วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2563

เมทานอลกับเจลล้างมือ MO Memoir : Monday 30 March 2563

"อาจารย์คะ หนูมีคำถามค่าาา
อันนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องเรียนนะคะ
เหมือนกับว่าก่อนหน้านี้มันมีข่าวว่าพบว่ามีการแอบใช้เมทานอลในการทำเจลล้างมือ
แล้วหนูกับพวกรุ่นพี่บางกลุ่มกำลังคิดว่าอาจทำ infographic มาให้ความรู้
คือที่เมทานอลมันไม่สามารถใช้ได้ นอกจากเรื่องที่มันกินไม่ได้
แล้วมีเรื่องอะไรอีกหรอคะ คือมัน toxic ไรงี้หรอคะ"

เย็นวันวานมีสาวน้อยรายหนึ่งส่งข้อความถามมาเรื่องเกี่ยวกับการเอาเมทานอลมาทำเจลล้างมือ อันที่จริงผมก็ได้ให้ความเห็นส่วนตัวของผมกับเขาไปแล้ว แต่เห็นว่ามันน่าจะมีประโยชน์กับผู้อื่นอยู่บ้าง ก็เลยขอนำมาขยายความเพิ่มเติมบันทึกไว้ในที่นี้
  
ปัจจุบันมีการนำเสนอข้อมูลในรูปของ Infographic กันมากขึ้น ซึ่งวิธีการนี้ในความเห็นส่วนตัวของผมแล้ว มันเหมาะมากสำหรับการนำเสนอให้ผู้ที่รับสื่อนั้น "เชื่ออย่างรวดเร็ว โดยไม่คิดพิจารณา" ซึ่งในบางงานนั้นมันก็ใช้ได้ดี เช่นการเผยแพร่ คำเตือน ข้อห้าม อันตราย ฯลฯ แต่ถ้าเป็นการให้ความรู้ที่ถูกต้อง ก็ต้องพิจารณาให้ดี เพราะด้วยเนื้อที่จำกัดนั้น ทำให้มันไม่สามารถใช้รายละเอียดที่จำเป็นบางประการเพิ่มเติมเข้าไปได้ เช่น ข้อยกเว้น ข้อจำกัด ข้อควรระวัง เป็นต้น บ่อยครั้งที่เห็นว่าข้อมูลที่ Infographic ให้มานั้น "ไม่ผิด" แต่คนที่รับข้อมูลนั้นเอาไป "ขยายความ" แบบไม่ถูกต้อง มันก็เลยก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา
  
สำหรับเรื่องนี้ สิ่งแรกที่ผมบอกเขาไปว่า จะกล่าวถึงอะไรที่ไม่ใช่ศาสตร์ของเรา (ก็คือทางด้านวิศวกรรมเคมี) ก็ต้องหาแหล่งอ้างอิงหน่อย และควรเป็นแหล่งที่เชื่อถือได้ โดยในที่นี้ผมขอยกเอาข้อมูลมาจาก 
  
- Center for Disease Control (CDC) หรือหน่วยงานควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐอเมริกา (รูปที่ ๑)
  
- "Infection prevention and control of epidemic- and pandemic-prone acute respiratory infections in health care" WHO Guidelines เป็นเอกสารที่จัดทำโดยองค์การอนามัยโลกเมื่อปีค.ศ. ๒๐๑๔ เกี่ยวกับการรับมือโรคที่เกิดกับระบบทางเดินหายใจ ซึ่งตอนนั้นตัวสำคัญที่รู้จักกันก็มีไข้หวัดจากเชื้อไวรัส H5N1, H1N1, H7N9, MERSE และ SARS เอกสารนี้ดาวน์โหลดมาจาก https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK214356/ ซึ่งเป็นเว็บของNational Institute of Health (NIH) หรือหน่วยงานด้านสุขภาพของสหรัฐอเมริกา (รูปที่ ๒)
  
- หน้าที่ ๒๔๐ และ ๒๔๑ ของหนังสือ "Disinfection, Sterilization, and Preservation" โดย Seymour Stanton Block ที่ค้นผ่านทาง Google book (รูปที่ ๓ และ ๔) โดยจับภาพหน้าจอสองหน้านี้มาให้อ่านกัน
  
เนื้อหาใน Memoir ฉบับนี้ไม่ได้ต้องการจะบอกว่าเอาเมทานอลมาทำเจลล้างมือแล้วจะมีปัญหาไหม แต่อยากให้ตั้งคำถามแยกเป็นประเด็นดังนี้

ข้อ ๑ สารดังกล่าวมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อที่ต้องการหรือไม่
ข้อ ๒ สารดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาอะไรกับพื้นผิวที่มันสัมผัสหรือกับผู้ใช้งานหรือไม่
ข้อ ๓ การตกค้างของสารดังกล่าวบนพื้นผิวก่อให้เกิดปัญหาหรือไม่
   
เชื้อจุลชีพที่ทำให้เกิดโรคนั้น ในทางจุลชีววิทยาจะแบ่งออกเป็นกี่กลุ่มผมก็ไม่รู้ เท่าที่พอรู้ก็มีพวก แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และพาราสิต (เช่นเชื้อที่ทำให้เกิดมาลาเรีย) และในแต่ละกลุ่มนั้นมันก็แยกกลุ่มย่อยออกไปอีก สารที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรคก็ไม่ได้หมายความว่ามันฆ่าได้ทุกกลุ่ม หรือแม้แต่ในแต่ละกลุ่ม ก็ไม่ได้หมายความว่ามันฆ่าได้ทุกกลุ่มย่อย อย่างเช่นเอทานอลที่เรารู้กันว่าฆ่าเชื้อโรคบนผิวหนังได้ แต่มันฆ่าเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังไม่ได้ เวลาที่เราเป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา เอาเอทานอลทามันก็ไม่หาย ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อราต่างหาก หรือแม้แต่เราไม่สบายเนื่องจากติดเชื้อแบคทีเรีย หมอก็ยังต้องดูว่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรียประเภทไหน จะได้ใช้ยาปฏิชีวนะได้ถูกชนิด
  
รูปที่ ๑ ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อของแอลกอฮอล์ที่ปรากฏในหน้าเว็บของ CDC เรื่อง "Guideline for Disinfection and Sterilization in Healthcare Facilities (2008)" ผมจับภาพหน้าจอเฉพาะเนื้อหาตรงส่วนนี้มาแสดง (จาก https://www.cdc.gov/infectioncontrol/guidelines/disinfection/disinfection-methods/chemical.html)

ข้อมูลในย่อหน้าแรกของรูปที่ ๑ กล่าวถึงบทบาทของแอลกอฮอล์ในการฆ่าเชื้อ "แบคทีเรีย" โดยกล่าวว่าเมทานอลมีฤทธิ์อ่อนสุด (คิดว่าเป็นการเทียบกันระหว่าง เมทานอล เอทานอล และไอโซโพรพานอล) แม้แต่เอทานอลและไอโซโพรพานอลเองก็ยังมีความสามารถในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่แตกต่างกัน
   
ย่อหน้าที่สองของรูปที่ ๒ กล่าวถึงความสามารถในการฆ่าเชื้อ "ไวรัส" ของเอทานอลและไอโซโพรพานอล (ไม่มีการกล่าวถึงเมทานอล) ที่แม้ว่าแอลกอฮอล์ทั้งสองชนิดจะมีความสามารถในการฆ่าเชื้อไวรัสได้อย่างกว้างขวาง แต่ก็มีฤทธิ์ในการฆ่าที่แตกต่างกัน และก็มีข้อยกเว้นด้วย เช่นเอทานอลไม่สามารถจัดการกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบชนิด A และโรคปอลิโอได้ แต่จัดการกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza ได้)
   
รูปที่ ๒ จากเอกสาร "Infection prevention and control of epidemic- and pandemic-prone acute respiratory infections in health care" WHO Guidelines จัดทำโดยองค์การอนามัยโลก

ข้อมูลในหัวข้อ G.1 ของรูปที่ ๒ กล่าวว่าแอลกอฮอล์เป็นสารที่มีประสิทธิผลในการฆ่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ โดยเอทานอลเข้มข้น 70% จัดว่ามีประสิทธิผลสูงกว่าไอโซโพรพานอล สารอีกตัวหนึ่งที่มีประสิทธิผลสูงเช่นกันคือโซเดียมไฮโปคลอไรต์ (NaOCl) สารตัวนี้เป็นตัวออกซิไดซ์ ในชีวิตประจำวันเราใช้เป็นน้ำยาซักผ้าขาว คือให้มันทำความสะอาดคราบสกปรก แต่สารตัวนี้ค่อนข้างจะระคายเคือง ทำให้มันเหมาะสำหรับการทำความสะอาดพื้นผิว (ที่ไม่ใช่ผิวหนังคน) มากกว่า และสิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วยก็คือ มันสามารถออกซิไดซ์สารอื่นนอกเหนือไปจากเชื้อโรคได้เช่นกัน
  
รูปที่ ๓ หน้า ๒๔๐ จากหนังสือ "Disinfection, Sterilization, and Preservation" โดย Seymour Stanton Block

รูปที่ ๓ และ ๔ ได้จากการใช้ google ค้นหาว่าเมทานอลสามารถฆ่าไวรัสได้หรือไม่ ซึ่งมันก็พาไปยังหน้า ๒๔๐ และ ๒๔๑ ของหนังสือชื่อ "Disinfection, Sterilization, and Preservation" โดย Seymour Stanton Block ที่กล่าวถึงประสิทธิผลของแอลกอฮอล์โมเลกุลเล็ก (C1 - C4) ในการฆ่าเชื้อไวรัสชนิดต่าง ๆ ข้อมูลในตารางที่ 12.12 (รูปที่ ๔) นั้นก็รายงานประสิทธิผลของเมทานอลในการฆ่าเชื้อไวรัสบางชนิดเทียบกับแอลกอฮอล์ตัวอื่น ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามันก็ฆ่าได้เช่นกัน ส่วนที่ว่าเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่นั้น อยู่ในกลุ่มไหนของเชื้อไวรัสที่เขาใช้ทดสอบ หรืออยู่ในกลุ่มเชื้อที่เขาทดสอบหรือไม่นั้น อันนี้ผมไม่รู้
   
รูปที่ ๔ หน้า ๒๔๑ จากหนังสือ "Disinfection, Sterilization, and Preservation" โดย Seymour Stanton Block

ประเด็นถัดมาก็คือสารที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อนั้น มันก่อให้เกิดปัญหากับพื้นผิวที่มันสัมผัสหรือไม่ พื้นผิวสัมผัสนั้นมันมีตั้งแต่ผิวหนังคนไปจนถึงเครื่องเรือนเครื่องใช้และอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ ที่มีทั้งส่วนที่เป็นโลหะ แก้ว และพอลิเมอร์(ไม่ว่าจะเป็นพอลิเมอร์สังเคราะห์หรือวัสดุที่ทำจากยางธรรมชาติ) สารบางตัวฆ่าเชื้อได้ดีมาก แต่ระคายเคืองต่อผิวหนัง ดังนั้นเราอาจใช้มันทำความสะอาดพื้นผิวได้ แต่อย่าให้สัมผัสกับผิวหนังก็แล้วกัน บางตัวอาจไม่มีปัญหากับผิวหนัง (เช่นเอทานอล) แต่มีปัญหากับชิ้นส่วนที่เป็นพอลิเมอร์หรือทำจากยาง ที่อาจทำให้วัสดุเหล่านี้เสื่อมสภาพได้
   
รูปที่ ๕ ป้ายคำเตือน กรุณารอให้แอลกอฮอล์เจลแห้งก่อนที่จะจับต้องชิ้นส่วนต่าง ๆ ของรถยนต์ เพราะอาจมีผลเสียได้ รูปนี้ถ่ายมาจากศูนย์บริการรถยนต์แห่งหนึ่ง

ทีนี้ก็มาถึงประเด็นที่ว่าการตกค้างของสารฆ่าเชื้อบนพื้นผิวนั้นก่อให้เกิดปัญหาหรือไม่ แอลกอฮอล์โมเลกุลเล็กมันมีข้อดีคือมันระเหยง่าย ดังนั้นมันจึงไม่ตกค้างบนพื้นผิว แต่การที่มันระเหยง่ายก็เป็นข้อเสียของมันที่ควรพึงระวังก็คือ มันเป็นสารไวไฟ ดังนั้นในการใช้งานจึงต้องระวังไม่ให้มีไอระเหยของแอลกอฮอล์สะสมในปริมาณมากเกินไป และไม่ควรใช้ในบริเวณที่มีเปลวไฟหรือแหล่งความร้อนที่สามารถจุดระเบิดไอระเหยของแอลกอฮอล์ได้ นอกจากนี้การระเหยของมันยังอาจทำให้ผู้ใช้รับมันเข้าสู่ร่างกายผ่านทางการสูดดมได้ด้วย
  
ปัญหาของแอลกอฮอล์ที่จะเอามาทำเจลล้างมือ มันไม่ได้อยู่ตรงที่ว่าแอลกอฮอล์นั้นมันกินได้หรือไม่ (มีใครเอาไอโซโพรพานอลที่ฆ่าเชื้อโรคได้เช่นกันมากินไหมครับ) แต่อยู่ตรงที่มัน "สัมผัส" ผิวหนังได้หรือไม่และ "สูดดม" เข้าไปจะเป็นอันตรายไหม โดยเฉพาะประเด็นหลังคือ "สูดดม" เมื่อเราเอาเจลล้างมือทามือ แอลกอฮอล์มันจะระเหยออกมา ตัวนี้แหละที่เป็นปัญหา เพราะไอระเหยของเมทานอลนันเป็นอันตรายกว่าเอทานอลมาก 
  
ทีนี้กลับมาที่มีการเอา "เมทานอล" มาทำเจลล้างมือ คำถามหนึ่งที่น่าตั้งก็คือคนทำเขารู้หรือเปล่าว่าแอลกอฮอล์มันมีหลายชนิด (เขาอาจไม่ได้มีความรู้เคมีที่ดีก็ได้) เมทานอลที่ขายสำหรับใช้เป็นตัวทำละลายมันก็เขียนไว้ข้างกระป๋องว่าแอลกอฮอล์เหมือนกัน ก่อนหน้านี้เคยลองค้นในเว็บ Shopee ใช้คำค้นหา "แอลกอฮอล์" จะเห็นเมทานอลสำหรับใช้เป็นตัวทำละลายปรากฏขึ้นมาเป็นรายการแรก ๆ เลย แต่ตอนนี้มันโดนพวกเจลล้างมือเบียดออกไป และพอเข้าไปดูรายละเอียดฉลากที่เห็นในรูป มันก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นเมทานอลหรือเอทานอล รู้แต่ว่ามันราคาถูกกว่าแอลกอฮอล์ล้างแผลมาก ดังนั้นการเอาเมทานอลมาใช้จึงอาจเกิดจากความเข้าใจที่ผิดก็ได้ เพราะคิดว่าแอลกอฮอล์ไหน ๆ ก็เหมือนกันหมด

วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2563

จากเอา E85 มาทำเจลล้างมือ ไปจนถึง Cetane no. น้ำมันดีเซล MO Memoir : Sunday 29 March 2563

เมื่อตอนต้นเดือน ตอนที่เอทานอลขาดตลาด คนหาซื้อเอาไปทำเจลล้างมือ เอาไปฆ่าเชื้อโรคไม่ได้ ผมก็เลยลองตั้งคำถามเล่น ๆ ว่าจะเอาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 (ที่มีเอทานอลอยู่ 85%) ที่ขายลิตรกันอยู่ลิตรละไม่ถึง ๒๐ บาท เอาไปทำเจลล้างมือฆ่าเชื้อโรคได้ไหม แต่จะว่าไปคำถามนี้มันก็เลยไปนิดนึง คือน่าจะตั้งคำถามก่อนว่าเอทานอลในรูปของ E85 สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ไหม ซึ่งตรงนี้ผมก็ไม่รู้ 
  

ส่วนคำถามที่ว่าจะเอา E85 ไปทำเจลล้างมือได้ไหม ก็มีคนถามในอินเทอร์เน็ตเหมือนกัน แต่คำตอบมักจะมาในทำนองที่ว่ามัน E85 มันไวไฟ (แต่จะว่าไปเอทานอลเข้มข้นสูงมันก็ไวไฟเช่นกัน แต่คนตอบคำถามไม่ยักเอ่ยถึง)

  

รูปที่ ๑ Phase diagram ระหว่างน้ำมันเบนซิน (gasoline) เอทานอล และน้ำ บริเวณที่อยู่เหนือเส้นโค้งคือบริเวณที่ทั้งสามสารรวมกันอยู่ในเฟสเดียวได้ ส่วนบริเวณที่อยู่ใต้เส้นโค้งจะเกิดการแยกเป็นสองเฟส คือเฟสที่มีน้ำเป็นหลัก (อยู่ทางด้านซ้าย) และเฟสที่มีน้ำมันเบนซินเป็นหลัก (อยู่ทางด้านขวา) น้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่ใช้กันก็ต้องมีส่วนผสมที่อยู่ในช่วงที่เป็นเฟสเดียว โดยต้องคำนึงถึงอุณหภูมิสูงสุดของการใช้งานด้วย เพราะการแยกเฟสจะเกิดได้ดีขึ้นเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น (รูปจาก T. Johansen & J. Schramm, "Low-Temperature Miscibility of Ethanol-Gasoline-Water Blends in Flex Fuel Applications", Energy Sources Part A(18) Recovery, Utilization, and Environmental Effects:1634-1645 · November 2009)
  

ที่ผมมองนั้นไม่ใช่การเอา E85 มาทำเจลล้างมือโดยตรง เพราะสงสัยอยู่เหมือนกันว่าองค์ประกอบส่วนที่เป็นไฮโดรคาร์บอนที่เป็นโมเลกุลไม่มีขั้วนั้นไปรบกวนการเกิดเป็นเจลหรือไม่ ที่คิดเอาไว้เล่น ๆ ก็คือถ้าเราเติมน้ำลงไปใน E85 จนในที่สุดมันเกิดการแยกเป็น ๒ เฟส เป็นไปได้ไหมที่จะเอาเฟส (น้ำ + เอทานอล) ที่มีน้ำมันปนอยู่เล็กน้อย มาแยกน้ำมันออกและเพิ่มความบริสุทธิ์ของเอทานอล โดยทิ้งท้ายไว้ว่าน่าจะลองเอาไปทำเป็นโจทย์วิชา plant design ให้นิสิตวิศวกรรมเคมีคิดกันเล่น ๆ ในช่วงนี้ (แต่บังเอิญผมไม่ได้สอนวิชานี้)
  

คำถามเรื่องเอา E85 ไปทำเป็นเจลล้างมือนั้น ก็มีการตั้งคำถามกับบนอินเทอร์เน็ต และมีคำตอบที่หลากหลาย ผมขอยกมาตัวอย่างหนึ่งก็แล้วกันนะครับ ในรูปที่ ๒ ข้างล่าง ลองอ่านเองก่อนก็แล้วกัน

  

รูปที่ ๒ คำตอบหนึ่งที่เห็นมีคนตอบทางอินเทอร์เน็ต ที่ผมติดใจนิดนึงคือแหล่งที่มาข้อมูลน้ำมันเบนซินที่เขาอ้างอิง



ในคำตอบนี้มีบางจุดที่ผมติดใจ ตัวอย่างแรกก็คือย่อหน้าที่ ๔ ที่บอกว่าน้ำมันเบนซินประกอบด้วยอะไรบ้าง "... เช่น เอ็นเฮกเซน เบนซีน ออกเทน เฮบเทน (อันนี้น่าจะพิมพ์ผิด ที่ถูกควรจะเป็นเฮปเทน) เป็นต้น ซึ่งสารเคมีเหล่านี้มีความเป็นพิษ .." ซึ่งถ้าจะว่าตามประโยคที่เขาเขียน แสดงว่าสารทุกตัวที่เขายกมานั้นต่างมีความเป็นพิษทั้งนั้น
  

เรื่องความเป็นพิษของสารเนี่ย จะว่าไปน้ำเปล่าก็เป็นพิษถึงตายได้ถ้าดื่มเข้าไปมากเกินขนาด เอทานอลก็มีความเป็นพิษเช่นกันไม่ว่าจะเป็นด้วยการดื่มเข้าไปหรือการสัมผัส สารประกอบไฮโดรคาร์บอนอิ่มตัวพวกพาราฟินเนี่ยจะว่าไปมันมีความเป็นพิษที่ต่ำ ต่ำขนาดไหนหรือครับ ก็วาสลีนที่นำมาใช้กันในชีวิตประจำวัน (ทาริมฝีปากแห้งตอนหน้าหนาวหรือทาผิวหนังที่แตกแห้ง) หรือใช้ในทางการแพทย์ (เพื่อการหล่อลื่น) ก็ยังได้มาจากปิโตรเลียม แต่ทำให้มันมีความบริสุทธิ์สูงด้วยการกำจัดสิ่งปนเปื้อนออกไป

ในส่วนของสารประกอบอะโรมาติก (aromatic) นั้น ตัวที่มีความเป็นพิษสูงก็คือเบนซีน (Benzene C6H6) ในขณะที่พวกอัลคิลเบนซีน (alkyl benzenes) ต่าง ๆ นั้นมีความเป็นพิษต่ำกว่ามาก 
  

รูปที่ ๓ ข้อกำหนดเกี่ยวกับสารประกอบบางตัวในน้ำมันแก๊สโซฮอล์ จากรายละเอียดแนบท้าย ๑ ของประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ พ.ศ. ๒๕๖๒ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖ ตอนพิเศษ ๘๗ ง หน้า ๒๕ วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๒



น้ำมันเบนซินประกอบด้วยอะไรบ้างนั้น ถ้าดูจากข้อกำหนดลักษณะและคุณภาพเราก็จะเห็นว่าสิ่งที่เขากำหนดนั้นพอจะแบ่งออกได้เป็น
  

(ก) ส่วนที่เป็นไฮโดรคาร์บอนที่ไม่ใช่อะโรมาติก

(ข) ส่วนที่เป็นสารประกอบอะโรมาติก และ

(ค) ส่วนที่เป็นสารเพิ่มเลขออกเทน (octance number)
  

ส่วนที่ว่าแต่ละสารจะมีได้ในปริมาณเท่าใดนั้น ยังมีพารามิเตอร์อื่นเข้ามาเกี่ยวข้องอีก ที่สำคัญเห็นจะได้แก่ความดันไอและกราฟอุณหภูมิการกลั่น ที่เป็นตัวกำหนดว่าควรมีไฮโดรคาร์บอนที่มีจุดเดือดต่ำและสูงผสมกันในสัดส่วนเท่าใด ซึ่งสองพารามิเตอร์นี้เคยเล่าไว้ใน Memoir ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๔๘ วันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๕ เรื่อง "กราฟอุณหภูมิการกลั่นของน้ำมันเบนซิน (Gasoline distillation curve)"
  

จากข้อมูลที่นำมาให้ดูในรูปที่ ๓ จะเห็นว่าปริมาณสารประกอบเบนซีนนั้นถูกจำกัดไว้เป็นพิเศษ คือไม่ให้เกินร้อยละ ๑.๐ โดยปริมาตร ในขณะที่ปริมาณอะโรมาติกรวมยอมให้สูงได้ถึงร้อยละ ๓๕ โดยปริมาตร หรือกว่า ๑ ใน ๓ ของน้ำมัน เหตุผลที่ต้องยอมให้มีพวกสารอะโรมาติกสูงก็เพราะพวกนี้เป็นสารที่มีเลขออกเทนสูงนั้นนั้น เรียกว่าระดับร้อยกว่าขึ้นไปทั้งสิ้น แต่มันก็มีปัญหาเรื่องที่มันมีจุดเดือดสูงเช่นกัน จุดเดือดอะโรมาติกพวก C8 ก็เข้าไปแตะ 140ºC แล้ว ถ้าเป็น C9 ก็เข้าไปแตะที่ระดับ 170ºC
   

ที่อะตอม C เท่ากัน สารประกอบโอเลฟินส์จะมีเลขออกเทนสูงกว่า พวกนี้มันเกิดตอนที่ทำให้โมเลกุลใหญ่แตกออกเป็นโมเลกุลเล็ก แต่ที่ต้องควบคุมปริมาณก็เพราะมันสามารถเกิดปฏิกิริยาการพอลิเมอร์ไรซ์เป็นโมเลกุลใหญ่ได้ กลายเป็นคราบของแข็งสกปรกเกาะติดในระบบจ่ายเชื้อเพลิง

  

รูปที่ ๔ ส่วนหนึ่งของเนื้อหาบทความที่มีการอ้างอิงในรูปที่ ๒ เอกสารต้นฉบับเนื้อหาไปปรากฏอยู่คนละหน้ากัน ก็เลยขอตัดต่อให้มาอยู่ในหน้าเดียวกัน แต่ไม่ได้มีการตัดข้อความใด ๆ ระหว่างกลางทิ้งออกไป

อีกอันหนึ่งที่ผมติดใจก็คือแหล่งข้อมูลอ้างอิงที่รูปที่ ๒ อ้างอิงมา ที่เป็นบทความตีพิมพ์ในวารสารฉบับหนึ่ง (อยากรู้ว่าเป็นเรื่องอะไรก็คงค้นดูตามลิงก์ที่ปราฏเอาเองนะครับ) รูปที่ ๔ ผมตัดมาเฉพาะข้อความที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลที่ปรากฏในบทความนั้น ลองอ่านดูเอาเองก่อนนะครับ สำหรับคนที่มีความรู้พื้นฐานเคมีอินทรีย์ก็คงจะพอมองเห็นอะไรบ้างแล้วนะครับ โดยเฉพาะตรงที่ผมขีดเส้นใต้สีแดงเอาไว้
   

น้ำมันเบนซินกับน้ำมันดีเซลเป็นน้ำมันที่ตรงข้ามกันครับ โครงสร้างที่ดีสำหรับเบนซิน (เช่น โซ่กิ่ง อะโรมาติก) จะเป็นโครงสร้างที่ไม่ดีสำหรับดีเซล ส่วนโครงสร้างที่ไม่ดีสำหรับเบนซิน (พวกโซ่ตรง) กลับเป็นโครงสร้างที่ดีสำหรับดีเซล ในขณะที่น้ำมันเบนซินมีเลขออกเทนเป็นตัวบ่งบอกความสามารถในการต้านทานการน๊อค น้ำมันดีเซลก็มีเลขซีเทน (cetane number) ที่เป็นตัวบ่งบอกความสามารถในการต้านทานการน๊อคเช่นกัน โดยเลขซีเทนของน้ำมันดีเซลที่ใช้ในบ้านเรา ที่ กรมธุรกิจพลังงานกำหนดไว้ต้องมีค่าไม่น้อยกว่า ๕๐
   

ข้อความที่ขีดเส้นใต้เอาไว้ในรูปที่ ๔ คือ "... ส่วนประกอบหลักคือ พาราฟินที่ไม่แยกกิ่งสาขา (unbranched paraffins) มีคาร์บอนหลายตัว2 เช่น เบนซีน โทลูอีน ออร์โธไซลีน และพราราไซลีน ..." ในภาษาไทยนั้น คำ "เช่น" ที่ปรากฏเป็นตัวขยายความคำที่อยู่ข้างหน้า ซึ่งในที่นี้ก็เป็นการยกตัวอย่างโมเลกุลสารประกอบที่เป็นพวกพาราฟินที่ไม่แยกกิ่งสาขา แต่โมเลกุลที่เขายกมานั้นเป็นพวกอะโรมาติก ซึ่งเป็นคนละพวกกัน

  

รูปที่ ๕ ตัวอย่างเลขซีเทนของสารประกอบอะโรมาติกบางตัว พึงสังเกตว่าพวกนี้ต่างมีเลขซีเทนต่ำมากทั้งนั้น (จาก "Compendium of Experimental Cetane Numbers" โดย J. Yanowitz, M.A. Ratcliff, R.L. McCormick, J.D. Taylor และ M.J. Murphy ดาวน์โหลดได้ที่ https://www.nrel.gov/docs/fy17osti/67585.pdf)



บทความที่มีการอ้างอิงบางทีก็ต้องดูดี ๆ เหมือนกัน (แม้แต่บทความที่ผมเขียนก็เช่นกัน) เพราะมันบ่งบอกว่าคนที่อ้างอิงบทความและคนที่เขียนบทความ (รวมทั้งผู้ประเมินบทความให้ตีพิมพ์ด้วย) ว่ามีความรู้ในเรื่องนั้นหรือได้อ่านบทความนั้นหรือไม่ เคยเจอเหมือนกัน ที่มีการอ้างอิงบทความ แต่พอตามไปอ่านจริง ๆ กลับพบว่าบทความนั้นไม่ได้เขียนเรื่องที่ถูกกล่าวพาดพิงเอาไว้เลย

วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2563

น้ำลด เขื่อนผุด (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๕๒) MO Memoir : Friday 27 March 2563

ปรกติการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำก็จะทำให้เกิดพื้นที่น้ำท่วมเหนือเขื่อน ทำให้สิ่งก่อสร้างหลายต่อหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง สะพาน อาคารต่าง ๆ จมอยู่ใต้น้ำ แต่ไม่รู้ว่าที่บางพระเนี่ยจะเป็นกรณีพิเศษหรือเปล่า เพราะสิ่งที่ต้องจมอยู่ใต้น้ำหลังเขื่อนสร้างเสร็จก็คือ "เขื่อนบางพระ" เอง
  
ทางด้านตะวันตกของตำบลบางพระเป็นที่ราบ มีบ่อน้ำพุร้อน มีลำน้ำธรรมชาติหลายสายไหลลงมารวมกัน กลายกลายเป็นคลองบางพระก่อนไหลลงสู่ทะเล บริเวณดังกล่าวมีภูเขาลูกเล็ก ๆ วางตัวเรียงกันอยู่ ในแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตหวงห้ามที่ดิน ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พ.ศ. ๒๔๙๗ ระบุชื่อภูเขาเหล่านั้นที่เรียงตัวจากเหนือลงมาใต้ว่า เขาปู่เจ้า เขาไหล เขาซากขมิ้น และเขาฉลาก การทำแนวเขื่อนขวางกันพื้นที่ราบระหว่างเขาเหล่านี้ก็เลยทำให้เกิดเป็นอ่างเก็บน้ำบางพระ
  
รูปที่ ๑ แนวสันเขื่อนเก่าที่โผล่พ้นน้ำอยู่ทางด้านซ้ายมือ

ผลจากการสร้างเขื่อนขึ้นมาทำให้สถานที่เที่ยวแห่งหนึ่งของบางพระหายไป คือบ่อน้ำพุร้อน แต่ตอนนั้นก็ยังมีการต่อท่อน้ำร้อนออกมาให้ใช้กันอยู่ได้ แต่ต่อมาไม่นานก็มีการขยายสันเขื่อนเพื่อให้กักเก็บน้ำได้มากขึ้น แนวสันเขื่อนเดิมก็เลยจมอยู่ใต้น้ำไป และยังทำให้บ่อน้ำพุร้อนต้องลงไปอยู่ใต้น้ำ ถ้าเอ่ยถึงบ่อน้ำพุร้อนนี้ คนที่มีอายุประมาณ ๖๐ ปีขึ้นไปก็ยังพอจำความกันได้อยู่
  
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา หลบร้อนในบ้านด้วยการออกไปซื้ออาหารแห้งมาตุน ก็เลยถือโอกาสโฉบไปที่อ่างเก็บน้ำด้วยเพราะอยู่ใกล้ ๆ กัน เลยถือโอกาสถ่ายรูปบันทึกไว้เล่าสู่กันฟัง เผื่อมีคนไปเห็นและสงสัยว่าคันดินที่เห็นคืออะไร
  
รูปที่ ๒ มุมเดียวกับรูปที่ ๑ แต่ซูมเข้าไปใกล้ ๆ หน่อย
  
รูปที่ ๓ แผนที่แนบท้าย พระราชบัญญัติโอนที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ในท้องที่ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ให้แก่ราษฎร พ.ศ. ๒๕๐๓ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๗๗ ตอนที่ ๑๐๐ หน้า ๑๐๑๒ - ๑๐๑๔ วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๐๓ ในแผนที่นี้บริเวณดังกล่าวยังไม่ปรากฏมีเขื่อนกั้นลำน้ำ  
  
รูปที่ ๔ แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พ.ศ. ๒๕๑๓ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้า ๒๒ - ๒๔ เล่ม ๘๗ ตอนที่ ๑๑๘ วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๑๓ แผนที่นี้แสดงแนวเขตอ่างเก็บน้ำบางพระเดิม ก่อนที่จะทำการเสริมสันเขื่อนเพื่อเพิ่มความจุเขื่อน
  
รูปที่ ๕ ภาพจากฝั่งตรงข้ามกับรูปที่ ๑ และ ๒
  
รูปที่ ๖ ปล่องของบ่อน้ำพุร้อนที่จมไปใต้น้ำด้วย แต่จะโผล่ให้เห็นช่วที่น้ำในเขื่อนน้อย

วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2563

วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2563

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๖๑ (ตอนที่ ๙) MO Memoir : Thursday 19 March 2563


เอกสารฉบับนี้แจกจ่ายเป็นการภายใน ไม่นำเนื้อหาลง blog

เนื้อหาในเอกสารฉบับนี้เกี่ยวกับการเตรียมการสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ในสัปดาห์หน้า เป็นการสรุปสิ่งที่ได้เล่าให้ฟังไปเมื่อช่วงก่อนเที่ยงวันนี้

วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2563

การคำนวณเชิงตัวเลข (๓๐) การแก้สมการอนุพันธ์ด้วยฟังก์ชันพหุนาม (๕) MO Memoir : Wednesday 18 March 2563

หลังจากทิ้งเรื่องนี้ไป ๕ ปีเศษ (จากธันวาคม ๒๕๕๗) ก็ได้เวลากลับมาเขียนเรื่องนี้ต่อ คือ Memoir ฉบับนี้เป็นตอนต่อจากฉบับก่อนหน้านี้ดังนี้

ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๗๔ วันอาทิตย์ที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๓ เรื่อง "การคำนวณเชิงตัวเลข (๑) การแก้สมการอนุพันธ์ด้วยฟังก์ชันพหุนาม"
ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๗๕ วันจันทร์ที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๓ เรื่อง "การคำนวณเชิงตัวเลข (๒) การแก้สมการอนุพันธ์ด้วยฟังก์ชันพหุนาม"
ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๘๙๖ วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ เรื่อง "การคำนวณเชิงตัวเลข (๕) การแก้สมการอนุพันธ์ด้วยฟังก์ชันพหุนาม"
ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๘๙๙ วันพุธที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๗ เรื่อง "การคำนวณเชิงตัวเลข (๖) การแก้สมการอนุพันธ์ด้วยฟังก์ชันพหุนาม"

ทั้ง ๔ เรื่องข้างต้นถูกนำไปรวมไว้ใน "MO Memoir รวมบทความชุดที่ ๑๖ วิศวกรรมเคมีภาคคำนวณ" ที่สามารถดาวน์โหลดไฟล์ pdf ได้จากหน้า blog

ในตอนที่ ๑ (ฉบับที่ ๑๗๔) และตอนที่ ๒ (ฉบับที่ ๑๗๕) ของเรื่องนี้ ได้แสดงให้เห็นว่าการเลือกจุดที่กำหนดให้ค่า residual เป็นศูนย์นั้น (จุดที่เรียกว่า collocation point) ส่งผลต่อความถูกต้องของคำตอบที่ได้ แต่โดยหลักก็คือตำแหน่งของจุดที่เลือกนั้นควรเป็นบริเวณที่คำตอบมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเมื่อเทียบกับบริเวณอื่น แต่เนื่องจากในหลายกรณีเรามักไม่รู้ว่าคำตอบที่ได้นั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างใด จึงได้มีการนำเสนอว่าถ้าเราประมาณคำตอบด้วย orthogonal polynomial จุดที่เลือกก็ควรเป็น root (จุดที่ค่าฟังก์ชันเป็นศูนย์) ของ orthogonal polynomial และในตอนที่ ๔ ของเรื่องนี้ (ฉบับที่ ๘๙๙) ก็ได้ทิ้งท้ายว่าจะหาเวลามาเขียนเรื่องนี้ต่อ แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงลืมเรื่องนี้ไปได้ วันนี้ก็เลยขอมาเขียนต่อ โดยขอเป็นเรื่อง "Orthogonal function" หรือที่มีคนแปลเป็นไทยว่า "ฟังก์ชันเชิงตั้งฉากก็แล้วกัน" ก็แล้วกัน









วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2563

เมื่อขวดทิ้งสารระเบิด (๓) MO Memoir : Tuesday 10 March 2563

เหตุเกิดเมื่อเวลาประมาณ ๔ ทุ่มของคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา ผมมาทราบเรื่องตอนราว ๆ ๑๑ โมงวันนี้ตอนที่แวะเข้าไปดูแลป แล้วก็มีคนมากระซิบว่าเมื่อคืนที่ผ่านมามีเรื่องตื่นเต้นเกิดขึ้นอีก
 
แต่อย่าถามรายละเอียดเลยว่ามันเกิดได้อย่างไร เพราะผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน จากข้อมูลที่ได้รับมา ถ้าเป็นดังที่เขาบอก มันไม่น่าจะระเบิดได้ มันควรต้องมีอย่างอื่นอีก ที่ถูกเทรวมเข้าไปในขวดแก้วขนาด ๒ ลิตรที่ใช้ทิ้งสารใบนั้น เพื่อที่จะหาคำอธิบาย การสืบสวนทางลับคงต้องดำเนินการกันต่อไป 
 
เวลาที่ผมสอนแลปเคมีนิสิตปริญญาตรี เราก็เก็บสารเคมีที่รอการกำจัดไว้ในขวดแก้ว (คือขวดแก้วใส่สารที่ใช้สารหมดแล้ว ล้างทำความสะอาดแล้วนำมาใช้เป็นขวดทิ้งสาร) แต่การกำหนดว่าขวดไหนจะทิ้งสารใดได้นั้น อาจารย์เป็นคนกำหนด และเราก็รู้ว่าการทำการทดลองมีการใช้สารอะไรบ้าง และพวกไหนต้องแยกกำจัด ห้ามนำมาทิ้งรวมกัน ปัญหาก็เลยไม่เกิด เวลาเก็บขวดก็จะไม่ปิดฝาขวดจนแน่น ต้องคลายเอาไว้บ้างเพื่อให้แก๊สที่เกิดขึ้น (ถ้ามี) ระบายออกมาได้ ไม่เช่นนั้นมันจะทำให้ความดันในขวดสูงขึ้นจนขวดอาจระเบิดได้ แต่วิธีการนี้มันใช้ไม่ได้กับความดันที่เกิดจากการสลายตัวอย่างรวดเร็วกระทันหันหรือการระเบิดของสารที่อยู่ในขวด กรณีหลังนี้มันต้องแก้ด้วยการทำลายสารนั้นก่อนทิ้งหรือไม่ทิ้งสารที่ทำปฏิกิริยากันได้ลงในขวดทิ้งสารเดียวกัน
 
ดังนั้นวันนี้ก็ดูรูปถ่ายที่ถ่ายเอาไว้หลังเก็บกวาดที่เกิดเหตุเสร็จเรียบร้อยแล้วกันเล่น ๆ ก่อนก็แล้วกันครับ
  
รูปที่ ๑ ภาพนี้ได้มาจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เมื่อคืนส่งมาให้ดู เป็นภาพที่ถ่ายก่อนทำการเก็บสถานที่เกิดเหตุ ส่วนรูปที่เหลือเป็นภาพที่ถ่ายไว้ช่วงก่อนเที่ยงวันนี้
  
รูปที่ ๒ จุดระเบิดอยู่หลังฉากกั้น มีชิ้นส่วนหนึ่งปลิวทะลุออกมา
  
รูปที่ ๓ คราบสารเคมีที่หกกระจายไปบนพื้น
  
รูปที่ ๔ คราบสารเคมีที่หกกระจายไปบนพื้น มองจากฝั่งตรงข้ามของรูปที่ 
  
รูปที่ ๕ ตรงวงกลมสีเหลือคือบริเวณที่วางขวดแก้วทิ้งสาร ที่แปลกก็คือกล่องกระดาษที่อยู่ข้าง ๆ และบริเวณที่อยู่ข้าง ๆ ไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ มันเหมือนกับว่าแรงระเบิดนั้นมันพุ่งออกมาในทิศทางเดียวเป็นมุมแคบ ๆ เท่านั้น

วันเสาร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2563

รถฟอร์คลิฟท์ (Forklift) กับไฟฟ้าสถิตย์ MO Memoir : Saturday 7 March 2563

เมื่อบ่ายวันอังคารที่ผ่านมา มีอีเมล์ฉบับหนึ่งเขียนมาถามเรื่องราวเกี่ยวกับรถฟอร์คลิฟท์ (Forklift) ที่มักจะเกิดประกายไฟที่ตัวงาเวลากระแทกพื้นหรือยกของ ว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไรดี ซึ่งผมก็ได้ตอบเขาไปตามความรู้ที่พอมี เห็นว่าอาจจะมีประโยชน์ต่อผู้อื่น ก็เลยขอนำมาลงบันทึกเอาไว้หน่อย
เริ่มต้นจากอีเมล์ที่มีข้อความดังข้างล่าง

สวัสดีค่ะอาจารย์

อยากขอรบกวนอาจารย์ช่วยแนะนำสารเคมี ที่จะนำมาทา เคลือบ หรือชุบที่งาของรถโฟล์คลิฟท์ เพื่อทำให้ลดการเกิดไฟฟ้าสถิตถ์ หรือประการไฟ เวลางากระทบพื้น หรือวัตถุที่ยก ค่ะ
  
มีคนแนะนำว่า ค่าความต้านทานไฟฟ้าสถิตควรอยู่ที่ระหว่าง 1 x 10 ยกกำลัง 4 ถึง 1 x 10 ยกกำลัง 11 โอห์ม 
   
มีคนแนะนำ วัสดุ Vulkollan แต่ไม่สามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุนี้เป็นภาษาไทยได้เลย อาจารย์พอจะแนะนำได้ไหมคะ หรือมีอย่างอื่นที่ดีเทียบเท่า หรือดีกว่า

ขอบพระคุณอาจารย์ล่วงหน้านะคะ

ซึ่งผมก็ได้ตอบเขาไปดังนี้ ในวงเล็บสีดำคือส่วนที่ไม่ได้เขียนไว้ในอีเมล์ แต่มาเขียนอธิบายเพิ่มเติมในที่นี้

ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณครับที่แวะเข้ามาอ่านเรื่องราวที่ผมเขียน
ขออนุญาตอธิบายปัญหาของคุณเป็นข้อ ๆ ไปตามความรู้ความเข้าใจที่มีนะครับ

๑. คงต้องแยกระหว่าง "การเกิด" กับ "การสะสม" ไฟฟ้าสถิตย์ครับ เราคงไม่สามารถป้องกัน "การเกิด" ได้ แต่เราสามารถจัดการกับ "การสะสม" ประจุไฟฟ้าสถิตย์ที่เกิดขึ้นได้ ด้วยการต่อสายดิน
  
เรื่องที่ว่าไฟฟ้าสถิตย์เกิดได้อย่างไรนั้นเคยเขียนไว้ใน Memoir ปีที่ ๙ เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๖๐ ฉบับต่อไปนี้
ฉบับที่ ๑๓๗๖ วันอาทิตย์ที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๐ เรื่อง "ไฟฟ้าสถิตย์กับงานวิศวกรรมเคมี (๑) ตัวอย่างการเกิด" และ
ฉบับที่ ๑๓๘๔ วันศุกร์ที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๐ เรื่อง "ไฟฟ้าสถิตย์กับงานวิศวกรรมเคมี (๓) ทฤษฏีพื้นฐานการเกิด"

๒. วัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้านั้น แม้ว่าจะต่อสายดินแล้วก็ยังถ่ายประจุออกได้ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะมีปัญหาเสมอไปครับ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ พวกผ้าใยสังเคราะห์มันทำให้เกิดประจุไฟฟ้าสถิตย์สะสมได้ดี แต่ถ้าอยู่ในอากาศที่ชื้นพอ (เช่นนอกห้องแอร์ในบ้านเรา) เราจะไม่เจอปัญหาสปาร์คเวลาเอามือไปจับราวบันไดโลหะ ลูกบิดประตูหรือโครงสร้างอื่นใดที่เป็นตัวนำไฟฟ้า เพราะอากาศชื้นจะพาเอาประจุไฟฟ้าออกไป เว้นแต่จะอยู่ในห้องแอร์นาน ๆ ที่มักจะสะดุ้งได้เวลาที่เราเอามือไปจับพวกที่เป็นตัวนำ
  
การเคลือบผิวด้วยวัสดุที่นำไฟฟ้าได้ก็เป็นวิธีการหนึ่งในการช่วยกระจายประจุไฟฟ้าออกไป การวิเคราะห์ตัวอย่างด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนจึงมักต้องทำการเคลือบตัวอย่างด้วยคาร์บอนหรือทองคำเพื่อป้องกันไม่ให้อิเล็กตรอนที่ยิงใส่ตัวอย่างนั้นสะสมอยู่บนตัวอย่าง เพราะถ้าตัวอย่างมีอิเล็กตรอนสะสมจะทำให้ตัวอย่างมีประจุลบ ลำอิเล็กตรอนที่ยิงเข้ามาจะถูกผลักออกอันเป็นผลจากประจุไฟฟ้าที่เหมือนกัน การเบี่ยงเบนของลำอิเล็กตรอนจะไม่ได้เกิดจากการเลี้ยวเบนหรือการสะท้อนออกรูปร่างของพื้นผิวที่ต้องการดูเท่านั้น มีผลจากการสะสมประจุไฟฟ้าเข้ามาผสมด้วย ทำให้ภาพที่ได้นั้นมีความชัดเจนลดลง 
เทคนิค x-ray photoelectron spectroscopy ที่มีการทำให้อิเล็กตรอนหลุดออกจากตัวอย่างก็ประสบกับปัญหาเช่นเดียวกัน แต่ในกรณีหลังนี้จะเป็นการชดเชยอิเล็กตรอนที่ถูกดึงออกจากตัวอย่าง เพราะถ้าไม่สามารถชดเชยได้ทันก็จะทำให้ตัวอย่างมีความเป็นประจุบวกเพิ่มขึ้น ค่า binding energy หรือเลขออกซิเดชันที่วัดได้ก็จะมีแนวโน้มไปในทิศทางที่เพิ่มขึ้น แต่นั่นเป็นผลที่เกิดจากการวัด

๓. รถยนต์นั้นเป็นโลหะก็จริง แต่ยางรถมันเป็นฉนวนไฟฟ้า มันก็เลยเป็นที่เก็บประจุไฟฟ้าสถิตย์ได้ครับ (เห มือนกับตัวเก็บประจุขนาดใหญ่) แต่ก่อนเราจะเรียนกันว่ารถบรรทุกน้ำมันต้องมีโซ่ลากพื้นเพื่อถ่ายประจุไฟฟ้าสถิตย์ที่เกิดขึ้น (จากน้ำมันในถังเสียดสีกับถังบรรจุ) ลงพื้นผิวถนน แต่เดี๋ยวนี้ไม่เห็นมีสักคันครับ ถ้ากรณีรถโฟล์คลิฟท์ของคุณเกิดจากไฟฟ้าสถิตย์จริง ก็น่าลองดูนะครับ แต่มีข้อแม้ว่าพื้นถนนนั้นต้องนำไฟฟ้าได้บ้าง แต่ในบ้านเราที่อากาศมีความชื้นสูง ปัญหานี้เลยไม่ปรากฏให้เห็นครับ ยกเว้นตอนขนถ่ายน้ำมันที่ยังต้องระวังอยู่ เพราะมันเกิดเร็ว
  
รถยนต์ (เอาเป็นว่าเฉพาะเครื่องเบนซินก็แล้วกัน ส่วนเครื่องดีเซลนั้นผมไม่รู้ว่าเหมือนกันหรือไม่) จะใช้ตัวถังรถเป็นสายดิน ถ้าไล่สายไฟดูจากแบตเตอรี่ก็จะเห็นว่าขั้วลบนั้นต่ออยู่กับตัวถัง เวลาที่ช่างซ่อมรถจะทำการเชื่อมด้วยไฟฟ้าที่ส่วนใด ๆ ของตัวรถ (เช่นท่อไอเสีย) เขาก็จะต้องปลดขั้วแบตเตอรี่ออกก่อน หรือไม่ก็ไปเชื่อมแก๊สเลย รถบรรทุกของเหลวจะมีของเหลวกระฉอกอยู่ในถังบรรจุเวลารถวิ่ง การกระฉอกนี้ทำให้เกิดไฟฟ้าสถิตย์สะสม และจะเกิดได้มากในกรณีที่เป็นของเหลวที่ไม่มีขั้ว (เช่นน้ำมันปิโตรเลียม) เพราะของเหลวพวกนี้จะนำไฟฟ้าได้ไม่ดี

๔. การเกิดประกายไฟเมื่อโลหะกระทบกับของแข็งนั้นไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับไฟฟ้าสถิตย์ครับ เกิดจากส่วนผสมของโลหะเอง โลหะเหล็กที่ใช้ทำเครื่องมือช่างทั่วไปก็ทำให้เกิดประกายไฟได้ครับเวลาที่มันตกกระทบพื้น ในบางงานจึงต้องใช้พวกประแจทำจากโลหะพิเศษ (ที่ราคาแพงขึ้นไปอีก) ในการทำงานครับ
  
เครื่องมือที่ทำจากโลหะที่ไม่ทำให้เกิดประกายไฟจากการกระแทกเรียกว่า non sparking tool ที่มีทั้งอุปกรณ์ตอก (striking tools เช่น ค้อน ลิ่ม) ขันตึง ( tightening tools เช่น ประแจ ไขควง) และตัด (cutting tools เช่น เลื่อย ตะไบ) แบบเครื่องมือช่างทั่วไป

๕. เวลาที่เราเจียรเหล็กและเห็นประกายไฟ นั้นเป็นเพราะเศษผงเหล็กที่หลุดออกมามีคาร์บอนปนอยู่ คาร์บอนตัวนี้มันก็เลยลุกไหม้ในอากาศเป็นประกายไฟให้เห็น คาร์บอนเป็นตัวที่มีปนอยู่ในเหล็กอยู่แล้วครับ ยิ่งเหล็กที่ยิ่งแข็ง (ชนิดที่เรียกว่าหักได้แทนที่จะยืด) เช่นเหล็กหล่อ ก็ยิ่งมีคาร์บอนอยู่เยอะครับ เราใช้ลักษณะการเกิดประกายไฟพวกนี้บ่งบอกว่าเหล็กนั้นเป็นเหล็กชนิดไหนได้คร่าว ๆ ครับ ตัวงาของรถโฟล์คลิฟท์เดาว่าทำจากเหล็กหล่อครับ มันถึงแข็งคงรูปอยู่ได้เวลาที่ต้องรับน้ำหนักเยอะครับ ถ้าเป็นพวกเหล็กคาร์บอนต่ำมันจะเหนียว แต่มันจะอ่อนตัวงอลงมา
 
คาร์บอนในเนื้อเหล็กทำให้เหล็กมีความแข็ง คงรูปร่างได้ดี หลอมขึ้นรูปได้ง่าย แต่ต้องจ่ายด้วยความเหนียวที่ลดลง ประกายไฟที่เกิดขึ้นเมื่อทำการเจียรเหล็กก็เกิดจากคาร์บอนที่หลุดปลิวออกมาทำปฏิกิริยาเผาไหม้กับออกซิเจนในอากาศ รูปแบบของประกายไฟที่เกิดขึ้น (พุ่งออกมาเป็นสายมากแค่ไหน ไปได้ไกลแค่ไหน มีการแตกตัวอย่างไร) สามารถใช่บ่งบอกชนิดของโลหะเหล็กได้คร่าว ๆ (รูปที่ ๑)
  
รูปที่ ๑ ชนิดโลหะเหล็กและลักษณะประกายไฟ (รูปจาก http://modelenginenews.org/images/gpc/spark_test.jpg)

๖. ถ้าการเกิดประกายไฟเกิดจากการกระแทก ก็ควรต้องหาทางลดแรงกระแทกครับ เช่นหาอะไรมาลอง ตรงนี้ตรวจดูได้ง่าย ๆ ว่าประกายไฟที่เห็นเกิดจากอะไร ถ้าเกิดจากไฟฟ้าสถิตย์จริงวัสดุสองชิ้นไม่จำเป็นต้อง "สัมผัส" กัน แค่เข้าใกล้กันก็จะเกิดประกายไฟกระโดดข้ามได้แล้วครับ แต่ถ้าเกิดจากการกระแทก ต้องกระแทกแรงพอจึงจะเกิดครับ สัมผัสกันเบา ๆ จะไม่เกิดการหาอะไรที่นุ่มหน่อยไปรองไว้ ก็น่าจะป้องกันได้แล้วครับ 
   
อันที่จริงจะว่าไปแล้วข้อ ๖. น่าจะเป็นข้อแรกที่ต้องพิจารณา เพราะจะช่วยบอกได้ว่าสิ่งที่เราเห็นนั้นมันเกิดจากปรากฏการณ์ใด จะได้หาทางแก้ปัญหาได้ถูกทาง เพราะถ้าไปหาทางแก้จากต้นเหตุที่ไม่ถูกต้อง ก็จะไม่สามารถแก้ไขได้ครับ

ลองดูพิจารณาดูก่อนนะครับว่าปัญหาของคุณเกิดจากไฟฟ้าสถิตย์จริงหรือเปล่าครับ ถ้าเป็นไฟฟ้าสถิตย์ที่เกิดจากการสะสมประจุที่ "ชิ้นงาน" ที่ต้องทำการยก การถ่ายประจุไฟฟ้าสถิตย์จากชิ้นงานออกไปก่อนก็จะช่วยได้ครับ แต่เห็นว่ามันเกิดเวลาที่งานั้นกระแทกพื้นด้วย ผมเกรงว่าจะไม่ใช่ครับ

ด้วยความเคารพ