วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2563

สถานีรถไฟพานทอง MO Memoir : Tuesday 8 September 2563

เคยถามหลายคนที่เดินทางจากกรุงเทพไปทำงานที่ชลบุรีหรือระยองว่ารู้จักอำเภอนี้ไหม ปรากฏว่ามักเจอแต่คนไม่รู้จัก ทั้ง ๆ ที่มันก็อยู่ใกล้กรุงเทพ คนที่ใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์เดินทางไปภาคตะวันออกก็ต้องผ่านอำเภอนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ที่ตั้งของมันนั้นไม่ได้อยู่ในเส้นทางหลักที่เชื่อมระหว่างกรุงเทพกับภาคตะวันออก ถนนหลักทางด้านเหนือก็เป็นเส้นฉะเชิงเทรา-พนัสนิคม ก่อนที่จะหักลงล่างเข้าสู่ฃลบุรี ถนนหลักทางด้านใต้ก็เป็นเส้นบางนา-บางปะกง-ชลบุรี ถ้าจะไปอำเภอนี้ก็ต้องดูให้ดี เพราะอาจวิ่งเลยแยกเข้าอำเภอไปได้ง่าย ๆ คนที่ใช้เส้นทางบูรพาวิถีถ้าไปลงที่สุดทาง มันก็เลยทางแยกเข้าอำเภอนี้ไปแล้ว

ก่อนที่จะมีสะพานเทพหัสดินข้ามแม่น้ำบางปะกงที่ท่าข้าม การเดินทางด้วยรถยนต์ไปชลบุรีก็ต้องไปที่ฉะเชิงเทราก่อน จากนั้นจึงค่อยเลี้ยวไปยังพนัสนิคมและวกลงชลบุรี อำเภอนี้ก็ไม่ได้อยู่ในเส้นทางผ่าน พอมีสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ถนนตัดใหม่ก็มุ่งตรงไปบางทรายและเข้าชลบุรีเลย เรียกว่าเส้นทางใหม่ก็อ้อมผ่านทิศใต้อำเภอนี้ไปอีก

ผมขับรถผ่านอำเภอพานทองครั้งสุดท้ายก็น่าจะราว ๆ ๒๐ ปีที่แล้ว ที่ตอนนั้นมอเตอร์เวย์ยังไม่เกิด ทางยกระดับบูรพาวิถีอยู่ระหว่างการก่อสร้างลงเสาเข็ม การเดินทางระหว่างกรุงเทพกับบางแสนบางครั้งก็เลยต้องไปใช้เส้นทางเข้าพนัสนิคม ออกฉะเชิงเทรา แล้วเข้าสุวินทวงศ์ จำได้ว่าอำเภอนี้เป็นอำเภอเล็ก ๆ เงียบ ๆ ไม่มีอะไร

สัปดาห์ที่แล้วพอจะมีเวลา ก็เลยแวะเข้าไปดูอีกครั้ง เรียกว่าเปลี่ยนแปลงไปมาก กลายเป็นอำเภอที่มีคนพลุกพล่านไปแล้ว สาเหตุหนึ่งคงเป็นเพราะการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมในอำเภอนี้ เลยถือโอกาสแวะถ่ายรูปสถานีรถไฟประจำอำเภอเก็บเอาไว้หน่อย ก่อนที่จะมีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน เส้นทางรถไฟสายตะวันออกช่วงนี้ก็เป็นรางคู่อยู่แล้ว แต่สถานีนี้มีรางหลีกสำหรับจอดเพิ่มเข้ามาอีกต่างหาก

บันทึกวันนี้ก็ไม่มีอะไร ถือว่าเป็นบันทึกภาพสถานที่ที่แสนจะธรรมดาแห่งหนึ่งเอาไว้ก็แล้วกัน


รูปที่ ๑ ป้ายบอกชื่อสถานี มองไปทางสถานีดอนสีนนท์ 


รูปที่ ๒ ป้ายบอกชื่อสถานีถัดไป


รูปที่ ๓ ชานชาลาที่ดูเหมือนว่าหลังจากจะปลิวหายไปเยอะเหมือนกัน ภาพนี้มองไปยังเส้นทางมุ่งไปชลบุรี


รูปที่ ๔ ตัวที่ทำการสถานี ทางด้านซ้ายเป็นห้องน้ำ ที่ขายตั๋วอยู่ทางด้านขาว


รูปที่ ๕ ที่ทำเจ้าพนักงานและที่ขายตั๋ว


รูปที่ ๖ เดินเล่นบนชานชาลามาอีกฟากหนึ่ง รูปนี้มองไปยังเส้นทางที่มุ่งไปชลบุรี


รูปที่ ๗ เก็บภาพประแจสับรางไว้เป็นที่ระลึกหน่อย รางแยกซ้ายไปนั้นเป็นทางตัน


รูปที่ ๘ มองย้อนกลับไปยังตัวสถานีและเส้นทางที่มุ่งไปยังดอนสีนนท์


รูปที่ ๙ ทางขึ้นอาคารสถานีจากด้านถนน


รูปที่ ๑๐ ศาลพระภูมิที่อยู่ทางด้านทิศเหนือของตัวสถานี

ไม่มีความคิดเห็น: