วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2558

เมื่อตำรายังพลาดได้ (Free radical polymerisation) MO Memoir : Monday 30 March 2558

เวลาที่นิสิตในที่ปรึกษาเตรียมการสอบวิทยานิพนธ์ สิ่งหนึ่งที่ผมมักกล่าวเตือนเป็นประจำคือคำอธิบายกลไกการเกิดปฏิกิริยาต่าง ๆ นั้นมักจะมีอยู่ในตำราอยู่แล้ว การใช้ทฤษฎีที่ปรากฏอยู่ในตำราเรียนต่าง ๆ นั้นมาอธิบาย (อย่างถูกต้องด้วยนะ) จะทำให้กรรมการสอบยากที่จะซักค้าน มันไม่เหมือนกับการที่อ้างอิงโดยใช้บทความที่ตีพิมพ์ (เพราะบ่อยครั้งที่พบว่าวิธีการทดลองหรือผลการทดลองมันดูแล้วไม่น่าเชื่อถือเอาซะเลยหรือเป็นที่น่าสงสัยอย่างยิ่ง) เวลาที่อ้างข้อมูลสนับสนุนด้วยการใช้บทความนั้นมักจะโดนซักค้านว่าถ้าเช่นนั้นอีกบทความหนึ่งทำไมจึงได้ข้อสรุปที่แตกต่างออกไป แต่ถ้าอธิบายโดยอ้างอิงจากตำราเจ้าของบทความที่แสดงข้อมูลที่ขัดแย้งกับทฤษฎีที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปจนมีการบรรจุลงในตำราเรียนที่ใช้กันทั่วโลกนั้น ควรจะต้องเป็นผู้ที่ชี้แจงให้เห็นว่าสิ่งที่คนทั้งโลกกำลังเรียนรู้อยู่นั้นมันผิดตรงไหน เพราะนั่นมันคือการค้นพบอันยิ่งใหญ่
  
ผมก็เคยเจอเหมือนกันกับผู้ที่เผยแพร่ผลการทดลองที่ขัดแย้งกับทฤษฎีที่เป็นที่ยอมรับกันและใช้งานกันอยู่ (ใช้ได้จริงซะด้วย) แต่นั่นเป็นเพราะวิธีการทดลองที่เขาใช้นั้นไม่เหมาะสม มีตัวแปรอื่นที่เขาไม่ได้คำนึงถึงร่วมอยู่ในการทดลอง ทำให้การแปลผลการทดลองที่ได้นั้นผิดพลาดไป (ดู Memoir ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๗๕ วันพุธที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๔ เรื่อง "อุณหภูมิและการดูดซับ")

แต่การอิงตำรามาโดยหยิบมาเฉพาะจุดนั้นก็อาจเกิดปัญหาได้ ดังสุภาษิตโบราณที่กล่าวว่า "สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง" เพราะก็มีอยู่เหมือนกันที่ตำรานั้นผิดพลาด ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ฉบับพิมพ์ครั้งแรกซะด้วย ดังตัวอย่างที่จะยกมาเล่าให้ฟังในวันนี้

อนุมูลอิสระ (Free radical) มีบทบาทสำคัญในการเกิดปฏิกิริยาอินทรีย์เคมีหลายหลายปฏิกิริยา ปฏิกิริยาจะเกิดไปในทิศทางใดนั้นขึ้นอยู่กับว่าอนุมูลอิสระตัวไหนมี "เสถียรภาพ" ณ สภาวะที่ใช้ในการทำปฏิกิริยา "เสถียรภาพ" ในที่นี้คือการที่สารหนึ่งเกิดการสลายตัวกลายเป็นอนุมูลอิสระแล้ว อนุมูลอิสระนั้นที่เกิดขึ้นมานั้นมีอายุอยู่นานพอที่จะทำปฏิกิริยาต่อไปเป็นสารอื่น ไม่ใช่รีบเกิดปฏิกิริยาย้อนกลับไปเป็นสารตั้งต้นตัวเดิม
  
อิเล็กตรอนที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระนั้นเป็นอิเล็กตรอนที่ไม่มีคู่ (unpaired electron) และอะตอมตัวที่มีอิเล็กตรอนอิสระนั้นก็จัดได้ว่าเป็นอะตอมที่ขาดอิเล็กตรอน อย่างเช่นในกรณีของอะตอม C ของ alkyl free radical ที่แสดงในรูปที่ ๑ ข้างล่าง ถ้าอะตอม C ตัวที่มีอิเล็กตรอนอิสระนั้นสามารถดึงอิเล็กตรอนจากหมู่ข้างเคียงเข้ามาบรรเทาอาการขาดอิเล็กตรอนของมันได้ อนุมูลอิสระตัวนั้นก็จะมีเสถียรภาพมากขึ้น หมู่อัลคิลนั้นเป็นหมู่จ่ายอิเล็กตรอน ดังนั้นถ้าอะตอม C ตัวที่มีอิเล็กตรอนอิสระมีหมู่อัลคิลมาเกาะมากขึ้น (และ/หรือเป็นหมู่อัลคิลขนาดใหญ่ขึ้น) alkyl free radical ที่เกิดขึ้นนั้นก็จะมีเสถียรภาพมากขึ้นตามไปด้วย
 
รูปที่ ๑ ลำดับความมีเสถียรภาพของ alkyl free radical ที่มักจะพบเห็นกันในตำราอินทรีย์เคมีทั่วไป
  
ตรงนี้เป็นประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจกันนิดนึง เวลาตำราเคมีอินทรีย์พูดถึงคำว่า "เสถียรภาพ" เขามักจะหมายถึงการเปลี่ยนแปลงพลังงานที่ต้องใช้ในการทำให้เกิดสารตัวนั้น สารตัวใดที่ใช้พลังงานไม่สูงในการทำให้เกิดหรือมีการคายพลังงานออกมากเมื่อมันเกิด สารนั้นก็จะมี "เสถียรภาพ" มากกว่าสารที่ต้องใช้พลังงานมากกว่าในการทำให้เกิดหรือมีการคายพลังงานออกมาน้อยกว่าเมื่อมันเกิด "โดยไม่คำนึงถึงสภาวะของการเกิดปฏิกิริยา" หรือบนข้อสมมุติที่ว่า "สภาวะของการเกิดปฏิกิริยานั้นไม่รุนแรง" อย่างเช่นในกรณีของรูปที่ ๑ นั้น การทำให้เกิดอนุมูลอิสระ methyl free radical จาก CH4 นั้นต้องใส่พลังงานเข้าไปมากกว่าการทำให้เกิดอนุมูลอิสระ ethyl free radical จาก H3C-CH3 และในทำนองเดียวกันการทำให้เกิดอนุมูลอิสระ ethyl free radical จาก H3C-CH3 นั้นต้องใส่พลังงานเข้าไปมากกว่าการทำให้เกิดอนุมูลอิสระ isopropyl free radical จาก H3C-CH3-CH3 
   
แต่ถ้าสภาวะของการเกิดปฏิกิริยานั้นรุนแรง อนุมูลอิสระที่มีพลังงานในตัวต่ำจะอยู่ไม่ได้ มันจะปรับตัวไปเป็นอนุมูลอิสระที่มีระดับพลังงานในตัวสูง ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือการผลิต Low density polyethylene (LDPE) ที่ภาวะการทำปฏิกิริยาจัดได้ว่ารุนแรง อนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นนั้นจึงเป็นเป็น primary (คืออยู่ที่ปลายสายโซ่) แทนที่จะเป็นแบบ secondary (หรืออยู่ตรงกลางสายโซ่) จึงทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อสายโซ่ให้ยาวออกไปได้เรื่อย ๆ (เรื่องนี้ถ้ามีเวลาว่างกะว่าจะเขียนสักที ตั้งใจจะเขียนอยู่เป็นปีแล้วเหมือนกัน)
  
รูปที่ ๒ กลไกการเกิดปฏิกิริยาการพอลิเมอร์ไรซ์ของสไตรีนที่ปรากฏในหนังสือหน้า ๑๐๗ พึงสังเกตว่าในที่นี้ตำแหน่งอะตอม C ที่มีอิเล็กตรอนอิสระ (ลูกศรสีเขียวชี้) นั้นไม่ใช่อะตอม C ที่มีวงแหวนเบนซินเกาะอยู่ (ลูกศรสีแดงชี้)
  
หนังสือ A Short Course in Organic Chemistry โดย Edward E. Burgoyne พิมพ์ครั้งที่ 3 ปีค.ศ. 1985 (พิมพ์ครั้งแรกปีค.ศ. 1977) โดยสำนักพิมพ์ McGraw-Hill เป็นตำราเคมีอินทรีย์ที่ผมใช้เรียนสมัยอยู่ปริญญาตรีปี ๒ (ปีพ.ศ. ๒๕๒๘) หนังสือเล่มนี้ก็อธิบายลำดับความมีเสถียรภาพของอนุมูลอิสระตามลำดับดังแสดงในรูปที่ ๑ แต่พอมาถึงหัวข้อ 4.3 เรื่อง Addition polymerization of alkenes ตรงตัวอย่างกรณีของการสังเคราะห์พอลิสไตรีน (polystyrene) ในหน้า 107 ที่ผมยกมาให้ดูในรูปที่ ๒ ก็สังเกตเห็นความผิดปรกติ
  
อันที่จริงนอกเหนือจากการจ่ายอิเล็กตรอนให้กับอะตอม C ที่มีอิเล็กตรอนอิสระ เสถียรภาพยังเกี่ยวข้องกับการเกิดเรโซแนนซ์กับพันธะของอะตอมที่เกาะติดอยู่กับอะตอม C ที่มีอิเล็กตรอนอิสระนั้น ซึ่งถ้าอิเล็กตรอนอิสระตัวนั้นสามารถเกิดเรโซแนนซ์ได้ มันก็จะมีเสถียรภาพดีขึ้น ในกรณีของที่อะตอม C ที่มีอิเล็กตรอนอิสระนั้นมีหมู่ฟีนิล (phenyl -C6H5 หรือวงแหวนเบนซีนนั่นเอง) ยึดเกาะอยู่ ตัวอิเล็กตรอนอิสระนั้นสามารถเกิดเรโซแนนซ์กับ pi e- ของวงแหวนเบนซีน ทำให้เกิดเป็นอนุมูลอิสระที่มีอิเล็กตรอนอิสระอยู่ที่ตำแหน่งอะตอม C ที่มีหมู่ฟีนิลนั้นเกาะอยู่ได้
  
แต่ในกรณีของตัวอย่างในหนังสือที่นำมาแสดงในรูปที่ ๒ นั้น กลับให้อะตอม C ตัวที่ "ไม่มี" หมู่ฟีนิลเกาะ (ตัวที่ลูกศรสีเขียวชี้) เป็นตัวที่มีอิเล็กตรอนอิสระ ทั้ง ๆ ที่ตำแหน่งที่ถูกต้องนั้นควรจะเป็นอะตอม C ตัวที่ "มี" หมู่ฟีนิลเกาะ 
  
รูปที่ ๓ กลไกการเกิดปฏิกิริยาการพอลิเมอร์ไรซ์ของสไตรีนที่ควรเป็น ตำแหน่งอะตอม C ที่มีอิเล็กตรอนอิสระควรเป็นอะตอม C ตัวที่มีหมู่ฟีนิล (วงแหวนเบนซีน) เกาะอยู่

จากการตรวจสอบกับแหล่งอื่นก็พบว่าที่ถูกต้องนั้นอิเล็กตรอนอิสระควรอยู่ที่อะตอม C ตัวที่มีหมู่ฟีนิลเกาะ และกลไกการเกิดการพอลิเมอร์ไรซ์ของสไตรีนควรเป็นดังแสดงในรูปที่ ๓
  
ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าแม้แต่ตำราที่เขียนโดยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นและและจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ชั้นนำของโลก ก็ยังมีผิดพลาดได้เช่นกัน ส่วนทำไมถึงเกิดความผิดพลาดดังกล่าวได้นั้น ก็ไม่รู้เหมือนกัน

ลิงค์ที่สามารถอ่านเพิ่มเติม

ไม่มีความคิดเห็น: