วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2561

มองต่างมุม มองต่างเวลา (คิดสักนิดก่อนกดแชร์ เรื่องที่ ๑๒) MO Memoir : Sunday 24 June 2561

รูปข้างล่างมาจาก facebook ชื่อว่า Japan Inside ของวันที่ ๒๑ มิถุนายนปีนี้ โดยมีคำบรรยายภาพว่า "One day after Earthquake, osaka" ลองพิจารณาเอาเองก่อนนะครับว่ารู้สึกอย่างไร
 
รูปภาพต้นฉบับ มีขนาด 467 x 612 pixel

หลายครั้งที่พบว่าภาพทำนองนี้มักจะไม่มีการระบุสถานที่และเวลาที่บันทึกภาพเอาไว้อย่างชัดเจน จะว่าไปเขาก็ไม่ได้บอกด้วยว่าภาพไหนเป็นภาพที่ถ่ายก่อน และภาพไหนเป็นภาพที่ถ่ายทีหลัง แต่ถ้าให้เดาผมเดาว่า คนส่วนใหญ่จะคิดภาพแรกเป็นภาพที่ถ่ายหลังจากเกิด "แผ่นดินไหว" ที่แสดงให้เห็นถนนที่เสียหายจาก "แผ่นดินไหว" และภาพที่สองเป็นภาพที่ถ่ายในวันรุ่งขึ้น ที่แสดงให้เห็นว่าถนนได้รับการซ่อมแซมเสร็จเรียบร้อยแล้ว
 
ถ้าหากทั้งสองภาพนั้นเป็นภาพที่ถ่ายจากสถานที่จริงโดยไม่มีการตกแต่งด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ก็คงเชื่อได้ว่าเป็นภาพที่ถ่ายกันคนละเวลา แต่จะห่างกันเท่าใดนั้นคงจะบอกไม่ได้ และเมื่อลองมองดูจากสภาพแวดล้อมของถนนแล้วด้วย ทำให้เชื่อว่าภาพทั้งสองนั้นถ่ายจากจุดยืนที่ต่างกัน ทำให้ส่วนหนึ่งของถนนในรูปบนไม่ปรากฏในรูปล่าง



เริ่มจากตรงอาคารด้านขวาของรูปบน (1) ที่ในภาพล่างนั้นเห็นเพียงแค่บางส่วน การถ่ายภาพอย่างนี้ถ้าเป็นการถ่ายภาพด้วยมุมเลนส์กว้างเท่าเดิม แสดงว่าตำแหน่งการถ่ายภาพรูปล่างนั้นอยู่ด้านหน้าของการถ่ายภาพรูปบน ยิ่งมาเปรียบเทียบด้านซ้ายของภาพก็ยิ่งเห็นความไม่ลงรอยกัน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่ต้นไม้มาจากไหน (ตรงนี้มีคนตั้งคำถามใน facebook ต้นเรื่องด้วยซ้ำ) แต่ก็อาจแก้ตัวได้ว่าเป็นเพราะมุมกล้องภาพบนนั้นไม่กวาดมาถึงทางเท้าด้านซ้าย แต่ภาพถนนรูปล่างนั้นแสดงให้เห็นชัดว่าถนนบริเวณริมทางเท้านั้นเป็นคอนกรีต โดยในภาพบนก็มีการปรากฏพื้นคอนกรึตให้เห็น (มีการลาดยางทับ) การบิดเบี้ยวของผิวจราจรในรูปบนแสดงให้เห็นว่าพื้นคอนกรีตข้างใต้ก็เสียหายด้วย กรณีของถนนลาดยางนั้นอาจทำให้กลับมาเรียบเหมือนเดิมได้ในเวลาแค่วันเดียว แต่กรณีของถนนคอนกรีตนั้นไม่ใช้ ยิ่งถนนคอนกรีตในรูปล่างด้วยแล้วทำให้ดูเหมือนว่ารูปล่างเป็นรูปที่ถ่ายก่อนรูปบนเสียอีก
 
เส้นกลางถนนสีเหลืองในรูปบน แสดงให้เห็นว่าพื้นผิวการจราจรไม่ได้แบนราบเป็นช่วงแนวยาว อย่างน้อยก็จากหลุมที่มีน้ำขังที่เห็นไปจนถึงบริเวณรถคันสีขาวที่จอดเยื้องตรงบริเวณกลางรูปค่อนมาทางด้านซ้ายในรูปบน ความเสียหายแบบนี้ถ้าจะซ่อมทีก็คงต้องรื้อพื้นผิวถนนเก่ากันตลอดทั้งแนวแล้วทำผิวจราจรใหม่ แต่ในรูปล่าง (3) จะเห็นว่ามันมีบริเวณที่พื้นผิวจราจรนั้นไม่ได้มีความเสียหายใด ๆ ซึ่งดูได้จากเส้นกลางถนนสีเหลืองที่อยู่ในสภาพเรียบร้อยดี นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ดูคล้ายเสาไฟฟ้าแรงสูง (4) ในรูปบน แต่ไม่ปรากฏในรูปล่าง ทั้ง ๆ ที่มันควรจะมองเห็นได้จากมุมกล้องในรูปล่าง และยังมีพื้นผิวที่ดูเหมือนเป็นผิวดินหน้าอาคารทางด้านขวาในรูปที่เห็นเป็นสีอ่อน แต่ในรูปล่างกลับเห็นเป็นสีเข้มเหมือนพื้นลาดยาง 
  
ความเสียหายจากแผ่นดินไหว (ถ้าจริง) ที่ทำให้พื้นถนนกลายเป็นลูกคลื่นพังยับเยิน แต่ไม่ยักทำให้ทางเท้าสองฝั่งถนน เสาไฟฟ้า และอาคารต่าง ๆ ในภาพได้รับความเสียหายเลย ก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกเหมือนกัน

ไม่มีความคิดเห็น: