ปีหน้า
(พ.ศ.
๒๕๖๓)
ประเทศญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิคฤดูร้อน
ณ กรุงโตเกียว
และสิ่งหนึ่งที่ทางผู้ให้บริการรถไฟของญี่ปุ่นพยายามทำก็คือ
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้บันไดเลื่อน
จากยืนฝั่งเดินฝั่ง
มาเป็นให้ยืนทั้งสองฝั่ง
ภาพข่าวแรกที่นำมาเอามาจาก
NHK
world Japan ส่วนภาพข่าวที่สองนำมาจากสำนักข่าว
Japan
Times ข่าวทั้งสองนำมาจากหน้าเว็บแต่นำมาตัดแต่งเล็กน้อย
(เฉพาะส่วนขอบที่ว่าง
เนื้อหาไม่ถูกตัดแต่ง)
เพื่อให้ทั้งภาพข่าวอยู่พอดีในหน้ากระดาษเดียว
เดิมนั้นการใช้บันไดเลื่อนจะให้ผู้ที่ต้องการยืน
ให้ยืนทางฟากใดฟากหนึ่ง
และใครต้องการเดิน
(เพื่อต้องการความรวดเร็ว)
ก็ให้ใช้อีกฟากหนึ่ง
แต่มันก็มีปัญหาเรื่องอุบัติเหตุ
รวมไปทั้งปัญหากับผู้โดยสารที่มีสัมภาระที่ต้องวางเต็มพื้นที่บันไดเลื่อน
ด้วยเหตุนี้จึงเกิดความต้องการที่จะปรับพฤติกรรมการใช้บันไดเลื่อนเพื่อลดอุบัติเหตุที่เกิดขณะใช้บันไดเลื่อน
(ไม่ว่าขึ้นหรือลง)
ด้วยการให้งดเดินบนบันไดเลื่อน
แต่ให้ยืนทั้งสองฝั่งและจับราวบันไดเอาไว้
แต่สิ่งหนึ่งที่พบในการทดลองในสถานีรถไฟแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน
(ดูภาพข่าวของ
Japan
Times) ที่ให้ผู้โดยสารยืนทั้งสองฝั่งของบันไดเลื่อนคือ
สามารถระบายคนได้ "รวดเร็วขึ้น"
ถึง
30%
ปัญหาหนึ่งของผู้ให้บริการเห็นจะได้แก่การตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการ
โดยเฉพาะผู้ให้บริการระบบสาธารณะที่ต้องให้บริการคนจำนวนมากในเวลาเดียวกัน
(เช่นในกรณีของรถไฟใต้ดิน)
ซึ่งแน่นอนว่าไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการได้ทุกคนในเวลาเดียวกัน
แต่สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ต้องมาก่อนความสะดวกในการรับบริการก็คือ
"ความปลอดภัย"
ในการให้บริการ
เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นกับผู้รับบริการรายหนึ่ง
มันมักจะส่งผลกระทบต่อผู้รับบริการรายอื่น
(ที่อาจมีจำนวนมากด้วย)
และระบบการทำงานโดยรวมก็ได้
การที่สถานีรถไฟใต้ดินในกรุงโตเกียวมีการรณรงค์ให้ยืนทั้งสองฝั่งของบันได้เลื่อนก็คงด้วยเหตุนี้
ส่วนใครรีบร้อนเขาก็มีบันไดจัดไว้ให้เดินขึ้นเองได้อยู่แล้ว
แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือทำไมพอห้ามเดินบนบันไดเลื่อน
พบว่าสามารถระบายผู้โดยสารได้รวดเร็วขึ้น
ตรงนี้ถ้าเรามาพิจารณาสัดส่วนระหว่างคนที่ไม่ประสงค์ที่จะเดินบนบันไดเลื่อนกับคนที่ประสงค์ที่จะเดินบนบันไดเลื่อน
(เป็นประจำด้วย)
ก็น่าจะพอหาคำอธิบายได้
ถ้ามองว่ามีบันไดเลื่อนเพียงแต่บันไดเดียว
ผู้โดยสาร 90%
ไม่ประสงค์จะเดินบนบันไดเลื่อน
มีเพียงแค่ 10%
เท่านั้นที่ต้องการเดิน
การไปให้ยืนเพียงแค่ฝั่งเดียวเหลืออีกฝั่งไว้เดิน
ทำให้ผู้โดยสาร 90%
ต้องรอต่อคิวกันใช้บันไดที่มีพื้นที่ใช้ได้เพียงแค่ครึ่งเดียว
ในขณะพื้นที่อีกครึ่งของบันได้มีไว้ให้ผู้โดยสารส่วนน้อย
(คือ
10%)
ใช้เท่านั้น
แต่ถ้าให้ยืนได้ทั้งสองฝั่งของบันไดเลื่อน
ก็จะทำให้ผู้โดยสาร 90%
ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น
คือสามารถเดินทางได้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องมาออหน้าบันได
การอ้างเหตุผลเรื่องความปลอดภัยมันก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา
เพราะการกระทำบางอย่างนั้นมันใช่ว่าจะเกิดอุบัติเหตุทุกครั้งที่กระทำ
เขาก็ใช้เป็นข้ออ้างได้ว่าที่ผ่านมาก็ทำแบบนี้มาตลอด
ไม่เห็นจะเป็นอะไร
ทำไมต้องห้ามไม่ให้เขาทำ
(เช่นขี่มอเตอร์ไซค์โดยไม่สวมหมวกนิรภัย
นั่งรถยนต์โดยไม่คาดเข็มขัดนิรภัย)
แต่ประเด็นก็คือถ้าเกิดเรื่องขึ้น
แม้ว่าเพียงครั้งเดียวก็ตาม
จะเกิดความเสียหายมากเท่าใด
และใครต้องรับผิดชอบความเสียหายทั้งหมดที่เกิด
ไม่ว่าจะเป็นของระหว่างคู่กรณี
หรือกับผู้อื่นที่ได้รับผลกระทบจากเหตุที่เกิด
(เช่นการที่ต้องปิดการจราจร
ต้องหยุดการให้บริการชั่วขณะ)
การออกข้อบังคับโดยอิงเรื่องความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ควรกระทำ
แต่กระนั้นก็ควรอยู่บนพื้นฐานของความเหมาะสมและปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์
คนยืนอยู่บนชานชาลาสถานีรถไฟฟ้า
พอพลาดตกชานชาลาทีก็มีเสียงโวยวายกันใหญ่ว่าทำไมถึงไม่มีที่กั้น
แต่สำหรับคนที่ยืนรอรถเมล์อยู่ที่ป้าย
กลับไม่ยักเคยได้ยินปัญหาทำนองเดียวกัน
ตรงนี้เราอาจต้องไปพิจารณาว่าความแตกต่างของสถานที่นั้น
ทำให้คนนั้นมีพฤติกรรมแตกต่างกันหรือไม่
เช่นการยืนรอรถเมล์นั้นทำให้คนมีความตื่นตัวและระมัดระวังมากกว่าการยืนรอรถไฟฟ้าหรือไม่
เพราะสถานีรถไฟฟ้านั้นเป็นที่ปิด
ไม่ต้องกังวลเรื่องฉกชิงวิ่งราว
และมั่นใจว่าเมื่อรถไฟมาถึงมันต้องจอด
ในขณะที่ริมถนนนั้นเป็นที่สาธารณะ
รถเมล์อาจวิ่งเลยไม่จอดก็ได้
และยังต้องระวังเรื่องการฉกชิงวิ่งราวอีก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น