วันอาทิตย์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ณ ที่แห่งนี้ เคยมีโรงพัก (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๖๗) MO Memoir : Sunday 18 May 2557

ช่วงที่หายหน้าไปก็มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมเยียนบ้านเกิดของคุณแม่ที่จังหวัดพัทลุง ในช่วงที่ขับรถกลับก็มีโอกาสคุยกันถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบ ๔๐ ปีที่แล้ว (จำไม่ได้แน่ชัดว่าเกิดเมื่อใด แต่ถ้านับจากปัจจุบันก็เกินกว่า ๓๐ แต่ไม่ถึง ๔๐ ปีแน่)
  
แนวถนนสาย ๔๑ เดิมนั้นไม่ได้ตัดตรงเหมือนปัจจุบัน แต่จะเลี้ยวเข้าแวะตามอำเภอต่าง ๆ ระหว่างทาง เรียกว่าถนนไปถึง ชุมชนก็เจริญ ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังกว่าชุมชนไหนอยากให้ถนนผ่านใกล้บ้านตัวเอง เพื่อที่จะได้เดินทางได้สะดวก ก็จะบริจาคที่ดินให้ตัดถนนผ่าน รัฐก็ประหยัดค่าเวนคืนที่ดิน แต่คนเดินทางไกลต้องเดินทางคดเคี้ยวไม่น้อย แต่ในยุคสมัยนั้น ถ้าจะเดินทางไกลกันจริง ๆ แล้ว ในพื้นที่ที่มีรถไฟผ่านก็มักจะใช้รถไฟมากกว่า ภาคใต้ฝั่งตะวันออกก็เช่นเดียวกัน มีการวางรถไฟวิ่งผ่าน พอจะตัดถนนลงใต้ ก็เลยตัดจากชุมพรไปทางระนอง 
 
รูปที่ ๑ ทางหลวงสาย ๔๑ จากทุ่งสงก่อนเข้าพัทลุง เส้น ๔๐๔๘ คือแนวเส้นถนนเดิมที่มุ่งเข้าตัวจังหวัด ส่วนแนวเส้นปัจจุบันเป็นแนวเส้นตัดใหม่ โดยเยื้องออกมาทางด้านตะวันตกของเส้นเดิม ตำแหน่งที่เป็นดาวแดงคือตำแหน่งที่เคยมีโรงพัก
  
แนวถนนเพชรเกษมจากชุมพรก็จะเลียบฝั่งตะวันตกไปจนถึงตรัง ก่อนวกกลับมายังฝั่งตะวันออกที่พัทลุง เส้นทางสาย ๔๐ ที่เชื่อมชุมพรกับพัทลุงนั้นสร้างกันภายหลัง แต่ก่อนใครจะใช้รถเดินทางไปยังสุราษฎร์ธานี ก็ต้องขับรถไปที่ตะกั่วป่าก่อน จากนั้นจึงค่อยตัดกลับมายังสุราษฎร์ธานี ถ้าจะไปนครศรีธรรมราช ก็ต้องเดินทางไปยังตรังก่อน จากนั้นจึงค่อยวกย้อนขึ้นมายังทุ่งสง แล้วค่อยตรงไปยังนครศรีธรรมราช ถ้าใครอยากเดินทางแบบสบาย ๆ ไปยังภูเก็ต ก็ต้องนั่งรถไฟสายใต้ไปบัตเตอร์เวิอร์ธก่อน จากนั้นจะลงเรือไปปีนังหรือย้อนกลับมายังภูเก็ตก็ตามแต่
  
ที่นี้พอคนเริ่มใช้รถเดินทางมากขึ้น จากชุมชนที่เคยดีใจว่ามีถนนเข้าถึง กลายเป็นการจราจรที่หนาแน่นจนถนนชุมชมเดิมรองรับไม่ไหว ก็เริ่มมีการพิจารณาปรับแนวถนนเดิมให้ตรงขึ้นและหลีกเลี่ยงเข้าชุมชน ตัวอย่างเช่นเส้นทางจากพัทลุงไปยังหาดใหญ่ (ที่ยกตัวอย่างเส้นนี้เพราะเคยใช้เดินทางตั้งแต่เป็นเด็ก) แต่เดิมนั้นจะต้องผ่าน อ.รัตภูมิ ก่อนเข้าหาดใหญ่ แต่พอตัดใหม่ทำให้ไม่ต้องผ่าน อ.รัตภูมิ โดยตรงไปหาดใหญ่ได้เลย 
   
ผลที่ตามมาก็คือปัจจุบันแนวถนนตัดใหม่ก็มีการขยายช่องทางเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่แนวถนนเดิมก็ยังคงอยู่ในสภาพเดิม คือยังเป็นถนนสองช่องทางจราจรรถวิ่งสวนกัน ถูกลดฐานะเป็นถนนเลข ๔ หลัก เลี้ยวคดผ่านไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ที่ชาวบ้านเขาบริจาคที่ดินให้ตัดถนน ทุกครั้งที่มีโอกาสเดินทางผ่านถนนเหล่านี้ที่เคยนั่งรถผ่านเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีที่แล้ว ก็ยังได้บรรยากาศการเดินทางเหมือนเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีก่อนนั้น
ในสมัยที่ยังมีการสู้รับกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยนั้น เส้นทางสายใต้ตั้งแต่ชุมพรลงไปเรียกได้ว่าเป็นเส้นที่อันตราย เพราะทั้งสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง ต่างเป็นพื้นที่สีแดง พูดให้ง่าย ๆ ให้เห็นภาพก็คือรัฐมีอำนาจในตอนกลางวัน ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์มีอำนาจในตอนกลางคืน ถ้าอยู่นอกตัวเมือง พอตกค่ำทีก็ปิดบ้านและเก็บตัวอยู่ในบ้านกันหมด
รูปที่ ๒ ถ้าขับรถตามสาย ๔๑ มุ่งหน้าไปทุ่งสงออกมาจากแยกบรรจบถนนเพชรเกษม พอเลยจุดบรรจบสาย ๔๐๔๘ (ที่อยู่ทางด้านขวา) มาเล็กน้อย ก่อนจะถึงปั๊มน้ำมันและวัดทุ่งขึงหนัง จะมีที่ว่างอยู่พื้นที่หนึ่ง เป็นที่ราชพัสดุ ตำแหน่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของสถานีตำรวจ ก่อนที่จะถูกโจมตีและเผาทำลายด้วยผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) เมื่อเกือบ ๔๐ ปีที่แล้ว และหลังจากนั้นก็ไม่เคยมีการสร้างโรงพักขึ้นทดแทนอีกเลย
  
บ้านเก่าของคุณแม่ผมที่ทุ่งขึงหนังก็อยู่ในเขตพื้นที่สีแดงเช่นเดียวกัน ตอนเด็ก ๆ ไปอยู่ที่นั่นก็ไม่ค่อยรู้เรื่องราวอะไร รู้แต่ว่าหัวค่ำเคยช่วยคุณยายเรียงมะม่วงใส่ถังก่อนที่จะบ่ม และนำไปขายในตลาดตอนเช้า เคยช่วยคุณตาอาบน้ำให้หมูในคอกพร้อมกับการล้างคอกด้วยการใช้สายยางฉีด (สนุกกันแบบเด็ก ๆ) หรือไม่ก็ไปคุ้ยฟางในเล้าเพื่อเก็บไข่ไก่และไข่เป็ด หัดปั่นจักรยานสองล้อเป็นก็ที่นั่น โทรทัศน์ตอนนั้นมีให้ดูได้เพียงแค่ช่องเดียวคือช่อง ๑๐ หาดใหญ่ (เสาส่งอยู่ห่างไปกว่า ๑๐๐ กิโลเมตร) บ้านที่อยู่ในจังหวัดรอบ ๆ จึงต้องมีเสาโทรทัศน์ที่สูงและมี Booster ช่วยขยายสัญญาณ จึงจะพอดูโทรทัศน์ได้

แต่มีสิ่งหนึ่งที่ได้มีโอกาสได้เห็นและยังคงความประทับใจมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือ ท้องฟ้าที่มืดมิดที่มองเห็นทางช้างเผือกได้ชัดเจน
รูปที่ ๓ ภาพอีกมุมหนึ่งของพื้นที่ดังกล่าว

ระหว่างจังหวัดตรังกับพัทลุงจะมีแนวภูเขาที่ทอดต่อยาวในทิศทางเหนือใต้ แนวภูเขานี้เป็นแนวเดียวที่ทอดยาวจากมาเลเซียต่อไปยังแม่ฮ่องสอนและเลยเข้าไปในพม่า แต่บริเวณที่คั่นระหว่างตรังกับพัทลุงนั้นชาวบ้านเรียกว่าเทือกเขาบรรทัด ถนนเพชรเกษมช่วงที่เชื่อมระหว่างตรังกับพัทลุงที่ต้องข้ามเขานั้นคดไปคดมามากจนขนานนามกันว่า "เขาพับผ้า" คือเขาเปรียบเสมือนผ้าที่พับทบซ้อนกันไว้หลาย ๆ ชั้น ปัจจุบันเส้น "เขาพับผ้า" นี้ก็กลายเป็นอดีตไปแล้ว แต่ถ้าเหลือบมองข้างทาง ก็ยังอาจเห็นซากถนนแนวเก่าอยู่เป็นบางช่วง บริเวณแนวเทือกเขาบรรทัดนี้เคยเป็นฐานที่มั่นสำคัญของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่ปฏิบัติการในเขตจังหวัดพัทลุง
  
"คอมมิวนิสต์ไม่มีหรอก" คุณน้าคนหนึ่งของผมเคยเล่าให้ผมฟัง ในระหว่างเขาขับรถพาผมชมภูมิประเทศด้านทิศตะวันตกของจังหวัดพัทลุง ชาวบ้านในพัทลุงยุคนั้นอยู่กันอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิลำเนาค่อนไปทางเทือกเขาบรรทัด ถูกเพ่งเล็งทั้งจากทางฝ่าย ผกค. ว่าเป็นพวกเจ้าหน้าที่ และถูกเพ่งเล็งจากทางเจ้าหน้าที่ว่าเป็นผู้ให้การสนับสนุน ผกค. ที่แย่ก็คือปฏิบัติการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐในการจัดการกับชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยต้องหนีไปพึ่งพรรคคอมมิวนิสต์ ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้มีแนวคิดทางการเมืองเช่นนั้น เพียงแต่ต้องการความปลอดภัยและแก้แค้นเจ้าหน้าที่รัฐ
 
ความโหดร้ายทารุณของเจ้าหน้าที่รัฐในจังหวัดพัทลุงในยุคนั้นมีมากแค่ไหน ลองใช้คำว่า "ถังแดง" หาใน google ดู ก็จะทราบได้เอง

บนถนนฝั่งตรงข้ามเยื้องกับบ้านของคุณตาคุณยายของผมไปไม่มาก เคยเป็นที่ตั้งของสถานีตำรวจ ไปใต้ครั้งนี้ก็ได้แวะไปหยุดยืนที่บริเวณนั้นอีกครั้ง เลยได้ถามญาติ ๆ ที่อยู่แถวนั้นเกี่ยวกับเหตุการณ์เผาโรงพัก ตอนขับรถกลับคุณแม่เล่าให้ฟังว่า (ช่วงเกิดเหตุนั้นครอบครัวผมอยู่กรุงเทพ) คืนนั้นมีกลุ่มผู้ก่อการร้ายบุกไปที่บ้านน้องชายของคุณยายก่อน มีการเจรจาอะไรกันบ้างก็ไม่รู้ชัด ดูเหมือนจะเป็นทำนองว่าจะมายิงน้องชายของคุณยาย เพราะเขาเป็นตำรวจ แต่พอไม่เจอตัวก็เลยเปลี่ยนเป็นบุกโจมตีโรงพักแทน เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำโรงพักสู้ไม่ได้ ต้องยอมวางอาวุธ ฝ่ายผู้ก่อการร้ายก็ลำเลียงเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บมาวางไว้นอกโรงพัก ก่อนเผาโรงพักทิ้งและจากไป ญาติของคุณแม่ผมท่านหนึ่งมีศักดิ์เป็นน้าของผมก็เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ผู้บาดเจ็บในเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย

และนับตั้งแต่คืนนั้นเป็นต้นมา สถานที่แห่งนั้นก็ไม่เคยมีการสร้างสิ่งก่อสร้างใดอีกเลย

ไม่มีความคิดเห็น: