วันพฤหัสบดีที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

เหรา สางห่า และพญานาค MO Memoir : Thursday 1 February 2561

"สางห่า เป็นงูใหญ่ชนิดหนึ่ง นายหญิง แต่มีตีนสี่ตีน บางขณะเดิน บางขณะมันเลื้อย ถ้าจะไปเร็วมันก็เลื้อยไป พิษมันจะร้ายสักขนาดไหน บุญคำก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่เขาเล่ากันว่าทางที่ตัวมันเลื้อยผ่านไป กิ่งไม้ใบไม้สด ๆ จะไหม้เกรียมเป็นทางราวกับถูกไฟเผาทีเดียว... พรานใหญ่บอกนายหญิงไว้ตรงกับที่บุญคำว่านี้หรือเปล่า?"
 
ย่อหน้าข้างบนคือคำอธิบายตัว "สางห่า" ของพรานบุญคำให้กับ ม.ร.ว.ดาริน (หรือนายหญิง) ในนิยายเรื่อง "เพชรพระอุมา" ของพนมเทียน เล่มที่ ๑๔ ตอน อาถรรพณ์นิทรานคร ในช่วงก่อนที่จะไปตามหาพรานกระเหรี่ยงที่ชื่อแงซาย ในนิยายเรื่องนี้ ถ้าอ่านต่อไปจนถึงภาค ๒ ก็จะพบว่า "สางห่า" ในเรื่องนี้จะหมายถึง "พญานาค" นั่นเอง และถ้าอิงตามความเชื่อที่มีบันทึกอยู่ในนิยายเรื่องนี้ ก็แสดงว่าพญานาคนั้นมี "ขา"
 
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ พิมพ์ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๔๖ ให้คำจำกัดความของสางห่าแตกต่างออกไป (รูปที่๑) โดยหมายถึงจิ้งเหลนหางยาวชนิดหนึ่งที่พบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย และเนื่องจากการที่ตัวมันเรียวยาวมากเมื่อเทียบกับขนาดขา ทำให้ถ้าไม่สังเกตให้ดีจะเข้าใจว่าเป็นงูได้ ส่วนในวรรณคดีไทยนั้น ตัวที่มีรูปร่างคล้ายพญานาคและมีขา ๔ ขาคือตัว "เหรา" (อ่าน เห-รา เป็นคำสองพยางค์) ที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้คำจำกัดความเอาไว้ดังแสดงในรูปที่ ๒


รูปที่ ๑ นิยามของคำว่า "สางห่า" ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒


รูปที่ ๒ นิยามของคำว่า "เหรา" (อ่าน เห-รา) พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒

รูปที่ ๓ ราวบันไดทางเข้าวิหารวัดโลกโมฬี อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ดูเผิน ๆ อาจนึกว่ามีแต่พญานาค แต่ถ้าสังเกตจะเห็นว่ามีตัวที่มีขาหน้านี้ (คือตัวเหรา) ที่บางคนก็บอกว่ากำลัง "กลืน" พญานาคเข้าไป แต่บางคนก็บอกว่ากำลัง "คาย" พญานาคออกมา ส่วนที่ถูกต้องเป็นอย่างไรนั้นผมก็ไม่รู้เหมือนกัน คงขึ้นอยู่กับแต่ละท้องถิ่น

รูปที่ ๔ ตัวเดียวกับในรูปที่ ๓ ตัวนี้ก็มีขาหลังด้วย

ต้นสัปดาห์ที่แล้วมีโอกาสได้ไปประชุมที่เชียงใหม่ ช่วงเช้าวันกลับก่อนเดินทางไปยังสนามบินได้มีโอกาสแวะไปที่วัดโลกโมฬี ได้เข้าไปเยี่ยมชมวิหารหลวง เลยถือโอกาสถ่ายรูปราวบันไดพญานาคทางด้านหน้าวิหารหลวงมาฝากกัน ราวบันไดนี้ดูเผิน ๆ อาจนึกว่ามีแต่พญานาค แต่ถ้าดูให้ดีจะเห็นว่าเฉพาะส่วนหัวของพญานาคเท่านั้นที่โผล่ออกมาจากปากของอีกตัวหนึ่งที่มี ๔ ขา ที่เห็นบางคนก็เรียกว่าตัว "เหรา" (อ่าน เห-รา) บางคนก็เรียกว่าตัว "มกร" (อ่าน มะกะระ) ส่วนที่ว่าทั้ง "เหรา" และ "มกร" เป็นตัวเดียวกันหรือต่างกันนั้นขอไม่ออกความเห็น เพราะไม่มีความรู้ทางด้านนี้


รูปที่ ๕ พญานาคที่บันไดทางขึ้นเทวลัย คณะอักษรศาสตร์ ตัวนี้ไม่มีขา

ไหน ๆ วันนี้ก็เริ่มต้นเรื่องด้วยข้อความจากนิยายเรื่องเพชรพระอุมา ปิดท้ายเรื่องเล่าในวันนี้ก็ขอปิดด้วยข้อความจากนิยายเรื่องเพชรพระอุมาเช่นกัน โดยเป็นเรื่องราวตอนที่พระเอกของเรื่องคือ รพินทร์ ไพรวัลย์ ได้เผชิญหน้ากับตัวสางห่าเป็นครั้งแรกบนยอดเขา

"สองเท้าสั้น ๆ แตกต่างไปจากลักษณะลำตัวที่ยาวเรียว เกาะตะกายเข้ากับแผ่นหิน ตำแหน่งที่รพินทร์และคริสนั่งคุยกันอยู่เมื่อครู่นี้ แล้วมันก็เหนี่ยวตัวขึ้นมาอย่างช้า ๆ ผงกส่วนหัวบนเชิดร่าโดยมีเท้าสั้น ๆ คู่หน้านั้นยันเอาไว้ สิ่งที่พุ่งแปลบปลาบออกมาจากปากยาวเป็นวา มองเห็นเป็นสองแฉกชัดเจน และบัดนี้มันกำลังตะแคงคอ เอียงศีรษะที่มองดูคล้ายกึ่งงูกึ่งตะกวด มองดูรพินทร์ ไพรวัลย์ ผู้กำลังกระแทกทรุดนั่งอยู่หลังโขดหินที่เขาถอยผละออกมาจากที่เดิม"
จากนิยายเรื่อง "เพชรพระอุมา" เล่มที่ ๓๗ ตอน "นาคเทวี"

ไม่มีความคิดเห็น: