วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ตรวจสอบน้ำยาแอร์รั่วด้วยตะเกียงแก๊ส MO Memoir : Monday 4 February 2562

ในตำราอินทรีย์เคมีมีการกล่าวถึง Beilstein test ว่าเป็นวิธีการทดสอบเชิงคุณภาพ (คือหามีหรือไม่มี) ว่าตัวอย่างนั้นมีธาตุกลุ่มเฮไลด์หรือไม่ วิธีการทดสอบเริ่มด้วยการนำเอาลวดทองแดงมาขดให้เป็นห่วงเล็ก ๆ ที่ปลาย แล้วนำปลายนั้นไปเผาไฟในตะเกียงบุนเสนเพื่อเป็นการทำความสะอาดและทำให้เกิดชั้น CuO เคลือบผิวลวด จากนั้นจึงนำปลายลวดนั้นไปจุ่มในตัวอย่างที่ต้องการทดสอบ (ตัวอย่างนั้นเป็นของเหลวหรือของแข็ง) แล้วนำไปเผาไฟใหม่ ถ้าเห็นเปลวไฟมีสีเขียวก็แสดงว่าตัวอย่างนั้นมีธาตุเฮไลด์เป็นองค์ประกอบ ในเว็บ https://en.wikipedia.org/wiki/Beilstein_test บอกว่าวิธีการนี้ใช้ไม่ได้กับตัวอย่างที่ประกอบด้วยธาตุฟลูออรีนหรือไอออนฟลูออไรด์

รูปที่ ๑ ตะเกียงแก๊ส (Halide torch leak detector) ที่ช่างแอร์ใช้ตรวจหาว่ามีน้ำยาแอร์รั่วออกจากตู้แอร์หรือไม่

เมื่อวันเสาร์เอารถเข้าไปซ่อมแอร์ บอกกับช่าง (ร้านประจำ) ว่าเปลี่ยนชิ้นส่วนไปเกือบทุกอย่างแล้ว เหลือแต่ตู้แอร์ที่ยังไม่ได้เปลี่ยน วันนี้สงสัยว่าคงถึงคราวต้องเปลี่ยนแล้ว ช่างก็บอกว่าต้องขอตรวจสอบก่อนให้แน่ใจก่อน
 
หลังจากตรวจแล้วว่าน้ำยาแอร์หายไปเยอะ ช่างก็เริ่มด้วยการเติมน้ำยาแอร์เข้าไปหน่อยเพื่อให้ระบบมีความดัน จากนั้นก็ทำการตรวจหารอยรั่วที่ระบบท่อต่างที่อยู่ในห้องเครื่อง เมื่อไม่พบก็เลยต้องตรวจภายในห้องโดยสาร ทีนี้ตู้แอร์ในห้องโดยสารมันอยู่ใต้แผงคอนโซลหน้ารถ รถรุ่นเก่า ๆ ยังพอถอดออกได้โดยไม่ต้องถอดแผงคอนโซลหน้า แต่รถรุ่นใหม่ ๆ (ช่างเขาว่าอย่างนั้น) ต้องรื้อแผงคอนโซลหน้าออก (งานใหญ่เหมือนกัน) จึงจะเปลี่ยนได้ ดังนั้นต้องมั่นใจก่อนว่าตู้แอร์ในห้องโดยสารมันรั่วจริง ถึงจะลงมือถอด
 
วิธีการที่เขาทำก็คือไปเอาตะเกียงแก๊สโพรเพน (แบบในรูป) มาจุดไฟ โดยที่ตัวตะเกียงจะมีแผ่นทองแดงอยู่ แผ่นทองแดงนี้จะถูกเผาให้ร้อน เปลวไฟในตะเกียงจะดูดอากาศเข้าทางสายยางที่ต่ออยู่ที่ฐานตะเกียงด้วย ด้วยการแหย่ปลายสายยางไปยังบริเวณต่าง ๆ อากาศบริเวณนั้นก็จะถูกดูดเข้ามา เปลวไฟโพรเพนปรกติจะเป็นสีฟ้า แต่ถ้าอากาศที่ดูดเข้ามานั้นมีแก๊สที่มีฮาโลเจนเป็นองค์ประกอบ (ในที่นี้ก็คือสารทำความเย็น) เปลวไฟก็จะเปลี่ยนสี คือมีสีเขียวปน วิธีการนี้ใช้ไม่ได้กับสารทำความเย็นที่เป็นไฮโดรคาร์บอน เขาบอกว่าเทคนิคนี้เป็นของช่างรุ่นเก่า (รุ่นใหม่คงใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทนแล้วมั้ง)
 
ที่ผมแปลกใจก็คือตรงที่ข้อมูลบางแหล่งบอกว่าวิธีการนี้ใช้ไม่ได้ในกรณีของฟลูออรีน แต่สารทำความเย็นที่ใช้กันทั่วไปในรถคือ R134a หรือ 1,1,1,2-Tetrafluoroethane (F3C-CH2F) ที่มีแต่ฟลูออรีน ซึ่งวิธีการดังกล่าวมันก็ตรวจสอบได้ ก็เลยไม่รู้ว่ามันใช้ตรวจสอบฟลูออรีนได้ หรือที่มันเห็นคือสารปนเปื้อน (สารตั้งตั้นที่ใช้ในการผลิต) turที่มากับ R134a

รูปที่ ๒ อีกมุมหนึ่งของตะเกียงที่ช่างแอร์ใช้ตรวจหาการรั่วไหลของน้ำยาแอร์

ไม่มีความคิดเห็น: