วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2563

คลองท่าถั่ว MO Memoir : Tuesday 29 December 2563

"ในคลองท่าถั่ว จังหวัดฉะเชิงเทรา ถ้ากล่าวถึงผู้ใหญ่โพธิ บ้านใกล้วัดประเวศ ทุกคนในคลองนั้นจะรู้จักนับแต่ประตูน้ำท่าถั่ว ถอยหลังไปตามคลองท่าถั่ว ผ่านคลอง สวน และจดตำบลเปรง นอกจากผู้ใหญ่โพธิจะเป็นชาวนาที่มั่งคั่งแล้ว ยังหากินทางตั้งวงดนตรีไทย ทั้งวงพิณพาทย์และเครื่องสาย หากินไปไกลนับแต่ในตัวจังหวัดไปถึงบางปะกงหรือคลองท่าไข่ ผู้ใหญ่โพธิตีกว้างนัก แม้จะมีผู้ใหญ่บ้านเที่ยงอีกคนหนึ่งที่อยู่ใกล้วัดเทพราช ซึ่งเป็นนายวงดนตรีไทยเช่นกัน แต่ยังสู้ความกว้างขวางของผู้ใหญ่โพธิไม่ได้ ..."

ย่อหน้าข้างบนผมนำมาจากนิยายเรื่อง "คู่กรรม" ที่อยู่ในหนังสือ "วิญญาณที่เร่ร่อน" ที่เขียนโดย เหม เวชกร หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปีพ.ศ. ๒๕๐๕ ลักษณะของนิยายที่เขียนโดย เหม เวชกร นั้นสถานที่ต่าง ๆ จะเป็นสถานที่ที่มีอยู่จริง ดังนั้นฉากต่าง ๆ ที่ท่านได้บรรยายไว้ในนิยายจึงอาจเปรียบได้ว่าเป็นการบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ของคนในละแวกนั้นก่อนที่จะมีการจัดพิมพ์นิยายเรื่องนั้น อย่างเช่นเรื่อง "คู่กรรม" นี้ใช้ฉากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณ "คลองท่าถั่ว" และคลองต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อกันในท้องที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ดังนั้นวันนี้ก็จะขอตามรอยสถานที่ที่มีการบรรยายไว้ในนิยายเรื่อง "คู่กรรม" นี้สักหน่อย (หมายเหตุ: ผมสะกด "เปรง" ตามต้นฉบับหนังสือ แต่ในปัจจุบันเขาจะเขียนเป็น "เปร็ง")

รูปที่ ๑ คลองท่าถั่วที่ปรากฏในแผนที่ทหารรหัส L509 (ฉบับที่จัดทำโดยกรมแผนที่ทหารของไทย) แผนที่นี้น่าจะเป็นฉบับที่แปลออกมาจากแผนที่ทหารรหัส L509 ที่สหรัฐอเมริกาจัดทำที่ใช้ข้อมูลจากการสำรวจในปีพ.ศ ๒๔๙๔ และ ๒๔๙๖ และนำมาประมวลผลในปีพ.ศ. ๒๔๙๖ ในแผนที่นี้ปรากฏชื่อคลองท่าถั่วอยู่ระหว่างคลองประเวศบุรีรมย์และแม่น้ำบางปะกง

"... นายประเทืองขอหลบหน้าให้พ้นกรุงเทพฯ จึงดั้นด้นมาหานายฉอุ่มที่คลองสวนและเล่าสารทุกข์สุขดิบให้ฟัง นายฉอุ่มรักเพื่อนก็พยายามหาทางให้เพื่อนสบาย ทุกข์ในใจให้เบาลง เมื่อรู้ว่าประเทืองมีความรู้ทางดนตรีไทยดี จึงชวนประเทืองไปรู้จักกับผู้ใหญ่เที่ยง เพื่อหาทางได้ซักซ้อมดนตรีพอแก้หัวใจที่หม่นหมอง"

ถนนเส้นนี้ผมขับรถเข้าไปครั้งแรกตอนที่เขาพยายามจะเปิดตลาดน้ำริมคลองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ คือเห็นมีป้ายใหม่มาปรากฏอยู่ตรงทางออกมอเตอร์เวย์ ก็เลยถือโอกาสแวะเยี่ยมชมเพราะเห็นว่ามันไม่ได้ออกนอกเส้นทางไปมาก ถือว่าเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ ตอนนั้นถนนเส้นนั้นเป็นเพียงถนนสองเลนเล็ก ๆ พอให้รถใหญ่วิ่งสวนกันได้ สองข้างทางเป็นคูน้ำ สองฝั่งถนนยังมีการทำนากันอยู่ บริเวณตีนสะพานบางแห่งก็จะมีกระสอบทรายมาวางตามริมขอบถนนเพื่อกันไม่ให้น้ำเข้าท่วมถนน บางฤดูกาลก็จะมีแผงลอยขายหนูนาและงูเห่า (สำหรับคนอยากกิน) ตลาดที่ไปตอนนั้นยังเงียบสงบอยู่ มีร้านขายอาหารร้านหนึ่งตั้งอยู่ริมคลองที่สุดฝั่งด้านทิศตะวันตกของตลาด มีโอกาสแวะไปพักกินข้าวเที่ยงที่นั่นหลายครั้ง ยังมีโอกาสได้ไปนั่งถ่ายรูปเล่นที่ท่าน้ำของร้านนั้น (แต่ตอนนี้เปลี่ยนเจ้าของและคนทำอาหารไปแล้ว) ตลาดนั้นชื่อคลาดคลองสวน แต่คลองที่ขนานไปกับตลาดนั้นคือคลองประเวศบุรีรมย์ คลองสวนจะอยู่ทางฝั่งด้านทิศเหนือของคลองประเวศฯ (ถ้าสงสัยว่าคลองสวนคือคลองไหน ก็ลองดูได้ใน google map แล้วขยายภาพให้ใหญ่หน่อย ก็จะเห็นชื่อคลองปรากฏ)

รูปที่ ๒ รูปนี้มาจากแผนที่ทหารรหัส L509 ฉบับภาษาอังกฤษที่จัดทำโดยกองทัพสหรัฐ แต่ในรูปนี้ปรากฏแต่ชื่อบ้านท่าถั่ว

ตอนแรก ๆ ที่ไปที่นั่นก็คิดเพียงว่าเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศกินข้าวเที่ยงระหว่างการขับรถไปบางแสน แต่สักพักเริ่มสะกิดใจกับชื่อวัดบางวัดที่ขับรถผ่าน ก็เลยได้กลับมาค้นดูว่าเคยได้ยินชื่อเหล่านี้ที่ไหนมาก่อน ที่แท้ก็มาจากนิยายของ เหม เวชกร นั่นเอง โดยเฉพาะตัวตลาดที่อยู่ใกล้กับวัดเทพราชที่เป็นฉากเปิดตัวพระเอกและนางเอกของเรื่อง ส่วนตำบลเปรงในเรื่องนั้นก็น่าจะเป็นบริเวณวัดเปร็งในปัจจุบัน ซึ่งแถววัดนี้ก็เพิ่งเป็นข่าวใหญ่ไปเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ที่เกิดเหตุการณ์ท่อส่งแก๊สธรรมชาติที่ฝังใต้ดินเลียบถนนฝั่งด้านทิศใต้ (ฝั่งตรงข้ามกับวัด) เกิดความเสียหาย ตามด้วยแก๊สรั่วและการระเบิด ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย

 

รูปที่ ๓ คลองประเวศฯ มองจากสะพานข้ามคลองตรงวัดเปร็งไปทางทิศตะวันตก หรือไปทางหัวตะเข้ วัดเปร็งนี้อยู่ทางฝั่งด้านทิศใต้ของคลอง

รูปที่ ๔ คลองประเวศฯ เมื่อมองจากสะพานข้ามคลองตรงวัดเปร็งไปทางทิศตะวันออก หรือไปทางวัดเทพราช

รูปที่ ๕ สะพานข้ามคลองที่วัดเปร็งที่ขึ้นไปถ่ายรูป

รูปที่ ๖ รูปนี้ไม่เกี่ยวกับนิยายของ เหม เวชกร แต่เป็นฝั่งตรงข้ามวัดเปร็งที่เกิดเรื่องท่อส่งแก๊สใต้ดินรั่วและระเบิดเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

รูปที่ ๗ จากเพิงขายของริมคลองหน้าวัดเทพราช วันนี้อยู่ทางฟากเหนือของคลอง ขับรถข้ามสะพานมาก็จะเจอวัดเลย ภาพนี้มองไปทางทิศตะวันตกไปทางวัดเปร็ง
 
รูปที่ ๘ จากสะพานท่าน้ำหน้าวัดเทพราช แต่มองไปทางทิศตะวันออกไปทางวัดประเวศ

รูปที่ ๙ จากสะพานข้ามคลองที่วัดประเวศ ภาพนี้มองไปทางทิศตะวันตกไปทางวัดเทพราช

รูปที่ ๑๐ มองไปทางทิศตะวันออกไปทางท่าถั่ว ฝั่งทางด้านขวาคือศาลาริมน้ำของวัดประเวศ

รูปที่ ๑๑ สะพานข้ามคลองที่วัดประเวศ มอเตอร์ไซค์ขับข้ามได้ แต่รถยนต์ผ่านไม่ได้

รูปที่ ๑๒ สะพานข้ามคลองท่าถั่ว บนถนนเชื่อมระหว่างทางหลวงสาย ๓๓๑๕ กับ ๓๓๐๕ ภาพนี้มองไปทางทิศตะวันตก ที่เป็นที่ตั้งของประตูระบายน้ำท่าถั่ว

รูปที่ ๑๓ จากสะพานเดียวกัน แต่มองไปทางทิศตะวันออกมุ่งสู่แม่น้ำบางปะกง

รูปที่ ๑๔ ประตูระบายน้ำท่าถั่ว

"ในเดือนเก้าได้รับงานบ่าวสาวที่คลองบางพระ เป็นการเล่นวงเดียวไม่ใช่ประชันเพราะไม่มีใครกล้าประชัน ..."

ฝั่งด้านเหนือของคลองสายนี้เป็นจังหวัดฉะเชิงเทราในขณะที่ฝั่งด้านใต้นั้นเป็นจังหวัดสมุทรปราการ ช่วงหน้าน้ำคลองก็เต็มไปด้วยน้ำ และดูสวยดี แต่พอช่วงหน้าแล้ง บางปีเห็นน้ำแห้งมาจนน่าจะกระโดดข้ามได้ แต่ที่แย่หน่อยก็คือขยะที่ตกค้างอยู่ริ่มตลิ่งที่เห็นได้ชัดเวลาน้ำแห้ง ขณะเหล่านี้ไม่มีใครสนใจจะเก็บเลยแม้ว่าจะอยู่หน้าบ้านตัวเองที่อยู่ริมคลองแท้ ๆ จะว่าไปในช่วงเวลาที่น้ำแห้งนี้ ถ้าจะมีใครช่วยกันเก็บขยะที่ตกค้างในคลองก็น่าจะดีกว่าที่จะปล่อยให้มันไหลลงแม่น้ำและลงทะเลต่อไปเมื่อถึงคราวน้ำหลาก

คลองต่าง ๆ ที่ เหม เวชกร กล่าวไว้ในนิยาย ไม่ว่าจะเป็นคลองสวนหรือคลองบางพระ หรือคลองที่ลัดระหว่างคลองบางพระกับคลองท่าถั่ว ต่างก็เป็นคลองที่อยู่ทางฝั่งด้านเหนือทั้งสิ้น จากแผนที่เก่าจะเห็นว่าเส้นทางเดินทางทางบกของกรุงเทพฝั่งตะวันออกนี้ จะมีถนนสุขุมวิทที่เลียบทะเลทางทิศใต้ก่อนวกขึ้นไปหาจังหวัดฉะเชิงเทราเมื่อถึงแม่น้ำบางปะกง ส่วนทางด้านทิศเหนือก็จะมีเส้นทางรถไฟไปฉะเชิงเทรา เส้นทางการเดินทางหลักของพื้นที่ระหว่างถนนกับทางรถไฟนี้จึงเป็นคลองสายต่าง ๆ

รูปที่ ๑๕ แผนที่ทหารจัดทำโดยกองทัพอังกฤษที่ประจำอยู่ในอินเดีย (British-India) ฉบับพิมพ์เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ (พ.ศ. ๒๔๘๘) โดยใช้ข้อมูลที่มีการสำรวจในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ (พ.ศ. ๒๔๘๗)

ขอปิดท้ายฉบับส่งท้ายปีพ.. ๒๕๖๓ นี้ด้วยบรรยากาศยามดึกริมคลองสายนี้ที่ เหม เวชกร ได้บรรยายไว้ก็แล้วกันครับ ซึ่งคงเป็นสิ่งที่หาไม่ได้อีกแล้วในปัจจุบัน

"เกือบสี่ทุ่ม ธรรมชาติบ้านนาก็เงียบสงัด ในคลองหน้าบ้านนาน ๆ จะได้ยินเสียงปลาผุด เพราะไม่ใช่หน้าปลา ทันใดก็เกิดเสียงหนึ่งขึ้นในลำคลอง จะโดยจิตสำนึกให้เป็นไปของทับทิมหรืออย่างไรก็สุดจะพูดได้ว่ามันเป็นอะไรกันแน่ มันเป็นเสียงดังมาแต่ไกล ๆ เหมือนซออู้ดังแผ่ว ๆ ประดุจว่าจะมีใครลอยเรือสีซอเล่นในยามดึกเดือนมืด เป็นเสียงซออู้คร่ำครวญสะอึกสะอื้นในเพลงแขกมอญโหยวิเวก ..."

 

ไม่มีความคิดเห็น: