วันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

ทำความรู้จัก Process Design Questionnaire ตอนที่ ๕ MO Memoir : Wednesday 28 January 2558

โดยปรกติแล้วในการซื้อเทคโนโลยีการผลิตอะไรสักอย่างมานั้น เจ้าของเทคโนโลยีจะให้ข้อมูลเพียงแค่สภาวะต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการทำปฏิกิริยาหรือการจัดการกับสาร เช่นกำหนด อุณหภูมิ ความดัน ฯลฯ ที่ต้องใช้ ส่วนจะทำอย่างไรเพื่อให้ระบบมี อุณหภูมิ ความดัน ฯลฯ ตามที่กำหนดนั้น ขึ้นอยู่กับการออกแบบว่าจะเลือกใช้อุปกรณ์หรือวิธีการใดเพื่อให้ระบบมี อุณหภูมิ ความดัน ฯลฯ ตามข้อกำหนด
   
เช่นการให้ความร้อนอาจให้โดยการใช้ ไอน้ำ น้ำร้อน ของเหลวตัวกลางอื่นที่ไม่ใช่น้ำ ไฟฟ้า การแลกเปลี่ยนความร้อนกับสายร้อนอื่นที่ต้องการทำให้เย็นตัวลง การลดความร้อนอาจกระทำโดยใช้ น้ำหล่อเย็น อากาศ ระบบหล่อเย็นที่ไม่ใช่น้ำในกรณีที่ต้องการลดอุณหภูมิให้ต่ำกว่าอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น หรือใช้การแลกเปลี่ยนความร้อนกับสายเย็นอื่นในกระบวนการผลิต ที่ต้องการทำให้ร้อนขึ้น การเพิ่มความดันให้กับของเหลวหรือการส่งของเหลวไปตามท่อ ที่ใช้ปั๊มเป็นตัวผลักดันนั้น อาจขับเคลื่อนปั๊มโดยใช้ มอเตอร์ไฟฟ้า กังหันไอน้ำ อากาศอัดความดัน หรือเครื่องยนต์ ก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการออกแบบ และสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการออกแบบระบบสาธารณูปโภค

7.0 Utility Conditions

มาต่อกันที่หน้า Page 15 of 28 ที่เป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณูปโภค (Utilities)
  
 
คำถามในหมวดหมู่นี้เริ่มจากไอน้ำ (steam) ที่มีการจัดกลุ่มออกเป็นไอน้ำความดันสูง (High pressure steam) ไอน้ำความดันปานกลาง (Medium pressure steam) และไอน้ำความดันต่ำ (Low pressure steam)
 
ไอน้ำที่ใช้ในโรงงานมีอยู่ด้วยกันสองประเภทคือ ไออิ่มตัว (Saturated steam) และไอร้อนยิ่งยวดหรือไอดง (Superheated steam) ไออิ่มตัวนั้นเหมาะสำหรับการให้ความร้อน เพราะค่าสัมประสิทธิ์การถ่ายเทความร้อนที่เกิดจากการควบแน่นนั้นมีค่าสูง และปริมาณความร้อนที่คายออกมาเมื่อไอน้ำควบแน่นเมื่อคิดต่อหน่วยน้ำหนักของไอน้ำที่ใช้ก็มีค่าสูงด้วย ส่วนไอร้อนยิ่งยวดนั้นเหมาะสำหรับการนำไปใช้ขับเคลื่อนกังหันไอน้ำ หรือส่งไปตามระบบท่อก่อนที่จะนำไปเปลี่ยนเป็นไออิ่มตัว (ด้วยการฉีดน้ำผสมเข้าไป) เพราะไอร้อนยิ่งยวดเมื่อเย็นตัวลงจะไม่เกิดการควบแน่นเป็นของเหลวทันที ทำให้ลดการสูญเสียไอน้ำในระบบท่อ (ไอน้ำที่ควบแน่นเป็นของเหลวในท่อต้องถูกระบายออกจากท่อเป็นระยะ)
 
ที่ความดันสูงขึ้น ไอน้ำก็จะมีอุณหภูมิสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ถ้าใช้ไอน้ำความดันสูงเกินควรในการให้ความร้อน จะทำให้อุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนนั้นต้องสามารถทนต่ออุณหภูมิและความดันที่สูงโดยไม่จำเป็นไปด้วย สำหรับไอน้ำแต่ละประเภท ค่าอุณหภูมิต่ำสุดจะเป็นตัวกำหนดขนาดพื้นที่แลกเปลี่ยนความร้อนที่เล็กที่สุดที่ยังสามารถส่งผ่านความร้อนได้ตามกำหนด ส่วนค่าอุณหภูมิสูงสุดจะเป็นตัวกำหนดความแข็งแรงขั้นต่ำของอุปกรณ์ที่ต้องทนต่ออุณหภูมิและความดันที่ค่าสูงสุดนั้นได้
 
ต่อไปเป็นหน้า Page 16 of 28

คำถามถัดมาเกี่ยวข้องกับระบบน้ำหล่อเย็น (cooling water) เริ่มจากคุณสมบัติน้ำหล่อเย็นที่จะทำการจ่ายเข้าระบบ ซึ่งได้แก่อุณหภูมิและความดัน และค่า Fouling factor (แปลตรงตัวก็คือค่าปัจจัยคราบสกปรก เป็นตัวบอกว่าน้ำนั้นจะก่อให้เกิดคราบสกปรกในระบบมากน้อยเท่าใด ถ้าค่านี้สูงก็แสดงว่าน้ำสกปรกมาก) และคุณสมบัติของน้ำหล่อเย็นที่ไหลวนกลับมายังหอทำน้ำหล่อเย็น ซึ่งได้แก่ค่าความดันและอุณหภูมิสูงสุด

คำถามถ้ดไปเป็นเรื่องเกี่ยวกับน้ำดิบ (Raw water) ที่จะนำมาใช้ผลิตเป็นน้ำหล่อเย็น โดยเริ่มจากแหล่งที่มาของน้ำ (มีบ่อน้ำเองหรือซื้อน้ำประปามาใช้) ถ้าซื้อน้ำมาจากผู้ขายที่ส่งมาตามระบบท่อ (เช่นน้ำประปา) ก็จำเป็นที่ต้องให้ข้อมูลความดันของน้ำในท่อที่ส่งเข้ามาและอัตราการไหลสูงสุดที่ผู้ขายส่งให้ได้
  
คำถามถัดไปในส่วนของน้ำดิบคือคุณภาพของน้ำดิบ ซึ่งเป็นคำถามเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่เจือปนอยู่ในน้ำ โดยเฉพาะแร่ธาตุต่าง ๆ ตรงนี้มีการถามทั้งส่วนที่เป็นไอออนบวกและไอออนลบ รายการที่เขียนนั้นเป็นไอออนที่มักพบเป็นประจำในน้ำที่มาจากแหล่งธรรมชาติ ข้อมูลเหล่านี้จำเป็นสำหรับการออกแบบระบบปรับสภาพน้ำ บ่งบอกให้เห็นว่าน้ำนั้นมีฤทธิ์กัดกร่อนหรือทำให้เกิดตะกรันได้มากน้อยเท่าใด จะป้องกันไม่ให้เกิดตะกรัน (ถ้าคิดว่ากำจัดตะกันออกจากระบบได้ยาก) หรือยอมให้เกิดตะกรันในระบบได้แล้วค่อยกำจัดทีหลัง (ตรงนี้ก็เกี่ยวข้องไปถึงค่า fouling factor ซึ่งปรกติก็ทำกับตะกรันที่ล้างออกง่าย ประเภทหยุดเดินเครื่องครั้งใหญ่เมื่อใดก็ค่อยเปิดอุปกรณ์ทำความสะอาดที)
 
calcium carbonate นั้นละลายได้น้อยในน้ำร้อน ถ้านำน้ำนั้นไปต้มก็จะกลายเป็นตะกรัน แต่น้ำที่ได้จะมีความกระด้างลดลง (เพราะไอออน 2+ ลดลง) พวกนี้จัดเป็นความกระด้างชั่วคราว สามารถล้างออกได้ด้วยการใช้กรดอ่อนเข้าไปละลายออกมา แต่ calcium sulpate นั้นละลายได้ดีกว่าในน้ำร้อน แม้ว่าจะเอาไปต้มก็จะไม่ตกตะกรัน พวกนี้จัดเป็นความกระด้างถาวร ต้องกำจัดด้วยการแลกเปลี่ยนไอออน คลอไรด์ และไฮดรอกไซด์ ก่อให้เกิดปัญหาการกัดกร่อนได้ ไบคาร์บอนเนตเมื่อนำไปต้มจะสลายตัวให้แก๊ส CO2 ออกมาแล้วกลายเป็นไอออน OH- แทน ซึ่งทำให้ค่า pH ของน้ำเพิ่มสูงขึ้นได้ (เป็นเรื่องปรกติที่ต้องมีการเติมกรดกำมะถันเข้าไปลดค่า pH ของน้ำหล่อเย็นที่หอทำน้ำหล่อเย็น) ส่วนซิลิกานั้นทำให้เกิดตะกรันที่ล้างออกยาก เพราะไม่สามารถใช้กรดอ่อนเข้าไปละลายออกมาได้ ไอออนของเหล็กก็เป็นไอออนบวกตัวหนึ่งที่พบได้มากในธรรมชาติ (ดินลูกรังที่มีสีแดงก็เพราะมีเหล็กปน) ไอออนตัวนี้เป็นตัวที่ทำให้น้ำมีสีและมีรสชาติด้วย ซึ่งตรงนี้สำคัญกับอุตสาหกรรมอาหารที่ใช้น้ำเป็นองค์ประกอบหลัก เช่น เครื่องดื่ม) ส่วนข้อมูลในคำถามที่เหลือนั้นก็จำเป็นสำหรับการปรับสภาพน้ำเป็นชนิดต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับการใช้งานแต่ละประเภท
 
ต่อไปเป็นหน้า Page 17 of 28

คำถามสุดท้ายเกี่ยวกับน้ำดิบคือค่าความขุ่น (Turbidity) และสี (Colour) จะเห็นว่าให้ระบุวิธีการวัดด้วย (เพราะค่าที่ได้ขึ้นกับวิธีการวัด)
 
น้ำประปาหรือน้ำดื่ม (Drinking water) นั้นจะใช้มาตรฐานเดียวกัน น้ำดื่มนั้นต้องเป็นน้ำที่สะอาดปราศจากเชื้อโรค ส่วนน้ำที่ใช้ในการชำระล้างร่างกายหรือล้างตานั้นก็จำเป็นต้องเป็นน้ำสะอาดปราศจากเชื้อโรคเช่นกัน เพราะถ้าผิวหนังมีบาดแผลและเจอเข้ากับน้ำสกปรก ก็จะเกิดการติดเชื้อได้
 
คุณภาพของน้ำป้อนหม้อน้ำ (Boiler Feed Water - BFW) จะขึ้นอยู่กับความดันของไอน้ำที่ผลิตใช้ ยิ่งผลิตไอน้ำที่อุณหภูมิและความดันสูง ก็จำเป็นที่ต้องมีการควบคุมสิ่งที่ละลายอยู่ในน้ำ (แก๊ส สารอินทรีย์ ไอออน ต่าง ๆ) อย่างเข้มงวดตามไปด้วย
  
น้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralization water) เป็นน้ำบริสุทธิ์ สำหรับการผลิตน้ำบริสุทธิ์ในปริมาณมาก การใช้การแลกเปลี่ยนไอออนนั้นจะเหมาะสมมากกว่าการกลั่น ตรงนี้คงขึ้นอยู่กับชนิดของโรงงานว่าจำเป็นต้องมีการใช้น้ำประเภทนี้หรือไม่
  
ไอน้ำที่ควบแน่น (Steam condensate) คือน้ำที่เกิดจากการควบแน่นของไอน้ำ ในบางจุดนั้นอาจมีการระบายทิ้งไป แต่ในบางจุดนั้นอาจมีการรวบรวมนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดการใช้น้ำป้อนหม้อน้ำ (BFW) และสารเคมีที่ใช้ในการปรับสภาพน้ำ
  
น้ำใช้ในกระบวนการผลิต (Process water) เช่นน้ำที่ใช้ผสมเข้ากับสารตั้งต้น น้ำที่ใช้ในการล้างอุปกรณ์ (เช่นในกระบวนการแบบ batch ที่อาจต้องล้างอุปกรณ์หลังการผลิตในแต่ละ batch) น้ำนี้อาจเป็นน้ำที่มีคุณสมบัติต่างหากหรือเป็นน้ำประปา น้ำปราศจากเกลือแร่ ไอน้ำที่ควบแน่น ฯลฯ ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละกระบวนการผลิต
   
ต่อไปเป็นหน้า Page 18 of 28
  
 
น้ำชนิดสุดท้ายคือน้ำที่ใช้ในการดับเพลิง ปรกติถ้ามีน้ำดิบก็จะใช้นำดิบเพราะมันราคาถูกสุดและน้ำดับเพลิงก็ไม่ต้องการความสะอาด ที่ต้องการมากกว่าคืออัตราการไหลในปริมาณที่พอเพียงที่ระดับความดันที่ต้องการ
  
แต่ระบบน้ำดับเพลิงที่ใช้ก็มีอยู่สองแบบ แบบแรกคือมีน้ำเต็มระบบท่ออยู่ตลอดเวลา เมื่อเปิดใช้ก็จะมีน้ำใช้งานได้เลย ระบบนี้มีข้อดีตรงที่มีน้ำดับเพลิงพร้อมใช้งานตลอดเวลา แต่ต้องระวังเรื่องการกัดกร่อน โดยเฉพาะถ้าน้ำนั้นมีของแข็งแขวนลอยอยู่ เมื่อของแข็งที่แขวนลอยอยู่นั้นตกตะกอนเมื่อใด การกัดกร่อนใต้อนุภาคของแข็งที่ตกตะกอนจะสูงกว่าบริเวณอื่น และในประเทศที่อากาศเย็นจัดจนทำให้น้ำในท่อเป็นน้ำแข็งได้ ท่อก็จะแตกได้เมื่อน้ำกลายเป็นน้ำแข็ง.
   
อีกระบบหนึ่งนั้นจะเป็นระบบท่อแห้ง เมื่อต้องการใช้น้ำดับเพลิงก็ค่อยทำการจ่ายน้ำเข้าระบบท่อ ระบบนี้มีข้อเสียตรงที่ไม่มีน้ำพร้อมใช้งานทันที แต่มีปัญหาเรื่องท่อผุกร่อนหรือแตกเพราะอากาศเย็นจัดนั้นน้อยกว่า
  
อากาศอัดความดัน (Compressed air) ที่ใช้กันในโรงงานนั้นมีสองประเภท ประเภทแรกเรียกว่า Plant air ซึ่งผลิตจากการเอาอากาศมาเพิ่มความดันและกำจัดไอน้ำมัน (ที่มากับคอมเพรสเซอร์ที่ใช้อัดอากาศ) ออก ส่วนอากาศอีกชนิดนั้นเรียกว่า Instrument air ที่ได้จากการเอา Plant air มากำจัดความชื้นอีกทีหนึ่ง Plant air ใช้ในงานทั่ว ๆ ไป เช่นใช้เป็นแหล่งให้พลังงานกับอุปกรณ์นิวเมติกส์เช่น ปั๊มลม สว่านลม ใช้ในการระบายอากาศ ใช้ในการเป่าไล่ ฯลฯ ส่วน Instrument air นั้นใช้กับอุปกรณ์ควบคุมต่าง ๆ เช่น control valve หรือระบบควบคุมนิวเมติกส์
  
ถัดจากอากาศก็เป็นคำถามเกี่ยวกับน้ำมันเตา (Fuel oil) น้ำมันเตาที่มีจุดเดือดสูงจะมีราคาถูกแต่จะมีจุดหลอมเหลวสูงตามไปด้วย และยังมีสิ่งปนเปื้อนต่าง ๆ อีกมาก (เช่นโลหะต่าง ๆ ที่เป็นตัวทำให้เกิดขี้เถ้า) น้ำมันเตาที่หนักนั้นจะมีสถานะเป็นของแข็งที่อุณหภูมิห้อง เวลาจะส่งไปตามท่อก็ต้องอุ่นให้ร้อนก่อน ถ้าใช้ความร้อนมากในการอุ่นน้ำมันให้ร้อน ความหนืดน้ำมันก็จะลดลงมาก ปั๊มก็จะใช้กำลังในการส่งไปตามท่อน้อยลง แต่ถ้าใช้ความร้อนไม่มากทำให้น้ำมันยังมีความหนืดสูงอยู่ ปั๊มก็จะกินพลังงานในการสูบจ่ายมากขึ้น และความหนืดของน้ำมันนี้ยังส่งผลไปถึงรูปแบบการกระจายตัวของน้ำมันที่หัวฉีดที่ทำการเผาน้ำมัน (เช่นที่หม้อน้ำ)
  
ต่อไปเป็นหน้า Page 19 of 28 ที่ยังคงเกี่ยวข้องกับน้ำมันเตา
  
Flash point คืออุณหภูมิจุดวาบไฟของน้ำมัน Pour point คืออุณหภูมิจุดไหลเท (น้ำมันเริ่มกลายเป็นของเหลวและไหลได้ เป็นตัวบอกว่าน้ำมันต้องมีอุณหภูมิอย่างต่ำเท่าไรจึงจะสามารถสูบจ่ายไปตามท่อได้) Percent sulfur เป็นการระบุปริมาณกำมะถันที่มีอยู่ในน้ำมัน (ปรกติน้ำมันยิ่งหนักมากหรือมีจุดเดือดสูงขึ้น ก็จะมีปริมาณกำมะถันมากตามไปด้วย) ซึ่งตรงนี้เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมทางด้านแก๊สที่ปลดปล่อยจากการเผาไหม้ Percent aromatic จะเกี่ยวข้องกับการเผาไหม้แล้วทำให้เกิดเขม่า (พวกวงแหวนอะโรมาติกจะเกิดเขม่าได้ง่ายกว่าพวกสายโซ่ตรง-กิ่ง) และส่วนที่เหลือเป็นพวกของโลหะที่ผสมอยู่ (ในรูปของสารประกอบอินทรีย์) ซี่งพวกนี้จะเป็นตัวที่ทำให้เกิดขี้เถ้าจากการเผาไหม้ และถ้าหากอุณหภูมิสูงพอ ขี้เถ้าที่เกิดขึ้นนี้ก็อาจทำปฏิกิริยากับโลหะของอุปกรณ์ที่ขี้เถ้าเหล่านี้ไปเกาะติดอยู่ได้
  
แก๊สเชื้อเพลิงหรือ Flue gas คือเชื้อเพลิงที่อยู่ในรูปที่เป็นแก๊ส ที่อาจมีการนำเข้ามาโดยตรง (เช่นแก๊สธรรมชาติ) หรือเป็นแก๊สปล่อยทิ้งจากหน่วยต่าง ๆ และถูกรวบรวมเก็บเอามาใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนการนำไปเผาทิ้งที่ระบบ flare น้ำหนักโมเลกุลของแก๊สเชื้อเพลิงจะสำคัญต่อการทำงานของคอมเพรสเซอร์ (แก๊สที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูงจะอัดง่ายกว่าแก๊สที่มีน้ำหนักโมเลกุลต่ำ) ถ้าเป็นแก๊สธรรมชาติที่รับเข้ามาก็มักจะมีคุณสมบัติที่ค่อนข้างคงที่ (ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักโมเลกุล หรือองค์ประกอบอื่นในแก๊ส) แต่ถ้าเป็นแก๊สที่มาจากการเก็บรวบรวมแก๊สปล่อยทิ้ง มักจะมีคุณสมบัติที่ไม่แน่นอน อาจมีทั้งไอน้ำและไอระเหยของไฮโดรคาร์บอนหนัก (ที่ปรกติเป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง) ปะปนอยู่ด้วย (ด้วยเหตุนี้จึงมีการถามถึงอุณหภูมิที่ทำให้เกิดการควบแน่นของไอน้ำหรือไอระเหยของไฮโดรคาร์บอนที่ปะปนอยู่ด้วย)
  
แต่ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเตาหรือแก๊สเชื้อเพลิงก็ต้องระบุค่าความร้อน (heating value) หรือพลังงานที่ได้จากการเผาต่อหน่วยน้ำหนักเชื้อเพลิง เพราะต้องใช้ในการคำนวณอัตราการเผาไหม้เพื่อให้ได้ระดับพลังงานที่ต้องการ
  
สำหรับโรงงานทั่วไปแล้วนิยามของ “แก๊สเฉื่อย - Inert gas” คือแก๊สที่ไม่ทำปฏิกิริยากับสารที่อยู่ในระบบ ด้วยเหตุนี้ “ไนโตรเจน” จึงเป็นแก๊สเฉื่อยที่มีการใช้กันมากที่สุดในโรงงานที่มักใช้ในการไล่อากาศ (หรือออกซิเจน) ออกจากระบบ เนื่องด้วยเหตุผลทางด้านอัคคีภัยหรือเพื่อป้องกันไม่ให้สารในระบบเกิดการสลายตัวเมื่อทำปฏิกิริยากับออกซิเจนและความชื้นในอากาศ สำหรับโรงงานที่มีการใช้ไนโตรเจนในปริมาณมากก็มักจะสร้างหน่วยกลั่นแยกอากาศเพื่อผลิตไนโตรเจนใช้เอง
  
ต่อไปเป็นหน้า Page 20 of 28 ที่เป็นเรื่องของระบบไฟฟ้ากำลัง
  
ในส่วนของระบบไฟฟ้ากำลังนั้นมีเรื่องที่เกี่ยวข้องอยู่สองเรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือความต่างศักย์ที่จะใช้ ซึ่งตรงนี้ไปสัมพันธ์กับปริมาณกระแสที่เกิดขึ้นและขนาดสายไฟ มอเตอร์ขนาดเล็ก (เช่นกำลังไม่เกิด 1 แรงม้า - hp) ก็อาจใช้ไฟ 1 เฟส แต่สำหรับมอเตอร์ขนาดใหญ่ขึ้นไป (เช่นตั้งแต่ 1 hp ขึ้นไป) การใช้ไฟ 3 เฟสจะเหมาะสมกว่าเพราะใช้สายไฟเส้นเล็กลง (กระจายกระแสออกสู่สายไฟ 3 เส้นแทนที่จะเป็นเส้นเดียว) ถ้าเป็นมอเตอร์กำลังสูงก็อาจต้องใช้ความต่างศักย์ที่สูงขึ้นไปอีกเพื่อลดปริมาณการไหลของกระแส (ตรงนี้ขอย้ำว่าความร้อนที่เกิดขึ้นในสายไฟฟ้านั้นแปรผันตามกระแสยกกำลัง 2 กล่าวคือถ้ามีกระแสไหลเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ปริมาณความร้อนที่เกิดขึ้นในสายไฟจะเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว การใช้ความต่างศักย์ที่สูงขึ้นจะทำให้กระแสไหลน้อยลงโดยที่ยังคงได้กำลังเท่าเดิม และยังลดการสูญเสียในสายไฟด้วย แต่ก็มากับอันตรายที่มากขึ้น) เรื่องความต่างศักย์นี้ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าใด เพราะมีหม้อแปลงจะแปลงให้เป็นเท่าใดก็ได้ 
   
เรื่องที่สองคือเรื่องของความถี่ (frequency) ของไฟฟ้ากระแสสลับ ที่ใช้กันอยู่ก็มี 50 Hz (พวกไฟฟ้า 200-240 V) หรือ 60 Hz (พวกไฟฟ้า 100-120 V) ซึ่งความถี่นี้มันไปเกี่ยวข้องกับความเร็วรอบการหมุนของมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ (ที่ใช้กันทั่วไปคือมอเตอร์เหนี่ยวนำหรือ Induction motor) เพราะถ้าความถี่เพิ่มสูงขึ้น ความเร็วรอบการหมุนก็เพิ่มขึ้นตาม (ความเร็วรอบการหมุนนี้ประมาณได้จากความเร็วซิงโครนัสที่เท่ากับ 120f/p เมื่อ f คือความถี่ของไฟฟ้ากระแสสลับและ p คือจำนวนขั้วของมอเตอร์ที่เป็นเลขคู่เสมอ โดยความเร็วรอบการหมุนของมอเตอร์เหนี่ยวนำจะต่ำกว่าความเร็วซิงโครนัสอยู่เล็กน้อย)
คำถามในส่วนของไฟฟ้านี้จะแยกออกเป็นระบบต่าง ๆ เช่นไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบควบคุม ไฟฟ้าที่จ่ายให้กับมอเตอร์ และไฟฟ้าฉุกเฉิน ความถี่ของไฟฟ้าขัดข้อง (และสาเหตุถ้าทราบ ซึ่งควรต้องดูจากสถิติ) แหล่งจ่ายไฟฉุกเฉิน 
   
คำถามสุดท้ายคือตัวประกอบกำลัง (power factor) ซึ่งเป็นค่า cosine ของมุมเฟสระหว่างความต่างศักย์กับกระแสไฟฟ้า ว่ามีความต้องการพิเศษอย่างใดหรือไม่ สำหรับบ้านเรานั้นสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมค่านี้ต้องไม่ต่ำกว่า 0.8 (ค่าสูงสุดคือ 1.0) ยิ่งระบบยิ่งมีค่า power factor สูงมากเท่าใด ปริมาณกระแสที่ใช้ก็จะลดลงตามไปด้วย ซึ่งเป็นการประหยัดทั้งค่าสายไฟและค่าใช้จ่ายในการผลิตของผู้ผลิตไฟฟ้า

วันนี้คงต้องขอจบตอนที่ ๕ ของเรื่องทำความรู้จัก Process Design Questionnaire เอาไว้แค่นี้ก่อน

ไม่มีความคิดเห็น: