วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2563

เมื่อพระภิกษุถูกทหารญี่ปุ่นตบหน้าที่บ้านโป่ง (Ban pong incident) MO Memoir : Thursday 3 September 2563

"Notes on the Thai-Burma railway" เป็นบทความที่เขียนโดย David Boggett ลงวารสารวิชาการ Journal of Kyoto Seika University" บทความนี้มีอยู่ด้วยกัน ๑๑ ตอน เรื่องที่นำมาเล่าในตอนนี้เป็นตอนที่ ๘ ที่ลงในวารสาร No. 26 ที่มีชื่อว่า "Notes on the Thai-Burma railway Part VIiI : Thai Labour and Ban Pong Incident"

แนวความคิดสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมไทยกับพม่าไม่ใช่เรื่องใหม่ อย่างน้อยก็มีมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ แล้วที่เคยมีการสำรวจแนวเส้นทางไว้ ๓ ทางด้วยกัน คือจากสวรรคโลกผ่านทางตากและแม่สอด จากบ้านโป่งผ่านทางกาญจนบุรีและด่านเจดีย์สามองค์ และทางด่านสิงขรที่ประจวบคีรีขันธ์ (ดูเรื่อง "เส้นทางรถไฟเชื่อมไทยกับพม่า(ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำตอนที่ ๘๖) วันพุธที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘" แต่สุดท้ายแล้วเส้นที่ได้สร้างขึ้นจริงก็คือเส้นผ่านกาญจนบุรี ซึ่งถ้าจะมองจากมุมมองของกองทัพญี่ปุ่นที่ต้องการเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างพม่ากับเวียดนาม และการลำเลียงยุทธปัจจัยต่าง ๆ จากท่าเรือในกรุงเทพไปพม่าแล้ว เส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุด

รูปที่ ๑ ข้างล่างนำมาจากบทความเรื่อง "Notes on the Thai-Burma railway Part I : "The bridge on the river Kwai" - The movie" ที่เขียนโดย David Boggett รูปนี้แสดงให้เห็นว่าทางอังกฤษเองก็เคยมีแผนที่จะสร้างทางรถไฟเส้นนี้อยู่แล้ว และท้ายสุดคนอังกฤษก็ได้มาสร้างเส้นทางนี้จริง แต่มาในฐานะแรงงาน ไม่ใช่คนควบคุมงาน

รูปที่ ๑ แผนที่แนวเส้นทางรถไฟที่สร้างขึ้นจริง และที่ได้มีการสำรวจไว้ก่อนหน้าโดย "อังกฤษ" ที่จะไปข้ามลำน้ำแควใหญ่ที่บ้านท่าด่าน กาญจนบุรี รูปนี้นำมาจาก "Notes on the Thai-Burma railway Part I : "The bridge on the river Kwai" - The movie"

ในรูปที่ ๑ นั้นแนวเส้นทางที่อังกฤษวางไว้นั้นจะแยกออกจากสถานีบ้านโป่งไปข้ามลำน้ำแควใหญ่ที่บ้านท่าด่าน (Tadan) ส่วนญี่ปุ่นนั้นสร้างโดยแยกออกจากสถานีหนองปลาดุก ซึ่งตรงนี้ถ้าพิจารณาดูแผนที่แนวทางรถไฟต่างก็มีเหตุผลอยู่ คือช่วงทางรถไฟสายใต้ที่ออกจากกรุงเทพก็มุ่งหน้ามาทางตะวันตกมาตลอด พอมาถึงสถานีหนองปลาดุกก็จะโค้งเลี้ยวลงใต้ไปยังสถานีบ้านโป่ง จะเรียกว่าสถานีบ้านโป่งเป็นจุดเริ่มต้นของการมุ่งหน้าลงใต้ก็ได้ ในขณะที่สถานีหนองปลาดุกเป็นจุดสิ้นสุดการเส้นทางในแนวตะวันออก-ตะวันตก

บริเวณอำเภอบ้านโป่งจะมีแม่น้ำแม่กลองไหลในแนวเหนือใต้อยู่ ถ้าจะไปกาญจนบุรีก็ต้องเดินทางขึ้นเหนือเลียบลำน้ำแม่กลองไปก่อน ก่อนที่จะเลี้ยวต่อไปทางตะวันตก การแยกทางรถไฟไปกาญจนบุรีจากสถานีบ้านโป่งจะทำให้รถไฟจากพม่ามุ่งลงใต้ได้สะดวกโดยไม่ต้องมีการกลับหัวรถจักร (ตรงนี้คาดว่าคงเป็นเพราะว่าอังกฤษให้ความสำคัญกับมลายู) ในขณะที่การแยกจากสถานีหนองปลาดุกนั้นทำให้การมุ่งจากทางกรุงเทพไปยังพม่าทำได้สะดวกกว่าแม้ว่าจะต้องสร้างทางรถไฟยาวกว่าการแยกออกจากสถานีบ้านโป่ง (ตรงนี้คาดว่าคงเป็นเพราะว่าญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการลำเลียงยุทธปัจจัยจากกรุงเทพไปพม่ามากกว่า)

 

รูปที่ ๒ ที่ตั้งของวัดดอนตูม ที่อยู่บริเวณที่เป็นทางโค้งที่ทางรถไฟสายใต้เลี้ยวลงใต้ ส่วนสายกาญจนบุรีเลี้ยวขึ้นเหนือ

บทความของ David Boggett เล่าเอาไว้ว่าในการตกลงสร้างเส้นทางรถไฟสายนี้ ทางฝ่ายไทยจะรับหน้าที่เป็นผู้เวนคืนที่ดิน (น่าจะเป็นตลอดแนวเส้นทางไปจนสุดพรมแดนพม่า เพราะมีการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนออกมาในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๖) และจัดหาแรงงานช่วยก่อสร้างในช่วงจากสถานีหนองปลาดุก ไปยังจังหวัดกาญจนบุรี เลียบแนวถนนที่มีอยู่เดิม (ซึ่งน่าจะเป็นทางหลวงหมายเลข ๓๒๓ ในปัจจุบัน) การสร้างทางนี้ไทยจะไม่ช่วยเลยก็คงจะไม่ได้ แต่ถ้าจะช่วยในบริเวณก่อสร้างที่กันดารก็คงจะไม่ไหว ถึงแม้ว่าในเวลานั้นแในทางทฤษฎีแล้วไทยยังเป็นอิสระอยู่ (ไม่ได้ถูกญี่ปุ่นปกครอง) แต่ในทางปฏิบัตินั้นก็อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพญี่ปุ่นในระดับหนึ่ง)

 

รูปที่ ๓ แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาแต่งตั้งเทศบาลเมืองบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี พ.ศ. ๒๔๗๘ (ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในประเทศไทย ๖ ปี) ประกาศในราชกิจจาบุเบกษา เล่ม ๕๒ หน้า ๑๗๘๕ เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘

เรื่องการลงโทษด้วยการตบหน้านี้น่าจะเป็นวัฒนธรรมแบบหนึ่งของเกาหลีและญี่ปุ่น ของญี่ปุ่นนั้นปัจจุบันนี้ไม่รู้ว่ามีอยู่หรือเปล่า แต่ของเกาหลียังมีอยู่แน่ เพราะไม่นานนี้ก็เห็นมีข่าวนักกีฬาหญิงดาวรุ่งคนหนึ่งของเกาหลีใต้ที่ตัดสินใจจบชีวิตตนเอง เนื่องจากถูกกดดันด้วยการใช้กำลังจากโค้ชและเพื่อนร่วมทีม (ซึ่งมีการลงโทษด้วยการเรียกให้แม่ไปตบหน้าลูกตัวเอง และการที่โค้ชตบหน้าลูกต่อหน้าแม่ด้วย)

การลงโทษด้วยการตบหน้าคนอื่นให้ดูต่อหน้าต่อตาของคนเกาหลีนั้น ผมเองได้ยินครั้งแรกก็ตอนเมื่อจบทำงานใหม่ ๆ เมื่อกว่า ๓๐ ปีที่แล้ว รุ่นพี่ที่ทำงานคนหนึ่งที่ถูกส่งไปทำงานวิศวกรรม detailed engineering ที่เกาหลีใต้เล่าให้ฟังว่า ปรกติตอนเช้าจะมีพนักงานขับรถของบริษัทมารับเขาที่โรงแรม เพื่อไปทำงานยังบริษัทที่เป็นผู้รับออกแบบโรงงานให้ทางไทย เช้าวันหนึ่งเกิดคลาดกัน เขาก็เลยเดินทางไปยังบริษัทเอง ระหว่างเวลาพักเขาก็เล่าให้ทางหัวหน้างานของทางเกาหลีฟังว่า วันนี้ไม่ได้เดินทางมากับรถ แต่เดินทางมาเอง (คือเล่าไปอย่างนั้นเหมือนกับบอกว่าเช้านี้มีเรื่องสนุกคือได้ผจญภัยด้วยการเดินทางในเกาหลีใต้ด้วยตนเอง) ปรากฏว่าทางหัวหน้างานเกาหลีเรียกพนักงานขับรถคนดังกล่าวมาพบทันที และตบหน้าให้ดูต่อหน้าต่อตา พี่คนดังกล่าวก็บอกว่าช็อคไปเหมือนกัน และหลังจากนั้นก็ไม่กล้ากล่าวอะไรอีกเลย (คงเป็นเพราะไม่อยากเห็นการลงโทษแบบนั้น และไม่อยากเห็นใครโดนลงโทษแบบนั้นอีก)

รูปที่ ๔ บันทึกเหตุการณ์ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในคืนวันที่ ๑๘ ธันวาคมมาจนถึงรุ่งเช้า

กองทัพญี่ปุ่นช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ มาจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามนั้นก็ไม่ได้มีแต่ทหารญี่ปุ่น แต่ยังมีทหารจากเกาหลีร่วมด้วย เพราะช่วงเวลาดังกล่าวญี่ปุ่นปกครองคาบสมุทรเกาหลีอยู่ ในเหตุการณ์ที่บ้านโป่งนั้น David Boggett บรรยายเอาไว้ว่า ทหารญี่ปุ่นรายหนึ่งได้ตบหน้าพระภิกษุรูปหนึ่ง เนื่องจากไปพบพระภิกษุรูปดังกล่าวอยู่ในพื้นที่หวงห้าม และเมื่อพระภิกษุรูปนั้นได้นำเหตุการณ์ดังกล่าวไปเล่าให้แรงงานไทยรับทราบ ก็เลยเกิดเหตุการณ์คืนวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) ที่กลุ่มแรงงานไทยได้เข้าโจมตีทหารยามญี่ปุ่นและสังหารเสียชีวิต ๑ ราย จากนั้นก็ตามด้วยการปะทะกันและมีการใช้อาวุธปืน กว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ก็ใช้เวลาประมาณ ๒๐ นาที ซึ่งก็มีทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตรวม ๒ นาย เหตุการณ์ดังกล่าวนำมาสู่ความตรึงเครียดในวันรุ่งขึ้นเมื่อมีทหารญี่ปุ่นถูกส่งเพิ่มเติมเข้ามาในพื้นที่ และทางกำลังตำรวจไทยที่ต้องเตรียมกำลังต่อสู้หากเกิดเหตุการณ์ทหารญี่ปุ่นต้องการยึดบ้านโป่ง (รูปที่ ๔)

จะว่าไปความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับทหารญี่ปุ่นก่อนเหตุการณ์ดังกล่าวก็ไม่สู้จะดีอยู่แล้ว เนื่องจากปรากฏว่าทางกองทัพญี่ปุ่นจับกุมคนไทยไปลงโทษเองโดยไม่ผ่านทางการไทย ซึ่งเป็นเหมือนกับการอยู่เหนือกฎหมายไทย (บทความของ David Boggett มีการบรรยายวิธีการทารุณเอาไว้ด้วยดังรูปที่ ๕) และความรู้สึกดังกล่าวก็มาระเบิดขึ้นเมื่อมีการกระทำที่ไม่เหมาะสมกับพระภิกษุ

 
รูปที่ ๕ บทความของ David Bogget ที่นำบันทึกของเชลยศึกชาวอังกฤษที่ได้เห็นการทำทารุณกรรมของทหารญี่ปุ่นต่อคนไทยที่ถูกจับได้ว่าทำการค้าขายกับเชลยศึก ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์ตบหน้าพระประมาณ ๑ เดือน

เมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว ได้มีโอกาสเดินทางโฉบไปทาง อ. บ้านโป่ง ก็เลยแวะถ่ายรูปที่วัดดอนตูมหน่อย บริเวณวัดนี้เคยเป็นที่ตั้งค่ายพักแรงงานและเชลยศึกที่ถูกนำมาสร้างทางรถไฟไปพม่า และที่ทำการของกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงคราม ก็เลยถือโอกาสแวะเข้าไปเยี่ยมสถานที่และถ่ายรูปสถูปที่เป็นที่เก็บอัฐิทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บในเมืองไทย ซึ่งก็นับว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปเยอะเหมือนกันเมื่อเทียบกับรูปที่ David Bogget ถ่ายเอาไว้เมื่อ ๑๘ ปีก่อนหน้า

ในช่วงแรกที่กองทัพญี่ปุ่นประสบกับชัยชนะนั้น ศพทหารที่เสียชีวิตในต่างแดนจะถูกเผาและนำเถ้ากระดูกกลับไปให้ญาติที่ญี่ปุ่น แต่ในระยะหลังที่กองทัพญี่ปุ่นประสบกับความพ่ายแพ้ที่ต้องถอยร่นแบบต้องทิ้งศพเพื่อนไว้ในสนามรบโดยไม่มีโอกาสจัดการศพให้ สิ่งที่พอจะทำได้ก็คือการตัดนิ้วเพื่อนที่เสียชีวิตมาทำการพิธีเผาเมื่อมีโอกาส และทั้งทหารญี่ปุ่นและแรงงานก่อสร้างเส้นทางจำนวนมากที่เป็นชาวเอเชียที่เสียชีวิตในการก่อสร้างเส้นทางนี้ ต่างก็ถูกฝังในหลุมศพที่ไม่มีการทำเครื่องหมายใด ๆ ให้มีการรำลึกถึง

รูปที่ ๖ อนุสรณ์ที่เก็บอัฐิของทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิตจากการป่วยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในประเทศไทย อนุสรณ์นี้ตั้งอยู่ที่ข้างศาลาวัดดอนตูม อ. บ้านโป่ง จ. ราชบุรี

 

รูปที่ ๗ ที่ตั้งของที่เก็บอัฐิของทหารญี่ปุ่นคือตรงลูกศรสีเหลืองชี้

 

รูปที่ ๘ ตอนที่ David Boggett บันทึกเรื่องเหตุการณ์ที่บ้านโป่งนี้ (ปีพ.ศ. ๒๕๔๕) จากรูปที่ถ่ายไว้ดูเหมือนที่ตรงนี้จะมีเพียงแค่สถูปเก็บอัฐิของทหารญี่ปุ่น แต่ตอนนี้มีของคนอื่นมาอยู่เคียงข้างแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น: