วันศุกร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2553

เมื่อเชียงใหม่ถูกโจมตีทางอากาศ MO Memoir : Friday 2 April 2553

ในวันที่ ๗ ธันวาคมปีพ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. 1941) กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกทางภาคใต้ของประเทศไทยพร้อมกับการเคลื่อนพลเข้ามาทางภาคตะวันออก จุดมุ่งหมายของกองทัพญี่ปุ่นคือใช้ไทยเป็นทางผ่านเพื่อเข้าไปยึดมาเลเซียและพม่าที่อังกฤษปกครองอยู่ การเข้ายึดมาเลเซียและสิงคโปร์นั้นจบลงอย่างรวดเร็ว ส่วนการเข้ายึดพม่านั้นแตกต่างกันออกไป มีการประมาณว่ามีทหารญี่ปุ่นกว่า 300,000 นายเข้าร่วมรบในพม่า ในจำนวนนี้ 180,000 นายเสียชีวิต ความลังเลใจของอังกฤษในการเข้าช่วยเหลือไทยยับยั้งการยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่น และความล้มเหลวของอังกฤษในการเข้ายึดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เพื่อตัดเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างเชียงใหม่และสิงคโปร์ เป็นผลให้อังฤษต้องสูญเสียสิงคโปร์และพม่า

ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สองส่วนมากนั้นเป็นการเขียนจากมุมมองของผู้นำหรือผู้บังคับบัญชาระดับสูงที่อยู่ห่างจากแนวรบ หรือไม่ก็ไม่เคยได้สัมผัสกับเหตุการณ์รบจริง และเกือบทั้งหมดจะเป็นภาพจากมุมมองของผู้ชนะ มีน้อยเล่มมากที่จะให้ภาพสิ่งที่เกิดในมุมมองของผู้แพ้

ผมไปได้หนังสือมาเล่มหนึ่งที่ปรากฏชื่อบนปกหน้าด้านนอกว่า "Tales by Japanese Soldiers" (ชื่อในปกหน้าด้านในมันยาวกว่านี้) ซึ่งเป็นการรวบรวมเรื่องราวบันทึกของทหารที่เข้าร่วมรบในพม่า (บันทึกส่วนใหญ่เป็นของทหารชั้นประทวน) เห็นว่ามีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือบันทึกเรื่องที่ 33 "Zero Versus Hurricane" เขียนโดย Staff Sergeant Yoshito Yasuda ซึ่งเป็นนักบินประจำฝูงบิน 64th Fighter Squadron, Southern Army ในขณะที่เขาได้เข้ามาประจำการที่จังหวัดเชียงใหม่

บันทึกฉบับนี้เริ่มต้นเล่าถึงการนำเครื่องบินรบขับไล่ Zero (Oscar Type I) ออกจากสนามบินเชียงใหม่เพื่อคุ้มกันการบุกลึกเข้าไปในดินแดนพม่า และได้เข้าสู้รบกับเครื่องบิน Hurricane ของอังกฤษ

ในวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. 1943) ในขณะเขาที่พักอยู่ที่สนามบินเชียงใหม่ เครื่องบิน P-40 ของหมู่บิน American Volunteer Group จากประเทศจีนได้เข้ามาโจมตีสนามบินเชียงใหม่ การรบในครั้งนั้นฝ่ายผู้โจมตีเสียเครื่องบิน P-40 ไป 1 เครื่องโดยการยิงจากภาคพื้น ส่วนฝ่ายญี่ปุ่นนั้นเครื่องบิน Zero ที่จอดอยู่บนพื้นถูกเผาไป 3 ลำและถูกยิงทำลายไป 4 ลำ

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กรุงเทพถูกทิ้งระเบิด สะพานพระราม ๖ ถูกทำลาย โรงปูนซิเมนต์ที่บางซื่อถูกทำลาย ฯลฯ มีการสร้างที่หลบภัยขึ้นหลายแห่ง และหลายแห่งก็ยังคงหลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน (ที่หนึ่งที่มีคือสวนสัตว์เขาดิน) เหตุการณ์เหล่านี้มีปรากฏในหนังสือบางเล่มและนิยายบางเรื่อง แต่เหตุการณ์รบที่เกิดขึ้นที่ส่วนอื่นของประเทศนั้นดูเหมือนจะไม่มีใครสนใจค้นคว้าและรวบรวมบันทึกไว้ (คนที่ไป อ.ปาย มาเคยสนใจหรือเปล่าว่าสะพานที่ทหารญี่ปุ่นสร้างนั้น สร้างเอาไว้เพื่ออะไร)

บันทึกนี้ก็เลยขอเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่ไปปรากฏอยู่บนหนังสือต่างประเทศ


จากเรื่อง "Zero Versus Hurricane" เขียนโดย Staff Sergeant Yoshito Yasuda, 64th Fighter Squadron, Southern Army ในหนังสือ "Tales by Japanese Soldiers of the Burma Campaign 1942-1945" หน้า 92-94โดย Kazuo Tamayama และ John Nunneley สำนักพิมพ์ Cassell ปีค.ศ. 2000

ไม่มีความคิดเห็น: