"เทคโนโลยี" บางชนิดก็จัดเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง แต่การควบคุมการส่งออกจะทำได้ยากเพราะมีช่องทางการส่งออกที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นในรูปของการศึกษา การประชุมวิชาการ การส่งผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น อย่างเช่นในกรณีของตัวอย่างที่ ๗ นี้ที่เป็น "รายงานผลการทดสอบ"
ในเรื่องของสารกึ่งตัวนำและฉนวนไฟฟ้า แถบพลังงานของชั้น Valance band (ชั้นวงโคจรนอกสุดที่มีอิเล็กตรอน) กับแถบพลังงานของชัน Conduction band (แถบพลังงานถัดไปที่มีที่ว่างอยู่) จะไม่ซ้อนทับกัน โดยระดับพลังงานต่ำสุดของแถบพลังงาน Conduction band นั้นจะสูงกว่าระดับพลังงานสูงสุดของแถบพลังงาน Valance band ผลต่างของระดับพลังงานสองระดับนี้เรียกว่า "Band gap" (ผลต่างระดับพลังงานตรงนี้นิยมใช้หน่วยอิเล็กตรอนโวลต์ eV)
การนำไฟฟ้าจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่ออิเล็กตรอนใน Valance band ได้รับพลังงานมากพอที่จะกระโดดเข้าไปอยู่ในแถบพลังงาน Conduction band ได้ วัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้าจะมีค่า Band gap นี้กว้าง (4 eV ขึ้นไป) ในขณะที่วัสดุที่เป็นสารกึ่งตัวนำเช่น Si จะมีค่า Band gap นี้อยู่ที่ประมาณ 1.14 eV และเราสามารถทำให้ Si นำไฟฟ้าได้ดีขึ้นด้วยการโดปธาตุบางธาตุที่ทำให้เกิด acceptor level หรือ donor level
รูปที่ ๑ รายงานผลการทดสอบสารกึ่งตัวนำที่ต้องมาตีความว่าเข้าข่ายสินค้าควบคุมหรือไม่
ที่อุณหภูมิสูงขึ้น อิเล็กตรอนในแถบพลังงาน Valance band จะมีพลังงานมากขึ้น ทำให้สามารถกระโดยเข้าไปวิ่งในแถบพลังงาน Conduction band ได้ง่ายขึ้น ดังนั้นสารกึ่งตัวจึงนำไฟฟ้าได้ดีขึ้นที่อุณหภูมิสูงขึ้น แต่สิ่งนี้ก็ก่อให้เกิดปัญหาในการนำสารกึ่งตัวนำไปใช้ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง เพราะมันจะรวนได้เนื่องจากแทนที่กระแสไฟฟ้าจะวิ่งตามเส้นทางที่ได้โดปธาตุต่าง ๆ เอาไว้ กลับกลายเป็นว่ามันวิ่งผ่านตัว Si ได้เลย
รูปที่ ๒ คุณสมบัติอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นสินค้าควบคุมในหัวข้อ 3A001.b.3.b
GaN หรือ Gallium Nitride เป็นสารกึ่งตัวนำที่มีค่า band gap ที่กว้าง คือมีค่า 3.4 eV จึงมีการนำมาใช้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายชนิดที่ต้องสามารถทนอุณหภูมิที่สูงได้ และในวงการหนึ่งที่ใช้กันมากคือทางทหาร แต่ใช่ว่า GaN ทุกตัวจะเป็นสินค้าควบคุม คือในข้อกำหนดนั้นไม่ได้กำหนดว่าอุปกรณ์ที่เป็นสินค้าควบคุมนั้นทำจากวัสดุอะไร แต่กำหนดความสามารถในการทำงาน ดังนั้นไม่ว่าวัสดุนั้นจะเป็นวัสดุอะไร แต่ถ้ามันมีความสามารถตามข้อกำหนด วัสดุนั้นก็จะกลายเป็นสินค้าควบคุม
แต่เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้ไม่ใช่เรื่องของการส่งออกวัสดุ แต่เป็นการส่งออก "รายงานการผลการทดสอบ"
กรณีของรายงานการทดสอบ GaN เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ได้ไปเรียนมา กล่าวคือมีการสั่งซื้ออุปกรณ์ผลิตคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่สูง (รูปที่ ๑) และอุปกรณ์ดังกล่าวก็เข้าข่ายสินค้าควบคุมในหัวข้อ 3A001.b.3.b (รูปที่ ๒) และก่อนที่จะส่งสินค้าไปให้ผู้ค้า ทางผู้ผลิตก็ได้ทำการทดสอบอุปกรณ์ด้วยวิธีการทดสอบที่เป็นมาตรฐานของบริษัทเอง (วิธีการทดสอบไม่เป็นที่เปิดเผย และรายงานการทดสอบก็ไม่ได้เปิดเผยออกสู่สาธารณะ) และสินค้าตัวอื่นที่มี GaN เป็นองค์ประกอบแต่ไม่เข้าข่ายสินค้าควบคุม ก็ได้รับการทดสอบด้วยวิธีการทดสอบแบบเดียวกัน
ตรงจุดนี้มันก็มีคำถามเกิดขึ้นว่า ถ้าสินค้าที่มี GaN เป็นองค์ประกอบที่ได้ตัดสินใจขายให้ผู้ซื้อนั้นเป็นสินค้าควบคุม แล้วทำไมต้องมาห่วงเรื่องรายงานการทดสอบอุปกรณ์ ก็ในเมื่อยอมขายอุปกรณ์ให้ผู้ซื้อไปแล้ว เพราะถ้าไม่ไว้ใจผู้ซื้อก็ไม่ควรที่จะขายอุปกรณ์ดังกล่าวแต่ต้น จะได้ไม่ต้องมาเถียงกันว่ารายงานการทดสอบเข้าข่ายสินค้าควบคุมด้วยหรือไม่
ประเด็นมันอยู่ตรงที่ ตัวสินค้านั้นอาจมีวัตถุประสงค์ที่ผู้ซื้อแจ้งว่าจะนำไปใช้ในกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทหาร แต่เนื่องจากเป็นสินค้าควบคุม ข้อมูลการทดสอบจึงต้องผ่านการตรวจสอบว่าเป็นการส่งออกเทคโนโลยีด้วยหรือไม่ตามเกณฑ์ในหัวข้อ 3E001 (รูปที่ ๓)
ในเอกสารที่ทางผู้อบรมนำมาสอนนั้นกล่าวว่า ในส่วนของ General Technology Note (GTN) (รูปที่ ๔) กล่าวว่าถ้าการทดสอบนั้นเป็นการทดสอบที่กระทำแบบเดียวกันกับสินค้าที่ไม่เข้าข่าย ดังนั้นรายงานการทดสอบสินค้าเข้าข่ายที่ใช้วิธีการทดสอบแบบเดียวกันกับสินค้าที่ไม่เข้าข่ายก็จัดว่าไม่เข้าข่ายถูกควบคุมการส่งออกเทคโนโลยี
รูปที่ ๔ รายละ General Technology Note (GTN) ที่ต้องนำไปพิจารณาร่วมกับ section E ของหมวด 1 ถึง 9
ถ้าพิจารณาแต่ชื่อสิ่งที่ต้องพิจารณา มันก็คงจะจบเพียงแค่นี้ แต่ทางผู้อบรมก็ให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่า ในทางปฏิบัตินั้นควรต้องพิจารณาเนื้อหาของรายงานด้วย ว่ามีอะไรซุกซ่อนอยู่ไหม เช่นเป็นสินค้าต้นแบบที่สามารถนำข้อมูลการทดสอบนั้นไปพัฒนาต่อไป และมีการทดสอบที่เฉพาะเจาะจงกับสินค้าที่เข้าข่ายหรือไม่ (คือมีการทดสอบนอกที่ถ้าเป็นสินค้าที่ไม่เข้าข่ายแล้วก็ไม่ต้องทดสอบ) (รูปที่ ๕)
ความยากของการตรวจสอบตรงนี้คงอยู่ที่ ผู้ที่ทำรายงานนั้นตระหนักหรือไม่ว่าเนื้อหาในรายงานนั้นอาจเข้าข่ายการส่งออกเทคโนโลยีที่เป็นเทคโนโลยีควบคุมได้ ยิ่งในปัจจุบันที่สามารถส่งออกข้อมูลได้ง่ายผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตโดยไม่ผ่านการตรวจจับ
อีกประเด็นที่ต้องคำนึงคือ คำว่า "ส่งออกเทคโนโลยีทางอิเล็กทรอนิกส์" นั้นไม่ได้จำกัดเพียงแค่การส่งผ่านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในมือไปให้กับบุคคลภายนอก แต่ยังครอบคลุมถึงการอนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าใช้ซอร์ฟแวร์หรือข้อมูลที่ติดตั้งอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานด้วย กล่าวคือลูกค้าไม่ได้ซื้อซอร์ฟแวร์หรือข้อมูลที่เป็นเทคโนโลยีควบคุม แต่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงซอร์ฟแวร์หรือข้อมูลที่เป็นเทคโนโลยีควบคุม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น