วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

Draw a conclusion MO Memoir : Wednesday 28 September 2554


บ่ายวานซืนผมได้มีโอกาสได้พบปะกับกลุ่มอาจารย์ที่ทำหน้าที่สอนภาษาอังกฤษให้กับนิสิตคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย ในระหว่างการพบปะนั้นได้มีการขอให้อาจารย์ผู้สอนเปรียบเทียบความสามารถด้านภาษาอังกฤษของนิสิตคณะต่าง ๆ ก็เลยมีการยกตัวอย่างหนึ่งขึ้นมาดังนี้

เรื่องมีอยู่ว่ามีอาจารย์ต่างชาติคนหนึ่งที่ทำหน้าที่สอนภาษาอังกฤษให้กับนิสิตหลักสูตรอินเตอร์ ในการสอบได้ให้บทความนิสิตไปอ่าน และเมื่ออ่านบทความจบแล้วข้อสอบก็บอกให้นิสิต "Draw a conclusion ....."

ตามพจนานุกรม "Oxford Advanced Learner's Dictionary of Current English" ของ A.S. Hornby 4th edition ฉบับปีค.. ๑๙๘๙ ได้ให้ความหมายของคำว่า "draw" ไว้ในสองหัวข้อดังนี้

draw (n) 1. ... (for sth) act of picking at randoms tickets in a lottery, ..
2. result of a game in which neither player or side wins.
3. person or thing that attract people.
4. act of drawing at a cigarette, pipe, etc.

draw (v) 1. make (pictures or a picture of sth) with a pencil, etc.
2. move in a specified direction
3. pull or guide
4. ..........................

และได้ให้ความหมายของคำว่า "drawing" ไว้ว่า
drawing (n) the art of representing objects, scenes, etc by lines, with a pencil, chalk, etc.

คำว่า draw ที่เป็นคำกริยาในความหมายที่มีลักษณะในทำนองว่า "ดึง" นั้น เมื่อใช้กับบทความ การอภิปรายผล การประชุม ฯลฯ จะหมายถึงให้ดึงเอาผลสรุป/ข้อสรุปออกมา หรือในบางครั้งเวลาที่เราเขียนวิทยานิพนธ์เราก็อาจเขียนว่า "From the reasons explained above, the following conclusions can be drawn ....." เมื่อใช้กับการแข่งขันกีฬาจะหมายความว่าผลออกมาเสมอกัน และยังใช้กับการจับฉลากอีกด้วย

ศัพท์ภาษาอังกฤษมีหลายคำที่เขียนเหมือนกัน ออกเสียงเหมือนกัน แต่มีความหมายต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าในขณะนั้นใช้กับเรื่องอะไรอยู่ ในบางครั้งผมคิดว่าคนไทยเราไปถอดคำออกมาผิด ๆ และใช้ต่อ ๆ กันมาโดยไม่ดูว่าที่ใช้อยู่นั้นมันถูกต้องหรือไม่ ตัวอย่างหนึ่งคือ "Watch glass" ที่มีลักษณะเป็นแผ่นกระจกกลมโค้งนูน (หรือเว้า) ที่เราใช้ปิดบีกเกอร์เวลาต้มสารในห้องแลปเคมี คำ ๆ นี้มีคนแปลว่า "กระจกนาฬิกา" และเราก็ใช้ต่อ ๆ กันมา ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นการแปลที่ผิด เพราะความหมายมันไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการใช้งานเลย และกระจกนาฬิกาก็ไม่ได้มีรูปร่างเช่นนั้นด้วย

คำว่า "Watch" ยังมีอีกความหมายอีกความหมายหนึ่งคือ "เฝ้าดู, ดู, คอยดู" ซึ่งถ้าใช้ความหมายนี้จะให้ภาพที่ตรงกับการใช้งานจริงของกระจกดังกล่าว

ในการสอบนั้นปรากฏว่ามีนิสิตกว่าสิบราย "วาดรูป" ข้อสรุปออกมา

วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

ห้องไหนกันแน่ MO Memoir : Tuesday 27 September 2554


บ่ายวันนี้ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ห้อง ๔๐๙ อาคาร ๓

พอไปถึงก็พบว่ามีห้อง ๔๐๙ อยู่สองห้องดังรูปข้างล่าง ห้องซ้ายเป็นห้องเรียน ห้องขวาเป็นห้องน้ำหญิง


แล้วผมควรไปที่ห้องไหนดีล่ะ

วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๒ (ตอนที่ ๓๖) MO Memoir : Monday 26 September 2554


ในที่สุดการสอบปกป้องวิทยานิพนธ์เช้าวันนี้ก็ผ่านไปด้วยดี ก็ขอแสดงความยินดีกับทั้งสองคน (สาวน้อยร้อยห้าสิบเซนต์และสาวน้อยผมยาวจากชายแดนใต้) ที่ผ่านการสอบไปได้อย่างไม่ยากเย็นอะไร ดังนั้นบันทึกฉบับนี้ก็จะเป็นฉบับปิดท้ายบันทึกเรื่อง "แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๒ (ตอนที่ ...)" ส่วนทั้งสองคนที่สอบจบไปนั้นผมก็จะยังคงส่ง memoir ให้ไปจนกว่าจะถึงวันรับปริญญา แต่ถ้าต้องการให้งดส่งก่อนหน้านั้นก็บอกมาได้เลยนะ ไม่ต้องเกรงใจ

ครั้งนี้เป็นครั้งที่สามที่ผมมีนิสิตสอบจบในเทอมแรก ครั้งแรกเป็นเมื่อปี ๒๕๓๙ ซึ่งเป็นนิสิตที่รุ่นแรกของผมที่จบสองปีครึ่ง ครั้งที่สองเป็นนิสิตปริญาเอก (ที่มีเพียงคนเดียวและคงมีเพียงคนเดียว) ส่วนครั้งนี้เป็นกรณีที่เข้าเรียนเทอมปลายก็เลยต้องมาจบสองปีในเทอมต้น สาเหตุที่ครั้งนั้นมีการรับเข้าเทอมปลายก็เพราะที่รับไว้ในเทอมแรกเหลือมาเรียนเพียงคนเดียว (คือสาวน้อยหน้าใสจากบางละมุง)

รายละเอียดสิ่งที่ต้องแก้ไขได้เขียนไว้ในวิทยานิพนธ์ที่ส่งกลับคืนไปให้แล้ว หวังว่าคงจะแก้ไขเสร็จทันภายในศุกร์หน้า (๗ ตุลาคม) เพราะสัปดาห์ถัดไปพวกผมจะไปสัมมนาต่างจังหวัดกันหมด

ในการสอบครั้งนี้เราได้บทเรียนบางบทเรียนที่รุ่นถัดไปควรต้องนำไปพิจารณา ซึ่งผมขอสรุปสั้น ๆ ดังนี้

. กรณีของสาวน้อยผมยาวจากชายแดนใต้

ในกรณีของสาวน้อยผมยาวจากชายแดนใต้นั้น อันที่จริงได้มีการทำการทดลองซ้ำบางการทดลองเพื่อตรวจดูว่าผลการทดลองนั้นเชื่อถือได้หรือไม่ แต่ไม่ได้ทำการทดลองซ้ำทุกอัน แต่กลับไปตอบกรรมการในตอนแรกว่าไม่มีการทำการทดลองซ้ำ ซึ่งคำตอบเช่นนี้ส่งผลให้เกิดความสงสัยในเรื่องความน่าเชื่อถือของข้อมูลได้ ซึ่งถ้าบอกไปแต่ต้นว่าอันที่จริงมีการทดลองซ้ำบางผลการทดลอง (แม้ว่าตัวเลขจะไม่เหมือนกัน 100% แต่ก็ใกล้เคียงกัน) ก็จะทำให้ข้อสงสัยของกรรมการน้อยลงไปเยอะ

อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องขอบอกว่าทำได้ดี แต่คงจะดีกว่านี้ถ้าหากว่าจะพูดช้าลงนิดหน่อย และเน้นย้ำประเด็นสำคัญที่ทำให้ผลการทดลองดูเหมือนขัดแย้งกัน คือการที่เราบอกว่าถ้าเราเพิ่มปริมาณโทลูอีนที่ละลายเข้าไปในน้ำได้ การเกิดปฏิกิริยาก็จะดีขึ้น แต่ถ้าละลายเข้าไปมากเกินไป โทลูอีนก็จะเข้าไปปกคลุมพื้นผิวตัวเร่งปฏิกิริยามากเกินไป การเกิดปฏิกิริยาก็จะแย่ลง

ส่วนเรื่องการเกิด protonated toluene นั้นผมอธิบายกับกรรมการในระหว่างการประชุมว่า การเกิด protonated toluene นั้นมักปรากฏในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ super acid (กรดแก่มากเป็นพิเศษ) ส่วนในกรณีของเรานั้นคิดว่ามีไอออน H+ บางไอออนเท่านั้น (หรือเพียงส่วนน้อย) ที่สามารถเข้าทำปฏิกิริยากับ toluene กลายเป็น protonated toluene ได้ การที่เราเพิ่มความเข้มข้นของกรดในสารละลายก็เป็นการเพิ่มโอกาสที่จะเกิด protonated toluene เพิ่มมากขึ้น

. กรณีของสาวน้อยร้อยห้าสิบเซนต์

กรณีของสาวน้อยร้อยห้าสิบเซนต์จะเห็นว่ามีปัญหาเรื่องความคมชัดของสไลด์ เพราะใช้พี้นที่เป็นสีสว่างและใช้ตัวอักษรที่เป็นสีสว่างด้วย ทำให้อ่านตัวอักษรไม่ชัด นอกจากนี้ยังมีการใช้เส้นกราฟสีสว่างบนพื้นที่สว่าง (เช่นสีเหลืองบนพื้นสีฟ้าหรือสีขาว) ทำให้กรรมการอ่านกราฟไม่ชัดด้วย ทางที่ถูกคือถ้าเลือกพื้นเป็นสีสว่าง ก็ควรเลือกตัวอักษรหรือเส้นกราฟเป็นสีมืด ในทางกลับกันถ้าเลือกพื้นหลังเป็นสีมืด ก็ให้เลือกตัวอักษรหรือเส้นกราฟเป็นสีสว่าง

ประเด็นหนึ่งที่มีการพูดถึงแต่ไม่มีการชี้ให้เห็นชัดในการนำเสนอหรือวิทยานิพนธ์คือ การที่บอกว่าภาวะที่เราใช้ในการทำปฏิกิริยานั้นแตกต่างไปจากที่มีการวิจัยก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในส่วนของปริมาณออกซิเจนและไอน้ำ ดังนั้นในการแก้ไขวิทยานิพนธ์จึงควรเพิ่มรายละเอียดตรงนี้เข้าไปด้วยว่า งานที่ผ่านมาในอดีตนั้นทำการทดลองโดยมีออกซิเจนและไอน้ำเข้มข้นเท่าใด ถ้ามีสักหนึ่งร้อยเรื่องก็ให้รายละเอียดทั้งหนึ่งร้อยเรื่องเลย ไม่ต้องกังวลว่าถ้าใส่เข้าไปแล้วจะทำให้วิทยานิพนธ์มันยาวขึ้น เพราะมันเป็นการแสดงให้เห็นว่าที่เราไปตรวจสอบงานในอดีตนั้น ยังไม่มีใครเคยทำการทดลองในภาวะที่เราได้ทำ

หวังว่าในเดือนเมษายนปีหน้าเราคงได้มีโอกาสฉลองเช่นนี้กันอีก (อะไรอยู่ในแก้วเอ่ย)


วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๔ บ้านห้วยเนียม ต.น้ำไผ่ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ MO Memoir : Tuesday 20 September 2554


ตอนจบปี ๒ คณะจะทำการเปลี่ยนหลักสูตรโดยจะให้ทางคณะพาณิชยศาตร์และการบัญชีสอนวิชาสถิติให้นิสิตวิศวะ ซึ่งในขณะนั้นทางคณะวิทยาศาสตร์เป็นผู้สอนอยู่

โดยหลักสูตรสาขาวิชาของผมเองนั้น วิชาสถิติมันเรียนตอนปี ๓ ผมเองก็ไม่อยากไปเรียนตัวใหม่ที่ทางบัญชีเป็นผู้สอน เรื่องทั้งเรื่องก็เป็นเพราะไม่รู้ว่าจะยากหรือจะง่าย แนวข้อสอบจะเป็นอย่างไร ไม่เหมือนของเก่าที่เราตุนข้อสอบเก่าจากรุ่นพี่เอาไว้ หน้าร้อนปี ๒๕๒๙ ก็เลยลงเรียน summer ซะ ๑ เทอม คือลงวิชาสถิติที่สอนโดยคณะวิทยาศาสตร์ เพราะถ้าไม่ลงตอนนั้น พอเปิดเทอมใหม่ก็จะไม่มีให้เรียน ต้องไปเรียนตัวใหม่ที่ทางบัญชีเป็นผู้สอน

และระหว่างเรียนภาคฤดูร้อนนี้เอง ที่ผมได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมค่ายยุววิศวกรบพิธ

ค่ายที่ทำกันคือการไปสร้างสิ่งก่อสร้างที่อำนวยความสะดวกให้กับชุมชนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาน อาจารย์ผู้หนึ่งเล่าให้ฟังว่าสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในการไปก่อสร้างคือพวกฝายและเขื่อนทดน้ำ เพราะเป็นเรื่องที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนที่อยู่ต้นน้ำและปลายน้ำได้ ดังนั้นสิ่งก่อสร้างที่มักจะไปทำถ้าไม่เป็นพวกอาคารก็จะเป็นสะพาน

ในฤดูร้อนปีพ.ศ. ๒๕๒๙ ค่ายยุววิศวกรบพิธ ๑๔ เป็นการสร้างสะพานขึง (cable stayed bridge) ที่บ้านห้วยเนียม ต.บ้านไผ่ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์

ว่ากันว่าที่เลือกสร้างสะพานขึงนั้นเป็นเพราะว่าตอนนั้นในกรุงเทพกำลังมีการสร้างสะพานพระราม ๙ อยู่ สะพานพระราม ๙ จะเปิดใช้ในปีพ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งจะเป็นสะพานขึงที่มีช่วงระหว่างเสายาวที่สุดในโลก ทางค่ายก็เลยเลือกสร้างสะพานให้เป็นสะพานขึงเพื่อชิงเปิดตัดหน้าสะพานพระราม ๙ แต่ที่แตกต่างกันคือสะพานพระราม ๙ เป็นสะพานขึงระนาบเดียว คือมีสายเคเบิลยึดระหว่างเสากับตัวสะพานที่บริเวณตรงส่วนกลางของแนวยาวของสะพาน ส่วนสะพานที่ทางค่ายจะสร้างนั้นเป็นสะพานขึงระนาบคู่ คือมีสายเคเบิลยึดระหว่างเสากับตัวสะพานตลอดความยาวขนาบข้างทางด้านซ้ายและขวา

แต่ผมว่าที่ทางค่ายเลือกสร้างสะพานแบบนี้เป็นเพราะลักษณะภูมิประเทศมันบังคับมากกว่า คือตำแหน่งที่จะสร้างสะพานเชื่อมนั้นค่อนข้างลึก และในฤดูน้ำหลากจะมีน้ำไหลเชี่ยวมามาก ดังนั้นถ้าสร้างสะพานขึงโดยวางตำแหน่งเสาไว้ใกล้ชายฝั่งทั้งสองฟาก ตอนกลางของร่องน้ำก็จะไม่มีอะไรไปขวางกั้น น้ำจะได้ไหลได้สะดวก ในหน้าแล้งชาวบ้านสองฝั่งจะเดินข้ามร่องนี้ไปมาหาสู่กันได้ แต่พอช่วงน้ำหลากก็จะไม่สามารถติดต่อกันได้ ดังนั้นถ้ามีสะพานเชื่อมสองฝั่งก็จะทำให้ชาวบ้านทั้งสองฝั่งสามารถไปมาหาสู่กันได้ตลอดทั้งปี

งานที่ผมเข้าไปร่วมทำเป็นงานที่ทำที่กรุงเทพ คือทำหน้าที่เชื่อมเสาสะพาน เสาสะพานมีสองส่วน ส่วนล่างเป็นตอม่อคอนกรีตที่ต้องไปก่อสร้างกันที่หน้างาน ส่วนที่ผมทำหน้าเป็นเสาเหล็กที่จะนำไปติดตั้งบนต่อม่อคอนกรีตอีกที

เสาเหล็กนั้นจะใช้เหล็กรูปตัวซี (ขนาดน่าจะสักประมาณ 8-10 นิ้ว จำไม่ได้แน่ชัด) ยาวประมาณ ๓ เมตรมาประกบกันให้เป็นรูปสี่เหลี่ยม ตรงขอบที่จะประกบกันนั้นจะทำการเจียรเพื่อให้แนวประกบนั้นเป็นรูปตัววี (V) เวลาเอามาวางประกบกันก็จะเว้นช่องว่างไว้เล็กน้อย ขนาดประมาณเส้นผ่านศูนย์กลางของลวดเชื่อม เวลาเชื่อมก็จะเชื่อมหัวท้ายทั้งด้านบนและด้านล่างและเชื่อมตรงกลาง ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบิดตัวจนเสาคดโก่ง จากนั้นจึงเดินรอยเชื่อมรอยล่างสุดให้เต็มแนวก่อน รอยล่างสุดนี้สำคัญสุดเพราะรอยเชื่อมต้องซึมลึกตลอดพอดี ไม่น้อยเกินไปหรือไม่มากเกินไป ซึ่งตรงนี้ขึ้นอยู่กับการตั้งกระแสไฟฟ้า (ที่ใช้ตอนนั้นดูเหมือนสักประมาณ 80-100 A) จากนั้นจึงค่อยเติมเต็มผิวบนให้เต็มแนว

ส่วนตัวสายเคเบิลนั้นก็ไม่ได้ใช้สายเคเบิล แต่ใช้เหล็กข้ออ้อย ถ้าจำไม่ผิดดูเหมือนจะใช้วิธีการกลึงเกลียวที่ปลายท่อนเหล็ก และใช้วิธีต่อเข้าด้วยกันด้วยข้อต่อเกลียวที่สามารถปรับการขันให้ตึงหย่อนได้ดังต้องการ

สถานที่ที่ทำงานก็เป็นถนนหน้า work shop อยู่ระหว่างหน้า work shop กับห้องน้ำสามแสน ซึ่งปัจจุบันอาคาร work shopนี้ถูกทุบไปแล้วและสร้างเป็นอาคาร ๔ ขึ้นมาแทน ส่วนห้องน้ำสามแสนก็ถูกทุบทิ้งไปเมื่อไม่นานนี้เพื่อสร้างเป็นอาคาร ๑๐๐ ปี

ความรู้ที่ได้จากการทำค่ายครั้งนั้นช่วยผมไว้มาก เพราะพอจบไปทำงานก่อสร้างผมบังเอิญต้องไปดูแลงานวางท่อโรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเชื่อมท่อเป็นอย่างมาก

พอเชื่อมชิ้นส่วนได้มากพอแล้ว ก็จะทำการลำเลียงทางรถบรรทุกไปยังค่ายที่ จ.อุตรดิตถ์

ตอนนั้นผมได้หน้าที่นำชิ้นส่วนงานเชื่อมลอตหนึ่งไปส่งที่ค่าย รถที่นั่งไปนั้นเป็นรถบรรทุก ๖ ล้อรุ่นเก่า (ดูเหมือนจะมีฉายาว่าหน้า "แป๊ยิ้ม") ที่มีเครื่องยนต์วางอยู่ข้างหน้าคนขับ (หน้ายื่นออกมาแบบรถเก๋ง) ที่นั่งและพนักพิงเป็นไม้แผ่นวางตั้งฉาก ไม่มีประตู นั่งไปกันสามคน ผมนั่งกลางระหว่างคนขับกับรุ่นพี่อีกคนหนึ่ง ออกจากมหาวิทยาลัยตอนหัวค่ำ แรก ๆ ก็ดูสนุกดี พอพ้นดอนเมืองเข้ารังสิตก็มืดไปหมดแล้ว มีแต่ไฟแสงสว่างของร้านอาหารข้างทาง ตอนนั้นถนนพหลโยธินช่วงนี้ก็มีแค่ ๔ ช่องทางจราจร (ไป-กลับข้างละสอง) คนขับก็ขับไปตามกำลังรถที่จะไปได้ คือ ๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง หลับ ๆ ตื่น ๆ ไปไม่รู้กี่เที่ยว จนกระทั่งหลังเที่ยงคืนจึงมีการแวะพักกินข้าวกันที่พิษณุโลก

ออกจากพิษณุโลกเริ่มมีฝนตกเป็นช่วง ๆ ผมกับพี่ที่ไปด้วยก็นั่งสัปหงกกันต่อ จังหวะหนึ่งคนขับก็หยิบยามาเม็ดหนึ่ง กินเข้าไปแล้วก็หันมาถามผมกับพี่ว่า "จะเอาบ้างไหม" พร้อมกับส่งมาให้ ๑ เม็ด เท่านั้นแหละทั้งผมและพี่ก็ตาสว่างเลย ก็คนขับเล่นล่อม้า (ยาบ้าในปัจจุบันนั่นแหละ) ให้ดูกันต่อหน้าต่อตา แต่ถึงกระนั้นพอรุ่งเช้าเราก็ไปถึงอ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์จนได้

ของที่ขนไปกับรถนั้นต้องให้รถของกรมทางหลวงขนต่อไปให้ที่ค่าย เพราะทางไปค่ายนั้นเป็นทางลูกรังขึ้นเขา ในปีนั้นสถานที่ที่ไปออกค่ายนั้นยังเป็นพื้นที่สีชมพู (ไม่ได้หมายความว่าเป็นพื้นที่ของจุฬานะ แต่หมายถึงเป็นพื้นที่ที่มีการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์ค่อนข้างรุนแรง ถ้ารุนแรงมากจะเป็นพื้นที่สีแดง) การลำเลียงสิ่งที่อาจนำไปใช้เป็นปัจจัย (เช่นน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เราจำเป็นต้องนำไปใช้กับเครื่องปั่นไฟฟ้าสำหรับเครื่องเชื่อม) จะถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่เป็นพิเศษ ผมกับรุ่นพี่จะขึ้นไปค่ายก่อน โดยจะอาศัยรถสองแถวเดินทางขึ้นไป ตอนนั้นหมู่บ้านดังกล่าวจะมีรถสองแถววันละเที่ยว คือตอนเช้าจะออกจากหมู่บ้านมายังอำเภอ และรับคนกลับไปยังหมู่บ้านอีกที

เท่าที่จำได้คือทางไปหมู่บ้านนั้นเป็นทางลูกรังบนเขา ไม่มีป้ายบอกว่าข้างหน้าเป็นโค้งอันตราย (เพราะมันเป็นเกือบทุกโค้ง) ไม่มีเสาบอกว่าข้างทางเป็นเหว (เพราะเป็นที่รู้กัน) อุปกรณ์ประจำรถที่ต้องมีคือโซ่พันล้อ เพราะถ้าฝนตกจะถนนเปียกเมื่อไร ก็ต้องหยุดรถเพื่อเอาโซ่มาพันล้อทั้งสี่ก่อน เพื่อให้ล้อมันเกาะถนน ไม่เช่นนั้นถ้าตกหล่มก็ขึ้นไม่ได้ หรือไม่ก็ลื่นไถลออกนอกเส้นทางได้ 
 
เนื่องจากคืนก่อนหน้ามีฝนตก ดังนั้นระหว่างทางขึ้นไปจึงมีบางช่วงที่ถนนเป็นเลน รถสองแถวต้องหยุดรถเพื่อพันโซ่ล้อ เวลาผ่านหลุมบ่อบางแห่งผู้โดยสาร (ผู้ชายตัวหนัก) ก็ต้องมายืนขย่มที่ท้ายรถเพื่อกดให้ล้อรถจมลงไปสัมผัสกับพื้นแข็งที่อยู่ข้างล่าง รถจะได้เดินทางต่อไปได้ หรือไม่ก็ต้องลงมาช่วยกันเข็นรถให้พ้นหลุม

ฝีมือเชื่อมเหล็กของผมก็ทำได้เฉพาะการเชื่อมในแนวนอนกับชิ้นงานที่วางราบอยู่บนพื้น จะให้ไปเชื่อมแนวตั้ง แนวดิ่ง หรือแนวระนาบของชิ้นงานที่วางตั้งฉากอยู่กับพื้น ก็ไม่อยากทำ เพราะไม่อยากให้คนอื่นเขาเดือดร้อน ไปอยู่ค่ายก็เลยไปเป็นลูกมือทำงานอื่น เช่นไปช่วยพวกสำรวจส่องกล้องตั้งแนวเสา (ผมส่องไม่เป็นหรอก แต่ให้ช่วยแบกของก็พอทำได้) ตกกลางคืนก็นอนดูดาว อยู่ที่โน่นได้เจ็ดวันก็เดินทางกลับกรุงเทพเพื่อกลับมาทำงานเชื่อมเหล็กต่อ ซึ่งตอนนั้นก็เหลือไม่มากแล้ว

ผมได้กลับที่นั่นอีกทีตอนงานเปิดสะพาน บริเวณข้าง ๆ ตอม่อคอนกรีตก็มีการเอาต้นไม้มาปลูก (ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นไผ่) เพื่อให้ช่วยลดความเร็วของสายน้ำที่จะมาปะทะตอท่อสะพานเวลาน้ำหลาก และป้องกันสิ่งของที่พัดพามากับน้ำปะทะเข้ากับตอม่อสะพานโดยตรง (ให้กอไผ่รับเอาไว้ก่อน) ความแข็งแรงของสะพานนั้นตอนที่สร้างกันอยู่ก็กะว่าเพื่อให้คนเดินข้าม ไม่ได้กะให้มีรถยนต์วิ่งผ่าน แต่บังเอิญวันนั้นมีรถปิ๊คอัพคันหนึ่งวิ่งไปบนสะพาน พวกผมก็ยืนดูกัน รุ่นพี่คนหนึ่งก็พูดขึ้นมาว่า "เออ ดีเหมือนกัน มีคนช่วยทดสอบว่าสะพานมันแข็งแรงหรือเปล่า" และรถคันดังกล่าวก็ผ่านไปได้อย่างปลอดภัย

คืนนั้นในหมู่บ้านก็มีการจัดงานรี่นเริงกัน งานหนึ่งคือมีรายการ "สาวรำวง" คือจะมีการกั้นลานด้วยเชือก ในลานนั้นจะมีสาว ๆ แต่งตัวสวย ๆ (เรียบร้อยแบบชาวบ้านและไม่โป๊) นั่งรออยู่ คนจะเข้าไปรำวง (ก็มักจะเป็นหนุ่ม ๆ) ก็จะต้องซื้อบัตรแล้วไปเลือกว่าอยากจะรำวงกับสาวคนไหน เขาจะเปิดให้เขาเป็นรอบ ๆ พอหมดรอบก็ต้องออกมา อยากจะรำใหม่ก็ต้องไปซื้อบัตรใหม่ พวกผมไปในฐานะกลุ่มคนที่สร้างสะพาน ก็เลยได้เข้าไปร่วมรำวงฟรีโดยไม่ต้องซื้อบัตร (ทั้ง ๆ ที่รำไม่เป็น) นั่นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตของผมที่ได้มีโอกาสเห็นงานรื่นเริงที่เรียกว่า "สาวรำวง" 
 
เปิดสะพานเสร็จแล้วก็กลับมาเรียนหนังสือต่อกันที่กรุงเทพ เพราะมันเปิดเทอมแล้ว

นั่นเป็นเรื่องเมื่อหน้าร้อนปีพ.ศ. ๒๕๒๙ หรือเมื่อ ๒๕ ปีที่แล้ว



รูปที่ ๑ รูปสองรูปนี้เอามาจาก face book ของพี่คนหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า Tien เป็นสะพานขึงที่ชาวค่ายยุววิศวกรบพิธ ๑๔ ไปสร้างเอาไว้เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๒๙ เพื่อนผมคนหนึ่งเอามาเผยแพร่ใน facebook ของรุ่น ทำให้นึกถึงเรื่องต่าง ๆ ที่เคยทำไว้ในสมัยนั้น ภาพดังกล่าวดูเหมือนจะนำมาจากคลิปข่าวของโทรทัศน์ช่อง 9

อีก ๒๐ ปีถัดมาผมก็ได้มีโอกาสโฉบไปเที่ยวภาพเหนือทางซีกแถวนั้นอีก แต่ก็ไม่ได้แวะไปที่อุตรดิตถ์ ไปแต่จังหวัดที่อยู่เหนือขึ้นไปหรือไม่ก็ต่ำลงมา อีกอย่างคือไปกับครอบครัว ครั้งจะขับรถพาครอบครัวไปเพื่อไปดูสะพานที่เคยไปสร้างไว้สมัยเรียนหนังสือ คนอื่นก็ไม่รู้ว่าจะดูทำไม ที่สำคัญก็คือจำไม่ได้แล้วว่าสะพานที่เคยไปออกค่ายนั้นอยู่ที่ไหน จำได้เพียงแค่ชื่ออำเภอและชื่อจังหวัด

จนกระทั่งเมื่อวานได้เห็นเพื่อนคนหนึ่งโพสเอาไว้ใน facebook ของรุ่นว่าไปเห็นรูป ๒ รูปในหน้า facebook ของรุ่นพี่คนหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพสะพานขึงที่ได้มีโอกาสร่วมในการก่อสร้าง ภาพดังกล่าวดูเหมือนจะนำมาจากคลิปข่าวของโทรทัศน์ช่อง 9 หลังเหตุการณ์โคลนถล่ม ภาพแสดงให้เห็นสะพานที่ยังคงใช้การได้อยู่ แต่ถูกกระแสน้ำพัดจนทำให้สะพานที่วางไว้ในแนวตรงนั้นบิดเบี้ยวไป
ผมก็เลยลองใช้คำว่า "ยุววิศวกรบพิธ 14" ค้นหาใน google ดู ก็เลยได้ไปเห็นข่าวในรูปที่ ๒ ข้างล่าง


รูปที่ ๒ ข่าวนี้นำมาจากเว็บไทยรัฐออนไลน์ คอลัมน์เทียบท่าหน้า ๓ ฉบับวันพุธที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๔ เรื่อง "รอซ่อม" แต่ผมมาเซฟหน้านี้เอาไว้เมื่อวาน ที่ทำให้ระลึกถึงเหตุการณ์ประทับใจต่าง ๆ เมื่อ ๒๕ ปีก่อนหน้านั้นคือข้อความในกรอบสีแดง

ตอนนี้ก็เห็นพวกพี่ ๆ ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการก่อสร้างครั้งนั้นมีการติดต่อกันทาง facebook เรื่องไปสำรวจความเสียหายของสะพานดังกล่าวแล้ว

ผมเขียนเรื่องนี้เพื่อบันทึกเสี้ยวหนึ่งของเหตุการณ์ที่ตัวเองได้ไปมีส่วนร่วมเมื่อ ๒๕ ปีที่แล้ว เพื่อไม่ให้เลือนหายไปกับความทรงจำของคนรุ่นนั้นหมดสิ้น

วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๓๔ ปัญหาเตาให้ความร้อน MO Memoir 2554 Sep 17 Sat


ปัญหาเตาของกลุ่ม DeNOx ที่พบว่าต้องเร่งความต่างศักย์ให้สูงขึ้นเพื่อให้ทำอุณหภูมิให้ได้สูงดังต้องการนั้นดูเหมือนว่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนที่แล้ว


มีคนบอกผมว่าเขาแจ้งผมตั้งแต่เดือนที่แล้ว (ผมจำไม่ได้ว่าใครเป็นคนบอกและบอกเมื่อใด เพราะเดือนนั้นมีเรื่องวุ่นวายหลายต่อหลายอย่าง) แล้วเขาก็บอกว่าผมบอกให้เพิ่มความต่างศักย์ให้สูงขึ้นเพื่อให้ได้อุณหภูมิดังต้องการ
ผมพึ่งจะมาเฉลียวใจในสัปดาห์นี้เมื่อได้ยินสาวน้อยหน้าบานบอกว่าเตาให้ความร้อนมันเสีย มันไม่ค่อยร้อน ก็เลยคิดว่าวันรุ่งขึ้นจะมาตรวจสอบสักหน่อย
 
แต่ปรากฏว่าในวันรุ่งขึ้นกลับมีสาวน้อยร่างสูงมาใช้ทำการทดลอง และบอกผมว่ามันยังใช้งานได้อยู่ ผมก็เลยงงว่าตกลงว่าเรื่องมันเป็นยังไงกันแน่

 
เรื่องที่สอบถามได้ความคือเตามันร้อนขึ้นช้า ซึ่งทำให้ผมสงสัยว่าขดลวดความร้อนที่มีอยู่ ๒ ตัวนั้นคงจะขาดไปตัวหนึ่ง ก็เลยคิดว่าจะให้หยุดการทดลองเพื่อซ่อมเตาก่อน เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้จะทำให้ขดลวดอีกตัวขาดตามไปด้วย เพราะต้องจ่ายไฟให้ขดลวดตัวที่เหลือมากขึ้นเพื่อให้ร้อนเท่าเดิม

 
แต่พบสอบถามกลับมากลับพบว่ามีแต่คนจะขอใช้ก่อนเพราะต้องรีบทำงานส่ง (ทำนองว่าถ้ายังใช้งานได้ฉันก็ขอใช้ก่อน เพื่อจะได้มีงานส่ง เพราะถ้าหยุดซ่อมก็จะทำให้ไม่มีงานส่ง คงถูกด่าแน่ ๆ) แล้วค่อยหยุดซ่อมในคิวคนถัดไป (ซึ่งจะต้องสูญเสียคิวในการทำงานเพื่อหยุดซ่อม เพราะพอซ่อมเสร็จก็จะถึงคิวทำงานของคนอื่นต่อ)

 
ตอนแรกก็โมโหอยู่เหมือนกัน แต่สักพักก็ทำใจคิดได้ว่าก็ดีเหมือนกัน ปล่อยให้เครื่องเสียไปเลยก็ดี จะได้ทำแลปกันไม่ได้ จะได้ไม่มีงานส่งบริษัท แล้วจะรอดูว่าที่ชอบนัดบริษัทมาคุยกันบ่อย ๆ จะเอาอะไรไปเสนอเขา นอกจากนี้ผลการทดลองการวัดความว่องไวตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำกันในช่วงนี้ก็คงจะมีปัญหาแน่ เพราะ reactor มันร้อนเพียงซีกเดียว



รูปที่ ๑ (ซ้าย) เตาตัวที่มีปัญหา และ (ขวา) ต้นตอของปัญหาคือสายไฟข้างหลังหลุด (ในวงแดง)

เตาให้ความร้อนของเรานั้นใช้ขดลวดความร้อนสองเส้น ให้ความร้อนสองฝั่งของ reactor (รูปที่ ๑ ซ้าย) โดยมีเทอร์โมคับเปิลสอดอยู่ตรงกลาง reactor เพื่อวัดอุณหภูมิใต้ bed ตัวเร่งปฏิกิริยา 
 

ซึ่งในภาวะปรกตินั้นเมื่อขดลวดความร้อนทำงานพร้อมกันทั้งสองเส้น ก็พอจะถือได้ว่าอุณหภูมิผนังรอบ ๆ reactor นั้นมีความสม่ำเสมอ และพอประมาณได้ว่าอุณหภูมิตลอดพื้นที่หน้าตัดของ bed นั้นเท่ากัน (แม้ว่าในความเป็นจริงตรงกลางอาจจะเย็นกว่าได้เล็กน้อยเนื่องจากการไหลของแก๊ส) อุณหภูมิที่เทอร์โมคับเปิลอ่านได้นั้นจะไม่สูงเกินอุณหภูมิที่ผนังท่อ
 
แต่ถ้าขดลวดความร้อนทำงานเพียงซีกเดียว เตาจะร้อนเพียงข้างเดียว อีกข้างจะเย็นกว่า ดังนั้นแก๊สที่ไหลผ่านทางด้านผนังที่ร้อนจะเกิดปฏิกิริยาด้วยอัตราการเกิดปฏิกิริยาที่แตกต่างไปจาก อุณหภูมิที่เทอร์โมคับเปิลอ่านได้จะต่ำกว่าอุณหภูมิผนังด้านที่ขดลวดความร้อนทำงาน แต่อาจจะสูงกว่าอุณหภูมิผนังด้านที่ขดลวดความร้อนไม่ทำงาน (รูปที่ ๒)


รูปที่ ๒ ภาพตัดขวางของ reactor รูปซ้าย ถ้าขดลวดความร้อนทำงานทั้งสองข้าง ผนังของ reactor จะมีอุณหภูมิที่สม่ำเสมอ ส่วนรูปขวา ถ้าขดลวดความร้อนด้านขวาไม่ทำงาน (เนื่องจากไม่มีไฟฟ้าไหลเข้า) ผนังทางด้านขวาจะเย็นกว่าทางด้านซ้าย และทำให้แก๊สที่ไหลผ่านทางด้านขวาเย็นกว่าแก๊สที่ไหลผ่านทางด้านซ้าย

ผมจึงบอกสาวน้อยหน้าบาน (ทางโทรศัพท์) ไปว่าถ้าจะทดสอบวัดการดูดซับ SO2 ก็พอทำได้ แต่ไม่ควรจะทำการทดลองวัดความว่องไวของตัวเร่งปฏิกิริยา เพราะอาจมีปัญหาเรื่องผลการทดลอง ถ้าจะทำการทดสอบตัวเร่งปฏิกิริยาเมื่อใดก็ควรต้องซ่อมเตาก่อน


เมื่อวานซืนตอนเช้าแวะเข้าไปดูเตาก่อนที่สาวน้อยหน้าบานจะมาถึง ลองเปิดเตาดูว่าขดลวดข้างในมันขาดหรือเปล่า ก็ไม่เห็นอะไร ก็เลยคิดว่าจะปลดสายไฟข้างหลังเพื่อที่จะวัดความต้านทาน แต่ปรากฏว่าเห็นดังรูปที่ ๑ (ขวา)
 
คือสายไฟที่ต่อเข้าขดลวดความร้อนอีกเส้นหนึ่งนั้นมันหลวมอยู่ พอเอาไขควงสะกิดนิดเดียวก็หลุดห้อยออกมาดังภาพ ผมก็เลยถ่ายรูปเก็บเอาไว้เป็นที่ระลึก ซึ่งก็พอดีกับสาวน้อยหน้าบานมาถึงพอดี


งานนี้ทำเพียงแค่ต่อสายไฟกลับเข้าที่เดิม และให้สาวน้อยหน้าบานทดสอบให้ความร้อนแก่เตา สักพักคิดได้ว่าเดี๋ยวพอสาวน้อยหน้าบานทำการทดลองเสร็จแล้วก็จะปลดมันออกเหมือนเดิม (เพื่อที่จะให้ผลการทดลองของคนอื่นเขามันเหมือนเดิม) ก็เลยกลับมาจะบอกกับสาวน้อยหน้าบานว่าอย่าเพิ่งไปบอกคนอื่นว่าเราพบแล้วว่าปัญหามันคืออะไร


แต่ปรากฏว่ากลับมาไม่ทัน หล่อนแจ้งให้เพื่อน ๆ ทราบหมดแล้ว


เรื่องเตาไม่ร้อนเพราะสายไฟหลุดนี่เคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่งแล้วกับ Autoclave()
 
สาเหตุที่สายไฟมันหลุดง่ายก็เพราะใช้ตัวหางปลาแบบสองขา ซึ่งถ้าใช้แบบหัวกลมสวมลงไปบนตัวนอตก็จะไม่เกิดปัญหานี้

 
เมื่อวานก็ได้ยินมาว่าเรื่องขั้วสายไฟหลวมนี้ทราบกันมานานแล้ว แต่ไม่มีใครคิดจะลงมือแก้ไข เพราะมีการบอกต่อ ๆ กันว่าไม่สามารถซ่อมได้เพราะ ....... ฯลฯ ผมฟังแล้วก็รู้สึกแปลก เวลาที่มีคนไปพบว่าอะไรมันมีปัญหา และเขาบอกว่าไม่สามารถซ่อมเองได้ คนอื่นก็จะเชื่อทันทีโดยไม่ช่วยกันตรวจสอบว่าอันที่จริงแล้วมันสามารถซ่อมได้เองหรือเปล่า หรือไม่ก็ควรไปถามความเห็นคนอื่นให้ช่วยตรวจสอบว่ามันเป็นจริงอย่างที่คนแรกพูดหรือเปล่า งานนี้ก็เช่นเดียวกัน พอมีคนบอกว่านอตที่หลวมนั้นไม่สามารถขันให้แน่นได้ ทุกคนก็เชื่อตามนั้นหมด พอผมถามว่าแล้วทำไปผมจึงสามารถขันให้แน่นได้ ก็ไม่ได้รับคำตอบใด ๆ

 
ตอนนี้กำลังคิดอยู่ว่าจะทำเรื่องขอซ่อมเตาดีไหม ว่าจะคิดค่าซ่อมสักหมื่นสองพันบาท (เห็นกลุ่มอื่นเขาขอเบิกกันขนาดนี้)

 
ที่ผมแปลกใจคือทำไมรายนี้ต้องออกครึ่งหนึ่ง แต่พอพวกเด็กอภิสิทธิ์ชนข้างบนมาทำเครื่องข้างล่างพัง (เครื่อง TPx ที่พังเนื่องจากไปดัดแปลงการทำ NH3-TPD ให้มีการดักเก็บ NH3 ทางขาออก (โดยคำสั่งของอาจารย์ที่ปรึกษา) แล้วทำให้สารละลายกรด boric ไหลย้อนเข้าเครื่อง) เขากลับไม่ต้องซ่อมเอง เล่นเผ่นหนีไปอยู่ข้างบน ไม่แจ้งความเสียหายให้ทราบด้วย ปล่อยให้คนข้างล่างรู้กันเองภายหลังว่าเครื่องเสีย และต้องมาดำเนินการซ่อมกันเอง ตัวคนก่อเรื่องก็หายหัวไป แถมอาจารย์ที่ปรึกษาก็ปิดปากเงียบ พยายามโยนความผิดให้คนอื่น (ทั้งนิสิตของตัวเองและนิสิตของคนอื่น) อีกว่าทำไมไม่ดูแลให้ดี

 
คนที่กำลังจะเข้ามาเรียน ถ้าอ่านมาเจอที่นี่เข้า ก็สืบประวัติกันเอาเองจากรุ่นพี่ก็แล้วกัน ว่าอาจารย์ที่จะเข้ามาทำงานด้วยนั้นพฤติกรรมเป็นอย่างไร ยังมีโอกาสที่จะเปลี่ยนใจทัน


หมายเหตุ


 (๑) Memoir ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๓๔ วันศุกร์ที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เรื่อง "การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๒๙ ปัญหา Autoclave (อีกแล้ว)"

วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

สายไฟเส้นละสี่พัน MO Memoir : Friday 9 September 2554



ผมเคยเขียนเรื่องขดลวดความร้อนของเตาเผา ซึ่งมีนิสิตมาถามว่าจะให้ทำอย่างไร ผมก็บอกว่าให้ไปหาซื้อเส้นใหม่มาเปลี่ยน() แต่ผมมาทราบทีหลังว่าเขาใช้วิธีเรียกร้านค้าให้มาขนเตาจากแลปเอาไปซ่อมที่ร้าน ผลก็คือมีรายการเปลี่ยนขดลวดความร้อนเส้นละแปดพันบาท
มาคราวนี้ก็ถึงทีของสายไฟเส้นละสี่พันบาทซึ่งเป็นตอนต่อเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา()
เมื่อวานผมเพิ่งจะทราบเหตุการณ์บางเรื่องที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากเหตุการณ์ในปีที่แล้ว() ซึ่งทำให้ผมพอจะเดาได้ว่าทำไมจึงเกิดเหตุการณ์บางอย่างในปีนี้ ซึ่งตอนแรกก็ทำให้เข้าใจไปอีกอย่าง
แต่ก่อนอื่นเราลองมาดูอุปกรณ์ที่ได้รับความเสียหายที่ซ่อมเสร็จแล้วก่อนดีกว่า (รูปที่ ๑ ข้างล่าง)

รูปที่ ๑ เตา calcine หลังจากซ่อมเสร็จแล้ว

ปัญหามันเกิดจากการที่พอผู้ใช้เตาติดตั้งอุปกรณ์เข้ากับตัวเตา แล้วเสียบปลั๊กไฟเพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับเตานั้น สายไฟฟ้าที่ต่อจากปลั๊กมายังตัวเตามันวางอยู่กับพื้น และลอดผ่านด้านใต้ของตัวเตา (อยู่ข้างใต้รูสำหรับใส่หลอดแล้วในเตาพอดี) ดังนั้นเมื่อมีปัญหามีวัตถุที่มีความร้อนสูงหยดลงมาจากตัวเตา มันก็จะลงบนสายไฟพอดี
วิธีที่ปลอดภัยคือต้องเก็บสายไฟดังกล่าว ให้เดินอ้อมห่างออกไปจากตัวเตา ซึ่งถ้าหากมีการกำชับให้ทำเช่นนั้นตั้งแต่ต้นหรือให้ความสนใจบ้างว่าผู้ทำการทดลองนั้นทำการทดลองในสภาพใด แม้ว่าในวันดังกล่าวจะเกิดปัญหาหลอดแก้วที่ร้อนจัดจนหลอมเหลวหยดร่วงลงมา แก้วหลอมเหลวนั้นก็จะหยดลงบนแท่นรองที่เป็นโลหะ ซึ่งจะปลอดภัยกว่า
ทันทีที่เกิดอุบัติเหตุ ผู้ทำการทดลองก็รีบทำการเก็บกวาดและส่งอุปกรณ์ที่ได้รับความเสียหายไปซ่อมทันที ตัวผมเองนั้นได้มีโอกาสไปดูอุปกรณ์ที่ได้รับความเสียหาย ตอนแรกผมนึกว่าช่างที่เขาส่งอุปกรณ์ไปให้นั้นจะทำเพียงแค่เปลี่ยนสายไฟเส้นเดียว แต่เขากลับส่งต่อไปที่ร้าน ผลก็คือทางร้านซ่อมมีการเปลี่ยนชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น (เพราะไม่มีความเสียหายใด ๆ) เพียงเพื่อจะหวังรายได้ที่มากขึ้น ผลก็คือได้เปลี่ยนสายไฟเส้นละสี่พันบาท
อันที่จริง เมื่ออุปกรณ์เรามีความเสียหาย เราก็ควรที่จะทำการตรวจสอบเบื้องต้นก่อนว่ามีส่วนใดเสียหายบ้าง ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ช่างทำการเปลี่ยนชิ้นส่วนต่าง ๆ (แม้ว่ามันจะไม่เสีย) เพราะแต่ละชิ้นที่เขาเปลี่ยนนั้นเขาไม่ได้คิดราคาทุนกับเรา แต่เขาบวกกำไรและค่าแรงในการเปลี่ยนเข้าไปด้วย ดังนั้นยิ่งเขาถอดชิ้นส่วนของเราออกไป (ซึ่งอาจนำไปขายเป็นของมือสองได้) และนำชิ้นส่วนใหม่มาใส่ให้ได้มากชิ้นเท่าไร เขาก็จะมีรายได้มากขึ้น
ทีนี้เรามาลองพิจารณาดูว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีที่แล้ว() กับที่เกิดขึ้นในสัปดาห์นี้() น่าจะมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร ตามข้อมูลที่ผมเพิ่งจะได้รับทราบมาเมื่อวานคือ หลังเกิดเหตุการณ์ในปีที่แล้ว ผู้ที่ทำการทดลองนั้นถูกสั่งพักการทดลองเป็นการลงโทษ พอผมทราบผมก็เลยถามคนที่เล่าให้ผมฟังว่า ก็คนที่ทำการทดลองนั้นทำการทดลองภายใต้การกำกับดูแลของรุ่นพี่คนหนึ่ง ซึ่งรุ่นพี่คนนั้นบอกให้เขาทำตามขั้นตอนที่เขาบอก แล้วทำไมจึงไม่ลงโทษรุ่นพี่คนนั้นด้วย หรือไม่ก็อย่างน้อยต้องมีการสอบสวนว่าทำไมจึงยังมีการใช้วิธีการทดลองประเภทที่รอโอกาสว่าถ้าผู้ทำการทดลองพลาดเมื่อไรก็จะเกิดเรื่อง ซึ่งผมก็ไม่ได้รับคำตอบใด ๆ
ในประเทศอังกฤษที่ผมไปศึกษานั้น เวลามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นสิ่งหนึ่งที่ต้องกระทำคือ การหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุนั้น และต้องมีการทำรายงานเผยแพร่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้คนอื่นทำผิดพลาดซ้ำอีก การปกปิดเอาไว้ถ้ามีการตรวจพบเมื่อไรจะถือว่าเป็นความผิด
ความผิดพลาดนั้นพิจารณาไล่กันไปตั้งแต่ การฝึกอบรม การมีวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง การออกแบบอุปกรณ์ที่ถูกต้อง การมีระบบป้องกันที่เพียงพอ ฯลฯ รวมไปถึงการจัดองค์กรว่าวัฒนธรรมองค์กรนั้นให้ความสำคัญกับการป้องกันอุบัติเหตุมากน้อยเพียงใด เวลาที่มีใครสักคนทำให้เกิดอุบัติเหตุ จะต้องมีการสอบสวนกันด้วยว่าสิ่งที่เกิดนั้นเกิดจากอะไร เช่นเกิดจากความสะเพร่าของผู้ปฏิบัติ เกิดจากการที่ผู้กำกับการทำงานไม่ได้ให้การฝึกอบรมวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง เกิดจากการที่ผู้กำกับการทำงานใช้คนที่ไม่มีความรู้ในด้านที่เหมาะสม เกิดจากการใช้คนจนเกินกำลังความสามารถทางร่างกาย เกิดจากความไม่เอาใจใส่ในด้านความปลอดภัยในทางปฏิบัติ ฯลฯ ซึ่งบ่อยครั้งที่พบว่าผลสรุปออกมาว่าผู้ที่ผิดนั้นไม่ใช้ผู้ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ แต่เป็นผู้กำกับดูแลการทำงานของผู้ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ การที่เขาตรวจสอบกันเช่นนี้ก็เพราะต้องการบีบบังคังให้องค์กรให้ความสำคัญกับการป้องกันอุบัติเหตุ ไม่ใช่ดีแต่พูด พอเกิดเรื่องทีก็โยนความผิดให้กับผู้ที่อยู่ในที่เกิดเหตุ
ในกรณีนี้ผมเดาว่าผู้ทำการทดลองคนดังกล่าวคงกลัวว่าจะถูกลงโทษห้ามเข้าแลป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่องานของเขาที่เขาต้องกระทำ เขาจึงพยายามทำให้ทุกอย่างจบสิ้นโดยเร็วและให้เงียบที่สุด โดยตัวผมเองนั้นคงกล่าวอะไรไปไม่ได้มากกว่านี้ เพราะแค่นี้ผู้ทำการทดลองคนนั้นก็แย่อยู่แล้ว เรื่องนี้มันคล้ายกับสิ่งที่เกิดเมื่อ ๓ ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นผมบอกกับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ว่าผมขอเงียบ ๆ ไว้ดีกว่า ขืนพูดอะไรออกไปพวกคุณจะกลายเป็นแพะรับบาปทันที
ซึ่งผลครั้งนั้นที่ออกมาก็ดูเหมือนว่าจะมีการโยนความผิดไปให้โดยบอกว่าไม่เคยบอกให้ทำอะไรอย่างนั้น ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงนั้นไม่เคยบอกให้ทำอะไรเลย()

หมายเหตุ
(๑) Memoir ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑๙๔ วันเสาร์ที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๓ เรื่อง "ขดลวดความร้อน"
(๒) Memoir ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๔๙ วันจันทร์ที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๔ เรื่อง "การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๓๒ อย่าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ดูแล (เรื่องที่ ๒)"
(๓) Memoir ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๐๑ วันศุกร์ที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๓ เรื่อง "Pyrophoric substance (อีกครั้ง)"
(๔) Memoir ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑๕ วันเสาร์ที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๑ เรื่อง "Pyrophoric substance"

วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

อันตรายจากการใช้เครื่องชั่ง MO Memoir : Thursday 8 September 2554

เช้าวันนี้เห็นสาวน้อยนักแสดงมีผ้าปิดแผลอยู่ที่แขน ผมก็เลยถามว่าไปได้อะไรมา คำตอบที่ได้รับคือโดยสารเคมีในขณะที่กำลังจะชั่งสาร
เครื่องชั่งที่เกิดเหตุนั้นแสดงไว้ในรูปข้างล่าง ในขณะทำงานก็มีการวางของและจัดเตรียม และก็มีการวางแขนพักลงไปบนโต๊ะด้วย
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือรู้สึกว่าร้อนที่แขน ก็เลยรีบไปล้างน้ำ แต่ก็ได้แผลมาดังแสดงในรูป


รูปที่ ๑ (ซ้าย) บริเวณสถานที่เกิดเหตุ (ขวา) บาดแผลที่ได้รับ

อุบัติเหตุเช่นนี้ผมก็เคยประสบกับตนเองในระหว่างการสอนหนังสือ มีคนทำสารเคมีที่เป็นของเหลว (เข้าใจว่าเป็นกรด) หกเอาไว้บนขอบประตูตู้ดูดควันแล้วไม่เช็ดทำความสะอาด พอเผลอวางแขนลงไปก็ได้รอยไหม้ติดแขนเสื้อมาทั้งสองข้าง (ปรกติเวลาสอนแลปเคมีวิเคราะห์ผมจะใส่เสื้อแลปแขนยาวเสมอ)
ของเหลวที่เปรอะเปื้อนอยู่โต๊ะทำงานหรือตามที่ต่าง ๆ ในห้องแลปนั้น อาจมาจากการที่มีคนรินสารในสถานที่นั้นแล้วเกิดการหกเลอะเทอะ และไม่ได้มีการทำความสะอาดให้เรียบร้อย หรือไม่ก็เกิดจากการนำเอาภาชนะไปวางทับของเหลวที่หกอยู่ พอยกภาชนะนั้นไปวางยังที่อื่น ของเหลวที่ติดอยู่ทางด้านนอกของก้นภาชนะก็เลยไปติดตามที่อื่นด้วย
ในกรณีของสาวน้อยนักแสดงนั้นบอกไม่ได้เหมือนกันว่าของเหลวนั้นมาได้อย่างไร
เมื่อนิสิตเข้าเรียนแลปเคมีวิเคราะห์ครั้งแรกนั้น ผมจะสอนเสมอว่าให้ระวังของเหลวที่เห็นเปียกอยู่ตามที่ต่าง ๆ อย่าคิดว่ามันเป็นน้ำเปล่าที่ไม่มีอันตรายใด ๆ เพราะพวกน้ำกรดและสารเคมีอันตรายต่าง ๆ นั้นมันก็ดูใส ๆ เหมือนน้ำเช่นเดียวกัน พวกที่ยังเป็นของเหลวให้เห็นนี้ยังดี เพราะมองเห็นได้ง่าย ที่เห็นยากกว่าคือพวกที่แห้งเป็นคราบ พอเจอความชื้นหรือน้ำเข้าไปจึงค่อยแผลงฤทธิ์

ยังไงก็ขอให้แผลหายไว ๆ อย่าให้กลายเป็นแผลเป็นก็แล้วกัน

วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๓๓ เมื่อ base line IR เลื่อนสูงขึ้น MO Memoir : Tuesday 6 September 2554

บ่อยครั้งที่ผมเห็นผู้ที่ทำการวิเคราะห์ FT-IR กับตัวอย่างที่เป็นผงโดยใช้การผสมกับ KBr และอัดเป็นแผ่นนั้น ได้เส้นสเปกตรัมที่มีลักษณะลาดเอียงสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงเลขคลื่น (wave no.) ที่เพิ่มสูงขึ้น (ดูรูปที่ ๑) ซึ่งบางคนได้ผลวิเคราะห์อย่างนี้เป็นประจำจนนึกเอาเองว่าเป็นเรื่องปรกติของการวิเคราะห์ด้วย FT-IR

รูปที่ ๑ ลักษณะสเปกตรัมที่มีการลาดเอียงสูงขึ้นเมื่อเลขคลื่นเพิ่มมากขึ้น แนวเส้นประสีเขียวคือ base line ที่ควรจะได้ ส่วนแนวเส้นประสีน้ำเงินคือ base line ที่ลาดเอียงสูงขึ้นที่ได้จากการวิเคราะห์

สาเหตุที่ทำให้ base line เลื่อนสูงขึ้นที่เลขคลื่นสูงเกิดจากการที่บดตัวอย่างไม่ละเอียดพอ โดยปรกติถ้าสิ่งกีดขวางการเดินทางของคลื่นมีขนาดเล็กกว่าความยาวคลื่น คลื่นนั้นก็จะเคลื่อนผ่านไปเหมือนกับไม่มีอะไรมาขวาง แต่ถ้าสิ่งกีดขวางนั้นมีขนาดใหญ่กว่าความยาวคลื่น คลื่นบางส่วนจะสะท้อนไปในทิศทางอื่น ในกรณีของ FT-IR นี้ถ้าหากขนาดอนุภาคนั้นใหญ่กว่าความยาวคลื่น แสงอินฟราเรดที่ส่งมาจากแหล่งกำเนิดเมื่อมากระทบกับตัวอย่าง ก็จะสะท้อนไปทางอื่น เดินทางไปไม่ถึงตัวตรวจวัด ดังนั้นสัญญาณแสงที่หายไปที่เห็นจากตัวตรวจวัด (ในรูป %Transmission ที่ลดต่ำลงหรือค่า Absorbance ที่เพิ่มสูงขึ้น) ไม่ได้เกิดจากการดูดกลืนแสงอินฟราเรดของตัวอย่าง แต่เกิดจากการที่แสงที่ส่งกระทบตัวอย่างสะท้อนไปในทิศทางที่ไม่เข้าหาตัวตรวจวัด
ดังนั้นถ้าพบลักษณะสัญญาณดังรูปที่ ๑ ก็ควรที่จะทำการบดตัวอย่างใหม่ให้ละเอียดกว่าเดิม

อีกเรื่องที่คงต้องขอกล่าวในที่นี้คือพฤติกรรมการใช้ของแล้วไม่นำมาเก็บที่เดิมที่เป็นพฤติกรรมของคนบางคน บางคนมีลักษณะที่เอาของไปใช้ที่ไหนก็ทิ้งที่นั่น ไม่เคยเก็บกลับที่เดิม อันนี้เป็นผลของการเลี้ยงดูและการอบรมสั่งสอน แต่บางคนนั้นร้ายกว่านั้นอีก คือใช้เสร็จแล้วเอาไปซ่อน ทั้งนี้เพื่อที่จะไม่ให้คนอื่นใช้งานได้ พอตัวเองจะใช้เมื่อไรก็จะใช้ได้ทันที ไม่ต้องกลัวว่าจะมีคนอื่นใช้อยู่
พฤติกรรมเช่นนี้เคยเกิดกับเครื่อง TPX ที่มีนิสิตบางคนนำหลอดบรรจุตัวอย่างหลังจากใช้งานแล้วไปเก็บซ่อนไว้กับตัวเอง ทั้งนี้เพื่อที่ว่าตัวเองจะใช้เครื่องวิเคราะห์เมื่อไรก็จะมาใช้ได้ทันที (เพราะคนอื่นไม่มีหลอดบรรจุตัวอย่างก็จะใช้เครื่องไม่ได้)
สิ่งที่ผมประสบตั้งแต่วันอังคารที่แล้วคือหา Mortar กับ Pestle ที่จะใช้ผสมตัวอย่างกับ KBr ไม่เจอ (ตัวที่แสดงในรูปที่ ๒) หายไปทั้งสองอันเลย ถามใครก็ไม่มีใครรู้ว่าหายไปไหน จะเอามาสอนนิสิตเรื่องการเตรียมตัวอย่างตั้งแต่วันอังคารที่แล้วก็เลยสอนไม่ได้ พึ่งจะมาเจอเช้าวันนี้โดยให้เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลสืบหาว่าใครเป็นคนใช้คนสุดท้าย
ปรากฏว่าหลังจากใช้งานเสร็จแล้ว เขาไม่ยอมเก็บมันกลับที่เดิม เอาใส่ถุงพลาสติกอย่างดี บรรจุลงกระเป๋าบรรจุอุปกรณ์ประกอบของเครื่อง FT-IR (ซึ่งปรกติก็ไม่มีใครเปิดดูเว้นแต่จะหาอุปกรณ์พิเศษ)

รูปที่ ๒ Mortar และ Pestle (ครกและสาก) ที่ใช้สำหรับผสมตัวอย่างกับ KBr

เจ้าตัวเขาก็รู้นะว่าที่นั่นไม่ใช่ที่สำหรับเก็บ Mortar และ Pestle ของ FT-IR แต่เขาก็ยังเอาไปเก็บไว้ที่นั่นอยู่ดี ไม่ยอมเอากลับมาเก็บที่เดิม ถ้าอยากรู้ว่าคน ๆ นั้นคือใครก็ลองไปถามสาวน้อยพระประแดงผู้ดูแลเครื่องดังกล่าวเองก็แล้วกัน

วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2554

การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติตอนที่ ๓๒ อย่าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ดูแล (เรื่องที่ ๒) MO Memoir : Monday 5 September 2554


จะรอให้ถึงวันพรุ่งนี้ก่อนก็ไม่ได้ จะได้ฉลองครบรอบปี

ถ้าสงสัยว่าครบรอบปีเรื่องอะไร ก็ขอให้ไปอ่าน Memoir ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๐๑ วันศุกร์ที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๓ เรื่อง "Pyrophoric substance (อีกครั้ง)" เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเช้าวันนี้ก็เกิดขึ้นในห้องเดียวกัน เพียงแต่ว่าคอมพิวเตอร์ที่บันทึกข้อมูลจากกล้องวงจรปิดมันถูกปิดเอาไว้ คราวนี้ก็เลยไม่มีคลิปมาให้ดูกัน
ผมมาทราบเรื่องเอาตอนเกือบบ่าย ๒ แล้ว ทราบว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นตอนประมาณ ๙ โมงเช้า ตอนนั้นคนที่ใช้เครื่องดังกล่าวก็ไม่อยู่ ห้องแลปนั้นก็ไม่มีใครอยู่ มีแต่คุณเลขานุการแสนสวยของแลปเราและนิสิตอีก ๒ คนทำงานอยู่ในห้องอื่น กลิ่นที่ฟุ้งกระจายไปทั่วเป็นตัวแจ้งเหตุว่าเกิดเหตุขึ้น



รูปที่ ๑ ความเสียหายของสายไฟที่เขาบอกว่าแก้วหลอมเหลวหยดใส่ ทำให้ฉนวนพลาสติกที่หุ้มอยู่หลอมละลายลุกไหม้

ตอนแรกมีแต่คนบอกว่าไฟไหม้ พอถามว่าไหม้อะไร เขาก็บอกมาว่าเตา calcine ซึ่งผมก็ถามกลับไปว่าแล้วอะไรที่เป็นเชื้อเพลิงของการเผาไหม้ ผมก็ถามกลับไปว่ามันไหม้ได้ยัง (เพราะปรกติสายไฟที่ต่อเข้าเตาเผาก็มักไม่ใช้ฉนวนที่เป็นพอลิเมอร์ และแม้แต่สายไฟที่ใช้ฉนวนที่เป็นพอลิเมอร์ก็ไม่สามารถลุกไหม้ได้เองถ้าไม่มีการให้ความร้อนจากแหล่งภายนอก และการที่สายไฟจะไหม้ได้เองนั้นก็ควรที่จะเกิดจากการที่มีกระแสไหลเข้าเกินความสามารถของสายไฟที่จะรับได้) ซึ่งก็ไม่มีใครตอบได้ ต้องรอให้คนทำการทดลองที่เกิดปัญหามาอธิบาย
ข้อมูลที่ได้รับคือเขาต้องการเผาสารสักอย่างหนึ่งในเตาไฟฟ้าเตานี้ (เตาวางในแนวดิ่งอยู่บนพื้น มีสายไฟต่อเข้าเตาอยู่ทางด้านล่าง) หลังจากที่ใส่สารเข้าไปในเตาและเปิดให้ระบบควบคุมทำงาน ก็ไม่ได้อยู่ดูแล สิ่งที่ทำให้เกิดเรื่องคือเขาไม่ได้ใส่เทอร์โมคับเปิลเข้าไปวัดอุณหภูมิภายในเตา เครื่องควบคุมอุณหภูมิเลยอ่านค่าเป็นอุณหภูมิห้องตลอดเวลา ก็เลยจ่ายความกระแสไฟฟ้าเข้าตัวเตาเต็มที่ตลอดเวลา ผลก็คือหลอดแก้วที่ใส่อยู่ในเตาเกิดการหลอมละลายหยดลงมาบนสายไฟฟ้าที่วางอยู่ข้างใต้ (โชคดีที่สารในหลอดแก้วนั้นไม่ใช้เชื้อเพลิง) ฉนวนหุ้มสายไฟที่เป็นพอลิเมอร์ก็เลยหลอมไหม้เกิดเป็นควันดำ
โชคดีที่สายไฟที่ไหม้เป็นสายแบบเส้นเดี่ยว ไม่ใช่เส้นคู่ ไม่เช่นนั้นคงตามด้วยการสัมผัสกันของลวดทองแดงและกระแสไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้คงมีเหตุไม่เล็กตามมาอีก
ตอนที่เขาพาผมไปดูที่เกิดเหตุนั้น ผมไม่เห็นตรงนั้นมีอะไรวางอยู่ ก็เลยถามว่าเตาเผาไปไหนแล้ว เขาก็บอกว่าส่งให้ช่างไปซ่อมแล้ว เพราะเขาต้องรีบจบ (?? ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้น แล้วไม่หาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร และควรทำการป้องกันอย่างไร ผมว่ามีหวังคงได้ "ตาย" ก่อน "เรียนจบ") ผมก็ถามว่าแล้วได้ถ่ายรูปความเสียหายเอาไว้หรือเปล่า คำตอบก็คือไม่ได้ถ่ายรูปเอาไว้ ก็เลยถามต่อว่าส่งไปให้ช่างที่ไหนซ่อม บังเอิญเขาส่งไปให้ช่างที่อยู่ที่ตึกข้าง ๆ กันเป็นคนซ่อม ผมก็เลยตามไปดูความเสียหายและถ่ายรูปดังที่แสดงในรูปที่ ๑
ในความเห็นของผมเท่าที่ดูด้วยสายตานั้น ผมคิดว่าระบบสายไฟภายในเตาคงไม่มีอะไรเสียหาย (แต่ก็ต้องตรวจด้วยว่าขดลวดความร้อนไม่ขาด) คราบดำด้านนอกเป็นเพียงคราบเขม่าควัน สายไฟเส้นที่เสียหายนั้นเป็นเส้นที่คิดว่าต่อจากแหล่งจ่ายไฟมายังตัวเตา ดังนั้นน่าจะทำการซ่อมแซมเองได้โดยไปหาสายไฟเส้นใหม่มาเปลี่ยนก็แค่นั้นเอง แต่นี่ไม่รู้ว่าเขาคิดว่าการเสียเวลาซ่อมนั้นทำให้เสียเวลาทำแลป และจะทำให้จบช้าหรือเปล่า ก็เลยใช้วิธีจ้างคนอื่นซ่อม (เพราะเงินค่าซ่อมก็ไม่ใช่เงินของฉัน) ฉันจะได้มีเวลาไปทำงานอย่างอื่นแทน
ใน Memoir ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๔๗ วันเสาร์ที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๔ เรื่อง "การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๑๑ อย่าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ดูแล" ผมได้เขียนเอาไว้ว่า

"เวลาที่ทำงานกับอุปกรณ์ใดก็ตาม ไม่ว่าอุปกรณ์นั้นจะมีระบบควบคุมอัตโนมัติหรือไม่ก็ตาม หรือเมื่อระบบเข้าสู่ steady state แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ใช้งานจะสามารถปล่อยมันทิ้งไว้โดยไม่ต้องดูแล สามารถกลับมาอีกครั้งก็เมื่อครบกำหนดเวลา ที่ถูกต้องคือต้องกลับมาตรวจสอบการทำงานเป็นระยะว่าในระหว่างนั้นมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง เช่นไฟฟ้าดับ น้ำไม่ไหล อุปกรณ์ทำงานต่อเนื่องเกินกำลังจนร้อนจัด ชิ้นส่วนเกิดความเสียหายเนื่องจากการใช้งานต่อเนื่องเป็นเวลานาน การประกอบชิ้นส่วนที่ไม่ถูกต้อง ฯลฯ"

เหตุการณ์วันนี้ก็เกิดขึ้นในทำนองเดียวกับครั้งอื่น ๆ ก่อนหน้า คือผู้ทำการทดลองคิดว่ามีระบบอัตโนมัติควบคุม พอเปิดให้มันทำงานก็ไปไหนต่อไหนได้เลย ไม่ต้องมาอยู่คอยดูแล

ดีนะที่เรื่องที่เกิดในวันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับกลุ่มของเรา

ศุกร์ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๑ ไฟไหม้ Glove box
จันทร์ ๖ กันยายน ๒๕๕๓ ไฟไหม้เฮกเซนในบีกเกอร์
จันทร์ ๕ กันยายน ๒๕๕๔ ไฟไหม้สายไฟเตา calcine

ท่าทางเดือนกันยายนจะเป็นเดือนอาถรรพ์ของห้องนี้ ทีนี้พวกคุณคงเห็นแล้วทำไมถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ แล้วผมเองยังไม่อยากเข้าไปในห้องนั้นเลย

วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

วาล์วและการเลือกใช้ ตอนที่ ๓ MO Memoir : Sunday 4 September 2554


ก่อนอื่นก็ต้องขอกล่าวต้อนรับว่าที่สมาชิกใหม่ของกลุ่ม ที่คาดว่าจะมาเข้าร่วมงานกันในภาคต้นปีการศึกษา ๒๕๕๕ จำนวน ๕ คน (เลข ๕ มาเยอะหน่อย) งานนี้ต้องขอขอบคุณสาวน้อยนักแสดงและสาวน้อยหน้าบาน (คนหลังตั้งชื่อให้อย่างนี้ไม่รู้เจ้าตัวจะชอบหรือเปล่า) ที่ช่วยประชาสัมพันธ์ให้เป็นอย่างดี หวังว่าปีการศึกษาหน้าคงมาครบกันทุกคน แต่ถ้าเปลี่ยนใจจะไปทำอย่างอื่นก็ขอความกรุณาช่วยแจ้งให้ทราบด้วย ทางกลุ่มจะได้เปิดรับคนอื่นเข้ามาแทน ตอนนี้อยากทราบเรื่องอะไรเกี่ยวกับทางกลุ่มก็ขอให้ติดตามทาง blog นี้ไปก่อนก็แล้วกัน ผมจะะเริ่มส่ง Memoir ฉบับ pdf ให้กับสมาชิกใหม่ก็ต่อเมื่อเริ่มเข้ามาเรียนแล้ว

ผมเขียนเรื่อง "วาล์วและการเลือกใช้ ตอนที่ ๑" ไปใน Memoir ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๓๒ วันจันทร์ที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๒ และเรื่อง "วาล์วและการเลือกใช้ ตอนที่ ๒" ไปใน Memoir ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๓๓ วันพุธที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๒ ในตอนที่ ๒ นั้นผมขึ้นเรื่องวาล์วระบายความดันเอาไว้ แต่ก็ไม่ได้เขียนสักที นี่ก็ค้างมาเกือบสองปีครึ่งแล้ว แถมมี Memoir คั่นกลางอีกกว่า ๓๐๐ ฉบับ ก็เลยคิดว่าได้เวลาที่ต้องลงมือเขียนแล้ว
อันที่จริงก่อนหน้านี้ก็ได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับ Breather valve ใน Memoir ๓ ฉบับที่ ๓๐๑ วันศุกร์ที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๔ เรื่อง "การควบคุมความดันในถังบรรยากาศ (Atmospheric tank)" ซึ่งก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับวาล์วระบายความดัน แต่วาล์วดังกล่าวไม่เพียงแต่ยอมให้แก๊สในถังระบายออกเมื่อความดันในถังสูงเกินไป แต่ยังยอมให้อากาศข้างนอกเข้าไปในถังได้เมื่อความดันในถังต่ำเกินไป
ส่วนวาล์วระบายความดันใน Memoir ฉบับนี้เป็นวาล์วที่ใช้ระบายความดันในกรณีที่ความดันภายในภาชนะนั้นสูงเกินกว่าความดันที่กำหนดไว้ และเนื้อหาในนี้ไม่ได้เน้นไปที่การออกแบบหรือการเลือกใช้ เพียงแต่ต้องการให้รู้จักว่าวาล์วระบายความดันนั้นทำงานอย่างไร

ตามมาตรฐานอเมริกานั้นจะแยกวาล์วระบายความดันออกเป็น ๓ ประเภทตามชนิดของไหลดังนี้
(ก) Safety valve ใช้กับแก๊ส
(ข) Relief valve ใช้กับของเหลว
(ค) Safety relief valve ใช้ได้ทั้งแก๊สและของเหลว
แต่ถ้าเป็นตามมาตรฐานอังกฤษนั้น (BS 6759 ปีค.ศ. 1984) เรียกรวม ๆ ว่าวาล์วที่ทำงานด้วยระบบกลไกใด ๆ ก็ตามที่ออกแบบมาเพื่อเปิดอัตโนมัติเพื่อการระบายความดันที่สูงเกินนั้น เรียกรวมว่า safety valve โดยไม่มีการกำหนดว่าใช้กับของเหลวหรือแก๊ส(1)
ที่ระดับความดันที่ใช้งานกันทั่วไปในอุตสาหกรรมนั้น ถือได้ว่าไม่สามารถทำให้ของเหลวมีปริมาตรเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นถ้าถัง (หรือท่อ) ที่บรรจุของเหลวนั้นมีความดันสูงเกินไป ถ้าเปิดวาล์วให้ของเหลวรั่วไหลออกมาได้หรือมีที่ว่างให้ขยายตัวได้ ความดันในระบบก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว
แต่ในกรณีของแก๊สนั้นเนื่องจากเป็นของไหลที่อัดตัวได้ ดังนั้นถ้าความดันในถัง (หรือท่อ) ที่บรรจุแก๊สนั้นสูงเกินไป การเปิดช่องว่างให้แก๊สรั่วไหลออกมาได้ก็จะทำให้ความในระบบนั้นลดลง แต่การลดลงจะช้ากว่าของเหลว
ดังนั้นในกรณีของวาล์วระบายความดันที่ใช้กับแก๊สนั้น ทันทีที่ความดันในระบบสูงเกินค่าที่กำหนดไว้ (แม้ว่าจะเกินไปเพียงเล็กน้อย) วาล์วจะต้องเปิดเต็มที่ทันทีอย่างรวดเร็ว เพื่อให้การระบายความดันเป็นไปได้อย่างสะดวกและทันท่วงที ในขณะที่วาล์วที่ใช้ในการระบายความดันของของเหลวนั้น จะเปิดกว้างมากน้อยเท่าใดก็ขึ้นอยู่กับว่าความดันในระบบนั้นสูงเกินค่าที่กำหนดไว้มากน้อยเท่าใด ถ้าความดันสูงเกินไปมาก วาล์วก็เปิดเพียงเล็กน้อย ถ้าความดันสูงเกินไปมาก วาล์วก็เปิดกว้างมากขึ้น
ทีนี้เรามาดูกันว่าวาล์วแต่ละแบบนั้นมีหลักการทำงานอย่างไรโดยจะใช้รูปวาดแบบง่าย โดยจะเริ่มจากวาล์วระบายความดันสำหรับของเหลวที่แสดงในรูปที่ ๑ ก่อน

รูปที่ ๑ หลักการทำงานของวาล์วระบายความดันสำหรับของเหลว

สมมุติว่าท่อที่ต่อเข้าวาล์วนั้นมีพื้นที่หน้าตัด 10 cm2 ตัววาล์วเองที่ปิดท่อระบายความดันก็มีขนาดพื้นที่หน้าตัด 10 cm2 และแรงกด (ปรกติจะใช้สปริงกด แต่ในรูปแสดงเป็นก้อนน้ำหนัก) ที่กดให้วาล์วปิดนั้นคือ 100 kg (ตัวนี้เทียบได้กับ set pressure หรือความดันที่กำหนดให้วาล์วเปิด) ตราบใดก็ตามที่ความดันในระบบต่ำกว่า 10 kg/cm2 ผลคูณระหว่างความดันกับพื้นที่หน้าตัดก็จะน้อยกว่า 100 kg กล่าวอีกนัยหนึ่งคือความดันในระบบยังไม่สามารถทำให้วาล์วยกตัวขึ้นได้
แต่ถ้าความดันในระบบเท่ากับ 10 kg/cm2 ผลคูณระหว่างความดันกับพื้นที่หน้าตัดก็จะเท่ากับ 100 kg วาล์วก็พร้อมที่จะยกตัวขึ้น
และเมื่อความดันในระบบสูงเกินกว่า 10 kg/cm2 ผลคูณระหว่างความดันกับพื้นที่หน้าตัดก็จะมากกว่า 100 kg วาล์วก็เริ่มยกตัวขึ้น และเปิดช่องให้ของเหลวในระบบระบายออกไปได้ (รูปที่ ๑ กลาง)
แต่อย่างที่บอกไว้ในหน้าที่แล้วคือ ของเหลวนั้นถ้าเราเปิดช่องให้มันรั่วไหลไปได้หรือมีที่อยู่มากขึ้น ความดันในระบบก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นทันทีที่วาล์วเริ่มเปิดออก ความดันในระบบก็จะลดต่ำลงอย่างรวดเร็วโดยที่วาล์วไม่จำเป็นต้องเปิดจนสุด แต่ถ้าความดันในระบบยังคงสูงอยู่ วาล์วก็จะยกตัวเปิดกว้างมากขึ้นอีกเพื่อให้ของเหลวระบายได้รวดเร็วขึ้นอีก (รูปที่ ๑ ขวา)
และเมื่อความดันในระบบลดลง วาล์วก็จะค่อย ๆ ปิดตัวลงตามความดัน จนกระทั่งปิดสนิทเมื่อความดันในระบบลดลงต่ำกว่า 10 kg/cm2
รูปที่ ๒ แสดงวาล์วระบายความดันสำหรับระบบที่เป็นแก๊ส ตัววาล์วจะมีโครงสร้างที่แตกต่างไปจากวาล์วที่ใช้กับระบบที่เป็นของเหลวอยู่เล็กน้อย โดยเฉพาะตรงส่วนพื้นที่หน้าตัดของส่วนที่เป็นวาล์วซึ่งจะมีพื้นที่หน้าตัดใหญ่กว่าพื้นที่หน้าตัดของท่อที่ต่อเข้าวาล์ว ในกรณีนี้สมมุติว่าท่อที่ต่อเข้าวาล์วนั้นมีพื้นที่หน้าตัด 10 cm2 ตัว plug ของวาล์วเองที่ใช้ปิดท่อระบายความดันก็มีขนาดพื้นที่หน้าตัด 12.5 cm2 และแรงกดที่กดให้วาล์วปิดนั้นคือ 100 kg ตราบใดก็ตามที่ความดันในระบบต่ำกว่า 10 kg/cm2 ผลคูณระหว่างความดันกับพื้นที่หน้าตัดก็จะน้อยกว่า 100 kg วาล์วก็จะยังไม่เปิด
ทีนี้ถ้าความดันในระบบสูงกว่า 10 kg/cm2 เพียงเล็กน้อย ผลคูณระหว่างความดัน (10+ kg/cm2) กับพื้นที่หน้าตัดของท่อ (10 cm2) ก็จะมากกว่า 100 kg ตัววาล์วก็จะยกตัวสูงขึ้น แต่ทันทีที่ตัววาล์วยกตัวสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย พื้นที่หน้าตัดที่ความดันในระบบกระทำจะเพิ่มจาก 10 cm2 เป็น 12.5 cm2 ซึ่งจะทำให้ผลคูณระหว่างความดัน (10+ kg/cm2) กับพื้นที่หน้าตัดของวาล์ว (12.5 cm2) เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 125 kg ซึ่งสูงกว่าน้ำหนักที่กดเอาไว้มาก วาลว์ก็จะเปิดตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจนสุดเพื่อระบายความดันส่วนเกินในระบบออกไป

รูปที่ ๒ หลักการทำงานของวาล์วระบายความดันสำหรับแก๊ส

ที่นี้ถ้าความดันในระบบลดลงเหลือต่ำกว่า 10 kg/cm2 เช่นลงมาเหลือแค่ 9 kg/cm2 ผลคูณะหว่างความดัน (9 kg/cm2) กับพื้นที่หน้าตัดของวาล์ว (12.5 cm2) ก็จะเท่ากับ 112.5 kg ซึ่งยังคงมากกว่า 100 kg วาล์วก็จะยังคงไม่ปิด วาล์วจะเริ่มปิดตัวได้ก็ต่อเมื่อความดันในระบบลดลงเหลือ 8 kg/cm2 ซึ่งเป็นค่าความดันที่ทำให้ผลคูณะหว่างความดัน (8 kg/cm2) กับพื้นที่หน้าตัดของวาล์ว (12.5 cm2) เท่ากับ 100 kg และทันทีที่ความดันในระบบลดลงต่ำกว่า 8 kg/cm2 วาล์วก็จะปิดตัวลงทันที
ดังนั้นจากตัวอย่างข้างบนจะเห็นว่าในกรณีของวาล์วระบายความดันสำหรับแก๊สนั้น วาล์วจะเริ่มเปิดก็ต่อเมื่อความดันสูงเกินกว่า 10 kg/cm2 แต่จะปิดก็ต่อเมื่อความดันในระบบต่ำกว่า 8 kg/cm2 ซึ่งจะเห็นว่ามีความแตกต่างกันอยู่ ช่วงความดันนี้มีชื่อว่าช่วง blowdown

วาล์วระบายความดันนั้นแม้ว่าทางผู้ผลิตจะทำการปรับตั้งความดันตามที่ผู้ใช้กำหนดไว้ แต่ก็เป็นหน้าที่ของผู้ใช้ว่า "ต้องตรวจสอบ" ด้วยการอัดความดันว่าวาล์วทุกตัวว่าเปิดได้จริงตามความดันที่ผู้ผลิตกล่าวอ้าง สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือปรกติแล้ววาล์วระบายความดันมักจะใช้สปริงในการกดให้วาล์วปิด (ไม่ได้ใช้น้ำหนักแบบที่แสดงในรูป) ความแข็งแรงของสปริงที่อุณหภูมิต่ำและอุณหภูมิสูงนั้นแตกต่างกัน โดยปรกติแล้วโลหะจะอ่อนตัวลงที่อุณหภูมิสูงทำให้แรงกดของสปริงลดลงได้เมื่อสปริงร้อนขึ้น ดังนั้นเวลาตั้งความดันที่จะให้วาล์วเปิดก็ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย เพราะปรกติการตั้งความดันวาล์วมักจะกระทำที่อุณหภูมิห้อง แต่ถ้าต้องนำวาล์วตัวนั้นไปใช้กับระบบที่มีอุณหภูมิสูงก็ต้องมีการเผื่อความดันเอาไว้ด้วย
การติดตั้งวาล์วระบายความดันนั้นจะติดตั้งให้วาล์วตั้งในแนวดิ่ง ในหลายแห่งนั้นจะใช้กฎที่ว่าท่อระหว่างตัววาล์วและภาชนะที่ต้องการระบายความดัน "ต้อง" ไม่มีวาล์วใดที่สามารถทำให้การไหลถูกปิดกั้นได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือต้องไม่มีการติดตั้งวาล์วใด ๆ เลย แต่การทำเช่นนี้อาจเกิดปัญหาได้ถ้าหากตัววาล์วระบายความดันเกิดการรั่วไหล ทำให้ไม่สามารถถอดออกมาซ่อมแซมได้เว้นแต่ต้องหยุดการเดินเครื่อง ดังนั้นจึงมีอีกกลุ่มหนึ่งที่พิจารณากฎการติดตั้งว่าท่อระหว่างวาล์วระบายความดันกับภาชนะที่ต้องการระบายความดัน "ต้องไม่มีโอกาส" ที่ภาชนะนั้นจะไม่ได้รับการป้องกันจากวาล์วระบายความดัน ซึ่งทำได้โดยการติดตั้งวาล์วระบายความดัน 2 ตัว และมีวาล์วควบคุมทิศทางการไหล ถ้าหมุนวาล์วควบคุมทิศทางการไหลนั้นให้เปิดในทิศทางหนึ่ง อีกทิศทางหนึ่งก็จะปิด ลักษณะเช่นนี้ก็ทำให้ภาชนะความดันนั้นได้รับการป้องกันจากวาล์วระบายความดันตลอดเวลาเช่นเดียวกัน (รูปที่ ๓)


รูปที่ ๓ รูปด้านซ้ายเป็นการติดตั้งวาล์วระบายความดันที่ไม่สามารถถอดออกมาซ่อมได้ถ้าเกิดการรั่วไหล เว้นแต่จะมีการหยุดเดินเครื่อง ส่วนรูปด้านขวาเป็นการติดตั้งวาล์วระบายความดันสองตัวโดยมีระบบวาล์วที่ทำให้ต้องมีวาล์วระบายความดันอย่างน้อยหนึ่งตัวปกป้องภาชนะเอาไว้ตลอดเวลา

ในกรณีที่คาดการณ์ว่าความดันในระบบอาจมีการเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วได้นั้น (เช่นเกิดการระเบิดภายใน) วาล์วระบายความดันจะไม่สามารถระบายความดันที่เพิ่มขึ้นนี้ได้ทัน จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า rupture disc หรือ bursting disc ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นโลหะบางสำหรับปิดกั้นระหว่างภายในภาชนะกับท่อระบายความดัน bursting disc นี้ออกแบบมาให้ฉีกขาดหรือแตกออก ณ ความดันที่กำหนดไว้ การระบายความดันของ bursting disc นั้นอาจระบายออกสู่บรรยากาศโดยตรง (ให้พุ่งขึ้นตรงไปข้างบน) เพราะการระบายออกสู่อากาศโดยตรงเป็นเส้นทางที่มีการต้านทานการไหลน้อยที่สุด ไม่เหมือนกับการระบายเข้าระบบ flare (ระบบเผาแก๊สทิ้ง) ของโรงงาน

รูปที่ ๔ Bursting disc รูปซ้ายเป็นรูปก่อนการฉีกขาด รูปขวาเป็นรูปหลังการฉีกขาดแล้ว(2)

หมายเหตุ
(1) Cyril F. Parry, "Relief Systems Handbook", Institute of Chemical Engineers, 1992.
(2) http://www.directindustry.com/prod/bs-b-safety-systems-llc/bursting-discs-61984-403736.html