วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2560

Piping and Instrumentation Diagram (P&ID) ของอุปกรณ์ ตอน Shell and Tube Heat Exchanger (๓) MO Memoir : Thursday 26 January 2560

ฉบับนี้เป็นตอนที่ ๓ และเป็นตอนสุดท้ายในชุด Shell and tube heat exchanger สิ่งหนึ่งที่อยากขอย้ำก็คือรูปต่าง ๆ ที่นำมาให้ดูนั้นเป็นเพียงแค่ "ตัวอย่าง" การใช้งานเพียงแค่ "ส่วนหนึ่ง" เท่านั้น เพื่อให้ผู้ที่ไม่มีโอกาสได้เห็นของจริงได้มีภาพการทำงานจริงเอาไว้บ้าง ที่สำคัญคืออย่าไปยึดว่าในการออกแบบจริงนั้นจะต้องเป็นไปตามรูปที่นำมาให้ดู ในการออกแบบจริงจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยหลายอย่างประกอบด้วย
 
ฉบับนี้คงไม่มีอะไรบ้าง ดูรูปและอ่านคำบรรยายประกอบเล่น ๆ ก็แล้วกันครับ


รูปที่ ๑ Plate heat exchanger ของโรงงานผลิตน้ำมันพืชแห่งหนึ่ง ท่อด้านบนเป็นวาล์วควบคุมปริมาณไอน้ำให้ความร้อน ส่วนด้านล่างเป็นท่อให้ไอน้ำที่ควบแน่นระบายออก ท่อของ process fluid ที่มารับความร้อนนั้นอยู่ด้านหลังท่อไอน้ำ ข้อดีของเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนแบบนี้คือพื้นที่ผิวถ่ายเทความร้อนต่อหน่วยปริมาตรเครื่องมีค่าสูง สามารถทำการปรับเปลี่ยนพื้นที่ผิวถ่ายเทความร้อนได้ง่ายด้วยการเพิ่มหรือลดจำนวนแผ่นที่เรียงซ้อนกันอยู่ แต่ก็มีข้อเสียคือด้วยรูปร่างที่แบนของมันจึงไม่เหมาะกับระบบความดันสูง และยังต้องใช้ปะเก็นในการป้องกันการรั่วซึมระหว่างแผ่นที่ประกบเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดการรั่วซึมได้ง่าย ปัญหานี้เห็นได้ในรูปจากการที่ฐานตัวเครื่องจึงต้องมีการก่อเป็นขอบล้อมรอบเพื่อรองรับของเหลวที่อาจรั่วออกมา อย่างน้อยก็ตอนที่ทำการถอดเครื่องออกมาทำความสะอาด เพราะตัวแผ่นมันไม่มีท่อ drain

รูปที่ ๒ ตัวอย่าง P&ID ของระบบไอน้ำให้ความร้อน โดยไอน้ำไหลเข้าทางด้าน shell ของเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนชนิด shell and tube ในรูปนี้ CD คือ continuous drainer หรือ steam trap ท่อที่ออกจาก CD ไปบรรจบกับท่อไอน้ำด้านขาเข้าคือท่อ vent line (ที่มีการกล่าวใน Note 4)

รูปที่ ๓ อีกตัวอย่างหนึ่งของ P&ID ของระบบไอน้ำให้ความร้อน โดยไอน้ำไหลเข้าทางด้าน shell ของเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนชนิด shell and tube พึงสังเกตว่าวาล์วระบายความดัน (PSV) ของระบบท่อไอน้ำนั้นจะปล่อยออกสู่อากาศโดยตรง (เพราะถือว่าน้ำเป็นสารที่ปลอดภัย) แต่ทิศทางการหันท่อด้านขาออกนั้นอาจต้องพิจารณากันหน้างานว่าแนวไหนปลอดภัยที่สุด คือต้องคำนึงถึงอุปกรณ์ที่ไอน้ำร้อนจะพุ่งเข้าใส่ และเส้นทางที่อาจมีคนเดินผ่านด้วย
รูปที่ ๔ รูปนี้เป็นลักษณะของหม้อต้มซ้ำ (reboiler) ที่ก้นหอกลั่น เป็นชนิด thermosyphon ที่มีลักษณะเป็นเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนชนิด shell and tube ที่วางตั้ง โดยไอน้ำจะไหลเข้าส่วน shell จากทางด้านบน ควบแน่นเป็นของเหลวและไหลออกทางด้านล่าง ส่วนของเหลวที่ต้องการต้มให้เดือดจะไหลเข้าส่วน tube ทางด้านล่าง และเดือดกลายเป็นไอออกไปทางด้านบน กลับเข้าไปในหอกลั่นไป ของเหลวที่ก้นหอกลั่นก็จะไหลเข้ามาทดแทนส่วนที่เดือดกลายเป็นไอ เกิดการไหลหมุนเวียนโดยไม่ต้องใช้ปั๊มช่วย

รูปที่ ๕ รูปแบบหม้อต้มซ้ำที่คล้ายกับในรูปที่ ๔ แตกต่างตรงที่มีถังเก็บรวบรวม steam condensate เพิ่มเติมเข้ามา โดยระดับของถังเก็บรวบรวมไอน้ำที่ควบแน่นนี้จะต้องอยู่ต่ำกว่าระดับของหม้อต้มซ้ำ ทั้งนี้เพื่อให้ไอน้ำที่ควบแน่นไหลโดยอาศัยแรงโน้มถ่วงลงมาในถังเก็บรวบรวมดังกล่าวได้ ส่วนจะเอาไอน้ำที่ควบแน่น (ที่ยังคงมีพลังงานความร้อนและอาจอยู่ภายใต้ความดัน) ไปใช้ทำอะไรก็อีกเรื่องหนึ่ง (เช่นนำไป flash เป็นไอน้ำความดันต่ำ หรือใช้ในรูปของ steam condensate ที่นำไปใช้ผลิต saturated steam ที่ desuperheater

รูปที่ ๖ เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนแบบ shell and tube ชนิด kettle type คือส่วน shell จะมีที่ว่างอยู่เหนือระดับของ tube (ที่เป็นท่อรูปตัวยู) เพื่อใช้เป็นที่อยู่ของไอของของเหลวในด้าน shell ปรกติที่เคยเจอจะใช้เป็นหม้อต้ำซ้ำโดยไอน้ำจะไหลเข้าทางด้าน tube และของเหลวที่ต้องการต้มจะไหลเข้าทางด้านล่างของส่วน shell และระเหยกลายเป็นไอออกไปทางด้านบน แต่ทำไมรูปนี้จึงเอาน้ำหล่อเย็นเข้าด้าน tube แทนก็ยังหาเหตุผลไม่ได้เหมือนกัน จะใช้เป็นเครื่องควบแน่น (condenser) ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะถ้าเป็นเช่นนี้ ส่วน tube จะต้องแลกเปลี่ยนความร้อนกับส่วนไอ ไม่ใช่ส่วนของเหลว

รูปที่ ๗ ตัวอย่าง P&ID ของเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนแบบท่อสองชั้น (double pipe) ที่ท่อด้านมีผิวนอกที่มีครีบ (fin type) ช่วยในการถ่ายเทความร้อน ข้อดีของเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนแบบท่อสองชั้นแบบนี้คือสามารถทำการปรับเปลี่ยนพื้นที่ผิวในการถ่ายเทความร้อนได้ง่ายด้วยการปรับเปลื่ยนจำนวนจำนวนท่อที่นำมาต่อเข้าด้วยกัน


รูปที่ ๘ ตัวอย่าง P&ID ของเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนชนิด plate รูปนี้อันที่จริงจะเรียกว่าเป็น P&ID ก็ไม่น่าจะถูกนัก เพราะมันเป็นเหมือนสัญลักษณ์แสดงที่จะใช้ใน P&ID มากกว่า แบบเดียวกับรูปที่ ๗

ไม่มีความคิดเห็น: