วันเสาร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เพลิงไหม้บันไดเลื่อนในสถานีรถไฟใต้ดิน King's Cross MO Memoir : Saturday 17 June 2560

อังกฤษเป็นประเทศแรกในโลกที่วางรถไฟใต้ดินเพื่อการขนส่งในตัวเมืองตั้งแต่ยุคสมัยที่ยังใช้หัวรถจักรไอน้ำขับเคลื่อน รถไฟใต้ดินยุคแรกของอังกฤษไม่ได้สร้างด้วยการขุดอุโมงค์ แต่ใช้วิธีการขุดจากพื้นผิวลงไป พอสร้างทางรถไฟเสร็จก็สร้างสิ่งก่อสร้าง (เช่นอาคาร) ปิดคลุมทับด้านบนอีกที เส้นทางรถไฟแบบนี้จะมีช่องเปิดสู่อากาศภายนอกเยอะหน่อย เพราะต้องใช้เป็นช่องระบายควันออกจากอุโมงค์
  
พวกที่อยู่ระดับลึกลงไปนั้นสร้างขึ้นภายหลัง ใช้การขุดอุโมงค์เล็ก ๆ ขนาดกว้างกว่าตัวรถไฟเล็กน้อยเพื่อใช้เป็นทางวิ่ง จะสร้างเป็นอุโมงค์ขนาดใหญ่ก็บริเวณตัวสถานี พวกนี้จะหันมาขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า และด้วยเหตุที่อุโมงค์มันเป็นเหมือนท่อเล็ก ๆ ใต้ดินมั้ง จึงทำให้คนอังกฤษให้ชื่อเล่นของถไฟใต้ดินของเขาว่า "Tube" (ตรงนี้ผมคิดเองนะ) ในขณะที่ชื่อเป็นทางการคือ "Underground" ส่วนทางเดินเท้าที่อยู่ใต้ผิวดินนั้นเขาเรียกว่า "Subway" ศัพท์ตรงนี้ทางอังกฤษจะเรียกสลับกับทางอเมริกาที่เรียกรถไฟใต้ดินว่า "Subway" และเรียกทางเดินเท้าใต้ดินว่า "Underground"
 
ด้วยการที่ในตัวเมืองนั้นส่วนใหญ่จะเป็นอาคารสำนักงาน สถานที่ทำงาน ส่วนที่พักอาศัยนั้นจะอยู่กันนอกเมือง การเดินทางจากเมืองที่อยู่ห่างออกไปเข้าสู่ลอนดอนก็จะมีระบบรถไฟของ British Rail ให้บริการ ที่มีสถานีรถไฟใหญ่ ๆ อยู่รอบตัวเมืองลอนดอนตามทิศต่าง ๆ กว่าสิบสถานี ส่วนระบบรถไฟที่เน้นการขนส่งในตัวเมืองและชานเมืองใกล้ ๆ เป็นหลักนั้นจะเป็นของ London Underground ตัวสถานี King's Cross ที่จะกล่าวถึงในเรื่องนี้ก็เป็นสถานีรถไฟที่วิ่งตรงไปยังสก๊อตแลนด์ โดยวิ่งเลียบทางชายฝั่งตะวันออกของเกาะอังกฤษ
  
ตอนที่ผมได้มีโอกาสเดินทางออกต่างประเทศครั้งแรกไปยังประเทศญี่ปุ่นนั้น สิ่งหนึ่งที่รู้สึกประหลาดใจมากคือจำนวนคนที่สูบบุหรี่ ทั้งผู้ชายและผู้หญิงสูบกันทั่วไปหมด และเมื่อมีโอกาสมาเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษก็พบว่าทั้งผู้ชายและผู้หญิงก็สูบบุหรี่กันทั่วไปหมด เผลอ ๆ สัดส่วนผู้หญิงที่สูบบุหรี่จะมากกว่าผู้ชายด้วยซ้ำ และเมื่อมีการสูบบุหรี่ สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือการทิ้งก้านไม้ขีดที่ใช้จุดบุหรี่และก้นบุหรี่ทั่วไปหมด
  
ในบริเวณสถานีรถไฟใต้ดินของอังกฤษนั้นเดิมก็ไม่ห้ามสูบบุหรี่ ต่อมาก็มีการห้ามสูบบุหรี่ แต่ก็ไม่มีการบังคับใช้จริงจัง (คือมีบทลงโทษแต่ไม่มีการจับกุมมาลงโทษ) ในระหว่างการเดินทางนั้นผู้ติดบุหรี่ก็ไม่สามารถสูบบุหรี่ได้ ดังนั้นพอมาถึงจุดหมายปลายทางก็จะไม่รอจนกว่าจะเดินพ้นตัวสถานีออกมา เรียกว่าพอขึ้นบันไดเลื่อนที่นำไปสู่ทางออกได้ก็หยิบบุหรี่ขึ้นมาจุดสูบทันที
  
บันไดเลื่อนรุ่นเก่าของสถานีรถไฟในอังกฤษนั้นพื้นด้านบนเป็นพื้นไม้ ในช่วงเวลาประมาณ ๑๙.๒๙ น ของคืนวันพุธที่ ๑๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๗ (พ.ศ. ๒๕๓๐) ผู้โดยสารผู้หนึ่งที่กำลังขึ้นบันไดเลื่อนหมายเลข ๔ สังเกตเห็นเปลวไฟลุกไหม้ในช่องด้านขวาข้างบันได จึงได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ของสถานีทราบ ต่อมาอีกประมาณ ๑ นาที ผู้โดยสารอีกรายหนึ่งที่ขึ้นบันไดเดียวกันตามหลังมา สังเกตเห็นควันไฟลอยออกมาจากใต้บันไดเลื่อน จึงได้กดปุ่มหยุดฉุกเฉินและแจ้งให้เจ้าหน้าที่ประจำสถานีทราบ
  
ในรายงานการสอบสวนนั้นบรรยายถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ การเข้าไปใต้บันไดเลื่อนเพื่อทำการดับไฟ การติดต่อไม่ให้รถไฟใต้ดินสองสาย (คือ Piccadilly line และ Victoria line) หยุดรับส่งผู้โดยสารที่สถานีดังกล่าว (แต่ยังไม่ได้ติดต่อให้สาย Norther line หยุดรับส่งผู้โดยสารที่สถานนีดังกล่าวด้วย) การติดต่อหน่วยดับเพลิงและเจ้าหน้าที่รถไฟที่เกี่ยวข้อง การปัดให้ผู้โดยสารไปใช้บันไดเลื่อนของสาย Victoria เพื่อออกจากสถานี แต่ที่สำคัญคือในช่วงเวลาประมาณ ๑๕ นาทีจากที่ได้รับแจ้งเหตุ ยังไม่มีการใช้เครื่องดับเพลิงในการดับไฟที่ลุกไหม้อยู่ใต้บันไดเลื่อน

รูปที่ ๑ หน้าปกเอกสารรายงานการสอบสวนเหตุเพลิงไหม้ในสถานีรถไฟใต้ดิน King's Cross ในช่วงหัวค่ำของคืนวันพุธที่ ๑๘ พฤศจิกายน ปีค.ศ. ๑๙๘๗ (พ.ศ. ๒๕๓๐) โดยคณะกรรมการอิสระที่ทางอังกฤษเรียกว่า Public Enquiry
  
รูปที่ ๒ แผนผังระบบรถไฟของอังกฤษ แผนที่นี้จัดทำและแจกจ่ายโดย British Rail (BR) ในปีค.ศ. ๑๙๙๒ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ในกรอบสีเหลืองคือสถานี King's Cross และ St. Pancras ที่อยู่เคียงข้างกัน เป็นสถานีเชื่อมต่อระหว่าง British Rail และ London Underground ส่วนในกรอบสีเขียวคือสถานี Paddington ที่มีคนเอาไปแต่งนิทานเรื่อง Paddington bare ที่ไม่ค่อยดังเท่าไรนัก มาดังเอาตอนมีคนเอามาแต่งเรื่อง Harry Potter
 
เวลาประมาณ ๑๙.๔๕ น หรือ ๑๕ นาทีหลังที่มีการแจ้งเหตุเพลิงลุกไหม้ใต้บันไดเลื่อน เกิดปรากฏการณ์ Flashover คือมีเปลวไฟพุ่งขึ้นมาตามระดับพื้นบันไดเลื่อนหมายเลข ๔ เปลวไฟดังกล่าวพุ่งไปกระทบเพดานโถงทางเข้า-ออกและไต่ไปตามเพดานก่อนม้วนตัวลงล่าง (ดูรูปที่ ๑๕ ที่เป็นรูปจากการทดลอง) ทำให้ผู้ที่อยู่ในบริเวณโถงดังกล่าว (ทั้งพนักงานดับเพลิงที่กำลังเข้ามาตรวจสอบที่เกิดเหตุและผู้โดยสารที่ใช้บันไดเลื่อนสาย Victoria ขึ้นมายังโถงดังกล่าว) ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต เปลวไฟลุกไหม้ภายในสถานีอย่างรุนแรง จนล่วงเข้าเวลา ๒๑.๔๘ น จึงมีการประกาศว่าสามารถควบคุมเพลิงเอาไว้ได้ และดับลงเมื่อเวลา ๐๑.๔๖ น. ของอีกวันหนึ่ง เหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น ๓๑ คน
 
ผมขอไม่เอารายงานทั้งฉบับมาแปลให้อ่านนะครับ ถ้าอยากทรายรายละเอียดก็ขอให้ลงหาดาวน์โหลดไฟล์ pdf ดูเอาเองก็แล้วกัน สิ่งที่จะเล่าต่อไปก็คือประเด็นที่สำคัญบางประการที่คณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุพิจารณาและสรุปไว้ในหน้า Executive summary ของรายงานการสอบสวน คือ
 
ก. เริ่มเกิดเพลิงลุกไหม้ได้อย่างไร
 
ข. ทำไมเพลิงที่ดูว่ามีขนาดเล็ก จึงกลายเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ที่ครอกทั้งโถงทางเข้า-ออกได้อย่างรวดเร็ว
 
ค. ทำไมจึงมีผู้เสียชีวิตถึง ๓๑ คน (มีเด็กอายุ ๗ ขวบรวมอยู่ด้วย)

ในการเกิดเพลิงลุกไหม้ได้นั้น จำเป็นต้องมีทั้งเชื้อเพลิงและแหล่งพลังงานความร้อน จากการตรวจสอบบริเวณใต้บันไดเลื่อนส่วนที่เหลือ ทีมสอบสวนพบว่ากลไกใต้บันไดเลื่อนเต็มไปด้วยจารบีและสิ่งสกปรกต่าง ๆ (ไม่ว่าจะเป็นเศษกระดาษ เส้นผม หรือเส้นใย - ดูรูปที่ ๑๒) รวมทั้งก้านไม้ขีด อันเป็นผลจากการที่ไม่เคยทำความสะอาดระบบมาเป็นเวลาหลายสิบปี
 
ปรกติแล้วจารบีเป็นสารที่ติดไฟได้ยาก แต่เมื่อทำการทดลองผสมสิ่งสกปรกแบบเดียวกับที่พบในที่เกิดเหตุเข้ากับจารบี พบว่าจารบีสามารถลุกติดไฟได้ง่ายขึ้นและติดต่อเนื่อง พฤติกรรมนี้เป็นแบบเดียวกับเวลาที่เราจุดเทียนไข เชื้อเพลิงหลักของเทียนไขก็คือตัวเนื้อเทียนที่เป็นของแข็งนั่นเอง แต่ตัวเนื้อเทียนมันติดไฟยาก เว้นแต่ว่ามันจะมีอุณหภูมิสูงมากพอจนทำให้มันระเหยเป็นไอได้มากพออย่างต่อเนื่อง แต่เราก็สามารถทำให้เนื้อเทียนติดไฟได้ง่ายขึ้นด้วยการใช้ไส้เทียน คือความร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้ไส้เทียนจะทำให้เนื้อเทียนที่อยู่รอบ ๆ ไส้เทียนหลอมละลายเป็นของเหลวและแพร่ซึมขึ้นมาตามไส้เทียน ก่อนที่จะลุกติดไฟ ในกรณีของเหตุเพลิงไหม้นี้ สิ่งสกปรกที่ผสมอยู่กับตัวจารบีทำหน้าที่เป็นเสมือนไส้เทียนนั่นเอง ทำให้ตัวจารบีหลอมเหลวและลุกติดไฟได้อย่างต่อเนื่องเหมือนดังการจุดเทียน แต่เนื่องจากในบริเวณดังกล่าวเต็มไปด้วยจารบี จึงทำให้การลุกไหม้มีการแผ่ขยายออกไป รวมทั้งการทำให้แผ่นไม้อัดที่เป็นโครงสร้างบันไดเริ่มลุกไหม้ไปด้วย
 
ส่วนแหล่งกำเนิดความร้อนนั้นคาดว่าน่าจะเป็นก้านไม้ขีดที่มีผู้โดยสารบางรายจุดเพื่อจุดบุหรี่สูบขณะอยู่บนบันไดเลื่อนดังกล่าว และทิ้งก้านไม้ขีดนั้นลงไปบนบันไดเลื่อน และบังเอิญที่ก้านไม้ขีดนั้นหลุดรอดลงไปในช่องว่างระหว่างบันไดเลื่อนกับราวบันไดโดยที่ยังไม่ดับดี ตรงนี้แม้ว่าจะมีข้อห้ามไม่ให้สูบบุหรี่ในสถานีรถไฟใต้ดิน (ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีค.ศ. ๑๙๘๕) แต่การฝ่าผืนก็ดูเหมือนเป็นเรื่องปรกติ แสดงว่าไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าถ้าหากมีการบังคับใช้ที่จริงจัง เหตุการณ์นี้ก็คงจะไม่เกิด

ประเด็นถัดมาคือทำไมเพลิงที่มีขนาดเล็กจึงขยายตัวเป็นลูกไฟขนาดใหญ่กระทันหัน ที่พุ่งด้วยความเร็วสูงได้อย่างรวดเร็ว จนเข้าไปท่วมครอกผู้ที่อยู่ในโถงทางเข้า-ออกจนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ประเด็นนี้ดูเหมือนจะเป็นคำถามที่ทำให้คณะกรรมการสอบสวนปวดหัวที่สุดเห็นจะได้แก่ แต่กว่าจะตอบคำถามนี้ได้ก็ต้องไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้าน computer simulation (ตอนนั้นอยู่ในช่วงเริ่มพัฒนา)
 
ช่วงเวลานั้น อย่าว่าแต่โปรแกรม simulation เลย แม้แต่โปรแกรมแก้ปัญหาเมทริกซ์และระบบสมการอนุพันธ์ก็ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา เทคนิคการแก้ปัญหาต่าง ๆ ยังเป็นหัวข้องานวิจัยของนักศึกษาปริญญาเอกกันอยู่ ไม่เหมือนในปัจจุบันที่ใครต่อใครสามารถหามาใช้ได้ง่าย
  
รูปที่ ๓ ภาพจากเอกสารรายงานการสอบสวน บริเวณหน้าสถานีรถไฟใต้ดิน


รูปที่ ๔ บันได้เลื่อนหมายเลข ๔ (ตัวซ้ายในรูป) คือตัวที่เกิดเพลิงไหม้ รูปนี้เป็นรูปที่ถ่ายเอาไว้ก่อนเกิดเหตุ ในสถานีใหญ่จะมีบันได้เลื่อน ๓ ตัว ช่วงไหนมีผู้โดยสารมากก็จะเปิดใช้ทั้งหมด (เช่นขึ้น ๒ ลง ๑ หรือขึ้น ๑ ลง ๒ ขึ้นอยู่กับว่าผู้โดยสารส่วนใหญ่เดินทางในทิศทางไหน
  
รูปที่ ๕ บันได้เลื่อนที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ (ตัวด้านซ้ายสุด) ถ่ายภาพหลังวันเกิดเหตุ จะเห็นว่าทางโถงด้านล่างไม่มีรองร่อยไฟไหม้หรือควันไฟอยู่ตามผนังหรือเพดานเลย

"Coandă effect" เป็นชื่อปรากฏการณ์ที่ตั้งชื่อตามวิทยาศาสตร์ชาวโรมาเนีย (ตัวอักษร a ตัวสุดท้ายของชื่อเขาก็เลยมีเครื่องหมายประหลาดกำกับอยู่ข้างบน) ที่พบว่ากระแสลำเจ็ตของของไหลที่พุ่งออกมาจากหัวฉีด และลำเจ็ตนั้นอยู่ใกล้กับพื้นผิวที่โค้งหรือลาดเอียงที่วางตัวขนาดไปกับทิศทางการฉีด จะทำให้ลำเจ็ตนั้นมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนที่ไต่ไปบนผิวพื้นผิวนั้น แม้ว่าพื้นผิวนั้นจะมีการเปลี่ยนทิศทางก็ตาม
 
ปรากฏการณ์นี้ทำให้แก๊สร้อนที่ออกมาจากใต้บันไดเลื่อน แทนที่จะลอยขึ้นบนสู่เพดาน กลับไหลเฉียงขึ้นไปตามพื้นบันไดเลื่อน ประกอบกับการที่บันไดเลื่อนมีผนังกั้นด้านข้างทั้งสองข้างและมีขนาดไม่กว้าง ทำให้แก๊สร้อนนั้นไม่กระจายตัวออกไปแต่สะสมอยู่บนพื้นผิวบันไดเลื่อนและไหลไต่ขึ้นสู่ด้านบน ทำให้พื้นบันไดเลื่อนที่อยู่เหนือจุดต้นเพลิงมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อย ๆ อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ไม้ที่ใช้เป็นวัสดุทำบันไดเลื่อนเริ่มสลายตัวให้โมเลกุลแก๊สที่ลุกติดไฟได้ออกมา และไหลรวมไปกับแก๊สร้อนที่ลอยเข้าไปในโถงเข้า-ออกตัวสถานี แต่เนื่องจากอุณหภูมิของแก๊สร้อนนั้นยังไม่สูงถึงระดับ autoignition temperature (อุณหภูมิลุกติดไฟได้ด้วยตนเอง) จึงทำให้ยังไม่มีการลุกติดไฟ แต่เมื่อแก๊สร้อนมีอุณหภูมิสูงมากพอ แก๊สเชื้อเพลิงที่อยู่ในแก๊สร้อนนั้นก็เกิดการลุกติดไฟขึ้นทันที ลุกลามเป็นลูกไฟขนาดใหญ่อย่างรวดเร็ว เกิดเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "Flashover"


รูปที่ ๖ สภาพภายในห้องโถงที่เป็นทั้งทางเข้าและทางออก (หลังห้องจำหน่ายตั๋ว) เปลวไฟความร้อนสูงนั้นพุ่งออกมาจากบันไดเลื่อนตัวที่ ๔ ที่อยู่ทางด้านขวาในภาพ เข้าไปกระทบเพดาน สีทาผนังและแผ่นป้ายโฆษณาทำให้เกิดควันดำปกคลุมทั่วบริเวณ มีผู้เสียชีวิตในบริเวณนี้ถึง ๓๑ ราย ทั้งเกิดจากไฟครอกและแก๊สพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ ส่วนบันไดเลื่อนที่ขึ้นมาจากสาย Victoria จะอยู่ทางด้านขวาออกไปอีก (ไม่ปรากฏในรูป)
  
รูปที่ ๗ บันไดเลื่อนรุ่นเก่าของอังกฤษพื้นจะเป็นไม้ ตอนตรวจพบเพลิงไหม้นั้นได้หยุดการทำงานเอาไว้ จะเห็นว่าขั้นบันไดราวบันไดที่อยู่ต่ำกว่าจุดเกิดเพลิงไม้แทบจะไม่ได้รับความเสียหายจากความร้อน ในขณะที่ส่วนที่อยู่สูงขึ้นไปนั้นไหม้เกรียมไปหมด


รูปที่ ๘ รูปนี้ถ่ายจากบันไดเลื่อนหมายเลข ๔ ตัวที่เป็นต้นเพลิง เป็นการมองขึ้นไป แสดงให้เห็นความเสียหายจากความร้อนบริเวณผนังและเพดาน

ตอนที่เห็นภาพปรากฏการณ์นี้จากแบบจำลองคอมพิวเตอร์ ทีมสืบสวนหาสาเหตุก็ยังไม่เชื่อกันว่าจะเป็นไปได้ (ยังคิดว่าคงเขียนโปรแกรมผิด) จนในที่สุดก็มีการสร้างแบบจำลองบันไดเลื่อนย่อส่วนเพื่อทำการเผาจริง ซึ่งผลออกมาก็เป็นการยืนยันสิ่งที่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ทำนายไว้ ผลรวมระหว่าง "Coandă effect" และ "Flashover" ที่เกิดกับบันไดเลื่อนนี้ ทำให้เกิดคำใหม่ขึ้นมาคือ "Trench effect"

ประเด็นถัดมาที่ว่าทำไมเจ้าหน้าที่ของรถไฟใต้ดินจึงไม่มีการลงมือดับเพลิงเบื้องต้น ทำเพียงแค่แจ้งให้หน่วยดับเพลิงทราบและรอให้หน่วยดับเพลิงมาจัดการ คำตอบของคำถามนี้ไปอยู่ตรงที่วิธีการจัดการ แผนการรับมือกับเหตุฉุกเฉิน และการฝึกอบรมพนักงาน แต่สิ่งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ที่ลงไปตรวจสถานที่เกิดเหตุใต้บันไดเลื่อนพบก็คือ มีร่องรอยไฟไหม้ที่เกิดจากจารบีลุกไหม้ก่อนหน้านี้อยู่เป็นจำนวนมาก นั่นแสดงว่าเหตุการณ์ไฟลุกไหม้ใต้บันไดเลื่อนนั้นไม่ใช่เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง แต่ด้วยการที่มันไม่ขยายลุกลามออกไป จึงทำให้เจ้าหน้าที่ไม่คิดว่าเปลวไฟที่เห็นนั้นจะลุกลามจนกลายเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ลุกท่วมสถานี
 
นอกจากนี้ทาง London Underground เองยังไม่มีแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้ (น่าจะเป็นเพราะไม่มีใครคิดว่ามันจะมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นได้) และไม่มีใครเป็นผู้รับผิดชอบภาพรวมของเหตุการณ์เมื่อมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น (หรือเรียกว่าไม่มีการวางตัวหัวหน้าใหญ่สั่งการก็ได้) แต่ถึงมีผู้มีอำนาจตัดสินใจก็คิดว่าการตัดสินใจปิดสถานีและอพยพคนบางทีก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะถ้าหากเกิดขึ้นกับกับสถานีที่เป็นชุมทางใหญ่ (เช่นในเหตุการณ์นี้) และเป็นช่วงชั่วโมงเร่งด่วน (โชคดีที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังผ่านพ้นชั่วโมงเร่งด่วนมาแล้ว)
 
กรณีการเกิดเพลิงไหม้บนแท่นขุดเจาะน้ำมัน Piper Alpha ในทะเลเหนือในเดือนกรกฎาคมหรืออีก ๘ เดือนถัดมา ก็แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดจากการที่ไม่มีผู้มีอำนาจสั่งการตัดสินใจว่าจะให้ทำอย่างไรต่อไป พนักงานที่มารวมตัวกันเพื่อรอรับคำสั่งก็ได้แต่รอไป รอว่าจะมีใครบอกให้ทำอะไรซักอย่าง (จะให้อพยพหนีไฟหรือจะผจญเพลิง) จนในที่สุดแท่นขุดเจาะก็เกิดการระเบิดครั้งใหญ่ มีผู้เสียชีวิตกว่า ๑๖๐ ราย ดังนั้นการกำหนดตัวผู้มีอำนาจสั่งการจึงไม่ควรกำหนดเพียงแค่ว่าใครมีหน้าที่ดังกล่าว แต่ควรมีการกำหนดไปด้วยว่าในกรณีที่บุคคลดังกล่าวไม่อยู่ในสถานที่เกิดเหตุ จะวางตัวให้ใครเป็นผู้มีอำนาจสั่งการแทน


รูปที่ ๙ สภาพความเสียหายต่อผนังและแผ่นป้ายโฆษณาข้างบันไดเลื่อนหมายเลข ๔ 
  
รูปที่ ๑๐ เศษซากที่หลงเหลืออยู่ของห้องขายตั๋ว เมื่อมองจากบันได้เลื่อนที่ขึ้นมาจากสายพิคคาเดลลี่ (ด้านที่เป็นต้นเพลิง)

โครงสร้างที่ซับซ้อนของสถานีส่งผลให้เกิดปัญหาในเรื่องการอพยพผู้โดยสารออกจากสถานีและการหนีไฟออกจากสถานียัง เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าไปตรวจสถานที่ตอนที่ได้รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้นั้นไม่ทราบว่าเส้นทางภายในสถานีนั้นเป็นอย่างไร มีทางเข้าออกเชื่อมต่อกันทางไหนบ้าง แถมวิทยุที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมีนั้นไม่สามารถใช้ติดต่อจากภายในสถานีที่อยู่ใต้ดินออกมาข้างนอกได้ โชคดีที่ไฟและควันไฟนั้นไม่แผ่ขยายลงไปทางด้านล่าง ทำให้ยังสามารถอพยพผู้โดยสารที่ตกค้างอยู่ที่ชานชลาออกไปกับขบวนรถไฟที่ยังมีวิ่งเข้ามายังสถานีอยู่ได้ (มีสาย Norther line ยังคงวิ่งอยู่ ยังไม่ได้รับคำสั่งให้หยุดวิ่ง อาจเป็นเพราะตอนนั้นคงคิดว่าชานชลาของสาย Norther line นั้นอยู่คนละบริเวณกับของ Piccadilly line และ Victoria line และยังมีทางออกทางอื่นอีก) ที่สำคัญคือในช่วงเวลา ๑๕ นาทีระหว่างการได้รับแจ้งเหตุครั้งแรก (ประมาณ ๑๙.๓๐ น) จนถึงเวลาที่เกิด Flashover (ประมาณ ๑๙.๔๕ น) นั้น ไม่ได้มีความพยายามใด ๆ ที่จะใช้เครื่องดับเพลิงฉีดดับเพลิงที่เกิดขึ้นเลย (ในส่วน executive summary ของรายงานการสอบสวนถึงกับใช้คำว่า "not one single drop has been applied to the fire")
  
รูปที่ ๑๑ อีกภาพหนึ่งของสภาพความเสียหายบริเวณสถานที่จำหน่ายตั๋ว


รูปที่ ๑๒ จารบีเก่าและสิ่งสกปรกที่สะสมอยู่ที่ระบบลูกล้อและรางใต้บันไดเลื่อน ปรกติจารบีเป็นสารที่ติดไฟได้ยากอยู่แล้ว แต่เมื่อมีเศษสิ่งสกปรกและเส้นใยต่าง ๆ เข้าไปผสมอยู่ สิ่งเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นเสมือนไส้ตะเกียงที่ทำให้จารบีลุกติดไฟได้ง่ายขึ้น ทำนองเดียวกับเทียนไขที่ต้องใช้ไส้เทียนเพื่อให้เนื้อเทียนนั้นลุกติดไฟได้ง่ายขึ้น (ถ้าสงสัยก็ลองเอาแต่เนื้อเทียนมาจุดไฟดูก็ได้ครับ มันติดไฟยากเว้นแต่ว่าจะมีการให้ความร้อนจนมันหลอมเหลวและระเหยเป็นไอมากพอ) ในสารคดีที่ทางช่อง National Geographic จัดทำกล่าวว่าน่าจะไม่ได้รับการทำความสะอาดมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด (ค.ศ. ๑๙๔๕)


รูปที่ ๑๓ แบบจำลองตัวสถานี ตอนพบเหตุเพลิงไหม้นั้นพบที่บันไดเลื่อนที่มาจากรถไฟสาย Piccadilly จึงได้มีการปิดกั้นทางขึ้นลงด้านนี้และปัดผู้โดยสารให้ไปใช้บันไดเลื่อนของสาย Victoria แทน แต่บันไดเลื่อนทั้งสองทางนั้นก็มาบรรจบที่โถงทางออกเดียวกัน ทำให้ผู้ที่โผล่ขึ้นมาจากบันไดเลื่อนด้านสาย Victoria ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจาก Flash Fire ที่พุ่งขึ้นมาจากบันไดเลื่อนสาย Piccadilly
  
รูปที่ ๑๔ การทดลองว่าไฟเกิดจากก้านไม้ขีดที่หล่นไปในซอกบันไดและไปจุดติดจารบีข้างใต้ได้หรือไม่ การทดลองนี้กระทำในสถานที่เกิดเหตุจริง เพียงแต่ใช้บันไดเลื่อนขั้นที่อยู่ต่ำลงไปที่ไม่ได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้ จุดทิ้งไม้ขีดอยู่ในกรอบสีเขียว ตรงที่ลูกศรสีเขียวชี้
  
รูปที่ ๑๕ การทดลองกับแบบจำลองขนาด ๑ ใน ๑๐ เพื่อหาสาเหตุว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่เปลวไฟนั้นพุ่งเฉียงขึ้นไปตามแนวขั้นบันได แทนที่จะลอยขึ้นเพดานและไต่ไปตามเพดานด้านบน รูปนี้แสดงให้เห็นชัดว่าเปลวไปนั้นแทนที่จะลอยตรงดิ่งขึ้นบน กลับพุ่งเฉียงไปตามแนวขั้นบันได และเมื่อเคลื่อนที่ไปจนสุดบันได ก็จะพุ่งขึ้นไปในรูปของลำแก๊สร้อนตามแนวลูกศรสีเหลือง

รูปภาพต่าง ๆ ในบทความนี้นำมาจากเอกสารการสอบสวนอุบัติเหตุที่นำหน้าปกมาแสดงในรูปที่ ๑ ส่วนแผนผังการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟในรูปที่ ๒ นั้นนำมาจากแผนที่ The London Connections Map สำหรับช่วงเวลา 10 May 1992 - 16 May 1993 ที่ทาง British Rail ทำแจก (บังเอิญผมยังมีเก็บเอาไว้เป็นที่ระลึก)
 
เหตุการณ์นี้มีการนำไปสร้างเป็นสารคดีมีออกฉายทางช่อง National Geographic (หาดูฉบับเต็มได้ทาง YouTube) ในชื่อ "London's Subway Inferno" ที่กลายเป็นชื่อแบบอเมริกันไป (ตรงคำว่า Subway นั่นแหละครับ ดังที่ได้เกริ่นเอาไว้ตอนแรกว่าอังกฤษกับอเมริกานั้นใช้คำสลับกันอยู่)
 
อันที่จริงมีการตั้งสมมุติฐานด้วยว่าสาเหตุที่เปลวไฟพุ่งขึ้นบนอย่างรวดเร็วนั้นเป็นเพราะลมที่เกิดจากการวิ่งของรถไฟเข้ามาในสถานีหรือเปล่า แต่จากการวัดจริงก็ทำให้สมมุติฐานนี้ตกไป กล่าวคือสถานีรถไฟใต้ดินในอังกฤษเขาไม่มีการติดตั้งระบบปรับอากาศ (ตัวรถไฟเขาก็ไม่มีระบบปรับอากาศด้วย) อุโมงค์รถไฟก็มีขนาดใหญ่กว่าตัวรถไฟไม่มาก พอรถไฟวิ่งไปตามอุโมงค์ก็จะอัดอากาศที่อยู่ทางด้านหน้ารถให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้า เวลาที่รถไฟกำลังวิ่งเข้าสถานี คนที่รออยู่ที่ชานชลาจะรู้สึกเลยว่ามีลมพัดแรงออกมาจากในอุโมงค์) และการเคลื่อนที่ของรถไฟไปข้างหน้าก็ทำให้เกิดสุญญากาศขึ้นทางด้านหลัง เพื่อที่จะลดปัญหาดังกล่าวก็จำเป็นต้องมีปล่องระบายอากาศเป็นระยะสำหรับอุโมงค์ที่มีความยาว (ให้อากาศระบายเข้า-ออกที่ปล่องบ้าง ไม่ใช่ให้ไปออกที่ตัวสถานีหมด) โดยตัวสถานีก็ทำหน้าที่เป็นเสมือนปล่องระบายอากาศเช่นกัน ที่บ้านเราต้องทำกำแพงกระจกกั้นก็เป็นเพราะสถานีรถไฟใต้ดินของบ้านเราติดตั้งระบบปรับอากาศ ถ้าไม่มีกำแพงกระจกกั้นก็เรียกว่าอากาศเย็นจากเครื่องปรับอากาศคงถูกลมที่รถไฟอัดเข้ามาในสถานีพัดกระเจิงไปหมด เพราะถ้าไม่มีการติดตั้งระบบปรับอากาศก็สามารถทำกำแพงกั้นสูงเพียงแค่ระดับอกที่สามารถป้องกันคนตกชานชลาก็พอ (แบบสถานีรถไฟลอยฟ้า BTS)

สำหรับฉบับนี้คงจบเพียงแค่นี้

ไม่มีความคิดเห็น: