วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สถานีรถไฟบางพระ MO Memoir : Sunday 21 February 2564

วันพุธที่แล้วเพิ่งจะได้เลนส์ตัวใหม่ 18-105 mm มาใช้แทนเลนส์คิท 18-55 mm ตัวเดิมที่มากับกล้อง ก็เลยถือโอกาสเอาไปทดลองดูหน่อยว่าถ่ายออกมาแล้วจะเป็นอย่างไร และสถานที่ที่เลือกก็คือสถานีรถไฟบางพระ

เส้นทางตั้งแต่ฉะเชิงเทรามาถึงศรีราชาก็เป็นทางคู่ตลอด แต่เห็นตั้งแต่สถานีพานทอง ชลบุรี และบางพระ ต่างมีรางหลีกรางจอดถึง ๔ ราง (คือเพิ่มมาอีก ๒ นอกเหนือจากเส้นวิ่งไปกลับ) ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตอนออกแบบวางแผนนั้นมีการคาดการณ์ว่าจะมีความถี่ในการเดินรถกันมากขนาดไหน ทั้ง ๆ ที่สายนี้ในแต่ละวันก็มีรถโดยสารเพียงแค่ขบวนเดียวที่วิ่งไป ๑ เที่ยวกลับ ๑ เที่ยวแค่นั้นเอง นอกนั้นก็เป็นขบวนรถสินค้า

บางพระเดิมก็เป็นอำเภอหนึ่ง แต่การทำป่าไม้ที่ศรีราชาทำให้ศรีราชากลายเป็นเมืองขนาดใหญ่และกลายเป็นอำเภอแทน ส่วนบางพระก็ถูกลดระดับลงไปเป็นตำบลขึ้นกับอำเภอศรีราชา แต่สิ่งหนึ่งที่บางพระมีก็คืออ่างเก็บน้ำที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งน้ำจืดให้กับย่านตัวอำเภอเมืองและศรีราชา และก่อนที่จะมีอ่างเก็บน้ำก็ยังมีบ่อน้ำพุร้อนอีก ที่ตอนนี้จมอยู่ใต้อ่าง แต่อาจเห็นปล่องได้ถ้าปีไหนน้ำในอ่างแห้งมาก ส่วนรอบอ่างตอนเย็น ๆ ก็ยังพอเห็นคนไปปั่นจักรยานกันบ้าง จนเทศบาลลงทุนทำทางเฉพาะสำหรับจักรยานแยกจากถนนหลักไว้บางช่วง

อีกจุดหนึ่งที่พักหลังนี้เห็นใครต่อใครหลายคนเขาไปกันก็คือเขาฉลาก ผมเคยขับรถขึ้นไปถ่ายรูปบนนั้น แต่พักหลักจะมีกลุ่มนักวิ่งนักเดินบ้างไปใช้เป็นสถานที่ฝึกซ้อม ส่วนตัวผมเองนั้นมักจะพาครอบครัวไปเที่ยวเวลาที่เขามีงานเกษตรบางพระเพื่อไปหาซื้อต้นไม้และของกิน

หลังจากตลาดสดที่สามแยกบางพระถูกรื้อทิ้งไป ก็ไม่ได้แวะไปซื้ออะไรอีก รู้แต่ว่าพวกของทะเลที่ตลาดนี้จะถูกกว่าที่หนองมน

สำหรับวันนี้ก็ถือว่าเป็นการบันทึกสถานที่ธรรมดาแห่งหนึ่งที่ไม่มีอะไรให้สำหรับคนชอบเช็คอินก็แล้วกัน

รูปที่ ๑ ที่ตั้งสถานีรถไฟบางพระในกรอบสีเหลี่ยมสีเหลืองใหญ่ ส่วนกรอบสีเหลี่ยมสีเหลืองบนคือจุดข้ามทางรถไฟ 

รูปที่ ๒ จอดรถแล้วเดินเข้าสถานี ก็มีเจ้าถิ่นนอนเล่นอยู่หลายตัว เขาแค่ยกหัวขึ้นมาดูว่าใครเดินมา แล้วก็นอนต่อ ตัวอาคารสถานีจะอยู่ทางด้านฝั่งตะวันตกของราง

รูปที่ ๓ จากตัวอาคารสถานีมองไปทางทิศใต้ ที่เห็นอยู่ไกล ๆ คือเขาฉลาก

รูปที่ ๔ มีป้ายต้อนรับด้วย แต่สถานีนี้แปลกอยู่อย่างคือเอากระถางต้นไม้ไปวางบังหน้าป้ายที่บอกว่าสถานีถัดไปคือสถานีอะไร (ด้านซ้ายในรูป)

 
รูปที่ ๕ เดินมาจนสุดชานชลาด้านทิศใต้ฝั่งตะวันตก มองไปยังเส้นทางที่มุ่งไปสถานีเขาพระบาทและศรีราชา
 
รูปที่ ๖ ลองเลนส์ใหม่หน่อย ซูมเต็มที่ไปที่ 105 mm (ถ้าจะเทียบเท่า full frame ก็ต้องคูณด้วย 1.5) รางหลักที่รถไฟวิ่งประจำคือสองรางด้านซ้ายของรูป เห็นได้จากผิวรางถูกล้อรถขัดผิวจนมันวาว
 
รูปที่ ๗ ตัวอาคารสถานี ถ่ายจากชานชลาฝั่งตะวันออก
 
รูปที่ ๘ ฝั่งตะวันออกด้านตรงข้ามสถานีมีป้ายบ้านสวนคุ้มกบาลอยู่

รูปที่ ๙ เดินมาจนสุดชานชลาฝั่งตะวันออกด้านทิศเหนือ มองไปยังเส้นทางที่มาจากสถานีชลบุรี

รูปที่ ๑๐ จากชานชลาด้านทิศเหนือฝั่งตะวันตก มองย้อนกลับลงไป

รูปที่ ๑๑ มีเก้าอี้นั่งที่ทำจากหมอนรองราง ทั้งแบบไม้ (ตัวบน) และคอนกรีตผสมเหล็ก (ตัวล่าง) แต่ตอนนี้เห็นใช้กันแต่แบบคอนกรีตล้วน ๆ 

 
รูปที่ ๑๒ "เครื่องตกราง" รางจอดนี้ยังคงเป็นหมอนไม้อยู่เลย
 
รูปที่ ๑๓ อีกมุมหนึ่งของเครื่องตกราง
 
รูปที่ ๑๔ จุดข้ามทางรถไฟที่อยู่ในกรอบสีเหลี่ยมสีเหลืองเล็กในรูปที่ ๑

ไม่มีความคิดเห็น: