วันพฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เที่ยวบ่อน้ำร้อนที่บางพระ (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงตำ ตอนที่ ๑๓๘) MO Memoir : Tuesday 31 July 2561

"บ่อน้ำร้อนอยู่เหนืออำเภอศรีราชาขึ้นมาประมาณ ๓ กิโลเมตร มีทางแยกจากถนนสุขุมวิทย์เข้าไปอีกประมาณ ๓ กิโลเมตร ถ้าท่านไปพักที่ศรีราชาแล้ว สามารถจะเดินไปเที่ยวบ่อน้ำร้อนได้ เพราะระยะทางไม่ไกลเกินไปนัก ภูมิประเทศในบริเวณบ่อน้ำร้อนสวยงามน่าชมยิ่ง คือมีภูเขาทั้งสามด้าน บนภูเขาในบริเวณนี้โดยมากมักจะถูกชาวบ้านถากถางทำเป็นไร่ปลูกมันสัมปหลัง และกล้วยเต็มไปหมด ทางทิศใต้และทิศตะวันออกของบ่อน้ำร้อน ก็เต็มไปด้วยไร่สัปรดและสวนเงาะ ถ้าไปเที่ยวในฤดูที่เงาะออกผลแล้ว จะพบลูกเงาะสีเหลืองบ้าง สีแดงบ้าง ห้อยเป็นพวงระย้าเต็มต้นไปหมด บางต้นเตี้ยพอเขย่งเก็บถึงก็มี และถ้าหากว่าท่านอยากจะรับประทาน จะขอเขารับประทานสักอิ่นหนึ่งก็คงจะได้ เจ้าของสวนคงจะไม่หวงห้ามท่านเลย"


รูปที่ ๑ ปีพ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นปีที่แล้งจัดปีหนึ่ง จนน้ำในอ่างเก็บน้ำบางพระลดต่ำลงจนปากปล่องบ่อน้ำพุร้อนโผล่จากใต้น้ำ

"ส่วนบ่อน้ำร้อนนั้นเป็นน้ำพุที่ไหลมาจากภูเขาซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้ ๆ นั้น ที่เกิดความร้อนขึ้นก็เพราะน้ำไหลผ่านปฐพีที่มีความร้อนสูง แล้วก็พุขึ้นมาบนผิวดิน น้ำที่พุมานั้นมีความร้อนสูงกว่าความร้อนในร่างกายคน คือร้อนเกินกว่า ๓๗ องศาเซ็นติเกรด และมีกัมมะถันเจือปนอยู่ด้วย มีผู้ทำบ่อซิเมนต์กั้นขังน้ำไว้และทำที่อาบน้ำไว้ข้าง ๆ บ่อน้ำพุนี้มีมาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๖ แต่เนื่องจากบ่อและที่อาบน้ำแต่เดิมเป็นของล้าสมัยและชำรุดทรุดโทรมลง ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี จึงสั่งให้กรมโยธาเทศบาลจัดสร้างบ่อน้ำและที่อาบน้ำขึ้นใหม่อย่างทันสมัย เมื่อ พ.. ๒๔๙๖ ... "
 
ข้อความข้างต้นนำมาจากหนังสือ "ทัศนาสารไทย จังหวัดชลบุรี" ฉบับของสำนักวัฒนธรรมทางศิลปกรรม สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ (น่าจะจัดทำในปีพ.ศ. ๒๔๙๙) ผมพิมพ์ตามตัวสะกดและเว้นวรรคตามที่หนังสือพิมพ์ไว้ ไม่ได้ทำการแก้ไขอะไร หนังสือนี้บรรยายสภาพทั่วไปของบ่อน้ำร้อนในสมัยนั้น ที่ปัจจุบันจมอยู่ใต้ผืนน้ำของอ่างเก็บน้ำบางพระ


รูปที่ ๒ แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา จัดทำในปีพ.ศ. ๒๔๙๗ แสดงตำแหน่งของบ่อน้ำร้อนก่อนมีการสร้างเขื่อน

"ต่อจากพุน้ำร้อนไปทางทิศตะวันออกประมาณสัก ๑๐๐ เมตร มีพุอีกพุหนึ่งแต่น้ำไม่ร้อนเหมือนอย่างพุแรก กลับเย็นดีเหมือนอย่างเช่นน้ำในห้วยหนองคลองบึง ปลาต่าง ๆ สามารถจะแหวกว่ายอยู่ในบ่อน้ำพุนี้ได้อย่างสบาย ..."
 
ข้อมูลนี้ทำให้ทราบว่า บริเวณดังกล่าวมีพุน้ำอยู่สองแห่ง แห่งหนึ่งเป็นน้ำร้อน อีกแห่งหนึ่งนั้นเย็นกว่า

รูปที่ ๓ ภาพบริเวณบ่อน้ำร้อน จากหนังสือทัศนาสารไทย จังหวัดชลบุรี รูปนี้น่าเป็นภาพก่อนการก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ (ที่กลายเป็นอ่างเก็บน้ำบางพระในปัจจุบัน) แต่น่าจะหลังจากที่ได้ทำการปรับปรุงในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ แล้ว เพราะเมื่อเทียบกับภาพที่ปรากฏในคลิปภาพยนต์ที่ระบุว่าบันทึกไว้ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ นั้น อาคารในรูปนี้ดูใหม่กว่า

"ต่อมารัฐบาลได้พิจารณาถึงประโยชน์ในอันที่จะกักกันน้ำจืดไว้สำหรับให้ชาวเมืองชลบุรีได้อาศัยบริโภค เพราะปรากฏว่าในฤดูแล้วจังหวัดชลบุรีขาดแคลนน้ำจืดสำหรับบริโภคอย่างยิ่ง เมื่อกรมชลประทานได้ตรวจดูภูมิประเทศของจังหวัดนี้หมดแล้วเห็นว่าไม่มีที่ไหนเหมาะกว่าพื้นแผ่นดินในบริเวณบ่อน้ำร้อน เนื่องจากเป็นที่ราบภายในหุบเขา สามารถจะกักกันน้ำไว้ดีกว่าแห่งอื่น จึงได้สร้างเขื่อนคอนกรีตกั้นเทือกเขาที่ต่อกัน ทำเป็นอ่างเก็บน้ำ และสำเร็จเมื่อต้นปี พ.. ๒๔๙๙ อ่างนี้สามารถเก็บน้ำไว้ได้หลายล้านลูกบาตรเมตร"
...
"เมื่อได้สร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นแล้ว น้ำได้ท่วมบ่อน้ำร้อนนี้หมด ไม่สามารถจะใช่บ่อน้ำพุของเดิมได้ ทางการจึงได้รื้อที่อาบน้ำร้อนไปสร้างใหม่นอกเขื่อนกั้นน้ำ ซึ่งอยู่ห่างจากที่เดิมปริมาณ ๓ กิโลเมตร แล้วทำการสร้างท่อไขน้ำจากบ่อเดิมเข้าไปยังที่อาบน้ำใหม่นี้ ส่วนบ่อเดิมนั้นได้ทำเสาซิเมนต์ทาสีขาวตั้งไว้เป็นเครื่องหมาย
น้ำร้อนซึ่งไหลตามท่อจากพุเดิมไปยังที่ใหม่นี้ ไม่ร้อนจัดเหมือนอย่างเดิม คงอุ่นนิด ๆ พอให้รู้สึกว่าผิดกว่าน้ำเย็นธรรมดาเล็กน้อยเท่านั้น ..."
 
เสาซิเมนต์สีขาวต้นนั้นก็น่าจะเป็นเสาซิเมนต์ที่โผล่พ้นน้ำครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ (รูปที่ ๑) ที่เป็นปีที่แล้งจัดปีหนึ่งจนระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำลดต่ำลงมาก ส่วนตำแหน่งบ่อน้ำใหม่ที่สร้างขึ้น ในหนังสือสยามานุสรณ์ (ตอนท้ายของเรื่อง) ระบุไว้ว่าห่างจากที่เดิมประมาณ ๕๐๐ เมตร ต่างไปจากตัวเลข ๓ กิโลเมตรที่หนังสือทัศนาสารกล่าวเอาไว้
 
การสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำเพื่อให้เกิดอ่างเก็บน้ำบางพระมีการสร้างสองครั้ง ที่หนังสือกล่าวเอาไว้คือการสร้างครั้งแรก เขื่อนนี้ยังพอเห็นได้เวลาที่ระดับน้ำในอ่างลดต่ำลง ต่อมาได้มีการสร้างเขื่อนดินท้ายเขื่อนคอนกรีตเดิมในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เพื่อเพิ่มความจุของอ่างเก็บน้ำ ผลจากการสร้างเขื่อนครั้งที่สองนี้ทำให้ที่อาบน้ำร้อนใหม่นั้นหายไป


รูปที่ ๔ แผนที่แสดงเขตสุขาภิบาลบางพระปี พ.ศ. ๒๕๐๖ หลังมีการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ ทำให้บ่อน้ำร้อนเดิมจมอยู่ใต้น้ำ เลยต้องมีการต่อท่อออกมายังตำแหน่งใหม่ในกรอบสี่เหลี่ยมสีแดงในภาพ ถ้าเทียบตำแหน่งกับแผนที่ในรูปที่ ๒ จะเห็นว่า บ่อน้ำร้อนเดิมนั้นอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาซากขมิ้น แต่บ่อน้ำร้อนใหม่นั้นอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเขาซากขมิ้น (เขาที่อยู่มุมล่างขวาของแผนที่อยู่ข้างเครื่องหมายบอกทิศ)

รูปที่ ๕ ป้ายบอกทางแยกไปยังบ่อน้ำร้อน

รูปที่ ๖ เส้นทางไปยังบ่อน้ำพุร้อน

รูปที่ ๗ โรงอาบน้ำ


รูปที่ ๘ บรรยากาศการอาบน้ำ
 
รูปที่ ๕ - ๘ นำมาจากคลิปวิดิโอที่ผู้เผยแพร่ทาง YouTube เรื่อง "บางละมุง-ศรีราชา-ชลบุรี ปี 2495" โดยผู้โพสที่ใช้ชื่อ "ชุมทางหนังไทยในอดีต" ในคลิปดังกล่าวมีทั้งภาพการเดินทางซึ่งมีทั้ง การข้ามแม่น้ำบางปะกงโดยใช้สะพานเทพหัสดิน การเข้าไปยังบ่อน้ำร้อนบางพระ รถไฟลากไม้ศรีราชา ฯลฯ แต่น่าเสียดายที่คลิปวิดิโอดังกล่าวถูกนำออกไปนานแล้วและไม่รู้เหมือนกันว่าจะได้เห็นอีกทีเมื่อไร


รูปที่ ๙ หนังสือ "สยามานุสรณ์" และ "ทัศนาสารไทย"

บันทึกเกี่ยวกับบ่อน้ำร้อนที่บางพระนี้พบในหนังสืออีกเล่มคือ "สยามานุสรณ์" (รูปที่ ๙) ในหน้า ๖๒๐ - ๖๒๒ แต่เสียดายที่ภาพที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ไม่ชัดเจน หนังสือเล่มนี้ที่ยืมมาจากห้องสมุดไม่มีการระบุปีที่พิมพ์ รู้แต่ว่าห้องสมุดได้รับมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ มีการระบุไว้ที่ท้ายเล่มว่า "พิมพ์ที่สัตยการพิมพ์ 889/1 ถนนอรุณอัมรินทร์ บางกอกน้อย กรุงเทพ ฯ นายประสงค์ ตระการสัตยกุล ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา โทร. 4665251, 4655312" โดยได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับบ่อน้ำร้อนนี้ไว้ว่า
 
"อ่างเก็บน้ำร้อน จะมีอ่างเก็บน้ำเป็นลักษณะบ่อน้ำธรรมชาติเกิดขึ้นเอง 3 บ่ออยู่ใกล้เคียง บ่อแรกเป็นบ่อน้ำร้อน มีความร้อนถึง 100 องศาฟาเรนไฮต์ อีกบ่อเป็นบ่อน้ำอุ่น และอีกบ่อเป็นบ่อน้ำเย็น
บ่อน้ำร้อนเป็นน้ำพุ ที่เกิดจากใต้ดินไหลผ่านแร่ธาตุบางชนิด เช่นแร่กำมะถัน จะมีผู้ไปเที่ยวและอาบน้ำร้อนกันเสมอ เพราะเชื่อว่าเมื่ออาบน้ำร้อนแล้วจะรักษาโรคผิวหนัง และอาการปวดเมื่อยตามตัวให้หายไปได้
ปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ปิดบังบ่อน้ำร้อน ทางราชการได้ต่อท่อให้น้ำในอ่างไหลเป็นน้ำประปาไปใช้ในตัวเมือง และได้ต่อท่อจากพุน้ำร้อนเดิมให้พุ่งขึ้นอีกทางหนึ่ง ห่างจากที่เดิมประมาณ 500 เมตร สถานที่ใหม่นี้ทำเป็นอ่างกลมใหญ่ มีรูปพญานาคพ่นน้ำร้อนลงในอ่างตลอดเวลา แล้วต่อให้ไหลเข้าห้องน้ำทำเป็นที่อาบน้ำร้อนภายในห้อง การไหลของน้ำใช้แรงดันของน้ำพุ โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องจักรกลใด ๆ"

ไม่มีความคิดเห็น: