วันพุธที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ข้อพึงคำนึงพื้นฐานในการเลือกใช้วาล์ว (Valve Philosophy) ตอนที่ ๘ MO Memoir : Wednesday 29 November 2560

มาถึงตอนที่ ๘ ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของบทความชุดนี้แล้ว



ข้อ 2.7.4 ในหน้าที่ ๑๙ เกี่ยวข้องความจำเป็นของการมี block valve และ by-pass valve สำหรับ control valve โดยกล่าวไว้ว่ามันไม่จำเป็นต้องมีในทุกกรณี เพราะจะทำให้ค่าต้นทุนก่อสร้างนั้นเพิ่มสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น ความจำเป็นของการมี block valve และ by-pass valve นั้นขึ้นอยู่กับว่ามันมีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่จะต้องมีการถอดเอา control valve ไปซ่อมในระหว่างวงรอบการทำงาน (คือเริ่มจากเริ่มเดินเครื่องการผลิตไปจนถึงการ shut down ครั้งถัดไป) ถ้าพบว่าโอกาสเช่นนี้มีสูง ก็จำเป็นต้องมี (block valve ที่อยู่หน้า-หลัง control valve มีไว้สำหรับให้ถอด control valve ออกไปซ่อมแซมได้ ส่วน by-pass มีไว้ทำหน้าที่แทน control valve ช่วงที่ถอด control valve ออกไปซ่อมแซม) เอกสารหน้า ๑๙ (รูปที่ ๔๐) ได้ให้คำแนะนำเพื่อการพิจารณาความจำเป็นต้องมีไว้เป็นข้อ ๆ ดังนี้
  

ข้อ 2.7.4.1 กล่าวถึงกรณีที่ควรจำเป็นต้องมีทั้ง block valve และ by-pass valve โดยเริ่มจาก
 

ข้อ 2.7.4.1a ระบบที่ใช้กับของเหลวที่มีการกัดกร่อน เช่น กรด ด่าง ฟีนอล ฯลฯ ที่ทำให้มีโอกาสสูงที่จะมีการถอด control valve ออกไปซ่อมก่อนถึงกำหนดการหยุด shut down ประจำปีครั้งถัดไป
 

ข้อ 2.7.4.1b การใช้งานกับของเหลวที่มีความหนืดสูงที่อาจมีของแข็งที่ทำให้สึกหรอได้ปะปนอยู่ ในกรณีนี้ต้องพึงคำนึงด้วยว่าต้องไม่ให้ by-pass line เกิดการอุดตันอันเกิดจากการสะสมของของแข็งในท่อ by-pass ในกรณีเช่นนี้อาจต้องคำนึงถึงการเดินท่อ by-pass ให้ยกตัวสูงขึ้นจากระดับแนวท่อ control valve เพื่อป้องกันไม่ให้ของแข็งเข้าไปตกค้างอยู่หน้า by-pass valve ได้
 

ข้อ 2.7.4.1c กรณีที่อัตราการไหลของของไหลนั้นเข้าใกล้หรืออยู่ที่ความเร็วเสียง กล่าวคือความดันในท่อด้านขาเข้า control valve นั้นจะสูงกว่าด้านขาออก แต่เมื่อของไหลนั้นไหลผ่านวาล์ว ช่องทางการไหลจะเล็กลง ทำให้ความเร็วในการไหลเพิ่มสูงขึ้นแต่ความดันจะลดลง แต่เมื่อไหลพ้นผ่านวาล์วไปแล้วช่องทางการไหลจะกว้างขึ้น ทำให้ความเร็วในการไหลลดต่ำลงแต่ความดันจะเพิ่มขึ้น ของไหลที่ไหลด้วยความเร็วสูงสามารถทำให้เกิดการสึกหรออันเป็นผลจาก erosion ได้ และในกรณีที่เป็นของเหลวก็มีสิทธิที่จะเกิด cavitation ได้เช่นกัน (คือของเหลวเดือดเป็นไอเนื่องจากความดันลดลง และกลับควบแน่นเป็นของเหลวใหม่เมื่อความดันเพิ่มสูงขึ้น)
 

ข้อ 2.7.4.1d ระบบป้อนน้ำให้กับหม้อน้ำ (bolier feed water หรือย่อว่า BFW) ระบบท่อไอน้ำ หรือระบบสาธารณูปโภค หรือ process stream ใด ๆ ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับการเดินเครื่องต่อเนื่องของโรงงาน (กล่าวคือถ้าไม่มีระบบเหล่านี้ โรงงานจะเดินเครื่องไม่ได้)
 

ข้อ 2.7.4.1e ความจำเป็นที่อาจเกิดขึ้นในช่วงการเริ่มเดินเครื่องโรงงานหรือหยุดเดินเครื่องโรงงาน
 

ข้อ 2.7.4.1f ตามความต้องการของลูกค้าหรือกฎข้อบังคับใช้
 

ข้อ 2.7.4.2 เป็นกรณีที่อาจไม่จำเป็นต้องมี block valve และ by-pass line อันได้แก่
 

ข้อ 2.7.4.2a ระบบท่อสำรอง ระบบที่ไม่ใช่ระบบหลักในการทำงาน ที่สามารถหยุดการทำงานได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินเครื่องกระบวนการโดยรวม
 

ข้อ 2.7.4.2b ระบบที่เดินเครื่องแบบกะ (batch) ระยะเวลาการใช้งาน control valve มีไม่มาก (คือใช้เฉพาะตอนเดินเครื่องผลิตเท่านั้น นอกเวลานั้นก็อยู่เฉย ๆ ไม่มีการใช้งาน)


รูปที่ ๔๐ หน้าที่ ๑๙/๒๒ ของเอกสาร Valve philosophy



ข้อ 2.7.4.2c (หน้าที่ ๒๐ รูปที่ ๔๑) กรณีที่ของไหลนั้นมีโอกาสทำให้เกิดการอุดตันในท่อปลายปิดได้ (คือท่อ by-pass ขณะที่ไม่มีการใช้งาน มันจะเป็นท่อปลายปิดเนื่องจาก by-pass valve ปิดอยู่)
 

ข้อ 2.7.4.2d ระบบท่อที่ใช้งานกับของแข็ง (น่าจะเป็นระบบท่อนิวเมติกส์หรือ slurry)



รูปที่ ๔๑ หน้าที่ ๒๐/๒๒ ของเอกสาร Valve philosophy



ข้อ 2.7.5 กล่าวถึงปัจจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์ในกรณีของ "block valve" กับ "side mounted handwheel" ตรงนี้เข้าใจว่าน่าจะเป็นกรณีของการปิดกั้นเส้นทางการไหลผ่าน control valve (ที่ไม่ใช่การปิดกั้นเพื่อการถอด control valve ออกไปซ่อม) โดยถ้าเป็นท่อขนาด 2 นิ้วลงมานั้นให้ใช้ block valve แต่ถ้าเป็นท่อขนาดตั้งแต่ 3 นิ้วขึ้นไปให้พิจารณาใช้ control valve ที่มีการติดตั้ง handwheel (สำหรับหมุนปิด-เปิดวาล์ว) นอกเหนือไปจากการมี actutator ที่ทำหน้าที่ดังกล่าวในสภาวะปรกติ
 

ข้อ 2.7.6 กล่าวถึงการไม่ควรใช้ handwheel (เข้าใจว่าคือ control valve ที่มี handwheel) ในกรณีที่ความเร็วในการไหลนั้นอยู่ใกล้เคียงหรืออยู่ที่ระดับความเร็วเสียง



ข้อ 2.7.7 กล่าวถึง control valve 3 ทางว่าควรเป็นชนิดที่มี handwheel



ข้อ 2.8 เป็นหัวข้อเกี่ยวกับอุปกรณ์ทั่วไป



ข้อ 2.8.1 กล่าวถึง variable area meter ที่ใช้วัดอัตราการไหล อุปกรณ์ชนิดนี้จะมีรูปลอยลอยขึ้นในท่อที่มีขนาดหน้าตัดที่กว้างขึ้นตามระยะทางจากล่างขึ้นบน เมื่อลูกลอยลอยสูงขึ้น พื้นที่หน้าตัดการไหลก็จะกว้างขึ้น ทำให้ความเร็วในการไหลลดต่ำลง และเมื่อแรงที่เกิดจากการไหลขึ้นสมดุลกับน้ำหนักของลูกลอย ลูกลอยก็จะลอยูอยู่คงที่ ณ ตำแหน่งนั้น ระดับความสูงของลอยจะบ่งบอกถึงอัตราการไหล (ระดับความสูงนี้ขึ้นกับความหนาแน่นของของไหลด้วยนะ และเราสามารปรับเปลี่ยนน้ำหนักของลูกลอยให้เหมาะสมกับอัตราการไหลได้ด้วย) ตัวอย่างที่เห็นได้ทั่วไปก็คือ rotameter ที่มีลูกลอยลอยอยู่ในหลอดแก้ว (รูปที่ ๔๒) แล้วอ่านอัตราการไหลจากสเกลข้างหลอดแก้ว แต่ถ้าเป็นอุปกรณ์วัดคุมสำหรับโรงงานก็จะใช้วิธีการอื่น (เช่นการบดบังแสง) เพื่อแปลงตำแหน่งของลูกลอยให้เป็นสัญญาณไฟฟ้าที่แสดงค่าอัตราการไหล





รูปที่ ๔๒ Rotameter จัดเป็น variable area flow meter แบบหนึ่ง ในรูปนั้นจะเห็นลูกลอยสองตัว ตัวบน (1) จะมีน้ำหนักเบา ใช้สำหรับอ่านค่าอัตราการไหลต่ำ ตัวล่าง (2) จะมีน้ำหนักมากกว่า ใช้สำหรับอ่านค่าอัตราการไหลสูง
 

ข้อ 2.7.2 กล่าวถึงการป้องกันการปนเปื้อน หรือการที่ process fluid หนึ่งไหลเข้าไปปนเปื้อนในอีก process fluid หนึ่ง ปัญหานี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตรงตำแหน่งท่อที่บรรจบกัน และสายหนึ่งนั้นมีความดันสูงกว่าอีกสายหนึ่ง หรือในกรณีที่ป้องกันไม่ให้ process fluid ไหลเข้าสู่ระบบที่กำลังทำการซ่อมบำรุง ด้วยการติดตั้งวาล์วแบบ double block & bleed คือใช้ block valve สองตัวต่ออนุกรมกันโดยมีท่อสั้น ๆ คั่นระหว่างกลาง และที่ท่อเชื่อมสั้น ๆ เส้นนี้ท่อขนาดเล็กที่มีวาล์วปิด-เปิดควบคุมอยู่ วาล์วตัวนี้เรียกว่า bleed valve (bleed ในที่นื้หมายถึงหน้าที่ ไม่ใช่ประเภท ของวาล์ว) ในการทำงานปรกติ block valve สองตัวจะเปิด และ bleed valve จะปิด ถ้ามีการซ่อมบำรุง (หรือป้องกันไม่ให้มีการไหลย้อน) ก็จะทำการปิด block valve ทั้งสอง และเปิด bleed valve เอาไว้ ถ้ามีการรั่วไหลจากด้านที่มีความดันผ่านวาล์วมาได้ fluid ที่รั่วนั้นก็จะถูกระบายทิ้งออกไปทาง bleed valve แทน (รูปที่ ๔๓)





รูปที่ ๔๓ ระบบ double block และ bleed valve



อีกแนวทางหนึ่ง (คงขึ้นอยู่กับ process fluid และสภาวะการทำงาน) คือการใช้วาล์วที่ seat นั้นทำจากวัสดุที่มีความยืดหยุ่น (เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีการรั่วซึมดังเช่นกรณีของผิวสัมผัสระหว่างผิวโลหะ) โดยมีระบบระบาย fluid ที่ขังอยู่ในตัววาล์วออกมาได้ (ที่ใช้คำว่า body bleed)
 

ท่อระบบสาธารณูปโภค (เช่น ไอน้ำ ไนโตรเจน อากาศ น้ำ) ที่ต่อกับระบบโดยตรง ที่ใช้ในการป้อนสาธารณูปโภคเข้าสู่ระบบ (ที่อาจเป็น vessel หรือระบบท่อ) ต้องมีการติดตั้ง block valve และ check valve เพื่อป้องกัน process fluid ไม่ให้ไหลย้อนเข้ามาปนเปื้อนระบบสาธารณูปโภคได้ กล่าวคือในสภาวะที่เดินเครื่องตามปรกตินั้น อาจไม่มีการใช้งานระบบสาธารณูปโภค หรือมีการใช้งานสาธารณูปโภคในขณะที่ความดันในระบบนั้นต่ำกว่าความดันของระบบสาธารณูปโภคที่จ่ายเข้ามา แต่ในระหว่างการเดินเครื่องนั้นถ้าหากความดันในระบบสูงกว่าความดันของระบบสาธารณูปโภค process fluid ก็จะไหลย้อนเข้าสู่ระบบสาธารณูปโภคได้ การมี check valve ก็เพื่อป้องกันไม่ให้มีการไหลย้อนในปริมาณมากอย่างกระทันหัน (คือแม้ว่า check valve จะปิด แต่ก็อาจมีการรั่วซึมผ่านได้) ดังนั้นถ้าในช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีการใช้งานระบบสาธารณูปโภคก็ควรต้องปิด block valve ด้วย



ข้อ 2.8.3 (หน้าที่ ๒๑/๒๒ รูปที่ ๔๔) กล่าวถึงตำแหน่งจุดต่อท่อสาธารณูปโภค (เช่น น้ำ อากาศ ไนโตรเจน ไอน้ำ) สำหรับการใช้งานทั่วไป (เช่น ทำความสะอาด ไล่สารเคมี ขับเคลื่อนอุปกรณ์นิวเมติกส์) ว่าควรอยู่ในระยะไม่เกิน 50 ฟุต (ประมาณ 15 เมตร) จากตำแหน่งที่ต้องการใช้งาน และควรเป็นวาล์วขนาด 3/4 นิ้ว โดยตำแหน่งจุดต่อนั้นควรอยู่ในบริเวณเดียวกัน
 

ประเด็นเรื่องจุดต่อสายยางเข้ากับระบบสาธารณูปโภคนั้น มีการแนะนำว่าไม่เพียงแต่การระบุให้ชัดเจนว่าท่อไหนเป็นของสาธารณูปโภคตัวไหนแล้ว ยังควรที่จะเลือกใช้ข้อต่อ qucik coupling ที่แตกต่างกันด้วยเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุจากการต่อผิดท่อโดยไม่จงใจ (เช่นท่ออากาศ กับไนโตรเจน) เพราะเคยมีบันทึกความสูญเสียทีเกิดจากการต่อสายยางผิดท่อ เช่นต่อท่อไนโตรเจนเข้ากับหน้ากากหายใจ การใช้ออกซิเจนบริสุทธิ์มาฉีดไล่ฝุ่นผงที่ติดตามเสื้อผ้าและร่างกายออกไป (แทนที่จะใช้อากาศปรกติฉีดไล่)



รูปที่ ๔ หน้าที่ ๒๑/๒๒ ของเอกสาร Valve philosophy



ข้อ 2.8.4 (รูปที่ ๔๔) กล่าวถึงระบบท่อเชื้อเพลิงที่ควรมีการติดตั้ง plug valve หรือ ball valve (เพื่อการปิดที่รวดเร็วในเวลาฉุกเฉิน) เข้ากับท่อจ่ายเชื้อเพลิงหลักที่จ่ายให้กับเตาเผาต่าง ๆ (รวมหม้อน้ำด้วย) และวาล์วควรอยู่ห่างจากตัวอุปกรณ์ไม่น้อยกว่า 50 ฟุต (ประมาณ 15 เมตร) ในตำแหน่งที่สามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็วและทำงานได้ง่าย



ข้อ 2.8.5 เกี่ยวกับวาล์วที่ battery limit (คือที่ขอบเขตความรับผิดชอบระหว่างโรงงาน) โดยท่อทุกท่อที่เดินผ่านแนวนี้ต้องมีการติดตั้ง block valve และควรมีการติดตั้ง "Figure 8 blind" เอาไว้ด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเมื่อมีการปิดกั้น จะมีการปิดกั้นอย่างสมบูรณ์
 

"Figure 8 blind" หรือ "Spectacle plate" เป็นแผ่นโลหะสำหรับสอดคั่นไว้ระหว่างหน้าแปลนเพื่อปิดกั้นการไหล รูปร่างจะเหมือนกับไม้ปิงปองกลม คือโดยปรกติแล้วเรามักจะถือว่าการมีวาล์วตัวเดียวไม่สามารถวางใจได้ว่าจะปิดกั้นการไหลได้สนิท (แม้ว่าจะมีการล็อคไม่ให้ใครเปิดได้ก็ตาม) โดยเฉพาะเมื่อทำงานซ่อมบำรุง วิธีการปฏิบัติมาตรฐานที่ทำกันก็คือหลังจากปิดวาล์วแล้วก็จะสอดแผ่น spectacle plate เอาไว้ระหว่างหน้าแปลนทางด้าน downstream ของวาล์ว ในกรณีของระบบที่ไม่ได้มีความดันมาก ไม่ได้มีการถอดซ่อมเป็นประจำ และเป็นท่อขนาดเล็ก ก็อาจใช้ spectacle plate ที่ไม่หนานักแทรกลงไประหว่างหน้าแปลน (แน่นอนว่าคงต้องมีการง้างท่อบ้าง) แต่ในกรณีของท่อขนาดใหญ่และ/หรือมีความดันมาก จำเป็นต้องใช้ spectacle plate ที่มีความหนา ดังนั้นจำเป็นต้องมีการเว้นที่ว่างระหว่างหน้าแปลนสำหรับการสอด spectacle plate เอาไว้ด้วย ในเวลาทำงานปรกติก็จะสอด plate ที่มีรูปร่างเป็นวงแหวนเอาไว้เพื่อเติมเต็มช่องว่างระหว่างหน้าแปลนที่เว้นว่างเอาไว้นั้น แต่พอต้องการปิดกั้นก็จะเปลี่ยนเป็น plate ตันสอดเอาไว้แทน ทีนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสนว่า plate ที่สอดเอาไว้นั้นเป็น plate แบบไหน และเวลาจะใช้งานแต่ละทีก็ไม่ต้องไปค้นหาว่าเก็บ plate อีกชนิดเอาไว้ที่ไหน ก็เลยใช้วิธีเอา plate ทั้งสองชนิดมาเชื่อมติดกันเลย รูปร่างมันก็เลยเหมือนเลข 8 ดังรูปที่ ๔๕ ดังนั้นถ้าเห็นว่า plate ที่โผล่ยื่นออกมานั้นเป็น plate วงแหวน (รูปที่ ๔๕ บนซ้าย) ก็แสดงว่าท่อนั้นถูกปิดกั้นอยู่ แต่ถ้าเห็น plate ที่โผล่ยื่นออกมานั้นเป็น plate ตัน (รูปที่ ๔๕ บนขวา) ก็แสดงว่าท่อนั้นไม่ถูกปิดกั้น





รูปที่ ๔๕ "figure 8 blind plate" ในการใช้งาน ถ้าเป็นหน้าแปลนที่ไม่ได้มีนอตมาก ตัวก้านเชื่อมระหว่างสอง plate จะสามารถสอดผ่านช่องว่างระหว่างนอตสองตัวได้ แต่ถ้าหน้าแปลนนั้นมีนอตจำนวนมาก ช่องว่างระหว่างนอตสองตัวจะแคบ ดังนั้นจะมีการทำรูไว้ที่ตัวก้านเชื่อมระหว่างสอง plate เพื่อไว้สำหรับร้อยนอตผ่าน และยังช่วยตรึง plate ให้อยู่กับที่ด้วย




ข้อ 2.8.6 กล่าวถึงการติดตั้ง check valve เพื่อป้องกันการเกิดกาลักน้ำ (siphon หรือ syphon) ในกรณีที่ปลายท่อด้านขาออกนั้นจุ่มลงไปใต้ผิวของเหลว (ที่เรียกว่า dip leg)



ข้อ 2.9 เกี่ยวข้องกับการเลือกวัสดุที่ใช้ทำวาล์ว



ข้อ 2.9.1 กล่าวว่าในการเลือกวัสดุนั้นควรพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในแง่เหล่านี้เอาไว้ด้วยคือ
 

ข้อ 2.9.1a (หน้าที่ ๒๒/๒๒ รูปที่ ๔๖) กล่าวว่าวาล์วจะต้องมีความเหมาะสมสำหรับการทำหน้าที่ของมัน และในกรณีที่ต้องใช้โลหะผสมอันเป็นผลจากอุณหภูมสูงหรือการกัดกร่อน block valve ในส่วนของท่อที่มีลักษณะเป็นปลายตันหรือในส่วนที่มีอุณหภูมิที่ต่ำกว่า อาจเลือกใช้วัสดุชนิดอื่นก็ได้ แต่จะต้องสามารถรับความดันของการใช้งานได้
 

ข้อ 2.9.2b ในกรณีของอุปกรณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงความดันหรืออุณหภูมิคร่อมตัวอุปกรณ์ (เช่น control valve ที่ความดันด้านขาเข้าและขาออกนั้นต่างกัน หรือเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน ที่อุณหภูมิด้านขาเข้าและขาออกนั้นแตกต่างกัน) block valve ทางด้าน upstream และสาย by-pass ต้องรองรับสภาวะทางด้าน upstream ได้ ในขณะที่ block valve ทางด้าน downstream อาจเลือกโดยอิงจากสภาวะการทำงานด้าน downstream หรือสามารถรองรับสภาวะการทำงานแบบเดียวกับด้าน upstream ได้ในเวลาสั้น ๆ



ข้อ 2.10 ที่เป็นข้อสุดท้าย เกี่ยวข้องกับ valve tapping ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นคำที่ทำให้ผมเองก็งงอยู่เหมือนกัน และไม่แน่ใจว่าจะเข้าใจถูกต้องด้วย กล่าวคือเวลาที่เราปิดวาล์วแล้ว ก็มีโอกาสที่จะมีของเหลว (หรือแก๊สความดัน) ค้างอยู่ในตัววาล์วและระบบท่อได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน หรือป้องกันความเสียหายในกรณีที่ของเหลวเกิดการแข็งตัว ก็ควรมีช่องทางสำหรับระบายของไหลที่ค้างอยู่ในตัววาล์วและระบบท่อนี้ออก การทำท่อนี้คือการ "tap" ซึ่งก็คือการเจาะรูและติดตั้งท่อ (อาจด้วยการทำเกลียวสำหรับขันท่อเล็กลงไป)
 

ข้อ 2.10.1 กล่าวว่าให้มีการติดตั้งท่อระบาย (ที่มีวาล์วเปิด-ปิดอีกตัวหนึ่ง) เข้ากับลำตัวของวาล์ว โดยขนาดของท่อระบายสำหรับวาล์วแต่ละขนาดนั้นแสดงไว้ในตารางด้านล่างสุด (flushing หมายถึงการชะล้าง ซึ่งอาจหมายถึงการนำของเหลวอีกชนิดหนึ่งเข้าไปชะล้างของเหลวหรือสิ่งสกปรกที่ตกค้างอยู่) 
  

ข้อ 2.10.2 กล่าวว่าไม่ควรทำการ tap กับวาล์วที่เชื่อมต่อด้วยข้อต่อเกลียวหรือ socket weld (ข้อต่อพวกนี้มักใช้กับระบบท่อขนาดเล็ก ไม่ได้มีความดันสูง ไม่ได้ใช้งานกับสารอันตราย)
 

ข้อ 2.10.3 เมื่อมีความจำเป็นต้องทำการ "tap" ให้ปฏิบัติตามมาตรฐาน ANSI B16.5 (ตรงนี้ผมไม่มีรายละเอียดด้วยว่าเขากล่าวเอาไว้ว่าอะไรบ้าง รู้แต่ว่า figure 2 ที่กล่าวถึงนั้นไม่น่าจะเกี่ยวกับ ANSI B16.5 แต่อาจเป็นรูปของเนื้อหาในเอกสาร valve philosophy ที่ไม่ปรากฏในเอกสารที่ผมมีอยู่)
 

ข้อ 2.10.4 กล่าวว่าในกรณีที่ความดันในการใช้งานนั้นสูงเกินกว่า 300 psig (20 เท่าของความดันบรรยากาศ) หรือการใช้งานกับระบบสำคัญหรืออันตราย ควรพิจารณาการใช้การเชื่อมยึดท่อ "tap" เอาไว้ด้วย



รูป ๔๗ ท้ายสุดนั้นเป็นกราฟค่าประมาณของ flow coefficient (Cv) ของ gate valve และ globe valve ที่มีการกล่าวถึงในหัวข้อ 2.7.2.1 ในหน้า ๑๘/๒๒ (รูปที่ ๓๘ ของบทความตอนที่ ๗ ) ที่ว่าวาล์วที่ติดตั้งในสาย by-pass ของ control valve ขนาดใหญ่นั้นอาจใช้ชนิด gate แทนชนิด globe ก็ได้ในกรณีที่ไม่ต้องการอัตราการไหลที่แน่นอน (คงเป็นเพราะต้องการลดน้ำหนักและค่าใช้จ่าย)



บทความชุด "ข้อพึงคำนึงพื้นฐานในการเลือกใช้วาล์ว" หรือ "valve philosophy" เท่าที่ผมมีอยู่ก็หมดเพียงเท่านี้ 

รูปที่ ๔๖ หน้าที่ ๒๒/๒๒ ของเอกสาร Valve philosophy





รูปที่ ๔๗ กราฟค่าประมาณของ flow coefficient (Cv) ของ gate valve และ globe valve ที่มีการกล่าวถึงในหัวข้อ 2.7.2.1 ในหน้า ๑๘/๒๒ (รูปที่ ๓๘ ของบทความตอนที่ ๗ )

ไม่มีความคิดเห็น: