วันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๓๐ การทิ้งระเบิดสะพานสถานีรถไฟบางซื่อและสะพานพระราม ๖ MO Memoir : Saturday 8 December 2555

คุณลุงของผมท่านหนึ่ง (เสียชีวิตไปแล้ว) ท่านเกลียดญี่ปุ่นจนตาย เพราะเช้าวันนี้เมื่อ ๗๑ ปีที่แล้ว ในฐานะยุวชนทหาร ท่านต้องแบกอาวุธไปรบกับทหารญี่ปุ่นที่ยกพลขึ้นบกที่สงขลา (ผู้ใหญ่ท่านอื่นเล่าให้ผมฟังอีกที)

เช้าวันจันทร์ที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่หลายจุดในประเทศไทย รวมทั้งเตรียมเคลื่อนพลจากอินโดจีนฝรั่งเศส (ลาว เขมร และเวียดนาม) เข้าสู่ประเทศไทยทางตะวันออก จุดมุ่งหมายก็คือการใช้ไทยเป็นเส้นทางเดินทัพเพื่อเข้าไปยึดพม่าและมาเลเซีย (โดยมีสิงคโปร์เป็นเป้าหมายหลัก)

เหตุการณ์ส่วนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้นแทบจะไม่ถูกกล่าวถึงโดยประเทศตะวันตกเลย เว้นแต่การขนเชลยศึกไปสร้างสะพานข้ามแม่น้ำที่กาญจนบุรีเท่านั้นเอง

และเป็นเรื่องประจำที่ช่วงวันนี้ของปี รายการสารคดีทางโทรทัศน์จากอเมริกาหรืออังกฤษมักจะพูดถึงการโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐที่อ่าวเพิร์ล ฮาเบอร์ และการบุกเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ของกองทัพญี่ปุ่น

สิ่งที่รายการดังกล่าวมักหลีกเลี่ยงไม่กล่าวถึงคือมูลเหตุจูงใจที่ทำให้ญี่ปุ่นตัดสินใจส่งทหารเข้ายึดครองดินแดนต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และทำไมจึงต้องโจมตีสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะว่าไปแล้วการตัดสินใจปิดกั้นทางเศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องส่งทหารเข้ายึดดินแดนแถบประเทศไทยเรานี้

ในหนังสือ History of the second world war เขียนโดย Captain B.H. Liddell Hart บทที่ ๑๗ Japan's tide of conquestในหัวข้อ The fall of Malaya and Singaporeได้กล่าวเอาไว้ว่ากองทัพญี่ปุ่นใช้กำลัง ๓ กองพลคือ Imperial Guard, กองพลที่ ๕ และกองพลที่ ๑๘ ในการเข้ายึดประเทศไทยและมาเลเซีย ทั้ง ๓ กองพลนี้จัดว่าเป็นกองพลชั้นดีเยี่ยมของกองทัพญี่ปุ่น

ในช่วงแรกของสงครามเมื่ออังกฤษต้องถอยร่นจากพม่าไปตั้งหลักอยู่ในอินเดีย และสภาพการรบในยุโรปยังน่าเป็นห่วง ส่วนสหรัฐอเมริกาเองก็อยู่ระหว่างตั้งหลักรบกับกองทัพญี่ปุ่นตามเกาะต่าง ๆ ประเทศไทยก็ยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามเท่าไรนัก
 
แต่เมื่อกองทัพอังกฤษต้องการที่จะยึดเอาพม่าคืน สิ่งแรกที่ต้องทำคือการตัดการส่งกำลังบำรุงแก่กองทัพญี่ปุ่นที่อยู่ในพม่า นั่นหมายถึงการตัดเส้นทางลำเลียงต่าง ๆ ไปยังพม่า ซึ่งในยุคสมัยนั้นคือเส้นทางรถไฟ

ประเทศไทยเองในฐานะเส้นทางลำเลียงจากประเทศญี่ปุ่นผ่านไปยังประเทศพม่าและมาเลเซียจึงตกเป็นเป้าหมายการโจมตีทางอากาศ ซึ่งเป้าหมายการโจมตีมีทั้งเส้นทางรถไฟ (หลัก ๆ คือสะพานและสถานีซ่อมบำรุง) ค่ายทหาร สนามบิน และท่าเรือต่าง ๆ (เอาไว้จะทยอยเอารูปมาให้ดู)

รูปต่าง ๆ ที่เอามาให้ดูในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ไปค้นเจอมาจาก http://www.fold3.com ซึ่งก็ให้ภาพผลกระทบจากการโจมตีทิ้งระเบิดในมุมมองของผู้ทิ้งระเบิด ณ บริเวณสถานีรถไฟบางซื่อ ซึ่งเป็นชุมทางแยกระหว่างสายเหนือกับสายใต้ และยังเป็นโรงซ่อมบำรุงรถจักร และบริเวณสะพานพระราม ๖ ที่เป็นเส้นทางรถไฟไปทางใต้และกาญจนบุรีที่มุ่งหน้าเข้าพม่า

Memoir ฉบับนี้ขออุทิศให้กับคนไทยทุกคนที่สูญเสียชีวิตในการสู้รบกับทหารของกองทัพญึ่ปุ่นที่ยกพลขึ้นบกที่ประเทศไทยในเหตุการณ์ดังกล่าว

รูปที่ ๑ก การทิ้งระเบิดบริเวณชุมทางบางซื่อ ตรงทางแยกระหว่างสายเหนือกับสายใต้ บรรทัดบนสุดของรูปที่พิมพ์ว่า "Neg rec'd 1/6/45" น่าจะหมายความว่า "Negative receivedในวันที่ ๖ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๕ (เหตุผลที่ว่าทำไมจึงระบุว่าเป็นวันที่ ๖ มกราคม ไม่ใช่วันที่ ๑ มิถุนายน และวันที่ดังกล่าวเป็นวันที่ได้รับรูป ให้ดูรูปที่ ๑ข และรูปที่ ๓) ส่วนวันโจมตีจริงน่าจะเป็นวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๗ (ดูรูปที่ ๓) ข้อมูลใน http://en.wikipedia.org/wiki/XX_Bomber_Command ระบุว่าฝูงบินทิ้งระเบิดที่ 20 (XX Bomber command ที่ระบุไว้บนบรรทัดบนสุดของรูป) ปฏิบัติหน้าที่ทิ้งระเบิดในอินโดไชนา พม่า และประเทศไทย ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๕

 รูปที่ ๑ข คำบรรยายรูปที่ ๑ก จากรอยตรายางประทับวันที่ (ตรงเส้นประสีแดง) มีการประทับตราลงวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๕ แสดงว่าวันที่ที่เขียนว่า 1-6-1945 ที่เขียนในรูปที่ ๑ก นั้นเป็นการเขียนแบบอเมริกาคือ เดือน-วัน-ปี การโจมตีบางซื่อมีความสำคัญเพราะสิ่งของที่มาทางเรือต้องมาขึ้นบกที่ท่าเรือคลองเตยก่อน การลำเลียงทางรถไฟก็ต้องผ่านมาทางบางซื่อ และบางซื่อเองก็เป็นโรงซ่อมแซมด้วย ตอนแรกคิดว่าจะตัดภาพนี้มาเฉพาะส่วนคำบรรยายรูป จะได้จัดหน้ากระดาษได้ลงตัว แต่ใต้คำบรรยายรูปมีตรายางประทับลงวันที่ซึ่งจำเป็นสำหรับการระบุวัน-เดือน-ปีที่พิมพ์เอาไว้ด้านบนของรูปที่ ๑ก ก็เลยนำเอาส่วนตรางยางประทับมาลงด้วย (ต่ำกว่ารอยตรายางประทับไม่มีอะไรแล้ว เป็นกระดาษเปล่า)

รูปที่ ๒ก ตอนต่อเนื่องจากรูปที่ ๑ก ตำแหน่งที่ระเบิดลงในรูปที่ ๑ก ปรากฏเป็นกลุ่มควันก้อนใหญ่ทางด้านซ้าย ส่วนชุดที่สองนี้เป็นกลุ่มควันก้อนเล็ก ๆ หลาย ๆ กลุ่มทางด้านขวา (ระเบิดเพิ่งจะระเบิด) ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งของสถานีรถไฟบางซื่อและที่ทำการบริษัทปูนซิเมนต์ไทยในปัจจุบัน ในวงเหลืองคือสะพานสูงบางซื่อที่ข้ามคลองเปรมประชากร


รูปที่ ๒ข คำบรรยายรูปที่ ๒ก จากรอยตรายางประทับวันที่ (ตรงเส้นประสีแดง) มีการประทับตราลงวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๕ แสดงว่าวันที่ที่เขียนว่า 1-6-1945 ที่เขียนในรูปที่ ๒ก นั้นเป็นการเขียนแบบอเมริกาคือ เดือน-วัน-ปี เช่นเดียวกัน


รูปที่ ๓ ภาพอีกมุมหนึ่งหลังการทิ้งระเบิดสถานีรถไฟบางซื่อ (ในกรอบสีเขียว) ภาพนี้ระบุว่าเป็นการทิ้งระเบิดขนาด 500 ปอนด์ (ต่อหนึ่งลูก) ในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔)

รูปที่ ๔ ภาพถ่ายดาวเทียมบริเวณสถานีรถไฟบางซื่อในปัจจุบัน ในวงสีเหลืองคือสะพานสูงบางซื่อที่เดียวกับในรูปที่ ๒ก


รูปที่ ๕ สะพานพระราม ๖ บอกว่าเผยแพร่เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๕ ด้านบนของรูปคือฝั่งกรุงเทพ ด้านล่างของรูปคือฝั่งบางกรวย นนทบุรี คำบรรยายรูปบอกว่าเป็นรูปก่อนการทิ้งระเบิด ดังนั้นภาพนี้ควรจะถ่ายเอาไว้ก่อนวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๕ ที่มีการทิ้งระเบิดทำลาย (ดูรูปที่ ๕ และ ๖)

รูปที่ ๖ การทิ้งระเบิดสะพานพระราม ๖ ระบุว่าได้รับภาพนี้มาเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๕ ดังนั้นวันทิ้งระเบิดจริงควรจะเกิดก่อนหน้านี้


รูปที่ ๗ สะพานพระราม ๖ หลังถูกทิ้งระเบิด ตรงลูกศรสีแดงชี้เป็นช่วงคานสะพานที่โดนระเบิดทำลาย