่ล้างออกยาก เพราะไม่สามารถใช้กรดอ่อนเข้าไปละลายออกมาได้ ไอออนของเหล็กก็เป็นไอออนบวกตัวหนึ่งที่พบได้มากในธรรมชาติ (ดินลูกรังที่มีสีแดงก็เพราะมีเหล็กปน) ไอออนตัวนี้เป็นตัวที่ทำให้น้ำมีสีและมีรสชาติด้วย ซึ่งตรงนี้สำคัญกับอุตสาหกรรมอาหารที่ใช้น้ำเป็นองค์ประกอบหลัก เช่น เครื่องดื่ม) ส่วนข้อมูลในคำถามที่เหลือนั้นก็จำเป็นสำหรับการปรับสภาพน้ำเป็นชนิดต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับการใช้งานแต่ละประเภท
 
ต่อไปเป็นหน้า Page 17 of 28

คำถามสุดท้ายเกี่ยวกับน้ำดิบคือค่าความขุ่น (Turbidity) และสี (Colour) จะเห็นว่าให้ระบุวิธีการวัดด้วย (เพราะค่าที่ได้ขึ้นกับวิธีการวัด)
 
น้ำประปาหรือน้ำดื่ม (Drinking water) นั้นจะใช้มาตรฐานเดียวกัน น้ำดื่มนั้นต้องเป็นน้ำที่สะอาดปราศจากเชื้อโรค ส่วนน้ำที่ใช้ในการชำระล้างร่างกายหรือล้างตานั้นก็จำเป็นต้องเป็นน้ำสะอาดปราศจากเชื้อโรคเช่นกัน เพราะถ้าผิวหนังมีบาดแผลและเจอเข้ากับน้ำสกปรก ก็จะเกิดการติดเชื้อได้
 
คุณภาพของน้ำป้อนหม้อน้ำ (Boiler Feed Water - BFW) จะขึ้นอยู่กับความดันของไอน้ำที่ผลิตใช้ ยิ่งผลิตไอน้ำที่อุณหภูมิและความดันสูง ก็จำเป็นที่ต้องมีการควบคุมสิ่งที่ละลายอยู่ในน้ำ (แก๊ส สารอินทรีย์ ไอออน ต่าง ๆ) อย่างเข้มงวดตามไปด้วย
  
น้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralization water) เป็นน้ำบริสุทธิ์ สำหรับการผลิตน้ำบริสุทธิ์ในปริมาณมาก การใช้การแลกเปลี่ยนไอออนนั้นจะเหมาะสมมากกว่าการกลั่น ตรงนี้คงขึ้นอยู่กับชนิดของโรงงานว่าจำเป็นต้องมีการใช้น้ำประเภทนี้หรือไม่
  
ไอน้ำที่ควบแน่น (Steam condensate) คือน้ำที่เกิดจากการควบแน่นของไอน้ำ ในบางจุดนั้นอาจมีการระบายทิ้งไป แต่ในบางจุดนั้นอาจมีการรวบรวมนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดการใช้น้ำป้อนหม้อน้ำ (BFW) และสารเคมีที่ใช้ในการปรับสภาพน้ำ
  
น้ำใช้ในกระบวนการผลิต (Process water) เช่นน้ำที่ใช้ผสมเข้ากับสารตั้งต้น น้ำที่ใช้ในการล้างอุปกรณ์ (เช่นในกระบวนการแบบ batch ที่อาจต้องล้างอุปกรณ์หลังการผลิตในแต่ละ batch) น้ำนี้อาจเป็นน้ำที่มีคุณสมบัติต่างหากหรือเป็นน้ำประปา น้ำปราศจากเกลือแร่ ไอน้ำที่ควบแน่น ฯลฯ ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละกระบวนการผลิต
   
ต่อไปเป็นหน้า Page 18 of 28
  
 
น้ำชนิดสุดท้ายคือน้ำที่ใช้ในการดับเพลิง ปรกติถ้ามีน้ำดิบก็จะใช้นำดิบเพราะมันราคาถูกสุดและน้ำดับเพลิงก็ไม่ต้องการความสะอาด ที่ต้องการมากกว่าคืออัตราการไหลในปริมาณที่พอเพียงที่ระดับความดันที่ต้องการ
  
แต่ระบบน้ำดับเพลิงที่ใช้ก็มีอยู่สองแบบ แบบแรกคือมีน้ำเต็มระบบท่ออยู่ตลอดเวลา เมื่อเปิดใช้ก็จะมีน้ำใช้งานได้เลย ระบบนี้มีข้อดีตรงที่มีน้ำดับเพลิงพร้อมใช้งานตลอดเวลา แต่ต้องระวังเรื่องการกัดกร่อน โดยเฉพาะถ้าน้ำนั้นมีของแข็งแขวนลอยอยู่ เมื่อของแข็งที่แขวนลอยอยู่นั้นตกตะกอนเมื่อใด การกัดกร่อนใต้อนุภาคของแข็งที่ตกตะกอนจะสูงกว่าบริเวณอื่น และในประเทศที่อากาศเย็นจัดจนทำให้น้ำในท่อเป็นน้ำแข็งได้ ท่อก็จะแตกได้เมื่อน้ำกลายเป็นน้ำแข็ง.
   
อีกระบบหนึ่งนั้นจะเป็นระบบท่อแห้ง เมื่อต้องการใช้น้ำดับเพลิงก็ค่อยทำการจ่ายน้ำเข้าระบบท่อ ระบบนี้มีข้อเสียตรงที่ไม่มีน้ำพร้อมใช้งานทันที แต่มีปัญหาเรื่องท่อผุกร่อนหรือแตกเพราะอากาศเย็นจัดนั้นน้อยกว่า
  
อากาศอัดความดัน (Compressed air) ที่ใช้กันในโรงงานนั้นมีสองประเภท ประเภทแรกเรียกว่า Plant air ซึ่งผลิตจากการเอาอากาศมาเพิ่มความดันและกำจัดไอน้ำมัน (ที่มากับคอมเพรสเซอร์ที่ใช้อัดอากาศ) ออก ส่วนอากาศอีกชนิดนั้นเรียกว่า Instrument air ที่ได้จากการเอา Plant air มากำจัดความชื้นอีกทีหนึ่ง Plant air ใช้ในงานทั่ว ๆ ไป เช่นใช้เป็นแหล่งให้พลังงานกับอุปกรณ์นิวเมติกส์เช่น ปั๊มลม สว่านลม ใช้ในการระบายอากาศ ใช้ในการเป่าไล่ ฯลฯ ส่วน Instrument air นั้นใช้กับอุปกรณ์ควบคุมต่าง ๆ เช่น control valve หรือระบบควบคุมนิวเมติกส์
  
ถัดจากอากาศก็เป็นคำถามเกี่ยวกับน้ำมันเตา (Fuel oil) น้ำมันเตาที่มีจุดเดือดสูงจะมีราคาถูกแต่จะมีจุดหลอมเหลวสูงตามไปด้วย และยังมีสิ่งปนเปื้อนต่าง ๆ อีกมาก (เช่นโลหะต่าง ๆ ที่เป็นตัวทำให้เกิดขี้เถ้า) น้ำมันเตาที่หนักนั้นจะมีสถานะเป็นของแข็งที่อุณหภูมิห้อง เวลาจะส่งไปตามท่อก็ต้องอุ่นให้ร้อนก่อน ถ้าใช้ความร้อนมากในการอุ่นน้ำมันให้ร้อน ความหนืดน้ำมันก็จะลดลงมาก ปั๊มก็จะใช้กำลังในการส่งไปตามท่อน้อยลง แต่ถ้าใช้ความร้อนไม่มากทำให้น้ำมันยังมีความหนืดสูงอยู่ ปั๊มก็จะกินพลังงานในการสูบจ่ายมากขึ้น และความหนืดของน้ำมันนี้ยังส่งผลไปถึงรูปแบบการกระจายตัวของน้ำมันที่หัวฉีดที่ทำการเผาน้ำมัน (เช่นที่หม้อน้ำ)
  
ต่อไปเป็นหน้า Page 19 of 28 ที่ยังคงเกี่ยวข้องกับน้ำมันเตา
  
Flash point คืออุณหภูมิจุดวาบไฟของน้ำมัน Pour point คืออุณหภูมิจุดไหลเท (น้ำมันเริ่มกลายเป็นของเหลวและไหลได้ เป็นตัวบอกว่าน้ำมันต้องมีอุณหภูมิอย่างต่ำเท่าไรจึงจะสามารถสูบจ่ายไปตามท่อได้) Percent sulfur เป็นการระบุปริมาณกำมะถันที่มีอยู่ในน้ำมัน (ปรกติน้ำมันยิ่งหนักมากหรือมีจุดเดือดสูงขึ้น ก็จะมีปริมาณกำมะถันมากตามไปด้วย) ซึ่งตรงนี้เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมทางด้านแก๊สที่ปลดปล่อยจากการเผาไหม้ Percent aromatic จะเกี่ยวข้องกับการเผาไหม้แล้วทำให้เกิดเขม่า (พวกวงแหวนอะโรมาติกจะเกิดเขม่าได้ง่ายกว่าพวกสายโซ่ตรง-กิ่ง) และส่วนที่เหลือเป็นพวกของโลหะที่ผสมอยู่ (ในรูปของสารประกอบอินทรีย์) ซี่งพวกนี้จะเป็นตัวที่ทำให้เกิดขี้เถ้าจากการเผาไหม้ และถ้าหากอุณหภูมิสูงพอ ขี้เถ้าที่เกิดขึ้นนี้ก็อาจทำปฏิกิริยากับโลหะของอุปกรณ์ที่ขี้เถ้าเหล่านี้ไปเกาะติดอยู่ได้
  
แก๊สเชื้อเพลิงหรือ Flue gas คือเชื้อเพลิงที่อยู่ในรูปที่เป็นแก๊ส ที่อาจมีการนำเข้ามาโดยตรง (เช่นแก๊สธรรมชาติ) หรือเป็นแก๊สปล่อยทิ้งจากหน่วยต่าง ๆ และถูกรวบรวมเก็บเอามาใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนการนำไปเผาทิ้งที่ระบบ flare น้ำหนักโมเลกุลของแก๊สเชื้อเพลิงจะสำคัญต่อการทำงานของคอมเพรสเซอร์ (แก๊สที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูงจะอัดง่ายกว่าแก๊สที่มีน้ำหนักโมเลกุลต่ำ) ถ้าเป็นแก๊สธรรมชาติที่รับเข้ามาก็มักจะมีคุณสมบัติที่ค่อนข้างคงที่ (ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักโมเลกุล หรือองค์ประกอบอื่นในแก๊ส) แต่ถ้าเป็นแก๊สที่มาจากการเก็บรวบรวมแก๊สปล่อยทิ้ง มักจะมีคุณสมบัติที่ไม่แน่นอน อาจมีทั้งไอน้ำและไอระเหยของไฮโดรคาร์บอนหนัก (ที่ปรกติเป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง) ปะปนอยู่ด้วย (ด้วยเหตุนี้จึงมีการถามถึงอุณหภูมิที่ทำให้เกิดการควบแน่นของไอน้ำหรือไอระเหยของไฮโดรคาร์บอนที่ปะปนอยู่ด้วย)
  
แต่ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเตาหรือแก๊สเชื้อเพลิงก็ต้องระบุค่าความร้อน (heating value) หรือพลังงานที่ได้จากการเผาต่อหน่วยน้ำหนักเชื้อเพลิง เพราะต้องใช้ในการคำนวณอัตราการเผาไหม้เพื่อให้ได้ระดับพลังงานที่ต้องการ
  
สำหรับโรงงานทั่วไปแล้วนิยามของ “แก๊สเฉื่อย - Inert gas” คือแก๊สที่ไม่ทำปฏิกิริยากับสารที่อยู่ในระบบ ด้วยเหตุนี้ “ไนโตรเจน” จึงเป็นแก๊สเฉื่อยที่มีการใช้กันมากที่สุดในโรงงานที่มักใช้ในการไล่อากาศ (หรือออกซิเจน) ออกจากระบบ เนื่องด้วยเหตุผลทางด้านอัคคีภัยหรือเพื่อป้องกันไม่ให้สารในระบบเกิดการสลายตัวเมื่อทำปฏิกิริยากับออกซิเจนและความชื้นในอากาศ สำหรับโรงงานที่มีการใช้ไนโตรเจนในปริมาณมากก็มักจะสร้างหน่วยกลั่นแยกอากาศเพื่อผลิตไนโตรเจนใช้เอง
  
ต่อไปเป็นหน้า Page 20 of 28 ที่เป็นเรื่องของระบบไฟฟ้ากำลัง
  
ในส่วนของระบบไฟฟ้ากำลังนั้นมีเรื่องที่เกี่ยวข้องอยู่สองเรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือความต่างศักย์ที่จะใช้ ซึ่งตรงนี้ไปสัมพันธ์กับปริมาณกระแสที่เกิดขึ้นและขนาดสายไฟ มอเตอร์ขนาดเล็ก (เช่นกำลังไม่เกิด 1 แรงม้า - hp) ก็อาจใช้ไฟ 1 เฟส แต่สำหรับมอเตอร์ขนาดใหญ่ขึ้นไป (เช่นตั้งแต่ 1 hp ขึ้นไป) การใช้ไฟ 3 เฟสจะเหมาะสมกว่าเพราะใช้สายไฟเส้นเล็กลง (กระจายกระแสออกสู่สายไฟ 3 เส้นแทนที่จะเป็นเส้นเดียว) ถ้าเป็นมอเตอร์กำลังสูงก็อาจต้องใช้ความต่างศักย์ที่สูงขึ้นไปอีกเพื่อลดปริมาณการไหลของกระแส (ตรงนี้ขอย้ำว่าความร้อนที่เกิดขึ้นในสายไฟฟ้านั้นแปรผันตามกระแสยกกำลัง 2 กล่าวคือถ้ามีกระแสไหลเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ปริมาณความร้อนที่เกิดขึ้นในสายไฟจะเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว การใช้ความต่างศักย์ที่สูงขึ้นจะทำให้กระแสไหลน้อยลงโดยที่ยังคงได้กำลังเท่าเดิม และยังลดการสูญเสียในสายไฟด้วย แต่ก็มากับอันตรายที่มากขึ้น) เรื่องความต่างศักย์นี้ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าใด เพราะมีหม้อแปลงจะแปลงให้เป็นเท่าใดก็ได้ 
   
เรื่องที่สองคือเรื่องของความถี่ (frequency) ของไฟฟ้ากระแสสลับ ที่ใช้กันอยู่ก็มี 50 Hz (พวกไฟฟ้า 200-240 V) หรือ 60 Hz (พวกไฟฟ้า 100-120 V) ซึ่งความถี่นี้มันไปเกี่ยวข้องกับความเร็วรอบการหมุนของมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ (ที่ใช้กันทั่วไปคือมอเตอร์เหนี่ยวนำหรือ Induction motor) เพราะถ้าความถี่เพิ่มสูงขึ้น ความเร็วรอบการหมุนก็เพิ่มขึ้นตาม (ความเร็วรอบการหมุนนี้ประมาณได้จากความเร็วซิงโครนัสที่เท่ากับ 120f/p เมื่อ f คือความถี่ของไฟฟ้ากระแสสลับและ p คือจำนวนขั้วของมอเตอร์ที่เป็นเลขคู่เสมอ โดยความเร็วรอบการหมุนของมอเตอร์เหนี่ยวนำจะต่ำกว่าความเร็วซิงโครนัสอยู่เล็กน้อย)
คำถามในส่วนของไฟฟ้านี้จะแยกออกเป็นระบบต่าง ๆ เช่นไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบควบคุม ไฟฟ้าที่จ่ายให้กับมอเตอร์ และไฟฟ้าฉุกเฉิน ความถี่ของไฟฟ้าขัดข้อง (และสาเหตุถ้าทราบ ซึ่งควรต้องดูจากสถิติ) แหล่งจ่ายไฟฉุกเฉิน 
   
คำถามสุดท้ายคือตัวประกอบกำลัง (power factor) ซึ่งเป็นค่า cosine ของมุมเฟสระหว่างความต่างศักย์กับกระแสไฟฟ้า ว่ามีความต้องการพิเศษอย่างใดหรือไม่ สำหรับบ้านเรานั้นสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมค่านี้ต้องไม่ต่ำกว่า 0.8 (ค่าสูงสุดคือ 1.0) ยิ่งระบบยิ่งมีค่า power factor สูงมากเท่าใด ปริมาณกระแสที่ใช้ก็จะลดลงตามไปด้วย ซึ่งเป็นการประหยัดทั้งค่าสายไฟและค่าใช้จ่ายในการผลิตของผู้ผลิตไฟฟ้า

วันนี้คงต้องขอจบตอนที่ ๕ ของเรื่องทำความรู้จัก Process Design Questionnaire เอาไว้แค่นี้ก่อน

วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2558

รถไฟสายบางบัวทองกับถนนจรัญสนิทวงศ์ (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๘๔) MO Memoir : Tuesday 27 January 2558

บ่อยครั้งที่ผมขับรถกลับบ้านโดยใช้เส้นทางผ่านถนนจรัญสนิทวงศ์ ไปกลับรถใต้สะพานต่างระดับสิรินธร วกเข้าถนนสิรินธร จากนั้นเลี้ยวเข้า "ซอยสิรินธร ๔" ซึ่งเป็นซอยสั้น ๆ แคบ ๆ พอแค่รถเก๋งวิ่งสวนทางกันได้ เพื่อออกถนนคู่ขนานทางรถไฟในการเดินทางกลับบ้าน ถนนเส้นนี้ปัจจุบันเริ่มมีรถมาใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงเช้า เนื่องจากเป็นทางลัดไปออกสะพานพระราม ๗ โดยไม่ต้องไปออกถนนจรัญสนิทวงศ์ (ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างรถไฟลอยฟ้า) ก่อนมีการก่อนสร้างถนนเลียบทางรถไฟ (ช่วงปีพ.ศ. ๒๕๕๔) ซอยนี้ก็แทบไม่มีใครใช้ เพราะมันเป็นแค่ซอยเล็ก ๆ เชื่อมสถานีรถไฟบางบำหรุกับถนนสิรินธร ส่วนผู้เดินทางไปบางกรวยก็จะไปใช้ถนนเทอดพระเกียรติที่ตัดทางรถไฟสายใต้อยู่ใกล้ ๆ เพราะถนนนั้นมันกว้างกว่าและดีกว่า

แต่จะว่าไปแล้ว ซอยเล็ก ๆ ดูธรรมดา ๆ เส้นนี้มันก็มีประวัติความเป็นมาของมันเหมือนกัน

อีกฟากของทางรถไฟที่อยู่ตรงข้ามกับซอยสิรินธร ๔ คือ "ถนนเทอดพระเกียรติ" ที่มุ่งหน้าสู่ อ. บางกรวย ส่วนอีกฟากของถนนสิรินธรที่อยู่ตรงข้ามกับซอยสิรินธร ๔ คือ "ซอยสิรินธร ๗" เมื่อเทียบกับแผนที่แนวเส้นทางรถไฟสายบางบัวทองแล้วทำให้เชื่อได้ว่าซอยสิรินธร ๔ นี้ในอดีตคงเป็นส่วนหนึ่งของแนวเส้นทางรถไฟสายบางบัวทองที่เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์เคยสร้างเอาไว้ (ดูแผนที่ในรูปที่ ๑ ที่เป็นรูปเดียวกันกับที่เคยนำมาลงใน Memoir ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๙๘ วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๖ เรื่อง "รถไฟสายบางบัวทอง(ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำตอนที่ ๓๘)"
  
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วไปได้หนังสือลดราคา 70% จากร้านหนังสือส่งเสริมการอ่านที่ตั้งอยู่บนชั้น ๓ อาคารจัตุรัสจามจุรีเรื่อง “ธนบุรีมีอดีต” เขียนโดย ป. บุนนาค จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Than Books เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๕๓ ในหนังสือดังกล่าวมีเรื่องเกี่ยวกับรถไฟสายบางบัวทอง เขียนไว้สั้น ๆ ไม่กี่หน้า (หน้า ๓๑๗-๓๒๔) แต่ที่สำคัญคือมีการอ้างอิงไปยังหนังสืออีก ๒ เล่มคือ "ประวัติเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ พระยาภิรมย์ภักดี และประวัติโรงเบียร์ โชคชาตาในชีวิตที่พอใจ" และหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงเยี่ยม จรัญสนิทวงศ์ (ม.ล. เยี่ยม สนิทวงศ์) ทำให้อดไม่ได้ว่าต้องไปค้นดูว่าหนังสือต้นฉบับนั้นเขียนอะไรไว้บ้าง และก็โชคดีที่ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยมีหนังสือดังกล่าวทั้ง ๒ เล่ม คือ "หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงเยี่ยม จรัญสนิทวงศ์ (ม.ล. เยี่ยม สนิทวงศ์)" ที่จัดพิมพ์เพื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๑ และหนังสือ "ประวัติเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ พระยาภิรมย์ภักดี และประวัติโรงเบียร์ โชคชาตาในชีวิตที่พอใจ" ที่เป็นฉบับจัดพิมพ์ในปีพ.ศ. ๒๕๐๖ (รูปที่ ๒)
  
ในหนังสือ "ประวัติเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ พระยาภิรมย์ภักดี และประวัติโรงเบียร์ โชคชาตาในชีวิตที่พอใจ" นั้น ม.ล. ยิ่งศักดิ์ อิศรเสนา ซึ่งเป็นบุตรชายของเจ้าพระยาวงพงษ์พิพัฒน์ เป็นผู้เขียนประวัติของเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ ซึ่งเขียนไว้ยาวถึง ๑๑๙ หน้า (เอาไว้วันหลังจะคัดมาให้ดูเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับรถไฟสายบางบัวทอง) ในส่วนของประวัติพระยาภิรมย์ภักดีและประวัติโรงเบียร์นั้นเขียนโดยตัวพระยาภิรมย์ภักดีเอง และเรื่องสุดท้ายคือโชคชาตาในชีวิตที่พอใจนั้นเขียนโดย ม.ร.ว. ถัด สีหศักดิ์สนิทวงศ์ ชุมสาย (พระยาสีหศักดิ์สนิทวงศ์)
  
รูปที่ ๑ รูปนี้จากแผนที่ในหน้า ๒๓ ของเอกสาร Air objective folder Thailand ซอยสิรินธร ๔ อยู่ใกล้จุดตัดทางรถไฟสายใต้ที่สถานีรถไฟบางบำหรุ แนวทางรถไฟคือตามเส้นประเขียว
  
รูปที่ ๒ เล่มซ้ายคือ "หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงเยี่ยม จรัญสนิทวงศ์ (ม.ล. เยี่ยม สนิทวงศ์)" เล่มกลางคือปกด้านในของหนังสือ "ประวัติเจ้าพระยาวงพงษ์พิพัฒน์ พระยาภิรมย์ภักดี และประวัติโรงเบียร์ โชคชาตาในชีวิตที่พอใจ” และเล่มขวาคือหนังสือ "ธนบุรีมีอดีต"

ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงเยี่ยม จรัญสนิทวงศ์ (ม.ล. เยี่ยม สนิทวงศ์) มีการนำเรื่อง "ประวัติเจ้าคุณพ่อ" ที่เขียนโดย ม.ล. ยิ่งศักดิ์ อิศรเสนา ผู้บุตร ซึ่งมีการระบุว่าบุตรและธิดาร่วมกันพิมพ์แจก ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว. เย็น อิศรเสนา) ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งเมื่อตรวจสอบดูแล้วเป็นเนื้อหาเดียวกันกับที่ปรากฏในหนังสือ "ประวัติเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ ฯลฯ" ที่ตีพิมพ์ในปีพ.ศ. ๒๕๐๖ แต่มีความแตกต่างกันตรงการสะกดชื่อตรงคำว่า “พงษ์” โดยในหนังสือฉบับพิมพ์ปีพ.ศ. ๒๕๐๖ ใช้คำว่า “พงษ์” (รูปที่ ๒) แต่ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพปี ๒๕๔๑ ใช้ “พงศ” (รูปที่ ๔ และ ๕)
  
ท่านผู้หญิงเยี่ยม จรัญสนิทวงศ์ (ม.ล. เยี่ยม สนิทวงศ์) เป็นธิดาองค์ใหญ่ของเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ ซึ่งต่อมาท่านได้แต่งานออกเรือนไปกับหลวงจรัญสนิทวงศ์ (ม.ล. จรัญ สนิทวงศ์) ที่ต่อมาได้รับราชการจนดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งต่อมาชื่อของท่านได้ถูกนำมาตั้งชื่อถนนสายหนึ่งทางฝั่งธนบุรี ที่ตัดจากแยกท่าพระขึ้นเหนือมายังสะพานพระราม ๖ (พอสร้างสะพานพระราม ๗ ถนนนี้ก็เชื่อมเข้ากับสะพานพระราม ๗ แทน) ถนนนี้เดิมมีการสะกดเป็น "จรัลสนิทวงศ์" คือใช้ "ล" แทน "ญ" ในคำว่าจรัญ (ตอนผมเด็ก ๆ ก็ยังสะกดโดยใช้ "ล") ต่อมาภายหลังมีการแก้ไขให้ถูกต้องโดยสะกดด้วย "ญ" แทน "ล" เพื่อให้ตรงกับชื่อของผู้ที่นำมาตั้งเป็นเกียรติ แต่ก็ยังเห็นป้ายเก่า ๆ ตามสถานที่ต่าง ๆ (เช่นป้ายสาขาธนาคาร) ที่ยังใช้ "ล" สะกดคำจรัล อยู่

ถ้ารถไฟสายบางบัวทองเกี่ยวข้องกับเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ก่อสร้าง ถนนจรัญสนิทวงศ์ก็คงเกี่ยวข้องกับท่านในฐานะที่เป็นชื่อของบุตรเขยของท่าน
  


รูปที่ ๓ เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์เมื่อครั้งยังเป็นเจ้าหมื่นเสมอใจราช
  
รูปที่ ๔ รูปท่านผู้หญิงวรพงศพิพัฒน์ ภริยาของเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์
  
รูปที่ ๕ เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์
  

รูปที่ ๖ ท่านผู้หญิงเยี่ยม จรัญสนิทวงศ์ บุตรีคนโตของเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์

วันอาทิตย์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2558

พีคที่เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างน้ำกับ packing ในคอลัมน์ GC MO Memoir : Sunday 25 January 2558

Memoir ฉบับนี้เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากที่กล่าวไว้ใน Memoir เมื่อสัปดาห์ที่แล้วคือ ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๙๒๕ วันอาทิตย์ที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๘ เรื่อง "สิ่งปนเปื้อนในน้ำDI" โดยฉบับนี้เป็นการวิเคราะห์หาสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ที่ทำให้เกิดพีคประหลาดที่เล่าไว้ใน Memoir ฉบับที่ ๙๒๕
  
โดยในช่วงวันพฤหัสบดีที่ ๒๒ ผ่านมา ได้ทดลองนำเอาน้ำ DI ที่เคยพบพีคประหลาด น้ำกลั่นที่ผลิตจากห้องปฏิบัติการที่อยู่ต่างอาคารกัน และน้ำดื่มบรรจุขวด (ยี่ห้อหนึ่งที่ขายกันทั่วไป) มาทดลองฉีดเพื่อที่จะทดสอบดูว่ายังมีพีคประหลาดปรากฏให้เห็นหรือไม่ (ตรงนี้ขอย้ำนิดนึงว่าตัวตรวจวัดชนิด FID นั้นจะมองไม่เห็นน้ำ ดังนั้นสิ่งที่คาดหวังไว้เมื่อฉีดน้ำเข้าไปก็คือไม่ควรมีพีคใด ๆ ปรากฏ)

ผลออกมาก็คือยังคงปรากฏพีคประหลาดนั้นให้เห็น โดยพีคนั้นมีขนาดประมาณเดียวกัน ไม่ขึ้นกับแหล่งที่มาของน้ำตัวอย่างที่นำมาฉีด

เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๓ ที่ผ่านมาจึงได้ทำการทดลองใหม่อีกครั้ง โดยใช้เครื่องแก๊สโครมาโทกราฟระบบเดิมที่ใช้ในการทดลองก่อนหน้าคือเครื่อง Shimadzu GC-8A ติดตั้ง packed column ชนิดแก้วที่บรรจุ GP10% SP2100 พร้อมตัวตรวจวัดชนิด Flame Ionisation Detetor (FID) และบันทึกผลด้วยเครื่องอินทิเกรเตอร์ Shimadzu CR-8A ตั้งอุณหภูมิตัวตรวจวัดไว้ที่ 130ºC ความดัน carrier gas ขาเข้าคอลัมน์ตั้งไว้ที่ 60 kPa ค่า Range ของสัญญาณตั้งไว้ที่ 101 (ตั้งที่ตัวเครื่อง GC) ส่วนอุณหภูมิคอลัมน์นั้นได้ทำการทดลองที่อุณหภูมิต่าง ๆ กัน คือ 110ºC 130ºC และ 150ºC
  
แต่ก่อนอื่นได้ทำการเปลี่ยน septum ที่ injection port และใช้ syringe ตัวใหม่ในการฉีด เพื่อหาว่าพีคดังกล่าวมาจาก septum หรือการปนเปื้อนใน syringe หรือไม่ แต่ก็พบว่ายังมีพีคประหลาดปรากฏอยู่ที่เดิม ที่มีขนาดประมาณเดิม แสดงว่าพีคดังกล่าวไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับ syringe หรือ septum
  
การทดสอบในขั้นต่อไปเป็นการนำเอาน้ำดื่มบรรจุขวดยี่ห้อหนึ่งมาฉีดทดสอบ (ครั้งละ 0.5 ไมโครลิตร) โดยแต่ละอุณหภูมิคอลัมน์ทำการฉีด ๓ ครั้งเปรียบเทียบกัน โครมาโทแกรมที่ได้แสดงไว้ในรูปที่ ๑-๓ สิ่งที่พบก็คือตัวตรวจวัด FID ตรวจพบว่ามีบางสิ่งออกมาจากคอลัมน์ และสิ่งที่ออกมานั้นจะปรากฏเมื่อทำการฉีดน้ำตัวอย่างเข้าไป หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือถ้าไม่มีการฉีดน้ำตัวอย่างก็จะไม่มีพีคปรากฏ
  
และอีกสิ่งหนึ่งที่เห็นก็คือขนาดของพีคประหลาดนั้นเพิ่มขึ้นตามอุณหภูมิคอลัมน์ที่ใช้ แม้ว่าจะฉีดน้ำตัวอย่างในปริมาณเท่าเดิมก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลก เพราะปรกติถ้าเราฉีดตัวอย่างที่เป็นสารอินทรีย์เข้าไป พื้นที่พีคที่ตัวตรวจวัดชนิด FID วัดได้จะขึ้นอยู่กับปริมาณของสารที่ฉีดเข้าไปในคอลัมน์ ไม่ขึ้นกับอุณหภูมิการทำงานของคอลัมน์ (อุณหภูมิการทำงานของคอลัมน์ส่งผลต่อรูปร่างพีคและเวลาที่ออกมาพ้นคอลัมน์ แต่ไม่ส่งผลต่อพื้นที่พีค (ที่ถูกใช้เป็นตัวบ่งบอกปริมาณ) ที่วัดได้) แต่ในกรณีนี้กลับพบว่าเพิ่มขึ้นตามอุณหภูมิคอลัมน์ที่ใช้
  
ด้วยเหตุนี้จึงได้ทำการทดลองเพิ่มเติมโดยนำน้ำประปา (รองมาจากก๊อกน้ำ) มาทดลองฉีดดูบ้างที่ภาวะต่าง ๆ เหมือนกันหมดเว้นแต่ใช้อุณหภูมิคอลัมน์ 130ºC และ 110ºC ซึ่งได้โครมาโทแกรมดังแสดงในรูปที่ ๔ และ ๕ ซึ่งจะเห็นว่ายังคงมีพีคประหลาดนั้นปรากฏให้เห็น โดยตำแหน่งเวลาที่พีคนั้นปรากฏและพื้นที่พีคนั้นไม่ขึ้นกับชนิดของน้ำที่ฉีดเข้าไป แม้ว่าจะทำการฉีดน้ำตัวอย่างต่างชนิดกัน แต่ที่อุณหภูมิคอลัมน์เดียวกันกลับได้พีคที่มีขนาดพอ ๆ กัน

รูปที่ ๑ น้ำดื่มบรรจุขวด 0.5 ไมโครลิตร อุณหภูมิคอลัมน์ 110ºC
  
รูปที่ ๒ น้ำดื่มบรรจุขวด 0.5 ไมโครลิตร อุณหภูมิคอลัมน์ 130ºC
  
รูปที่ ๓ น้ำดื่มบรรจุขวด 0.5 ไมโครลิตร อุณหภูมิคอลัมน์ 150ºC
  
รูปที่ ๔ น้ำประปา 0.5 ไมโครลิตร อุณหภูมิคอลัมน์ 130ºC
  
รูปที่ ๕ น้ำประปา 0.5 ไมโครลิตร อุณหภูมิคอลัมน์ 110ºC
  
ตรงนี้ต้องของบันทึกข้อมูลเพิ่มเติมนิดนึงว่า ค่า Range ของเครื่อง GC ที่ใช้นั้นบ่งบอกถึงขนาดเต็มสเกลของสัญญาณที่วัด ถ้าตั้งค่า Range ไว้ต่ำจะสามารถมองเห็นการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยได้ดี (ค่าต่ำสุดที่เครื่องยอมให้ตั้งได้คือ 100) แต่ถ้าตัวอย่างมีปริมาณมากเกินไปจะทำให้ตัวตรวจวัดอิ่มตัวได้ง่าย (เปรียบเสมือนกับการตั้งมัลติมิเตอร์ไว้สำหรับวัดไฟ 2.5 V แต่นำไปวัดไฟ 250 V) ผลการทดลองที่นำมาแสดงนั้นตั้งค่า Range ไว้ที่ 101 และตั้งค่า Atttenuation ที่ตัวเครื่องอินทิเกรเตอร์ไว้ที่ 3 (ที่เขียนว่า ATTEN = 3 ในโครมาโทแกรม) เพื่อให้เห็นพีคชัดเจน (ค่า ATTEN เป็นตัวหารสัญญาณที่นำมาเขียนรูปกราฟ สำหรับเครื่องรุ่นนี้ตัวหารจะเพิ่มตาม 2n เมื่อ n คือตัวเลขที่เราป้อนเข้าไป ค่านี้ยิ่งมากตัวหารก็จะมากขึ้น พีคก็จะเห็นเล็กลง)
  
ผลการทดลองนี้ทำให้สงสัยว่า "น้ำ" ที่ฉีดเข้าไปนั้นอาจเข้าไปทำปฏิกิริยาอะไรบางอย่างกับ packing ที่บรรจุอยู่ในคอลัมน์ เกิดเป็นสารที่ระเหยง่ายหลุดออกมาจากคอลัมน์ และปริมาณการเกิดนั้นเพิ่มขึ้นตามอุณหภูมิคอลัมน์ที่เพิ่มมากขึ้น สิ่งที่พบนี้เป็นการแสดงให้เห็นความสำคัญของการทดสอบระบบก่อนว่าในการวัดของเรานั้นมีปัจจัยใดบ้างที่จะส่งผลต่อผลการวัดที่ได้ ด้วยการทำสิ่งที่เรียกว่า Blank test (ทดสอบในสภาพเหมือนจริง เว้นแต่ไม่มีการฉีดสารตัวที่ต้องการวัดเข้าไป) เพื่อทดสอบหาพีคแปลกปลอมที่อาจเกิดขึ้นจากตัวอุปกรณ์เอง การฉีดสาร หรือตัวทำละลายที่ใช้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการตรวจหาสัญญาณที่มีขนาดต่ำ (เช่นกรณีของการวัดค่าการละลายของไฮโดรคาร์บอนในน้ำที่เราจะทำการทดลองต่อไป)

ท้ายนี้ก็ขอปิดท้ายด้วยรูปบรรยากาศการฝึกการใช้ GC เครื่องดังกล่าวเมื่อวันพุธที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา


อันที่จริงทั้งสามคนนั้นเขาสูงพอ ๆ กัน ที่เห็นคนที่กำลังฉีดสารนั้นตัวสูงกว่าคนอื่นเขาก็เพราะเขายืนเขย่งเต็มที่แล้วเพื่อจะได้ฉีดสารได้ถนัด

วันเสาร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2558

ทำความรู้จัก Process Design Questionnaire ตอนที่ ๔ MO Memoir : Saturday 24 January 2558

ตอนที่ ๔ นี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับหน้า Page 13 of 28 และหน้า Page 14 of 28 ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อ 5.0 ที่เป็นข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา

5.0 Meteorogical Data
 

เริ่มจากหน้า Page 13 of 28 ตรงหัวช้อ "Prevailing wind direction .... % of time" ซึ่งต้องการทราบทิศทางของลมในช่วงเวลาต่าง ๆ (ตามฤดูกาล) และช่วงเวลาที่ลมพัดในทิศทางต่าง ๆ (แบบว่าในแต่ละเดือนมีลมพัดในทิศทางไหน) จากนั้นก็ตามด้วยความเร็วลมเฉลี่ยและทิศทางในแต่ละฤดูกาล ความเร็วลมสูงสุด ความเร็วลมกรรโชก ความเร็วลมสำหรับการออกแบบ (สำหรับโครงสร้างอาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ) และความเร็วลมมีการเปลี่ยนทิศทางกระทันหันหรือไม่ สิ่งเหล่านี้จำเป็นสำหรับโครงสร้างที่มีความสูงและต้องรับแรงปะทะของลม เช่น ปล่องควัน ปล่องเผาแก๊สทิ้ง (flare) หอกลั่น อาคารสำนักงาน (ในบริเวณเหล่านี้เขาไม่สร้างอาคารสูงกันนะ)
  
ตรงนี้มีคำว่า "true north" และ "plant north" ปรากฏ "true north" คือทิศเหนือจริง (ตามแผนที่ภูมิศาสตร์) ส่วน "plant north" คือทิศเหนือโรงงาน (ใช้ที่ตั้งโรงงานเป็นตัวอ้างอิง) เรื่องนี้เคยอธิบายไว้ใน Memoir ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๖๖๑ วันพฤหัสบดีที่ ๕ กันยายน พ.. ๒๕๕๖ เรื่อง "มาทำความรู้จักกับ plot plan (แผนผังโรงงาน)"
  
ถัดไปเป็นคำถามเกี่ยวข้องกับอุณหภูมิสูงสุดของสภาพอากาศ (Maximum ambient temperature) ข้อมูลนี้จำเป็นสำหรับการออกแบบอุปกรณ์ระบายความร้อนด้วยอากาศ และถังเก็บผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเหลวที่มีความดันไอสูง (เช่นน้ำมันเบนซิน) ของเหลวที่ต่างประเทศจัดว่าเป็นสารไม่ไวไฟ (พวกที่มี flash point สูงกว่า 37ºC หรือ 100ºF) แต่พอเป็นบ้านเราจะกลายเป็นสารไวไฟ แม้ว่าอุณหภูมิอากาศจะไม่สูงถึง 37ºC แต่เมื่อถังเก็บโดนแดดส่องร้อนทั้งวัน ของเหลวในถังก็มีอุณหภูมิสูงเกิน 37ºC ได้
  
ถัดไปก็เป็นค่าอุณหภูมิต่ำสุดของสภาพอากาศ (Minimum ambient temperature) และอุณหภูมิอากาศต่ำสุดสำหรับการออกแบบ สำหรับบ้านเราไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องอากาศเย็นเท่าใดนัก พื้นที่ที่จะมีอุณหภูมิติดลบ (น้ำเป็นน้ำแข็งได้) ก็มักจะเป็นตามยอดของสูง แต่สำหรับในประเทศที่มีอุณหภูมิติดลบมากในฤดูหนาว อาจส่งผลถึงโลหะที่ต้องเลือกใช้ในการก่อสร้าง เพราะโลหะบางชนิด (โดยเฉพาะเหล็ก) จะเปราะและแตกหักได้ง่ายเมื่อเจออุณหภูมิเย็นจัด
  
จากนั้นก็เป็นค่าความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ (Relative humidity) มีการถามค่าความชื้นสัมพัทธ์ปรกติและค่าความชื้นสัมพันธ์สูงสุด พึงสังเกตนะว่าไม่มีการถามค่าความชื้นสัมพัทธ์ต่ำสุด ค่าความชื้นสัมพัทธ์นี้มีความสำคัญในการออกแบบระบบปรับอากาศและหอทำน้ำเย็น (cooling tower) ที่ลดอุณหภูมิของน้ำร้อนโดยอาศัยการระเหยน้ำร้อนบางส่วนให้กับอากาศที่ไหลผ่าน ในคำถามถัดไปจะเห็นเลยว่ามีการระบุข้อมูลเพิ่มเติมของสภาพอากาศที่จำเป็นในการออกแบบหอทำน้ำเย็น ได้แก่ อุณหภูมิกระเปาะเปียก (wet bulb temperature) อุณหภูมิสูงสุดของน้ำหล่อเย็นที่ไหลกลับมายังหอทำน้ำเย็นที่ยอมได้ (หลังผ่านการรับความร้อนจากหน่วยต่าง ๆ มาแล้ว) และร้อยละของเวลาที่มีค่านอกค่าที่กำหนดไว้
  
ตรงนี้ขอเสริมนิดนึงว่าการใช้หอทำน้ำเย็นนั้นเราไม่สามารถกำหนด "อุณหภูมิ" น้ำหล่อเย็นที่จ่ายให้กับระบบได้ ดังนั้นการควบคุมการระบายความร้อนจึงกระทำโดยการปรับ "อัตราการไหล" ของน้ำหล่อเย็นว่าจะให้ไหลผ่านมากน้อยเท่าใด ทำให้จำเป็นต้องรู้อุณหภูมิ "สูงสุด" ของน้ำหล่อเย็นที่จะผลิตได้
  
ถัดไปเป็นข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณน้ำฝน มีการถามข้อมูลย้อนหลังว่าใช้ข้อมูลย้อนหลังไปกี่ปี เนื่องด้วยสภาพอากาศนั้นไม่ได้มีการเวียนรอบเพียงแค่รอบปี เพราะปรากฏการณ์บางอย่างก็มีระยะเวลาการเวียนรอบหลายปี เช่นของบ้านเราก็มีปรากฏการณ์ "ลานีญา" ที่ทำให้มีฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ย และปรากฏการณ์ "เอลนิโญ" ที่ทำให้ฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ทำให้เกิดความแห้งแล้งในประเทศจนทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำรุนแรงที่ลุกลามจากภาคเกษตรกรรมไปจนถึงภาคอุตสาหกรรมมาแล้ว (ปี ๒๕๔๗-๒๕๔๘)

พายุที่พัดเข้าประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่เป็นพายุที่เกิดในมหาสมุทรแปซิฟิคทางด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ น้อยลูกที่จะเกิดในทะเลจีนใต้ทางด้านตะวันออกของประเทศเวียดนาม พายุเหล่านี้เมื่อเคลื่อนตัวมาทางตะวันตกก็จะค่อย ๆ เลี้ยวขึ้นไปทางเหนือ ถ้าจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยก็ต้องขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนาม เดินทางผ่านประเทศลาวหรือกัมพูชาก่อน เมื่อขึ้นฝั่งพายุจะอ่อนกำลังลงทั้งแรงลมและปริมาณน้ำฝน โรงงานและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ทางภาคประวันออก เช่นชลบุรีและระยอง จึงได้รับการป้องกันจากพายุที่มีกำลังแรง (เท่าที่ทราบยังไม่เคยมีประวัติพายุพัดขึ้นฝั่งทางภาคตะวันออก) ส่วนทางภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไป มีโอกาสที่พายุที่เกิดใกล้กับเส้นศูนย์สูตรจะเคลื่อนที่ผ่านทางด้านใต้ของแหลมญวน (ใต้สุดของประเทศเวียดนาม) และขึ้นฝั่ง ณ ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งทางภาคใต้ของประเทศไทยดังที่เคยมีประวัติหลายลูกแล้ว ดังนั้นการออกแบบโรงงานและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่อยู่ในบริเวณชายฝั่งทางภาคใต้ของประเทศไทยจึงควรที่ต้องคำนึงถึงโอกาสที่จะมีพายุที่มีกำลังสูงจากทะเลพัดเข้าสู่ฝั่งโดยตรงด้วย
  
ปริมาณน้ำฝนนี้ใช้สำหรับการออกแบบระบบระบายน้ำของโรงงานหรือในบางพื้นที่ของโรงงาน เช่น Tank farm เพราะบริเวณรอบ Tank farm จะมีเขื่อนหรือกำแพงล้อมรอบเอาไว้เพื่อป้องกันการกระจายออกไปเป็นวงกว้างนอกขอบเขตพื้นที่ของของเหลวที่บรรจุอยู่ใน Tank ถ้าหาก Tank ได้รับความเสียหาย กำแพงเหล่านี้ต้องมีช่องสำหรับระบายน้ำฝนที่สามารถปิดเปิดได้ (ปรกติจะปิดเอาไว้ แต่ถ้ามีฝนตกก็ต้องมาเปิดเพื่อระบายน้ำฝนออก) ถ้าท่อระบายมีขนาดไม่ใหญ่พอจนระบายน้ำฝนไม่ทัน ก็อาจเกิดน้ำท่วมจนอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ติดตั้งอยู่ภายในเขื่อนหรือกำแพงกั้นนั้น (เช่นปั๊มสูบของเหลวจาก Tank) จมอยู่ใต้น้ำได้
   
คำถามถัดไปเป็นคำถามเกี่ยวกับปริมาณหิมะซึ่งเป็นคำถามทำนองเดียวกับคำถามปริมาณน้ำฝน ซึ่งตรงนี้บ้านเราไม่มีหิมะ เมื่ออุณหภูมิอากาศอุ่นขึ้นก็จะทำให้หิมะละลาย แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างไปจากฝนตกคือหิมะสามารถค้างอยู่บนโครงสร้าง (เช่นหลังคา Tank หลังคาอาคารและพื้นอาคารได้) จนมีระดับสูงได้ ทำให้ต้องมีการนำเอาน้ำหนักหิมะที่คาดการณ์ว่าจะเกิดการสะสมบนโครงสร้างนั้นได้มาใช้ในการคำนวณความแข็งแรงของโครงสร้างนั้นด้วย (ช่อง Design snow load for structures ที่เป็นน้ำหนักต่อหน่วยพื้นที่)
  
ต่อไปเป็นหน้า Page 14 of 28 ซึ่งยังคงเกี่ยวข้องกับความหนาวเย็นอยู่
 

คำถามแรกในหน้านี้ "Design Frost Depth" คือระดับความลึกลงไปในดินที่ทำให้น้ำเป็นน้ำแข็งได้ โดยปรกติในหน้าหนาวที่ระดับลึกลงไปในดิน อุณหภูมิจะสูงกว่าบนพื้นผิวดิน แม้ว่าอุณหภูมิบนพื้นผิวดินจะติดลบจนทำให้น้ำเป็นน้ำแข็ง แต่ที่ระดับลึกลงไปในดินระดับหนึ่งนั้นอุณหภูมิจะยังคงสูงพอที่จะทำให้น้ำไม่ยังไม่แข็งตัวเป็นน้ำแข็ง ระดับความลึกนี้คือ "Frost Depth" ส่วนจะลึกเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของอากาศเหนือผิวดิน ถ้าอุณหภูมิของอากาศเหนือผิวดินลดต่ำมาก ระดับ Frost Depth นี้ก็จะลึกลงไปมากตามไปด้วย
  
ระดับ Frost Depth นี้จำเป็นสำหรับการออกแบบระบบท่อน้ำที่ฝังอยู่ใต้ดิน (เช่นท่อน้ำประปา ท่อน้ำดับเพลิง) เพราะเมื่อน้ำแข็งตัวกลายเป็นน้ำแข็งจะมีปริมาตรเพิ่มขึ้น ทำให้แรงดันในระบบท่อสูงขึ้นจนท่อแตกได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวจึงต้องฝังท่อให้ลึกลงไปในพื้นดินให้มากพอที่จะมั่นใจว่าอุณหภูมิที่ระดับความลึกนั้นจะไม่ลดต่ำลงจนทำให้น้ำเป็นน้ำแข็งได้
  
คำถามถัดไปเป็นคำถามเกี่ยวกับระดับที่ตั้งโรงงานว่าสูงกว่าระดับน้ำทะเลเท่าใด และค่าความดันอากาศ กรณีนี้เกี่ยวข้องกับโรงงานที่ตั้งอยู่ ณ ตำแหน่งที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมาก
   
และปิดท้ายด้วยข้อควรระวังเป็นพิเศษ เช่นพื้นที่นั้นมีสภาพอากาศที่สำคัญที่ควรต้องระวังอย่างไรบ้าง เช่นมีพายุทราย พายุลูกเห็บ (สำหรับบ้านเราจะมีพายุลูกเห็บทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงเปลี่ยนจากฤดูหนาวมาเป็นฤดูร้อนเป็นประจำ ภาคกลางและภาคใต้ไม่ประสบปัญหานี้) ฯลฯ รวมถึงสถานีพยากรณ์อากาศที่อยู่ใกล้ที่สุดที่มีข้อมูลสถิติเผยแพร่ (เพื่อให้ได้สภาพอากาศที่ใกล้เคียงกับสภาพอากาศที่เป็นที่ตั้งของโรงงานมากที่สุด)

ตอนที่ ๔ ของเรื่องนี้คงต้องจบลงเพียงแค่นี้ก่อน