วันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๑๗ The Red Team : Centrifugal separator MO Memoir : Sunday 12 November 2566

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๙ ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเข้าร่วม workshop เกี่ยวกับ "การจัดทีมแดงเพื่อฝึกซ้อมสถานการณ์ภัยคุกคามจากการแพร่ขยายอาวุธทำลายล้างสูงด้านชีวภาพ (Red Teaming Biological Proliferation Threats Exercise)" โดยมีวิทยากรจาก University at Albany, State University of New York มาเป็นวิทยากร โดยมีทางสถานฑูตสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพ (คืออบรมฟรี มี coffee และข้าวเที่ยงกินฟรี)

ในการอบรมนี้มีผู้เข้าร่วมประมาณ ๓๐ คนเศษ แบ่งออกเป็น ๕ กลุ่ม (ผมเองไปอยู่กลุ่ม ๔) โดยในช่วงเช้าแต่ละกลุ่มจะได้รับโจทย์ที่ไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือเป็นสถานการณ์สมมุติให้หาทางเลี่ยงการส่งออกหรือเข้าถึงสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (คือให้สมมุติว่าตนเองจะพยายามฝ่าฝืนระบบป้องกัน และเรียกตัวเองว่า "Red Team")

โจทย์กลุ่ม ๔ ที่ได้รับมาคือให้หาทางส่ง "เครื่องแยกแบบใช้แรงหมุนเหวี่ยง" (รายละเอียดของโจทย์อยู่ในรูปที่ ๓ ด้านท้าย) ออกไปต่างประเทศ "เครื่องแยกแบบใช้แรงหมุนเหวี่ยง" นี้ ที่จะเป็นสินค้าควบคุมต้องมีคุณลักษณะเป็นไปตามข้อกำหนดในหมวด 2B352.c (รูปที่ ๑)

รูปที่ ๑ ภาษาอังกฤษด้านบนนำมาจาก EU List ฉบับปีค.ศ. ๒๐๒๒ ส่วนฉบับภาษาไทยข้างล่างเป็นฉบับที่อิงจาก EU List ฉบับปีค.ศ. ๒๐๑๙ (ฉบับภาษาไทยตรงคำแปลหัวข้อมีพิมพ์ผิดอยู่นิดนึงตรงที่มีคำว่า "กา" เกินเข้ามา)

สำหรับคนที่ทำงานแล้ว ถ้าพูดถึง "Centrifuge" ก็จะนึกถึงเครื่องแยกสารแบบใช้แรงหมุนเหวี่ยง ที่แยกสารโดยอาศัยความหนาแน่นที่แตกต่างกัน แต่ถ้าเอาคำว่า "Centrifuge" ไปค้นหาใน EU List จะพบว่ามันไปโผล่แต่กับหมวด "Gas centrifuge" ที่เกี่ยวข้องกับการแยกไอโซโทปยูเรเนียม ส่วน "เครื่องแยกแบบใช้แรงหมุนเหวี่ยง" ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและจัดการกับวัสดุชีวภาพ ต้นฉบับภาษาอังกฤษใช้คำว่า "Centrifugal separator" โดยหมายความรวมถึง "Decanter" ด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีคำ "Clarifier" ที่ใช้เรียกอุปกรณ์ทำนองนี้เช่นกัน

เมื่อลองเอาคำว่า "Centrifuge" ไปค้นหาใน google ก็จะเจอแต่พวกที่ทำงานด้วยการบรรจุสารที่ต้องการแยกลงในหลอดบรรจุสาร แล้วเหวี่ยงแยกด้วยความเร็วรอบสูงนานช่วงเวลาหนึ่ง จากนั้นก็หยุดการหมุนและนำหลอดบรรจุสารออกมา ซึ่งในตอนนี้สารในหลอดบรรจุสารจะแยกชั้นกัน โดยสารที่มีความหนาแน่นสูงกว่าจะอยู่ทางด้านล่างของหลอดบรรจุ แต่เนื่องจากอุปกรณ์ทำนองนี้ไม่สามารถทำการแยกสารได้อย่างต่อเนื่อง มันจึงไม่เข้าข่ายเป็นสินค้าควบคุม

เมื่อลองเองคำว่า "Decanter" ไปค้นหาใน google ก็จะเจอแต่พวกขวดบรรจุเหล้า ไวน์ แต่พอใช้คำว่า "Food processing decanter" หรือ "Bio processing decanter" ค้นหา ก็จะเจอเครื่องแยกที่ทำงานแยกสารได้อย่างต่อเนื่อง โดยสารที่ป้อนเข้าไปจะมีลักษณะเป็น "สเรอรี่ - slurry" (คือมีของแข็งแขวนลอยอยู่ในของเหลว) เมื่อป้อนสเรอรี่นี้เข้าไปในเครื่อง แรงเหวี่ยงจะทำการแยกส่วนที่เป็นของเหลวออกไปทางช่องทางหนึ่ง และส่วนที่มีองค์ประกอบหลักเป็นของแข็งจะแยกออกทางอีกช่องทางหนึ่ง โดยเครื่องส่วนใหญ่ที่แสดงจะวางตัวในแนวนอน แต่จากขนาดกล่องบรรจุที่ให้มาในโจทย์ที่บอกว่าขนาดประมาณ 1.5 m x 1.5 m x 1.5 m ทำให้คิดว่าเครื่องดังกล่าวควรมีลักษณะวางตัวในแนวตั้งมากกว่า (รูปที่ ๒)

รูปที่ ๒ ตัวอย่าง "เครื่องแยกแบบใช้แรงหมุนเหวี่ยง" ที่สามารถทำงานอย่างต่อเนื่อง (นำมาจากเอกสารของบริษัท Flottweg) จะเห็นว่าจากมิติของกล่องที่บรรจุ รูปแบบล่างจะตรงกับโจทย์ที่กำหนดให้มากกว่า

Workshop แบบนี้ก็สนุกดี โดยส่วนตัวคิดว่าจะสนุกมากขึ้นถ้าแต่ละกลุ่มมีสมาชิกที่มีความรู้ ทางเทคนิคเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ต้องการส่งออก, การส่งสินค้า และการชำระเงิน มาทำงานร่วมกัน เพราะคำถามที่ได้รับมานั้นประกอบทั้งสามส่วนที่กล่าวมา ไม่ว่าจะเป็น การระบุสินค้าว่าเป็นอะไร (เช่นจะระบุตรงหรือเลี่ยงบาลี), การส่งออกจะส่งในรูปสินค้าชิ้นเดียวหรือแยกชิ้น, ทำอย่างไรจึงจะขนส่งได้ด้วยรูปแบบที่เป็นปรกติ, รวมทั้งการรับชำระเงินที่ไม่มีพิรุธให้เห็น

วิทยากรที่มาอบรมบอกว่า ทุกคำตอบมีความเป็นไปได้หมด รวมทั้งการติดสินบนเจ้าพนักงานด้วย ซึ่งจะว่าไปแล้วก็น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะลักษณะโจทย์แบบนี้มันขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของแต่ละประเทศว่า มีจำนวนผู้ปฏิบัติงาน, มีความรู้ มีข้อมูลข่าวสาร มีแหล่งข่าวกรอง ฯลฯ เกี่ยวกับเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด


รูปที่ ๓ โจทย์ที่ได้รับมา

ไม่มีความคิดเห็น: