วันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2560

บันทึกเรื่องที่ต้องสอนซ้ำ บันทึกความทรงจำที่ได้พบเจอ (๒) MO Memoir : Monday 18 December 2560

"STP นี่นิยามที่ตรงไหน"
 
คำถามซื่อ ๆ ธรรมดา ๆ จากรุ่นพี่วิศวไฟฟ้าท่านหนึ่งเมื่อ ๒๙ ปีที่แล้ว ที่ทำเอาน้อง ๆ ที่เป็นทั้งวิศวเคมีและเครื่องกลถึงกับวงแตก เพราะน้อง ๆ แต่ละคนให้นิยามที่ไม่ตรงกัน (ผมเองก็อยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย)

STP ในที่นี้ย่อมาจากคำว่า Standard Temperature and Pressure อันที่จริงมันยังมีอีกคำหนึ่งคือ NTP ที่ย่อมาจาก Normal Temperature and Pressure ที่กำหนดอุณหภูมิและความดันที่ใช้ในการเปรียบเทียบปริมาตรแก๊ส ส่วนที่ว่า STP และ NTP นั้นเหมือนกันหรือไม่ และต่างนิยามที่อุณหภูมิและความดันเท่าใดนั้นลองดูในรูปที่ ๑ ข้างล่างที่ผมนำเอามาจาก wikipedia ในวันนี้ดูก่อนไหมครับ จากนั้นจึงลองกลับไปดูว่าที่เราเรียนมาตามตำรานั้น มันตรงกับนิยามไหน



บางที สิ่งที่เขาคิดไม่ตรงกับเรา เขาก็ไม่ได้ผิด สิ่งที่เราคิดไม่ตรงกับเขา เราก็ไม่ผิด และบางทีก็ต้องถามเหมือนกันว่าแม้ว่าสิ่งที่เราเรียนมาไม่ว่าจากโรงเรียนไหนในประเทศไทยนั้นต่างเรียนมาเหมือนกัน แล้วคนที่เขาจบมาจากประเทศอื่น เขาเรียนเหมือนกับเราหรือไม่
 
ตัวอย่างหนึ่งที่ผมเคยเจอก็คือนิยามของวาล์วระบายความดันที่มีชื่อเรียกอยู่ ๓ ชื่อคือ Safety valve, Relief valve และ Safety and Relief valve ซึ่งตรงนี้พบว่าจำนวนไม่น้อยจะบอกว่า Safety valve ใช้กับแก๊ส Relief valve ใช้กับของเหลว และ Safety and Relief valve ใช้ได้กับทั้งแก๊สและของเหลว
แต่พอไปอ่านตำราของ IChemE (Institute of Chemical Engineering) ที่เป็นสถาบันวิชาชีพทางวิศวกรรมเคมีของอังกฤษ เขาอธิบายว่านิยามตามย่อหน้าข้างบนนั้นเป็นนิยามตามแบบอเมริกา ส่วนทางอังกฤษนั้นถือว่าเหมือนกัน ไม่มีการแยกว่าชื่อไหนเป็นวาล์วสำหรับแก๊ส และชื่อไหนเป็นวาล์วสำหรับของเหลว
 
ทำนองเดียวกันครับ รถไฟใต้ดินที่ทางอังกฤษเรียก underground แต่ทางอเมริกาเรียก subway แต่พอเป็นทางเดินใต้ดินทางอังกฤษเรียก subway แต่ทางอเมริกาเรียก underground

ดังนั้นจะดีไหมครับ ถ้าก่อนที่เราจะคุยกันเรื่องความรู้ที่ลึกซึ้งลงไปหรือในระดับที่ก้าวหน้าขึ้นไป (ที่เขาชอบเรียกว่าระดับแอดวานซ์) เรามาลองคุยกันเรื่องนิยามศัพท์พื้นฐานกันก่อนว่าแต่ละคนเข้าใจตรงกันไหม ถ้าพบว่ามีการใช้นิยามที่แตกต่างกัน องค์กรนั้นก็ควรมีการตกลงกันว่าจะให้เลือกใช้นิยามไหน

แต่มียกเว้นอยู่ตัวย่อหนึ่งนะครับที่บ้านเรามีบริษัทหนึ่งนิยามขึ้นมาเองแบบแตกต่างไปจากคนทั้งโลก นั่นคือคำว่า NGV ที่คนทั้งโลก (ยกเว้นบริษัทหนึ่งในประเทศไทย) เข้าใจตรงกันว่ามันย่อมาจาก Natural Gas Vehicle ที่หมายถึงรถที่ใช้แก๊สธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (คือตัวรถนะครับ ไม่ใช่แก๊ส) ส่วนแก๊สธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับ NGV เขาเรียกว่า CNG ที่ย่อมาจาก Compressure Natural Gas (คือแก๊สนะครับ ไม่ใช่รถ) ในกฎหมายบ้านเราก็ใช้คำว่า CNG หมายความถึงแก๊สธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับรถ ส่วน NGV ที่ย่อมาจาก Natural Gas for Vehicle (มีการเติมคำว่า for เข้าไป) นั้นเป็นนิยามเฉพาะของบริษัทหนึ่งเท่านั้นนะครับ (แต่ทำเอาคนไทยส่วนใหญ่เข้าใจความหมายผิดไปด้วย)
 
ที่หนักกว่าเรื่องคำย่อเดียวกันแต่มีความหมายต่างกันเห็นจะได้แก่การที่ใช้แต่คำย่อเต็มไปหมด โดยที่ไม่รู้ว่ามันย่อมาจากอะไรและมีความหมายอะไร ผมเองก็เคยเจอเหตุการณ์เช่นนี้ ปีหนึ่งได้รับหน้าที่เป็นตัวแทนภาควิชาให้ไปเข้าร่วมประชุมเตรียมพร้อมการตรวจประเมินคุณภาพจากหน่วยงานภายนอก ปัญหาเริ่มต้นแต่ตอนที่ผมไปลงทะเบียน เจ้าหน้าที่ที่รับลงทะเบียนก็ถามผมว่าอาจารย์มาในฐานะเป็น xxx ใช่ไหม (คือจำไม่ได้แล้วว่าคำอะไร รู้แต่ว่าเป็นคำย่ออักษรภาษาอังกฤษ ๓ ตัว) ผมก็ตอบไปว่าไม่รู้เหมือนกัน แล้ว xxx นี้คืออะไรช่วยบอกหน่อยได้ไหม ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ไม่ยอมบอกผม คิดว่าผมถามกวน ๆ ผมก็บอกไปว่าที่ถามเนี่ยเพราะไม่รู้ ไม่เคยทำงานด้านนี้มาก่อน เพิ่งจะมารับงาน พออธิบายไปอย่างนี้ทางเจ้าหน้าที่ก็เลยหันไปถามเพื่อนอีกคนข้าง ๆ ว่า xxx นี้ย่อมาจากอะไร (อ้าว กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านนี้โดยตรงก็ยังไม่รู้เลยว่าคำย่อที่ตัวเองใช้ในการทำงานอยู่ทุกวันนั้นมันย่อมาจากอะไร)
 
เรื่องยังไม่จบครับ การบรรยายนี้มีวิทยากรมาให้คำแนะนำในการเตรียมการ พอวิทยากรบรรยายเสร็จก็ถามว่ามีใครมีข้อสงสัยตรงไหนบ้าง ผมก็ยกมือถามว่าคำย่อต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้นย่อมาจากอะไร หมายถึงอะไร วิทยากรก็ถามกลับมาว่าคำไหนบ้าง ผมก็ตอบไปว่าทุกคำเลย เพราะผมเพิ่งจะได้รับหน้าที่ให้มาทำงานนี้ และในการบรรยายและเอกสารประกอบก็ไม่มีบอกเลยว่าคำย่อแต่ละคำนั้นย่อมาจากอะไร มีความหมายอย่างไร งานนี้ทำเอาวิทยากรอึ้งไปเหมือนกัน "เพราะเขาก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน"
 
งานนี้กลายเป็นว่าทางผู้ช่วยอธิการบดี (ซึ่งบังเอิญเป็นเพื่อนร่วมรุ่นวิศวกับผมเอง) ต้องมาออกโรงเอง พร้อมยกตัวอย่างคำย่อคำหนึ่งคือ CDS ที่ย่อมาจาก "common data set" หรือแปลเป็นไทยว่า "ฐานข้อมูลร่วม" ซึ่งในระหว่างการบรรยายนั้นผมก็ถามคนนั่งอยู่ข้าง ๆ ว่าคำนี้หมายถึงอะไร ซึ่งเขาก็ตอบผมไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ผมเลยเสนอแนะในที่ประชุมว่าควรมีการจัดทำสารบัญคำศัพท์ต่าง ๆ ให้เป็นบรรทัดฐานในการทำงาน เพื่อที่ผู้ทำงานแต่ละคนจะได้มีความเข้าใจที่ตรงกัน
ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด

พอช่วงพักรับประทานของว่าง (ที่เราชอบเรียกว่าคอฟฟี่เบรคนั่นแหละครับ) มีผู้เข้าร่วมประชุมหลายท่านแอบมา กระซิบกับผมว่าขอบคุณมากที่อาจารย์ช่วยถาม เพราะเขาเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคำย่อแต่ละคำที่วิทยากรนำมาใช้นั้นมีความหมายอย่างไรบ้าง กลายเป็นว่าเรากำลังทำงานกับแบบว่า เวลาผู้ใต้บังคับบัญชามีข้อสงสัย ก็ไม่กล้าถาม กลัวเพื่อนร่วมงาน (ซึ่งก็มีข้อสงสัยเช่นเดียวกัน) คนอื่นจะฉวยโอกาสกล่าวหาว่าไม่มีความรู้แล้วเหยียบซ้ำ และทางในกลับกันตัวผู้บังคับบัญชาเองนั้นแม้ว่าจะมี่ข้อสงสัยก็ไม่กล้าถาม เพราะกลัวลูกน้องนินทาเอาได้ว่าไม่มีความรู้แล้วมาเป็นหัวหน้าได้อย่างไร
 
อีกปัญหาหนึ่งที่เคยเห็นบนหน้าเว็บบอร์ด คือมีคนถามว่าจะเตรียมสารละลายเข้มข้น 1 N ต้องทำอย่างไร ก็มี "ผู้รู้" ตอบถามกลับมาว่า "พิมพ์ผิด" หรือเปล่า หน่วยที่ถูกต้องต้องเป็น 1 M (เขาคงคิดว่าแป้นพิมพ์อักษร N กับ M มันอยู่ใกล้กัน ก็เลยพิมพ์ผิดกันได้) ว่าแล้วก็แสดงวิธีการคำนวณว่าถ้าต้องการเตรียมสารละลายเข้มข้น 1 M ต้องทำอย่างไร
 
สำหรับคนรุ่นเก่าที่เรียนเคมีมา พอเห็นหน่วยความเข้มข้นที่เป็น N ก็จะเข้าใจทันทีว่ามันหมายถึง Normality และหน่วยนี้ก็ยังคงมีการใช้งานอยู่ แต่ผู้ที่เรียนจบในยุคหลังที่ตำราในโรงเรียนและรวมถึงในระดับมหาวิทยาลัยนั้นไม่มีการกล่าวถึงหน่วย N ใช้แต่หน่วย M ที่ย่อมาจาก Molarity เพียงอย่างเดียว ก็เลยเข้าใจไปว่าตัวอักษร N ที่เห็นนั้นน่าจะเกิดจากการพิมพ์ผิด ทั้ง ๆ ที่ตัวเขาเองนั้นเข้าใจผิด หน่วย N และ M นั้นไม่เหมือนกันซะทีเดียว ถ้าเป็นกรณีของโซดาไฟหรือ NaOH ก็ยังพอว่า แต่ถ้าเป็นกรดกำมะถัน H2SO4 นี่ไปคนละเรื่องเลย ถ้าใครทำงานอยู่ในสถานที่ทำงานที่มีคนอายุห่างกันมาก ๆ ก็น่าจะลองตรวจสอบดูนะครับว่า มันมีเรื่องแบบนี้อยู่ในที่ทำงานของเราโดยเราไม่รู้ตัวหรือเปล่า

อีกกรณีหนึ่งที่เคยเจอก็คือการใช้ปิเปตที่เราเรียกว่า transfer pipette ปิเปตชนิดนี้มันวัดได้แค่ปริมาตรเดียว ก่อนที่นิสิตปี ๒ จะเริ่มเรียนแลปเคมีที่ภาควิชา ผมเคยถามคำถามนิสิตว่า เวลาใช้ปิเปตแบบนี้ (หยิบปิเปตให้ดูเป็นตัวอย่าง) ต้องไล่ของเหลวที่ค้างอยู่ที่ปลายปิเปตออกหรือไม่ ปรากฏว่ามีนิสิตตอบมาทั้ง "ต้อง" และ "ไม่ต้อง" ไล่ของเหลวที่ปลายปิเปต
 
ที่น่าสนใจก็คือคำตอบของทั้งสองคำตอบนั้นมาจากการเรียนในวิชาเดียวกัน (ปฏิบัติการเคมีปี ๑) แต่เรียนจากอาจารย์ผู้สอนคนละคนกัน ผมก็เลยถามต่อไปว่าอาจารย์คนที่สอนว่า "ต้อง" ไล่ของเหลวออกให้หมดนั้น มี "อายุ" น้อยกว่าอาจารย์อีกคนที่สอนว่า "ไม่ต้อง" ไล่ของเหลวใช่ไหม ซึ่งนิสิตก็ตอบว่าใช่ (พร้อมกับทำท่างง ๆ ว่าวันเกี่ยวกันอย่างไร)
 
รายการนี้คาดว่าเป็นเพราะในระดับมัธยมปลายนั้นแทบไม่มีการให้นักเรียนทดลองทำปฏิบัติการ ทีนี้พอนักเรียนได้รับทุนไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่ระดับปริญญาตรี คงไปพบกับการใช้ปิเปตที่ต้องไล่ของเหลวเสมอ ก็เลยเข้าใจว่าการใช้ปิเปตที่ถูกต้องคือต้องไล่ของเหลวออกให้หมด พอกลับมาสอนหนังสือที่เมืองไทย ก็เลยสอนแบบนี้ ทั้ง ๆ ที่ปิเปตที่ใช้กันในบ้านเรานั้น (ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดได้ไหม) เป็นชนิดที่ "ไม่ต้อง" ไล่

ตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น (ที่ได้มาจากประสบการณ์ส่วนตัวในการสอนหนังสือนะครับ) ก็เพื่อจะบอกว่า เวลาที่คนต่างวัยคุยกันเนี่ย บางครั้งดูเผิน ๆ มันก็ไม่น่ามีปัญหาใดในการสื่อสาร แต่พอเอาเข้าจริง ๆ แล้วกลับพบว่าต่างคนต่างเข้าใจไปกันคนละเรื่องเลย เพราะต่างคิดว่าผู้ฟังหรือคู่สนทนานั้นเขาเข้าใจข้อมูลแบบเดียวกับที่ตัวเองเข้าใจ
 
ช่วงเปิดเทอมเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผมอยากรู้ว่านิสิตปี ๒ ที่เพิ่งจะเข้าภาควิชานั้นมีพื้นฐานความรู้แบบใด ก็เลยทำแบบทดสอบง่าย ๆ ให้นิสิตทดลองทำกัน (ไม่ต้องใส่ชื่อ เลขประจำตัว) และหนึ่งในคำถามของแบบทดสอบก็คือให้นิสิต "วาดรูปต้นสับปะรดที่มีผลสับปะรดติดอยู่" แล้วผลออกมาเป็นอย่างไรเหรอครับ ดูตัวอย่างในรูปที่ ๒ ข้างล่างดูก่อนก็ได้ครับ แต่ถ้าอยากดูตัวอย่างอื่นอีก สามารถดูได้จากบทความบนหน้า blog วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๐ เรื่อง "วาดรูปต้นสับปะรดที่มีผลสับปะรดติดอยู่" ได้ครับ เห็นอย่างไรก็ตามนั้นแหละครับ :) :) :)


รูปที่ ๒ ส่วนหนึ่งของรูปต้นสับปะรดพร้อมผล ที่ผมให้นิสิตปี ๒ วาดให้ดู

บทความชุดนี้ยังไม่จบนะครับ ยังมีตอนที่ ๓ ต่ออีก :) :) :)

ไม่มีความคิดเห็น: