วันอังคารที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2557

การใช้มัลติมิเตอร์และไขควงเช็คไฟ (การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๖๖) MO Memoir : Tuesday 16 September 2557

หลังจากที่ได้เห็นเหตุการณ์ในวันนี้แล้ว จากเรื่องที่เคยคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาน่าจะรู้กันอยู่แล้ว ก็เลยกลายเป็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องขอเขียนบันทึกเอาไว้สักหน่อย เพราะมันอาจถึงตายได้ นั่นคือเรื่องการใช้มัลติมิเตอร์และไขควงเช็คไฟ
  
มัลติมิเตอร์ถ้าเป็นแบบเข็ม (ดังรูปที่ ๑) ก็จะมีแบตเตอรี่อยู่ข้างใน (ปรกติก็ขนาด 9 V 1 ก้อน) เพื่อใช้สำหรับการวัดความต้านทาน ก่อนการใช้งานแต่ละครั้งก็ควรต้องทดสอบก่อนด้วยการปรับไปที่ตำแหน่งวัดความต้านทานต่ำสุด และนำขาทั้งสองข้างของสายวัดมาแตะกัน (ดูรูปที่ ๑) ซึ่งควรจะเห็นเข็มวัดตีขึ้นอ่านค่าได้ 0 โอห์ม


รูปที่ ๑ ก่อนใช้มัลติมิเตอร์ ควรปรับไปที่เลือกวัดความต้านทานก่อน จากนั้นนำปลายของสายวัด (หรือโพรบ) มาแตะกัน (ลูกศรสีเขียวชี้) ซึ่งควรจะอ่านได้ค่าความต้านทานเป็นศูนย์หรือใกล้ศูนย์ การทดสอบนี้เพื่อดูว่ามัลติมิเตอร์ยังทำงานได้หรือเปล่า ส่วนไขควงเช็คไฟนั้นจะมีส่วนหัวหรือคลิปที่เป็นโลหะ (ลูกศรสีเหลืองชี้) เวลาใช้งานต้องเอานิ้วแตะที่ส่วนหัวหรือคลิป
  
ถ้าแตะแล้วเข็มวัดไม่กระดิกขึ้น ก็แสดงว่าแบตเตอรี่หมดหรือไม่ก็มัลติมิเตอร์เสีย ก็อย่าเพิ่งเอาไปใช้วัดไฟ 220 V เพราะอุปกรณ์พวกนี้ถ้ามันเสีย มันจะแสดงค่าเป็น 0 V เหมือนกับว่าไม่มีไฟ ทั้ง ๆ ที่อาจมีไฟอยู่ครบ 220 V
  
ส่วนการใช้ไขควงเช็คไฟนั้น เวลาใช้งานต้องเอานิ้วแตะที่ส่วนหัวหรือไม่ก็คลิปที่เป็นโลหะ เพื่อให้ไฟฟ้ามันครบวงจร (มันเอาตัวเราเป็น ground) ถ้าจิ้มไปที่ช่อง neutral มันก็จะไม่มีไฟติด แต่ถ้าจิ้มไปที่ช่อง line ที่มีไฟ หลอดไฟในไขควงก็จะสว่างให้เห็น (ดูรูปที่ ๒)


รูปที่ ๒ (บน) เวลาใช้ไขควบเช็คไฟต้องให้นิ้วหรือมือของเราสัมผัสกับส่วนที่เป็นหัวโลหะหรือคลิปโลหะ เพื่อให้ไฟฟ้าครบวงจร เวลาจิ้มไปที่ช่องที่เป็นสาย line หลอดไฟก็จะสว่าง (ล่าง) แต่ถ้าไม่มีส่วนใดของร่างกายสัมผัสกับหัวโลหะหรือคลิปโลหะ หลอดไฟก็จะไม่สว่าง ทั้ง ๆ ที่รูปลั๊กนั้นเป็นรูของสาย line
  
สรุปว่าไขควงไม่ได้เสียหรอก คนซื้อใช้ไม่เป็นต่างหาก

ไม่มีความคิดเห็น: