วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

อะไรคือความเสี่ยง อะไรคือความเสี่ยงที่ยอมรับได้ MO Memoir : Monday 12 July 2564

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีศิษย์เก่าภาควิชาคนหนึ่งติดต่อผมมาตอนเที่ยงวันอังคาร ขอให้ไปร่วมเสวนาเรื่องโรงงานระเบิดหน่อย ผมก็ตอบไปว่ามันไม่มีข้อมูลอะไรที่ชัดเจนเลย จะให้พูดอะไรได้ เขาก็บอกมาว่างั้นขอให้อาจารย์พูดเรื่องความเสี่ยงและการจัดการความเสี่ยงสำหรับโรงงานหน่อยก็แล้วกัน เนื่องจากในงานเสวนานี้มีคนพูดหลายคน (วิทยากร ๘ + พิธีกร ๑ ในเวลา ๖๐ นาที) ก็ถือว่าช่วย ๆ เขาไป

เรื่องพูดศัพท์เทคนิคที่ดูดีแต่เผลอ ๆ ทั้งคนพูดคนฟังต่างไม่รู้ว่าพูดอะไรออกมาเนี่ยเจอมาเยอะครับ ยิ่งวันนั้นมีคนฟังหลากหลาย ให้เวลาพูดแค่ ๔ นาทีก็เลยจัดตัวอย่างง่าย ๆ ให้ คือรูปที่ ๑ (ซ้าย) ข้างล่าง สมมุติว่าเดิมถนนจากเมือง A ไปเมื่อง B ระยะแค่ ๕ กิโลเมตรแต่มีทางโค้งอันตรายหลายโค้ง (ลูกศรสีดำ อันอาจเป็นผลจากลักษณะภูมิประเทศ) และก็มีรถแหกโค้งประจำ ก็เลยมีเสนอใหม่ให้ตัดถนนเป็นแนวตรงเลย (ลูกศรสีชมพู) ปัญหารถแหกโค้งก็หมดไป ดังนั้นเราจะสรุปได้ไหมครับว่าทางตรงปลอดภัยกว่าทางโค้ง

รูปที่ ๑ (ซ้าย) ระยะทางจาก A ไป B เดิมเป็นทางโค้ง มีรถแหกโค้งเป็นประจำ เลยตัดใหม่เป็นทางตรงยาว ๕ กิโลเมตร ซึ่งทางตรงลดความเสี่ยงจากการที่รถจะแหกโค้งได้ คำถามก็คือระยะทางจาก C ไป D ถ้าตัดถนนเป็นทางตรงยาว ๒๕ กิโลเมตร จะยังคงมีความปลอดภัยในระดับเดียวกันกับทางตรงจาก A ไป B ไหม (ขวา) ทางสามแยกรูปตัว T เดิมมีพุ่มไม้บังมุมมอง ทำให้คนขับที่ขับในแนวตรงมองไม่เห็นรถที่มาจากถนนที่เข้ามาบรรจบ ถ้าตัดพุ่มไม้ออกไปเพื่อให้คนขับรถทั้งจากแนวตรงและแนวบรรจบต่างมองเห็นอีกฝ่ายได้ จะทำให้แยกนี้มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้นไหม


ถนนที่ตรงนั้นจัดการความเสี่ยงเนื่องจากรถจะแหกโค้งได้ เพราะมันไม่มีโค้งให้แหก แต่ถนนที่ตรงยาวนั้นมันมีความเสี่ยงอันใหม่เพิ่มเข้ามาเมื่อเทียบกับถนนที่โค้งไปมาเป็นระยะทางยาวคือ มัน "หลับใน" ง่ายกว่า เราหนีความเสี่ยงหนึ่งเพื่อไปสร้างอันใหม่อีกอันหนึ่งขึ้นมา การมองเห็นความเสี่ยงตรงนี้มันมีเรื่อง "ประสบการณ์ของผู้ใช้งานจริง" เข้ามาเกี่ยวข้อง"

อีกตัวอย่างหนึ่งเห็นในรายการโทรทัศน์ของอังกฤษตอนเรียนอยู่ที่โน่น (รูปที่ ๑ (ขวา) ซึ่งก็กว่า ๓๐ ปีแล้ว เรื่องนี้ไม่ได้กล่าวในงานเสวนา คือมีการศึกษาว่าเมื่อเราทำในสิ่งที่คิดว่าเป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ขับรถ ความเสียหายจากอุบัติเหตุจะลดลงหรือไม่ คือเรื่องมุมมองที่สามแยกที่มีต้นไม้บัง เขาคิดว่าทัศนวิสัยไม่ดี คนขับรถมองไม่เห็นรถที่วิ่งในเส้นทางตั้งฉากกับรถของตัวเอง ทำให้เกิดอุบัติเหตุรถชนกันที่สามแยก ก็เลยตัดต้นไม้ออกเพื่อให้คนขับรถเห็นรถที่มาจากถนนด้านที่ตั้งฉากกับรถของตัวเองได้แต่ไกล (แทนที่จะมาเห็นตอนเข้าสามแยกแล้ว) แต่ปรากฏว่าอุบัติเหตุยังเกิดเหมือนเดิมและรุนแรงกว่าเดิม เพราะพอคนขับเห็นว่ามองเห็นได้ไกลขึ้นก็เลยไม่ลดความเร็วเมื่อรถเข้าสู่สามแยก

อีกกรณีหนึ่งที่กล่าวถึงในรายการโทรทัศน์เดียวกันคือ การพบว่าสำหรับรถเก๋ง การบังคับให้คนนั่งหน้ารัดเข็มขัดกลับไม่ได้ช่วยลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุอย่างที่ควรเป็น พอทำการศึกษาก็พบว่าพอให้คนขับรัดเข็มขัดนิรถัย คนขับเลยรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นก็เลยขับรถเร็วขึ้น (เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ) ส่วนคนนั่งเบาะหลังกฎหมายไม่บังคับ เวลาเกิดอุบัติเหตุรถชน คนนั่งหลังก็เลยปลิวอัดเบาะคนนั่งหน้าพับเข้าหาคอนโซล (ไม่ก็พุ่งทะลุกระจกหน้าออกไป) คนขับก็กระแทกพวงมาลัยตายอยู่ดีแม้รัดเข็มขัด ตอนหลังอังกฤษก็เลยต้องแก้กฎหมายด้วยการบังคับให้รัดเข็มขัดทั้งคนนั่งหน้านั่งหลัง

ถุงลมนิรภัยติดรถยนต์ก็เป็นอุปกรณ์ตัวหนึ่งที่กล่าวอ้างว่าช่วยลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุได้ ซึ่งการทดลองเพื่อการออกแบบก็ใช้ผู้ชายฝรั่งโตเต็มวัยเป็นแบบ แต่เอาเข้าจริงผู้หญิงขับรถก็มีไม่น้อย และผู้หญิงมักตัวเล็กกว่าผู้ชาย เวลาขับรถจึงมักนั่งใกล้พวงมาลัยมากกว่าผู้ชาย สิ่งที่เกิดคือพอถุงลมนิรภัยพองออก ผู้หญิงได้รับแรงกระแทกสูงกว่าผู้ชาย จนมีบางรายเสียชีวิต ก็เลยต้องมีการปรับขนาดกันใหม่ ด้วยเหตุนี้รถที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยไว้ให้กับคนนั่งหน้า จึงห้ามเด็กนั่งหน้า

หรือกรณีของระบบเบรค ABS ที่บอกว่าช่วยลดความเสี่ยงจากการชนท้ายเวลารถคันหน้าหยุดกระทันหัน ด้วยการทำให้ล้อไม่ล็อกตายและหักหลบได้ แต่อาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า เพื่อนคนหนึ่งของอาจารย์ได้รับบาดเจ็บหนักเพราะรถมีระบบ ABS กล่าวคือรถคันหน้าเกิดอุบัติเหตุหยุดกระทันหัน ก็เลยหักขวาหลบ รถที่วิ่งตามมาข้างหลังด้านขวาก็เลยชนเข้าเต็ม ๆ ตรงประตูคนขับ ถ้าชนท้ายตรง ๆ เต็มหน้า หน้ารถจะรับแรงกระแทกและมีการยุบตัวเพื่อดูดซับแรง และเข็มขัดนิรภัยที่ออกแบบมาโดยตรงเพื่อไม่ให้คนขับปลิวไปข้างหน้า แต่พอมาโดนชนด้านข้างที่มีเพียงแค่ประตูบานเดียวคั่นระหว่างคนขับกับรถที่มาชน ก็เลยเจ็บหนัก

รูปที่ ๒ ถ้าเกิดอุบัติเหตุมีรถยนต์ปีนขึ้นทางเท้าชนคนรอรถเมล์ที่ป้าย เราควรสร้างกำแพงป้องกันไว้ที่ขอบทางเท้าหรือไม่

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นกระแสในสัปดาห์ที่แล้วและมีบางคนบอกผมว่าช่วยหน่อย คือช่วยให้ย้ายโรงงานออกไปจากแหล่งชุมชน แต่โรงงานตั้งอยู่ตรงนั้นมาก่อนสมัยที่ตรงนั้นยังเป็นที่รกร้าง เป็นที่เขาจัดให้เป็นนิคมอุตสาหกรรม พวกบ้านที่พักอาศัยเพิ่งจะมาอยู่ภายหลัง สิ่งที่อยากนำมาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นตรงนี้คือ การที่เป็นแบบนี้มาตั้งนานแล้วไม่เห็นมีอะไรเลย พอเกิดเรื่องทีเนี่ยจะเปลี่ยนแปลงกันล้างบางเลยหรือ เราเอาอะไรมาเป็นตัวพิจารณา

ป้ายรถเมล์ในรูปที่ ๒ นี้คนเรียนจุฬาคงรู้จัก เพราะเป็นป้ายรถเมล์ที่หน้าประตูใหญ่ แต่ก่อนทางเท้าตรงนี้เป็นอย่างไร ปัจจุบันก็เป็นอย่างนั้น เป็นมีมานานแล้ว แต่ที่ป้ายนี้เคยเกิดอุบัติเหตุรถเก๋งปีนขึ้นทางเท้า ชนนิสิตที่รอรถเมล์อยู่ได้รับบาดเจ็บสาหัสและพิการ แต่ก็ไม่มีใครคิดว่าทางเท้านี้ไม่ปลอดภัย ที่ควรต้องมีการสร้างรั้วคอนกรีตกั้นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์รถปีนทางเท้าชนคนได้อีก ก็ปล่อยมันไว้เหมือนเดิม เหมือนกับป้ายรถเมล์ต่าง ๆ ที่มีอยู่

ประเด็นที่น่านำมาพิจารณาคือ เรามีเกณฑ์อะไรในการกำหนดว่า สิ่งที่อยู่มานานโดยไม่เคยเกิดเรื่องอะไร พอเกิดเรื่องทีก็ต้องทำการเปลี่ยนแปลงกันแบบล้างบาง ในขณะที่บางสิ่งนั้นเรากลับรู้สึกเฉย ๆ โดยมองว่าเป็นเรื่องโชคร้ายครั้งคราว แล้วก็อยู่กันแบบเดิม ๆ

อย่างเช่นในกรณีที่โรงงานและชุมชนอยู่ใกล้กัน แล้วโรงงานเกิดอุบัติเหตุที่เกิดผลกระทบกับชุมชน เราจะป้องกันไม่ให้เกิด "เหตุการณ์ทำนองนี้" ได้อย่างไรบ้าง โดยมุมมองส่วนตัว เรามีแนวทางให้เลือกอยู่ ๓ แนวทางด้วยกันคือ

(ก) ย้ายโรงงานออกไปให้ห่างจากชุมชน

(ข) ย้ายชุมชนออกไปให้ห่างจากโรงงาน และ

(ค) โรงงานและชุมชนยังคงอยู่ร่วมกัน แต่หาทางป้องกันไม่ให้โรงงานเกิดเหตุการณ์แบบเดิมซ้ำอีก

การไม่ต้องการให้มีโรงงานอยู่ใกล้กับชุมชนที่พักนั้นเป็นการไม่ยอมรับความเสี่ยงใด ๆ ก็มองได้ว่าเป็นความต้องการที่สุดขั้วฟากหนึ่ง ตัวอย่างป้ายรถเมล์ที่รถปีนขึ้นทางเช้าชนคนรอป้ายรถเมล์อยู่ก็คงเป็นการยอมรับความเสี่ยงสุดขั้วอีกฟากหนึ่ง คือการยอมรับที่จะอยู่แบบเดิมโดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไร

ยังมีคำตามต่าง ๆ ตามมาอีกไม่ว่าจะเลือกแนวทางไหน เช่นถ้าเลือก (ก) หรือ (ข) การปฏิบัตินั้นจะเกิดขึ้นเฉพาะกับพื้นที่ที่เกิดเรื่อง หรือครอบคลุมไปยังพื้นที่แบบเดียวกันที่ยังไม่เกิดเรื่องบ้าง

แต่ไม่ว่าจะเลือกแนวทางไหน สิ่งสำคัญที่ควรนำมาพิจารณาคือ การให้ "ผู้มีส่วนได้/ส่วนเสีย" กับการมี/ไม่มีสิ่งนั้นอยู่ ให้เป็นผู้ร่วมพิจารณา

คำถามก็คือใครคือ "ผู้มีส่วนได้/ส่วนเสีย"

ในกรณีของโรงงาน กลุ่มคนที่เป็นผู้มีส่วนได้/ส่วนเสีย (เท่าที่คิดออกขณะนี้) น่าจะมีอยู่สองกลุ่มคือ

กลุ่มแรกคือผู้ที่มีที่พักอาศัยใกล้กับโรงงานแต่ไม่ได้มีส่วนได้ใด ๆ โดยตรงกับโรงงานนั้น กลุ่มคนเหล่านี้มีโอกาสได้รับความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุที่เกิดในโรงงาน

กลุ่มที่สองคือผู้ที่เกี่ยวข้องกันการที่โรงงานมีการทำงาน เป็นกลุ่มที่มีส่วนได้โดยตรงกับการมีโรงงานนั้นอยู่ ตัวอย่างคนกลุ่มนี้เช่น ผู้ที่ประกอบอาชีพที่โรงงานนั้น ร้านค้า หอพัก รถรับส่ง ฯลฯ ที่ให้บริการคนทำงานที่โรงงานนั้น ซึ่งการที่โรงงานหายไปก็แน่นอนว่าส่งผลถึงการประกอบอาชีพของคนเหล่านี้ และถ้าผู้ประกอบอาชีพเหล่านี้เช่น ร้านค้า รถรับส่งหายไป ก็อาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อคนกลุ่มแรก

ในกรณีของการควรมีหรือไม่มีรั้วกั้นทางเท้านั้น ผู้มีส่วนได้/ส่วนเสียคงได้แก่ทุกคนที่ใช้รถประจำทาง รถยนต์นั่ง รวมไปทั้งร้านค้าที่ตั้งอยู่บริเวณป้ายรถเมล์ ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่ป้ายรถเมล์ที่เกิดเรื่อง แต่จะครอบคลุมไปยังป้ายรถเมล์ใด ๆ ด้วยที่ตั้งอยู่ริมถนนหลักเหมือนกัน ซึ่งการพิจารณาว่าควรมีหรือไม่มีกำแพงกั้น ก็อาจมีการพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความสะดวกในการขึ้นลงรถตรงตำแหน่งใดก็ได้ของถนน ความสะดวกในการจอดรถข้างทางที่ไหนก็ได้ ความไม่สะดวกในการเอารถมาจอดบนทางเท้า ความรู้สึกว่าไม่ได้ถูกกักขังด้วยรั้ว (ลองนึกภาพสมมุติว่าบ้านคุณอยู่ในซอยหรือถนนเล็ก ๆ แล้วฝั่งตรงข้ามเป็นรั้วโปร่งกับรั้วสูงทึบ) ฯลฯ

เราอาจมองว่า การมีบ้านอยู่ใกล้โรงงานมันก็ต้องเสี่ยงทุกวัน แต่การมายืนรอรถเมล์ที่ป้ายเพื่อไปทำงานก็มองได้ว่าต้องเสี่ยงทุกวันเหมือนกัน การหาจุดสมดุลของแต่ละเหตุการณ์จึงควรต้องมีการพิจารณาให้รอบด้านและให้เหตุผลได้ ว่าทำไมจึงตัดสินใจเลือกแนวทางแบบนี้ ไม่เช่นนั้นจะเจอปัญหาว่าทำไมกรณีนั้นทำแบบหนึ่ง แต่กรณีนี้กลับทำอีกแบบหนึ่ง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกัน

ไม่มีความคิดเห็น: