วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2558

ทำความรู้จัก Project Design Questionnaire ตอนที่ ๑ MO Memoir 2558 Mar 2 Mon

บทความชุดนี้เป็นตอนต่อเนื่องจากชุด "ทำความรู้จัก Process Design Questionnaire" ที่มีทั้งสิ้น ๖ ตอน โดยตอนที่ ๑ เริ่มจากฉบับที่ ๙๒๑ วันอังคารที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๘ และไปสิ้นสุดยังตอนที่ ๖ ในฉบับที่ ๙๓๕ วันอังคารที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
  
บทความชุดก่อนหน้านั้นเป็นคำถามที่เน้นไปที่ "Process" หรือกระบวนการผลิตเป็นหลัก ส่วนคำถามในชุดใหม่ที่เริ่มต้นใน Memoir ฉบับนี้นั้นเน้นไปที่ "Project" หรือโครงการก่อสร้างเป็นหลัก แต่เนื้อหาในคำถามบางส่วนนั้นก็มีความซ้ำซ้อนกันอยู่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างงานก่อสร้างและงานฝ่ายผลิต
 
คำถามในชุดนี้มีทั้งหมด ๒๑ หน้า แต่จะค่อยนำลงมาเป็นตอน ๆ เพื่อไม่ให้เรื่องมันยาวเกินไป

เริ่มจากหน้า Page 1 of 21 TABLE OF CONTENTS หน้านี้ไม่มีอะไรมาก เป็นเพียงแค่บอกว่าเนื้อหาของแบบสอบถามมีกี่หัวข้อ ในเรื่องอะไรบ้าง

ถัดไปคือหน้า Page 2 of 21 หัวข้อ 1.0 INTRODUCTION หน้านี้เป็นส่วนของบทนำ คำถามเน้นไปที่มาตรฐานที่จะใช้ในการออกแบบ ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจหน่อยว่ามาตรฐานนั้นเราอาจแยกเป็น ๒ ประเภทคือ "มาตรฐานสากล (International standard" และ "มาตรฐานท้องถิ่น (Local standard)" (ในแบบสอบถามบางทีจะใช้คำว่า code (ข้อกำหนด) เป็นคำรวม ๆ ครอบคลุมคำว่า standard ด้วย แต่จะว่าไปแล้วสองคำนี้มันก็ไม่เหมือนกันซะทีเดียว)
 
"มาตรฐ,านสากล" คือกฏเกณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับกันระหว่างประเทศ มักออกโดยองค์กรวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านต่าง ๆ และได้รับการรับรองโดยสถาบันมาตรฐานของประเทศต่าง ๆ ในบ้านเราที่มีการนำมาใช้ก็เห็นจะได้แก่มาตรฐานของประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และเยอรมัน 
  
ในกรณีของระบบท่อ (piping และ tubing0 ถ้าเป็นของสหรัฐอเมริกาหรือสหราชาอาณาจักรจะใช้ระบบ "นิ้ว" แต่ถ้าเป็นระบบญี่ปุ่นหรือเยอรมันจะใช้ระบบ "มิลลิเมตร" แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าถ้าโรงงานเลือกใช้ท่อระบบนิ้วแล้วจะต้องเลือกใช้หน่วยวัดความยาวเป็นฟุต สามารถที่จะใช้หน่วยวัดความยาวเป็นเมตรได้
 
ในหลาย ๆ กรณีแต่ละประเทศจะมีการกำหนดมาตรฐานเพิ่มเติมสำหรับการติดตั้ง ก่อสร้าง ฯลฯ นอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ตรงนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของแต่ละท้องถิ่น (เช่นประเทศในเขตร้อนไม่จำเป็นต้องมีการป้องกันหิมะ แต่สำหรับของเหลวที่จัดว่าเป็นสารไม่ไวไฟสำหรับประเทศในเขตหนาวนั้น (พวกมีจุดวาบไฟ (flash point) สูงกว่า 37ºC หรือ 100ºF) อาจกลายมาเป็นของเหลวไวไฟในประเทศเขตร้อนได้ ทำให้วิธีการเก็บรักษาแตกต่างกัน) ตัวอย่างหนึ่งที่เคยพบเห็นก็คือการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าจากผู้จำหน่ายไฟฟ้า (ของบ้านเราคือการไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาพ ขึ้นอยู่กับว่าโรงงานตั้งที่ไหน) เข้ากับตัวโรงงาน ทางผู้จำหน่ายไฟฟ้าอาจมีข้อกำหนดเพิ่มเติมสำหรับการติดตั้งเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับผู้ใช้รายอื่น หรือในกรณีของการติดตั้งปั๊มน้ำสำหรับเพิ่มแรงดันน้ำในบ้านนั้น ทางการประปาก็จะกำหนดว่าไม่ให้ต่อปั๊มโดยตรงเข้ากับระบบท่อ แต่ให้ต่อจากถังพักน้ำแทน เป็นต้น



หน้า Page 3 of 21 หัวข้อ 2.0 SITE INFORMATION หัวข้อแรกของส่วนนี้คือข้อมูลตำแหน่งที่ตั้ง (Location Data) เริ่มด้วยคำถามเกี่ยวกับแผนที่ตำแหน่งที่ตั้ง เส้นทางการคมนาคมต่าง ๆ (ทางเรือ รถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน) ทั้งภาพกว้างและบริเวณพื้นที่ของโครงการ โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขนส่ง เช่น โกดังเก็บของ เส้นทางรถไฟแยกย่อย (rail spurs) เคยมีการสำรวจพื้นที่มาก่อนหรือไม่ ฯลฯ
 
คำถามถัดไปเกี่ยวกับเส้นทางการเข้าถึง (Access to site) สภาพของถนนว่ารับน้ำหนักได้เท่าใดและกว้างเท่าใด เป็นตัวกำหนดขนาดและน้ำหนักของอุปกรณ์และเครื่องจักรที่จะเดินทางในเส้นทางดังกล่าวได้) ใช้ได้ทุกฤดูกาลหรือไม่ สิ่งที่อาจเป็นสิ่งกีดขวางการสัญจร เช่นสะพานลอย อุโมงค์ลอด การรับน้ำหนักและรูปแบบของสะพาน และถ้าจำเป็นต้องมีการสร้างใหม่ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสร้าง และการขออนุญาตก่อสร้างต้องติดต่อใคร

ถัดมาเป็นคำถามเกี่ยวกับท่าเรือ (Dock) ว่ามีสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนถ่ายอะไรบ้าง ระดับความลึกของน้ำและระดับความกว้างของช่องทาง (กำหนดขนาดเรือที่จะเข้าถึงได้ ถ้าเรือขนาดใหญ่เข้าได้ก็อาจทำการประกอบชิ้นส่วนสำเร็จรูปขนาดใหญ่ในโรงงาน แล้วค่อยขนมาติดตั้งหน้างาน แทนการแยกออกเป็นชิ้นย่อย ๆ แล้วค่อยนำมาประกอบใหม่หน้างาน) ช่องทางการคมนาคมทางอากาศ และระยะห่างจากสถานที่ก่อสร้างไปยังสนามบิน


ถัดไปในหน้า Page 4 of 21 เริ่มด้วยคำถามเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสาร พึงระลึกว่าแบบสอบถามนี้เป็นแบบสอบถามเมื่อกว่า ๓๐ ปีที่แล้ว (โทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่งจะเริ่มมีการทดลองใช้) และสำหรับงานก่อสร้างในเขตท้องถิ่นห่างไกลตัวเมืองนั้นยังอาจต้องทำการติดต่อสื่อสารกันด้วยวิทยุ (ในบ้านเราเองจะขอติดตั้งอะไรสักอย่างต้องมี "บ้านเลขที่" ก่อน แต่บ้านเลขที่จะมีได้มันก็ต้องมีตัวอาคารถาวร แต่ในระหว่างการก่อสร้างนั้นก็อาจขอใช้น้ำ-ไฟฟ้าแบบชั่วคราวก่อนได้)
 
ถัดไปเป็นตำแหน่งเกี่ยวกับสภาพภูมิศาสตร์ของสถานที่ตั้ง เช่น พื้นที่ได้ระดับหรือไม่ (ถ้าพื้นที่มีความลาดเอียง มีความสูงที่แตกต่างกัน จะได้พิจารณาได้ว่าควรจะทำอย่างไร เช่นปรับให้เป็นระดับเดียวกันทั้งหมด หรือปรับเป็นระดับขั้นบันได) ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำท่วม ความถี่ และระดับน้ำที่ท่วม ผลกระทบจากน้ำขึ้นน้ำลง ตำแหน่งที่ตั้งทะเลสาบ (หรือหนอง บึง อ่างเก็บน้ำ) แม่น้ำ ลำธาร (แหล่งน้ำเหล่านี้อาจส่งผลถึงระดับน้ำใต้ดินของสถานที่ก่อสร้างโรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล) โรงงานแห่งหนึ่งที่ได้ไปเห็น ตั้งอยู่ในบริเวณภูมิประเทศที่เป็นที่ลาดลงโดยโรงงานตั้งอยู่ทางด้านต่ำของภูมิประเทศ บริเวณนี้ในหน้าแล้งใต้ดินจะไม่มีน้ำ แต่พอหน้าฝนเมื่อมีฝนตกทางด้านภูมิประเทศที่อยู่สูงกว่า น้ำฝนที่ซึมลงดินจะไหลงสู่ภูมิประเทศที่ต่ำกว่าในชั้นดินและทรายอยู่ใต้ดิน ทำให้เกิดเป็นทางน้ำไหลใต้ดินตามฤดูกาล (คือพอน้ำฝนจะมีน้ำไหล แต่พอหน้าร้อนจะไม่มี)
 
ถัดไปเป็นข้อมูลเกี่ยวกับชั้นดิน ประวัติการเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณดังกล่าว ระดับน้ำใต้ดิน สิ่งก่อสร้างอื่นที่อยู่ใต้ผิวดิน (ที่อาจมีอยู่ในบริเวณ) ตรงนี้จะเกี่ยวข้องกับการออกแบบระบบฐานราก (ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับน้ำหนักของชั้นดิน) และสิ่งก่อสร้างที่อยู่ต่ำกว่าระดับผิวดิน (เช่นถังเก็บที่อยู่ใต้ผิวดิน) 
 

และสุดท้ายของคำถามในชุด SITE INFORMATION คือหน้า Page 5 of 21 เริ่มด้วยคำถามเกี่ยวข้องกับการปรับระดับหน้าดิน (ว่าจะต้องมีการกำจัดสิ่งที่มีอยู่เดิม (เช่นต้นไม้) ขุดดินที่สูงออกไป หรือต้องมีการใช้ระเบิด หรือต้องมีการถมที่ หรือไถปรับ) วัสดุส่วนที่เหลือจะกำจัดทิ้งที่ไหน และถ้าต้องมีการถมจะใช้วัสดุใดในการถม ต้องมีการกำจัดน้ำ (dewatering) ออกจากดินหรือไม่ จำเป็นต้องมีการสร้างเขื่อนกั้นชั่วคราว (cofferdam) หรือเปลี่ยนเส้นทางการไหลของน้ำในระหว่างการก่อสร้างหรือไม่ ปัญหาและข้อพึงระวังต่าง ๆ ในการระบายน้ำทิ้ง (ไม่ว่าจะเป็นในระหว่างการก่อสร้างหรือเมื่อโรงงานสร้างเสร็จ) และถ้าเป็นการก่อสร้างบนพื้นที่ที่เคยมีสิ่งก่อสร้างเดิมอยู่ จำเป็นต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งก่อสร้างที่มีอยู่ใต้ดินเดิมด้วย

แบบสอบถามนี้ออกแบบจากประเทศสหรัฐอเมริกาสำหรับการก่อสร้างในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก แต่สำหรับในหลายประเทศทั่วโลก (ซึ่งประเทศไทยควรจะรวมอยู่ด้วย) ควรมีคำถามเพิ่มเติมอีกข้อหนึ่งคือ พื้นที่บริเวณนั้นเคยถูก "ทิ้งระเบิด" ในช่วงสงครามมาบ้างหรือเปล่า ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดในบ้านเราก็คือบริเวณสถานีรถไฟบางซื่อ ที่เป็นเป้าหมายของการทิ้งระเบิดในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ และถูกทิ้งระเบิดทำลาย หลังการทิ้งระเบิดผ่านไป ๗๐ ปี ปีที่แล้วก็ยังมีการขุดพบลูกระเบิดที่ทิ้งลงมาแล้วแต่ไม่ระเบิดฝังอยู่ใต้พื้นดินระหว่างการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงอีก ๒ ลูก
(อ่านข่าวได้ที่ http://www.innnews.co.th/shownews/show?newscode=527112

ไม่มีความคิดเห็น: